บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
All Blogs
 

สร้างพายุสมอง ลูกที่ 4

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



“คุณวิบูลย์ จะให้ผมไปเรียกคุณชัชเข้ามาห้องประชุมเลยไม๊ครับ” คุณวิษณุถาม.หลังจากที่ในห้องประชุมได้ทำการสรุป เหตุและผลเรียบร้อยแล้ว
“ครับ ดีครับ วานคุณวิษณุ ช่วยเป็นธุระให้ด้วยนะครับ”

ผมให้ทีมงานของน้องเจน ออกความคิดเห็นลงในกระดาษ และ นำมาติดไว้ที่กระดานให้จัดกลุ่มความคิดเห็นที่เหมือนๆกัน ผมพบว่า มีความคิดเห็นดีๆมากมาย ที่เขียนออกมา และ การจัดกลุ่มต่างๆ เป็นที่น่าแปลกใจที่คำตอบบางคำตอบ ยังต้องการสิ่งที่ตนเองขาด ทั้งๆที่โจทย์บอกว่า โรงงานกำลังจะเจ๊ง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะว่า พวกเขาไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่โรงงานกำลังจะเจ๊งจริงๆ เมื่อได้จัดกลุ่มความคิดแล้ว เราก็ได้รวบรวมและ เลือกหัวข้อเพื่อนำมาหาว่า เราควรจะปรับปรุง ณ จุดใดก่อน และ หลัง โดยใช้วิธีดั้งเดิมคือ การโหวตว่า น่าจะทำอะไรก่อนและหลัง



จากนั้น ผมก็เสนอวิธีการจัดหาเหตุ และ ผลของแต่ละหัวข้อ โดย ให้กำหนดหัวข้อเป็น 2 ชุด และ ให้ฝั่งหนึ่งเป็นเหตุ และ อีกฝั่งหนึ่งเป็นผล จากนั้น ก็ให้หาว่า หัวข้อใดนั้นเป็นเหตุ ของ หัวข้อทางขวา ก็ให้ลากลูกศรจากด้านเหตุ ไปยังด้านผล แต่ต้องไม่ลากเข้าหาตัวเอง หรือเป็นเหตุซึ่งกันและกัน เพราะความจริงถ้าสิ่งใดเป็นเหตุ อีกสิ่งย่อมเป็นผลเสมอ เมื่อได้จำนวนของเหตุ และ จำนวนของผลในแต่ละหัวข้อแล้ว ค่อยมาจัดเรียง จากมากไปน้อย แต่ถ้าเท่ากัน ว่า หัวข้อใด เป็นเหตุของอีกหัวข้อ หลังจากนั้นต่อจากนี้ไป ผมก็จะจัดให้เกิดการเรียงตามเหตุ จากน้อยบ
ว่า ถ้าปรับปรุงเรื่องนี้ให้ดีขึ้น จะทำให้เรื่องใดบ้างดีขึ้นตามไปด้วย วิธีการจัดทำนั้น ก็เพียงแต่ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้าเราได้จัดการที่ต้นเหตุแล้ว จะทำให้ ผลที่เกิดจากสาเหตุนั้น ดีตามไปด้วย เพื่อให้หัวข้อต่างๆนั้น มีน้ำหนักของความเป็นเหตุ เป็นผล ว่ามีน้ำหนักในเรื่องเหตุเท่าใด และ มีน้ำหนักในเรื่องผลเท่าใด ตารางที่ได้จากการเลือกหัวข้อต่างๆนั้น จากนั้นผมก็จัดลำดับ ผลที่มากๆไว้ด้านบน เรียงจากมากไปน้อย และ หากเท่ากัน ก็จะเรียง เหตุ จากน้อยลงไปมาก ซึ่งจะได้ข้อมูลตามตารางนี้

ข้อมูลที่จัดเรียงตามเหตุผล จากมากไปน้อยนั้น ทำให้เราเห็นว่า งานอะไรที่ควรจะทำ ซึ่งหมายถึง หากแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรื่องต่างๆเหล่านี้ ก่อน จะทำให้หลายๆงานดีขึ้น เนื่องจากหัวข้อที่มีจำนวนเหตุมากๆนั้น เป็นหัวข้อพื้นฐานที่หากได้ปรับปรุงพื้นฐานของการทำงานแล้ว ส่วนที่เป็นรายละเอียดที่ใช้พื้นฐานในข้อนั้นๆ ก็จะจะดีขึ้น อย่างเช่น หากมีการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ก็จะทำให้การทำงานของเขาดีขึ้น การตัดสินใจดีขึ้น การสื่อสารดีขึ้น มุมมองของพนักงานดีขึ้น หรือแม้นแต่ พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะกับการทำงาน ก็อาจจะดีขึ้นด้วย เป็นต้น การจัดเรียงแบบนี้ผมจะเอามาเพื่อใช้อธิบายให้กับหัวหน้างานฟังว่า หน้าที่เขาที่ควรจะทำจริงๆนั้น เขาควรทำอะไร เจ้าของกิจการควรทำอะไรเพื่อที่จะพัฒนาองค์กรโดยรวม



ส่วนข้อมุลที่จัดเรียงตามผล จากมากไปน้อยนั้น ทำให้เรารู้ว่า งานใด ที่ต้องทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานประจำที่พนักงานต้องทำให้เสร็จลุล่วง หรือ งานที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ที่ต้องทำให้เสร็จ หรือ งานที่เป็นงานประจำที่ต้องทำ แต่หากแก้ไขปัญหาพวกนี้แล้ว จะแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุได้ แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ อย่างเช่น การป้อนข้อมูล หรือ การประมวลผล ให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งบางครั้ง การปรับปรุงการป้อนข้อมูล อาจจะไม่ใช่เหตุหลัก แต่ความเป็นจริงแล้ว เราอาจจะต้องเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนความเร็วในการส่งข้อมูล หรือ แม้นแต่เปลี่ยนแปลงโปรแกรมก็ได้ ซึ่งล้วนแล้วเป็นพื้นฐานของการป้อนข้อมูล หรือ การประมวลผลทั้งสิ้น ผมจะใช้การจัดเรียงแบบนี้ กับกลุ่มคนที่เป็นนักปฏิบัติ กลุ่มพนักงานที่เข้ามารวบรวมความคิด เป็นส่วนใหญ่ เพราะมันจะแสดงให้ว่า งานที่เขารับผิดชอบในการทำนั้นคืออะไร แต่ถ้าเขาทำงานในส่วนล่างด้วย งานของเขาจะพัฒนาได้ดีมากน้อยเพียงใด

ระหว่างที่ผมสรุปเรื่องต่างๆให้กับสมาชิกในที่ประชุมฟังอยู่นั้น คุณวิษณุก็เข้ามา...
“เออ... คุณวิบูลย์ คุณชัชติดงานด่วนครับ คือ... คือ...ไม่สามารถเข้ามาประชุมได้อีก เออ... เขาฝากขอโทษฯมานะครับ” คุณวิษณุสีหน้าไม่ค่อยดี และ ดูเหมือนว่าจะพูดแบบคิดไป
“ครับ แล้วเขาสามารถเข้ามาได้กี่โมงครับ” ผมถามเพื่อต้องการทราบความจริงบางอย่าง
“เออ... เขาไม่ได้บอกครับ”
“อย่างนั้นผมไปสอบถามเขาเอาดีกว่าครับ เดี๋ยวผมมาครับ” ผมพูดเสร็จก็ลุกขึ้นยืนแล้วมองไปที่ เจน บอกเป็นนัยว่าไปกันไม๊...
“พี่จุง... เจนไปเป็นเพื่อนนะ...” เจนเหมือนรู้ว่า ผมอยากให้เจนไปด้วย...
“จ๊ะ... ขอบใจจ๊ะ...”

จากนั้นเราก็เดินเข้าไปในโรงงานอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่เราสองคนเห็นคือ คุณชัช กำลังคุยกับเลขาฯ สาวหน้าห้องอย่างสนุกสนาน เหมือนวันแรกที่ผมเดินเข้ามาในโรงงานแห่งนี้
“ขอโทษครับคุณชัช ผมอยากให้คุณกลับเข้าประชุมครับ เพื่อนๆรออยู่”
“ไม่ได้ครับ ผมกำลังติดธุระด่วน” คุณชัชตอบแบบห้วนๆ มองมาทางผมอย่างไม่ค่อยจะแยแสเสียเท่าไหร่
“อย่างนั้น ไม่ทราบว่า วันอังคาร คุณชัชพอมีเวลาว่างบ้างหรือเปล่าครับ”
“วันอังคารหรือ...” คุณชัชทำท่าคิดเล็กน้อย “ครับได้ครับ แล้วคุณวิบูยล์จะมาที่โรงงานหรือ?”
“จริงๆแล้ว ผมก็อาจจะไม่สามารถมาได้นะครับ แต่ผมจะลองลางานแล้วมาช่วยคุณชัช” ผมตอบอย่างไม่แน่ใจว่าจะมาได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ผมลางานไว้แล้วเพื่อทำธุระส่วนตัว
“อย่างนั้นวันอังคารก็ดีครับ แต่ผมคงไม่มีอะไรให้คุณวิบูลย์ ช่วยหรอก”
“ครับ ผมจะเข้ามาขอคำแนะนำ ละกันครับ” แล้วผมกับเจนก็เดินจากมา โดยเจนมองผมและจะพูดหลายครั้งแต่ผมก็แค่จับต้นแขนของเจนไว้เพื่อไม่ให้เขาพูดอะไรออกมา

“พี่จุง... เจนไม่เข้าใจว่าทำไมคุณชัชกลายเป็นคนละคนไปเลยนะ” ระหว่างเดินกลับมายังห้องประชุม
“เรื่องปกติครับ พี่คิดว่า เขากำลังต้องการอยู่ในจุดที่ปลอดภัยสำหรับเขามากที่สุด เพราะเขาคิดว่า พี่เข้ามาแล้วทำให้เขาไม่ปลอดภัยนะ”
“เขาจะไม่ปลอดภัยได้อย่างไรค่ะ”
“เรื่องนี้พี่แค่คาดเดา เอาไว้วันอังคาร พี่จะเข้ามาคุยกับคุณชัช อีกหน่อย ก่อนจะสรุปอะไรกันดีกว่า”

(อ่านต่อฉบับหน้า)

สรุปหลักการและเหตุผล...
  • หัวหน้างานที่ได้รับการยอมรับ ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลงจากบุคคลอื่น

  • การใช้แรงของเจ้าของกิจการมากไป จะทำให้พนักงานบางคนคิดว่า เราไม่มีอำนาจแท้จริง

  • เรื่องบางอย่างไม่สามารถจัดการได้ในห้องประชุม ต้องจัดการอย่างส่วนตัว

  • การทำให้คนหนึ่งยอมรับนั้น ต้องทำให้เขาเห็นว่าเขาได้ประโยชน์จากเรา หรือ เรามีควาสามารถที่เขาจะพึ่งพิงได้


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:01:38 น.
Counter : 5005 Pageviews.  

สร้างพายุสมอง ลูกที่ 3

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



“คุณวิบูลย์ ผมว่ามันเสียเวลาเปล่าที่จะมาทำอย่างนี้ แถมยังวุ่นวายอีกด้วย” คุณชัช กล่าวขึ้น ในห้องประชุม ในขณะที่พวกเรากำลังหาเหตุผลขอแต่ละหัวข้อกัน ซึ่งผมคิดว่า คุณชัชคงทนไม่ได้กับการทำอย่างนี้เพราะคุณชัชไม่ได้ร่วมออกความคิดเห็นด้วยเลย
“ผมยอมรับครับว่าวุ่นวายจริงๆ แต่ผมคิดว่ามันคุ้มค่านะครับ ผมว่าคุณชัชรอดูผลที่จะออกมาก่อนไม่ดีหรือครับ”
“อย่างนั้นผมขอตัวไปทำธุระ ก่อน แล้วผลออกมาเมื่อไหร่ค่อยให้ใครไปตามผมเข้ามาประชุมต่อนะครับ”
“ถ้าคุณชัชมีงานด่วนที่ต้องทำ ก็เชิญได้ครับ แล้วผมจะเรียกคนไปเชิญมาประชุมต่อนะครับ”
เมื่อผมพูดยังไม่จบดี คุณชัช ก็เดินออกไปยังประตู และเปิดประตูเดินก้าวออกไปในทันที
“พี่จุงค่ะ…เจนขอโทษฯแทน...” เจนยืนขึ้นและกล่าวขอโทษฯแทนคุณชัช
“ไม่เป็นไรจ๊ะเจน พี่ผิดเองที่เอาอะไรที่ยาก และเสียเวลามากไปหน่อย ทำให้คุณชัชเขารับไม่ได้นะ”

ผมมองกลับไปยังกลุ่มคนที่นั่งอยู่ด้านหน้าผม แล้ว ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเอาเรื่องยากๆมาให้พวกเขาจริงๆ ซึ่งหลายคนทำท่าจะเดินออกจากห้องประชุมเหมือนกับคุณชัช ทำให้ผมต้องอธิบายบางอย่างให้พวกเขาได้รับรู้เสียก่อน...

“ผมคิดว่าหลายๆท่านอาจจะคิดว่า สิ่งเหล่านี้มันยุ่งยากซับซ้อน หรือ มันทำให้เสียเวลา ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ว่าเมื่อพวกคุณสามารถทำได้เองแล้ว คุณจะพบว่า สิ่งที่ผมพยายามถ่ายทอดให้นั้น เป็นแนวคิดที่ดี และมันจะเปลี่ยนแปลงตัวของคุณเองให้กลายเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อองค์กร ผมขอเล่าให้ฟังขั้นเวลาละกันว่า ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองไปมากเพียงใด ระหว่างก่อนและหลังการทำเช่นนี้”

ผมทิ้งช่วงสักอึดใจก่อนจะเล่าเรื่องของผมหลังจากการใช้งานสิ่งเหล่านี้

“เมื่อก่อนผมก็เป็นเหมือนพวกคุณนะครับ คิดว่างานของตัวเองนั้นสำคัญที่สุด ถ้าใครจะแก้ไขปัญหาแล้ว ต้องแก้ไขที่ปัญหาของผมก่อน ซึ่งผมก็เป็นหัวหน้างานที่ต้องคอยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลานะครับ พูดง่ายๆก็คือ แก้ปัญหารายวันกันเลยทีเดียว ผมคิดว่าหลายๆท่านตอนนี้ก็คิดแบบผมเมื่อก่อน เพราะการเป็นหัวหน้างานนั้น เขาจ้างมาให้เป็นคนแก้ไขปัญหาในงานต่างๆ ไม่มีปัญหา ไม่ต้องควบคุมงาน แล้วเขาจะจ้างหัวหน้างานมาทำไม”
“แล้วตอนนี้หละครับ คุณจุง” คุณวิษณุถามขึ้น เหมือนอยากรู้คำตอบเลยว่ามันแตกต่างเพียงใด
“ตอนนี้ผมทำงานแบบวางแผน แก้ไขปัญหารายวันลดลง แต่จะใช้การป้องกันปัญหาที่จะเกิดให้ได้มากที่สุดก่อน เพราะว่าผมเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่ผมควรทำเพื่อป้องกันเหตุการณ์ต่างๆนั้น คืออะไร และพยามป้องกัน และ พัฒนาทางด้านต่างๆก่อนมีปัญหา แต่กว่าผมจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ผมก็หลงทางไปนาน ผมไม่อยากให้พวกคุณหลงทางแบบผม ผมก็เลยอยากจะถ่ายทอดในสิ่งที่ผมคิดว่า มันอาจจะทำให้พวกคุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ดีขึ้น”
“เจนไม่เข้าใจค่ะว่า ทำสิ่งเหล่านี้แล้วมันจะเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้อย่างไร” เจนถามแบบอยากรู้
“ ถ้าเข้าใจธรรมชาติของคน ก็จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ โดยปกติแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น คนเรานั้นก็ต้องจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราก่อน หากยิ่งมีผลกระทบกับเรามากเท่าไหร่ ก็จะพยายามจัดการสิ่งเหล่านั้น ให้มันเบาบางลงมากที่สุด แต่คนเราก็มักจะมองไม่เห็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น แต่พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้มีปัญหาเฉพาะหน้า... เวลาทำงานของนักบริหารโดยทั่วๆไปก็เหมือนกัน มักจะตัดสินใจทำงานในส่วนที่เป็นปัญหาก่อน เมื่อมีปัญหา ก็จะแก้ไขปัญหา”
“มันก็เป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรือครับ” คุณวิษณุ เป็นรองหัวหน้าช่างซ่อมบำรุง กล่าวขึ้น
“ผมเข้าใจนะครับว่า งานบางงานจะยุ่งกับปัญหาที่เกิดขึ้นเสียส่วนใหญ่ ถ้าปัญหาไม่เกิดขึ้น ก็จะไม่มีงาน แต่ถ้ามองให้ดี การดูแลไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น อาจจะเป็นหนทางที่ทำให้ส่วนรวม ไม่ติดขัดก็ได้ อย่างเช่น ถ้าคุณขับรถ แล้ว ไม่เอารถไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนหัวเทียน ตามระยะ ผมรับรองได้เลยว่า รถของคุณจะอยู่กับคุณไม่ได้นาน และ จะเกิดอาการเสียนั่นเสียนี่ตลอดเวลา แต่ถ้านำรถไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะ ตรวจสอบ ปรับแต่งเครื่องตามที่กำหนด สังเกตุและซ่อมบำรุงเป็นประจำ ก็จะทำให้รถของคุณสามารถขับเคลื่อนไปได้นาน และ เครื่องจะยังแน่นอยู่เสมอๆ” คนส่วนใหญ่ยอมรับได้จากเหตุผลกลางๆนี้ ยกเว้นคุณวิษณุ
“อย่างนั้น ช่างซ่อมรถก็ไม่ต้องมีซิครับ...” คุณวิษณุกล่าว
“ช่างซ่อมรถก็ยังต้องมีครับ เพราะว่า การบำรุงรักษา หรือ การตรวจสอบบางอย่างที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้ ต้องให้ช่างเทคนิคจัดการนะครับ ทำให้งานของช่างเทคนิคมีงานจุกจิกน้อยลง แต่จะกลายเป็นหมอใหญ่ที่ทำหน้าที่รักษาอาการป่วยจริงๆ นะครับ อย่างผมนะ ผมเอารถเข้าอู่ตามระยะ ถึงแม้นว่าเกิดเสียงแปลกๆ เล็กน้อยบ่อยๆ ผมก็จะเข้าไปตรวจเช็ค และเปลี่ยนอุปกรณ์เลย ซึ่งผมก็ยังต้องใช้ช่างอยู่ดี ผมไม่สามารถทำเองได้ครับ”
“ยังไม่เข้าใจค่ะว่า วิธีการที่พี่กำลังทำอยู่นะจะช่วยแก้ไขและเปลี่ยนแปลงตัวเราได้อย่างไร ” เจนดึงประเด็นกลับก่อนที่ผมจะหลุดออกไปมากกว่านี้
“คืออย่างนี้ หากเรารู้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เรามีปัญหาอะไร เราก็จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นตามสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเรารู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากสิ่งใด เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้จากการแก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ไขที่ปลายเหตุ”
“แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรเป็นต้นเหตุ อะไรเป็นปลายเหตุ” คุณมิตร ฝ่ายคอมพิวเตอร์ กล่าว
“ก็จากการมองที่ผล แล้วค้นหาสาเหตุ หรือถ้าจากการทำที่ผมกำลังทำอยู่นี้ ผมจะให้คุณบอกว่า อะไรที่ทำแล้ว จะส่งผลให้หัวข้ออื่นดีขึ้น นั่นก็เป็นการหาว่า อะไรเป็นต้นเหตุ และ อะไรเป็นผลที่เกิดจากต้นเหตุเหล่านั้น เมื่อคุณทำตามวิธีการของผมบ่อยๆ คุณจะเข้าใจว่า อะไรบ้างที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด และ อะไรที่เป็นภาพลวงตาของปัญหาที่เรากำลังแก้ไข ซึ่งบางเรื่องอาจจะแก้ไขได้บางเรื่องก็แก้ไขไม่ได้”
“คุณวิบูลย์ ช่วยยกตัวอย่างสักหน่อยได้ไม๊ครับ” คุณมิตรกล่าวขึ้น หน้าตาเหมือนต้องการคำยืนยันในคำพูดของผม
“คุณมิตร ทำงานทางด้านคอมพิวเตอร์ คุณมิตรเคยเขียนหรือ เรียนการเขียนโปรแกรมบ้างไม๊ครับ ?”
“ครับ เคยครับ”
“ผมจำตอนช่วงเวลาที่ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ได้เลยว่า ผมพยายามเขียนดักปัญหาต่างๆให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่มี บั๊ก เกิดขึ้นในโปรแกรม นั่นเป็นการป้องกันผลที่จะเกิดขึ้น โดยคาดการณ์เหตุก่อนล่วงหน้า คนทำงานโปรแกรมเมอร์มาก่อน จะเข้าใจหลักการนี้ได้เร็วกว่าคนอื่น ผมคิดว่า คุณมิตรก็เช่นกัน...” ผมมองไปที่คุณมิตร ซึ่งเข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังพูด แต่คนอื่นๆ กลับไม่เข้าใจ
“ผมขอยกตัวอย่างอีกสักอันนะครับ อย่างในหัวข้อที่เรากำลังคุยกัน อย่างเช่น พนักงานไม่ทุ่มเทให้กับบริษัทฯ ผมคิดว่า เรื่องนี้มันเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ ผลนั้น กลับสะท้อนมายังภาพลักษณ์ของพนักงาน ซึ่งถ้าโดยทั่วไปแล้ว เราจะแก้ไขกันง่ายๆคือ การให้งานกับพนักงานมากขึ้น หรือ พยายามบีบให้พนักงานทำงานมากขึ้น จำกัดเวลาส่งและให้เขาทำงานเลยเวลามากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้น จะแก้แค่เพียงว่า พนักงานไม่ทุ่มเท แต่ความเป็นจริงแล้ว การทุ่มเทให้กับการทำงานนั้น มันเป็นความรู้สึกที่แต่ละคนรู้สึกกันไปเองว่าเขาไม่ทุ่มเท แต่ถ้าวิเคราะห์ถึงปัญหาของพนักงานบ้างว่า อะไรที่ทำให้เขาไม่ทุ่มเท อาจจะจินตนาการได้มาเช่น เขารู้สึกว่าเขาได้เงินเดือนน้อยทำให้เขาทำงานเท่าที่บริษัทฯจ่ายเงินให้เขา หรือ เขาอาจจะทำงานเต็มความสามารถของเขาแล้วแต่ผู้เป็นหัวหน้างานอาจจะหวังให้เขาทำงานได้มากยิ่งขึ้น หรือ การที่เขาเข้างานตรงเวลาและเลิกงานตรงเวลา ทำให้คนอื่นๆมองว่าเขาไม่ทุ่มเท หรือ เขาไม่รู้ว่าเขาจะทำงานอะไร ทำงานอย่างไร รอให้หัวหน้างานมาสั่งเท่านั้น สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในแต่ละบุคคลว่า ความทุ่มเทคืออะไร ดังนั้นผมคิดว่าการที่พนักงานไม่ทุ่มเทให้กับการทำงานนั้น อาจจะเกิดจากระบบงานเองก็เป็นไปได้ว่าไม่มีระบบตรวจสอบที่ดีพร้อมว่า พวกเขาทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือยัง ?”
“แล้วอย่างนี้ เราจะแก้ไขปัญหาอย่างนี้ได้อย่างไรค่ะ” เจนถามเหมือนอยากรู้ให้ลึกมากยิ่งขึ้น และ ดูเหมือนว่า ทั้งห้องตอนนี้ก็อยากรู้เช่นกัน
“ถ้าจะแก้ไขเรื่องพนักงานไม่ทุ่มเทนั้น ผมคิดว่า ต้องศึกษาปัญหานี้ที่ต้นเหตุ ซึ่งต้องรวมรวมความคิดเห็นของพวกคุณโดยเฉพาะ แต่ผมบอกก่อนเลยว่า การแก้นิสัย หรือ พฤติกรรมของพนักงานนั้น ถ้าภาษาหรูๆเขาจะเรียกว่า ปรับทัศนคติ ซึ่งมันไม่สามารถทำได้ภายในวันเดียว หรือเดือนเดียว มันต้องใช้เวลานาน และ ความร่วมมืออย่างมาก จากฝ่ายบริหาร รวมทั้งทีมบริหารต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขแนวความคิดของพนักงานร่วมกัน ถึงจะสำเร็จ มันเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งเลยนะครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ไม่ยากจนเกินไป”
“คุณวิบูลย์ ช่วยอธิบายวิธีการแก้ไขปัญหานี้ หรือ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพหน่อยได้ไม๊ครับ” คุณมิตรถามเหมือนอยากรู้คำตอบโดยละเอียด
“ถ้าในรูปแบบการทำงานของผมนะครับ ผมจะเริ่มจากการตรวจสอบทั้งระบบงาน โดยเริ่มจากระดับล่างสุด อย่างเช่น การผลิต ว่า พนักงานแต่ละคนใช้เวลาเท่าใดในการทำงานแต่ละงาน หรือ ได้งานแต่ละชิ้น ซึ่งทำให้เห็นเป็นรูปธรรม จากนั้น ผมก็เอาตัวเลขดังกล่าวมาตรวจวัดว่า พนักงานน่าจะทำงานได้คนละเท่าใด หรือมีงานใดบ้างของแต่ละคนที่ทำงานชิ้นใดบ้าง ให้พวกเขานับงานของเขามาเอง ซึ่งอาจจะกระทบวิธีการทำงานของพวกเขาอยู่บ้าง เมื่อได้ว่าพนักงานได้งานแต่ละวันมากน้อยเพียงใด ก็ทำการคำนวณย้อนกลับว่า เขาทำงานได้เป็นเวลาของเนื้องานเท่าไหร่ มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ในการทำงาน ซึ่งประสิทธิภาพของผม ระหว่างที่ทำเรื่องเหล่านี้ ผมจะพยายามสื่อสารให้พนักงานรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลง และ ข้อดีของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นว่า เขาจะได้รับผลประโยชน์อย่างไรจากการเปลี่ยนแปลง รวมทั้ง ผมก็จะสร้างเป้าหมายของแต่ละคนว่า ต้องทำงานได้เท่าใด หรือ ต้องทำงานอย่างไร ถึงจะเข้าเป้า รวมทั้งผมก็ต้องสร้างให้มีการให้รางวัลให้กับพนักงาน และ การลงโทษผู้กระทำผิดด้วย หลายๆอย่างเหล่านี้ จะส่งเสริมให้พนักงานมีวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น ผมคิดว่า อย่างน้อย 1-2 ปี ถึงจะเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งไม่ใช่เวลาอันสั้นเลย”
“ไม่มีวิธีการแก้ไขที่เร็วกว่านี้หรือค่ะพี่จุง” เจนถามตามประสาวัยรุ่น
“มี... บังคับออกกฎให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เลยไง รวดเร็วที่สุด แต่ไม่สามารถทำให้มันอยู่อย่างยั่งยืนได้ เพราะว่า กฎมีไว้แหก” ผมพูดจบในห้องหัวเราะกันอย่างสนุกสนานเหมือนกับว่า สิ่งที่ผมกำลังพูดอยู่นั้น เป็นเรื่องที่เขาก็เห็นในโรงงานแห่งนี้ บรรยากาศของห้องประชุมดูเป็นกันเองมากขึ้น
“ถ้าจะเปลี่ยนให้คนงาน กินข้าว ห้ามกินข้าวเหนียว แค่สั่งให้โรงครัวห้ามหุงข้าวเหนียว ให้หุงแต่ข้าวเจ้า มันง่ายนิดเดียวครับ แต่คนงานนะ เขาก็จะออกไปซื้อข้าวเหนียวมากิน และ ผมก็คิดว่า พวกเขาก็จะด่าคนสั่งกฎนั้นว่าไม่มีเหตุผล หรือไม่ก็ด่าเจ้าของ หรือ ไม่ก็อาจจะเกิดปัญหาลุกลามใหญ่โตก็ได้ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาชิน ต้องกินข้าวเหนียว เพราะว่ามันหนักท้อง กินข้าวเจ้าไม่อยู่ท้อง กับ พฤติกรรมอย่างอื่นๆหรือ รูปแบบการทำงานเดิมๆนั้น พวกเขาจะเคยชินกับมัน ซึ่งหากต้องการให้เขาเปลี่ยนแปลง ต้องให้พวกเขาสมัครใจในการเปลี่ยนแปลง และต้องเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่การบังคับไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดปัญหาอย่างอื่นตามมาได้” ผมมองไปรอบห้องแล้วพบว่าทุกคนต่างผ่อนคลายได้มากขึ้นกับการที่คุณชัชเดินออกจากห้องประชุมไป
“ผมสรุปไว้เลยว่า วิธีการที่ผมใช้ คือการแก้ไขปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิด ป้องกัน และ พัฒนาพื้นฐาน เพื่อจะได้ก้าวไปอย่างไม่สั่นคลอน และผมจะเน้นเรื่องพื้นฐาน มากกว่าการแก้ไขปัญหาไปวันๆ ถ้าพวกคุณได้ทำตามวิธีที่ผมกำลังพยายามถ่ายทอดให้พวกคุณ ผมคิดว่า สักวันคุณจะเข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังสื่อสารกับคุณในวันนี้ คราวนี้ เรามาต่อเรื่องหาเหตุผลให้จบ เพื่อผมจะได้สรุปให้พวกคุณได้ว่า คุณควรจะทำการรวบรวมความคิดอย่างไร ถึงไหนกันแล้ว...”

ผมเริ่มทำการหาเหตุ และ ผลของแต่ละหัวข้อไปเรื่อยๆ จนเสร็จ...

“คุณวิบูลย์ จะให้ไปเรียกคุณชัชเข้ามาห้องประชุมเลยไม๊ครับ” คุณวิษณุถาม...

(อ่านต่อฉบับหน้า...)

สรุปหลักการและเหตุผล...
  • ความรู้สึกนึกคิดของคนเรา ต้องใช้เวลาในการให้เขาเปลี่ยนแปลง หรือ เปลี่ยนแปลงเขา

  • พฤติกรรมการแสดงออก ไม่ว่าทางด้านการพูด หรือ การกระทำ เป็นตัวสื่อว่า ผู้พูดหรือผู้กระทำมีนิสัย หรือ มีความคิดเช่นใด

  • คนเราต้องการทราบว่า ผลที่จะได้รับจากการกระทำนี้จะได้รับอะไร คุ้มค่ามากแค่ไหนที่จะลงมือกระทำ

  • การทำตามวิธีที่มีให้เรียบร้อยแล้ว จะง่ายและเร็วกว่าจะคิดวิธีขึ้นเอง แต่ คนใช้วิธีสำเร็จรูปจะไม่ลึกซึ้งหรือ พลิกแพลง ได้ดีเหมือนคนคิดวิธีเหล่านั้น

  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ถ้าไม่ทำอาจจะทำให้ปัญหาต่างๆลุกลาม

  • การแก้ปัญหาอย่างถาวรต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะเป็นปัญหาที่ควรจะแก้ไข หรือ ปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้ส่วนอื่นๆไม่เกิดปัญหา

  • การยกตัวอย่างในสิ่งแวดล้อมเดียวกับผู้ฟัง ผู้ฟังจะเข้าใจได้ลึกซึ้งมากกว่า

  • ในการดำเนินการประชุม ผู้ดำเนินการควรจะเรียนรู้พฤติกรรมผู้เข้าร่วมประชุมอยู่เป็นประจำ เพื่อจะปรับการประชุมให้เป็นไปตามภาวการณ์ในห้องประชุมนั้นๆ


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:02:08 น.
Counter : 1347 Pageviews.  

สร้างพายุสมอง ลูกที่ 2

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



หลังจากต่างคนต่างเขียนความคิดเห็นใส่กระดาษ และเริ่มนำมาติดที่กระดานด้านหน้า เพื่อทำเป็นหัวข้อแล้ว แต่ละคนก็สนุกกับการอ่านความคิดเห็นของคนอื่น และ พยายามที่จะจัดกลุ่มความคิดเห็นให้ออกมาเป็นกลุ่มๆ ตามความเข้าใจของเขา บางกลุ่มมีความคิดเห็นติดไว้หลายแผ่น บางกลุ่มมีเพียง 2-3 แผ่น มีแผ่นเดียวอยู่ 2-3 แผ่น ที่จัดกลุ่มกับใครไม่ได้เลย... ผมเลือกเอาหัวข้อที่น่าสนใจออกมา และเริ่มกล่าวระหว่างการเลือกหัวข้อ…ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ…

“ผมขอเลือกเอามาแค่บางหัวข้อนะครับ ผมจะเอามาแค่ยกตัวอย่างให้ดู”
“คุณวิบูลย์ให้ผมเลือกหัวข้อเองได้ไม๊ครับ…” เสียงของคุณชัช ดังขึ้น ทำให้ทุกคนหันไปมองคุณชัชเป็นตาเดียวกัน… แต่ดูเหมือนว่า คุณชัช พยายามที่จะทำให้ผมลำบากใจ มากกว่าจะช่วยเหลือเสียอีก…
“ได้ครับ เชิญคุณชัชมาเลือกได้เลยครับ” ผมเอาหัวข้อที่ผมเพิ่งเลือกมา 2 หัวข้อเก็บไว้ก่อน แล้ว ปล่อยให้คุณชัชเลือกในหัวข้อต่างๆออกมา…
“ครับนี่ครับ ผมคิดว่า เราน่าจะเอาหัวข้อเหล่านี้มาคุยกันครับ”

คุณชัชส่งหัวข้อที่เลือกมา 6 หัวข้อให้กับผม ดังนี้คือ
1. เงินเดือนน้อย
2. วิธีการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
3. พนักงานไม่ยอมทำงาน
4. เครื่องจักรไม่ดี
5. เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี
6. คนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

ส่วนผมนั้น เลือกมา 2 หัวข้อที่เลือกมาคือ ขาดการเรียนรู้ และ ไม่ยอมพูดคุยกัน แต่พออ่านที่คุณชัช เลือกมาให้แล้ว ผมรู้สึกได้เลยว่า หัวข้อเหล่านั้น จะเป็นหัวข้อที่หัวหน้างานในห้องนี้แต่ละคนประสบปัญหาใหญ่ๆ หนักๆ กันทั้งนั้น

“ผมขอเขียนกระดานในหัวข้อที่คุณชัชเลือกมาให้ทั้งหมด แล้วผมก็เลือกมา 2 หัวข้อแล้ว… มีใครต้องการเน้นเรื่องอะไรอีกหรือเปล่าครับ…” ผมเขียนจนเสร็จแล้วหันกลับมาดู ดูเหมือนว่า คนในห้องนั้น ก็ต้องการอยากรู้ว่า หัวข้อต่างๆนั้น เช่นกัน
“คราวนี้ ใครคิดว่า หัวข้อเหล่านี้ เราควรจะทำอะไรเพื่อให้ทั้งหมดดีขึ้น และ เราต้องทำอะไรเพื่อให้งานของเราดำเนินไปได้อย่างดี… พวกคุณคิดว่า คุณจะเลือกทำข้อใดก่อนครับ…” ผมถามเพื่อหยั่งเสียงดูว่า
“ถ้าผมเลือก ผมอยากให้ทำเรื่องเงินเดือนน้อยก่อนครับ รับรองว่างานจะดีขึ้น” คุณชัช กล่าวออกมาก่อนเลย
“ถ้าเป็นผม ผมเลือกให้แก้ไขเรื่องคนทำงานไม่มีประสิทธิภาพก่อน” คุณมิตร ฝ่ายคอมฯ เสนอมาบ้าง
“ผมว่าน่าจะเรื่อง เครื่องจักรไม่ดี ก่อนนะครับ” คุณวิษณุ ที่อยู่ฝ่ายซ่อมบำรุงเสนอความคิดเห็น
“เจนเลือกที่จะปรับปรุงพนักงานก่อนค่ะ” น้องเจนลูกเจ้าของโรงงานเสนอบ้าง
“น่าจะแก้ไขเรื่องเพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดีก่อนนะค่ะ” คุณเคนนี่ ที่มาจากฝ่ายบัญชีเสริมขึ้น
…
มีข้อเสนออีกหลายท่านที่เสนอและสนับสนุนในห้วข้อแต่ละหัวข้อ ผมก็เขียนรายชื่อคนที่สนับสนุนแต่ละหัวข้อ ไว้ด้านหลังหัวข้อเหล่านั้น ซึ่งดูเหมือนว่า ไม่มีข้อไหนเลยที่ไม่มีคนสนับสนุน

“เอาหละ ถ้าผมนับเอาจำนวนคนที่สนับสนุนมากที่สุดมาทำ พวกคุณคิดว่าอย่างไร?”
“ก็ดีครับ ประชาธิปไตยดี” คุณชัช กล่าวตอบทันที เพราะ หัวข้อเรื่องเงินเดือนนั้น เป็นหัวข้อที่มีจำนวนคนสนับสนุนมากที่สุด
“อย่างนั้นก็ดีครับ อย่างนั้น เราทั้งหมด ก็น่าจะเลือก การปรับเงินเดือน กับ คนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ มาทำก่อนตามจำนวนคนสนับสนุน… การเลือกอย่างนี้มันดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยนะครับ แต่ผมคิดว่า วิธีการประชาธิปไตย มันสามารถเบี่ยงเบนไปตามความรู้สึกได้มากกว่า เหตุผลได้นะครับ อย่างเช่นหากมีใครมีอิทธิพล จนทำให้คนอื่นๆ ทำตามความต้องการ หรือ เรียกง่ายๆว่า ฮั้วกัน หรือ เตี้ยมกัน ก็อาจจะทำให้เลือกการกระทำที่ผิดพลาดได้นะครับ” ผมมองดูปฏิกริยาของทั้งหมด ดูเหมือนว่า เขาจะไม่เข้าใจที่ผมพูดเสียเลย… “ผมขอยกตัวอย่างละกัน อย่างเช่น ถ้าให้คุณเลือกประธานกลุ่มในห้องนี้ที่มาจากหัวหน้างานแต่ละคน คุณคิดว่าใครจะเป็นประธาน แต่ขอยกเว้นคุณ เจน นะครับ ”
“คุณชัชวาล” … “คุณชัช”.. หลายๆเสียง สนับสนุนให้คุณชัช เป็นประธานกลุ่ม และ ดูเหมือนว่า คุณชัชมีอิทธิพลกับคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก
“ดูเหมือนว่าจะมีมติเอกฉันท์เลยนะครับ คราวนี้ ถ้าห้องนี้เป็นกลุ่มพนักงานทั้งหมด แล้วเกิดมีคนอยากเป็นประธานอย่างมาก โดยให้เพื่อนเขาประมาณสัก 100 กว่าคน เข้ามาในห้องนี้ แล้ว ยกมือเลือกเขา จะเกิดอะไรขึ้นครับ” ผมทิ้งช่วงเล็กน้อย “ผมคิดว่า คนๆนั้นคงชนะคะแนนเสียงได้อย่างไม่ยากเลยใช่ไม๊ครับ” คราวนี้ได้ผล ทุกคนดูเหมือนจะเข้าใจจุดอ่อนของการเลือกแบบประชาธิปไตยได้มากขึ้น…

“ผมขอใช้ วิธีการของ เหตุและผลนะครับ ซึ่งเป็นหลักง่ายๆครับว่า ถ้าคุณกระทำสิ่งหนึ่งให้ดีขึ้น สิ่งที่ทำให้ดีขึ้นนั้น อาจจะทำให้อีกหลายๆสิ่ง ดีขึ้นตาม ไม่มาก ก็น้อย ผมหมายถึง ถ้าคุณแก้ไขปัญหาที่ค้นเหตุ ก็จะทำให้ผลเสียต่างๆที่เกิดจากเหตุนั้นๆ จะน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น หากเราปรับปรุงเรื่องเงินเดือนอย่างที่ขอ พนักงานก็จะมีความพึงพอใจ หรือ เราอาจจะมีพนักงานที่เก่งๆมากยิ่งขึ้น แต่เรื่องการปรับเงินเดือน ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับ วิธีการทำงานเลย”

“เข้าใจครับเรื่องนี้ แต่คุณจะเอามาใช้กับเรื่องเหล่านี้ยังไง ผมยังมองไม่ออกเลย” คุณชัช ดูเหมือนว่า วันนี้ จะเข้าประชุมมาโต้แย้งกับผม หรือว่า เขาต้องการที่จะรู้เรื่องต่างๆ จริงๆ ก็ไม่ทราบได้ แต่ความรู้สึกของผมดูเหมือนว่า คุณชัชจะพยายามอวดตัวว่าตัวเองเก่งเสียทุกอย่าง และ อยากจะลองภูมิผมเสียมากกว่า

“อย่างนั้น เรามาลองดูว่า แต่ละเรื่องมันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกัน หรือว่า ไม่เกี่ยวข้องกันดีไม๊ครับ” ผมก็เริ่มหาความคิดเห็นร่วมกับ 8 หัวข้อ “คุณคิดว่า การขึ้นเงินเดือนนั้น จะทำให้ วิธีการทำงานดีขึ้น หรือว่าไม่เกี่ยวข้องครับ…”

“ไม่เกี่ยวข้องกันเลย…” คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณวิษณุ
“ผมเห็นด้วยครับ มันไม่เกี่ยวข้องกัน คราวนี้ ใครคิดว่าการขึ้นเงินเดือน จะทำให้พนักงานทำงานมากขึ้น หรือว่า พนักงานทำงานมากขึ้นจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้น หรือว่า ไม่เกี่ยวข้องกันครับ”
“เจนว่า ขึ้นเงินเดือนน่าจะทำให้พนักงานทำงานได้มากขึ้นนะค่ะ”
“แต่ถ้าคนที่เราขึ้นเงินเดือนให้เขาคิดว่า เขาทำเงินให้บริษัทฯ มากกว่าเงินที่เขาได้รับหละ...?” ผมแย้งเจนเล็กน้อย...
“อืม มันขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนด้วยนะค่ะ...”
“แต่พี่คิดว่า การที่พนักงานทำงานได้มากขึ้น หรือ ทำงานดีขึ้น ก็สมควรที่จะได้เงินมากขึ้นครับ อย่างเช่น ทำงาน OT อะไรทำนองนี้นะครับ... คนอื่นคิดเหมือนผมไม๊ครับ...”
“ก็จริงค่ะ”… “ผมเห็นด้วยครับ” หลายคนเริ่มเห็นด้วย
“อย่างนั้น ผมจะให้คะแนนทางด้านฝั่งซ้ายที่เป็นเหตุ ของพนักงานทำงานมากขึ้น และ ให้คะแนนฝั่งขวาที่เป็นผล ให้กับ เงินเดือน นะครับ.. คราวนี้ต่อนะครับ…”

ผมไล่หาว่า แต่ละหัวข้อ ข้อใดเป็นเหตุ และข้อใดเป็นผล โดยข้อใดเป็นเหตุ ก็จะให้คะแนนทางด้านฝั่งซ้าย เพิ่มขึ้นหนึ่งขีด และ ให้กับข้อที่เป็นผลทางด้านฝั่งขวาของหัวข้อหนึ่งขีดเช่นกัน และเมื่อจบหัวข้อแรก ผมก็เริ่มไล้หัวข้อถัดไปตามลำดับ โดยจับให้หาว่า แต่ละเรื่อง เรื่องใดเป็นเหตุและ เรื่องใดเป็นผล.. ซึ่งผลของการสรุปนั้น....

(อ่านต่อฉบับหน้า...)

สรุปหลักการและเหตุผล...
  • การจัดกลุ่มที่ดี ควรจะจัดให้มีกลุ่มน้อยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะจะทำให้เราเข้าใจประเด็นหลักมากยิ่งขึ้น

  • คนเรามักจะมองแต่ปัญหาที่ตนเองกำลังเจออยู่เสมอ ดังนั้น การเลือกหัวข้อประเด็นต่างๆ จึงมักจะเลือกจากจิตใต้สำนึก ทำให้รู้ว่า เขากำลังประสบปัญหาอะไร

  • การทำงานในหน้าที่ต่างๆนั้น จะมีจิตใต้สำนึกเกี่ยวกับงาน หรือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานอยู่เสมอ ดังนั้น การสนับสนุนว่า หัวข้อใดควรจะแก้ไขหรือไม่นั้น มักจะพบว่า จะสนับสนุนในส่วนของงานที่เกี่ยวข้องกับตนเองเสมอ

  • ผู้ที่มีอิทธิพลเหนือคนอื่น มักจะได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำเสมอ

  • การกระทำหนึ่งอย่าง อาจจะทำให้เกิดผลหลายอย่าง... การที่เรากำลังมองผลที่เกิดขึ้นนี้ บางทีอาจจะเกิดจากการกระทำจากเหตุหลายๆอย่าง

  • พนักงานทุกคน ต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:02:36 น.
Counter : 1208 Pageviews.  

สร้างพายุสมอง ลูกที่ 1

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



เมื่อผ่านการต้อนรับน้องใหม่ อย่างอบอุ่นของ คุณชัชวาล และ คุณวิษณุ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมต้องกลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรในสัปดาห์นี้ดี การขัดแย้งโดยที่ผมยังไม่เริ่มงานอย่างนี้ อาจจะเป็นชนวนระเบิดขนาดใหญ่ก็ได้ ผมได้แต่เอาเอกสารทั้งหมดกลับบ้าน และนั่งทบทวนอยู่ทั้งสัปดาห์

“สวัสดีครับ คุณพ่อ” ผมยกมือไหว้ตามปกติกับคุณพ่อเจน
“ซาหวัดดี คุงวิบุง เปงไง หวายม๊าย... ”ผมมองหน้า พ่อเจน แบบ งงๆ
“ไหวครับ ทำไมหรือครับ”
“อาเจ็งอีเล่าให้อั๊วฟังแล้ว อั๊วเรียกปาชุมไปเมื่อวานนี้ บอกห้ายทุกคนล่วมมือกับคุงวิบุง”
“ขอบคุณมากครับ คุณพ่อช่วยผมได้เยอะมากเลยครับ”
“ม่ายเปนไร อาเจ็งเขาบอกให้อั๊วทำนะ” ท่าทางพ่อเจนจะชื่นชมกับคำแนะนำของลูกสาวมากๆ
“ครับ เจนเขาเก่งครับ...” ผมมองเห็นแววตาของคุณพ่อเจน เหมือนกับตอนที่ผมเคยเห็นตอนที่พ่อเจนชื่นชมลูกสาวให้ผมฟังตอนเข้ามาที่โรงงานครั้งแรก “แล้ว คุณพ่อจะเข้าประชุมด้วยหรือเปล่าครับ”
“ไม่ข้าวหรอกคุณวิบุง ให้อาเจ็งเข้าไปช่วยแล้วนะ”
“ครับๆ ได้ครับ ขอตัวไปทำงานก่อนนะครับ”

ผมเข้าไปเดินเล่นโรงงาน มองดูโน่นนี่ไปเรื่อยๆ องค์ประกอบของโรงงานดูสะอาดเรียบร้อยกว่าครั้งแรกที่ผมเข้ามาในโรงงานนี้มาก ผมยังเหลือเวลาอีก 10 นาทีก่อนเข้าห้องประชุมกับเจน เพื่อวางแผนการปรับปรุง เดินเล่นปล่อยความคิดให้ไปตามเสียงของเครื่องจักรที่กำลังทำงานอยู่... แล้วผมก็ได้ยินเสียงทักทายคุ้นๆ ปนมากับเสียงเครื่องจักรที่กลบเสียงทักทายเกือบหมด...

“สวัสดีครับ คุณวิบูลย์ มาจับผิดผมแต่เช้าเลยนะครับ...” ผมหันไปตามเสียงที่ทักทายแบบประชดประชันมา... คุณชัชวาล นั่นเอง
“สวัสดีครับ คุณชัช ทักอย่างนี้เหมือนกับว่า คุณชัชกำลังทำอะไรผิดหรือเปล่าครับ...” ผมไม่ชอบคำทักทายลักษณะนี้เลย ดูมันเหมือนว่า ผู้พูดจงใจประชดประชัน ซึ่งคิดว่า คุณชัชคงกำลังสื่อให้ผมทราบว่า เขาไม่ต้องการให้ผมมายุ่งย่ามในโรงงานที่เขาคุมอยู่
“คุณวิบูลย์ ก็จับผิดผมให้ได้ซิครับจะได้รู้ว่าผมทำผิดอะไร...”
“ฮ่า ๆ ๆ ผมไม่มีหน้าที่มาจับผิดใครครับ ผมแค่มาช่วยงานเจนเท่านั้นครับ... คุณชัชอย่าเข้าใจผมผิดนะครับ” ผมเห็นสีหน้าของคุณชัชแล้ว เหมือนจะไม่ยอมรับการมาของผม มากกว่าสัปดาห์ที่แล้วเสียอีก… “เราไปเข้าห้องประชุมพร้อมกันเลยดีไม๊ครับ...”
“ผมขอเครียร์งานก่อนครับ เดี๋ยวค่อยตามไป” คุณชัชพูดจบก็เดินแซงหน้าผมไปยังกลุ่มคนงาน ในที่โล่งของโรงงาน...

ผมยืนมองดูคุณชัชที่กำลังพูดกับกลุ่มคนในที่โล่งของโรงงาน แต่ตอนนี้มีแต่คนงานเต็มไปหมด กำลังอ่านปากของคุณชัชว่าพูดอะไรบ้าง...

“พี่จุง... สวัสดีค่ะ มานานแล้วหรือค่ะ...” เสียงแจ่วๆ มาทางด้านหลัง ไม่หันก็รู้ว่าเป็นเจน...
“เพิ่งมาจ๊ะ...” ผมหันหลังกลับมารับไห้ว... “เจน... คุณชัชประชุมลูกน้องอย่างนี้ทุกเช้าเลยหรือ...”
“ไม่หรอกค่ะ จะประชุมอย่างนี้ก็ตอนมีเรื่องแจ้งให้ทราบ เท่านั้น...” ผมคิดว่าการทำเช่นนี้ก็เหมือนกับการสื่อสารให้ทุกคนทราบโดยทั่วไปแต่ทำไมคุณชัชต้องชี้มือมาทางผมด้วย... ทำให้ผมสงสัย...
“เมื่อวานพ่อเจนคุยอะไรกับพวกเขาหรือ...?” ผมเริ่มอยากรู้ว่า เมื่อวานคุยเรื่องอะไรกัน ทำไมถึงมีการประชุมพนักงานในวันนี้
“เจนเล่าเรื่องทั้งหมดให้ป๊าฟัง แล้วแกก็เลยเรียกประชุมหัวหน้างานทั้งหมด มาต่อว่า แล้วบอกให้ความร่วมมือกับพี่จุงค่ะ”
“ต่อว่าใคร...” ผมอยากได้ยินจากปากของเจนว่า พ่อเจนต่อว่าใครในที่ประชุม...
“คุณชัชไงค่ะ” ผมไม่อยากให้พ่อเจนต่อว่าคุณชัชเลย เพราะจะเป็นการสร้างกำแพงทางความคิดระหว่างผมกับคุณชัช “ก็เรื่องที่เราได้ยินที่คุณวิษณุบอกว่าคุณชัชให้เขาแกล้งพี่จุง นะค่ะ”
“กรรม...” ผมส่ายหัวบ่นนิดๆ รู้สึกกังวลกับวันนี้ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร ในเมื่อ พ่อเจนได้ปิดประตูมิตรภาพระหว่างผมกับคุณชัช และ อาจจะสร้างกำแพงขนาดยักษ์ระหว่างผมกับพนักงานโรงงานทั้งหมดก็ได้... “เฮ้อ... วันนี้ท่าทางเหนื่อย...”
“ทำไมหรือค่ะ เจนไม่ได้ให้พี่ไปขนของสักหน่อยจะได้เหนื่อยๆ” เจนชวนคุยเล่น แต่ผมไม่มีอารมณ์จะต่อล้อต่อเถียงแล้ว
“พี่คิดว่า การประชุมเมื่อวานจะส่งผลกับการทำงานต่อๆไปของพี่นะ… ถึงห้องประชุมแล้ว เจนจะเข้าประชุมเลยหรือเปล่า...”
“ขอเวลาเจนไปเอาสมุดก่อน เดี๋ยวมา...”
“เจน เอากระดาษเปล่าให้พี่หน่อยนึง ขอสก๊อตเทป และก็ปากกาหลายแท่งหน่อยนะ”

เจนรับปาก แล้วผมก็เปิดเข้าห้องประชุม ชงกาแฟ แล้วมานั่งหน้าห้องประชุม... หัวหน้างานระดับสูงที่นัดกันในช่วงเช้า เริ่มทะยอยเข้ามาแล้ว ซึ่งคุณชัชวาลก็เข้าประชุมด้วย เจนเอากระดาษมาให้ผมปึกใหญ่ พร้อมปากกาสีสะท้อนแสงหลากสีตามประสาวัยรุ่น อีก 1 ซอง ระหว่างรอการประชุม ผมก็เอากระดาษ A4 ที่เจนเอามาให้ พับและฉีกออกเป็น 4 ส่วนเล็กๆ

“สวัสดีค่ะ ทุกคน วันนี้ที่เจนขอนัดประชุม ก็เพื่อจะแนะนำที่ปรึกษาของเราอย่างเป็นทางการนะค่ะ พี่จุง หรือ คุณวิบูลย์ จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางด้านการบริหารและการผลิตของเรานะค่ะ” เสียงตบมือต้อนรับอย่างอบอุ่น จากนั้น เจนก็แนะนำแต่ละคนให้รู้จัก บางคนอายุมากกว่าผมมากๆ บางคนก็อายุพอๆกับผม ผมคิดว่ามีไม่กี่คนที่อายุน้อยกว่า แล้วเจนก็โอนการประชุมในห้องนี้ให้ผม
…
“สวัสดีครับ ก่อนอื่น ผมไม่อยากให้คุณคิดว่าผมเป็นที่ปรึกษา ผมขอเป็นเพียงเพื่อนร่วมงาน ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือทุกท่านให้มีผลงาน… วันนี้จริงๆแล้วผมนัดประชุมเพื่อทำความรู้จักกับทุกๆท่าน ทุกๆส่วน แต่ผมคิดว่า ผมขอทำความเข้าใจกับทุกท่านก่อนดีกว่าว่า ผมจะมาทำอะไรบ้าง...”

ผมอธิบายในสิ่งที่ผมจะทำในภาพรวม สีหน้าของคนในห้องมีทั้งคนเข้าใจและไม่เข้าใจ ซึ่งไม่รวมถึงสีหน้าเฉยเมยของคุณชัชวาล

“ผมขอเวลาช่วงเช้าอย่างนี้ มาคิดอะไรกันเล็กๆนะครับ”
ผมหันหลังกลับไปยังกระดานแล้วเขียนว่า “ถ้าโรงงานกำลังจะเจ๊ง... คุณจะช่วยเหลือโรงงานฯ ได้อย่างไร...?” มีเสียงคุยกันค่อนข้างดังตั้งแต่ผมเริ่มเขียน...
“เอาละครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องสมมติที่ผมอยากให้พวกคุณคิดว่าเป็นเรื่องจริง และช่วยกันคิดว่าจะช่วยเหลือโรงงานกันได้อย่างไรนะครับ ผมจะแจกกระดาษเปล่าให้ แล้วให้เขียนคำแนะนำของคุณ แผ่นละคำแนะนำนะครับ อย่างเช่น ให้พนักงานขายขายให้มากขึ้น... คุณก็เขียนคำแนะนำนี้ลงในกระดาษแผ่นนี้นะครับ... ผมขอคนละ 10 คำแนะนำเป็นอย่างน้อย ให้เวลา 10 นาที อย่าลอกกัน หรือ อย่าปรึกษากันนะครับ มีคำถามอะไรไหมครับ... ?” ผมคาดไว้แล้วว่าคงไม่มีคำตอบใดๆ

ผมเดินไปรอบๆในห้องประชุม เพื่อสังเกตพฤติกรรม และ ให้คำแนะนำบ้างเล็กน้อย เวลาผ่านไป เกือบ 10 นาทีแล้ว มีคนเสร็จประมาณ 2-3 คน ก็เลยปล่อยให้พวกเขาเสร็จก่อน ใช้เวลาไปเกือบ 15 นาที

“เอาละครับ คราวนี้ ผมมีสก๊อตเทป อยู่นี่นะครับ ขอให้ทุกคนมาเอาสก๊อตเทป ติดที่ด้านบน แล้วเอาไปติดที่ ไวท์บอร์ดนะครับ จัดกลุ่มความคิดเห็นที่เหมือนกัน ให้อยู่ใกล้กัน เชิญออกมาเลยครับ”

ไม่มีใครจะขยับเลย เจนเลยมาทำคนแรก และก็มีคนเริ่มทะยอยกันมาทำเป็นกลุ่ม คราวนี้ทั้งห้องก็มาออกันหน้าห้องเพื่ออ่านของเพื่อนๆ และ จัดกลุ่มกันออกมา เสียเวลาไปอีก เกือบ 15 นาที แต่ก็ทำให้ทุกคนดูเหมือนผ่อนคลายมากขึ้นกับการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้... และ ผมก็เข้าไปร่วมคุย ร่วมขีดวงกลมล้อมรอบแต่ละหัวข้อแล้วเขียนชื่อหัวข้อเหล่านั้นขึ้นมา ทำให้มันง่ายขึ้น ความวุ่นวายก็เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น เจนกับผมช่วยกันจัดกลุ่มให้กระชับมากขึ้นอีกเล็กน้อย...

“เอาละครับ จากความคิดเห็นของทุกๆคน จะมีเรื่องเหล่านี้นะครับ ที่เราจะแก้ไขกัน ....” ผมอ่าน และ เขียนแต่หัวข้อในกระดานอีกด้านหนึ่ง ได้เกือบ 20 หัวข้อ ซึ่งรายละเอียดของแต่ละหัวข้อมีอีกหลากหลาย...
“เอาหละ ใครคิดว่า หัวข้อใดควรทำก่อน หัวข้อใดควรทำทีหลังบ้างครับ....” คำถามนี้ได้ผล หลังจากที่ทุกคนได้มีกิจกรรมร่วมกันบ้างทำให้มีการออกความคิดเห็นมากขึ้น ต่างคนต่างบอกว่าสิ่งนั้นควรทำก่อน สิ่งนี้ควรทำทีหลัง จนผมจับต้นชนปลายไม่ถูก...
“เอาอย่างนี้นะครับ ผมจะบอกวิธีการดูความสำคัญของแต่ละหัวข้อให้ว่า แต่ละหัวข้อนั้น ข้อใดควรจะทำอะไรก่อน ข้อมูลใดควรทำทีหลัง และ อะไรที่ต้องทำ และ อะไรที่ควรทำ…”

(อ่านต่อฉบับหน้า...)

สรุปหลักการและเหตุผล...

  • การที่เจ้าของกิจการต่อว่าลูกน้อง โดยเชื่อมั่นที่ปรึกษาว่าถูกต้องนั้น จะทำให้ลูกน้องเกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจ จากการที่เจ้าของกิจการไม่ให้ความเชื่อมั่นคนทำงานโดยตรง กลับไปเชื่อใจคนข้างนอกที่ไม่รู้เรื่องงานโดยละเอียด

  • ทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญ หากมีทัศนคติที่ไม่ดีแล้ว การร่วมมือกัน หรือ ทำงานร่วมกันจะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก อันเนื่องจากมีกำแพงทางด้านจิตใจมาเกี่ยวข้อง

  • การให้เขียนวิธีการแก้ปัญหา โดยต่างคนต่างเขียนนั้น เป็นการรวบรวมแนวความคิดให้แตกแขนงออกไป ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้คนที่อยู่ในที่ประชุม ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งจะได้ความคิดเห็นที่แตกต่างตามประสบการณ์ที่ผ่านมา และอาจมีวิธีการแก้ปัญหาที่อาจจะแตกต่างก็ได้ ทำให้ได้แนวความคิดใหม่ๆเพิ่มอยู่บ่อยๆ

  • การให้ทีมงานมาติดกระดาษที่เขียนเพื่อจัดรวมกลุ่มเอง ทำให้ทีมงานได้อ่านความคิดเห็นของบุคคลอื่น ซึ่งจะทำให้พวกเขามีแนวคิด หรือ มุมมองต่างๆ ที่แตกกันออกไป เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยครั้งเข้า จะทำให้ทีมงานมองเรื่องต่างๆ ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น และ เข้าใจปัญหาในขณะรวบรวมความคิดได้มากยิ่งขึ้น

  • การทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีเหตุการณ์หนึ่งใด ที่จำเป็นต้องทำร่วมกัน จะทำให้เกิดการละลายพฤติกรรม หรือ ลดกำแพงทางจิตใจลง ทำให้เกิดความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆที่จะตามมาได้มากขึ้น


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:02:59 น.
Counter : 1292 Pageviews.  

ปล่อยให้...ตกนรกในใจ...(จากการกระทำของเขาเอง)

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



ผมกับเจนเดินจากคุณชัชมา... แล้วเราก็ได้ยินเสียงของคุณวิษณุ กำลังคุยกับเพื่อนๆ...

“คุณชัชให้กูแกล้งไอ้หน้าจืด... สนุกดีหวะ... แกล้งมันจนหน้ามันจืดสมชื่อเลยหวะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า...”

ผมกับเจนมองหน้ากัน สีหน้าเจนดูไม่ค่อยดี ผมว่า สีหน้าผมก็ดูไม่ค่อยดีเหมือนกับเจนแหละ... แล้วเสียงที่ลอดออกมาก็ดังขึ้น และ ดูเหมือนว่า ผู้พูดกำลังสนุกกับการเล่าให้เพื่อนๆฟังอย่างมาก เจนกำลังจะเดินเข้าไปยังห้องต้นเสียง แต่ผมจับแขนเจนห้ามไว้...

“เจน... ให้พี่จัดการเอง... เราแค่สนับสนุนพี่ก็พอ...”

เจนขยับศรีษะเป็นการยอมรับเบาๆ แล้ว ผมก็พาเจนเดินต่อไปในห้องที่เขากำลังคุยกัน... และ แล้วความเงียบก็เข้ามาในห้องแทนที่เสียงเฮฮาเมื่อครู่...

“คุณวิษณุ... กำลังคุยอะไรกันครับ...”

ผมทิ้งเสียงไว้สักครู่ มีแต่ความเงียบสงัด...

“อ้อ เมื่อกี้ผมลืมถามคุณไปว่า ในแผนกผลิต มี หัวหน้างานทั้งหมดกี่ท่านครับ...”
“สิบกว่าคน...” เสียงตอบห้วนๆมาอีกแล้ว
“เจน... รู้ตัวเลขที่แน่นอนไม๊...”
“สิบสองคนค่ะ ทำไมหรือค่ะพี่จุง...”
“อย่างนั้นคุณวิษณุ ช่วยผมไปเชิญทุกท่านเข้าประชุมที่ห้องประชุมตอนบ่าย 4 โมงเย็น ด้วยนะครับ แล้วผมกับเจนจะไปแจ้งคุณชัชให้ ช่วยจัดการให้ด้วยนะครับ”

ผมจับมือเจนเบาๆ เหมือนเจนจะรู้ว่า ผมขอให้ช่วยอะไร...
“คุณวิษณุ ช่วยทำตามที่พี่จุงสั่งด้วยนะค่ะ นี่อีก ครึ่งชั่วโมงเอง... ช่วยหน่อยนะค่ะ...”

ผมกับเจนเดินกลับมาที่คุณชัชวาล อีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ ก็ยังคงคุยกับเลขาฯ คนสวยยังไม่ได้เข้าไปในโรงงาน

“เจน... พี่อยากให้เอาตัวคุณชัชเข้าห้องประชุมตอนนี้พร้อมเราเลย...”
“ได้ค่ะ เจนจัดการให้...”

ผมเหลียวหลังกลับไปดูมุมที่ผมไปคุยกับคุณวิษณุมา มีคนหลายคนอยู่ในจุดนั้น กำลังคุยกับคุณวิษณุที่กำลังมองมาทางคุณชัชวาล

“คุณชัชครับ ขอโทษฯ ด้วยนะครับ คือ ผมลืมไปว่าอยากจะขอข้อมูลจากคุณชัช ก่อนที่ผมจะกลับไปทำการบ้านใหม่นะครับ ไม่ทราบว่าพอจะเข้าประชุมกับพวกเราก่อนได้ไม๊ค่ะ”
“ผมติดงานในโรงงานครับ...”
“คุณชัชค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นงานด่วนที่ต้องทำตอนนี้เลยหรือค่ะ งานอะไรค่ะ เผื่อเจนจะช่วยเหลือได้บ้าง”
“เออ.. ไม่เป็นไรครับ หลังเลิกประชุมผมค่อยทำก็ได้ครับ”
“อย่างนั้น เราไปห้องประชุมด้วยกันเลยนะครับ... เชิญครับ...”

ผมตัดบท แล้ว เชิญคุณชัชเข้าห้องประชุมพร้อมกัน...

“คุณชัช ทำงานที่นี่นานหรือยังครับ...”
“ผมทำมาเกือบสิบปีแล้วครับ”
“โอ้โห... ทำงานมานานมากเลยนะครับ... สิบปีน่าจะรู้เรื่องทั้งหมดของบริษัทฯ เป็นอย่างดีเลยนะครับ”
“ผมอยู่ตั้งแต่บริษัทฯมีเครื่องแค่ตัวเดียวครับ พนักงานมีไม่กี่สิบคนเอง”
“นี่นับได้ว่า เป็นผู้เริ่มก่อตั้งโรงงานคนหนึ่งเลยนะครับ”
“ไม่ถึงขนาดนั้นครับ ผมก็ทำงานในหน้าที่ ที่รับมอบหมายให้เท่านั้น”
“ถึงพอดี... ผมขอคุยเรื่องโครงสร้างของแผนกคร่าวๆ ผมจะได้เอาไปทำการบ้านในช่วงสัปดาห์หน้าครับ”
“ครับ อย่างนั้นผมเล่าให้ฟังคร่าวๆก่อนนะครับ...”

คุณชัช เล่าโครงสร้างของโรงงานให้ผมฟัง แต่ต้องถามบ่อยๆ เพราะดูเหมือนว่า จะเก็บข้อมูลหลายๆอย่างเอาไว้ไม่ให้ผมรู้ ต้องคอยถามบ่อยๆ ไม่อย่างนั้น คงได้ข้อมูลไม่ครบ... รวมทั้งถามถึง ลักษณะนิสัยของหัวหน้างานที่รองลงไปจากคุณชัชแต่ละคน...

“คุณชัชค่ะ เมื่อกี้เจนขอให้คุณวิษณุ ช่วยเรียกหัวหน้างานทั้ง 12 คนเข้ามาประชุมกับเราต่อเลยนะค่ะ จะได้ไม่เสียเวลา”
“ครับ ได้ครับ นี่ก็ใกล้จะเลิกงานแล้ว พวกเขาน่าจะว่างกัน” คุณชัชตอบอย่างเกรงใจเจน...
“วันนี้ผมได้ข้อมูลแผนกค่อนข้างมากเลยครับขอบคุณ คุณชัชมากนะครับ”
“เจนก็รู้ในสิ่งที่เจนไม่รู้เหมือนกันค่ะ”
“ไม่เป็นไรครับ ยินดีครับ”
“ก๊อก... ก๊อก... ก๊อก...” เสียงเคาะประตูห้องประชุมดังขึ้น... แล้ว ทีมงานของชัชก็เดินเข้ามาในห้องประชุมเข้ามา ผมลุกขึ้น...
“เชิญครับเชิญ... ขอโทษที่เรียกประชุมด่วนนะครับ...”
“เจนขอแนะนำก่อนนะค่ะ นี่พี่จุงเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานค่ะ คุณชัช ช่วยแนะนำทีมงานให้หน่อยนะค่ะ”
“คุณวิษณุ คุณจุงได้พบแล้วนะครับ อยู่ฝ่ายซ่อมบำรุง ส่วนคุณ....... ”

คุณชัชสาธยายชื่อสมาชิกแต่ละท่าน ผมก็ได้จดชื่อแต่ละท่าน และ หน้าที่ของแต่ละคน ทำให้ผมเข้าใจในระบบงานโดยคร่าวๆ

“ขอบคุณมากครับคุณชัช ผมขอใช้กระดานนะครับ...”

ผมเขียนผังที่ได้จากการแนะนำของคุณชัช คร่าวๆ เพื่อสรุปว่าผมเข้าใจการทำงานของโรงงานได้มากน้อยเท่าไหร่ ระหว่างเขียนผมก็อ่านชื่อแผนก และ ชื่อผู้ดูแลดังๆ และ เขียนไปในผัง... แต่ละคนก็พยายามดูว่าผมกำลังเขียนอะไร ทำไมถึงมีชื่อของเขา

“คุณชัช ไม่ทราบว่าผมเข้าใจระบบงานได้ถูกต้องหรือเปล่าครับ...”
“ครับ...”
“ไม่ทราบว่ามีอะไรจะเพิ่มเติมหรือเปล่าครับ...”
“ไม่มีครับ ครบถ้วนดีครับ”
“อย่างนั้น ผมขอเวลาทุกท่าน 10 นาที เพื่อจะอธิบาย หน้าที่ของผมบ้างนะครับ...” ผมทิ้งช่วงเวลานิดหน่อยก่อนจะอธิบายต่อไป...
“ผมเข้ามาทำงานที่นี่ ก็เป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งเหมือนพวกคุณครับ อย่าได้มองว่าผมจะมาวางอำนาจเป็นเจ้านายอีกคน หรือ ยุ่งย่ามกับคุณมากมายนะครับ ซึ่งผมก็เข้าใจครับว่า สิ่งที่ผมจะทำนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโรงงานนี้ ซึ่งอาจจะทำให้ทุกคนกลัว หรือ หวาดระแวงว่าผมจะมาจับผิดพวกคุณ หรือ จะมาเอาพวกคุณออก แต่ความเป็นจริงแล้ว ผมเข้ามาเพื่อช่วยเหลือพวกคุณให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข สนุกกับงานและช่วยพวกคุณสร้างผลงานให้ดีขึ้น ผมขอบอกไว้ ณ ที่นี้เลยว่า ผมเข้ามาเพื่อทำงานร่วมกับพวกคุณ ช่วยเหลือพวกคุณให้ทำงานได้ดีขึ้น ขออย่าได้มองผมผิดนะครับ... มีใครมีอะไรสงสัยหรือเปล่าครับว่า ผมจะช่วยการทำงานของพวกคุณได้อย่างไร...?”

ผมทิ้งคำถามให้เขาถามกลับ แต่แล้ว ก็ไม่มีใครถามสักคน ทั้งๆที่หน้าตาบางคน ยังดูเหมือนสงสัยในสิ่งที่ผมถาม.. คนไทยมักไม่ชอบถาม ขนาดแนะคำถามให้แล้วยังไม่ถามเลย...

“ไม่มีคนถาม ผมขออธิบายอีกนิดนะครับ ผมมีหน้าที่มาช่วยเหลือการทำงานของพวกคุณ เหมือนกับเป็นอีกตาหนึ่งของเจ้าสัว ว่าพวกคุณทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า ลูกน้องของคุณได้พักผ่อนกันมากน้อยเพียงใด อุปกรณ์อะไรบ้างที่ควรจะเปลี่ยนหรือปรับปรุง เพื่อทำให้คุณทำงานได้อย่างเต็มที่ ทีมงานของพวกคุณต้องการคนเพิ่มหรือไม่อย่างไร ทำนองนี้ ซึ่งสิ่งที่ผมจะทำต่อไปอาจจะแปลกๆในสายตาคุณ แต่ขอให้พวกคุณเข้าใจเลยว่า ผมมาเพื่อสร้างสรร ไม่ใช่ทำลายนะครับ... มีใครสงสัยอะไรอย่างอื่นอีกไม๊ครับ... ถ้าไม่มีคนสงสัย ผมจะขอถามนะครับ…”

ทุกคนยังคงนิ่ง... ผมก็เลยสอบถามแต่ละแผนกว่า พวกเขาทำหน้าที่อะไร อย่างละเอียด ผมสังเกตุว่า หัวหน้างานท่านอื่นๆ ก็สนใจฟังเหมือนกัน เหมือนกับว่าพวกเขาไม่เคยรู้เลยว่า ในลึกๆแล้วส่วนอื่นๆทำหน้าที่อะไรบ้าง วันนั้นทั้งผมและคนในห้องก็รับรู้โครงสร้างโดยรวมของโรงงานพร้อมกัน ทุกคนมีสีหน้าดีขึ้นถ้านับจากเริ่มก้าวเข้ามาห้องประชุม มีเพียงคุณวิษณุ ที่ท่าทางไม่ค่อยดี ดูเหมือนเป็นกังวลอยู่ตลอดเวลา ถ้าผมเดาไม่ผิด เขากำลังตกนรกในใจที่เกิดจากคำพูดของเขา หลังจากประชุมกับผมในครั้งแรก...

“สัปดาห์หน้าผมขอนัดประชุมทุกท่าน เวลาประมาณ บ่าย 4 โมงเย็นนะครับ...”

สรุปหลักการและเหตุผล...
  • การที่ผมสอบถามข้อมูลจากหัวหน้างาน เพื่อจะได้บทสรุปต่างๆ ทำให้ผมสามารถมองเห็นภาพรวมได้อย่างรวดเร็ว

  • การที่คุณวิษณุ เอาผมไปคุยกับโว กับเพื่อนๆ อวดตัวว่า คุณชัชวาล หนุนหลัง ผมเลยสั่งให้เขาไปเชิญหัวหน้างาน และ เรียกคุณชัชวาลเข้าห้องประชุมในเวลานั้นเลย เป็นการแสดงให้เขารู้ว่า คุณชัชวาลก็ยังต้องเกรงใจผมกับเจน เป็นการตัดไม้ข่มนาม และ เป็นการลดความแรงของคำพูดของคุณวิษณุที่คุยกับเพื่อนๆลงไป

  • การที่ผมต้องขอร้องให้เจนอยู่ด้วย ก็เพื่อเป็นการขอยืมบารมี เพราะการที่ผมเข้าไปใหม่ แล้ว ต้องการนั่นนี่ หรือ สอบถามพนักงาน ทำให้บางคนเกิดการต่อต้านได้ ซึ่งผมไม่ต้องการเช่นนั้น การใช้บารมีของเจ้าของกิจการ นั้น จะทำให้ทุกคนผ่อนน้ำหนักจากคำสั่งของผม มาเป็นคำสั่งของเจ้าของกิจการแทน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับผมน้อยลง

  • การที่ผมเข้าไปเรียกให้คุณชัชวาล เข้าประชุมกับผมก่อน ก็เพื่อจะตัดช่วงการสื่อสารแบบผิดๆ ระหว่างคุณชัชวาลกับเหล่าลูกน้องของเขา อันเนื่องจาก คุณชัชวาลเอง ยังไม่เข้าใจบทบาทของที่ปรึกษาอย่างแท้จริง

  • การที่ให้เจนเป็นคนบอกคุณชัชวาลว่า เชิญลูกน้องของคุณชัชวาลเข้าร่วมประชุม เพื่อจะได้ลดแรงปะทะ และ การคิดไม่ดีกับผม

  • การที่ผมเขียนแผนภาพให้กับทุกคนได้เห็น และ ขอคำยืนยัน เพื่อเป็นการทบทวนความเข้าใจของผม และ เป็นการบอกให้ทีมงานทราบว่า ผมรับทราบภาพรวมได้มากแค่ไหน เพื่อตัดบทไม่ให้พวกเขาเกิดการตั้งแง่ว่า ผมรู้หรือไม่รู้มากเพียงใดในโรงงาน จะได้ไม่มีการลองภูมิกันภายหลัง

  • การพูดถึงสิ่งที่ผมจะทำนั้น ผมกล่าวถึงผลลัพท์สุดท้ายที่พวกเขาจะได้รับ เพราะ คนที่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ว่า เขาจะได้อะไรจากที่ปรึกษา บางคนจะตั้งแง่ไม่ให้ความร่วมมือ ผมจึงต้องอธิบายสิ่งที่พวกเขาจะได้รับก่อน เพื่อให้เขาได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

  • การที่ผมถามโครงสร้างการทำงานทั้ง คุณชัชวาล และ หัวหน้างาน ก็เพื่อเป็นการหาข้อมูลเพิ่มเติม และ ยืนยันข้อมูลว่า สิ่งที่ผมได้รับมานั้นถูกต้อง อีกทั้งเป็นการตอกย้ำให้ผมจำส่วนงานต่างๆได้ดียิ่งขึ้น....

  • การที่ผมไม่ต่อว่าคุณวิษณุ ที่ไปคุยทำให้ผมเสียหาย เพราะ การต่อว่าจะไม่ทำอะไรให้มันดีขึ้นเลย การให้อภัยกับสิ่งที่ไม่รู้ของผู้อื่น เป็นการซื้อใจที่ดีที่สุด และ ผมก็ได้ใจของคุณวิษณุมาตั้งแต่วันนั้น...


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)




 

Create Date : 24 เมษายน 2550    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:05:27 น.
Counter : 1937 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.