ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
9 เมษายน 2555

Black Hawk Down(2001)

สารบัญภาพยนตร์

Black Hawk Down(2001)


ยุทธการทะลวงอุดมการณ์อเมริกัน




ประจวบเหมาะเสียเหลือเกินที่ภาพยนตร์ Black Hawk Down มีฤกษ์เข้าฉายในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นช่วงหลังการเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ได้ไม่นาน นั่นคือเหตุการณ์การก่อวินาศกรรม ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือเรียกกันสั้นๆว่า 9/11 (Nine-One-One) ที่ถูกโจมตีโดยกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในนามอัลกออิดะฮ์ ที่ได้กระทำการใช้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ดเทรด และอาคารเพนตากอน จนทำให้เกิดความโกลาหลแตกตื่นไปทั่วทั้งเมือง ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นเกือบ 3 พันคน

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ประธานาธิบดี จอร์จ บุช พุ่งเป้าตามล่าตัวหัวหน้ากลุ่ม อุซามะฮ์ บิน ลาดิน และเป็นการเปิดศึกครั้งยิ่งใหญ่กับสงครามทางด้านศาสนากับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง เล็งเห็นได้จากอุดมการณ์แน่วแน่ทางด้านภาพยนตร์นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เนื่องด้วยภาพของชาวมุสลิมในภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด ได้ถูกทำการผลิตซ้ำซ้อน จนเป็นวาทกรรมอิสระ เพื่อปลุกปั่นทางด้านอุดมการณ์กล่าวหาชาวมุสลิมตะวันออกกลางคือผู้ก่อการร้าย ที่โหดเหี้ยมเยี่ยงผู้ร้ายและทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และถูกจงเกลียดจงชังต่อคนทั่วทั้งโลก (ในปัจจุบัน ท่ามกลางรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ทำการแถลงการณ์เปิดเผยภาพการบุกเข้าสังหาร นาย อุซามะฮ์ บิน ลาดิน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว)

ถึงแม้ภาพยนตร์สงครามของผู้กำกับ ริดลี่ย์ สก็อตต์ (Gladiator 2000, Blade Runner 1982, Alien 1979 ) อย่าง Black Hawk Down จะใช้บริบททางด้านเวลาที่ย้อนไปไกลถึงปี ค.ศ. 1993 แต่ด้วยการออกฉายหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ในช่วงเวลาที่กะจิตกะใจของพวกเขากำลังดิ่งลงเหว ด้วยความหมดหวัง สิ้นหวัง ในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการกำลังใจ ต้องการการเยียวยาจากภาครัฐทั้งทางร่ายกายและจิตใจ แต่ไม่นานนักภาพยนตร์ Black Hawk Down ก็เข้าฉายพอดิบพอดี ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนพระเอกขี่ม้าขาว ที่เข้ามากอบกู้หนทางเยียวยาวอันสว่างไสวของประเทศสหรัฐฯโดยฉับพลัน

แต่หากไม่นับเหตุการณ์ 9/11 เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้มิได้ตั้งอยู่ในอุดมการณ์ในการผลิตขึ้นเพื่อเยียวยาทางจิตใจในเหตุการณ์ 9/11 แต่ถูกผลิตขึ้นเพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจอันดีต่อคนในประเทศและนอกประเทศในสงครามโซมาเลียที่โมกาดิซู แต่ด้วยความบังเอิญในระยะเวลาของการเข้าฉาย จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเรียกได้ตามสำนวนบ้านๆของไทยว่า “การยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว”



เนื่องด้วยบริบทของภาพยนตร์ Black Hawk Down ที่กล่าวถึงเหตุสงครามกลางเมืองของประเทศโซมาเลีย ที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันสองฝ่ายของรัฐบาลชั่วคราวกับกองกำลังติดอาวุธอิสลามหัวรุนแรง ซึ่งนำโดย โมฮัมเมด ฟาราห์ ไอดิด ทำให้เกิดภาวะผู้คนขาดแคลนอาหารอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 3แสนคน) ทางสหประชาชาติ(UN) จึงได้เข้ามาดูแล เพื่อส่งอาหารให้กับประชาชน แต่เนื่องจากกองกำลังสหประชาชาติไม่สามารถใช้อาวุธในการช่วยเหลือประชาชนจากการถูกทำร้ายได้นอกจากการป้องกันตัวเองเท่านั้น ทำให้กลุ่มต่อต้านพวกอิสลามหัวรุนแรง ไม่ได้เกรงกลัวทางกองกำลังสหประชาชาติแต่อย่างใด

นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบริบทของโลกแห่งความเป็นจริง และหากกล่าวกันอย่างรวบรัด สุดท้ายทางกองกำลังสหประชาชาติก็ไม่สามารถรักษาสันติภาพในโซมาเลียได้ มิหนำซ้ำทาง สหประชาชาติ ยังสังเวยชีวิตทหารจากเหตุการณ์ครั้งนี้อีกนับไม่ถ้วน และหากเฉพาะเจาะจงไปยังเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่ชัดเจนว่ามักจะแสดงความเป็นหัวหน้าหรือผู้นำในทุกๆทาง ได้จัดตั้งหน่วยของตัวเองขึ้น เพื่อเข้าไปจับตัว บุคคลสำคัญสองราย เพื่อหวังว่าสามารถโยงใยไปถูกหัวหน้าอย่าง ไอดิด และจะเป็นหนทางอันสงบสุขของโซมาเลียโดยเร็ว แต่หนทางมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ว่าพวกเขาจะสามารถจะจับบุคคลอันเป็นเป้าหมายได้ก็ตาม แต่กลับกลายเป็นว่า เครื่องบินของทหารอเมริกัน ถูกยิงตก เป็นผลให้ ชาวบ้านกองกำลังติดอาวุธของโซมาเลีย ลากศพของนักบินอเมริกันมากระทืบซ้ำ และเผยแพร่ข่าวออกไปทั่วทั้งโลก

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปยังจิตใจของชาวอเมริกันทั่วทั้งประเทศ เนื่องด้วยการถูกปลูกฝังถึงความเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ของโลก แต่กลับถูกย่ำยีเกียรติศักดิ์ศรีด้วยประเทศเล็กๆ ผิวดำ จากการลากทหารของพวกเขาไปรุมประชาทัณฑ์ ทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยจากประชาชนที่จิตใจเปราะบาง ว่า “พวกเราจะเข้าไปยุ่มย่ามกับประเทศของเขาทำไม และเพื่ออะไร” จึงเกิดการต่อต้านประท้วงและประณามกองทัพสหรัฐฯจากประชาชนในชาติของพวกเขาเองรวมทั้ง การถูกซ้ำเติมจากประเทศต่างๆทั่วโลก เหตุการณ์นี้จึงถือเป็นเหตุการณ์อันอัปยศอดสูต่อประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว


นี่คือภาพจากเหตุการณ์จริง


ถึงแม้เวลาจะช่วยเยียวยาให้เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไปอย่างช้าๆ และแม้นความทรงจำของประชาชนในชาติจะเลือนหายและลบเลือนไปจากจิตใจที่บอบช้ำบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทันได้หายไปสนิทดี แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้ถูกรื้อฟื้นปละนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2001 ในรัฐบาลของจอร์จ บุช ที่มีความชัดเจนในนโยบายของการกำจัดการก่อการร้ายทั่วโลก หรือเป็นเหตุผลทางอ้อมในการเข้าไปจัดการด้วยสงครามต่อประเทศเหล่านั้น ภาพยนตร์ Black Hawk Down จึงเป็นเหมือนอุดมการณ์อันแรงกกล้าซึ่งไม่ต่างจาก อุดมการณ์ของรัฐบาลชุดนั้นเลย

แต่ทั้งหมดทั้งมวลสิ่งแรกที่ต้องชื่นชมในภาพยนตร์ Black Hawk Down ก็คือมันไม่ได้ยัดเยียดผู้ชมจนกระทั่งเป็นเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) แต่กลับใช้หลักสุนทรีย์ศาสตร์ทางภาพยนตร์อย่างเยี่ยมยอดและครบสมบูรณ์ จนทำให้ผู้ชมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับวิถีทางแห่งทหารอเมริกันเอง แม้ว่าในประวัติศาสตร์ความจริงนั้น ทางกองทัพอเมริกันมีสภาพไม่ต่างจากผู้พ่ายแพ้ในสงคราม แต่ในทันทีที่ Black Hawk Down ออกฉาย ด้วยโครงสร้างและการใช้สุนทรีย์ศาสตร์ทางภาพยนตร์ ความพลิกผันก็บังเกิดขึ้นจากผู้พ่ายแพ้จากเหตุการณ์นั้นกลับตาลปัตรเป็นผู้ชนะ(Hero) ได้ในฉับพลัน และนี้คือความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์

หลังจากการเริ่มต้นภาพยนตร์ด้วยเสียงบรรยายเล่าความโหดร้ายและภาพของประชาชนที่อดอยากล้มตายของประเทศโซมาเลียแล้ว ภาพยนตร์ค่อยพาไปสู่สายสัมพันธ์ต่างๆของทหารในกองทัพ ที่ได้เข้ามาร่วมในสงครามครั้งนี้ ความมีสายสัมพันธ์ที่เริ่มต้นในตอนต้นเรื่อง ใครเลยจะเชื่อว่า จะเป็นแก่นสารสำคัญในภาพยนตร์สงครามเรื่องนี้ ความพ่ายแพ้ในเหตุการณ์จริง ได้ถูกละเลงรายละเอียดปลีกย่อยให้ผู้ชมรับรู้ ว่าเป็นอันเพราะเหตุใดกัน

การเข้าสู่สงครามของทหารสหรัฐฯ ภาพความโหดร้ายของประชาชนของ ไอดิด เป็นเหมือนภาพสุดขั้วของอุดมการณ์ ฟากหนึ่งคือผู้รักษาสันติภาพอย่างผู้ผดุงยุติธรรม อีกฟากหนึ่งไม่ต่างจากผู้ก่อการร้ายในประเทศของตนเอง ดังนั้นจึงเป็นหนทางแรกแห่งการเยียวยาว่า ทหารสหรัฐฯเอง มีความชอบธรรมเพียงใดในการเข้าสู่สงครามในครั้งนี้



ความพ่ายแพ้นั้นเริ่มต้นมาจากความผิดพลาด ความผิดพลาดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลาย ต่างๆนานา ภาพยนตร์ Black Hawk Down ถูกโฟกัสและชี้นำไปที่ความผิดพลาดของทหารอเมริกันเอง ไม่ว่าจะเป็นความประมาทเลินเล่อใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ เน้นย้ำไว้อย่างเด่นชัดก็คือ ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนมิตรที่เหนี่ยวแน่นของทหารอเมริกัน การเข้าไปช่วยเหลือทหารด้วยกันเอง โดยไม่สนใจว่าแผนการทหาร ณ เวลานั้นจะเป็นเช่นไร

การตัดเข้าสู่ห้องบัญชาการที่ นายพล แกริสัน คอยสั่งการ สิ่งหนึ่งที่มักจะเอ่ยออกมาจากปากของผู้นำคนนี้อยู่หลายฉากก็คือ การต้องเข้าช่วยเหลือของทหารทุกคน การที่ทุกคนจะต้องได้กลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย หากสังเกตให้ดี คำพูดเหล่านี้ แทบจะเรียกว่าเป็นการเน้นย้ำดีๆได้เลย ทุกครั้งที่หลุดพูดคำนี้ออกมา กล้องมักโคลสอัพใบหน้าในระยะใกล้เพื่อแสดงแววตาแห่งความครุ่นคิดและน่าสงสาร พร้อมด้วยเสียงบรรเลงของดนตรี เพื่อตอกย้ำชัดเจนในทางเปรียบเปรย ว่าทหารของอเมริกันสำคัญทุกคน และหากเทียบทางตรรกะศาสตร์ก็หมายถึงว่า ร่างกายทหาร(ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย)สำคัญกว่าภารกิจในการรบเสียด้วยซ้ำไป

การเข้าช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆ ของทหารอเมริกัน ในระหว่างลื่นล้ม การเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ การเสียใจเมื่อเพื่อนเสียชีวิต อากัปกิริยาเหล่านี้ เป็นตัวบ่งบอกถึงความสำคัญของทหารอเมริกัน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแก่นความคิดของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

แม้สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสื่อสารและถ่ายทอดออกมาในเชิงของการใช้สื่อภาพยนตร์เป็นตัวกำหนดอุดมการณ์ความคิดของนโยบายทางทหารของรัฐบาลอเมริกันในการเข้าร่วมรบในสมรภูมิโซมาเลีย และยังเป็นการตอบข้อสงสัยหลายต่อหลายอย่างเชิงอ้อมผ่านทางสื่อภาพยนตร์ในคำถามที่ว่า “เพราะเหตุใดจึงต้องเข้าไปโซมาเลีย” “และเพราะเหตุใดจึงผิดพลาด” การบ่งบอกความชอบธรรมในการเข้าร่วมสงครามโดยใช้คำพูดซึ้งจากทหารเอง

ทั้งหมดทั้งมวลจึงกล่าวได้ว่า เป็นการพลิกผันจากความเลวร้ายของวันวาน ของการโดนก่นด่าจากทุกฝ่าย ให้กลับกลายมาเป็นภาพของผู้บริสุทธิ์ได้ทันที ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมของอเมริกาเอง และนี้อาจเป็นความแก้ต่างต่อสาธารณชนทั่วโลกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ที่ผิดพลาดเป็นเพราะความสามัคคีกลมเกลียวของทหารสหรัฐฯเอง รวมทั้งความเป็นตำรวจโลกที่สูงส่งของประชาคมโลก ที่ไม่ต้องการให้ใครหน้าไหนย่ำยีใครบนโลกใบนี้




มีจุดหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าสนใจที่โยงใยคิดต่อเนื่องเป็นเกลียวคลื่นได้ก็คือ เหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down นั้นมีการให้ภาพของพวกฝั่งต่อต้าน กำลังทำละหมาดในตอนเช้า ด้วยการเน้นยำอย่างมีเล่ห์นัย ในการทำละหมาดซึ่งแน่นอนเป็นการสื่อสารทางภาพที่บ่งบอกถึงความแตกต่างชัดเจนถึงพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นการเน้นย้ำในแง่ของความแตกต่างในการทำสงครามครั้งนี้ เพราะหลังจากพวกต่อต้านทำละหมาดเสร็จ พวกเขาเหล่านั้นก็หยิบปืนพร้อมรบในทันทีท่วงที นี่อาจเป็นภาพอันสร้างความแตกต่างในทางศาสนา หรือ อาจเป็นการสะท้อนถึงการเป็นสงครามศาสนาไปในตัว

หากลองมองในบริบทต่อมา ช่วงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย ก็มีเหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดจากอิสลามหัวรุนแรงเช่นกัน และหลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น การเข้าร่วมสงครามทั้ง อิรัก หรือ อัฟกานิสถาน ซึ่งทั้งหมดเป็นความแตกต่างจากศาสนาเช่นกัน นี้จึงเป็นมูลเหตุที่น่าคิดในการให้ภาพเหล่านี้ ที่เป็นผลพวงต่อเนื่องให้เห็นภาพในโลกแห่งความเป็นจริง จึงอาจเป็นเหมือนนัยแทรกซ้อนแห่งอุดมการณ์ที่ถูกนำมาใช้ในโลกของภาพยนตร์ ถ้าพูดอย่างเข้าใจง่ายๆก็คือ โลกของภาพยนตร์นั้นไม่ต่างจากตัวทดสอบอุดมการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ในทันทีที่ถูกฉายออกสู่สาธารณชนแล้ว ก็เป็นการบอกว่าโลกเสมือนแห่งศิลปะกำลังถูกสะท้อนให้เป็นเรื่องจริงในทันที ในกรณีจึงอาจทำนายบางอย่างได้ว่า หากภารกิจหรืออุดมการณ์ใดๆถูกผลิตซ้ำๆ ในโลกของภาพยนตร์ สิ่งเหล่านั้นไม่ต่างจากโลกเสมือนแห่งความเป็นจริงก็ไม่ปาน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเป็น กรณีศึกษาอันดี ในการใช้สื่อภาพยนตร์เพื่อบ่งบอกและตอกย้ำทางด้านอุดมการณ์ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นประเทศหนึ่งประเทศใดได้เป็นอย่างดีในที่นี้เฉพาะอเมริกา อีกทั้งยังเป็นการแก้ต่างในการไขข้อขุ่นมัวสงสัยให้กระจ่างชัดภายในเวลา 2 ชั่วโมง จากเหตุการณ์อันเป็นเรื่องอัปยศของประเทศนั้นๆ ดังนั้นภาพยนตร์จึงไม่ใช่เพียงความบันเทิงชั่งค้างข้ามคืนเท่านั้น

แต่สิ่งที่อดชมไม่ได้ก็คือ ถึงแม้ว่าแก่นความคิดของเรื่อง ถ้าหากเอ่ยปากเปล่าเป็นนโยบายโต้งๆขึ้นมา มันจะเป็นการแสดงความคิดเห็นไม่ต่างไปจากโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ปาน แต่ด้วยความชาญฉลาดที่ใช้ในสื่อสารทางภาพยนตร์นั้น จะเล็งเห็นได้ว่า มิได้เป็นการแสดงใดๆที่บอกถึงการยัดเยียดทางอารมณ์เลย เพราะภาพยนตร์นั่นใช้องค์ประกอบทางภาพยนตร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่เรื่องของบทภาพยนตร์ ภาพ กล้อง เสียง

ทำให้เชื่อเหลือเกินว่า ภาพยนตร์สงครามเรื่องนี้จะเข้าไปสถิตอยู่ในใจของผู้ชมหลายๆ คน ด้วยเรื่องราวของมิตรภาพของเพื่อน และอาจถึงขั้นบ่อน้ำตาแตกโดยไม่ทันรู้ตัว นี้จึงเป็นหนังสงครามที่ครบสมบูรณ์ ที่เร่งเร้าอารมณ์สนุกสนานได้อย่างแน่นอน การใช้จังหวะแห่งการตัดต่อที่มีผลทางด้านอารมณ์ และการแทรกอารมณ์ขันอยู่ในเรื่องราวตลอดเวลา และมั่นใจได้ว่า ผู้ชมจะต้องหลงใหลและคล้อยตามกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแน่นอน



แต่เนื่องด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีของภาพยนตร์รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ที่มันส่งตรงสู่ทางด้านจิตวิทยาโดยไม่ทันระวัง จึงเป็นเหตุผลแห่งความน่ากลัวได้ระดับหนึ่ง เพียงเพราะผู้ชมอาจจะสับสนระหว่างความเป็นจริงในโลก กับโลกแห่งศิลปะภาพยนตร์ได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ชมส่วนมากไม่สามารถแยกแยะได้อีกต่อไปว่า อะไรคือเรื่องจริง อะไรเรื่องแต่ง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ถูกผสมผสานจนกลายเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไม่รู้ตัว แม้ข้อเท็จจริงอาจจอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน แต่รายละเอียดสำคัญได้แตกหน่อไปจากข้อเท็จจริงมากมาย หลักฐานที่ชัดเจนประการหนึ่งก็คือ หากผู้ชมต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมของข้อมูลข้อเท็จจริงของเรื่องสงครามโซมาเลีย เราจะได้รับข้อมูลที่มีคนเขียนไว้ในอินเตอร์เน็ตมากมาย ที่ไม่ต่างอะไรเลยจากภาพยนตร์ Black Hawk Down ที่เพิ่งชมจบไป อีกทั้งยังหยิบยืมรูปภาพจากเรื่องมาใช้อธิบายข้อเท็จจริงอีกด้วย

นี่คือตัวอย่างสำคัญที่เป็นเหตุผลหนึ่งที่บ่งบอกได้ว่า ภาพยนตร์มีความสำคัญมากเท่าไหร่ต่อโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นการเท่าทันและล่วงรู้ถึงสุนทรีย์ศาสตร์ทางภาพยนตร์อาจเป็นเหตุผลที่จะทำให้เราเข้าใจภาพยนตร์ว่ามันคือศิลปะที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างมาก มันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา เปลี่ยนแปลงวิธีคิดและความเข้าใจของผู้คนได้เพียงชั่วข้ามคืน อีกทั้งมันยังสามารถเป็นแหล่งเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง สังคม ฯลฯ ได้อย่างง่ายดาย

และสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากจะไขข้อข้องใจของประเทศสหรัฐอเมริกาของเขาเองแล้ว มันยังปลุกกระแสความเป็นชาตินิยมขึ้นมาในสภาวะแห่งการร่วงหล่นทางจิตใจของ 9/11 เพื่อฮึกเหิมสภาวการณ์ทางใจให้ลุกขึ้นมาใหม่ รับรู้ได้ถึงพลังความรักชาติของพวกเขาได้ทันที มิหนำซ้ำมันยังมีอิทธิพลขจรขจายทั้งอุดมการณ์และความรู้สึกนึกคิดไปสู่บุคคลทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

ส่วนพวกเราในฐานะแห่งประเทศบุคคลที่สาม ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงในสายใยทางชาติพันธ์ แต่กลับถูกโยงใยแห่งอุดมการณ์ที่เปิดอ้ารับแต่โดยดีเพราะคิดว่าเป็นสิ่งบันเทิงที่ไม่มีพิษมีภัย อาจเป็นผลให้เราถูกกลืนไปโดยไม่รู้ตัว และหากชมเรื่องนี้และรู้สึกเหมือนมีอะไรจุกอยู่ในลำคอ เหมือนน้ำตาจะไหล ผู้เขียนก็หวังว่า จะไหลเพียงเพราะการรับชมสุนทรีย์ศาสตร์ทางภาพยนตร์ที่สมบูรณ์เท่านั้น

อย่าไหลเพราะ “เห็นดีเห็นงามในการ เข้าสู่สงครามโดยชอบธรรมเลย”

คะแนน 8.25/10
เกรด A



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์




 

Create Date : 09 เมษายน 2555
2 comments
Last Update : 22 พฤษภาคม 2555 19:12:31 น.
Counter : 6384 Pageviews.

 

มันมาก

 

โดย: เท่ห์ โรงเรียนรักษ์วิทยา จ.ประจวบคีรีขันธ์ IP: 49.48.224.200 28 กรกฎาคม 2555 10:55:18 น.  

 

กับเรื่องsaving private ryan

 

โดย: เท่ห์ โรงเรียนรักษ์วิทยา จ.ประจวบคีรีขันธ์ IP: 49.48.224.200 28 กรกฎาคม 2555 10:56:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]