Group Blog
 
All blogs
 

ประเภทของอนุบาลในญี่ปุ่น (3)

ประเภทของสถานรับดูแลเด็กเล็ก
ที่อยู่นอกรูปแบบและข้อกำหนดของรัฐ

共同保育所 Kyoudou Hoikusho

คือ สถานรับดูแลเด็กเล็กที่ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ดูแล
ทำงานบริหารร่วมกัน

แบ่งเป็น 2 ประเภท

1.ไม่ได้ขอรับอนุบัติจากส่วนราชการ 無認可 Muninka

ทุก ๆ เดือน ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ของสถานรับดูแลเด็ก
จะต้องมีการนัดประชุมคุยกันเกี่ยวกับนโยบายการดูแลอบรมเด็กร่วมกัน
แต่ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมกับเด็กทุกวันเสมอไป
เนื่องจากไม่ได้ขอรับอนุมัติจากทางส่วนราชการ
จึงไม่มีการขอรับการสนับสนุนด้านใดๆ จากทางส่วนราชการเลย
ค่าใช้จ่ายในการฝากเลี้ยงก็จะสูง

2. ได้รับการพิจารณาเห็นชอบ 認証 Ninshou

ทางสถานรับดูแลเด็ก ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากทางส่วนราชการ
และได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนในบางเรื่อง เช่นค่าแบบเรียน
ค่าอุปกรณ์ เครื่องใช้ จะไม่หนักเท่าไหร่
ดังนั้นจึงมีบางส่วนต้องเป็นไปตามกฎข้อบังคับของทางรัฐ เช่น
อุปกรณ์ เครื่องใช้, ความกว้างของพื้นที่ในสถานรับดูแลเด็กเป็นต้น


************************

ส่วนอื่น ๆ

保育ママ Hoiku Mama

ใช้บ้านพักอาศัยของตนเองเป็นสถานที่รับดูแลเด็กเล็ก
จำนวนหลายคน โดยขอรับการพิจารณาอนุญาต
จากทางส่วนราชการเรียบร้อย
ชื่อเรียกมีแตกต่างกันไปหลากหลาย
แต่ส่วนใหญ่ที่จะใช้เรียกกันคือ "Hoiku Mama"
ได้รับความช่วยเหลือบางส่วนจากทางราชการด้วย
ลักษณะการเลี้ยงดู จะเป็นลักษณะแบบครอบครัว
Hoiku Mama เพิ่งจะจัดให้เป็นระบบอย่างเป็นทางการ
เมื่อปี 2010

自主保育 Jisyu Hoiku

มี 2 แบบ

- มีเจ้าหน้าที่ดูแลเด็ก และ
-ไม่มีเจ้าหน้าที่ ผู้ปกครองเด็กช่วยกันทำหน้าที่ดูแล

ลักษณะเด่นคือไม่มีอาคารเรียน เน้นเล่นที่สนามเป็นหลัก
เป็นกลุ่มที่เลี้ยงดูแลเด็กแบบอิสระเสรี
บางที่ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ก็บริหารงานร่วมกัน

ส่วนแบบที่ไม่มีเจ้าหน้าที่นั้น เหมือนกับการที่ผู้ปกครองมาช่วยกัน
ดูแลเด็กในช่วงกลางวัน ฝากเลี้ยงกัน สลับกันทำหน้าที่
ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน




 

Create Date : 26 สิงหาคม 2554    
Last Update : 26 สิงหาคม 2554 22:44:16 น.
Counter : 740 Pageviews.  

ประเภทของอนุบาลในญี่ปุ่น (2)

保育園 Hoikuen สถานเลี้ยงดูเด็กเล็ก
ควบคุมโดยกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน
รับดูแลเด็กเล็กแทนครอบครัวเด็ก
เวลาตามเกณฑ์คือ 8 ชม.ต่อวัน
มีอาหารกลางวัน

ตามกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็ก กำหนดไว้ว่า
สถานรับดูแลเด็กเล็ก (Hoikusho) เป็นสถานที่ที่จัดตั้งขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดูแลอบรมเด็กที่ขาดการอบรมดูแล
จากผู้ปกครอง โดยมุ่งหวังให้เด็กมีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์
ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

คำว่า "เด็กที่ขาดการดูแลอบรม" นั้นหมายความถึง
ผู้ปกครองของเด็กไม่สามารถ หรือไม่สะดวกที่จะอบรม เลี้ยงดู
บุตรของตัวเองที่บ้านได้ เนื่องจากสาเหตุ ต้องทำงาน, ป่วย,
หรือ ต้องดูแลผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น คนชรา, คนพิการ

ดังนั้นเงื่อนไขข้อสำคัญของเด็กที่จะนำมาฝากเลี้ยงที่ Hoikuenได้
จะต้องเข้าข่ายเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้

1. โดยปกติผู้ปกครองทำงานในช่วงเวลากลางวัน

2. มารดาจะต้องไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด
*สามารถฝากเลี้ยงได้ก่อนวันกำหนดคลอด 2 เดือน
และหลังคลอด 2 เดือนเท่านั้น


3. ป่วย หรือได้รับบาดเจ็บ, มีภาวะพิการทางจิตใจหรือร่างกาย

4. ผู้ปกครองต้องดูแลบุคคลในครอบครัวที่อยู่ร่วมหลังคาเรือนเดียวกัน

5. อยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังจากได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว
วินาศภัย, อุทกภัย, อัคคีภัย เป็นต้น

6. มีเหตุผลอื่นที่มีสภาพคล้ายคลึงกับ 5 ข้อข้างต้น เช่น

- มีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านในช่วงกลางวันเพื่อหางานทำ
(อนุญาตให้ 2 เดือน)
- อยู่ในช่วงกำลังศึกษา จึงต้องไปสถานศึกษาในช่วงเวลากลางวัน
- กำลังอยู่ในช่วงขอรับใบประกาศเกี่ยวกับความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษ
มีความจำเป็นต้องไปสถาบันนั้น ๆ เพื่อฝึกทักษะฝีมือ
- ผู้ปกครองของเด็กเสียชีวิต, สูญหาย , หรือแยกกันอยู่ไม่สามารถ
อยู่ร่วมกับเด็กได้

認可保育所 Ninka hoikusho สถานเลี้ยงดูเด็กเล็กที่ได้รับอนุมัติ
**เป็นไปตามกฎระเบียบที่ทางประเทศกำหนดไว้
เช่น โครงสร้างของสถานที่ จำนวนเด็ก จำนวนเจ้าหน้าที่ เป็นต้น


* 公立 Kouritsu ก่อตั้งโดยหน่วยงานราชการท้องถิ่น

เป็นสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กที่ทางเขต , อำเภอ, เมือง ของแต่ล่ะจังหวัด
เป็นผู้ดำเนินการ เจ้าหน้าที่เลี้ยงดูเด็กเป็นพนักงานราชการ
ทำให้มีเจ้าหน้าที่หลายช่วงอายุ
และเจ้าหน้าที่อาจไม่ประจำที่นั้น ๆ เสมอ
เพราะอาจมีการโยกย้ายเปลี่ยนที่ประจำการได้
แนวทาง วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กของแต่ล่ะที่
ไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน
ส่วนใหญ่จะเน้นเล่นเป็นหลัก อบรมเลี้ยงดูเด็กแบบให้อิสระกับเด็ก
ปัญหาที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ มีเด็กเล็กจำนวนมากที่รอเข้า
โดยเฉพาะที่เขตเมืองใหญ่ ๆ
จากปัญหาการโดนตัดงบประมาณ ทำให้ทางเขต,อำเภอ
หลายแห่งต้องแปลงรูปองค์กร ให้บุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการ
เปลี่ยนเป็นเอกชนไป
ซึ่งก็จะทำให้สถานรับเลี้ยงดูเด็กเล็กแห่งนั้น
เริ่มมีความเป็นธุรกิจเข้ามาแทรกเรื่อย ๆ
แนวความคิดในการบริหารอย่างมีเหตุผลก็อาจจะลดลง
รวมถึงการลดจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้วย

* 私立 Shiritsu สถานรับดูแลเด็กเอกชน

แนวทางการอบรมเลี้ยงดูเด็กเล็กของแต่ล่ะที่จะแตกต่างกันไป
ลักษณะเด่นของสถานรับดูแลเด็กเอกชนคือ
หลายแห่งรับดูแลตั้งแต่เด็กทารกอายุไม่ถึงขวบ
และมีขยายเวลาดูแลหลังหมดเวลาปกติด้วย
อาหารกลางวันก็จะเหมือนกับสถานรับดูแลเด็กของราชการ
มีการเตรียมอาหารภายในสถานรับดูแลเด็กเอง

เนื่องจากเป็นสถานดูแลเด็กเล็กที่ได้รับอนุมัติจากส่วนราชการ
ค่าใช้จ่ายในการฝากเลี้ยงจะไม่ต่างกับสถานรับดูแลเด็กของราชการ
แต่ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกเหนือเพิ่มขึ้นจากค่าฝากเลี้ยงหลัก

* 認定こども園 Nintei kodomo en

*ไม่รู้จะแปลเป็นชื่อเฉพาะภาษาไทยว่าอะไรดี แต่ความหมายก็คือ
เป็นสถานที่รับดูแลเด็กที่ได้รับการรับรอง

ลักษณะของสถานดูแลเด็กเล็กแบบนี้จะมีลักษณะผสมผสาน
การดำเนินการแบบอนุบาล (Yochien)
และสถานรับดูแลเด็กเล็ก (Hoikuen) เข้าไว้ด้วยกัน
จากข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2011 มีสถานดูแลเด็กเล็กลักษณะนี้
ในญี่ปุ่นทั้งหมด 358 แห่ง

ลักษณะเด่นคือมีโครงสร้างการเรียนการสอนแบบโรงเรียนอนุบาล
แต่สามารถรับฝากเด็กได้เป็นระยะยาวแบบสถานรับดูแลเด็กเล็ก
คือ 8 ชม. เพื่อตอนสนองความต้องการของผู้ปกครองเด็ก

การรวมเอาอนุบาล และสถานรับดูแลเด็กเล็กเข้ามาไว้รวมกัน
กฎข้อบังคับต่าง ๆ จึงมีการพิจารณาอนุญาตให้ยึดหยุ่นจากเกณฑ์ได้
แต่ก็อาจทำให้คุณภาพการเลี้ยงดู และการสอนลดหย่อนลง
ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ ความยากในการกำหนดหลักสูตรการเรียน
เพราะระยะจำนวนชั่วโมงของเด็กที่อยู่ในสถานดูแลของแต่ล่ะคน
มีความแตกต่างกัน

*****************************

สถานรับดูแลเด็กเล็กที่ได้รับการอนุมัติ
ไม่ว่าจะเป็นของทางส่วนราชการ หรือของเอกชน
ต่างก็มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนเด็กที่จะสามารถรับเข้าดูแล
เพราะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
เลยมักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าเข้ายาก รอนาน
ต้องมีการพิจารณาความจำเป็น พิจารณารายได้ครอบครัว
เอกสารในการสมัครเข้าเยอะ วุ่นวาย

แต่ก็ยังมีอีกทางเลือกคือสถานรับเลี้ยงเด็กแบบที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ
เกณฑ์กำหนด ที่เรียกกันว่า 無認可 muninka
อ่านต่อ ประเภทของอนุบาลในญี่ปุ่น ตอน 3





 

Create Date : 22 สิงหาคม 2554    
Last Update : 29 สิงหาคม 2554 19:55:41 น.
Counter : 895 Pageviews.  

ประเภทของอนุบาลในญี่ปุ่น (1)

幼稚園 YouChiEn โรงเรียนอนุบาล
ควบคุมโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กเล็ก
เวลามาตรฐานในการดูแลอบรมให้ความรู้คือ 4 ชั่วโมงต่อวัน
และมีเงื่อนไขว่าจำเป็นต้องมีสนามสำหรับเด็กวิ่งเล่น

โรงเรียนอนุบาลที่ได้รับการอนุมัติ
認可幼稚園 Ninka YouChiEn


คืออนุบาลที่ถูกก่อตั้งอย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรากฎหมายเกี่ยวกับ
การก่อตั้งสถานศึกษาที่ทางประเทศญี่ปุ่นกำหนดไว้
ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเด็กที่รับเข้าเรียน อุปกรณ์ อาคาร โครงสร้างของสถานศึกษา

ถูกแบ่งเป็น

国立 kokuritsu รัฐบาล ประเทศเป็นผู้ก่อตั้ง
อนุบาลที่อยู่ในเครือมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศญี่ปุ่น
มีอยู่ทั้งหมด 49 แห่ง
ค่าเรียนถูก ความพิเศษของอนุบาลประเภทนี้คือ
มีโอกาสได้เข้าร่วมคลาสวิจัยได้
ระบบการรับเด็กเข้าเรียน ครึ่งหนึ่งจะเป็นการสอบเข้า
ส่วนอีกครึ่งก็จะเป็นการจับฉลาก
ถึงแม้ว่าหากเด็กได้เข้าอนุบาลที่นี่ แต่ก็ไม่เสมอไปว่าเด็กจะสามารถ
เข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมของเครือมหาวิทยาลัยได้เลย

公立 kouritsu ส่วนราชการประจำท้องถิ่นเป็นผู้ก่อตั้ง

อนุบาลส่วนใหญ่จะเน้นการเล่นเป็นหลัก
รายละเอียดการเรียนการสอนของแต่ล่ะที่
แทบจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน
ส่วนใหญ่จะให้เด็กเอาอาหารกล่องไปเอง
แต่ในปัจจุบันนี้ทางราชการส่วนท้องถิ่นมีการตัดงบประมาณ
ทำให้อนุบาลของทางส่วนราชการประจำท้องถิ่นปิดตัวลงเรื่อย ๆ

私立 shiritsu หน่วยงานเอกชนเป็นผู้ก่อตั้ง

อนุบาลเอกชนจะมีจำนวนมากที่สุด
ลักษณะการเรียนการสอนก็มีหลากหลาย
มีทั้งแบบแนวการเลี้ยงดูแบบอิสระ,
เน้นการเรียนในช่วงเด็กเล็กเป็นหลัก...
อนุบาลที่บริหารโดยสำนักศาสนา
อนุบาลที่มีแนวการสอนลักษณะพิเศษเน้นในเรื่องจินตนาการ ความคิดของเด็ก
ส่วนใหญ่อนุบาลเอกชนจะมีรถรับส่ง มีอาหารกลางวัน
มีระบบรับฝากเลี้ยงด้วย

**********************

อนุบาลเอกชนที่ไม่ขออนุมัติการเปิดดำเนินการจากทางส่วนราชการ

อนุบาลประเภทนี้ไม่ต้องอยู่ในกรอบกำหนด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเด็ก,
ขนาดของสนามเด็กเล่น, หลักสูตรการเรียนการสอนก็สามารถที่จะ
กำหนดได้เอง
จัดอยู่ในกลุ่มสถานศึกษาที่ดำเนินการโดยอิสระ
ซึ่งสถานศึกษานานาชาติ, โรงเรียนการกีฬา ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
อนุบาลที่ดำเนินการโดยอิสระกลุ่มนี้ จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือสนับสนุน
จากทางราชการส่วนท้องถิ่น ดังนั้นค่าเรียนจึงมีราคาสูง

****แต่ล่ะปีอนุบาลที่เปิดรับฝากเด็กเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น
โดยทั่วไปแล้วอนุบาลจะปล่อยเด็กกลับบ้านเวลาประมาณบ่ายสองโมง
แต่ในช่วงระยะหลังนี้เริ่มมีอนุบาลที่เปิดรับฝากเลี้ยงช่วงเย็นเพิ่มมากขึ้น
รายละเอียดในการรับฝากเลี้ยงช่วงเย็นนั้นแต่ล่ะที่ก็จะแตกต่างกันไป




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2554    
Last Update : 21 สิงหาคม 2554 21:17:52 น.
Counter : 1642 Pageviews.  

เลือกอนุบาลให้เหมาะกับลูก? (ญี่ปุ่น)

ซื้อนิตยสาร のびのび子育てมาอ่านเมื่อหลายวันก่อน
อ่านแล้วก็ทำให้ได้มุมมอง แนวคิดเพิ่มขึ้นในเรื่องการเลือกอนุบาลเพิ่มขึ้น

ในคอลัมภ์นี้จะเป็นการตั้งคำถามกับผู้เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็ก
เกี่ยวกับพื้นฐานการเลือกอนุบาลรวมถึงสิ่งที่จำเป็นในเด็กเล็ก

■พอถึงวัยที่จะต้องเข้าอนุบาลแล้ว แต่ไม่เคยสอนลูกอ่านเขียนตัวหนังสือ
หรือภาษาอังกฤษเลย จะเป็นอะไรไหม?


วัยเด็กเล็กจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้มีความสนใจในเรื่องของตัวหนังสือ
คันจิ หรือว่าภาษาอังกฤษ
แต่เด็กจะรู้สึกชอบใจเมื่อเวลาที่ได้เห็นหน้าพ่อแม่ตอนดีใจมีความสุข
หากว่าเร่งสอนก่อนวัยมากเกินไป ก็จะเท่ากับว่า
ละทิ้งความเป็นตัวตนของเด็ก เด็กจะหยุดทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ
แล้วหันไปพยายามทำตามสิ่งที่พ่อแม่ต้องการแทน
การที่เด็กพยายามทำตามที่พ่อแม่บอก เพื่อที่จะได้รับคำชม
ทำให้พ่อแม่ดีใจนั้น ก็เป็นเหตุให้พ่อแม่ไม่ได้เห็นในสิ่งที่เด็กอยากจะทำจริง ๆ
ซึ่งผลกระทบจากปัญหานี้จะเห็นได้ก็ตอนช่วงที่เด็กเข้าสู่วัยรุ่น
เด็กบางคนพอตัวเองไม่สามารถทำตามความคาดหวังของคนรอบข้างได้
ก็จะหมดหวังในตัวเอง ทั้งยังมีปัญหาวัยรุ่นที่เร่งเรียนก่อนวัย
หรือเรียนแนวการศึกษาอัจฉริยะ มีปัญหาป่วยทางทางด้านจิตใจ
ไม่ยอมกินอาหาร, ทำร้ายตัวเอง เกิดขึ้นด้วย

■สิ่งที่จำเป็นในเด็กเล็กคืออะไร

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ควรสอนให้เรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสทั้ง 5
สิ่งที่จำเป็นที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็คือ
พลังของธรรมชาติอย่าง ดิน น้ำ ต้นไม้ สิ่งแวดล้อมตัวเอง เช่นเด็กรู้สึกได้เมื่อลมพัด
ได้ลองจับแมลง, ต้นหญ้า .. รวมถึงได้รู้จักความกลัวในเวลาเดียวกัน

ในด้านของจิตใจสิ่งที่จำเป็นคือ ให้เด็กได้รับรู้ถึง
1.ความปลอดภัย ความเชื่อใจ ในความเป็นครอบครัว
2.รู้จักเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น โดยการมีเพื่อน
3.รับรู้ สัมผัสได้ถึง ความปลอดภัย ความเชื่อใจ ของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว

วัยเด็กเล็กเป็นช่วงเวลาหลักที่จะสอนให้เด็กรู้จักการสร้างสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

■สิ่งสำคัญในการเลือกอนุบาล?

พื้นฐานของอนุบาลดี ควรเป็นอนุบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ
การพัฒนาสัมผัสทั้ง 5 , พัฒนาด้านจิตใจ และพัฒนาทางด้านร่างกายในการสอนเด็กวัยนี้
และควรเป็นอนุบาลที่มีแนวความคิดว่า อนุบาลกับครอบครัวจะต้องร่วมมือกันในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ,
รับฟังและรับมือกับสิ่งที่พ่อแม่ขอร้องได้
ไม่ใช่ว่า เรื่องการสอนเด็กปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางอนุบาลเอง พ่อแม่ไม่ต้องห่วง
อนุบาลบางแห่งมีแนวความคิดว่าเด็กเล็กน่าสงสาร
ประคบประหงมเกินไป ก็ไม่ดี
เพราะจะไม่สามารถสอนให้เด็กใช้ความสามารถของตัวเองได้

■ถ้าไม่ให้ลูกเข้าเรียนอนุบาล จะทำให้เด็กมีปัญหาในการใช้ชีวิตร่วมกับคนหมู่มากหรือไม่

พ่อแม่บางคนอาจจะเลือกที่จะสอนลูกเองแบบ home school
ไม่ส่งไปเรียนอนุบาล
กรณีนี้หากสามารถสอนให้เด็กเรียนรู้ ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ
และสอนให้ได้รู้จักธรรมชาติได้ ก็ไม่มีปัญหา
แต่ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็คือ ปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
เพราะเด็กจะมีประสบการณ์ความสัมพันธ์ของคน ก็เฉพาะแค่กับคนในครอบครัวเท่านั้น
จึงมีความเป็นไปได้ที่เด็กจะไม่ถนัดที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนวัยเดียวกัน หรือผู้ใหญ่
คือถ้าไม่ให้เด็กเข้าเรียนอนุบาล แล้วให้ไปเริ่มเข้าเรียนตอนประถมเลย
ซึ่งตอนประถมจะยิ่งเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่กว่ากลุ่มเด็กอนุบาล
ก็จะเป็นการโหดเกินไปสำหรับเด็ก เพราะเด็กไม่ชินกับการอยู่ในหมู่คน


■อนุบาลแบบ 3 ปี ดีกว่าใช่หรือไม่?

พ่อแม่ที่เลือกให้ลูกเรียนอนุบาลแบบระยะยาว 3 ปี
เหตุผลส่วนใหญ่ก็คือแม่จำเป็นต้องการที่จะกลับไปทำงาน
นอกจากนั้นก็ยังมีพ่อแม่ที่กังวลกลัวลูกจะใช้ชีวิตในรร.ประถมไม่ได้
เลยอยากให้ลูกเข้าเรียนไว ๆ
บางคนก็คิดว่าต้องรีบให้ลูกรู้จักใช้ชีวิตร่วมกับคนเป็นกลุ่มเร็ว ๆ

สิ่งที่สำคัญก็คือสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการให้เด็กได้เล่น
ช่วงวัยเด็กเล็กนั้นควรให้เด็กได้เล่นอย่างเหมาะสม
ถ้าสภาพแวดล้อมที่อยู่สามารถให้เด็กได้เรียนรู้จากการเล่นแล้วล่ะก็
ไม่จำเป็นเลยว่าจะต้องให้เด็กเข้าเรียนอนุบาลแบบ 3 ปีเสมอไป




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2554    
Last Update : 21 สิงหาคม 2554 8:57:41 น.
Counter : 634 Pageviews.  


futomomo
Location :
Kanagawa, Zama Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ไม่มีพรสวรรค์ให้เห็นชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราว
แต่พรที่สวรรค์ให้มา คือพรแสวง
Friends' blogs
[Add futomomo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.