น้ำตาที่ไหลย่อมมีวันจางหาย หากไม่รู้จักเจ็บปวด คงไม่รู้ถึงความสุขใจ
Group Blog
 
All Blogs
 
ออตโตมัน

มึนครับออกอ่าวไปไหนก็ไม่รู้แล้ว ยึดคุณกาสะลองฯเป็นหลักละกัน
เริ่มต้นที่ค.ศ.1453 เป็นปีที่มีความสำคัญครับคือเป็นปีที่ออตโตมันเติร์กยึดคอนสแตนติโนเปิลได้ทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์สลายตัวไป และเป็นปีที่สิ้นสุดยุคกลางด้วยครับ(เป็นการเปรียบเทียบว่าปืนใหญ่ของออตโตมันอันเป็นผลผลิตของชนชั้นกลางยิงถล่มกำแพงเมืองหนา 3 ฟุต ของไบแซนไทน์อันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าศักดินา)

ต้องย้อนก่อนครับว่าออตโตมันเติร์กเป็นใครมาจากไหนอันนี้คุณกาสะลองฯเล่าแล้วผมเพิ่มละกันตอนประมาณศตวรรตที่ 13 ออตโตมันเติร์กสามารถยึดเอเซียไมเนอร์จากไบแซนไทน์ได้ และใช้ดินแดนนี้เป็นฐานกำลังของตนและกองทหาร"แจนิซารี"ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงนี้ กองทหารนี้เป็นเด็กหนุ่มชาวคริสต์ที่ถูกเกณฑ์มาจากที่ต่างๆมาเข้ารีตเป็นมุสลิมและฝึกหัดเป็นทหารอาชีพ โดยได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆเป็นการตอบแทน ซึ่งกองทหารแจนิซารีนี้ได้มีส่วนอย่างมากในการขยายตัวของออตโตมันในระยะแรก(และต่อมาก็เป็นผู้บั่นทอนจักรวรรดิในเวลาต่อมา)

ส่วนจักรวรรดิไบแซนไทน์หลังจากเสียเอเซียไมเนอร์แล้วต้องเสียดินแดนตามชายฝั่งทะเลอะเดรียติกและเกาะต่างๆให้เวนิชและเจนัว ส่วนภาคเหนือของจักรวรรดิก็โดนคุกคามจากพวกเซิร์บและบุลกา เรียกได้ว่าฐานะของไบแซนไทน์มีแต่ทรงกับทรุด

และผีซ้ำด้ามพลอยในสมัยสุลต่านมูราดที่ 1 (ค.ศ.1359-1389)ได้บุกยึดอเดรียโนเปิลจากไบแซนไทน์และใช้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางในการขยายตัวของตนในบอลข่าน เป็นการตัดคอนสแตนติโนเปิลออกจากรัฐต่างๆในบอลข่าน

แน่นอนเมื่อกองทัพออตโตมันข้ามฟากมายุโรปบรรดารัฐต่างในบอลข่านประกอบด้วยเซอร์เบีย วาเลนเซีย บอสเนียและบุลกาเรียโดยได้รับการสนับสนุนจากพระสันตปาปาก็รวมตัวกันต่อต้านออตโตมันเติร์กทำให้เกิดการรบที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งที่รู้จักกันในนามการรบที่โคโซโว(Battle Of Kosovo) เติร์กก็ชนะไปตามระเบียบ ส่วนผู้แพ้ก็โดนผนวกเป็นส่วนนึงของจักรวรรดิออตโตมัน (กว่าจะได้ลืมตาอ้าปากก็นู่นศตวรรตที่ 19)

จากนั้นสมันสุลต่านโมฮัมมัดที่ 2 (1451-1481)ก็คิดว่าน่จะถึงเวลาที่จะจัดการกับศัตรูเก่าแก่ของตนซะทีนั่นคือ จักรวรรดิไบแซนไทน์ซึ่งในเวลานั้นเหลือเพียงกรุงคอนสแตนติโนเปิลและดินแดนรอบๆ ซึ่งจะบีบก็ตาย ไม่บีบก็จะตายแล่มิตายแหล่ แน่นอนถ้าสุลต่านโมฮัมมัดคิดแค่นี้จักรวรรดิออตโตมันคงไม่ได้แผ่ขยายไปในสามทวีป จึงจะตัดสินใจยุติซะที

เริ่มจากสร้างป้อมขึ้นที่บอสฟอรัสฝั่งยุโรปชื่อป้อมรูมิเลียใช้เวลาสร้างเพียง 90 วัน(แต่ยังตั้งตระหง่านจนถึงทุกวันนี้)ติดตั้งปืนใหญ่ที่หล่อโดยนายช่างชาวฮังการีจากนั้นก็ชุมนุมทัพเรือไว้ให้พร้อม เตรียมทหารไว้ถึง 100,000 คน

แต่ฝ่ายตั้งรับก็ใช่ว่าจะขี้ไก่ไม่งั้นไม่อยู่รอดมาเป็นพันๆปีหรอก แค่มีกำแพงหนา 3 ฟุต ฝ่ายบุกก็คิดแล้วคิดอีกว่าจะบุกอย่างไร นี่ตั้งศูนย์ปืนใหญ่ไว้ตามจุดสำคัญๆของกำแพง ขึงโซ่ขวางทะเลทางด้านตะวันออกของเมืองไว้ แต่ในเมืองมีทหารป้องกันประมาณ10,000คนเท่านั้นเองแถมบางส่วนเป็นทหารรับจ้างที่พระสันตปาปาส่งมาช่วยเข้ากับชาวเมืองไม่ได้อีก(ทหารรับจ้าง-โรมันคาทอลิก,ชาวเมือง-กรีกออโธดอกซ์)

เมื่อการรบเปิดฉากขึ้นปืนใหญ่ที่ป้อมรูมิเลียก็เริ่มระดมยิงอย่างเอาเป็นเอาตาย กองเรือรบก็แล่นเข้าใกล้แนวโซ่ที่ฝ่ายตั้งรับขึงไว้ ผลโดนปืนใหญ่บนป้อมยิงเสียหายจำนวนมากไม่สามาถเข้าใกล้โซ่ที่ขึงไว้ได้ สุลต่านโมฮัมมัดที่2จึงสั่งต่อเรือขึ้นอีก70ลำโดยต่อเรือทางด้านทะเลดำอย่างเร่งด่วนเพื่ออ้อมแนวโซ่ไป(บางตำราท่านว่าเกณฑ์คนมายกเรือข้ามฟากไปลงด้านทะเลดำแล้วแต่จะเชื่อละกัน) เมื่อกองเรือข้ามไปได้ชาวเมืองก็ตกตะลึงไม่เป็นอันป้องกันกอปรกับปืนใหญ่ที่ป้อมรูมิเลียยิงทลายกำแพงได้ กองทัพเติร์กเข้าเมืองได้วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1453(จำไว้เผื่อออกสอบเปิดหนังสือมาให้) มีการรบบนท้องถนนถึง3วัน3คืน เมื่อการต่อต้านจะยุติ สุลต่านโมฮัมมัดที่ 2 เข้าไปทำพิธีขอบคุณพระเจ้าที่โบสถ์เซนต์โซเฟีย(ก่อนถูกเปลี่ยนเป็นสุเหร่าในเวลาต่อมา) ก็เป็นการปิดฉากจักรวรรดิโบราณที่มีอายุยืนนานกว่า 900 ปี

โอยผมไปไม่ถึงไหนเลยเดี๋ยวจะมาต่อหลังปี ค.ศ.1453 ให้

ต่อจากเมื่อวานครับ

หลังจากสุลต่านโมฮัมเม็ดที่ 2 เข้าคอนสแตนติโนเปิลได้ ก็ใช้คอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง จัดการปกครองใหม่ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา อนุญาติให้คนที่ไม่ใช่มุสลิมนับถือศาสนาเดิมได้แต่ต้องเสียภาษีให้จักรวรรดิ มีการตั้งแพทริอาร์คแห่งคอนสแตนติโนเปิลขึ้นมาดูแลชาวคริสต์ในจักรวรรดิ(ที่ส่วนใหญ่นับถือ กรีกออโธดอกซ์)

สมัยสุลต่านซาลิมที่ 1(ค.ศ.1512-1520) สมัยนี้ได้มีการทำสงครามพวกแมมลูกแห่งอียิปต์(พวกเดียวกับที่เคยยันทัพมองโกลได้) สามารถยึดไคโรได้ และได้มีการนำเสื้อคลุมของพระนบีซึ่งเป็นเสื้อคลุมสำหรับตำแหน่งกาหลิบและสุลต่านแมมลูกแห่งอียิปต์รับช่วงต่อจากกาหลิบแห่งราชวงศ์อับบาสิดที่หนีภัยมองโกลมา ซึ่งสุลต่านซาลิมได้นำไปไว้ที่คอนสแตนติโนเปิล(ทำให้สุลต่านในสมัยหลังๆของออตโตมันมักอ้างสิทธิ์เหนือตำแน่งกาหลิบด้วย)สมัยนี้ก็มีการรบบ้างประปรายกับเปอร์เซียและรัฐต่างๆในยุโรป

ต่อมาสมัยสุลต่านสุไลมาน(ค.ศ.1520-1566) เป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของออตโตมันเป็นช่วงที่ดินแดนต่างๆของจักรวรรดิอยู่ในความสงบ เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง กองทัพออตโตมันจึงคิดการใหญ่ นั่นก็คือเข้าตียุโรป

นับตั้งแต่ไบแซนไทน์และรัฐต่างๆในบอลข่านล่มสลายกลายเป็นส่วนนึงของออตโตมันชาติที่ดูจะเดือดร้อนที่สุดก็คือฮังการี พยายามล็อบบี้ชาติต่างๆในยุโรปให้จัดตั้งกองทัพครูเสดขึ้นมาใหม่ แต่แย่หน่อยตรงที่ไม่มีชาติไหนว่างติดทำสงครามกันเองหมด หันไปหาโป๊ป โป๊ปก็ยุ่งกับการปราบปรามพวกนอกรีต(พวกโปรแตสแตนท์) จึงรวมหัวกับออสเตรียที่เป็นลูกพี่ของตน(กษัตริย์ของฮังการีมีฐานะเป็นวัสซาลของออสเตรีย)จัดตั้งกองทัพผสมขึ้น โดยกษัตริย์หลุยส์แห่งฮังการีคุมทัพเองเข้าสับปะยุทธกับกองทัพออตโตมันที่ โมเอซส์ กองทัพเติร์กได้ชัยชนะ พระเจ้าหลุยส์ตายในที่รบและเคลื่อนพลต่อไปยังเวียนนา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์ฮับเบิร์ก กะจะเก็บศัตรูให้สิ้นซากไปอีกราย

กองทัพเติร์กล้อมเมืองอยู่ 6 สัปดาห์เป็นฤดูหนาวหิมะตกหนัก ทหารเร่าๆจะกลับบ้าน พอดีกับเจ้าชายเฟอร์ดินานยอมสงบศึกโดยมีข้อตกลงดังนี้
1.เติร์กยอมรับพระเจ้าชาลส์ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นกษัตริย์ฮังการีภาคตะวันตกโดยมีเจ้าชายเฟอร์ดินานเป็นผู้ปกครอง(ออสเตรียถือโอกาสผนวกฮังการีตอนพระเจ้าหลุยส์ตายใรที่รบ)
2.ออสเตรียยอมรับเจ้าซาโปลายเป็นกษัตริย์ฮังการีตะวันออก(ซึ่งเป็นดินแดนส่วนใหญ่เติร์กยึดไว้ได้)และไม่ให้ฮังการีทั้ง 2 ส่วนทำสงครามกัน
3.ออสเตรียต้องส่งส่วยให้ออตโตมัน
แต่ต่อมาเจ้าชายเฟอร์ดินานละเมิดสัญญาเติร์กจึงส่งกองทัพเข้ายึดฮังการีและตั้งข้าหลวงปกครองโดยตรง

ส่วทางทะเลกองทัพออตโตมันก็เข้ายึดตูนิเซียและอัลจีเรียได้ คราวนี้มีคนเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกแล้ว พระสันตปาปาจึงชักชวนสเปน เวนิช จัดตั้งกองเรือผสมขึ้นเพื่อขับไล่เติร์กออกไป เกิดยุทธนาวีขึ้นที่เปรเวสซ่า พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งสเปนจึงยอมสงบศึกกับออตโตมัน ส่วนเวนิชต้องเสียค่าชดใช้จำนวนมากให้เติร์ก และทำให้ออตโตมันเป็นเจ้าทะเลไปอีก 30 ปี สุลต่านสุไลมานตายในปีค.ศ.1566

กว่าฝ่ายคริสต์เตียนจะแก้แค้นได้ก็ในปีค.ศ.1571 เมื่อกองเรือผสมสเปนและเวเนเทียภายใต้การสนับสนุนของพระสันตปาปา เข้าทำการโจมตีกองทัพเรือของออตโตมันกรือที่รู้จักกันดีในยุทธนาวีเลอปันโต ในกรีก กองเรือออตโตมันโดนทำลายย่อยยับเป็นการแทบจะปิดฉากอำนาจทางทะเลของออตโตมันเลยทีเดียว

สุลต่านสมัยต่อๆมาในศตวรรตที่16-17 ก็ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนยุคตั้งจักรวรรดิแล้วครับ และแนวโน้มที่จักรวรรดิออตโตมันจะค่อยๆเสื่อมลงวิทยาการแทบจะหยุดนิ่งส่วนยุโรปร่วมสมัยอยู่ในช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เริ่มมีความเจริญต่างๆ เติร์กและโลกมุสลิมกำลังจะโดนทิ้งไว้ข้างหลัง

แถมเหมือนโดนกระทืบซ้ำเมื่อกองทหารแจนิซารีกองทหารคู่ขวัญของจักรวรรดิที่ตอนตั้งจักรวรรดิมีไม่ถึง2,000คนและขยายตัวอย่างรวดเร็วในสมัยสุลต่านสุไลมาน ตอนยุครุ่งเรืองสุดมีกำลังพลเกือบ 100,000 คน พวกนี้เริ่มเรียกร้องเงินเดือนสูงๆ อภิสิทธิ์ต่างๆมากขึ้น ซ้ำยังคอยข่มขู่สุลต่านในเมืองหลวงถึงขั้นเปลี่ยนตัวสุลต่านเลยทีเดียวช่วงนี้เป็นช่วงตกต่ำของออตโตมัน

ความตึงเครียดถึงขีดสุดเมื่อสมัยสุลต่านมูราดที่ 4(ค.ศ.1620-1640) เมื่อแจนิสซารีสังหารมหาดเล็กคนสนิทของพระองค์และลากศพมาประจานกลางจตุรัส สุลต่านมูราดที่ 4 โกรธอย่างยิ่งจึงตัดสินใจส่งกองทหารจากอนาโตเลีย(เอเชียไมเนอร์)ที่ยังภักดีกับพระองค์เข้ากวาดล้างแจนิสซารีอย่างโหดเหี้ยมไม่แพ้กัน จากนั้นแจนิสซารีก็โดนลดบทบาทลงไปจนโดนยุบในศตวรรตที่19

ขอว๊าบมาช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสเลย(ยืมมุขคุณกาสะลองฯมาใช้) เป็นช่วงที่จักรวรรดิออตโตมันได้มีโอกาสพักหายใจบ้าง เพราะมหาอำนาจในยุโรปเวลานั้นเค้ามีภาระที่ต้องคุมกำเนิดการปฎิวัติฝรั่งเศสไม่ให้แพร่เข้าไปในประเทศตน(สมัยนั้นรัฐราชาธิปไตยในยุโรปเรียกลัทธิเสรีนิยมว่าลัทธิอุบาทว์)

แต่ฝรั่งเศสได้คนดีมีฝีมือคือนายพลหนุ่มจากคอร์ซิการ์ นโปเลียน โบนาปาร์ต สามารถตีกองทัพผสมออสเตรีย,รัสเซียและอิตาลีแตกกระเจิงได้ เหลือแต่อังกฤษ ที่ไม่ได้ส่งทหารมารบแต่ส่งเงินทองมาช่วยศัตรูของฝรั่งเศส

รัฐบาลไดเรคทอรี่ของฝรั่งเศสคิดจนหัวแตกว่าจะจัดการอังกฤษยังไงดี หันมามองนายพลหนุ่มที่กำลังดังก็คิดออกทันที ด้วยการจัดกองทหาร 49,000 คน พร้อมกองเรือให้ยกไปตีอียิปต์ซึ่งเป็นของออตโตมัน(เห็นไหมลากมาเกี่ยวได้แล้ว) แล้วใช้อียิปต์เป็นฐานและให้ยกทัพต่อไปอินเดียเพื่อสนับสนุนการกบฎในอินเดีย เป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรของอังกฤษและเป็นการเนรเทศนายพลหนุ่มให้พ้นจากปารีสด้วย

ใน กรกฎาคม ปีค.ศ.1978 นโปเลียนได้ยกพลขึ้นบกที่อบูเคอร์ เข้ายึดอเล็กซานเดรียและไคโรอย่างรวดเร็ว กองกำลังเมมลูก ในเวลานั้นได้เข้าต่อต้านฝรั่งเศสในการยุทธ Battle of Piramid) ระหว่างทหารม้าเมมลูกแต่งกายสีสันสวยงาม 6,000 คน กับกองทหารราบ(กองปืนคาบศิลา)ของนโปเลียนที่ไม่เคยแพ้ใคร 20,000 คน ผลเจ้าบ้านแตกกระเจิงหนีลงใต้เพื่อทำสงครามกองโจรต่อ

ถึงตานี้สุลต่านซาลิมที่ 3 ถูกแรงบีบทั้งจากภายในและภายนอกให้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศส และส่ง โมฮัมมัด อาลี ปาชา(นายพล) พร้อมกองทหารแอลเบเนียไปป้องกันอียิปต์

โชคยังเป็นของสุลต่านเมื่อกองทัพเรืออังกฤษของนายพลเนลสันสามารถทำลายกองทัพเรือของฝรั่งเศสที่อบูเคอร์ได้กอปรกับการจลาจลของชาวพื้นเมือง,กองทัพที่สุลต่านส่งไปสามารถยันกองทัพนโปเลียนที่อัคเคอร์ได้และที่ปารีสกำลังวุ่นวาย ทำให้นโปเลียนถอดใจลอบลงเรือกลับฝรั่งเศส ทิ้งกองทหารไว้สู้ต่อ ต่อมากองทหารกองนี้ก็ยอมแพ้แลกกับให้อังกฤษลำเลียงพลกลับบ้าน

ออตโตมันได้อียิปต์คืนแต่กองทหารที่ส่งไปป้องกันดันก่อกบฎยกโมฮัมมัด อาลีผู้นำของตนขึ้นเป็นผู้แทนสุลต่านในอียิปต์ สุลต่านไม่สามารถปราบกบฎได้ก็ต้องเลยตามเลยตั้งโมฮัมมัด อาลี ปกครองอียิปต์

หลังจากที่ชาติต่างๆในยุโรปได้รุมกินโต๊ะนโปเลียน จับมาเซ็นสัญญาในคองเกรสแห่งเวียนนาได้แล้วคิดว่ายุโรปจะสงบ แต่ปล่าวเลยอิทธิพลของลัทธิอุบาทว์ยังคงอยู่ และได้แผ่ขยายไปทั่วยุโรปและลามมาถึงจักรวรรดิออตโตมัน กรีก เป็นดินแดนแห่งแรกที่ได้รับผลกระทบ

ต้นศตวรรตที่ 19 บอลข่านได้ฟื้นฟูการพาณิชย์กับยุโรปทำให้ได้รับผลกระทบจากลัทธิเสรีนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ออตโตมันในเวลานั้นไว้ใจกรีกมาก ได้ให้กรีกเป็นผู้ปกครองบอลข่าน ให้กรีกปกครองตนเอง ปรนเปรอกันแบบสุด แต่อิสรภาพ,เสรีภาพก็ช่างหอมหวล เย้ายวนเกินกว่าจะมองข้าม

เมื่อคิดได้แล้วก็จึงลงมือกบฎในปี ค.ศ.1821 ภายใต้การนำเจ้าชายอิพซีแลนด์ แห่งรัสเซีย โดยได้น้ำเลี้ยงจากซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 แต่พอรบกันจริง รัสเซียกลับเบี้ยวเพราะโดนออสเตรียภายใต้การแนะนำของเจ้าชายเมเตอร์นิก บอกว่าเรื่องในบ้านเค้าอย่ายุ่งเลย และข้างหลังออสเตรียก็มีอังกฤษและฝรั่งเศสยืนคุมเชิงอยู่

เมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลือพวกกบฎก็ถูกปราบไป ออตโตมันตอบแทนความกระด้างกระเดื่องด้วยการโอนอภิสิทธิ์ทั้งหลายของกรีกให้รูเมเนียดูแลแทน แต่บอลข่านก็ยังไม่สงบเกิดกบฎที่โมเรีย ในกรีก มีการไล่ฆ่าฟันชาวตุรกี กบฎกรีกจึงคืนชีพรอบสองพร้อมประกาศเอกราชในปี ค.ศ.1822 ท่ามกลางคำขู่ของรัสเซียที่ไม่ให้ออตโตมันยุ่งกับกรีกและความพอใจลึกๆของยุโรป

สงครามกู้เอกราชกรีกได้สร้างชื่อเสียงเลวร้ายให้ทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อออตโตมันทราบว่ามีการไล่ฆ่าฟันชาวเตร์กในโมเรีย ออตโตมันตอบโต้ด้วยการจับแพทรีอาร์คแห่งคอนสแตนติโนเปิลฆ่าทิ้งเสีย แล้วโยนศพลงช่องแคบบอสฟอรัส ปล้นสดมภ์โบสถ์วิหารของชาวกรีก ไล่ฆ่าฟันชาวกรีก จับผู้หญิงมาขายเป็นทาส ทั่วยุโรปไม่พอใจแต่ไม่มีใครเข้ามายุ่งเพราะออสเตรียขวางไว้(ออสเตรียต้องการให้บอลข่านคงสภาพเดิมเพราะกลัวว่าถ้ารัฐต่างๆบอลข่านได้เอกราช ชาวสลาฟในดินแดนตนอาจเรียกร้องมั่ง)

เพื่อแสดงให้เห็นว่าออตโตมันเอาจริง จึงได้ปรับปรุงกองทหารของตนยกเลิกกองทหารแจนิสซารี(ที่ล้าสมัย)จัตั้งกองทหารสมัยใหม่ และเกณฑ์กองทัพบก ทัพเรืออันทันสมัยของโมฮัมมัด อาลี ปาชา จากอียิปต์เข้ามาปราบกบฎที่โมเรียด้วย

กองทัพของโมฮัมมัด อาลี ทำการรบได้ผล กบฎกรีกจวนเจียนจะพบกับวาระสุดท้าย แต่แล้วซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 สวรรคต ในปี ค.ศ.1826 ซาร์นิโคลัสที่ 1ขึ้นครองราชย์ ก็ประกาศว่า ทุกเรื่องในบอลข่านเป็นเรื่องของพระองค์ พร้อมที่จะใช้กำลังแก้ปัญหาของกรีก พูดแล้วไม่ทำเปล่าพร้อมประกาศสงครามกับออตโตมันไนปี ค.ศ.1828

อังกฤษและฝรั่งเศสตกตะลึงจึงรีบจัดกองทัพเรือผสมเข้าสู่ยุทธภูมิบ้าง จริงๆจะเอามาคุมเชิงรัสเซียไม่ให้แหลมมามาก แต่ดันแล่นไปเฉียดๆกองเรือผสมของออตโตมันกับอียิปต์ จึงเกิดการรบขึ้น อ่าวนาวารีโน่ ผลกองเรือผสมของออตโตมันลงไปนอนก้นอ่าวเกือบหมด ส่วนกองทัพบกรุสเซียรุกจนถึงอเดรียโนเปิล

ถึงตานี้จักรวรรดิออตโตมันก็ใกล้ถึงวาระสุดท้ายเหมือนกัน ข้าศึกจ่อเมืองหลวงแล้ว ปรัสเซียจึงเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสงบศึกให้ สรุปได้ว่า
1.สถานะของกรีกให้มหาอำนาจของยุโรปตัดสิน(ให้เอกราชแหละ)
2.รัสเซียได้ทรานคอร์เคซัส(จอร์เจีย,อาร์เมเนีย)และชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลดำ และได้สิทธิเดินเรือเสรีในช่องแคบบอสฟอรัสและคะดาแนล

ต่อนะครับ(ฟิตหน่อยต้องไล่ให้ทัน)

หลังกรีกเป็นเอกราชปี ค.ศ.1830 ฝรั่งเศสก็ยึดแอลจีเรีย(ความจริงออตโตมันก็ไม่กระเทือนหรอก ดินแดนนี้ขึ้นกับออตโตมันแต่ในนามเท่านั้น)

แต่ที่หนักหนาคืออียิปต์ หลังสงครามเอกราชกรีกในปีค.ศ.1832 โมฮัมมัด อาลี ต้องรู้สึกข่มขื่นที่ต้องเสียกองเรือรบอันมีค่าของตนไป(ราคามันแพงนะต่อใหม่ก็ไม่ค่อยมีตังก์) แต่ไม่เป็นไรสุลต่าน(สุลต่านมาหมุดที่ 2)สัญญาว่าจะยกเกาะครีต อัดเร และซีเรียให้ดูแล

แต่พอไปทวงก็โดนสุลต่านตอกกลับมาว่า ลื้อจะเอาอะไรวะ ปราบกบฎก็ไม่สำเร็จยังมีหน้ามาเอารางวัลเรอะ เอาเกาะครีตไปเกาะเดียวละกัน

เมื่อโมฮัมมัดอาลีโดนเข้าอย่างนี้ก็โกรธบวกแรงยุของฝรั่งเศส(ซึ่งเวลานั้นมีอิทธิพลอย่างมากในอียิปต์) จึงให้อิบราฮิม บุตรชาย ยกทัพบกทัพเรือเข้าตีจักรวรรดิ

กองทัพจักรวรรดิแพ้หลุดลุ่ยทั้งทางบกและทางเรือ ยิ่งทางบก อิบราฮิมยึดซีเรียได้แล้วพร้อมที่จะเดินทัพเข้าคอนยาในเอเซียไมเนอร์

รัสเซียจึงเข้าแทรกแซงทันทีเพราะถ้าปล่อยให้ออตโตมันล่มสลาย สองช่องแคบก็จะเปิดโล่ง แต่ออตโตมันตกลงกับอียิปต์ได้ก่อนโดยยกซีเรียให้อียิปต์ตามที่ขอ

ส่วนกับรัสเซียก็มีการทำข้อตกลงอันเกียร์ อิสเกลเลสซี่ เป็นสัญญาป้องกันร่วมแต่รัสเซียได้ประโยชน์คือสามารถสั่งให้ตุรกีเปิด-ปิดช่องแคบได้ตามต้องการท่ามกลางความไม่พอใจของอังกฤษ

สุลต่านมาหมุดที่ 2 หลังจากแพ้อียิปต์เกิดเสียดายดินแดนจึงจ้างชาวเยอรมันมาฝึกทหารของตน เมื่อคิดว่าพร้อมแล้วบวกกับจลาจลในซีเรีย สุลต่านจึงสั่ง บุก บุก บุก

แต่คิดว่าทหารของตนพร้อมจริงๆยังไม่พร้อม โดนอิบราฮิม ที่อยู่ในซีเรีย ตีแตกกระเจิง พร้อมยกทัพเข้า เอเซียไมเนอร์ ปลายทางคอนสแตนติโนเปิล พร้อมที่จะปลดสุลต่าน

คราวนี้มีมหาอำนาจในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ ถลาเข้ามาปกป้องสุลต่าน ยื่นคำขาดให้อิยิปต์ถอนตัวออกจากซีเรีย รับอัคเรไปมณฑลเดียว

โมฮัมมัด อาลี ซึ่งมีฝรั่งเศสเป็นแบ็คอัพ คิดว่าฝรั่งเศสจะช่วยตน จึงเซย์โน อังกฤษจึงส่งกองเรือรบเข้าโจมตีทัพของอิบราฮิมที่เบรุตแตกพ่าย และกองทัพเรือกองเดียวกันนี้พร้อมจะเข้าโจมตีอียิปต์ เมื่อฝรั่งเศสไม่ขยับ อียิปต์จึงยอมจะนน คืนซีเรียให้ออตโตมัน ตามข้อตกลงลอนดอนและข้อตกลงนี้ก็ลบล้างข้อตกลงอันเกียร์ อิสเกลเลสซี่ ที่ออตโตมันทำกับรัสเซียด้วย

คราวหน้าว่าด้วยเรื่องสงครามไครเมียครับ

ช่วงกลางศตวรรตที่ 19 ออตโตมันมีโอกาสพักหายใจอีกรอบเมื่อทวีปยุโรปกำลังปั่นป่วนไปด้วยการขยายตัวของลัทธิเสรีนิยม ชาติที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือ ออสเตรีย ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากรัสเซียในการปราบกบฎฮังการี จักรวรรดิออสเตรียคงแตกเป็นเสี่ยงๆแล้ว

จาการที่รัสเซียเข้าไปมีส่วนในการช่วยออสเตรีย ทำให้ซาร์นิโคลัสที่ 1 ทรงลำพองใจว่ารัสเซียคือผู้ที่ชี้เป็นชี้ตายของยุโรป ยุโรปต้องสยบให้พระองค์

จึงชายตามองลงมาทางใต้นั่นคือจักรวรรดิออตโตมัน แต่ก็มีมีคนขัดใจพระองค์นั่นคือฝรั่งเศส พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ขอสิทธิ์ในการเข้าคุ้มครองชาวคริสต์ทั่วจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งสิทธินี้เดิมเป็นของรัสเซีย ทำให้รัสเซียไม่พอใจ สุลต่านมาหมุดที่ 2 พอใจที่เห็นมหาอำนาจยุโรปขัดแย้งกันจึงยินยอม

นิโคลัสที่ 1 จึงทาบทามอังกฤษเสนอให้แบ่งออตโตมันออกป็นส่วนๆ เซอร์เบีย บัลแกเรียเป็นเอกราช รัสเซียได้ช่องแคบบอสฟอรัส ออสเตรียได้ช่องแคบคะดาแนลด์ อังกฤษอาจเอาเกาะครีตและอียิปต์ไป

อังกฤษนิ่งเฉย ทำให้รัสเซียเข้าใจว่าอังกฤษยินยอม จึงส่วทูตไปข่มขู่สุลต่าน ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสจึงส่งกองทัพเรือผสมไปที่ช่องแคบทันที สุลต่านเห็นว่ายังไงๆตนก็ได้เปรียบจึงประกาศสงครามกับรัสเซีย ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจึงตกกระไดพลอยโจนไปด้วย สงครามที่ไม่ควรเกิดก็เกิดขึ้น

การรบในช่วงแรกรัสเซียเข้าโจมตีมอลโดวาและวาเลนเซีย(โรมาเนียในปัจจุบัน) รุกคืบเข้าใกล้แม่น้ำดานูบ ตานี้ออสเตรียจึงประกาศให้รัสเซียถอนทหารออก มิเช่นนั้นจะร่วมมือกับอังกฤษ

ซาร์นิโคลัสที่ 1 ทรงขมขื่นกับการกระทำของออสเตรียมากที่ออสเตรียลืมบุญคุณตอนที่ช่วยปราบกบฎฮังการี แต่ไม่มีทางเลือกเพราะไม่อยากเปิดศึกหลายทางจึงยอมถอนทหารออก ออสเตรียก็ถอนความร่วมมือกับอังกฤษทำให้อังกฤษ,ฝรั่งเศสไม่สามารถรบกับรัสเซียผ่านออสเตรียได้ จึงต้องหาสมรภูมิใหม่

ก็ชายตามาที่เมืองเซวาสตาโปลในคาบสมุทรไครเมีย กองทัพผสมอังกฤษ,ฝรั่งเศส,ตุรกี จำนวน 64,000 คน ยกพลขึ้นบกที่อ่าวอีฟปาโตเรียในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1854

การรบเป็นไปอย่างอืดอาด ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ค่อยเต็มใจรบกันสักเท่าไหร่ ผู้คนเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและการบาดเจ็บมากว่าการรบเสียอีก ดีที่ได้หน่วยพยาบาลอาสาสมัครของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มาพยาบาลทหารฝ่ายอังกฤษและดาร์ยา เชวาสโตปอลสกายา พยาบาลฝ่ายทหารรัสเซีย

สงครามจบลงด้วยความปราชัยของรัสเซีย แต่ดีที่ว่าแนวรบด้านคอเคซัสกองทัพรัสเซียมีชัยเหนือตุรกีที่เมืองคาลส์ จึงพอที่จะกดดันกองทัพพันธมิตรบ้าง ตามข้อตกลงปารีส รัสเซียต้องรื้อป้อม ค่ายบนชายฝั่งทะเลดำและแม่น้ำดานูบ ชาวคริสต์ในจักรวรรดิ ชาติต่างๆในยุโรปเป็นผู้คุ้มครอง ซาร์นิโคลัสที่ 1สวรรคตก่อนสงครามสงบเพียง 3 วัน

สงครามครั้งนี้มีเกร็ดอยู่นิดหน่อยว่าทำไมรัสเซียถึงแพ้สงคราม
1.การส่งบำรุง ของฝ่ายพันธมิตรออกจากท่าเรือประเทศตนเดินทางทางเรือใช้เวลาเดินทาง 3 สัปดาห์ยุทธปัจจัยมาถึงแนวรบ ส่วนฝ่ายรัสเซียใช้เวลา 3 เดือน มาตามทางเกวียน แถมมีการยักยอกกันอีก
2.เทคโนโลยีอาวุธ ทางฝ่ายพันธมิตรใช้ปืนบรรจุทางท้ายลำกล้องแล้ว ฝ่ายรัสเซียยังใช้ปืนคาบศิลาบรรจุทางปากลำกล้องอยู่เลย แต่รัสเซียยังใช้กลยุทธป้อมค่ายอย่างได้ผล กว่าฝ่ายพันธมิตรจะตีหักได้ก็ร่วมปี

แล้วมันจะไม่แพ้ได้ไง

ต่อมาสมัยสุลต่าน อับดุลฮาซิด(ค.ศ.1861-1876) สมัยนี้เริ่มมีการปฎิรูปภายในประเทศมีการตั้งมหาวิทยาลัยตามแบบตะวันตก สร้างทางรถไฟ ปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นยุครุ่งเรืองยุคนึงของออตโตมันถ้าไม่มี..

ในปี ค.ศ.1875 คาบสมุทรบอลข่านเริ่มเกิดความวุ่นวายอีกครั้งโดยการจลาจลเริ่มจากบอสเนีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกร(3รัฐนี้มีฐานะเป็นวัลซาลของออตโตมัน)
ปีค.ศ.1876 บัลแกเรียร่วมก่อการด้วยได้ไล่ฆ่าข้าราชการชาวเติร์ก

ขณะที่บอลข่านวุ่นวายในกรุงคอนสแตนติโนเปิลก็กำลังวุ่นวายกับการเปลี่ยนสุลต่าน สุลต่านอับดุลฮามิด สุลต่านพระองค์ใหม่มีบัญชาให้ปราบกบฎ โดยเฉพาะในบัลแกเรียมีการเผาหมู่บ้าน 59 หมู่บ้าน มีพลเมืองตายร่วมหมื่น สุลต่านสั่งจัดงานฉลอง,ให้รางวัลแม่ทัพที่เข้าทำการ แต่ทั่วโลกรับไม่ได้

รัสเซียจึงประกาศสงครามในปีค.ศ. 1877 ยกทัพเข้าโจมตีจักรวรรดิ และพ่ายแพ้ยับเยินในการยุทธิภูมิที่เพลฟน่า ถ้าไม่ได้กองทัพของชาติต่างๆในบอลข่านช่วยไว้คงจะยับเยินถึงขั้นต้องขอสงบศึกไปเลย ซึ่งชัยชนะครั้งนี้มีส่วนชะลอการสลายตัวของจักรวรรดิไปอีก 40 ปี

แต่อย่างไรก็ดีกองทัพรัสเซียก็ยึดโซเฟียเมืองหลวงของบัลแกเรียคืนได้ บีบให้จักรวรรดิลงนามในสนธิสัญญาซานสเตฟาโนในปี ค.ศ.1877 มีสาระสำคัญว่า
1.เซอร์เบีย มอนเตเนโกร และรูมาเนียเป็นเอกราช
2.รัสเซียได้เมืองคาร์สและชายฝั่งตะวันออกของทะเลดำ
3.บัลแกเรีย รูมิเรีย มาซิโดเนีย มีสิทธิ์ปกครองตนเองโดยรัสเซียยึดครองบัลแกเรีย 2 ปี และดูแลบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาร่วมกับออสเตรีย
4.ได้รับโดบรูดจาผบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำดานูบ)เพื่อเอาไปแลกกับเบสซาราเบียของโรมาเนีย
5.ออตโตมันรื้อป้อมค่ายตามแม่น้ำดานูบและจ่ายค่าปฎิกรณ์สงครามให้รัสเซีย

ถ้าปฏิบัติตามสัญญานี้ก็เท่ากับปิดฉากออตโตมันในยุโรปไปเลยและได้รัฐใหม่ที่มีขนาดใหญ่นั่นคือบัลแกเรียภายใต้การอุปถัมภ์ของรัสเซีย

แน่นอนย่อมไม่มีมหาอำนาจอื่นๆพอใจโดยเฉพาะอังกฤษจึงมีการตกลงกันใหม่ที่เบอร์ลิน ในปีค.ศ.1878 ภายใต้การดำเนินการของบิสมาร์ค
ได้ข้อสรุปว่า
1.ลดขนาดบัลแกเรียลงเหลือ1ใน3จากเดิมให้ปกครองตนเองดินแดนที่เหลือให้ขึ้นกับออตโตมันตามเดิม(รูมิเลีย,มาซิโดเนีย)
2.ออสเตรียครองบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาชั่วคราวแต่อธิปไตยเป็นของออตโตมัน
3.เซอร์เบีย มอนเตเนโกร และรูมาเนียเป็นเอกราช
4.โรมาเนียได้โดบรูดจาแต่ยกเบสซาราเบียให้รัสเซีย
5.รัสเซียได้เมืองคาร์สและชายฝั่งตะวันออกของทะเลดำ
6.อังกฤษได้ไซปรัส ส่วนฝรั่งเศสได้ตูนิเซีย

ที่น่าตลกของสัญญานี้คือออตโตมันเสียดินแดนผู้พิทักษ์ที่มาช่วยค้ำจุนจักรวรรดิกว่าที่เสียให้ผู้รุกรานเสียอีกคือเสียบอสเนีย-ออสเตรีย,ไซปรัส-อังกฤษ,ตูนิเซีย-ฝรั่งเศส ส่วนผู้รุกรานได้เพียงเบสซาราเบีย(เมืองทางแถบคอเคซัสเดิมเป็นของรัสเซียอยู่แล้ว)

อีกกระทู้ เมื่อเริ่มเข้าศตวรรตที่ 20 จักรวรรดิออตโตมันเหลือดินแดนในยุโรปเพียงมาซิโดนเนีย,อัลบาเนียที่ยังปกครองโดยตรงอยู่ แต่กระนั้นก็ดีจักรวรรดิก็ยังมีดินแดนอันกว้างใหญ่ในเอเซีย และบางส่วนในแอฟริกา(อียิปต์ซึ่งปกครองแต่ในนามและตริโปลี) ทำให้สุลต่านอับดุลฮามิดยังหลอกตัวเองว่าออตโตมันยังยิ่งใหญ่อยู่

แต่มีคณะนายทหารหนุ่มภายใต้การนำของเอนเวอร์ ปาชาที่เรารู้จักกันดีในนามว่ายังส์เติร์ก ทนไม่ได้กับความอ่อนแอของจักรวรรดิและความไม่เอาไหนของสุลต่าน จึงก่อการปลดสุลต่านอับดุลฮามิดออกจากบัลลังก์และตั้งสุลต่านโมฮัมมัดที่ 5 ขึ้นเป็นสุลต่านแทน

หลังจากยังค์เติร์กมีอำนาจสิ่งแรกที่ทำคือปฏิรูปการปกครองประเทศ มีการบังคับใช้ภาษาเติร์กเป็นภาษาราชการ ตรงนี้ทำให้ตะวันออกกลางที่เคยสงบก็วุ่นวายเลยทีเดียว(ตรงนี้อ่านเพิ่มเติมได้ที่ความเห็น 73 ของคุณกาสะลองฯ)

ดังนั้นอิตาลี่ซึ่งมองตริโปลีอยู่นานแล้วจึงอาศัยความวุ่นวายนี้ยึดตริโปลีในปีค.ศ1912

เหมือนซวยซ้ำซวยซาก ที่บังเอิญรัฐต่างๆในบอลข่านคิดเหมือนกันว่าเวลาในบอลข่านของออตโตมันนะหมดแล้วเซอร์เบีย มอนเตเนโกร กรีก บัลแกเรียจึงรวมตัวกันจัดตั้งสันนิบาตบอลข่านขึ้น มีข้อตกลงง่ายว่ายึดดินแดนของออตโตมันมาให้หมด มีปัญหาอะไรให้ซาร์แห่งรัสเซียเป็นผู้ตัดสิน

ว่าแล้วสันนิบาตบอลข่านก็ประกาศสงครามกับออตโตมันในปีค.ศ.1913 ออตโตมันจึงรีบสงบศึกกับอิตาลี่และยกตริโปลีให้อิตาลี่ไปเลยหร้อมถอนกำลังกลับมารบกับสันนิบาตบอลข่าน

ผลแพ้ยับเยินต้องยกดินแดนที่เหลือทั้งหมดในยุโรปให้สันนิบาตบอลข่าน(ไปแบ่งกันเอง) เหลือเพียงคอนสแตนติโนเปิลและรอบๆ

แต่สันนิบาตบอลข่านเกิดแบ่งเค้กไม่ลงตัวจึงเปิดศึกฉะกันรอบสองคราวนี้คู่กรณีเป็นบัลแกเรีย-เซอร์เบีย,มอนเตเนโกร,กรีก มีรูมาเนียกับออตโตมันร่วมแจมด้วย บังแกเรียเป็นฝ่ายแพ้ทำให้ออตโตมันได้อเดรียโนเปิลคืนมาเมืองนึง

จากตรงนี้เหตุการณ์ก็ไปต่อกับกระทู้ที่ 72 ของคุณกาสะลองฯพอดีครับ(เฮ่อ เข็นจบจนได้) ความจริงเหตุการณ์ตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็น่าสนใจน่าจะมีท่านใดขยายความนะครับ


Create Date : 01 มกราคม 2548
Last Update : 1 มกราคม 2548 21:13:07 น. 9 comments
Counter : 3260 Pageviews.

 
ยาวมากค่ะ
แต่ขอบคุนนะ เราทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้พอดี
eiei thank you


โดย: yuri's IP: 203.188.46.173 วันที่: 18 พฤษภาคม 2549 เวลา:17:43:43 น.  

 
โอววว แต๊งกิ้วมากครับ

ทำรายงานเรื่องนี้พอดีเลยครับ

แต่เห็นที ต้องขออณุญาต เอาไปปรับสำนวนให้เป็นทางการ เหมาะแก่การลง รายงาน หน่อยนะครับ

ขอบคุณมากครับ



โดย: Soulz IP: 203.113.33.8 วันที่: 31 กรกฎาคม 2549 เวลา:16:37:46 น.  

 
ชอบอ่านประวัติศาสตร์ของออตโตมันมากมากเลย
ขอบคุณมากครับ


โดย: ผมชอบประวัติศาสตร์ IP: 202.57.149.51 วันที่: 10 สิงหาคม 2549 เวลา:15:22:55 น.  

 
เรารักออตโตมัน


โดย: รร IP: 203.113.56.9 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:20:15:32 น.  

 
ขำขำๆๆๆๆๆๆ มุขโคตรขำเลยอะดีเจ


โดย: ร้าว IP: 61.7.141.83 วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:15:58:08 น.  

 
sorry na ka

but i think สุลต่านโมฮัมเม็ดที่ 2 is wrong na

it must be Sultan Mehmet II or Fatih MehmetII

(สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 chenge his name to Fatih Mehmet II)

* fatih = conqueror it's Turkish word






--------------------------

Now I'm in Turkey and I must have history exam

... I still dont understand lesson

these information is really helpful

THX na ka


โดย: Pear IP: 88.253.216.39 วันที่: 13 พฤศจิกายน 2550 เวลา:0:30:42 น.  

 
ขอบคุณคุณPear ที่มาแก้ให้ครับ

ผมว่าบ้านเราเรียกสุลต่านเมห์เม็ท( Mehmet) เป็น สุลต่านโมฮัมเม็ด คงเป็นเรื่องความเพี้ยนของภาษาครับ


โดย: ryzon วันที่: 2 มกราคม 2551 เวลา:18:04:39 น.  

 
ขอทราบเรื่องสงครามบอลข่านอย่างละเอียดหน่อยนะคะช่วยหน่อยเถอะค่ะ


โดย: เด็กน้อย IP: 125.25.243.65 วันที่: 26 กันยายน 2551 เวลา:22:45:02 น.  

 
เหอะๆ อ่าน ไป อ่าน มา สนุกดี เหะ


โดย: Admin_To IP: 124.120.34.27 วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:11:57:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ryzon
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




free counters
Friends' blogs
[Add ryzon's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.