Group Blog
 
All Blogs
 
ความหมายของวิตามิน (ไวตามิน)

------------------------------------------------
ความหมายของวิตามิน
(วิตามินคืออะไร ?)
------------------------------------------------
วิตามินหรือไวตามิน คือสารอินทรีย์ที่จำเป็นสำหรับปฏิกิริยาเคมีในร่างกายวิตามินเป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยมาก แต่ขาดไม่ได้ ถ้าขาดจะทำให้ระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายทำงานผิดปกติวิตามินบางตัวสังเคราะห์ขึ้นได้เพียงพอในร่างกาย บางตัวก็สังเคราะห์ไม่ได้ หรือสังเคราะห์ได้ แต่ไม่พอจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร
....
ประวัติ
การค้นพบวิตามินสืบเนื่องมาจากรักษาโรคขาดวิตามินที่เกิดขึ้นในสมัยโบราณ เช่น โรคเหน็บชา โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคกระดูกอ่อน การรักษาในตอนแรกมักใช้ อาหารต่อมาจึงได้คิดแยกสารบริสุทธิ์ที่ให้ผลในการรักษาออกจากอาหาร และเรียกกันว่า "วิตามิน"
โรคเหน็บชาเป็นโรคที่เคยเป็นกันมากในกองทัพเรือญี่ปุ่นผู้เป็นโรคมีอาการบวมตามแขนขามีโรคหัวใจแทรก และระบบประสาททำงานเสื่อมลงในปี ค.ศ.1882 หมอชาวญี่ปุ่นพบว่าโรคนี้รักษาหรือป้องกันได้โดยการเพิ่มอาหารพวกเนื้อสัตว์ จึงเข้าใจกันผิดว่ามาจากการขาดโปรตีนต่อมาหมอชาวดัชพบโดยบังเอิญว่าในหมู่เกาะอิน เดียตะวันออกไก่ที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ชาวพื้นเมืองรับประทานจะเป็นโรคชนิดหนึ่งซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคเหน็บชาในคนตอนแรกเขาเข้าใจว่าเกิดจากพิษในอาหารต่อมา จึง พบว่าการ เติม รำข้าวลงไปในอาหารช่วยป้องกันโรคนี้ได้ จึงคิดว่ารำข้าวมีสารแก้พิษ ภายหลังจึงมีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านพบว่า โรคเหน็บชาก็ดี หรือโรคเลือดออก ตามไรฟันก็ดี มา จากการขาดสารอาหารที่มีไนโตรเจนอยู่ในโมเลกุลจึงให้ชื่อสารอาหารนี้ว่าวิตะมีนส์ (Vitamines) ในปี ค.ศ. 1913 ดร. McCollum และ ดร. Davis แบ่ง วิตามินส์ออก เป็น 2 พวกคือ พวกที่ละลายในไขมันและพวกที่ละลายในน้ำ และต่อมาพบว่าสารพวกนี้อาจเป็นเอมีนส์หรือสารอื่นก็ได้ จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวิตามินส์มา เป็น วิตามิน และได้หาวิธี แยกสารอาหารนี้ออกจากอาหารทำให้บริสุทธิ์ หาโครงสร้างทางเคมี และวิธีสังเคราะห์ทางเคมีขึ้น โดยเหตุนี้จึงทราบกันว่าสารในรำข้าวที่ สามารถแก้โรคเหน็บชาได้คือวิตามินบีหนึ่งหรือไทอามิน
โรคระบาดอีกอย่างหนึ่งในสมัยก่อน คือโรคลักปิดลักเปิดมักพบแก่ลูกเรือที่เดินทางรอนแรมไปในทะเลเป็นเวลานานในที่สุดก็ทราบกันว่าโรคนี้ป้องกันได้โดยการกิน ส้มหรือมะนาว หรืออาหารที่มีวิตามินซี ในประเทศอังกฤษมีผู้ค้นพบว่าน้ำมันตับปลารักษาโรคกระดูกก่อนในสุนัขได้ และเมื่อนำมารักษาเด็กที่เป็นโรคกระดูกอ่อนก็ได้ผลดี เช่นเดียวกันจึงได้คิดแยกวิตามินดีจากน้ำมันตับปลา ขณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกาเกิดโรคหนังกระ (Pellagra) ในแหล่งที่บริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลักจึงมีผู้คิดหาวิธี ป้องกัน และรักษาโรคนี้ ซึ่งท้ายที่สุดก็ทราบกันว่าข้าวโพดมีไนอะซินต่ำ จึงทำให้ผู้บริโภคข้าวโพดเป็นโรคหนังกระหรือโรคขาดไนอะซินได้
จากประวัติการแยกและสังเคราะห์วิตามินจะเห็นได้ว่าการค้นพบวิตามินเริ่มต้นในต้นศตวรรษนี้เอง
--------------------------------------
ค.ศ. วิตามิน
--------------------------------------
1925 ดี
1926 บีหนึ่ง
1928 ไอโนสิตอล
1931 ซี
1933 บีสอง
1935 ไบโอติน
1936 เอ อี
1938 ไนอะซิน บีหก
1939 เค
1940 กรดพาราอะมิโนเบนไซอิก
1945 กรดโฟลิก
1948 บีสิบสอง
--------------------------------------

ในปี ค.ศ. 1920 ก่อนที่จะมีการค้นคว้าและทราบสุตรโครงสร้างของวิตามินเหล่านี้ การเรียกวิตามินใช้วิธีเรียกตามตัวอักษา คือ เอ บี ซี ดี อี เอฟ จี เอช และไอ ต่อ มาพบว่าเอฟไม่ใช่วิตามินที่แท้จริง แต่เป็นกรดไขมันที่จำเป็นแก่ร่างกาย จึงเอาออกจากรายชื่อวิตามินวิตามินบีที่พบก็มีหลายตัวไม่ใช่ตัวเดียว จึงเรียกเป็นบีหนึ่ง บี สอง ตามลำดับ และยังพบอีกว่าบีสองกับจีเป็นวิตามินเดียวกัน ต่อมาจึงพบอีกว่าวิตามินเอชหรือไบโอตินและวิตามินไอเป็นวิตามินในกลุ่มบีรวม จึงตัดเอาชื่อเอชและไอออกไปอีก ดังนั้นในการเรียกชื่อวิตามินบีในกลุ่มบีรวมจึงนิยมเรียกชื่อทางเคมีมากกว่าตัวอักษรยกเว้นบีหกและบีสิบสองซึ่งยังนิยมใช้ตัวอักษรกันอยู่ส่วนวิตามิน อื่นเช่น เอ ดี อี เค และ ซี ยังคง ใช้ตัวอักษรมากกว่าชื่อทางเคมี
....
ส่วนประกอบและคุณสมบัติ
1. วิตามินที่ละลายไขมัน ประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกวิเจนเท่านั้น ส่วนวิตามินที่ละลายในน้ำประกอบด้วยธาติข้างต้นและมีธาตุอื่นด้วย เช่น ไนโตร เจน กำมะถัน หรือโคบอลต์
2. วิตามินส่วนใหญ่มาจากพืช ที่มาจากสัตว์นั้นมักเป็นผลที่มาจากการกินพืชเพราะจุลินทรีย์ในลำไส้สังเคราะห์วิตามินนั้นขึ้น
3. วิตามินที่ละลายในไขมันต่างกับวิตามินที่ละลายในน้ำที่ว่าวิตามินที่ละลายในไขมันมักเกิดในพืชในรูปของโพรวิตามิน (Provitamins) และสามารถเปลี่ยน เป็นวิตามินได้ในร่างกายคนหรือสัตว์ส่วนวิตามินที่ละลายน้ำไม่เกิดในรูปโพรวิตามิน สำหรับกรดอะมิโนทริปโตเฟนที่สามารถเปลี่ยนเป็นไนอะซินได้นั้นก็ไม่ถือเป็นโพรวิ ตะมิน
4. การดูดซึมการขนส่งและการเก็บวิตามินที่ละลายในไขมันต้องอาศัยไขมันเป็นสื่อสารใดก็ตามที่ทำให้ไขมันดูดซึมใช้ และเก็บดีขึ้นจะช่วยให้วิตามินที่ละลายใน ไขมันดูดซึมใช้ และเก็บดีขึ้นด้วยส่วนวิตามินที่ละลายน้ำนั้นอาศัยน้ำเป็นสื่อ
5. ร่างกายเก็บไขมันได้ไม่จำกัดจำนวน ดังนั้นจึงสามารถเก็บวิตามินที่ละลายในไขมันไว้ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนด้วยทำให้เกิดสภาพที่มีวิตามินที่ละลายในไขมัน มากเกินไป (Hypervitaminosis) ได้ ส่วนวิตามินที่ละลายน้ำจะไม่เก็บสะสมในร่างกาย ถ้ามีมากเกินไปก็จะขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ
6. การขับถ่ายวิตามินที่ละลานในไขมันจะออกมากับอุจจาระเป็นส่วนใหญ่ส่วนวิตามินที่ละลายน้ำส่วนใหญ่ออกมากับปัสสาวะส่วนน้อยออกมากับอุจจาระ
7. การหุงต้มปกติมีผลน้อยมากต่อการสลายตัวของวิตามินที่ละลายในไขมันส่วนวิตามินที่ละลายในน้ำสลายตัวได้ง่าย การสูญเสียจะมากน้อยขึ้นกับปริมาณของน้ำ ที่ใช้หุงต้ม ระยะเวลา และอุณหภูมิของการหุงต้ม
....
หน้าที่ ของวิตามิน
1. เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์และโคเอนไซม์หลายตัวในร่างกาย
2. จำเป็นสำหรับปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ในร่างกาย เช่น ปฏิกิริยาเคมีที่เกี่ยวกับการเผาผลาญสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
3. ช่วยในการเจริญเติบโตสัตว์ที่กำลังมีครรภ์ถ้าขาดวิตามินลูกที่ออกมามักไม่สมประกอบ
4. ช่วยให้อวัยวะต่างๆ ทำงานตามปกติหรือทำให้ร่างกายแข็งแรง
5. ช่วยในการป้องกันและต้านทานโรค
....
ประเภทของวิตามิน
1. วิตามินที่ละลายในไขมันได้แก่ เอ ดี อี และ เค
2. วิตามินที่ละลายน้ำ ได้แก่ วิตามินบีรวม และซี
...
แหล่งอ้างอิง
เสาวนีย์ จักรพิทักษ์. หลักโภชนาการปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2532
------------------------


Create Date : 02 เมษายน 2548
Last Update : 2 เมษายน 2548 18:10:31 น. 0 comments
Counter : 10807 Pageviews.

Charan
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Charan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.