W H I T E A M U L E T
Group Blog
 
All blogs
 
October 2008 @France: Introduction & Preparation

มาแล้วค่ะสำหรับอันแรกที่อยากจะมาเล่า(บ่น) ลำดับของบล็อคอาจจะออกแนวย้อนอดีตไปสักนิดนะคะ ประมาณว่าไปทีหลังแต่เอามาเขียนก่อน เพราะว่ามันยังจำได้แม่นอยู่น่ะค่ะ ส่วนอันที่ผ่านไปแล้วไว้ค่อยไล่ย้อนเขียนทีหลังละกัน

เมื่อวานเพิ่งเขียนไปหยกๆว่าไม่มีเวลามาเขียนแต่มาวันนี้อัพบล็อคซะแล้ว เหตุผลน่ะหรือคะ เพราะเราเป็นหวัดงอมแงมเลยค่ะตอนนี้ แต่วันนี้มีคลาส(เช็คชื่อ)เลยต้องไปมหาลัย แต่ทั้งอาจารย์ทั้งเพื่อนๆในแล็บเห็นเราไอจะเป็นจะตาย ไอทีแทบจะสำรอกเอาเครื่องในออกมาข้างนอกอยู่แล้ว ก็เลยพากันไล่ให้เรากลับบ้านมานอนพักผ่อนซะ แต่เราเพิ่งจะตื่นตอนบ่ายโมงเองง่ะนี่เพิ่งสี่ทุ่มจะให้หลับได้ไง ก็เลยถือโอกาสมาอู้มาเขียนเรื่องดีกว่า

เกริ่นก่อนว่าตอนนี้จะเน้นเขียนความเป็นมาว่าทำไมเราถึงได้ไป และใครเป็นคนออกค่าใช้จ่าย รวมถึงเรื่องการขอวีซ่าต่างๆค่ะ(แต่ขอที่ญี่ปุ่นนะคะ) รายละเอียดจะเจาะลึกถึงระบบการให้ทุนของทางญี่ปุ่นสักนิดหนึ่งข้ามไปเลยก็ได้นะคะเพราะบล็อคอันนี้ยังไม่ได้เข้าเรื่องเดินทางเลยค่ะ เขียนไว้เผื่อจะมีประโยชน์กับพี่ๆน้องๆที่อยู่ที่ญี่ปุ่นเหมือนกันค่ะ


*** อยู่ๆทำไมถึงจะไป แล้วใครเป็นคนจ่ายล่ะเนี่ย ***

การเดินทางคราวนี้เพิ่งเสร็จมาหมาดๆเลยล่ะค่ะ เราส่งเปเปอร์ไปและได้ไปพรีเซนต์โปสเตอร์ที่เมือง Bordeaux, France ค่ะ (จริงๆส่งไป full paper แต่โดน reject พร้อมคำด่าซะสาดเสียเทเสียเรื่องภาษาอังกฤษที่เขียนได้ไม่เหมือน native english และลดระดับมาเป็นแค่โปสเตอร์ค่ะ) แน่นอนว่าเมื่อไปพรีเซนต์งานให้แล็บอย่างนี้ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ใช่ไหมคะ(หมายถึง ที่ญี่ปุ่นนี่นะคะ)

สำหรับมหาลัยที่เราอยู่นั้นจะคืนค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถไฟTGV(หรือพวกค่าเดินทางระหว่างเมือง) ค่าขอวีซ่า และค่าลงทะเบียนของ conference ให้เต็มจำนวนเลยแค่มีใบเสร็จมา ซึ่งเราต้องมีเงินออกไปก่อนนะคะสักพักถึงจะได้คืน แต่ถ้าเกิดไม่มีเงินออกไปก่อนจริงๆก็ไม่เป็นไรค่ะแจ้งอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์จะช่วยได้ค่ะ(ก็ใช้บัตรเครดิตอาจารย์ไปก่อนประมาณนั้น) ซึ่งค่าพวกนี้คืนเต็มจำนวนไม่มีปัญหาอยู่แล้ว

แต่พวกค่าโรงแรมหรือค่ากินและค่าเดินทางเล็กๆน้อยๆในระหว่างทริป ทางมหาลัยจะคืนเป็นเงินเหมาต่อคืนค่ะ(เงินจำนวนนี้ไม่น้อยนะคะ ถ้าไปเมืองค่าครองชีพไม่แพงก็เหลือบานเลยค่ะ) ดังนั้นใครอยู่โรงแรมไม่แพง กินถูก ใช้ประหยัด เงินที่เหลือส่วนนี้ก็เข้ากระเป๋าตัวเองไปเลย แต่ใครเรื่องมากเรื่องที่อยู่(เช่นเราเป็นต้น)ก็บวกลบคูณหารแล้ว อาจเข้าเนื้อไปบ้าง แต่ก็ถือว่าซื้อความสบายนะคะไม่คิดมาก ได้ไปถึงต่างประเทศขนาดนี้จ่ายเองแค่นี้เรื่องขี้ปะติ๋วเอง ถ้าให้มาเองจ่ายเองหมดเนี่ยหน้ามืดแน่ๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเป็นนักศึกษาปริญญาเอกแล้วค่ะ จะมีอีกระบบหนึ่งในการคืนเงินให้เป็นองค์กรเรียกกันว่า Global COE (GCOE) เราไม่รู้รายละเอียดเบื้องลึกมากมายนักนะคะ รู้แต่ว่า GCOE เนี่ยเป็นองค์กรของทางรัฐบาลญี่ปุ่นที่ทุ่มทุน(ใช้คำว่าทุ่มทุนเพราะเงินหนามากค่ะองค์กรนี้)สนับสนุนนักศึกษาปริญญาเอก(สายวิทย์)เต็มที่เพื่อให้มีผลงานวิจัยออกไปในระดับนานาชาติและสร้าง internation relationship/connection อะไรทำนองนั้นน่ะค่ะ องค์กรนี้จะให้เงินก้อนใหญ่ไปกับแต่ละมหาลัยในญี่ปุ่นให้ไปจัดสรรกันเองว่าจะตั้งเงื่อนไขการให้ทุนกับเด็กปริญญาเอกยังไงซึ่งก็ต่างกันไปในแต่ละมหาลัยค่ะ

ที่มหาลัยของเราใช้เงินก้อนนี้เป็นเงินทุนให้กับเด็กปริญญาเอกทุกคนไม่ว่าจะเด็กญี่ปุ่นหรือต่างชาติ(เฉพาะคนที่ยังไม่ได้รับทุนจากที่อื่นนะคะ ไม่มีการรับทุนสองทางค่ะ)เดือนละ 150,000 ถึง 200,000 yen ขึ้นกับว่าใครทำผลงานได้ดีก็ได้เงินเยอะกว่า(พูดง่ายๆอีกอย่างว่า สายวิทย์ปริญญาเอกมีทุนเรียนแน่นอนหายห่วงค่ะ) โดยมีเงื่อนไขว่าถึงครบกำหนดต้องมีพรีเซนต์โปสเตอร์และความก้าวหน้าในงานวิจัย และนักเรียนที่รับทุนนี้ให้ทำงานเป็น Research assistant (RA) ให้แล็บไปด้วย แต่ก็ขึ้นกับแล็บอีกล่ะค่ะบางแล็บอย่างแล็บของเราอาจารย์ก็ไม่ได้ให้ทำอะไรเป็นพิเศษก็เหมือนนักเรียนทำวิจัยปกติทั่วไป

ฟังมาจากเพื่อนมหาลัยอื่น เค้าบอกว่าไม่ใช่ทุกคนนะคะที่จะไ้ด้รับทุน GCOE ได้ เพื่อนๆเค้าหลายคนกว่าจะขอทุน GCOE ผ่านก็ใช้เวลาเหมือนกัน ก็เอาเป็นว่าถ้าผลงานเข้าตา(โดยเฉพาะจำนวน publication) ได้อย่างน้อยเท่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็นก็คงได้ทุน GCOE ไม่ยากค่ะ ตรงจุดนี้ปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเค้าก็ช่วยแนะนำได้ค่ะ เพราะอาจารย์เค้าก็พอจะรู้ว่าผลงานระดับไหนที่เรียกว่าดีพอที่น่าจะได้ทุนค่ะ

แต่ยังไงก็ตามนะคะ ถ้านักเรียนปริญญาเอกคนไหนที่ได้ทุน GCOE แต่ดันทำผลงานในแต่ละปีได้ไม่ดี เช่น ปีๆนั้นไม่มี publication เลย เวลาเค้าพิจารณาต่อทุนในปีต่อไป ก็มีสิทธิแห้ว โดนตัดทุนไม่ได้ต่อได้เช่นกันค่ะ
และได้ยินมาด้วยว่าทุน GCOE นักเรียนก็ยังต้องจ่ายค่าเทอมเองอยู่
ดังนั้นแม้เทียบด้วยจำนวนเงินรายเดือน อาจจะดูเผินๆเหมือนว่า GCOE มีแววไ้ด้เงินรายเดือนมากกว่าทุนมอนบุโช
แต่ถ้าบวกลบคูณหารแล้ว ในแง่ความมั่นคง และ ชื่อแล้ว ส่วนตัวคิดว่ายังไงทุนมอนบุโชก็ดีกว่าค่ะ (สำหรับคนต่างชาตินะคะ)
ถ้าได้ทุนมอนบุโช ก็แค่เขียนรายงานสั้นๆส่งทุกๆเทอม ค่าเทอมไม่เสีย ได้เงินรายเดือนสม่ำเสมอกว่าไม่ต้องกลัวว่าจะโดนตัดกลางคันค่ะ
(แต่สำหรับคนญี่ปุ่นที่ไม่มีทุนมอนบุโชให้ หรือคนต่างชาติที่รับทุนมอนบุโชมาตั้งแต่ตรียันโท เต็มพิกัดของทุนมอนแล้ว ยังไงทุน GCOE ก็ช่วยพวกเค้าได้มากค่ะ)

คนที่ได้รับทุนทุกเดือนจากทางอื่นแล้วอย่างเรา(เราได้ทุนมอนบุโชค่ะ) ก็ยังสมัครโปรแกรม GCOE นี้ได้ค่ะ แต่ต่างกันนิดหน่อยว่าไม่ได้รับเงินรายเดือน แต่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายการเดินทางไปพรีเซนต์ที่ต่างประเทศได้ โดยจำกัดว่าปีนึงให้แค่หนึ่งหนนะคะ ถ้าไปมากกว่านั้นทางแล็บก็ต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้เราแทนค่ะ ซึ่งตรงนี้สำหรับเราเฉยๆค่ะยังไงก็ได้เงินคืนอยู่แล้วแต่อาจารย์ก็ให้เด็กปริญญาเอกทุกคนสมัครล่ะค่ะเพื่อเป็นการประหยัดงบของแล็บไปได้ สำหรับคนที่ได้รับเงินเดือนทุกเดือนจาก GCOE ก็มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพรีเซนต์งานเท่ากันค่ะ(ปีละหน)

และแน่นอนของฟรีไม่มีได้กันง่ายๆค่ะ นอกจากรายงานต่างๆที่ต้องเขียนส่ง เงื่อนไขสำคัญที่เค้าจะจ่ายเงินให้กับการเดินทางของเราคือ นอกจากเราจะต้องไปพรีเซนต์ในงาน conference แล้วเราจะต้องทำการติดต่อแล็บหรือหน่วยงานวิจัยที่ไหนสักแห่งในประเทศนั้นๆ(หรือในแถบๆประเทศใกล้เคียงกัน) เพื่อขอไปทำ research exchange ค่ะ และย้ำด้วยว่าการ exchange นี้ให้ดำเนินการเอง ไปคนเดียวไม่ให้อาจารย์ไปด้วยนะคะ กะฝึกเด็กให้บินเดี่ยวเต็มที่ (ยกเว้นกรณีผู้หญิงแล้วไปที่ๆดูไม่น่าไว้ใจเท่าไหร่ อย่างนี้อาจขอพิเศษให้อาจารย์มาด้วยกันเพื่อความปลอดภัยค่ะ)

อารมณ์ประมาณว่าเราต้องไปขอจัด seminar ที่แล็บอื่นๆ(โดยมีเราเป็นผู้พรีเซนต์) เพื่อจะพรีเซนต์งานเราเป็นการฝึกให้นักเรียนปริญญาเอกหัดหา connection นั่นเองล่ะค่ะ ถ้าไม่สามารถหาที่ไหนตอบรับมาได้ก็เป็นอันว่าอดค่ะ GCOE (ของมหาลัยเรา)จะไม่จ่ายให้ ทางแล็บต้องควักงบแล็บจ่ายให้เองค่ะ แต่ที่มหาลัยของเพื่อนได้ยินว่านโยบายต่างกันนะคะ ไม่ต้อง exchange แต่บังคับเข้า meeting ทุกสัปดาห์แทนห้ามขาดถ้าไม่มีเหตุผลคอขาดบาดตายค่ะ

สรุปว่างานนี้เราได้ GCOE เป็นเจ้ามือค่ะ(หลังจากร่อนอีเมลไปเป็นโหล) ดังนั้นนอกจาก Bordeaux แล้วเราเลยได้มีโอกาสแวะเข้า Paris ด้วย ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีเวลาเที่ยวในปารีสบ้างแม้จะน้อยนิดก็ตามที

ค่าใช้จ่ายโดยประมาณที่จะได้คืนเต็มๆเลยก็มี
- ค่าตั๋วเครื่องบินประมาณ 19x,xxx yen แน่นอนว่าต้องเลือกแบบถูกสุดนะคะ จะมานั่ง business หรือ 1st class นี่ไม่ได้ค่ะต้อง economy เท่านั้น แต่ถ้าไฟลท์ถูกสุดๆเวลาบินไม่เหมาะสม(เช่น landing ไปสี่ห้าทุ่ม ก็อันตรายสำหรับผู้หญิงเดินทางเข้าเมืองคนเดียว) กรณีพวกนี้ก็เอาที่แพงขึ้นหน่อยได้ค่ะ
- ค่าขอวีซ่าเชงเก้นประมาณ 9,7xx yen (60 euro)
- ค่าลงทะเบียนconference (อันนี้อาจารย์รูดบัตรให้เลยจำไม่ได้ค่ะ)

ส่วนค่าเหมารายวันยังไม่ได้คืนเลยยังไม่รู้ค่ะ แต่ก่อนนี้ทางมหาลัย(แต่ไม่ใช่ GCOE)เคยคืนมาให้เหมาคืนนึงประมาณ 27,000yen ได้ค่ะ คิดว่าน่าจะไม่หนีกันมาก


*** การขอวีซ่าเชงเก้น ผ่านทางสถานทูตฝรั่งเศสที่โตเกียว ***

เอาล่ะค่ะ ขอข้ามขั้นตอนการร่อนอีเมลเพื่อตามตื๊อขอไปพรีเซนต์ตามแล็บต่างๆทั่วฝรั่งเศส(และทั่วปารีส)ไปนะคะเพื่อไม่ให้ออกนอกอ่าวมากกว่านี้ เมื่อจองตั๋วไปแล้วก็ถึงคราวขอวีซ่าเชงเก้นกันล่ะค่ะ เชื่อไหมคะถ้าลองไปถามใครๆที่อยู่ญี่ปุ่นคำตอบที่ได้มาแทบจะเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ขอวีซ่าฝรั่งเศสที่ญี่ปุ่นนี่ของ่ายกว่าที่ไทยเยอะ (อารมณ์เดียวกับขอวีซ่าอเมริกาที่ญี่ปุ่นได้ง่ายกว่าขอจากไทยเยอะนั่นล่ะค่ะ)

และด้วยความที่เราเคยขอวีซ่าอเมริกามาแล้ว แถมงานนี้ก็ไปในนามมหาลัยไม่ได้ไปเที่ยวเอง ก็เลยประมาทไปค่ะ ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรเลยเพิ่งจะมาขอสามอาทิตย์ก่อนเดินทาง(ก่อนหน้านั้นกลับไทยไปค่ะ) เจอเลยค่ะปัญหาตัวเบ้ง แรกๆก็นึกอยู่ว่าเราโชคร้ายเองหรือเปล่าที่ได้คนรับเรื่องเป็นคนญี่ปุ่นเลยเข้มงวดตามตัวอักษรเป๊ะๆ เพราะคนอื่นๆที่เคยขอก่อนนั้น(หลายเดือน)ใครๆก็บอกว่าเค้าไม่เข้มขนาดนั้น แต่ฟังไปฟังเหมือนเหมือนว่าทางสถานทูตเค้าเพิ่งเปลี่ยนระบบน่ะค่ะ ไม่เฉพาะที่ญี่ปุ่นแต่ที่ไทยก็ด้วย เปลี่ยนมาเป็นเข้มงวดมากๆเลย ทุกอย่างต้องเป๊ะเถียงยังไงก็ไม่ช่วยค่ะ

เอกสารโดยทั่วไปอ่านได้จากในเว็บนะคะเข้า google.co.jp หาคำว่า France embassy tokyo แค่นี้ล่ะค่ะแล้วจิ้มอันแรกที่ขึ้นมาเลย ณ ตรงนี้จะขอพูดถึงแต่เอกสารที่เป็นปัญหา เอกสารที่เราคิดว่าอย่างนี้น่าจะใช้ได้แล้วล่ะ แต่เอาจริงๆมันจะใช้ไม่ได้เอาค่ะ


1. ประกันระหว่างการเดินทาง (ตัวจริง)(อันนี้จ่ายเองนะคะ รู้สึกจะเบิกมหาลัยไม่ได้ค่ะ)

เราอ่านแล้วทีแรกก็นึกว่าไม่จำเป็นค่ะ นึกว่าถ้าเราไม่อยากซื้อ มั่นใจว่าเราจะไม่เป็นอะไร ไม่อยากมีประกันความปลอดภัยของตัวเองก็ไม่เป็นไร แต่ปรากฏว่ามันจำเป็นต้องมีนะคะ (ในกรณีที่เข้าแต่ฝรั่งเศส)เราต้องไปซื้อประกันจากพวกบริษัทท่องเที่ยวต่างๆให้ครอบคลุมตั้งแต่วันแรกที่เราขึ้นเครื่องบินยันวันสุดท้ายที่เราขึ้นเครื่องกลับเลยค่ะ

ถ้าอยู่ญี่ปุ่นง่ายๆก็ซื้อจาก HIS ค่ะอย่างเราก็เดินไปจิ้มอันถูกสุดนั่นแหล่ะค่ะ แปดวันก็ 4800 กว่าเยน (ซึ่งก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างที่คิดค่ะ) ตรงนี้นิดนึงนะคะ ทีแรกเรากะไปซื้อกับ JTB แต่ปรากฏว่าเค้ามีคอร์สประกันแต่ของคนต่างที่ชาติที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่นแล้วน่ะค่ะ เราเป็นนักศึกษาต่างชาติเลยซื้อประกันจากบริษัทนี้ไม่ได้ค่ะ

อีกนิดนึงว่าเอกสารนี้เค้าก็ต้องการเป็นตัวจริงเช่นกันนะคะ ถ้าซื้อจาก HISก็ได้เป็นตัวจริงไปยื่นไม่มีปัญหาค่ะ แต่ถ้าใครซื้อจากเน็ตไป แล้วใช้วิธี captureหน้าจอหรือพิมพ์บิลยืนยันไปเนี่ยไม่แน่ใจว่าจะได้ไหมนะคะ ถ้าไม่ได้ถูกกว่ากันมากแนะนำให้ซื้อแบบมีตัวจริงถือในมือเลยค่ะ ตอนนี้เค้าเข้มมากค่ะว่าต้องการเอกสารตัวจริง(ห้ามจากอินเตอร์เน็ต)เท่านั้น


2. Invitation letter ตัวจริงจากฝรั่งเศส

อันนี้อย่าทำเป็นเล่นไปนะคะ ที่เค้าเขียนในเน็ตว่า "ไม่รับเอกสารทุกอย่างที่มาจากอินเตอร์เน็ต" นี่เค้าเอาจริงแล้วค่ะตอนนี้(ก่อนหน้านี้เค้าหยวนๆค่ะใช้วิจารณญาณประกอบกันไป) อย่างเราพิมพ์เว็บไซต์ของ conference ที่มีชื่อนามสกุลเราเขียนอยู่ในโปรแกรมพรีเซนต์(ซึ่งถ้าอยากจะเช็คก็เปิดเน็ตเช็คได้เลยค่ะว่าเราไม่ได้เมคขึ้นมาเอง) พิมพ์อีเมลที่ทาง conference แจ้งผลการตัดสินเปเปอร์ของเรา เอาไปยื่นให้ทางสถานทูตเค้าตีคืนมาหมดเลยค่ะ แถมโดนดุอีกต่างหากว่าเค้าเขียนไว้ชัดแล้วในเว็บว่า "ไม่รับเอกสารทุกอย่างที่พิมพ์มาจากอินเตอร์เน็ต" -"-

พูดยังไงเค้าก็บอกแค่ว่าให้เราติดต่อไปทาง conference ให้เค้าออกจดหมายรับรองตัวจริงมาให้เราค่ะ ดังนั้นเลยต้องอีเมลด่วนไปขอจดหมายจาก conference แต่อันนี้ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ค่ะ ทาง conference เค้ารู้งานมีแบบฟอร์มของเค้าอยู่แล้วบอกไปปุ๊บเค้าก็ส่งไปรษณีย์มาให้เราเลยไม่มีปัญหา (แต่ถ้า conference ไหนตอบกลับช้าหน่อย ก็ลำบากว่าจะส่งมาไม่ทันเอาค่ะ)

ในกรณีที่ไม่ได้ไปร่วมงาน conference ก็คงต้องเป็นจดหมาย invitation letter จากงานหรือคนที่จะเป็นจุดประสงค์หลักของเราในการเดินทางล่ะค่ะ


3. Hotel reservation confirmation (ตัวจริง)

อันนี้ล่ะค่ะ ปัญหาตัวเบ้งเลย เดี๋ยวนี้ใครๆเค้าก็จองโรงแรมกันทางอินเตอร์เน็ตทั้งนั้นใช่ไหมคะ มีรีวิวให้ดู มีรูปให้ดู ราคาก็ถูกกว่าจองผ่านเอเจนซี่ตั้งเยอะ เราเองก็หนึ่งในนั้นค่ะจองโรงแรมผ่านทาง expedia.com (ตัดเงินบัตรเครดิตไปเรียบร้อยแล้วด้วย) อีกโรงแรมจองผ่านทางอีเมลเป็นโรงแรมที่ทาง conference แนะนำมา (ก็จะได้ราคาพิเศษ conference's rate น่ะค่ะถูกกว่าปกติ)

สิ่งเดียวที่มีไปยื่นสถานทูตคืออีเมลยืนยันจากทาง expedia.com และอีเมลตอบโต้ยืนยันการจอง(confirm by credit card number) ซึ่งกรณีนี้นี่มันคือไม่มีเอกสารอย่างอื่นแล้วจริงๆน่ะค่ะ พยายามอธิบายทางสถานทูตว่าเราจองทางเน็ตน่ะไม่รู้จะให้เค้าออกเอกสารให้ยังไงดี แต่พูดจน(ตัวเอง)อารมณ์เสียยังไงเค้าก็ยืนยันไม่รับเอกสารที่พิมพ์จากทางอินเตอร์เน็ตท่าเดียวค่ะ เค้าบอกให้เราไปขอให้ทางโรงแรมออกเอกสารยืนยันการเข้าพักของเรามา และต้องมาเป็นตัวจริงเท่านั้นค่ะ

นี่ล่ะค่ะกุมขมับไปเลย โรงแรมที่จองทาง expedia.com หาอีเมลยังไงก็ไม่เจอ เจอแต่เบอร์โทรศัพท์ ถ้าจะขอก็ต้องโทรทางไกลไปขอกันล่ะ แต่จะคุยกันรู้เรื่องมั๊ยเนี่ยงานนี้ ยังดีว่าโรงแรมอีกที่อีเมลไปต่อรองหลายรอบจนเค้ายอมส่งไปรษณีย์มาให้ เขียนเน้นๆขอไปเลยค่ะว่าขอให้ใช้ซองโรงแรม กระดาษมีตราโรงแรม มีลายเซ็นต์กำกับ ระบุวันเช็คอินและเช็คเอ้า และระบุชื่อเราตามพาสปอร์ตอย่าให้ผิด (ถ้าผิดมาเราจะขอวีซ่าไม่ทันเอาค่ะงานนี้) ก็สรุปว่าได้มาแต่ของโรงแรมแรกที่เข้าพัก อีกโรงแรมหมดปัญญาจริงๆ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ค่ะ

สรุปสำหรับจดหมายยืนยันการจองโรงแรมนะคะ ถ้าเอาสะดวกสุดให้จองโรงแรมผ่านเอเจนซี่เลยค่ะ (ทีแรกเค้าถามเลยว่าไม่มีเอกสารจองของ HIS, JTB พวกนี้เหรอ) ราคาแพงกว่าหน่อยแต่ชัวร์ค่ะงานนี้ อาจไม่ต้องมีของทุกโรงแรมที่จะไปพักแต่อย่างน้อยที่สุดควรมีของโรงแรมแห่งแรกค่ะ

หรือถ้าใครหลวมตัวจองทางเน็ตไปแล้ว และไม่สามารถติดต่อทางโรงแรมเพื่อขอจดหมายได้จริงๆ ก็คงมีทางออกอยู่สามทางค่ะ

1. ยอมยกเลิก เสียเงินค่ายกเลิก จองโรงแรมใหม่ผ่านทางเอเจนซี่ไปเลย
2. ยอมจ่ายเงิน ติดต่อให้ทางเอเจนซี่สักแห่งช่วยเดินเรื่องแทนให้ เค้าก็จะช่วยจัดการเรื่องโรงแรมให้เราได้ โดยเราไม่ต้องยกเลิกโรงแรมที่เราจองในเน็ตไปด้วย (อันนี้พี่ enjoymiracle บอกมาค่ะ)
3. ต้องเล่นวิชามารกันเล็กน้อยค่ะ แต่เราก็ไม่เคยทำเองนะคะแค่มีคนแนะนำมา แต่ไม่ขอพูดถึงละกัน (ไม่ใช่เรื่องผิดกฏหมายหรือผิดศีลธรรมใดๆนะคะ ไม่รู้ว่าจะทำได้จริงไหมด้วย)



เท่านี้ล่ะค่ะเอกสารที่เป็นปัญหาเรื่องต้องการแต่ตัวจริงเท่านั้น ส่วนตั๋วเครื่องบินนั้นเราใช้ e-ticket ที่ทาง JTB ออกให้เค้าก็ไม่ว่าอะไรนะคะ อยากแนะนำว่าอย่าประมาทเหมือนเรานะคะมาขอตอนจวนๆตัว เพราะบางทีกว่าจะหาเอกสารพวกนี้ได้อาจไม่ทันได้ไปแล้วก็ได้ค่ะ เอกสารสามอย่างนี้เค้าระบุให้พกติดตัวไว้ตอนผ่าน immigration นะคะ โดยเฉพาะเวลาโดนสุ่มเรียกตรวจเนี่ยจดหมายรับรองในข้อ 2 ช่วยเราได้มากเลยล่ะค่ะ

เราโดนมาแล้วค่ะ โดนสุ่มเรียกตรวจ เพราะเดินมาเอเชียอยู่คนเดียวเด่นซะ ทีแรกโดนถามๆและจะให้เปิดกระเป๋าด้วย แน่นอนว่ายิ้มรับค่ะ ปากบอกว่าโอเคอยากดูอะไรเชิญเลย แต่ในใจนี่กลุ้มค่ะ เพราะกว่าจะปิดกระเป๋าลงล็อคได้เราต้องโดดทับมันอยู่หลายรอบเลย ไม่อยากจะต้องมาทำอีกกลางสนามบิน ไม่ได้กลัวว่ามีของน่าสงสัยอะไรหรอกค่ะ ค้นไปก็เจอแต่เสื้อผ้าเครื่องสำอาง

แต่ปาฏิหารย์มีจริงค่ะ พอยื่นจดหมายรับรองจากทาง conferenceและทางมหาลัยในปารีสให้ปุ๊บเลิกถามปล่อยมาทันทีเลยค่ะ เกจความน่าเชื่อถือพุ่งปรี๊ดในบัดดล ^^


-----------------------------------------------------------------------------


เอ้อ ไปๆมาๆแค่ intro ล่อไปซะยาวเหยียดหมดเวลาวันนี้แล้ว ตัวหนังสือเป็นพรืดเลย เอาน่ะคิดซะว่าเขียนอะไรมีสาระสักนิดก่อนจะไร้สาระแล้วกันนะคะ เอาไว้หนหน้าค่อยเข้าเรื่องการเดินทาง お休みค่ะ


Create Date : 04 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 5 มกราคม 2552 14:29:30 น. 3 comments
Counter : 681 Pageviews.

 
ไม่ยาวเลยจ้า แค่เบาะๆแค่นั้นเอง อ่านดีมีประโยชน์ดีออก ได้ความรู้ใหม่ๆเรื่องการให้ทุนและการจ่ายเงินของสถาบันด้วย เผื่อคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อสูงๆ (แบบพี่งัย) จะได้รู้ไว้ว่าดอกเตอร์เค้าเรียนเค้าสอน เค้าวิจัยกันแบบไหน

ไว้อัพบล็อคใหม่แล้วจะเข้ามาอ่านอีกนะคะ

(แอบขำเรื่องที่โดนสุ่มตรวจกระเป๋า นี่ถ้าต้องเปิดกระเป๋าจริงๆ แล้วเจอแต่ เครื่องสำอางค์กับเสื้อผ้า...ตามประสาสาวห้องแป้ง แล้วอีตาเจ้าหน้าที่ ตอมอ คงตกใจน่าดู)


โดย: tukuta วันที่: 6 พฤศจิกายน 2551 เวลา:8:09:00 น.  

 
หวัดดีจ้ะเกด ดีใจด้วยนะที่งานสำเร็จเรียบร้อย ได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย ถึงจะแอบมีหวัดติดมาด้วย แต่ก้อขอให้หายเร็วๆละกันจ้า

ฟังที่เล่ามาแล้วพี่ว่าเกดโชคดีนะที่ไปฝรั่งเศส ไม่ใช่อิตาลี่ หรือสเปน แถมเจอคนใจดีตลอดทาง อย่างที่ปารีีสจริงๆแล้วมีน้อยเคสที่จะเจอพวกมิจฉาชีพ เพราะพี่ไปมาสิบกว่าครั้ง เจอคนไม่ดีอยู่ครั้งเดียว แล้วคิดว่ามันคงเป็นพวกเมดิเตอเรเนี่ยนแอบเข้ามาอาิ๋ศัยอยู่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส แต่ทุกประเทศย่อมมีคนร้ายแอบแฝงก้อควรระวังตัวไว้ก่อน คราวหน้า ทางที่ดี ขอให้คนช่วยเรียกแท็กซี่ให้ดีกว่า ให้เค้าไปส่งนะ อย่าไปยอมขึ้นรถสุ่มสี่สุ่มห้า ลองเลือกระหว่างเหตุผลว่าไม่มีเวลามาสนใจเพราะเลทแล้วกับถูกจับไปทำมิดีมิร้ายเนี่ยอันไหนมันจะให้ผลร้ายมากกว่ากัน นี่พี่ว่่า้แฟนเกดฟังเรื่องนี้ต้องโดนบ่นแน่เลย 555 ส่วนเรื่องคนใจดีทั่วๆไป แบบยกกระเป๋าให้ก้อมีเยอะอยู่ ไม่ถือเป็นเรื่องอันตรายแต่อย่างใด คนยุโรปผู้ชายมักจะทนดูผู้หญิงตัวเล็กๆแรงน้อยๆยกกระเป๋าใบโตไม่ได้หรอก จะช่วยสาวๆเสมอเพื่อแสดงความแมน ถ้าใครเป็นสาวน้อยน่ารักตัวเล็ก ขี้เกียจแบกของหนักก้อ แค่แกล้งทำยักแย่ยักยันเวลายกกระเป๋าก้อจะมีคนมาช่วยยกให้ตลอดทาง สบายไปเลย 555

เรื่องสบตาคนที่มามองเนี่ย พี่ว่าสงสัยเกดจะเป็นเหมือนน้องสาวพี่แน่ๆเลย ทำหน้าทำตาดุยังไงก้อไม่น่ากลัว แถมถ้าตาแป๋วๆสบตาใครเข้ามันก้อเหมือนเชิญชวนไปซะงั้นอ่ะสิ

อ่านเรื่องที่เกดเขียนบนบล็อคนี้แล้วมีประโยชน์ดีนะ เขียนรายละเอียดไว้ดีเลย พี่เคยเป็น RA ของ COE มาตอนเรียน ป.เอก ทั้ง 3 ปี (เงินเดือน RA ก้อมีหลายเลเวลอย่างที่เกดรู้มา แต่ตอนที่พี่ทำอยู่มีตั้งแต่ 125,000 ถึง 240,000) รวมทั้งได้ตอนเป็นโพสด็อก (ของโพสด็อกมีเงินเดือน 330,000 ถึง 450,000 +ค่าเดินทางจากบ้านไป-กลับ มหาลัยด้วย พี่ไม่ทันได้ถึงชนเพดานแต่ฟังจากรุ่นพี่คนนึงเป็นโพสด็อกมา 4 ปีแล้ว) โปรเฟสเซอร์ที่ดังๆจะขอ COE ได้หลายสิบอัน(เรียกเป็น 件)ใช้่งบกระจายไปทำอะไรก้อได้(จ้างเลขาเพิ่มอีกก้อได้)เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยสายวิทย์อย่างที่เกดว่าแหละ เพราะ COE แตกออกมาจาก JSPS และร่วมกับมอนบุโชเลยเงินสะพัดมาก (เราอาจจะรู้จักมอนบุโชด้านที่เป็นทุนให้ นศ ต่างชาติเรียน ป.โท ป.เอก แต่ความจริงแล้ว มอนบุโชก้อคือ กองทุนสนับสนุนวิจัยของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เป็นเจ้ามือซัพพอร์ทเงินทุนวิจัยหลักๆให้คณะทางวิทย์กะวิศวะของแทบทุกมหาลัยเลย)

GCOE ก้อเหมือนเป็นรีโวลูชั่นหนึ่งของ COE ซึ่งคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เวลาหมดระยะงบประมาณที่เคยตั้งไว้ เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี พอประชุมกันแล้วยืดโปรเจคต่อได้มักจะตั้งชื่อใหม่ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่วัตถุประสงค์หลักก้อยังคงเหมือนเดิม

เวลาไปคอนเฟอร์เรนส์ทั่วๆไปแล้ว มหาลัยนอกจากจะจ่ายค่าที่พักให้แล้วยังให้เบี้ยเลี้ยงด้วย พี่คิดว่าที่เกดเคยได้คืน 27000 ต่อคืนนั้นน่าจะเป็นค่าที่พัก 13000 เยนแล้วเบี้ยเลี้ยงอีก 14000 เยน ส่วน COE นั้นก้อได้รวมเฉียดๆ 30000 เยนนี่แหละจ้ะ

แล้วพี่จะมาแจมอะไรมากมายกะบล็อคเกดเนี่ย 555 โทษทีนะ เห็นเกดแจกแจงรายละเอียดมา เลยจะมาเพิ่มเติมให้ในฐานะที่เคยได้เฟลโลวชิพของ COE มา

ถ้าหายหวัดแล้วเอารูปที่ไปเที่ยวมาลงบล็อคแบ่งกันดูบ้างเด้อ


โดย: enjoymiracle วันที่: 7 พฤศจิกายน 2551 เวลา:3:22:34 น.  

 
-> tukuta

ตม ที่เรียกเป็นสาวผิวหมึกค่ะ ยังนึกอยู่ว่าสงสัยตอนปิดกระเป๋ากลับอาจต้องมีคนมาช่วย :P


-> enjoymiracle

แหะๆ อารมณ์เดียวกันเลยค่ะ ไปเล่าไว้ในบล็อคพี่ซะยาวเชียว สำนึกได้ก็ตอนกดส่งไปซะแล้ว ตอนที่หลงทางนั้นขอบอกว่าที่ตรงนั้นนอกจากตึกและต้นไม้ไม่มีอะไรเลยจริงๆอ่ะค่ะ มองไปคนไม่มี มองหาป้ายชื่อถนนไม่เจอ ขนาดถนนใหญ่ยังเห็นรถวิ่งผ่านไม่กี่คัน(รถส่วนตัวน่ะค่ะ) อยากจะบ้าตายเอามากๆ

อารมณ์นั้นกลัวมากว่างานจะเสียจนตัดใจเสี่ยงไป มานึกอีกทียังคิดเลยค่ะว่าตัวเองท่าจะบ้าช่างทำไปนะเนี่ย ไม่รู้เทวดาที่ไหนมาดลใจให้ยอมขึ้นรถเค้าไปก็ไม่รู้ (ถ้าเกิดขึ้นแล้วซวย ก็คงบอกว่าเป็นผีปีศาจมาดลใจล่ะค่ะ ^^ )


โดย: White Amulet วันที่: 7 พฤศจิกายน 2551 เวลา:11:42:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

White Amulet
Location :
Bangkok Thailand / Tokyo Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]




บล็อคนี้ถึงไม่ค่อยมีอะไรแต่ถ้าจะก๊อปปี้ข้อความหรือรูปอะไรไปโพสที่อื่น ก็รบกวนช่วยใส่เครดิตลิงค์บล็อคนี้ไว้ด้วยนะคะ

เราไม่สงวนลิขสิทธิ์การนำภาพและข้อความในบล็อคไปเผยแพร่(ในแบบที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์)แต่สงวนลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของภาพถ่ายและเนื้อหาค่ะ

ค้นหาทุกสิ่งอย่างในบล็อคนี้

New Comments
Friends' blogs
[Add White Amulet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.