creatio ex nihilo

ศล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 85 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ศล's blog to your web]
Links
 

 
Shogi สำหรับผู้เริ่มต้น

Shogi หรือ หมากรุกญี่ปุ่นมีรูปแบบการเดินและกติกาที่พิสดารน่าเล่นอีกเกมหนึ่ง กระดาน Shogi เป็นกระดาน 9 x 9 มีตัวหมากตั้งต้นดังรูป



พื้นที่บนกระดานแบ่งเป็น 3 ส่วน อาณาจักรของคุณ (แถว g-h-i), อาณาจักรศัตรู (แถว a-b-c), และพื้นที่กลางกระดาน (แถว d-e-f-g) ตัวหมากทั้งสองฝ่ายหน้าตาเหมือนกันเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยมที่มีอักษรเขียนกำกับ ไม่มีการจำแนกตัวหมากของแต่ละฝ่ายด้วยสีเหมือนหมากรุกไทย จีน หรือฝรั่ง แต่จำแนกด้วยทิศทางมุมแหลมของรูปห้าเหลี่ยม สาเหตุที่เขาไม่จำแนกด้วยสี เพราะ ตัวหมากของคู่ต่อสู้อาจจะกลายมาเป็นตัวหมากของคุณได้ถ้าคุณสังหารหมากตัวนั้น พูดง่าย ๆ คือหมากที่คุณกินได้ และนำไปวางไว้นอกกระดานจะกลายเป็นพรรคพวกของคุณ คุณจะนำมันกลับลงมาบนกระดานเมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการโดยมีกติกาเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไป

Shogi ก็เหมือนกับหมากรุกไทยหรือฝรั่งที่มีการ promote หรือ เลื่อนตำแหน่ง (ในหมากรุกจีนไม่มีการเลื่อนขั้น ยกเว้น กรณีพิเศษคือเบี้ยเมื่อข้ามคลองจะสามารถเดินด้านข้างได้ แต่ยังคงเป็นเบี้ย สำหรับหมากรุกไทยนั้น เบี้ยเมื่อเดินไปจนถึงแถวตั้งต้นเบื้ยของฝ่ายศัตรูจะได้รับการโปรยยศเป็นเม็ด) ตัวหมากของ Shogi ทุกตัวยกเว้นขุนกับแม่ทัพทองสามารถเลื่อนขั้นได้เมื่อเดินไปถึงอาณาจักรศัตรู ดังนั้นตัวหมากรุกญี่ปุ่นทุกตัวยกเว้นสองตัวนี้จะมีอักษรเขียนไว้ทั้งสองด้าน เมื่อเลื่อนขั้น เราก็จับมันพลิกเอาตัวอักษรอีกด้านหนึ่งขึ้นมา รายละเอียดการเลื่อนขั้นผมจะพูดถึงพร้อม ๆ กันไปกับรายละเอียดการเดินหมากแต่ละตัว ซึ่งมีทั้งหมด 8 ตัวดังนี้

1. ขุน (แม่ทัพกษัตริย์, แม่ทัพมณีศิลา)



ขุนเดินเหมือนขุนหมากรุกไทย หรือ คิงหมากรุกฝรั่ง เดินได้ทุกทิศทางรอบตัวทีละหนึ่งช่อง ในอดีตแบ่งขุนออกเป็น 2 ชื่อคือแม่ทัพกษัตริย์ (Royal General) กับแม่ทัพมณีศิลา (Jeweled General) ดังรูปซ้ายและขวาตามลำดับ โดยผู้เล่นที่เก่งกว่าจะเล่นเป็นฝ่ายแม่ทัพกษัตริย์ แต่ปัจจุบันเราไม่แยกกันแล้วนะครับ (บางครั้งเรียกแม่ทัพสูงสุด-โอะโชะ กับ แม่ทัพหยก-เกียวกุ) เป้าหมายของเกมคือสังหารขุนของศัตรู ขุนไม่มีสิทธิเลื่อนขั้น (คงไม่ต้องเหตุผลว่าทำไมนะครับ) ขุนฝ่ายใดตายก่อนฝ่ายนั้นแพ้ สำหรับหมากรุกญี่ปุ่นการกินกัน หมากทุกตัวจะกินในตำแหน่งทิศที่เดิน รวมถึงเบี้ย (เหมือนหมากรุกจีน) ซึ่งแตกต่างจากหมากรุกไทยกับหมากรุกฝรั่ง (เพราะเบี้ยหมากรุกไทย/ฝรั่ง เดินตรง แต่กินเฉียง) ตำแหน่งเริ่มต้นของขุนคือช่องกลาง (แถว 5) แถวล่างสุด (a หรือ i)

2. เรือ (รถม้าศึกบิน-ฮิชะ) - ราชามังกร





เรือเดินเหมือนเรือหมากรุกไทย/จีน หรือ Rook หมากรุกฝรั่ง เดินได้ยาวในแนวตั้งกับแนวนอน เรือสามารถเลื่อนขั้นเป็นราชามังกร (ริว) ได้ รูปตัวหมากเรือและมังกรแสดงดังรูปซ้ายและขวามือตามลำดับ เมื่อเรือกลายเป็นมังกรมันจะมีความสามารถในการเดินเสมือนเรือผสมขุน ทิศทางการเดินของเรือและมังกรแสดงโดยทิศเส้นสีฟ้าและชมพูตามลำดับ การเลื่อนขั้นในหมากรุกญี่ปุ่นไม่ได้เป็นการบังคับ หมายความว่าคุณจะเลื่อนขั้นหรือไม่เลื่อนขั้นก็ได้ เรือเป็นตัวหมากที่มีพลังอำนาจทำลายล้างระยะไกลสูงสุด ตำแหน่งเริ่มต้นบนกระดานของมันคือแถวที่สองทางขวามือ

3. พระสังฆราช (บิชอบ-คะกุ, รถม้าศึกมีเขา) - ม้ามังกร





บิชอบ (รูปตัวหมากซ้าย) เดินเหมือนบิชอบหมากรุกฝรั่ง เดินได้ยาวในแนวเส้นทแยงมุม สามารถเลื่อนขั้นเป็นม้ามังกร (รูปตัวหมากขวา, คุณมีสิทธิเลือกที่จะไม่เลื่อนขั้นก็ได้) ม้ามังกร-ริวมะ (รูปแสดงทิศการเดินขวา) เดินผสมระหว่างบิชอบ (รูปแสดงทิศการเดินซ้าย) กับขุน ตำแหน่งเริ่มต้นบนกระดานของบิชอบคือแถวที่สองซ้ายมือ

4. ทอง (แม่ทัพทอง-คินโชะ)



แม่ทัพสองตัวที่อยู่ติดกับขุนในตอนเริ่มต้นคือแม่ทัพทอง (รูปแสดงตัวหมากซ้าย) แม่ทัพทองเป็นหมากเพียงตัวเดียวที่ไม่ใช่ขุนที่ไม่มีการเลื่อนขั้น (รูปแสดงตัวหมากด้านขวาแสดงให้เห็นว่าด้านหลังของแม่ทัพทองไม่มีตัวอักษรใด ๆ เขียนเอาไว้) เพราะหมากปกติ (ยกเว้นเรือกับบิชอบ) เมื่อเลื่อนขั้นแล้วจะเลื่อนขั้นกลายเป็นแม่ทัพทอง รูปแบบการเดินของแม่ทัพทองคล้ายกับขุน แต่เดินได้น้อยกว่าขุนสองทิศทางกล่าวคือแม่ทัพทองไม่สามารถถอยเฉียงซ้ายและขวาได้ แม่ทัพทองมีบทบาทมากใน Shogi ในฐานะผู้พิทักษ์ขุนที่เข้มแข็ง และเป็นตัวที่สำคัญยิ่งในช่วงพิชิตชัยปิดเกม

5. เงิน (แม่ทัพเงิน-กินโชะ) - นะริกิง (Narigin)





ตัวหมากสองตัวที่อยู่ถัดจากแม่ทัพทองคือแม่ทัพเงิน (ตัวหมากตัวซ้าย) เดินเหมือนโคนหมากรุกไทย คือ ทิศเบื้องหน้าสามทิศและถอยหลังเฉียงซ้าย-ขวา รวมเป็นห้าทิศ (รูปแสดงทิศการเดินซ้าย) แม่ทัพเงินสามารถเลื่อนตำแหน่งเป็นนะริกิง (ตัวหมากตัวขวา) เดินได้เหมือนแม่ทัพทอง (รูปแสดงทิศการเดินขวา)

6. อัศวิน (ม้าเกียรติยศ-เคมะ) - นะริเก (Narikei)





ม้า (รูปหมากซ้าย) เดินคล้ายกับม้าหมากรุกทั่วไป แต่เดินได้ตรงหน้าเท่านั้น (รูปการเดินซ้าย) ถอยหลังกลับและเดินด้านข้างไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ หากม้าเดินไปจนถึงสองแถวสุดท้ายของฝ่ายตรงข้ามมันจะต้องเลื่อนขั้นกลายเป็นนะริเก (รูปตัวหมากขวา) ซึ่งเดินเหมือนกับแม่ทัพทอง ตำแหน่งเริ่มต้นของม้าอยู่หลังเรือและบิชอบ

7. หอก, ทวน (รถม้าศึกหอมหวน-เกียวชะ) - นะริเกียว (Narikyo)





ทวน (รูปหมากซ้าย) เดินตรงหน้ายาวได้อย่างเดียว (รูปการเดินซ้าย) ถอยหลังไม่ได้ นั่นทำให้เมื่อมันเดินจนสุดปลายกระดานจะต้องเลื่อนขั้นเป็นนะริเกียว (รูปหมากขวา) ซึ่งเดินเหมือนแม่ทัพทอง ทวน ม้า และเบี้ย สามตัวนี้เมื่อเดินถึงดินแดนศัตรูอาจจะเลื่อนขั้นหรือไม่เลื่อนขั้นก็ได้ แต่เมื่อใดที่มันเดินไปจนถึงที่สุดไม่อาจไปต่อได้อีกแล้วมันจะถูกบังคับให้เลื่อนขั้นเสมอ

8. เบี้ย (พลเดินเท้า-ฟุเฮียว) - โทะกิง (Tokin)





เบี้ย (รูปหมากซ้าย) เดินตรงทีละหนึ่งช่องและกินตรง (ต่างจากหมากรุกไทย/ฝรั่ง) เมื่อเดินไปจนสุดกระดานแล้วจำเป็นต้องเลื่อนขั้นเป็นโทะกิง (รูปหมากขวา) ซึ่งเดินได้เหมือนแม่ทัพทอง

เมื่อรู้จักตัวหมากทั้ง 8 ตัว มีกฎเกณฑ์ที่ต้องรู้อีกเพียงเล็กน้อย เราก็พร้อมที่จะเริ่มเล่นหมากรุกญี่ปุ่นกันแล้วครับ ในส่วนของการเลื่อนขั้น เมื่อมีการเลื่อนขั้นแล้วจะลดยศไม่ได้นะครับ ตัวหมากจะมียศนั้นไปจนกว่าจะตาย สำหรับตัวหมากที่มีสิทธิเลื่อนขั้น แต่ยังไม่เลื่อนขั้น สิทธินั้นยังคงอยู่ไม่หายไปไหน ตัวหมากของฝ่ายศัตรูที่เรากินได้ จะกลายเป็นหมากของฝ่ายเรา คุณสามารถนำมันกลับลงบนกระดานเมื่อไรก็ได้ การนำกลับลงกระดานเสมือนการเดิน 1 ครั้ง ดังนั้นถ้าคุณนำหมากกลับไปวางบนกระดานเท่ากับคุณได้เดินแล้วหนึ่งที ต่อไปเป็นทีของฝ่ายคู่ต่อสู้เดิน การวางหมากในอาณาจักรของศัตรูเป็นสิ่งที่ทำได้ครับ แต่จะเลื่อนขั้นทันทีที่วางหมากไม่ได้ คุณอาจเลื่อนขั้นมันได้ในตาเดินถัดไป แต่การวางหมากในอาณาจักรของฝ่ายตรงข้ามก็มีข้อยกเว้นหนึ่งประการ (สืบเนื่องจากการที่มันไม่สามารถเลื่อนขั้นได้ทันทีที่วาง) คือคุณไม่สามารถวางหมากแล้วทำให้หมากนั้นหมดตาเดินได้ ได้แก่การวางเบี้ยหรือทวนในแถวสุดท้าย (แถว a) หรือการวางม้าในสองแถวสุดท้าย (แถว a หรือ b) เพราะในการทำเช่นนั้นหมากที่คุณวางลงไปไม่อาจเดินไปไหนได้อีก

เงื่อนไขการวางเบี้ยมีอีกสองประการที่สำคัญ (1) คุณวางเบี้ยลงในหลัก (1-9) แล้วทำให้หลักนั้นมีเบี้ยของคุณมากกว่า 1 ตัวไม่ได้ โทะกิงไม่นับว่าเป็นเบี้ยนะครับ (2) คุณไม่สามารถวางเบี้ยลงไปเพื่อรุกจน (checkmate) ได้ เบี้ยที่อยู่บนกระดานอยู่แล้วสามารถรุกจนได้ หรือวางหมากอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เบี้ยลงไปบนกระดานก็สามารถรุกจนได้

ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายเดินซ้ำไปซ้ำมาในรูปแบบเดิม (เดินล้อ) เราเรียกว่าเซ็นนิชิเตะ (sennichite) ถ้าตำแหน่งซ้ำกัน 4 ครั้งเกมนั้นจะยุติการแข่งขัน แต่ถ้าเป็นการรุกล้อ คือ ฝ่ายรุก รุกให้อีกฝ่ายเดินซ้ำไปซ้ำมาตำแหน่งเดิมสี่ครั้ง ฝ่ายที่รุกจะเป็นฝ่ายแพ้ (ผิดกับกติกาหมากรุกไทยนะครับ รุกล้อของหมากรุกไทยทำให้ผลลัพธ์ของเกมออกมาเสมอกัน)

กรณีเกิดทางตันหรือจิโชะกิ (jishogi) เมื่อขุนของทั้งสองฝ่ายเดินตะลุยเข้าไปอยู่ในอาณาจักรศัตรู (Entering King) และดูรูปเกมแล้วคงทำให้แพ้-ชนะกันไม่ได้ จะมีการนับแต้มจากตัวหมากของแต่ละฝ่าย เรือและบิชอบตัวละ 5 แต้ม นอกนั้นตัวละ 1 แต้ม (การเลื่อนขั้นหรือไม่เลื่อนขั้นไม่เกี่ยวอะไรกับแต้ม) ใครที่แต้มน้อยกว่า 24 แพ้ ถ้าแต้มมากกว่าหรือเท่ากับ 24 ทั้งคู่ ก็เสมอกัน

หมายเหตุ รูปภาพทั้งหมดและเนื้อหาบางส่วนนำมาจากเว็บไซต์ SHOGI VAULT Comprehensive Guide to Advanced Shogi


Create Date : 03 ธันวาคม 2551
Last Update : 27 กันยายน 2552 18:28:59 น. 1 comments
Counter : 9338 Pageviews.

 
ดูท่าไม่ยากนะครับคุณศล ส่วนใหญ่น่าจะงงตรงตัวอักษรกัน

ผมละอยากรู้กติกาโชกิมานานล่ะ เคยเล่นแต่โกะครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 4 ธันวาคม 2551 เวลา:13:05:52 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.