ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
พฤษภาคม 2556
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
14 พฤษภาคม 2556

วิจารณ์ Iron Man 3 (2013)



Iron Man 3 (2013)

ฉันหลงฉันจึงกลับไปหาอดีต


เทรนด์ฮิตประการหนึ่งของสังคมร่วมสมัยที่พบเห็นกันได้บ่อย คือการเพรียกหาบางสิ่งที่เรียกว่า ‘อดีต’ การค้นหาอัตลักษณ์รากเหง้า และโยงความสวยงามที่ผ่านพ้นมาแล้วให้กลับมาเริงระบำอีกครั้งในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูปที่เรียกว่า ‘ปัจจุบัน’ วิธีคิดแบบนี้ถูกร้อยเรียงเชื่อมต่อไปในสังคม กระทั่งตัวงานภาพยนตร์เองก็ไม่ถูกละเว้น นี่จึงเป็นความโดดเด่นและข้อสำนึกที่ดีในการรุดหน้าโดยใช้วิธีหากินในสิ่งเก่า

ล่าสุดเราเพิ่งเห็นการปฎิบัติเช่นนี้ ในภาพยนตร์ครบรอบ 50 ปี อย่างเจมส์ บอนด์ ใน Sky Fall(2012) ที่ได้รับเสียงชื่นชมในแดนบวก จนไม่มีข้อปลงตกแต่อย่างไรว่านี่เป็นการรีไรท์ตัวเองเพื่อสร้างประเด็นขึ้นมาเชิงถามผู้ชมว่าโลกนี่ยังต้องการสายลับเจมส์บอนด์อยู่อีกหรือไม่ โดยเสียงชื่นชมเป็นคำตอบไปในตัว หรือภาพยนตร์ The Artist(2011) เองก็ เช่นกัน ถึงขั้นคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์ด้วยการเล่นประเด็นรอยต่อเทคโนโลยีจากหนังเงียบมาสู่หนังเสียง อนิจจา! นี่เป็นประเด็นที่ทันสมัยมากๆ หากย้อนกลับไปประมาณ 80 กว่าปีที่แล้ว

การเกริ่นนำเช่นนี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อ Iron man ในมุมมองของผู้เขียน เพราะทันทีที่หนังจบลงพร้อมเสียงเพลง End Credits ของ Iron man 3 ขึ้นมาพร้อมภาพที่เป็นการยำฟุตเตจจากภาค 1-3 ผสมกัน อีกทั้งเพลงยังทำให้กลไกสมองดิ้นรนเชื่อมโยงความคุ้นหูของเพลงนั้นว่ามีทฤษฎีรากเหง้ามาจากอะไร เท่านี้ก็นับได้ว่าภาพยนตร์ได้พยายามเล่นสนุกต่อผู้เขียนแล้ว แม้ในท่าทีแรกผู้เขียนนั่นสนใจตัวประเด็นการเมืองที่ถูกใช้อีกครั้งต่อภาพตะวันออกกลาง ที่นับได้ว่าล้าสมัยไปไม่น้อย เหตุหลังสิ้นชีพของบินลาเดน ทิศทางของคู่ต่อกรในภาพยนตร์ก็ดูจะหันปลายประบอกปืนสู่ประเทศโสมแดงเกาหลี เหนืออย่างมั่นคง โดยเฉพาะภาพยนตร์ 2 เรื่องหลังทั้ง Red Dawn(2012) และ Olympus Has Fallen (2013) ที่มิต้องกลายร่างเป็นนอสตราดามุสก็หยั่งรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้

กลับมาที่ประเด็นกันต่อ – End Credits ที่ว่านั้น มันทำให้เราต้องเชื่อมโยงไปสู่จุดหมายอะไรบางอย่างที่ไกลเกินว่าผู้เขียนจะ สำนึกได้เอง จึงได้ค้นหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามประเด็นเหล่านี้จนสามารถได้ข้อสรุปว่า End Credits ของ Iron man 3 นั้นเป็นความจงใจของผู้กำกับ เชน แบล็ค ที่มีความหลงใหลซีรีย์อาชญากรรมทางทีวีในยุค 1970s-1980s ทั้ง ‘The Dukes of Hazard(1979-1985) ,Get Smart (1965–1970) และยังเป็นแฟนภาพยนตร์ตลกอย่าง Airplane(1980) และ ซีรี่ย์ The Naked Gun(1988) อีกด้วย ทั้งหมดเหล่านี้มีแก่นประเด็นสุดซีเรียส แต่กลับนำเสนออกมาได้อย่างเบาสบาย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ Iron Man อีกทั้ง Demo แรกที่เป็นแรงบันดาลใจเพื่อสร้าง End Credits มนุษย์เกราะเหล็ก คือ เพลงธีมจากซีรี่ย์เรื่อง The Mod Squad(1968-1973) ซึ่งก็ยังเป็นซีรี่ยเหล่ากอเทือกเดียวกันอีกนั่นแล


ทั้งหมดที่ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นคือ ภาพยนตร์ Iron man 3 ของผู้กำกับ เชน แบล็ค ได้พยายามกลับไปเชิดชู ภาพยนตร์หรือซีรี่ย์ที่เขาหลงใหลเมื่อยามอดีตทั้งหลายของเขา หรือกระทั่งชี้ให้เห็นว่าความเป็น Iron man ของ โทนี่ สตาร์ค (โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนี่ยร์) ว่ามีจิตวิญญาณบางสิ่งเหมือนที่เขากำลังหลงใหลอยู่ ดังนั้นการตีความให้สองสิ่งจากคนละยุคมาปะทะสังสรรค์กันจึงทำได้อย่างพอเหมาะและลงตัว

อย่างไรก็ตามไม่ว่าความเป็นโทนี่ สตาร์ค ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกนำมาไปอ้างอิงในโครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบเก่ามากน้อยเพียงใด ซึ่งไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องลงลึกศึกษาถึงโครงสร้างซีรี่ย์ที่กล่าวมา แต่เชื่อว่ามันคงเป็นอะไรที่ “ฟิน” มากหากใครมีภาวะอารมณ์ร่วมเช่นเดียวกับการเติบโตมาแบบเชน แบล็ค และนั่นทำให้ Iron man จึงเป็นอะไรที่มากกว่า Iron man อย่างที่คนที่อยู่นอกภาวะ Nostlagia(โหยหาอดีต) จะเข้าใจได้

แต่ใช่ว่าที่กล่าวไปแล้วนั้นจะเป็นที่สุดของการนำขนมเก่ามากินใหม่ เพราะถ้ามองตัวเรื่องของ Iron man 3 แต่อย่างเดียว มนุษย์เหล็กภาคนี้พยายามขับเน้นวิธีการเพื่อถอดความเป็นหุ่นยนตร์ออก แล้วเริ่มต้นสู่ความเป็นมนุษย์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น Iron man นั่นเอง แม้อาจดูเป็นเรื่องน่าตลกเหลือเกินที่สามารถใช้ทฤษฎีนี้กลับมาเล่นอดีตของตัวเอง ภายในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น(2008-2013) ยิ่งถ้าใครกลับไปดูภาค 1 และ ภาค 2 อีกครั้งด้วยแล้ว จะพบคุณสมบัติของเก่าที่นำมาเล่าใหม่คล้ายๆเดิม จนอาจถูกเรียกว่าเป็นการจงใจเพื่อเชิดชูตัวเองอีกทางหนึ่งก็ไม่ปาน

ขอแตะประเด็นการเมืองนิดหน่อยซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจของผู้เขียนตั้งแต่ ภาค 1 โดยใช้บริบทของอัฟกานิสถานเป็นสถานที่ให้โทนี่ สตาร์ค ได้สร้างหุ่นเหล็กขึ้นมาโดยถูกบีบบังคับเพื่อเอาตัวรอดจากกลุ่ม เท็น ริงส์ ก่อนที่เขาจะหนีรอดออกมาและกลายเป็นคนใหม่ที่มีหลักเชิงจริยธรรมกล้าแกร่ง ขึ้นโดยการยุติการขายอาวุธให้กับนานาประเทศ เพราะอาวุธที่เขาสร้างกลับกลายเป็นงูพิษต่อเขาและประเทศที่อาศัย นี่เป็นเครื่องพิสูจน์โดยง่ายว่า Iron man เป็นภาพยนตร์ที่มองประเทศผู้สร้างอาวุธ คือ โทนี่ สตาร์ค เป็นความยิ่งใหญ่ของกำลังทหาร ที่เป็นคนริเริ่มคิดค้นอุปกรณ์เพื่อขายหรืออวดภูมิปัญญาทางอาวุธเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้กลับมาเป็นผลเสียต่อตนเองเหมือนที่สตาร์คต้องเผชิญ

อย่างไรก็ตามพอเอาเข้าจริงแล้วประเด็นทางการเมืองทั้งหลายแหล่ตั้งแต่ภาคแรก กลุ่มเท็น ริงส์ ในอัฟกันนิสถานเอย หรือ ไอแวน แวนโก้ ในรัสเซียเอย จวบกระทั่ง แมนดาลิน ในปากีสถาน ทั้งหลายเหล่านี้เป็นตัวร้ายที่โยงเขากับการเมืองชัดเจนแต่เป็นเพียงตัวร้ายรองของตัวร้ายหลักอีกทีเท่านั้น หรือพูดให้ชัดก็คือ ประเด็นศัตรูทางการเมืองในเรื่อง Iron man เป็นเพียงน้ำจิ้มเลิศรสมิใช่ศัตรูที่จริงจังของ iron man แต่อย่างใด เป็นได้แต่คนนอก หรือความเป็นอื่นของอเมริกา ที่ถูกขับเน้นว่าเก่งไม่พอ อุปกรณ์ไม่พร้อมกระทั่งเป็นตัวตลกเลยด้วยซ้ำ

เพราะสุดท้ายสิ่งที่ Iron man ทั้ง 3 ภาคขับเน้น คือการแข่งขันกันภายในเพื่อความเป็นหนึ่งของประเทศ หรือความเป็นเลิศสุดแบบยอมความกันมิได้ โดยใช้ตัวละคร โทนี่ สตาร์ค เป็นศูนย์กลางแห่งความยิ่งใหญ่ที่ต้องถูกแย่งชิงแข่งขัน เราเห็น อาของ iron man ที่ต้องการฮุบบริษัท สตาร์ค อินตัสทรี่ เพื่อครอบครองความยิ่งใหญ่ในภาค 1 เราเห็น จัสติน แฮมเมอร์ ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงทางธุรกิจของ โทนี่ สตาร์ค พยายามจะสร้างหุ่นยนตร์ขึ้นมาเทียบชั้นกับเขาในภาค 2 และล่าสุด อัลดริช คิลเลี่ยนซึ่งเป็นบุรุษพิการที่โทนี่หลงลืมจนกลายเป็นปีศาจร้ายผู้ท้าชิง อันดับหนึ่ง ที่หวังแข็งแกร่งและทรงพลังมากกว่า โทนี่ สตาร์ค ในคราบ Iron man โดยใช้ Extremis เพื่อสร้างฅนให้ทรงภูมิที่สุดในโลกมนุษย์



ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เห็นว่าจักรวาลของ Iron Man นั้นเน้นย้ำถึงการเป็น ‘คนใน’ มากกว่า ‘คนนอก’ อย่างเห็นได้ชัด หรือพูดได้ว่า ภาพยนตร์ Iron man เปรียบไปก็คล้ายโรงมหรสพอันยิ่งใหญ่เพื่อแสดงภูมิทัศน์ทางปัญญาเทคโนโลยีอันเลิศล้ำเรื่องปัญญาเพื่อเผยประจักษ์ต่อชาวโลก มิหนำซ้ำยังทำให้เห็นว่าทุกถิ่นกันดารยังเป็นเพียงเบี้ยบ้านรายทางของบริษัท สตาร์ค อินตัสทรี่ ที่ทุกประเทศต้องการได้รับอิทธิพลของพลังอานุภาพเหล่านี้ด้วย ดังนั้นถ้าลองกระแทกประเด็นสังคมของหนังเรื่อง Iron man ออกมาจึงพบเห็นว่า การปกป้องโลกของ โทนี่ สตาร์ค ไม่ได้ยิ่งใหญ่ระดับโลกเหมือนที่แสดงให้เห็นเลย มันเป็นการปกป้องจากอัตตาตัณหาของการแก่งแย่งความยิ่งใหญ่ของการปัจเจกชนของ ประเทศตัวเองเสียมากกว่า

และที่สุดเหวี่ยงคือการให้ภาพ อัลดริช คิลเลี่ยน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังอำนาจ การก่อร้ายของโลก แทนแมนดาริน ซึ่งหักหน้าเหล่าคอมมิคบอยที่รู้ว่าแมนดารินเป็นศัตรูที่แข็งแกร่งเทียบเท่าไอรอนแมนที่สุด ก่อนถูกกกระชากลงหุบเหวให้เป็นเพียงตัวตลกถูกชักใยของ คิลเลี่ยน อีกทอดหนึ่ง จุดนี้ยิ่งบ่งชี้ประเด็นอย่างเข้มงวดว่าไม่มีใครอยู่เหนือกว่าคนในประเทศ สหรัฐฯอีกแล้ว โดยอุปสรรคขวางกั้นก็เป็นเพียงการแก่งแย่งชิงเด่นกันเอง

โดยให้ภาพคนดีคือ ไอรอนแมนที่เข้าไปช่วยเหลือประเทศอื่นด้วยศัตรูที่เข้าก่อขึ้นมาเอง(คิลเลี่ยน) ตั้งแต่ก่อนภาคแรกด้วยซ้ำตามไทม์ไลน์ของเรื่องเล่า ซึ่งการวางประเด็นแบบนี้ทำให้ผู้เขียนอดคิดเลยเถิดไปไม่ได้ว่าถ้าใช้หลักคิดเดียวกันนี้ลองเชื่อมโยงไปในโลกความจริงเท่ากับว่า ปีศาจร้ายทุกตัว(ผู้ก่อการร้าย/คนที่ไม่หวังดี) ที่จ้องเล่นงานพวกเขา(สหรัฐฯ) ก็เป็นปีศาจที่เขาสร้างขึ้นมาเองแทบทั้งนั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง Iron man ภาคนี้เป็นทั้งการแฉตัวเอง หรือการวิพากษ์ตัวเองขนานใหญ่เลยทีเดียว

วิจารณ์ภาพยนตร์ Iron Man 3 (2013)

ดังนั้นทำให้ภาค 3 เป็นทั้งการขมวดประเด็นรวมของเรื่องราวตลอดไตรภาค และภาคนี้ยังเป็นเคารพเทิดทูนความเป็นไอรอนแมนโดยนำจุดขายที่ดีงามของ 2 ภาค กลับมาอีกครั้ง ทั้งรูปแบบการดำเนินเรื่อง หรือปมปัญหาสำคัญของตัวละครทั้งพระเอกหรือตัวร้ายก็ตาม อีกทั้งยังมีรายละเอียดรายทางที่ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น เช่น ฉากการช่วยเหลือผู้คนจากเหตุเครื่องบินระเบิดซึ่งเคยปรากฏมาแล้ว หรือการขับเน้นความรักเด็กใน 2 ภาคแรก ก็ถูกขยายให้ใหญ่จนมีตัวละครเด็กคู่ดูโอ้กับโทนี่เลยทีเดียว

และโดยเฉพาะมุขตลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายซึ่งเป็นไปในแนวทางของผู้กำกับที่กล่าวไป จึงทำให้ Iron man 3 เป็นการเคารพเทิดทูนตัวเอง(อย่างรวดเร็ว) และยังนำพาผู้ชมไปสู่จุดเริ่มต้นของโทนี่ สตาร์ค นั่นคือรากเหง้าของตัวตนก่อนที่จะมีมนุษย์เหล็กเป็นดังรังดักแด้ หรืออัตตาที่ไม่สามารถปล่อยวางได้ด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะการที่ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องของ โทนี่ ก็ยิ่งสอดรับประเด็นเรื่องอดีตของตัวเองอย่างจริงจัง เพราะเรื่องเล่า มันก็คือเรื่องราวที่เป็นอดีตผ่านพ้นไปแล้ว แต่ถูกเรียกกลับมาดั่งความทรงจำที่คั่งค้าง เพื่อเข้าใจอะไรบางอย่างที่ขาดหายไป จึงยิ่งเห็นชัดเลยว่า Iron man 3 กำลังพาผู้ชมไปสู่จุดเริ่มต้นของไอรอนแมน มิหนำซ้ำผู้กำกับยังหาญกล้าตีความการเป็นไอรอนแมนว่าเป็นทายาทของซีรี่ย์ตระกูลสายลับอาญากรรมผสมตลกช่วง 1970-1980 ด้วย ซึ่งก็เป็นการเอาความทรงจำของตัวเองในอดีตเข้ามาผสมผสานเพื่อสอดรับไปกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอย่างเนียนๆได้อย่างไร้รอยต่อ

วิจารณ์ภาพยนตร์ Iron Man 3 (2013)

สุดท้ายอย่างที่เกริ่นนำแต่หัวแล้วว่า ภาวะสังคมร่วมสมัยอะไรๆก็มองเป็นการโหยหาอดีตไปเสียซะหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งภาพยนตร์ชุด Iron man ที่เพิ่งมีเวลาแค่ 5 ปีเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่มีเรื่องของความเคารพเทิดทูนซีรี่ย์ของผู้กำกับเข้ามาช่วย มันยิ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกเชิงขบขันมากกว่าที่จะเชิดชูเสียด้วยซ้ำกับความเป็น iron man ภาคนี้ ที่ทำซ้ำหรือเคารพตัวเองเสมือนว่า มนุษย์เหล็กถึงทางตันเสียแล้ว แม้ในตัวเรื่องอย่างเพียวๆแล้วก็มีความสนุกและไม่ได้ขี้เหร่แต่ประการใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ยิ่งน่าสนใจว่าทิศทางของ ภาพยนตร์ Iron man จะไปต่อในเส้นทางใด คิดแบบนี้ก็ยิ่งทำให้โทนี่ สตาร์คใน Aventures 2 น่าติดตามมากยิ่งกว่าที่ควร

ก่อนจบบทความจึงอยากกล่าวว่า หากหลงทางในการก้าวเดินข้างหน้า จงกลับมาสู่จุดเริ่มต้นของอดีต เพื่อหาสิ่งงดงามนำกลับไปใช้ในปัจจุบัน แต่บางครั้งการหลงทางของเรา แน่หรือไม่ว่าอดีตหรือความทรงจำจะช่วยเราได้ เช่นกันการไม่มีเกราะหุ่นยนตร์ของ โทนี่ สตาร์ค จะเป็นเช่นไร

เพราะบางทีการเดินกลับไปข้างหลังนั่นก็ไม่สามารถพบเจอสิ่งงดงามได้เสมอไป

การตั้งเป้าหมายเพื่อกลับไป อาจหลงทางมากกว่าความเป็นจริงปัจจุบันก็เป็นได้

คะแนน 7.5/10
เกรด B+

วิจารณ์ภาพยนตร์ Iron Man 3 (2013)


ขอบคุณครับ

A-Bellamy




 

Create Date : 14 พฤษภาคม 2556
6 comments
Last Update : 5 พฤษภาคม 2559 0:41:52 น.
Counter : 23940 Pageviews.

 

ให้ 8 ครับ สนุก มันส์ ดราม่าบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นน่าเบื่อ

 

โดย: ปีศาจความฝัน 16 พฤษภาคม 2556 16:14:14 น.  

 

รอ Star trek กับFast 6 อยู่ครับ

 

โดย: 8 IP: 58.9.104.172 27 พฤษภาคม 2556 15:37:16 น.  

 

I like.

 

โดย: phacharin IP: 124.121.188.226 14 มิถุนายน 2556 10:50:28 น.  

 

ผมชอบกระบวนการเขียน วิเคราะห์ภาพยนตร์ของคุณมากครับ
ติดตามทั้งจากในเฟส และพันทิพ

น่าจะทำรวมเล่มนะ

 

โดย: Puree IP: 58.8.207.246 27 กันยายน 2556 17:56:31 น.  

 

สวัสดี

 

โดย: นราวิชญ์ IP: 27.55.195.244 21 มีนาคม 2558 21:11:24 น.  

 

Hello,

New club music, download MP3/FLAC, Label, LIVESETS, Music Videos https://0daymusic.org


0daymusic Team

 

โดย: Lewishic IP: 51.210.176.129 13 เมษายน 2567 15:01:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]