YaLoveAum Services เพราะชีวิตคือการเรียนรู้....
space
space
space
space

ผู้สูงวัย…ทำไมเสี่ยงขาดสารอาหาร

ผู้สูงวัย…ทำไมเสี่ยงขาดสารอาหาร

อาหารนับว่าเป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่ความต้องการอาหารในแต่ละช่วงวัยนั้นย่อมมีความแตกต่างกันออกไป มีหลายท่านที่เข้าใจว่าเด็กเป็นวัยที่มีความต้องการสารอาหารมากกว่าวัยอื่นๆ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของร่างกายและเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ วัยผู้ใหญ่หรือวัยแรงงานต้องการพลังงานจากอาหารที่เพียงพอเพื่อเป็นกำลังสำคัญให้มีเรี่ยวแรงในการทำงาน และต่างกับช่วงบั้นปลายของชีวิตอย่างวัยชรา ซึ่งเป็นวัยที่มีบทบาทต่างๆ ในสังคมลดลง มีกิจกรรมทำน้อย ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายอยู่ภายในบ้านที่พักอาศัยของตนเอง อาจส่งผลให้ความต้องการพลังงานที่ได้รับจากอาหารลดลงตามไปด้วย จึงเห็นได้บ่อยครั้งว่าผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารได้น้อย ครอบครัวจึงมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของวัยชราที่มีความเสื่อมของร่างกาย ความเข้าใจที่คาดเคลื่อนนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่อาจทำให้ผู้สูงอายุถูกมองข้ามในเรื่องความสำคัญของอาหารทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารตามมาได้
อะไรเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุขาดสารอาหาร? นอกจากความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับความต้องการสารอาหารของผู้สูงอายุที่เราได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุขาดสารอาหาร ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารที่ทำหน้าที่ได้ลดลง ตามวัยที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟันหลุดร่วงจึงจำเป็นต้องใส่ฟันปลอม ทำให้การเคี้ยวอาหารได้ไม่สะดวก ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายลดลงส่งผลให้การย่อยโดยเฉพาะจำพวกแป้งลดลง มีปากลิ้นแห้ง การรับรู้รสลดลง เนื่องจากต่อมรับรสมีจำนวนลดลง สาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะเบื่ออาหารมากขึ้น ร่วมกับมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดน้อยลง อาหารจึงค้างอยู่ในกระเพาะนานขึ้น ผู้สูงอายุจึงมีความรู้สึกหิวน้อยลง
2. ปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 69.3 เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่างน้อยคนละ 1 โรค และอย่างน้อยร้อยละ 70 เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรคร่วมกัน เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุต้องมีข้อจำกัดในการเลือกรับประทานอาหาร เช่น โรคไตวายเรื้อรังต้องลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มหรือผลไม้บางประเภท ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรต้องลดอาหารที่มีรสหวานจัด อาหารทอด หรืออาหารมัน เป็นต้น ข้อจำกัดเหล่านี้อาจทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารไม่อร่อยเพราะรสชาดเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยรับประทาน จึงทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
3. ผลข้างเคียงจากยา เมื่อมีโรคประจำตัว ทำให้ต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง การรับประทานยาเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สำคัญและหลีกเลี่ยงได้ยาก ยาที่ผู้สูงอายุรับประทานอาจมีผลข้างเคียงรบกวนกระบวนการย่อยและการดูดซึมสารอาหารของร่างกาย โดยผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ทำให้ต้องมีการใช้ยาร่วมกันหลายชนิด เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบจากการใช้ยาต่อภาวะโภชนาการได้มากกว่าวัยหนุ่ม
4. ปัญหาด้านจิตใจ เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ผู้สูงอายุมักอาศัยอยู่ตามลำพัง มีการสูญเสียคู่ชีวิต หรือขาดการดูแลจากลูกหลาน ทำให้ผู้สูงอายุ เกิดภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่ายและรับประทานอาหารน้อยลง ร่วมกับขาดการช่วยเหลือดูแลใน การจัดเตรียมอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความต้องการของผู้สูงอายุ
5. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพ ขาดรายได้ ทำให้ความสามารถในเลือกซื้ออาหารที่ดีมีประโยชน์มารับประทานได้น้อยลง จึงเลือกที่จะรับประทานอาหารที่มีคุณภาพลดลงตามรายได้ที่มีอยู่
เมื่อผู้สูงอายุขาดสารอาหารจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาหลายประการเนื่องจาก สารอาหารเปรียบเสมือนวัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างและซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นพลังงานสำรองที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ช่วยชะลอความเสื่อมถอยของร่างกาย และต่อสู้กับโรคเรื้อรัง หากผู้สูงอายุขาดสารอาหารผลกระทบที่ตามมา ได้แก่
1. ขาดโปรตีนและพลังงาน ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง พบอาการบวมทั่วตัว ผู้สูงอายุจะเซื่องซึม มีพฤติกรรมที่เชื่องช้า นอกจากนี้ภาวะโปรตีนในเลือดต่ำอาจส่งผลให้มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้มากกว่าวัยหนุ่มสาว และส่งผลให้หายจากเจ็บป่วยได้ ช้าต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ
2. ขาดวิตามินและเกลือแร่ ถึงแม้ร่างกายของคนเราจะต้องการวิตามินและเกลือแร่ไม่มากเหมือนสารอาหารหลักแต่ก็มีความสำคัญที่ควรได้รับอย่างเพียงพอ ผู้สูงอายุที่ขาดวิตามิน และเกลือแร่ มีอาการแสดงที่แตกต่างกันไปตามชนิดที่ขาด เช่น ขาดแคลเซียมทำให้เสี่ยงต่อการ เกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกจะเปราะและแตกหักง่าย ขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ง่าย ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืดเป็นลมง่าย หรือการขาดวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นมีผลกระทบต่อ กระบวนการสร้างและซ่อมแซมร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง
3. ภาวะขาดน้ำ เนื่องจากผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณการไหลเวียนของเลือด ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง มีปัสสาวะเข้มและคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาท้องผูกตามมาได้
ที่มา : https://www.baansrisuk.net/


Create Date : 25 พฤศจิกายน 2562
Last Update : 9 ธันวาคม 2562 11:47:50 น. 0 comments
Counter : 316 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 4029452
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 4029452's blog to your web]
space
space
space
space
space