โยคะเป็นไปเพื่อดับการปรุงแต่งของจิต
Group Blog
 
All blogs
 

ก า ร เ ดิ น ท า ง ของ จิ ต วิ ญ ญ า ณ ครั้งที่ 5 บันทึกที่ 5-ฅนควรรู้จักธรรมของตนเอง

สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้อินเตอร์เน็ตใช้ไม่ค่อยได้ บวกกับเรียนเยอะเลยหงอยๆไปหน่อย

กลับไปที่บันทึกที่ 1 สักนิดนึงค่ะ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านก็ลองไปอ่านดูก่อนได้นะคะ
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=yogapoint&month=27-01-2014&group=18&gblog=1
ครูโรชันพูดถึงความสมบูรณ์แบบในชีวิตค่ะ ทีนี้อาจจะต้องคิดตามยาวววววววว หลายตลบ(อีกแล้ว)

การที่เราจะไปสูความสมบูรณ์แบบในชีวิต(Perfection In Action)ได้-->ก็เพราะดำเนินชีวิตด้วยความสุขและมีเป้าหมายที่ไม่ต้องฝืนทำ(Effortless Focus)ซึ่งจะมีได้จาก-->ความเข้าใจความหมายของชีวิต(Understanding) หรือรู้จักธรรมของตนเอง



การที่ทุกสิ่งทุกอย่างรู้และเข้าใจธรรมของตนเองได้ทำให้มันทำหน้าที่ของตนเองอย่างปกติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่

เซลล์ในร่างกาย ถ้าเซลล์ในร่างกายรู้หน้าที่ของตนก็จะทำให้เนื้อเยื่อทำงานไปตามปกติ -->ทำให้อวัยวะวะทำงานตามปกติ -->ระบบในร่างกายทำงานตามปกติ -->ทั้งร่างกายของเราทำงานตามปกติ -->ทำให้เราทำหน้าที่ของตัวเองต่อครอบครัวได้ตามปกติ -->ทำให้สังคมเป็นไปตามปกติ -->และทำให้โลกของเราดำเนินไปตามปกติสุข

แต่ถ้าทุกอย่างไม่สามารถทำงานได้ตามหน้าที่ของตนเพราะไม่มีธรรมะ ก็จะเกิดปัญหาซึ่งจะใหญ่ขึ้นมาตามขนาดของระบบ เช่นถ้าโลกไม่ดำเนินไปตามปกติก็จะเกิด Global Warming ถ้าครอบครัวไม่ปกติสุขครูโรชันใช้คำว่า Family Warming

ซึ่งถ้าเราไม่มีความเข้าใจในชีวิต(Understanding) หรือรู้จักธรรมของตนเอง ก็จะทำให้เกิดผล 9 ข้อ ตามที่ปตัญชลีกล่าวไว้คือ
-Disease
-Procrastination
-Doubt
-Carelessness
-Laziness
-Craving
-False Perception ตรงนี้สำคัญสุด ข้อด้านบนเป็นสาเหตุให้เกิดข้อนี้ ทำให้เกิดผลตามมาอีกสองข้อ ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขโดยไม่ฝืน(Effortless Focus)ไม่ได้ สองข้อที่เหลือคือ
-Inability to Progress
-Inability to retain

ซึ่งถ้าเราไม่สามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขโดยไม่ฝืนไม่ได้ ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าความสมบูรณ์แบบ(Perfection in Action) ซึ่งก็สามารถสังเกตุได้ว่าชีวิตของเราสมบูรณ์แบบหรือยังโดยการสังเกตุว่าเรามีสิ่งที่ในชีวิตหรือปล่าวถ้ามีก็แปลว่ายังไม่ใช่ค่ะ สิ่งเหล่านี้คือ

-Desires
-Anger
-Arrogance
-Greed
-Attachment
-Jealousy

ถ้าเรายังมีสิ่งเหล่านี้ก็ต้องมองย้อนกลับไปว่าเกิดจากอะไร(ในเก้าข้อ) ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากการไม่เข้าใจหรือไม่มีธรรมะในตนเองนั่นเอง

นอกจากนี้ครูโรชันยังบอกว่า

การที่คนเราไม่เข้าใจธรรมะเพราะเราพยายามเข้าใจธรรมะผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าซึ่งประสาทสัมผัสทั้งห้ามีข้อจำกัดในการเรียนรู้ การจะเข้าใจธรรมะได้ลึกซึ้งแท้จริงต้องใช้สัมผัสที่หกหรือ(6th sense) หรือตาที่สามหรือ Guruในตัวเรานั่นเอง การที่จะทำให้กูรูหรือตัวรู้เกิดขึ้นได้ ก็ทำได้โดยการ....นั่งสมาธิ

การมีเพียงประสาทสัมผัสทั้งห้าเราก็เพียงแค่-->Just alive
แต่ถ้าเรามีตัวรู้ เราจะ--> Living life

หริโอมตัสสัส




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2557    
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2557 7:53:50 น.
Counter : 842 Pageviews.  

ก า ร เ ดิ น ท า ง ของ จิ ต วิ ญ ญ า ณ ครั้งที่ 5 บันทึกที่ 4-Holy Cow วัวศักดิ์สิทธิ์ รากเหง้าของอินเดีย

สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้ยุ่งมากเพราะต้องศึกษาและทำรายงานซึ่งสำหรับฉันก็ยากเป็นพิเศษเพราะต้องทำเป็นภาษาอังกฤษ ต้องสอนและบรรยายเลคเชอร์เป็นภาษาอังกฤษ เลยต้องเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ

เช้านี้มีเรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษ(สำหรับตัวฉันเอง) นั่นคือเรื่องของวัว Holy Cow!!

วันนี้ในคลาสอนาโตมีมีเพื่อนคนหนึ่งถามนอกเรื่องขึ้นมาว่า ทำไมวัวในอินเดียถึงสำคัญนัก เพราะเท่าที่เห็นในเมืองเล็กๆ วัวถูกปล่อยปละละเลยและเห็นพวกมันทานแต่ขยะ เช่น ถุงขยะ เศษอาหาร พอพวกมันถ่าย(อึ)ออกมาก็เอามาตากแห้งและเอามาเผาแล้วบอกว่าขี้วัวจะทำให้ทุกสิ่งบริสุทธิ์ จะเป็นไปได้ไงถ้ามันกินแต่ขยะ!

ครูโรชันเลยอธิบายให้ฟังพวกเราว่า ครูเองก็รู้สึกละอายในสิ่งเกิดขึ้น ครูเล่าว่า ในสมัยโบราณในแต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่ทำมาหากินเป็นของตัวเอง อาจจะจำนวนไม่มาก และทุกครอบครัวจะต้องมีวัวอย่างน้อยหนึ่งตัว

แน่นอนว่า พวกเขาใช้วัวในการทำนา ทำสวน ใช้แรงงานในการไถพรวนดิน กินหญ้าและวัชพืช และขี้วัวยังเป็นปุ๋ยชั้นเลิศ วัวหนึ่งตัวใช้ทำงานและให้ปุ๋ย เพียงพอกับพื้นที่หนึ่งเอเคอร์(อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าใหญ่แค่ไหนเหมือนกัน)

แต่ที่สำคัญกว่านั้น....มันอยู่ตรงนี้ค่ะ

วัวในสมัยโบราณ หรือพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม จะเป็นสัตว์ที่มีสัมผัสพิเศษ พวกมันจะรับรู้ด้วยสัมผัสของมันว่า คนในครอบครัวที่เลี้ยงมันนั้นขาดสารอาหารประเภทไหน พอมันทราบดังนั้น...ในทุกๆวันมันจะถูกปล่อยให้ออกไปหากินเองในป่า วัวจะเลือกทานอาหาร พืชผักสมุนไพรที่ให้สารอาหารที่ครอบครัวนั้นขาดหรือที่พวกเขาต้องการ และย่อยอาหารเหล่านั้นและปล่อยสารอาหารสู่น้ำนม เมื่อคนในครอบครัวนั้นดื่มนมก็จะได้รับสารอาหารที่พวกเขาต้องการอย่างครบถ้วน

แต่ ณ ปัจจุบัน มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะวัวพื้นเมืองนั้นหายากมากขึ้นทุกที วัวในปัจจุบันล้อนถูกผสมเพื่อความต้องการน้ำนมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากวัวพื้นเมืองให้นมน้อย วัวกลายเป็นเครื่องจักรผลิตนมและถูกบังคับให้ทานแต่สิ่งที่คนคิดว่ามันต้องการ ตัวมันเองไม่ได้มีความเต็มใจ หรือพอใจในถิ่นที่อยู่ของมัน ไร้ซึ่งอิสระ น้ำนมที่ได้จึงไม่มีคุณภาพ ผู้คนจึงย่อยนมได้ยากขึ้น เพราะสารอาหารในนมไม่ได้เกิดจากการสื่อสารของวัวกับคนอีกต่อไป

การที่เราเห็นวัวทานแต่ขยะหรือสิ่งที่ไม่อาหารของมัน เท่ากับว่ามันกำลังบอกให้ทราบว่า....อินเดียกำลังป่วย และถ้าอินเดียกำลังป่วยก็แน่ใจได้ว่าทั่วโลกก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะอินเดียเหมือนคลังอาหารเช่นกัน อาหารที่ผลิตได้ย่อมเป็นอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ(ในแง่ของจิตวิญญาณ)

แม้ว่าตอนนี้จะมีคนจำนวนหนึ่งตื่นตัวและเริ่มหันมาศึกษาวิถีธรรมชาติและความพอเพียงมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยที่จะเข้าใจจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรีบศึกษาให้เข้าใจก่อนที่คนในรุ่นก่อนๆจะเสียชีวิตและไม่มีใครถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับเราอีก ซึ่งจะทำให้การนำวิถีชีวิตเหล่านั้นกลับมาเพื่อรักษาอาการป่วยของโลกของเรา...มันก็จะลำบากขึ้น

ฉันได้มีโอกาสที่จะแบ่งปันเรื่องราวของในหลวงในชั้นเรียน (ภูมิใจมากที่ได้กล่าวถึงในหลวงในต่างประเทศ) ฉันบอกว่าสิ่งที่เขากล่าวมาว่า เขากำลังสร้างอาศรมที่นำวิถีการพึ่งตนเอง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับสังคมภายนอกว่าใครจะบริหารประเทศให้เจริญ แต่พวกเขาจะอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ฉันเลยบอกว่า...นั่นคือเศรษฐกิจพอเพียงที่พระมหากษัตริย์ของฉันได้ทำมาตลอดชีวิตของท่าน และยังคงทำต่อไป ฉันอยากให้เขาได้ศึกษางานของท่านเหลือเกิน

และนอกจากนี้เขายังเล่าว่า นี่คือเหตุว่า มหาตมะคานธี เล็งเห็นว่า คนอินเดียควรจะเป็นเกษตรกร ท่านบอกว่า อินเดียจะยิ่งใหญ่ได้ถ้าเป็นเกษตรกรและชาวนา ท่านไม่เห็นด้วยกับชีวิตศิวิไลซ์ที่จะเข้ามาในอินเดีย เพราะจะทำให้วิถีชีวิตและรากเหง้าแห่งความดีถูกทำลายไป คนอินเดียจะเข้าใจถึงสัจธรรมของชีวิตได้ด้วยวิถีแห่งเกษตรกรรม

สิ่งนี้ยิ่งทำให้ฉันรักในหลวงมากขึ้นไปอีก จากที่รักและเทิดทูนมากอยู่แล้ว มันยิ่งทวีคูณ ท่านเล็งเห็นตรงนี้เช่นกัน รากเหง้าของประเทศไทย สิ่งที่เราควรศึกษาให้เข้าใจและอยู่ได้ด้วยตัวของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเจริญหรือความศิวิไลซ์ในชีวิต นวัตกรรมที่ล้ำหน้า.....

แค่…ความพอเพียง

หริโอมตัสสัส




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2557    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2557 16:02:26 น.
Counter : 588 Pageviews.  

ก า ร เ ดิ น ท า ง ของ จิ ต วิ ญ ญ า ณ ครั้งที่ 5 บันทึกที่ 3-ครูโยคะเห็นแก่ตัว100%

บันทึกตอนที่ 3- ครูโยคะเห็นแก่ตัว 100%

ในช่วงสัปดาห์แรกของการมาเรียนที่ฤาษีเกศครูโรชันบอกว่า "มนุษย์ทุกคนเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูโยคะนั้นเห็นแก่ตัว 100%"

ฟังแล้วก็งงเป็นไก่ตาแตกกันทุกคน เพราะความเข้าใจของเราคิดว่าเป็นตรงกันข้ามคือ selfless ไม่เห็นแก่ตัว

แต่เพราะมนุษย์เราเห็นทุกสิ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น
-ต้นไม้
-วัตถุสิ่งของ
-สรรพสัตว์ทั้งหลาย
โดยยึดตัวเราเป็นหลัก เรารับหรือครอบครองสิ่งต่างๆเหล่านี้เพราะต้องการแสดงความเป็นตัวตนเพื่อให้ตัวเองมีความสุข เราบ่งบอกความเป็นตัวเราเองผ่านสิ่งเหล่านี้ที่เรามี เรียกว่าความมีตัวตน หากมีมากเข้าก็จะกลายเป็นอัตตา(ego)

ครูบอกว่า การฝึกโยคะไม่ได้ทำให้ ego หรืออัตตาของเราหายไป เพราะคำว่าselfless โดยตัวมันอย่างเดียวหมายถึงการไร้ซึ่งตัวตน

การฝึกโยคะจะทำให้เราเข้าใจความหมายของชีวิต ทำให้เรารู้จักตัวตนของเราเป็นอย่างดีว่าเราต้องการความสุขแบบไหน ซึ่งก็คือ self 100% (selfish) การฝึกโยคะทำให้เรารู้จักใส่ใจผู้อื่นมากขึ้น เพราะทุกสิ่งรอบข้างสะท้อนความเป็นตัวเอง หากสิ่งแวดล้อมและสิ่งรอบข้างไม่ดี ก็กลายเป็นการแสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตัวเราไม่ดีไปด้วย ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และเพราะเราเลือก...นั่นคือความเห็นแก่ตัวนั่นเอง(เริ่มงงละสิ)

การฝึกโยคะจึงไม่ได้ทำให้อัตตาหายไปได้ทั้งหมดจนเหลือ 0 แต่การฝึกโยคะทำให้เราสมดุลอัตตาเท่าๆกับการไม่มีอัตตาได้ 100 %

การฝึกโยคะทำให้เกิดความสมดุล อัตตา=ไร้อัตตา

อ่านแล้วอาจจะงงๆ ลองนึกภาพเอาง่ายๆ(พยายามให้ง่ายที่สุดนะคะ ไม่รู้จะง่ายมั๊ย)

วันก่อนหมวยบอกว่าพยายามปิดวาจา แต่เพื่อนๆก็บอกว่า ปิดวาจาให้ปิดเฟสบุ๊คและหยุดความฟุ้งของความคิดต่างๆด้วย ฉันเลยมานั่งคิด อืม…ความฟุ้งที่ว่านี้ดีหรือไม่? พอทบทวนไปมาก็พบคำตอบที่พอจะเข้าใจความหมายของเรื่องราวของการมีอัตตา 100% ดังนี้…

เพราะว่าฉันฟุ้ง มีความคิดเข้าและออกมากมาย(ไม่เข้าใจ100%) ทำให้เกิดความต้องการทำความเข้าใจในเรื่องที่ฟุ้ง เมื่อฉันพยายามประติดประต่อสิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง(เข้าใจ100%) ทำให้ฉันไม่ใส่ใจในความคิดตรงนี้อีก(หรือน้อยลง) เพราะรู้แล้วหรือถ้าความคิดนี้ผ่านเข้ามาอีกก็จะมีคำตอบแล้ว ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก(effortless)ในการค้นหาคำตอบอีก(ถ้างงๆให้ย้อนกลับไปอ่านตอนที่ 1 นะคะ) ทำให้ตัวเองสามารถนำจิตหรือความคิดกลับมาสู่การไม่คิดได้ง่ายขึ้น(Thoughtless)

ดังนั้นคำว่าโยคะทำให้อัตตา100% สมดุลกับการไร้ซึ่งอัตตา100% ก็เป็นทำนองเดียวกัน เมื่อรู้จักตนเองทำให้เราเฝ้าระวังหรือมีสติในการควบคุมหรือแสดงความเป็นตัวตนได้เป็นอย่างดี ไม่แสดงความเป็นตัวตนออกไปมากจนเกินความสมดุล เพราะธรรมชาติต้องสมดุลเสมอค่ะ

ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการสมดุลนี้ต้องมีความพยายาม(effort)ที่ต้องการทำความเข้าใจ(understanding)ด้วย

เฮ้ออออ พิมพ์ไปก็เริ่มจะงงๆ ไม่รู้จะอธิบายให้เข้าใจได้มั๊ย... อาจต้องคิดเยอะนิดนึงค่ะ แต่จริงๆคำตอบมันก็ง่ายนิดเดียวค่ะ แค่…สมดุล…ค่ะ

หริโอมตัสสัส




 

Create Date : 30 มกราคม 2557    
Last Update : 30 มกราคม 2557 0:02:03 น.
Counter : 594 Pageviews.  

ก า ร เ ดิ น ท า ง ของ จิ ต วิ ญ ญ า ณ ครั้งที่ 5 บันทึกที่ 2-นักเรียนตามแบบครูทำ

นักเรียนเรียนรู้จากสิ่งที่ครูทำ ไม่ใช่จากสิ่งที่ครูสอน

ครูกฤษณะเป็นผู้ถ่ายถอดคำนี้

ตามวัฒนธรรมอินเดียดั้งเดิมจะเรียนในแบบ Gurukul จะไปอาศัยอยู่บ้านครู คอยสังเกตุชีวิตครูเพื่อจะได้เป็นเหมือนครูที่เขานับถือ ดังนั้นนักเรียนจะเรียนรู้จากสิ่งที่ครูกระทำในแต่ละวัน ตื่นกี่โมง ทานอะไร อ่านอะไร ฝึกอะไรบ้าง เวลาที่ครูสอนอะไรนักเรียนจะเป็นเสมือนผู้ที่ตรวจสอบครูอีกทีว่าครูทำอย่างที่พูดหรือปล่าว

ดังนั้นคำว่า Guru อาจจะมีความหมายที่แตกต่างไปจากที่เราเข้าใจว่าหมายถึงครู(Teacher)ตามปกติ กูรูนอกจากจะหมายถึงผู้ชี้ทางสว่างแล้ว ที่ทำให้กูรูนั้นมีความหมายที่ยิ่งใหญ่คือ กูรู มีความรับผิดชอบต่อชีวิตคนที่เป็นศิษย์ด้วย หากสอนในสิ่งที่ไม่เหมาะสมทำให้ศิษย์เข้าใจไม่ถูกต้องก็กลายเป็นกรรมของกูรูด้วย ดังนั้นการเป็นกูรูนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ที่ Rishikesh Yoga Peeth มีครูหลายท่าน รับผิดชอบกันไปตามแต่ที่ถนัด ครูกฤษณะเป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตร 300 ชม. ส่วนครูโรชันเป็นผู้ก่อตั้งก็มีหน้าที่ในเรื่องของเลคเชอร์และพัฒนาหลักสูตรด้วย


ครูกฤษณะจะอยู่กับพวกเราเกือบตลอดเวลา มีสอนกิริยาและอาสนะตอนเช้า บรรยายเรื่องที่อ้างอิงในคัมภีร์ไม่ว่าจะเป็นภควัตคีตา หฐประฑิปิกา เกรันสัมหิตา เนื่องจากครอบครัวของครูเองมีรากฐานวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเข้มงวด จึงได้รับการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้มาค่อนข้างมาก ครูเป็นคนที่ดูปราณีตและเรียบร้อยดูน่านับถือ



ในวันหยุดที่ผ่านมาครูพาพวกเราไปพิธีอารตีซึ่งมีการสวดมนต์ทุกเย็นริมแม่น้ำคงคา ฉันเล่าให้ครูฟังว่าเคยมาพร้อมกับลูกสาว เธอลงดำผุดดำว่ายในแม่น้ำด้วย แม้ว่าตอนนั้นจะเป็นเดือนพฤษภาคมแล้วก็ตาม น้ำก็ยังเย็นอยู่เพราะเป็นน้ำที่ละลายจากหิมะบนยอดเขา


หลังพิธีเราเดินผ่านย่านขายของของเมืองฤาษีเกศ และได้ลอยดอกไม้บูชาพระแม่คงคากัน


ครูกฤษณะยังมีอะไรที่น่ารักๆมากมาย ดูเป็นคนเงียบๆแต่มีอะไรลึกซึ้งอยู่ ในวันที่บันทึกนี้(22 มกราคม) ครูแอบทำการทดสอบพวกเรา ปกติจะมีคลาสฝึกสมาธิหรือมันตราตอนสองทุ่มถึงสองทุ่มครึ่งทุกวัน และครูเป็นคนนำ แต่คืนนี้ครูบอกผ่านเพื่อนอีกคนมาว่า..ไม่มานะ ให้พวกเราฝึกกันเอง ฉันนึกอยู่ในใจว่า...ครูต้องแอบดูอยู่แน่ๆ แม้ว่าจะไม่มั่นใจว่าเป็นเช่นนั้นจริงมั๊ย แต่ฉันก็ตั้งใจฝึกเอง เพื่อนๆก็เช่นกัน เราฝึกกันถึงสองทุ่มครึ่ง ก็น่าแปลกที่เราก็ออกจากสมาธิกันตรงเวลาพอดี

พวกเราค่อยๆทยอยเดินออกมา เพราะบางคนยังอยู่ในสมาธิก็ไม่อยากจะรบกวนกัน พอเดินลงมาก็พบว่าครูยืนยิ้มดูคนที่เดินลงมาอยู่ ฉันเดินอมยิ้มลงมา ว่าแล้วเชียว!

อย่าเพิ่งนึกว่าฉันขี้เกียจนะ แม้ว่าจะเหนื่อย จะล้า จะหนาว จะป่วย จะมีประจำเดือน ก็ไม่ขาดคลาสถ้าไม่จำเป็น อย่างน้อยก็ขอมานั่งๆนอนๆจดโน่นฝึกนี่เท่าที่จะทำได้ตามข้อจำกัดของตนเอง ช่วงมีประจำเดือนก็จะทำท่าที่ดัดแปลงสักนิดไม่ให้กระทบกับร่างกายมาก ฉันจดโน่นจดนี่จนครูเองก็สงสัยว่าจดอะไรนักหนา บางทีครูก็เอามือมาขยี้ศีรษะตอนฉันก้มหน้าก้มตาจด ฉันไม่อยากพลาดอะไรนี่นา อยากได้ความรู้มาฝากนักเรียนเยอะๆ

ฉันเข้าใจดี แม้ว่าการมาศึกษาด้วยตนเองที่อินเดียจะดีกว่า แต่บางคนก็มีข้อจำกัดเรื่องภาษาและความรับผิดชอบในชีวิต ฉันจึงหวังว่าจะนำสิ่งเหล่านี้กลับมาถ่ายถอดให้มากที่สุด

แล้วจะมาเล่าเรื่อยๆนะคะ อาจจะไม่ได้เรียงวัน เพราะเป็นช่วงของการเรียนรู้ที่บางทีก็ต้องรอการตกผลึกจากภายในค่ะ ตอนนี้ขอไปนั่งสมาธิต่ออีกนิดนะคะ เมื่อค่ำนี้ค่อนข้างจะนิ่งดีทีเดียวรู้สึกว่าน่าจะฝึกต่ออีกนิด

หริโอมตัสสัส




 

Create Date : 27 มกราคม 2557    
Last Update : 27 มกราคม 2557 16:29:40 น.
Counter : 491 Pageviews.  

ก า ร เ ดิ น ท า ง ของ จิ ต วิ ญ ญ า ณ ครั้งที่ 5 บันทึกที่ 1-ฉันไม่เคยลืมเธอ

อินเดีย ห่างหายกันไปหลายปี คิดถึงฉันมั๊ย

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ของการเดินทางเยือนประเทศอินเดีย ฉันตัดสินใจเอาเรื่องราวของการเดินทางเกี่ยวกับโยคะมีรวมไว้กลุ่มเดียวกันน่าจะดีกว่า

ฉันกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง ดังคำว่า "ครูที่หยุดการเรียนรู้ก็เท่ากับหยุดความเป็นครู"

หนนี้ฉันเลือกที่จะมาเรียนที่ฤาษีเกศ(Rishikesh) "Rishikesh Yoga Peeth" ด้วยเหตุผลว่าที่นี่สอนโดยยึดหลักจากโยคะดั้งเดิมและคัมภีร์ต่างๆของโยคะ ตรงนั้นแหละที่ฉันต้องการ ต้องการศึกษาเรื่องของคัมภีร์ต่างๆมากขึ้น ดูว่ามุมมมองของคนอื่นๆเป็นอย่างไร จากนั้นจะได้ศึกษาด้วยตัวเองได่ง่ายขึ้น จริงๆก็มีตำราที่แปลมาจากตำราอินเดีย แต่อ่านแล้วบางทีก็งง ต้องมีอาจารย์คอยชี้แนะบ้าง

ที่ฤาษีเกศนับว่าเป็นเมืองแห่งโยคะ เพราะไปที่ไหนก็มีแต่สถานที่สอนโยคะ ตอนนั่งรถบัสมาก็มีชายสองคนมาเรียนโยคะเหมือนฉัน ตอนแรกฉันคิดว่าคงไม่ได้มีอะไรมากมาย มีแต่ที่สอนโยคะและตลาด ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเท่าหร่ แต่แท้จริงแล้วที่นี่ยังมีอีกหลายอย่างให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเขาหรือเทรกกิ้งแบบที่ฉันเดินที่เนปาล ,การล่องแก่ง ล่าสุดมีบันจี้จั๊มพ์ที่สร้างโดยชาวนิวซีแลนด์อีกด้วย

ฉันเลือกมาในช่วงฤดูหนาวเพราะไม่มีช่วงเวลาอื่นที่เหมาะสม เวลาอื่นๆก็เต็มไปด้วยคอร์สที่ต้องสอนยาวเป็นหางว่าว ในช่วงสัปดาห์แรกฉันค่อนข้างอ่อนล้ามากทีเดียวเพราะเพิ่งผจญภัยในเนปาลมา แต่พอหลายวันก็เริ่มปรับตัวได้ ไม่ใช่ว่าฉันจะหนาวสั่นคนเดียว แต่เพื่อนๆที่แม้เป็นชาวต่างชาติก็รู้สึกเช่นกัน ดีกว่าได้ฮีทเตอร์ที่ซื้อมาในราคา 360 รูปีช่วยไว้ พอใช้ได้ดีทีเดียว



ฉันพลาดคลาสโยคะในช่วงเช้าไปแต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันใส่ใจมาก ที่สนใจมากคือเรื่องของคลาสบรรยาย อยากรู้ว่าฉันจะหลับมั๊ย เอ้ยยยยยย จะได้ความรู้มากมายขนาดไหน และก็ไม่ผิดหวังเลย ครูบรรยายได้สนุกสนานและให้ความรู้เต็มที่จริงๆ

ในสัปดาห์แรกของการเรียนเป็นการทบทวนความรู้ซะเป็นส่วนใหญ่ ว่าโยคะคืออะไร แต่สิ่งที่ครูสอนน่าสนใจมากคือสอนให้รู้จักการวิเคราะห์ไม่ใช่เชื่อในสิ่งที่พูดออกมาทันที เขาบอกให้ปฏิบัติสามข้อนี้เมื่อได้รับฟังอะไรก็ตามที่เขาพูด
"1. กรุณาอย่ายอมรับทุกสิ่งที่ฉันพูด
2. กรุณาอย่าปฏิเสธสิ่งที่ได้รับฟัง
3. หยุดและพิจารณาด้วยความพยายาม"

ครูโรชันให้เราพิจารณาว่าอะไรคือความสมบูรณ์แบบในชีวิต ที่เรากำลังศึกษาและฝึกโยคะก็เพื่อสิ่งนี้หรือปล่าวแล้วมันคืออะไร

ครูกล่าวว่าสำหรับครู ความสมบูรณ์แบบในชีวิตคือ
-สุขภาพที่ดี,
-ความสุข,
-ความสงบ,
-ความเชื่อ,
-ความรัก,
-และความมั่นใจในตนเอง(ความรู้สึกปลอดภัย)

ที่เราไม่สามารถสัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้ได้เพราะเราถูกดึงดูดด้วยสิ่งต่างๆมากมาย เราต้องรู้จักการรวบรวมความสนใจของเรา(Focus) และฝึกให้สามารถปฏิบัติได้อย่างง่ายและรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก(Effortless focus) ซึ่งการที่เราพยายามที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก นั่นเพราะเราไม่มีความเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง(understanding) จึงทำให้เราต้องพยายามมากเพื่อให้มันสำเร็จ แต่การที่เราจะเข้าใจได้ก็ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ด้วยความพยายาม(effort)

...หากเราเข้าใจก็จะทำให้เกิด "ความสมบูรณแบบในการกระทำ" นำมาซึ่ง "ความสมบูรณ์แบบในชีวิต" เรียกได้ว่าคือ Karma Yoga.
...ซึ่งต้องอาศัย Effortless focus ซึ่งมันคือ Bhakti Yoga
...และความเข้าใจอย่างแท้จริง understanding คือ Jnana Yoga

ซึ่งทั้งสามนั้นคือรากฐานของโยคะนั่นเอง

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการทำความเข้าใจ...เราต้องทำความเข้าใจอะไรหรือ ที่เราต้องทำความเข้าใจคือ
-What is life?
-Why am I living?
-How to live?
ซึ่งต้องอาศัยการ Effort Focus หากเราเข้าใจความหมายของสามข้อนี้เราก็จะรู้ทิศทางของการมีชีวิตอยู่ของเราและไม่ต้องใช้ความพยายามมากในการมีชีวิต ทำให้เราค้นพบความสุข(ความสมบูรณ์แบบในการกระทำ)

ตบท้ายด้วย ครูโรชันบอกว่า...สำหรับครู พระเจ้าอยู่ใกล้นิดเดียว นั่นคือ ความเข้าใจความหมายในบางสิ่งของชีวิตที่ใช้ความพยายามน้อยที่สุดที่จะกระทำเพื่อให้พบกับความสมบูรณ์แบบในการกระทำนั้น

ฉันอาจจะยังอธิบายด้วยตัวอักษรไม่ได้ลึกซึ้งนัก คงต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้นเพื่อใช้ในการอธิบายในหลักสูตรโยคะขั้นสูงที่จะนำมาสอนต่อไปในปีหน้าค่ะ

เขียนไปชักมึน นี่แค่เลคเชอร์เดียวเองนะเนี่ย และยังเขียนไม่หมดที่เรียนในหนึ่งวันเลย T^T ท่าทางชีวิตจะยาวนานอีกแล้ว

หริโอมตัสสัส




 

Create Date : 27 มกราคม 2557    
Last Update : 27 มกราคม 2557 16:11:08 น.
Counter : 1304 Pageviews.  


หมวยเกี๊ยะA2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




สาวน้อย(อิอิ)ธรรมดา ที่มีพี่ๅน้องแสนฉลาด พี่สาวคนโตจบดอกเตอร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร พี่ชายคนโตจบศิลปะแต่ได้ผันตัวเองมาทำงานภาพยนตร์จนเป็นผู้กำกับ พี่ชายคนเล็กก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารที่คนเขาแย่งตัวกัน ส่วนน้องสาวคนเล็กก็เป็นหมอฟันประจำตัวให้เราน่ะเอง

ส่วนตัวเองเรียนจบมาทางด้านภาพยนตร์ ที่ล้วนแล้วแต่มายา แต่ดันผ่าอยากศึกษาด้านธรรมะและโยคะ เพราะความล้มเหลวด้านชีวิตครอบครัวเป็นเหตุ

วันดีคืนดีจึงนั่งเครื่องบิน บินไปอินเดียที่เป็นแหล่งกำเนิดโยคะและศึกษาอย่างจริงจัง (เที่ยวอย่างจริงจังด้วย)
ที่ Yoga Vidya Gurukul
ณ เมืองนาสิก ประเทศอินเดีย
เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.2549

ตอนนี้ก็รับสอนโยคะอย่างจริงจังมาก็เริ่มปีที่ห้าแล้ว

ในปี 2553 ได้จบหลักสูตรต่างๆทุกหลักสูตรที่มีอยู่ในสถาบันแล้ว รวมทั้งศึกษาศาสตร์อื่นๆมามากมายก่ายกอง ไม่ว่าจะเป็น โยคะบำบัด อายุรเวท เรกิ ธรรมชาติบำบัด :-D

ตอนนี้เริ่มสอนอีกครั้งแล้วค่ะ ถ้าสนใจเรียนเป็นกลุ่มหรือเรียนตัวต่อตัวหรือเป็นวิทยากร
ก็ติดต่อมาได้นะคะ
Tel.+66 (0)85 1420201
[Add หมวยเกี๊ยะA2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.