ความไม่รู้เป็นลาภอันประเสริฐ

สังคมอุดมความรัก

ความรัก เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกเกี่ยวกับ การชอบ, การผูกพันทางจิตใจกับบางสิ่งบางอย่าง. คำว่ารักมีความหมายในหลายแง่มุมซึ่งทั้งลึกซึ้งและกว้างขวาง ต่างคนต่างมีความรักต่อผู้อื่นแตกต่างกัน ดังนั้นจึงยากต่อการอธิบายและให้คำนิยามคำว่ารักแบบเฉพาะเจาะจง. รักเป็นความสัมพันธ์ซึ่งไม่ได้อยู่ลอยๆ หากมีรักก็จะต้องมีผู้ซึ่งเป็นฝ่ายรักและอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถูกรัก. ความรักเป็นนามธรรมจึงไม่อาจมองเห็น, ไม่อาจจับต้อง ไม่อาจวัดปริมาณได้. โดยทั่วไปแล้ว ความเสียหายหรือการจากไปของสิ่งรักจะนำมาซึ่งความโศกเศร้าแก่ผู้รัก เนื่องจากผู้รักได้ให้คุณค่าแก่สิ่งนั้น. อาจกล่าวได้ว่า ความโศกเศร้าจะมากหรือน้อยขึ้นกับคุณค่าที่ผู้รักกำหนดให้กับสิ่งที่ตนรักนั้น. ความรักไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงมนุษย์ สัตว์ต่างๆก็แสดงปรากฏการณ์ทางความรักให้เห็น เช่น การปกป้องลูก.

ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนเราจะสามารถสัมผัสได้กับสิ่งต่างๆที่พยายามเกี่ยวพัน โยงใยไปยังคำที่เรียกว่าความรักเสมอๆ สื่อต่างๆ มีการนำเสนอหลายๆเรื่อง แต่ในความจริงทุกๆเรื่องกับต้องไปยุ่งเกี่ยวกับคำๆนี้เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตาม
ยกตัวอย่างที่ ข่าว สื่อรูปแบบหนึ่งที่ใกล้ชิดผู้คนในปัจจุบัน และมีส่วนอย่างมากในการที่จะให้ความรู้ ข้อมูลและข่าวสารต่อประชาชน(ในที่นี้ไม่ขอกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ แต่รวมๆคือสิ่งใหม่สำหรับประชาชน) เมื่อให้ความรู้ ข้อมูลและข่าวสาร ก็ย่อมที่จะสามารถชักจูงได้ว่า จะให้ประชาชนขับเคลื่อนไปทางไหน ที่ฝ่ายตนต้องการ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน มีการชุมนุมต่างๆ และข้ออ้างสำคัญย่อมไม่พ้น ไปจาก ความรักที่มีต่อ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่นี้คือผลพวงในการมีส่วนร่วมจากการชักจูง

แต่สิ่งที่สื่อให้ความสำคัญกับความรักในส่วนอื่นกับเป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่ามาก คือในส่วนที่มีการเข้าถึงประชาชนและเยาวชนที่ไม่รู้เท่าทันและส่วนต่างๆนี้เข้าถึงได้อย่างง่ายดายในรูปแบบของความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ละครต่างๆที่ เนื้อหาหลักๆ ก็เป็นความรัก ระหว่างตัวเอก, วาไรตี้ต่างๆนานา ที่นำเอาดาราหรือคนดังต่างๆ ออกมาเล่าเรื่องชีวิตรักของพวกเขา , เกมโชว์ที่ในบางครั้งเป็นไปในลักษณะที่ส่งเสริมคู่รักต่างๆ , เพลง ยิ่งเป็นส่วนสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นเพลง ลูกทุ่ง หรือ ลูกกรุง ไม่ต่างกันเลย ต่างให้ความสำคัญกับเนื้อหาของความรักในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แบบสมหวัง แบบผิดหวัง แบบเริ่มต้น แบบตอนปลาย และอีกหลายรูปแบบของความรัก , และ หนังสือ นิยายต่างๆ นานาที่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต่างกันเลย มุ่งเน้น ไปที่เนื้อหาความรัก แม้แต่หนังสือพิมพ์ก็ยังมีที่บางฉบับที่เน้นช่าวชาวบ้าน มักชูเอา เรื่องความรักมาเป็นพาดหัวอยู่บ่อยๆ

เมื่อสื่อต่างๆ มุ่งเน้น ความรักกันแบบ ชิดที่ว่าผู้บริโภคไปทางไหน สื่อตามไปยัดเยียดความรักให้ได้ถึงที่

ทำให้ ประชาชนและเยาวชน ลุ่มหลงในเรื่องของความรัก บางครั้ง บางคน หลายๆคน และ หลายๆครั้ง ไม่ทันได้รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเอง ถูกสื่อผลักดัน ให้ลุ่มหลงในความรัก และด้วยการที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องนั้นย่อมทำให้ คนกลุ่มนั้นเข้าใจความรัก ผิดเพี้ยนไป จนกลายเป็นเรื่องของความต้องการทางเพศหรือเซ็กซ์ มากกว่าที่จะเป็นคำว่าความรัก
พอเกิด สิ่งที่เรียกว่าความรักแพร่ขยายไปทั่วทุกหนทุกแห่งในสังคม หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต่างพากันเข้ามาเพื่อหาทางเยียวยาอาการ โหยหาความรักของ เยาวชนแต่สิ่งที่ทำกลับเลวร้ายกว่าที่คิด ก็คือการทีมองไม่เห็น(หรือเห็นแต่ไม่กล้าแตะต้อง) ตัวปัญหาที่ใกล้ชิด เยาวชนที่แท้จริงอย่าง รายการโทรทัศน์ เพลง ที่เข้าถึงง่ายกว่าและเป็นวงกว้างกว่า แต่กลับไปมุ่งเน้นที่สื่อเฉพาะ อย่างเกมส์ การ์ตูน หนัง เพลง หรือ internet ว่าเป็นตัวการทำให้เยาวชน หมกมุ่นในเรื่องทางเพศ และก็ได้เริ่มทำการ ปิดกั้นหลายๆส่วน
ไม่ว่าจะเป็นการบล็อคเว็บไซด์ เซ็นเซอร์ฉากต่างๆซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงในการปิดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งแก้ยิ่งมัด ไม่ต่างจากลิงแก้แห การให้ความรู้ที่ถูกต้องยังคงถูกเพิกเฉยต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เลือกการใช้การปิดกั้นที่เป็นการบั่นทอนสติปัญญาของผู้คนลงไปอีกด้วย

ความรัก ก็เป็นข้ออ้างหนึ่งของผู้ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ต่างไปจากผู้อื่นเลย ผู้กระทำการอุกอาจในการปิดกั้นความรู้สู่ประชาชนและเยาวชน เลือกที่จะบอกว่า มันเป็นสิ่งที่เขาต้องทำเพื่อชาติและ เพื่ออนาคตของชาติ ด้วยความรักความหวังดี ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็เป็นความบิดเบือนไปอย่างที่ยากที่จะทำให้สังคมที่ยังขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องเข้าใจได้ อาจดูเหมือนดีที่ให้ความใส่ใจกับปัญหาเยาวชนและประชาชนที่ลุ่มหลง ในคำว่าความรักจนเกินไป แต่ ไม่เคยที่จะทำให้คำๆนี้ได้รับการให้ความรู้ในด้านที่ถูกต้อง การปิดกั้นย่อมทำให้เกิดความอยากรู้เพิ่มมากขึ้น เป็นเงาตามตัว

ปัญหา เรื่องความรักที่ผิดความหมายไปเป็นเซ็กซ์ ยังคงครอบงำสังคมอยู่ทุกวันทุกเวลาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การฆ่ากันจากความบาดหมาง การฆ่าตัวตายเมื่อไม่สมหวัง จนไปถึงการทำแท้ง
และการแก้ไขยังคงดำเนินไปในแนวทางเดิม เช่นนี้ สังคมก็จะยังมีปัญหาไปเรื่อยๆ

ความรักเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่เป็นอยู่ไม่ใช่เรื่องที่ดี การไม่เข้าใจและไม่ส่งเสริมความรู้ที่ถูกต้อง เป็นตัวปัญหาที่แท้จริง
ถ้าผู้คนยังแยกแยะไม่ได้ ว่าความรักในรูปแบบที่ถูกต้องคืออะไร สังคมอุดมความรัก ก็ไม่ใช่สังคมที่ดีอยู่เหมือนเดิม

เฝ้าคอยความหวังเหมือนดั่งแสงหิ่งห้อยที่ปลายอุโมงค์




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2549   
Last Update : 17 มิถุนายน 2549 14:09:29 น.   
Counter : 609 Pageviews.  

วัฒนธรรมหลอกลวง

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต (The way of life) ของคนในสังคม นับตั้งแต่วิธีกิน วิธีอยู่ วิธี แต่งกาย วิธีทำงาน วิธีพักผ่อน วิธีแสดงอารมณ์ วิธีสื่อความ วิธีจราจรและขนส่ง วิธีอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ วิธี แสดงความสุขทางใจ และหลักเกณฑ์การดำเนินชีวิต โดยแนวทางการแสดงออกถึงวิถีชีวิตนั้นอาจเริ่มมาจาก เอกชนหรือคณะบุคคลทำเป็นตัวแบบ แล้วต่อมาคนส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา วัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลง ไปตามเงื่อนไขและกาลเวลาเมื่อมีการประดิษฐ์หรือค้นพบสิ่งใหม่ วิธีใหม่ที่ใช้แก้ปัญหาและตอบสนองความ ต้องการของสังคมได้ดีกว่า ซึ่งอาจทำให้สมาชิกของสังคมเกิดความนิยม และในที่สุดอาจเลิกใช้วัฒนธรรมเดิม ดังนั้นการรักษาหรือธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมเดิมจึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาวัฒนธรรมให้ เหมาะสมมีประสิทธิภาพตามยุคสมัย

การหลอกลวงที่สืบเนื่องจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นบริโภคนิยม ประชานิยม ไปจนถึงผลประโยชน์นิยม และบันเทิงนิยม หลายสิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้การหลอกลวงต่างๆนานา กลายเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญจนเริ่มที่จะกลายเป็นมากกว่านั้นแล้ว การหลอกลวงเริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทมากจนเกือบๆจะกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งไปแล้ว

ในสังคมเราเองมีการสั่งสอนมาตั่งแต่สมัยโบราณแล้วว่าการหลอกลวงไม่ใช่สิ่งที่ดี การหลอกลวงมีปรากฏอยู่ตามศาสนาต่างๆ หลายๆศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีทั่วประเทศก็มิได้ส่งเสริมสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ให้เติบโตแพร่ขยายออกไป

แต่ความจริงที่ปรากฏในสังคมปัจจุบันแล้ว สิ่งต่างๆขัดแย้งกับตัวมันเองมากเกินกว่าที่ คนสมัยเก่าคงไม่สามารถที่จะนึกภาพจินตนาการเอาได้ ไม่น่าเชื่อว่าความเป็นจริงหลายๆอย่างเริ่มถูกหมางเมิน สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือสิ่งจอมปลอม
ความหลอกลวงที่เข้าครอบงำไปทั่วทั้งสังคม

จริงหรือที่ความหลอกลวงเข้าครอบงำ หลายอย่างอาจไม่ต้องพิสูจน์ ความจริงหรือไม่จริง เพราะหลายๆอย่าง ถูกปฏิเสธไปแล้วจากความบิดเบี้ยวของสังคม

การใช้กฎหมายโดยอาศัยความลวงเป็นเครื่องชี้นำ โดยไม่สนใจถึงความดีงาม จารีต ประเพณี
การใช้อำนาจหน้าที่โดยมีความลวงบังหน้า เพื่อผลประโยชน์ที่ซ้อนเร้น
การใช้ความลวงเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ชื่อเสียง เกียรติยศ
การใช้ความลวงเพื่อความเจริญเติบโตของผู้ประกอบกิจการต่างๆ
การใช้คำลวงเพื่อหาเศษหาเลยกับคนส่วนใหญ่ที่คิดตามไม่ทัน
การใช้คำลวงเพื่อขายสินค้าหลากหลายประเภท
การใช้ความลวงสร้างความบันเทิงจนกลายเป็นสิ่งเสพติด
การใช้คำลวงบิดเบือนคำสอนทางศาสนา
และอีกมากที่เป็นสิ่งลวงในสังคมนี้

การหลอกลวงต่างๆนานามันอยู่รอบตัวเราไปแทบจะทุกหนทุกแห่งแล้ว ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร
การหลอกลวงที่เราเริ่มที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่ใช่ส่วนประกอบของสังคมที่เราเห็นได้ทั่วไป
และเมื่อมันปรากฏอยู่ทั่วไป เราสัมผัสกับมันได้เกือบตลอดเวลา ย่อมหมายถึงการที่ความลวงเริ่มกลมกลืนเข้ากับสังคมโดยที่เราปฏิเสธไม่ได้ หรือในบางครั้งหลายๆคนอาจไม่ทันได้รับรู้เลยด้วยซ้ำว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามาในสังคมตั้งแต่เมื่อ

หลายสิ่งลวงที่กล่าวมา อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนของผู้ต้องการที่จะลวง แต่ในแง่ของผู้ที่ถูกลวงแล้วย่อมมีข้อโต้แย้งขึ้นมาในส่วนของการเลือกที่จะไม่เชื่อในคำลวง แต่มันไม่ง่ายเลยในสังคมที่ความลวงเริ่มกลมกลืนแล้ว
เพราะว่าคนอีกหลายคนนั้นไม่สามารถที่จะแยกแยะได้อีกแล้วว่า สิ่งใดจริงหรือสิ่งใดลวง
ยิ่งในบางครั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการลวงนั้น เป็นผู้ที่ต้องการให้มันเป็นความลวงมากกว่าให้ความจริง

หากว่าการหลอกลวงยังคงไว้ซึ่งการเจริญเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอและในบางครั้งอาจถึงขั้นก้าวกระโดด
สังคมที่เริ่มปราศจากภูมิคุ้มกัน ย่อมถูกครอบงำไปด้วยความหลอกลวงในที่สุด

วัฒนธรรมหลอกลวง ก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ถูกยอมรับไปโดยปริยาย

เราจะทำอย่างไรหากเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่อนาคตที่ไกลเลย เพราะในตอนนี้เราก็เห็นว่ามันเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

เฝ้าคอยความหวังเหมือนดั่งแสงหิ่งห้อยที่ปลายอุโมงค์




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2549   
Last Update : 5 มิถุนายน 2549 22:50:13 น.   
Counter : 688 Pageviews.  

กิเลสที่ตื่น

การเติบโตของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ทุนใครหนาก็มาครอบครอง ทำให้เกิดการส่งเสริมบริโภคนิยมซึ่ง
นอกจากจะเป็นการส่งเสริมกิเลสที่อยู่ในตัวมนุษย์ให้ออกมาสู่โลกภายนอกมากขึ้น ยังทำให้เกิดความคลุมเคลือต่อความถูกต้องทางจริยธรรมอีกด้วย

กิเลสที่ถูกส่งเสริมให้ออกมาเพ่นพ่าน นั้นเป็นกิเลสในส่วนกิเลสชั้นละเอียดที่เป็นภายใน มีชื่อเรียกว่า อกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ โลภะ-ความโลภ, โทสะ-ความโกรธ ประทุษร้าย, โมหะ-ความหลง
ซึ่งในชั้นนี้ว่าอย่างรวบรัดคือ จะนิ่งอยู่จนกว่าจะถูกกระตุ้นและแสดงออกมา ซึ่งเป็นเนื้อแท้ของกิเลสในใจมนุษย์

การที่นายทุนเฝ้าคอยหวังซึ่งผลประโยชน์ที่ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การพยายามทำในทุกๆวิถีทางเพื่อจะกระตุ้นการบริโภคของประชาชนทั่วไป จนเมื่อนายทุนเริ่มที่จะทำไปมากกว่าที่ควรจะต้องทำ นายทุนเริ่มที่จะเข้าครอบงำส่วนต่างๆของสังคม การเติบโตของ”ผลประนิยม” และการส่งเสริม”บันเทิงนิยม” เป็นการบุกรุกเข้าไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตให้ กิเลส ที่อยู่ในใจคน ได้ออกมาครอบงำให้ผู้คนสูญเสียความเป็นตัวตนของความเป็นมนุษย์

เมื่อผู้คนเต็มไปด้วยกิเลสแล้ว ย่อมทำให้ความถูกต้อง ความดีงาม ความโปร่งใส คุณธรรม และส่วนที่ว่าถึงจริยธรรมที่ควรเป็นทางสังคม สิ่งต่างๆเหล่านี้จะบิดเบือนไป เนื่องจากกิเลสที่แพร่หลายอยู่ในสังคม
กลางวัน กับกลางคืน ไม่ชัดเจน ความถูกต้องกลายเป็นโพล้เพล้ ไม่สว่างและไม่มืดในทีเดียว
สีเทากลายเป็นตัวแทนความถูกต้องที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม หากทำแล้วไม่ผิดกฎหมายก็จะทำเพื่อผลประโยชน์ของตน
ต่างฝ่ายต่างยึดถือเอาความมัวหมองของสีเทาเป็นหลักยึด ว่าเหตุผลเข้าข้างฝ่ายตนตลอดเวลา
จริยธรรมที่ถูกต้องได้ลบเลือนไปแล้วจากสังคมที่เน้น “ผลประโยชน์นิยม”

- ความโลภ ถูกกระตุ้นทั้งทางภาครัฐเอง ที่พยายามจะอัดฉีดเงินลงไปสู่รากหญ้า ประกอบกับภาคเอกชนที่เหล่านายทุนใช้สื่อต่างๆเข้าครอบงำความคิดผู้คน ด้วยการใช้”บันเทิงนิยม” เป็นหัวหอกที่พุ่งเป้าหมายไปที่การเติบโตของตัวเองอย่างเกินควร และภาครัฐเองก็ไม่เคยที่จะมาแยแสใยดีกับการที่จะต้องคอย ตีกรอบสิ่งที่มอมเมาแบบนี้ แต่กับไปทำลายสิ่งที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสิ่งเหล่านี้อีกต่างหาก การปิดกั้นสื่อต่างๆที่เป็นข่าวมากมายในช่วงเวลานี้ และการที่ไม่มีการส่งเสริมปัญญาที่แท้จริงให้เกิดขึ้นมา เลยกลายเป็นเหมือนกับว่าภาครัฐได้จับมือกับทางภาคเอกชนนายทุน เพื่อกระตุ้นให้ความโลภเข้าครอบครองผู้คน
- ความโกรธ ประทุษร้าย เห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆกับการปะทะกันในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายเชียร์ ฝ่ายต่อต้าน
ฝ่ายเห็นด้วย ฝ่ายไม่เห็นด้วย ฝ่ายค้าน ฝ่ายรักษาการ องกรค์รัฐ ภาคเอกชน ทั้งหมดนี้การปะทะกันเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายไม่ยอมลดละกันเลย ต่างฝ่ายต่างมีความโกรธ กันอย่างในบางครั้ง เหมือนกับจะต้องฆ่ากันให้ตายให้ได้จากเรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ ความโกรธได้ถูกส่งเสริมขึ้นมาแล้ว และจะยังคงอยู่หากว่า หลายๆฝ่ายยังตั้งหน้าตั้งตาที่จะห้ำหั่นกันไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่คำนึงถึง จริยธรรม
- ความหลง ไม่ต่างอะไรกับความโลภที่ ทั้งภาครัฐและนายทุนได้ทำให้ ผู้คนหลงงมงายกันไปต่างๆนานา ความหลงมิได้หมายถึงการที่ลุ่มหลงอยู่ในรูปธรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่า มันได้รวมไปถึงการที่ผู้คนลุ่มหลงในนามธรรมอีกด้วย ผู้คนเริ่มที่จะแยกแยะสิ่งที่เรียกว่า ตัวเองรักหรือตัวเองหลงไม่ออก ในบางครั้งหลงจนไม่ลืมหูลืมตา เป็นเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ การหลงอยู่ที่คนเพียงบางกลุ่มนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม
เพราะว่าผู้คนไม่ควรที่จะไปยึดติดกับสิ่งใดๆ

เมื่อกิเลสนั้นถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาแล้ว เราจะทำอย่างไรกับมัน เราจะระงับมันทำให้มันหลับใหลอีกรอบได้อย่างไร
สังคมถูกบิดเบือน ความถูกต้องไม่ชัดเจน หากไม่ใช่จากกิเลสที่มากมายแล้ว มันคงไม่มากมายเท่านี้

เฝ้าคอยความหวังเหมือนดั่งแสงหิ่งห้อยที่ปลายอุโมงค์




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 27 พฤษภาคม 2549 22:44:19 น.   
Counter : 599 Pageviews.  

บันเทิงนิยม

บันเทิง
หมายถึง การแสดงต่างๆ ที่มุ่งให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม โดยมิได้มุ่งให้การศึกษาโดยตรง ได้แก่ ละคร ภาพยนตร์ ดนตรี การแสดงเบ็ดเตล็ด การทายปัญหา การแข่งขัน เล่นเกมส์ เป็นต้น

ความบันเทิงย่อมหมายถึง สิ่งที่สร้างความสุข ความจรรโลงใจ ความเพลิดเพลินต่างๆ ให้กับผู้คนที่แสวงหาสิ่งเหล่านั้นเพื่อผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

เมื่อชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบันนี้ประกอบด้วยปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่า จะเป็น ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางสังคม หรือแม้กระทั่งทางการศึกษา และด้วยการประดังเข้ามาอย่างไม่ขาดสายของปัญหาต่างๆ ผู้คนย่อมมองหาสิ่งที่จะช่วยสร้างความบันเทิงต่อจิตใจและร่างกาย ที่เหนื่อยล้ามามากกับชีวิตในทุกๆวัน

เหล่าผู้คนทั่วไปเฝ้ามองหา ผู้ประกอบการต่างๆเล็งเห็นผลประโยชน์ย่อมเข้ามากอบโกยโอกาสแห่ง “ผลประโยชน์นิยม” ที่สังคมอำนวยให้เข้ามาตักตวงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และย่อมไม่มีนายทุนผู้ใดปฏิเสธโอกาสดีๆเช่นนี้

เมื่อเกิดการแย่งชิงผลประโยชน์ของความบันเทิง ที่ต่างคนต่างอ้างความชอบธรรม ที่พยายามจะเข้ามามอบความบันเทิง ให้กับผู้คนที่เฝ้ามองหาความบันเทิงที่เหมาะสมกับตัวเองอยู่ การแย่งชิงกันของเหล่านายทุนผู้ประกอบการเกี่ยวกับความบันเทิง ทั้งรายเก่าที่คงอยู่และไม่มีความอยากออกไปจากชิ้นเค้กก้อนโตก้อนนี้ และรายใหม่ที่พยายามเข้ามาหาผลประโยชน์ที่หอมหวานและยังคงมองไม่เห็นความสิ้นสุดของธุรกิจบันเทิง ของสังคมที่เป็นผู้เรียกร้องสิ่งเหล่านี้

ความบันเทิงเริ่มเข้าสู่ภาวะมากเกินไป ครอบงำไปทั่วสังคม แผ่ขยายไปยังกลุ่มต่างๆ ความก้าวหน้าของการสื่อสารกลายเป็นดาบสองคมเมื่อ สื่อนำพาเอาแต่สิ่งที่เป็นความบันเทิงไปสู่ประชาชน ย่อมหมายถึงความเสื่อมสลายไปของสาระและความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริง ความเป็นเหตุเป็นผลที่ถูกกลบเกลื่อนไปด้วยความบันเทิง ความเพ้อฝัน ความเกินความจริง สิ่งที่ให้ความสุขอย่างไม่ยั่งยืน สร้างเสียงหัวเราะเพียงชั่วยาม สร้างความรู้ผิดๆให้กับผู้คน และสื่อที่จะนำเอาความรู้จริงไปสู่ประชาชน กลับถูกปิดกั้น จากผู้มีส่วนในผลประโยชน์
เมื่อสื่อบันเทิงได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งทางสังคมและทางภาครัฐ ก็ได้กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของสังคม”ผลประโยชน์นิยม”

ผู้คนเริ่มที่จะถูกยัดเยียดความบันเทิงที่ความเกินไปนี้ สืบเนื่องจากความอ่อนแอทางความคิดของประชาชนที่ไม่ได้รับโอกาส ทำให้จากเริ่มต้นที่ความบันเทิงเป็นเพียงต้องการผ่อนคลายเล็กๆน้อยๆจากชีวิตประจำวัน เปลี่ยนสภาพกลายเป็นการเสพติดสิ่งบันเทิง ที่ผู้คนเริ่มที่จะออกอาการขาดไม่ได้ซึ่งความบันเทิง ดูได้จากการเติบโตของธุรกิจบันเทิงที่สวนกระแสความถดถอยทางเศรษฐกิจอื่นๆ รายการทีวีเต็มไปด้วยรายการบันเทิง ละคร เกมส์โชว์ ทอร์คโชว์ เรียลริตี้โชว์ เพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ แผงหนังสือเต็มไปด้วย หนังสือดารา เพลง ภาพยนตร์ มีแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์บันเทิงรายวัน ที่น่าสงสัยยิ่งนักว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่สนใจเรื่องบันเทิงมากไปกว่าเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมืองที่เป็นเนื้อหาสาระ ฯลฯ และสื่ออื่นๆ ที่ย่อมไม่ตกกระแสแห่งความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น internet วิทยุ และอีกมากมายหลายแบบ
ผู้คนเริ่มกลายเป็นผู้ป่วยทางสังคมที่ยังไม่รู้สึกตัวเองว่าตัวเองรอคอยการเยียวยา รักษาอาการเสพติดสิ่งบันเทิง

ความบันเทิง เป็นสิ่งที่ดีที่จะสร้างความสุขให้ผู้คนได้ และผู้คนควรเลือกที่จะเสพมันอย่างพอดี แต่ปัจจุบันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้คนมุ่งหาแต่ความบันเทิงที่เกินความพอดีไปไกล การร่วมมือกันโดยไม่ได้ตั้งใจของทั้งสองฝ่าย ทางผู้รับผลประโยชน์คือผู้บริโภคเองที่เสพความบันเทิงเหล่านี้อยู่ และทางผู้มอบผลประโยชน์ผู้ประกอบการที่อยากจะหยิบยื่นความบันเทิงนี้ เมื่อร่วมมือกันแล้วสังคมจึงกลายสังคม “บันเทิงนิยม” ไปโดยปริยาย

และหนทางที่จะแก้ไขสภาพนี้ก็ยังดูยากเย็นเป็นอย่างมาก

เฝ้าคอยความหวังเหมือนดั่งแสงหิ่งห้อยที่ปลายอุโมงค์




 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 21 พฤษภาคม 2549 18:46:49 น.   
Counter : 8052 Pageviews.  

ภาพลวงของผลประโยชน์นิยม

เรเน่ เดส์การ์ตส์ เคยกล่าวไว้ ว่า คนอาจเราอาจถูก ปีศาจร้ายที่เปี่ยมด้วยพลังอำนาจ มาบดบังความจริงไปจากเรา
และทำให้เรารับรู้สิ่งที่ปีศาจร้ายสร้างขึ้น และเราคิดว่าสิ่งเหล่านั้นคือความจริง ทำให้สาระที่แท้จริงบิดเบือนไป

สืบเนื่องจากการที่คนเราเปี่ยมไปด้วยความต้องการผลต่างตอบแทนในลักษณะ “ผลประโยชน์นิยม”

ผู้ที่เป็นผู้มอบผลประโยชน์นั้นย่อมได้เปรียบในแง่ของความได้เปรียบเชิงตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับผลประโยชน์ เพราะผู้ที่มอบผลประโยชน์ย่อมสามารถที่จะกำหนดทิศทางของผลประโยชน์ที่จะทำให้ผู้ต้องการจะรับผลประโยชน์นั้นคล้อยตามได้ ด้วยกลไกต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นทางเทคโนโลยี การโฆษณา การตลาด การประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ฯลฯ เมื่อทั้งหมดถูกรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันแล้ว ย่อมเป็นเรื่องที่ง่ายในการที่จะทำให้ผู้คนคล้อยตามไปในผลประโยชน์ที่จะหยิบยื่นให้

และด้วยปัจจัยต่างๆนานาประกอบกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ สถานะภาพทางสังคม ฯลฯ ต้องยอมรับว่าข้อเรียกร้องของผู้ต้องการที่จะรับผลประโยชน์นั้น มีแนวโน้มว่าไม่มีพลัง เพียงพอที่จะทำให้ผู้ต้องการมอบคล้อยตามไปในข้อเรียกร้องต่างๆนั้นได้ ทั้งๆที่จริง ผลประโยชน์นั้นควรต้องมาจากความต้องการของพวกเขาเอง ไม่ใช่มาจากการยัดเยียดของผู้ที่ต้องการให้ผลประโยชน์เหล่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้รับผลประโยชน์ก็จะอยู่ในสถานะที่เฝ้ารอคอยการหยิบยื่นผลประโยชน์ต่างๆมาให้ มากกว่าที่จะเป็นฝ่ายเรียกร้องหาผลประโยชน์นั้นๆด้วยตนเอง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ผลประโยชน์เหล่านั้นทั้งหลายทั้งปวง จะไปตกอยู่กับพวกเขาและท้ายที่สุดจะยังคงอยู่ต่อไปกับลูกหลานของพวกเขาอีกนาน

เมื่อกล่าวมาแล้วถึงตรงนี้ กลับกลายเป็นว่า แท้ที่จริงแล้วผู้คนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ฝักใฝ่ที่จะหยิบยื่นผลประโยชน์ก้อนหนึ่งเพื่อรอรับผลประโยชน์อีกก้อนที่โตกว่า หรืออีกหลายๆผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่จะกลับมาหา
และอีกฝ่ายที่เฝ้ารอรับผลประโยชน์ต่างๆที่ผู้มอบได้มอบให้ด้วยความใจจดใจจ่อ ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ต่างกันเลยแม้แต่นิดเดียว ในความลุ่มหลงมัวเมาในคำว่า ผลประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชักจูงพวกเขาเข้าสู่โลกเสมือนที่พวกเขาพากันสร้างขึ้น

โลกที่ต่างฝ่ายต่างสร้างกันขึ้นมาบดบังความเป็นจริง โลกที่ดูเหมือนจะมีความสุขในแง่ของวัตถุมาก โลกที่ผู้คนสุขใจกับความสุขเพียงชั่วข้ามคืน สังคมที่ถูกมอมเมาไปกับสิ่งประโลมโลกต่างนานา มีแต่คำพูดสวยหรูมาคอยกลอกหูให้คล้อยไปตาม คำกล่าวอ้างทางความสุขต่างๆถูกหยิบยกขึ้นมาประโคมลงไปในสื่อแขนงต่างๆ กลายเป็นโลกที่เปี่ยมไปด้วยความอ่อนด้อยทางศีลธรรมและจริยธรรม แต่ที่แปลกคือ ต่างคนต่างพอใจกับสิ่งเหล่านั้น ความฉาบฉวยของโลกาภิวัฒน์กลับกลายเป็นความหมายของการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน และท้ายที่สุดกลายเป็นโลกแห่งความจริงไปโดยที่คนเราไม่ทันได้รับรู้

เป็นเรื่องแปลกที่ว่า
ถ้าคนเราไม่มีโทรศัพท์มือถือ คนเราจะไม่มีความสุข และกลายเป็นที่น่าอับอาย
ถ้าคนเราไม่สามารถซื้อของต่างๆได้ในเวลานี้ คนเราต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา เพียงเพราะจะไม่ทันสมัย
ถ้าคนอื่นมีอะไร เราก็ต้องไปแข่งกันให้มีเหมือนคนอื่นเขา ทั้งๆที่บางครั้งตัวเราเองไม่อยากมี
ถ้าคนเรามีเงินมากๆ จะกลายเป็นคนที่มีความสุข( คนที่จนไม่สามารถมีความสุขได้)
และอีกหลายอย่างที่ถูกหยิบยกมากล่าวอ้าง และสร้างขึ้นมาเป็นมายาคติให้ผู้คนหลงไป

หลายสิ่งผู้คนหลงลืมไปหมดแล้ว สิ่งสามัญจะถูกมองข้าม ความสุขที่แท้จริงถูกบิดเบือนไป การหลอกตัวเองกลายเป็นสิ่งที่สร้างความพึงพอใจมากกว่าที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ปีศาจร้ายของเดส์การ์ตส์กลับไม่ได้มีอยู่แต่ในปรัชญาของเขา แต่สิ่งที่เดส์การ์ตส์เคยพูดถึงกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันแล้ว และผู้คนต่างคนต่างก็สร้างปีศาจร้ายของตนเองขึ้นมาบดบังความจริงของตนเอง

“ผู้คนถูกหลอกให้หลอกตัวเองโดยผู้หลอกที่หลอกตัวเองอีกทีหนึ่ง”

ผู้คนต้องแสวงหาคำตอบให้กับตนเองก่อน “รู้จักตนเอง”
เฝ้าคอยความหวังเหมือนดั่งแสงหิ่งห้อยที่ปลายอุโมงค์




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 11 พฤษภาคม 2549 17:16:15 น.   
Counter : 694 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

KongMing
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เล่าจื้อกล่าวว่า"ผู้รู้เขาคือปราชญ์"
และกล่าวอีกว่า"ผู้รู้เราคือปัญญาชน"
ณ ปากทางเข้าถ้ำวิหารเทพอพอลโล่แห่งเดลฟี
มีป้ายทองคำเขียนว่า "Know thyself" แปลว่า รู้จักตนเอง
"temet nosce" ภาษาลาตินที่Oracleกล่าวให้
Neo รู้จักตนเอง

สิ่งที่สำคัญที่สุดของคนเราอยู่ที่ คำกล่าวเหล่านี้
[Add KongMing's blog to your web]