Group Blog
 
All Blogs
 
ประวัติกองทัพอากาศไทย

การแสดงการบินครั้งแรก
ที่สนามม้าสระปทุม

เสนาธิการทหารบก
ทรงร่วมทดลองบิน
นายทหาร ๓ นาย ที่ไปศึกษา
วิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส
หนังสือรับรองผลการศึกษา
วิชาการบิน

ครูและศิษย์การบินร่วมรุ่น

เครื่องบินนิเออปอรต์

เครื่องบินเบรเกต์

กองบินทหารบก

กรมอากาศยาน
ดอนเมือง พ.ศ.๒๔๕๗

ร.๖ เสด็จ ฯ สนามบินดอนเมือง

การบินไปสนามบินดอนเมือง
บุพการีทหารอากาศ
เครื่องแบบ พ.ศ.๒๔๕๗


การเปลี่ยนเครื่องแบบ
จากสีเขียว เป็นสีเทา
เปลี่ยนเครื่องหมายยศ
เป็นทหารอากาศ
กองทัพอากาศในปัจจุบัน








































ประวัติความเป็นมาของกองทัพอากาศ
แรกเริ่ม
กิจการบินของไทย เริ่มต้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ นายชารลส์ แวน เด็น บอร์น (Charles Van Den Born) ชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินแบบอังรีฟาร์มัง ๔ (Henry Farman IV) ปีก ๒ ชั้นมาแสดงการบินเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่สนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร) ขณะนั้น ประเทศฝรั่งเศสกำลังพัฒนาด้านการบิน ทำให้ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก ได้ทรงเห็นความสำคัญ และความจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องมีเครื่องบินไว้ป้องกันประเทศเหมือนกับต่างประเทศ ดังนั้น กระทรวงกลาโหมจึงได้ดำริจัดตั้งกิจการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก และได้คัดเลือกนายทหาร ๓ คน ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส คือ
๑. นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป)
๒. นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข)
๓. นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต

ระหว่างที่นายทหารทั้งสามกำลังศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศสนั้น กระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส เป็นเครื่องบิน เบรเกต์ ชนิดปีก ๒ ชั้น จำนวน ๓ เครื่อง เครื่องบิน นิเออปอรต์ ชนิดปีกชั้นเดียว จำนวน ๔ เครื่อง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้บริจาคเงินส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้แก่กระทรวงกลาโหมอีก ๑ เครื่อง รวมเป็น ๘ เครื่อง เครื่องบินทั้งสองแบบนี้ นายทหารทั้ง ๓ คน ได้เป็นผู้ทดลองบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส แล้วจึงส่งมายังประเทศไทย นับว่านายทหาร ทั้งสามเป็นนักบินชุดแรกของไทย

การก่อตั้งแผนกการบิน
หลังจากนายทหารทั้ง ๓ คน สำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๖ กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดตั้ง "แผนกการบิน" ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ให้อยู่ในบังคับบัญชาของ นายพลโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน จเรทหารช่าง ในขณะนั้น โดยเมื่อเริ่มกิจการบินนายทหารทั้ง ๓ คนนี้ได้เป็นผู้วางรากฐานกิจการด้านการบินทั้งในด้านการจัดตั้งหน่วยงานการฝึกบิน และการช่างอากาศ ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการยกย่อง ว่าเป็น "บุพการีทหารอากาศ"

การบินตั้งอยู่ที่ตำบลปทุมวัน ได้มีการทดลองบินเป็นครั้งแรก ณ สนามบิน สระปทุม เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๖ นายพลเอก สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จเรทหารบก และจเรทหารเรือ และ นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลก
ประชานารถ เสนาธิการทหารบก ได้เสด็จประทับทอดพระเนตรพร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายนายทหาร และพลเรือนตลอดจนประชาชนชาวไทย ไปชมเป็นจำนวนมาก

ย้ายแผนกการบินไปตั้งเป็นกองบินทหารบกที่ดอนเมือง เมื่อกิจการบินของไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้น การจะใช้สนามม้าสระปทุมเป็นสนามบินต่อไปย่อมไม่สะดวกเพราะคับแคบและเป็นที่ลุ่ม จึงได้ย้ายสนามบินมาที่ตำบลดอนเมือง ซึ่งเป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม ทั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากพระนครมากนัก สามารถตั้งเป็นสนามบินถาวรทำการบินได้ตลอดปี ดังนั้น ในระยะต้นปี พ.ศ.๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งการให้กรมเกียกกายทหารบก เริ่มจัดการก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเก็บเครื่องบิน สนามบิน และบ้านพักอาศัย ฯลฯ เมื่อการก่อสร้างโรงเก็บเครื่องบินและสนามบินสำเร็จบางส่วนแล้ว กรมเกียกกายทหารบก จึงได้มอบสถานที่ดังกล่าวให้แก่ นายพันโท พระเฉลิมอากาศ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของแผนกการบิน และได้ย้ายแผนกการบินไปตั้งอยู่ตำบลดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ และได้เริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ทางราชการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ฉะนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ จึงมีเพียง ๙ เดือนนับแต่วันที่ ๑ เมษายน ไปจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๓ เท่านั้น กระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ให้จัดตั้งแผนกการบินเป็น "กองบินทหารบก" และได้ย้ายนายทหารทั้ง ๓ คน มาเป็นผู้บังคับการกองบิน และผู้ช่วยผู้บังคับการกองบิน ดังนี้
๑. นายพันโท พระเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับการกองบิน
๒. นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร เป็นผู้ช่วยผู้บังคับการกองบิน
๓. นายร้อยเอก หลวงทะยานพิฆาต เป็นผู้ช่วยผู้บังคับการกองบิน

การจัดกองบินทหารบก
(๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ - ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๑)

กระทรวงกลาโหม

เสนาธิการทหารบก

จเรทหารช่าง

กองบินทหารบก

กองบิน โรงเรียนการบิน โรงงาน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการบินที่ดอนเมือง
เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกองบินทหารบก ทอดพระเนตรการสวนสนามทางอากาศ ทอดพระเนครโรงงาน และโรงเรียนการบิน ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน แล้วเสด็จ ฯ ขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่งเสด็จ ฯ กลับพระนคร ก่อนจะเสด็จ ฯ ขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่ง ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแก่ นายพลโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชร อัครโยธิน จเรทหารช่าง ให้ท่านประกาศแทนพระองค์ ดังต่อไปนี้
"วันนี้ได้เห็นแล้ว ซึ่งกิจการของกองบินได้ดำเนินไปได้อย่างดียิ่ง ของสิ่งนี้โลกเขาก็นับว่า เป็นของยากมากอยู่อย่างหนึ่ง แต่ก็ได้มาเห็นคนไทยแท้ ๆ ทำได้อย่างดีจริง โดยที่ไม่ต้องอาศัยผู้อื่น ขอให้ได้รับความพอใจและขอบใจ ตั้งแต่ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาจนชั้นต่ำที่สุดจงทั่วกัน"

กองบินทหารบกเข้าร่วมการประลองยุทธใหญ่ พ.ศ.๒๔๕๙
ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม กองบินทหารบกได้ เข้าร่วมการประลองยุทธกับทหารบก นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวง
พิศณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้อำนวยการประลองยุทธในครั้งนี้

ราชการสงครามโลกครั้งที่ ๑
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๗ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระหว่างมหาอำนาจกลาง คือ เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี ฝ่ายหนึ่ง กับพันธมิตร อังกฤษ ฝรั่งเศส รุสเซีย ฝ่ายหนึ่ง ในระยะต้นสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินพระบรมราโชบายเป็นกลาง ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ทรงตระหนักว่า การที่จะรักษาความเป็นกลางต่อไปจนสงครามนั้น จะไม่มีผลดีอันใดเลย ทรงมีพระราชประสงคที่จะให้ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามด้วย เพราะเป็นทางนำชาติเข้าสู่สังคมนานาชาติในฐานะเคียงบ่าเคียงไหล่ จนในที่สุดหลังจากที่ทรงพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ และทรงศึกษาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว จึงทรงประกาศสงครามกับมหาอำนาจกลาง เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ และ ได้ทรงส่งกองทหารอาสา ออกไปราชการสงครามกับพันธมิตรในยุโรป กองทหารอาสาประกอบด้วย กองบินทหารบก และกองทหารบกรถยนต์ กำลังพล ประมาณ ๑,๒๕๐ คน มีนายพันเอก พระเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับกองทหารอาสา และนายพันตรี หลวงทะยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต) เป็นผู้บังคับการกองบิน มีกำลังพลเฉพาะกองบินทหารบก ประมาณ ๔๐๐ คนเศษ ซึ่งสงครามยุติ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๑ เนื่องจากฝ่ายมหาอำนาจกลางยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร และยอมลงนามในสัญญาสงบศึก เมื่อเสร็จจากสงครามกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ รัฐบาลไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินชนิดใหม่มาใช้ ได้แก่ นิเออปอรต์ สปัด และเบรเกต์แบบ ๒๔ รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๑๕ เครื่อง นับว่าเป็นรากฐานอันมั่นคงของ กองทัพอากาศ

การยกฐานะขึ้นเป็นกรมอากาศยานทหารบก
กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๖๑ ให้ยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นเป็น "กรมอากาศยานทหารบก" และให้กรมอากาศยานทหารบก แบ่งส่วนราชการออกเป็น
๑. กองบินทหารบก
๒. โรงเรียนการบินทหารบก
๓. โรงงานของกรมอากาศยานทหารบก

การเปลี่ยนชื่อกรมอากาศยานทหารบกเป็นกรมอากาศยาน
เนื่องด้วยกระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศมิได้เป็นเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการอื่น ๆ เช่น การบินพาณิชย์ และการคมนาคม เป็นต้น การเรียกชื่อกรมอากาศยานทหารบก จึงไม่เป็นการเหมาะสม และไม่ตรงตามความมุ่งหมายที่ได้จัดตั้งขึ้น จึงได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๔ ให้แก้ชื่อ "กรมอากาศยานทหารบก" และ "กองบินใหญ่ทหารบก" เป็น "กรมอากาศยาน" และ "กองบินใหญ่"

การสร้างเครื่องบินขึ้นใช้เอง
นับตั้งแต่ได้จัดตั้งแผนกการบินขึ้นจนได้รับการยกฐานะจัดตั้งเป็นกองบินทหารบก นายพันโท พระเฉลิมอากาศ ผู้บังคับการกองบิน ได้พิจารณาเห็นว่า กองบินทหารบกของไทยมีเครื่องบินอยู่เพียง ๘ เครื่องเท่านั้น และต้องปฏิบัติการฝึกบินทุกวันย่อมจะต้องชำรุดทรุดโทรมลงทุกวันและยากแก่การซ่อมบำรุง การจัดหาชิ้นอะไหล่ เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ยังหาไม่ได้ในประเทศไทย จึงมีการสร้างและทดลองเครื่องบินที่สร้างขึ้นเองหลายครั้ง เช่น วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๘ นายพันโท พระเฉลิมอากาศ
ผู้บังคับกองบินทหารบก ได้ทำการทดลองบินเครื่องปีกสองชั้นแบบเบรเกต์ ซึ่งโรงงานของกองบินทหารบก สร้างตามสัดส่วนที่ถูกต้อง ด้วยการประกอบโครงสร้างลำตัวของเครื่องบินด้วยพันธุไม้ และวัสดุที่มีในประเทศได้สำเร็จ
พ.ศ.๒๔๖๕ สร้างเครื่องบินขับไล่ แบบที่ ๒ (นิเออปอรต์ ๑๕ ตารางเมตร)
พ.ศ.๒๔๖๖ สร้างเครื่องบินขับไล่ แบบที่ ๓ (สปัด)
พ.ศ.๒๔๖๗ สร้างเครื่องบินขับไล่ แบบที่ ๔ (นิเออปอรต์เดอลาจ)
พ.ศ.๒๔๗๐ ออกแบบและสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิด แบบที่ ๒ บริพัตร นับเป็นเครื่องบิน แบบแรกที่ออกแบบและสร้างเองโดยคนไทย เครื่องบินแบบนี้ได้สร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก ใช้บินเดินทางไปประเทศอินเดีย และประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี
พ.ศ.๒๔๗๒ ออกแบบและสร้างเครื่องบินขับไล่ แบบที่ ๕ (ประชาธิปก)
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกรมอากาศยาน ยกฐานะเป็นกรมทหารอากาศ และกองทัพอากาศตามลำดับ ก็ได้มีการสร้างเครื่องบินดังนี้
พ.ศ.๒๔๗๙ สร้างเครื่องบินโจมตี/ตรวจการณ์ แบบที่ ๑ (คอร์แซร์ วี ๙๓) จำนวน ๒๙ เครื่อง
พ.ศ.๒๔๘๐ สร้างเครื่องบินโจมตี/ตรวจการณ์ แบบที่ ๑ รุ่น ๒ อีกจำนวน ๒๕ เครื่อง และสร้างเครื่องบินขับไล่ แบบที่ ๑๐ รุ่นแรก จำนวน ๒๕ เครื่อง
พ.ศ.๒๔๘๒ สร้างเครื่องบินขับไล่ แบบที่ ๑๐ รุ่น ๒ อีกจำนวน ๒๕ เครื่อง
พ.ศ.๒๕๑๕ สร้างเครื่องบินฝึก ทอ.๔ จันทรา จำนวน ๑๒ เครื่อง
พ.ศ.๒๕๑๗ สร้างเครื่องบินต้นแบบ ทอ.๕ จำนวน ๑ เครื่อง
พ.ศ.๒๕๒๕ ซื้อเครื่องบินและลิขสิทธิ์การสร้างเครื่องบินฝึก แบบที่ ๑๘/ก (แฟนเทรนเนอร์) จากบริษัท ไรน์ ฟุกซอย บาว ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สร้างจำนวนประมาณ ๒๕ เครื่อง

การบินเดินทางไปต่างประเทศ
การบินไปประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส ครั้งที่ ๑
วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๕ รัฐบาลได้มอบให้กรมอากาศยานส่งเครื่องบินเบรเกต์ ๔ เครื่อง บินเดินทางไปเยือนอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นการตอบแทนที่รัฐบาลของประเทศนั้นได้ส่งเครื่องบินมาเยือนประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๔ และเป็นผู้แทนประเทศไทยนำพวงมาลาและแผ่นเงินจารึกคำไว้อาลัยไปวางที่อนุสาวรีย์ทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ณ เมืองไฮฟอง เส้นทางดอนเมือง-นครราชสีมา-ร้อยเอ็ด-นครพนม-วินท์-ฮานอย

การบินไปประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส ครั้งที่ ๒
เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๓ กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้กรมอากาศยาน จัด เครื่องบินแบบบริพัตร ๓ เครื่อง ไปเยี่ยมตอบแทนและนำสาส์นของรัฐบาลไทยไปมอบให้แก่รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ณ กรุงฮานอย มีพลโท พระยาเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยาน เป็นผู้ควบคุมการเดินทาง เส้นทาง ดอนเมือง-นครราชสีมา-ร้อยเอ็ด-นครพนม-วินท์-ฮานอย

การบินไปประเทศอินเดีย
เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๒ กระทรวงต่างประเทศนำหนังสือคำเชิญของรัฐบาลอินเดียถึงกระทรวงกลาโหม ขอเชิญรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งเครื่องบินทหารไปเยี่ยมประเทศอินเดียเป็นทางราชการ กระทรวงกลาโหมตอบรับคำเชิญ และให้กรมอากาศยานส่งเครื่องบินแบบบริพัตร ๓ เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องบินที่โรงงานกรมอากาศยานออกแบบสร้างขึ้นเอง เดินทางไปประเทศอินเดียในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๒ แต่เครื่องบินของผู้อำนวยการเดินทาง (นายพันโท หลวงเนรมิตร
ไพชยนต์) เกิดอุบัติเหตุต้องลงในป่าจังหวัดอุทัยธานี เครื่องบินอีก ๒ เครื่อง ต้องบินกลับมาส่งข่าว กระทรวงกลาโหมจึงได้ส่งเครื่องบินแบบบริพัตร ๒ เครื่องไปใหม่ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๒ ตามเส้นทางการเดินทาง ดอนเมือง-ย่างกุ้ง-อัคยับ-กัลกัตตา-อัลละฮาบัด-เดลี ไปถึงกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๒ และออกเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๒ ถึงดอนเมืองวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๒

การยกฐานะกรมทหารอากาศเป็นกองทัพอากาศ
เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๐ กระทรวงกลาโหมได้ยกฐานะ กรมทหารอากาศ เป็น กองทัพอากาศ ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ในวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง นาวาอากาศเอก
พระเวชยันตรังสฤษฎ์ (มุนี มหาสันทนะ) เจ้ากรมทหารอากาศ เป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ นาวาอากาศเอก พระศิลปศัตราคม (ภักดี เกษสำลี) รองเจ้ากรมทหารอากาศ เป็น รองผู้บัญชาการทหารอากาศ และนาวาอากาศเอก หลวงกาจสงคราม เสนาธิการกรมทหารอากาศ เป็น เสนาธิการทหารอากาศ

การปฏิบัติการรบของกองทัพอากาศ
กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส
การปฏิบัติการรบทางอากาศในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพอากาศได้ปฏิบัติการรบ ทั้งการสู้รบในอากาศ การโจมตีเป้าหมายทางฟื้นดิน ทางทะเล และการรบดีเด่นสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้แก่กองทัพอากาศ มีทหารอากาศได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ ๓ นาย และได้รับพระราชทาน เหรียญกล้าหาญ ๒๔ นาย

สงครามมหาเอเซียบูรพา
ในเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้ยกกำลังทหารเข้าบุกประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านตะวันออก เครื่องบินขับไล่ทันสมัยของญี่ปุ่น (เครื่องบินขับไล่เซ็นโตกิ) โจมตีสนามบินวัฒนานคร ยิงกองบังคับการและอาคารต่าง ๆ บริเวณสนามบินได้รับความเสียหาย และอีกจุดหนึ่งคือ กองบินน้อยที่ ๕ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ายึด กองบินน้อยที่ ๕ แต่นายทหาร จ่าอากาศ และพลทหาร ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๑๒๐ คน ในการบังคับบัญชาของนายนาวาอากาศโท หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย ได้ยืนหยัดต่อสู้อย่างบาดเจ็บสาหัส ๔ คน ส่วนที่เหลือได้ยืนหยัดต่อสู้ต่อไปจนได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้หยุดยิง

สงครามเกาหลี
วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๓ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งกำลังทหารไปร่วมปฏิบัติการรบกับองค์การสหประชาชาติ ในกรณีสงครามเกาหลี และกองทัพอกาศได้จัดกำลังเฉพาะกิจเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้มี ๓ หน่วย คือ
๑. นายทหารติดต่อฝ่ายทหารอากาศ ประจำที่กองบัญชาการกองทัพ
สหประชาชาติปฏิบัติ ภารกิจตั้งแต่ชุดที่ ๑ เมื่อตุลาคม ๒๔๙๓ จนถึงชุดที่ ๒๒ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔
๒. ชุดพยาบาลทหารอากาศ ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ชุดที่ ๑ เมื่อ ๒๖ ธันวาคม
พ.ศ.๒๔๙๓ จนถึงชุดที่ ๒๙ เมื่อ ๒๕๑๗
๓. หน่วยบินลำเลียง ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ชุดที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ จนถึงชุดที่ ๒๔ เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๑๙

สงครามเวียดนาม
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๗ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนาม อนุมัติให้กองทัพอากาศจัดส่งนักบินและเจ้าหน้าที่ จำนวน ๑๗ คน ไปปฏิบัติการในสาธารณรัฐเวียดนาม โดยออกเดินทางจากประเทศไทยในวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๗ หน่วยบินชุดนี้มีชื่อเรียกว่า "หน่วยบินวิกตอรี่" (Victory) ทำการบินกับเครื่องบินแบบ บ.ล.๒ (C-47) ร่วมกับ ฝูงบินที่ ๔๑๓ กองบินที่ ๓๓ กองทัพอากาศสาธารณรัฐเวียดนาม ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗ ให้กองทัพอากาศจัดนักบินและเจ้าหน้าที่เพิ่มให้หน่วยบินวิกตอรี่ เพื่อทำการบินกับเครื่องบินแบบ บ.ล.๔ (C-123) เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๙ โดยปฏิบัติการร่วมกับฝูงบินลำเลียงทางอากาศยุทธวิธีที่ ๑๙ ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา และได้ปฏิบัติการร่วมกับฝูงบินลำเลียงทางอากาศยุทธวิธีที่ ๑๙ ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา และได้ปฏิบัติการอยู่จนถึงชุดที่ ๗ จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔ นอกจากการปฏิบัติการในสงครามต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว กองทัพอากาศยังได้ส่งนักบินไปปฏิบัติการทางอากาศ ในประเทศลาว และเขมร ในสมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังจะแผ่อิททธิพลเข้าครอบคลุมประเทศทั้งสอง

การช่วยเหลือจากต่างประเทศ
นับตั้งแต่รัฐบาลไทยได้ตกลงใจส่งทหารไปยังเกาหลี เพื่อสมทบกับกำลังของสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาเพิ่มการพิจารณาคำร้องขอความช่วยเหลือทางทหารของรัฐบาลไทย ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๓ คณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกาคณะแรก ประกอบด้วย พ.อ.แม็คน้อค หัวหน้าฝ่าย ทหารบก น.ท.เฟย์ หัวหน้าฝ่ายทหารเรือ และ น.อ.ชร็อก หัวหน้าฝ่ายทหารอากาศ ได้เข้ามาประจำประเทศไทย วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ได้มีการลงนามในสัญญาความตกลง ว่าด้วยความช่วยเหลือทาง ทหารของสหรัฐอเมริกาแก่ประเทศไทย โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กับเอกอัครราชทูตสหรัฐ อเมริกาประจำประเทศไทยในขณะนั้น และทำให้ประเทศไทยได้รับการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา โดยการมอบเครื่องบินแบบต่าง ๆ จำนวนหนึ่งให้กับกองทัพอากาศ อาทิ เครื่องบินฝึก แบบที่ ๑๑ (T-33) เครื่องบินขับไล่ แบบที่ ๑๖ (F-84G) และเครื่องบินขับไล่ แบบที่ ๑๗ (F-86F) เป็นต้น นอกจากนั้น กองทัพอากาศยังได้รับการช่วยเหลือทางด้านการฝึกศึกษาจากมิตรประเทศ อีกหลายโครงการ อาทิ การศึกษาในระดับโรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ และโรงเรียนเสนาธิการทหาร เป็นต้น จากประเทศต่าง ๆ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ประเทศอังกฤษ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฝรั่งเศส ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินเดีย

การย้ายที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพอากาศ
ปี พ.ศ.๒๕๑๗ รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ฝั่งตะวันตกของสนามบินดอนเมือง เพื่อพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานสากล กองบัญชาการกองทัพอากาศจึงได้ย้ายที่ตั้งใหม่ไปอยู่ทางฝั่งตะวันออกของสนามบินและเข้าที่ตั้งแล้วเสร็จทุกหน่วยในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖

อนุสาวรีย์ทหารอากาศ
อนุสาวรีย์แห่งแรกของกองทัพอากาศสร้างขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐ - พ.ศ.๒๔๖๓ แต่แรกเริ่มที่สร้างขึ้นยังไม่ได้ตั้งชื่อเป็นทางการ เรียกกันว่า "อนุสาวรีย์นักบิน" จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๑ กองทัพอากาศได้ต่อเติมขยายตึกกองบัญชาการ ทอ.แล้อนุสาวรีย์ซึ่งสร้างไว้แต่เดิมจึงมองดูเล็กและขาดความสวยงามไป ไม่เหมาะสมที่จะเป็นสถานที่จะเปว ็นสถานที่เชิดชูเกียรติ จึงได้มอบหมายให้กรมช่างโยธาทหารอากาศ ติดต่อกับอธิบดีกรมโยธาเทศบาล ดำเนินการพิจารณาความเหมาะสม โดยวิธีไม่รื้อทำลายอนุสาวรีย์เดิม แต่ก่ออิฐครอบอนุสาวรีย์เดิมไว้ภายในถมดินยกพื้นทำเป็นฐานรองรับอนุสาวรีย์เดิมสูงจากพื้นดิน ประมาณ ๑ เมตร มีขนาดกว้างออกไปโดยรอบประมาณด้าน ๒ เมตร ทำเป็น บันไดปูน เป็นทางขึ้น-ลงทั้ง ๔ ด้านตั้งชื่อว่า "อนุสาวรีย์ทหารอากาศ" ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๖ กองทัพอากาศ ได้ย้ายที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพอากาศ จากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของสนามบินดอนเมือง อันเป็นที่ตั้งในปัจจุบันในการก่อสร้าง กองบัญชการกองทัพอากาศใหม่นี้ ได้กำหนดให้สร้างอนุสาวรีย์ทหารอากาศ บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการ และได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นวันย้ายอัฐิในอนุสาวรีย์เดิม เข้าบรรจุในอนุสาวรีย์แห่งใหม่ และวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกกองทัพอากาศ นอกจากจะมีพิธีเปิดอาคารกองบัญชาการกองทัพอากาศใหม่แล้ว ก็มีพิธีบรรจุอัฐิใหม่เพิ่มเติมด้วย

การสร้างพระอนุสาวรีย์และอนุสาวรีย์บุพการีทหารอากาศ
เนื่องด้วยในปี พ.ศ.๒๔๕๖ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า จักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ใน พ.ศ.๒๔๕๖ ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งแผนกการบินขึ้น และได้ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมจนกิจการบินเจริญก้าวหน้าในดวลาต่อมา กองทัพอากาศจึงได้สร้างพระอนุสาวรีย์เป็นพระรูปปั้น ประทับยืนเต็มพระองค์ประดิษฐานไว้ที่หน้ากรมการบินพลเรือน (การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย) และ สร้างรูปปั้นครึ่งตัวของ พล.อ.ท.พระยาเฉลิมอากาศ น.อ.พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ น.อ.พระยาทะยานพิฆาต ซึ่งทั้ง ๓ ท่าน เป็นผู้วางรากฐานและสร้างความเจริญให้แก่กิจการบินของไทย โดยเฉพาะกองทัพอากาศ ประดิษฐานไว้ที่ บริเวณสนามกีฬากองทัพอากาศด้านตะวันออกได้ทำพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์และอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ได้มอบอนุสาวรีย์องค์นั้นให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และกองทัพอากาศได้สร้าง "พระอนุสาวรีย์ จอมพล สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลก ประชานารถ" ขึ้นใหม่ ซึ่งชาวทหารอากาศเคารพเทิดทูนถวายพระเกียรติเป็น "พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย" ประดิษฐานไว้ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ และเรียกอนุสาวรีย์ของบุพการีทั้ง ๓ ท่าน ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่สนามกีฬากองทัพอากาศด้านตะวันออก (สนามกีฬาจันทรุเบกษา) ว่า "บุพการีทหารอากาศ" ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ

การสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชคุณูปการอเนกอนันต์ ทรงปฏิบัติบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจอันน้อยใหญ๋ ด้วยพระวิริยะอุสาหะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อาณาประชาราษฎรทั่วทุกภาคพ้นจากความทุกข์ยาก ทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสา เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่พสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร กองทัพอากาศได้รับพระกรุณาให้จัดอากาศยานสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยแพทย์อาสาตั้งแต่ต้นตลอดมาเพื่อรำลึกในพระกรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณอันยิ่งใหญ่ กองทัพอากาศจึงพร้อมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระรูปหล่อโลหะสัมฤทธิ์และอัญเชิญประดิษฐาน ณ บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพอากาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๙

กองทัพอากาศในปัจจุบัน
กองทัพอากาศ มีภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๐๓ ไว้ว่า "กองทัพอากาศมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ และป้องกันราชอาณาจักร์ มีผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น ผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ"
ในปัจจุบัน กองทัพอากาศ มีการจัดส่วนราชการกองทัพอากาศ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๓๘ โดยจัดกลุ่มหน่วยงานตามภาระหน้าที่เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติออกเป็น ๕ ส่วน คือ

๑. ส่วนบัญชาการ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาส่วนราชการต่าง ๆ
ข้าราชการและลูกจ้าง และปฏิบัติตามภารกิจของกองทัพอากาศ และภารกิจ
อื่น ๆ ที่มิได้มอบหมายให้ส่วนราชการใด ๆ โดยเฉพาะมีผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ประกอบด้วย
- สำนักงานเลขานุการกองทัพอากาศ (สน.ลก.ทอ.)
- กรมสารบรรณทหารอากาศ (สบ.ทอ.)
- กรมกำลังพลทหารอากาศ (กพ.ทอ.)
- กรมข่าวทหารอากาศ (ขว.ทอ.)
- กรมยุทธการทหารอากาศ (ยก.ทอ.)
- กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ (กบ.ทอ.)
- สำนักงานปลัดบัญชีทหารอากาศ (สปช.ทอ.)
- กรมจเรทหารอากาศ (จร.ทอ.)
- สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศทหารอากาศ (สท.ทอ.)

๒. ส่วนกำลังรบ ประกอบด้วย กองบัญชาการยุทธทางอากาศ มีหน้าที่เตรียมกำลังทางอากาศกำลังภาคพื้นและระบบควบคุมการปฎิบัติทางอากาศของกองบัญชาการยุทธทางอากาศ ให้พร้อมปฏิบัติการตามที่กองทัพอากาศกำหนด มีผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ แบ่งส่วนราชการออกเป็น
- กองบัญชาการ
- กองพลบินที่ ๑ (พล.บ.๑)
- กองพลบินที่ ๒ (พล.บ.๒)
- กองพลบินที่ ๓ (พล.บ.๓)
- กองพลบินที่ ๔ (พล.บ.๔)
- กรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.)
- หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.)
- โรงเรียนการบิน (รร.การบิน)

๓. ส่วนยุทธบริการ ประกอบด้วย กองบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงทั้งปวงตามที่กองทัพอากาศกำหนด มีผู้บัญชาการกองสนับสนุนทหารอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ แบ่งส่วนราชการออกเป็น
- กองบัญชาการ
- ศูนย์ส่งกำลังบำรุง (ศกบ.)
- กรมช่างอากาศ (ชอ.)
- กรมสื่อสารทหารอากาศ (ส.ทอ.)
- กรมสรรพาวุธทหารอากาศ (สพ.ทอ.)
- กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ (อท.ทอ.)
- กรมลาดตระเวนทางอากาศ (ลวอ.)
- กรมแพทย์ทหารอากาศ (พอ.)
- กรมพลาธิการทหารอากาศ (พธ.ทอ.)
- กรมช่งโยธาทหารอากาศ (ชย.ทอ.)
- การขนส่งทหารอากาศ (ขส.ทอ.)

๔. ส่วนการศึกษา ประกอบด้วย กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ มีหน้าที่ดำเนินการ เกี่ยวกับการฝึกศึกษาของกำลังพลของกองทัพอากาศ ตามที่
กองทัพอากาศกำหนด มีผู้บัญชาการกองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ แบ่งส่วนราชการออกเป็น
- กองบัญชาการ
- กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ (ยศ.ทอ.)
- สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง (สอส.)
- โรงเรียนนายเรืออากาศ (รร.นอ.)

๕. ส่วนกิจการพิเศษ ประกอบด้วย
- กรมการเงินทหารอากาศ (กง.ทอ.)
- กรมสวัสดิการทหารอากาศ (สก.ทอ.)
- ศูนย์วิทยาศาสตร์และพัฒนาระบบอาวุธกองทัพอากาศ (ศวอ.ทอ.)
- สำนักงานตรวจบัญชีทหารอากาศ (สตช.ทอ.)
- สำนักผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง (สน.ผบ.ดม.)

กองทัพอากาศกับโครงการพระราชดำริ
กองทัพอากาศ ได้สนับสนุนโครงการในพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ สนองพระราชดำริแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน และการพัฒนาประเทศอยู่หลายโครงการที่สำคัญได้แก่
๑. โครงการฝนหลวง กองทัพอากาศได้เข้าร่วมในโครงการฝนหลวงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ ด้วยการสนับสนุนอากาศยานให้กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ได้จัดตั้งเป็น "หน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวง"ขึ้น โดยมีเครื่องบินที่เข้าร่วมปฏิบัติหลายหลายแบบ ด้วยการได้แก่ เครื่องบินลำเลียง แบบที่ ๒ (C-47) เครื่องบินลำเลียง แบบที่ ๔ ก (C-123K) เครื่องบินลำเลียง แบบที่ ๙ (NOMAD) เครื่องบินโจมตีธุรการ แบบที่ ๒ (AU-23) และเครื่องบินโจมตี แบบที่ ๖
(A-37B) สำหรับในปีมิ่งมหามงคลวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี ๒๕๓๙ กองทัพอากาศได้จัดทำโครงการปรับปรุงเครื่องบินปฏิบัติการฝนหลวง คือ เครื่องบินลำเลียง แบบที่ ๒ (C-47) ให้มีความทันสมัย และมีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจการทำฝนหลวงได้ดียิ่งขึ้น
๒. โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่ของกองทัพอากาศ กองทัพอากาศได้ร่วมกับ กองบัญชาการทหารสูงสุด จัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติขึ้นในพื้นที่ความรับผิดชอบของกองทัพอากาศทั่วประเทศ เพื่อสนองแนวพระราชดำริในการรักษาสภาพแวดล้อมและรักษาสภาพป่าตามธรรมชาติ
๓. โครงการปลูกป่าสวนรุกขชาติและสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ กองทัพอากาศร่วมกับจังหวัดสระแก้ว จัดทำโครงการปลูกป่าสวนรุกขชาติและสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ที่อำเภอวัฒนานคร เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในเขตความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ ให้เกิดความงดงาม และเป็นระเบียบเรียบร้อย
๔. การถ่ายภาพทางอากาศคับคั่ง ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบพระราชวินิจฉัย จนทรงมีพระราชกระแสชมเชย เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริในการแก้ปัญหาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กองทัพอากาศได้ดำเนินการถ่ายภาพทางอากาศบริเวณที่เกิดอุทกภัยตลอดจนบริเวณที่มีปัญหาการจราจรแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่กองทัพอากาศเป็นอย่างยิ่ง
๕. โครงการอนุรักษ์แนวปะการัง กองทัพอากาศได้จัดทำโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสัตว์ทะเลที่หายาก ที่บริเวณกองบิน ๕๓ กองพลบินที่ ๔ กองบัญชาการยุทธทางอากาศ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยยึดถือแนวพระราชดำริในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้นกองทัพอากาศได้ยึดถือแนวพระราชดำริในการจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

กองทัพอากาศเพื่อชาติและประชาชน
กองทัพอากาศ ตระหนักถึงความสำคัญและมีเจตนารมย์ที่แน่วแน่ในการเตรียมกำลังทางอากาศ เพื่อให้การคุ้มครองและรักษาอธิปไตย ตลอดจนผลประโยชน์ของชาติ ตามแนวนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยได้จัดเตรียมกำลังทางอากาศให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศยุทธศาสตร์ การปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธี และการป้องกันทางอากาศ ในด้านการพัฒนาอากาศยานในส่วนของเครื่องบินรบ เพื่อให้สามารถเผชิญกับภัยคุคามในอนาคตได้ เครื่องบินสมัยใหม่ต้องสามารถปฏิบัติภารกิจได้ทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี รวมทั้งการป้องกันทางอากาศสามารถใช้อาวุธอากาศสู่อากาศ และอากาศสู่พื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องบินรบอเนกประสงค์ ที่จะต้องมีขีดความสามารถปฏิบัติการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถบินอยู่ในอากาศได้นาน ซึ่งกองทัพอากาศได้จัดหา เครื่องบิน F-16 เข้าประจำการตามภารกิจดังกล่าว ในส่วนของเครื่องบินสนับสนุน ซึ่งเป็นเครื่องบินช่วยให้เครื่องบินรบสามารถปฏิบัติภารกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชน ในยามที่ต้องประสบภัยพิบัติต่าง ๆ กองทัพอากาศได้มีนโยบายในการจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนถ่ายภาพ ทางอากาศเครื่องบินลำเลียง เครื่องบินแจ้งเตือนภัยในอากาศ และเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงในอากาศเป็นต้น สำหรับในการป้องกันทางอากาศ ได้จัดวางระบบเรดาร์ควบคุมและแจ้งเตือน เพื่อตรวจจับอากาศยานที่บุกรุกเข้ามาหรือส่อเจตนาว่าจะเป็นภัยต่อประเทศ ในปัจจุบันได้พัฒนาระบบป้องกันภัยทาง อากาศอัตโนมัติ

ประวัติโดยสังเขป
๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ ยกฐานะจาก "แผนกการบิน" เป็น
"กองการบินทหารบก" ถือเอาวันนี้เป็น วันที่ระลึกกองทัพอากาศ
๒๙ มีนาคม ๒๔๖๑ ยกฐานะเป็น "กรมอากาศยานทหารบก"
๑ ธันวาคม ๒๔๖๔ เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมอากาศยาน" ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม
๑๒ เมษายน ๒๔๗๘ ยกฐานะเป็น "กรมทหารอากาศ"
๙ เมษายน ๒๔๘๐ สถาปนาเป็น "กองทัพอากาศ" ถือเอาวันนี้เป็น วันกองทัพอากาศ
(ตามประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๑)
อันอาจกล่าวได้ว่า กำลังทางอากาศของ ไทยเริ่มต้นจากนักบินเพียง ๓ คน และเครื่องบินอีก ๘ เครื่องเท่านั้น การบินของไทยในระยะแรกได้ใช้สนามม้าสระปทุม หรือราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบัน เป็นสนามบิน แต่ด้วยความไม่สะดวกหลายประการ บุพการีทั้ง ๓ ท่าน จึงได้พิจารณาหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการบิน และได้เลือกเอาตำบลดอนเมือง เป็นที่ตั้งสนามบิน พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคารสถานที่
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศ มิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ ทางทหารเท่านั้นแต่มีประโยชน์อย่าง กว้างขวางต่อกิจการด้านอื่นๆ อีกด้วย จึงได้แก้ไขการเรียกชื่อจาก กรมอากาศยานทหาร เป็น "กรมอากาศยาน" และเป็น "กรมทหารอากาศ" ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง ที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และ เครื่องบิน ไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว

ได้มีการกำหนดยศทหาร และ การเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบ จากสีเขียวมาเป็นสีเทาดังเช่นปัจจุบัน
วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ กรมทหารอากาศได้ยกฐานะ เป็น "กองทัพอากาศ" มีนาวาอากาศเอก
พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก กองทัพอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ ๙ เมษายน ของทุกปี เป็น "วันกองทัพอากาศ"

ที่มา : คัดลอกมาจากเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ
ติดต่อผู้จัดทำเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ ที่
sakpinit@hotmail.com


Create Date : 27 ธันวาคม 2554
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 19:52:31 น. 0 comments
Counter : 733 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อัยการวางโบยุน
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




จะลืมความฝันเดิม หรือจะแต่งเติมความฝันเก่า หรือจะอยู่เปล่า ๆ กับชีวิต..
Friends' blogs
[Add อัยการวางโบยุน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.