Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๓๓ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออวิชชา สังขาร (๒)

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๓๓ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออวิชชา สังขาร (ต่อ)

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะได้แสดงขยายความ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หรือ เมื่ออวิชชาเกิดสังขารก็เกิด ต่อไปอีก

อวิชชาปรุงแต่งจิตให้รู้ผิดรู้หลง

อันสังขารนั้นก็ได้แสดงมาแล้วถึงหมวดธรรมต่าง ๆ ที่มีคำว่าสังขาร และได้แสดงความหมายของสังขารที่เป็นส่วนกลาง ๆ อันเป็นที่มุ่งหมายว่าอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขารในที่นี้ แต่ยังมีอีกบางหมวด และลักษณะของสังขารที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ อันสมควรแสดงรวมเข้าในข้อนี้ด้วย อวิชชาคือความไม่รู้อันหมายถึงไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และเกิดขึ้นที่จิตนี้เอง อันหมายถึงจิตที่เป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ซึ่งมีอยู่ในบุคคลทุก ๆ คน บุรุษบุคคลนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่าประกอบด้วยธาตุ ๖ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ทั้ง ๕ นี้เป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัว และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้เป็นข้อที่ ๖ เพราะฉะนั้น จึงรู้อะไร ๆ ได้ และวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้หรือที่เรียกว่าจิตในที่นี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้ว่าเป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง แต่เมื่อยังมิได้ปฏิบัติทำจิตตภาวนาคือการอบรมจิต จิตหรือธาตุรู้นี้ก็ยังประกอบด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง อันหมายถึงว่าแม้จะเป็นธาตุรู้ แต่ก็เป็นความรู้ผิดรู้หลง ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นอวิชชา ดังที่ได้แสดงแล้ว แต่เพราะอวิชชา คือไม่รู้นี้เองจึงเป็นเหตุให้ปรุงแต่ง ปรุงแต่งเพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้นั้นเอง เหมือนอย่างบุคคลที่ไม่รู้ในเรื่องอะไร เมื่อต้องการที่จะรู้ในเรื่องนั้นก็ต้องปรุงแต่ง เช่นว่าต้องค้นคว้า ต้องไต่ถามสดับตรับฟัง ต้องสืบสวนสอบสวน ต้องคิดพินิจพิจารณา เพื่อจะให้รู้ในเรื่องนั้น นี้คือสังขารคือปรุงแต่ง และเมื่อรู้แล้วก็เป็นอันว่าหยุดคิด เพื่อที่จะรู้ในเรื่องนั้นได้ แต่ว่าที่ว่าคิดว่ารู้แล้วนั้น บางทีก็ไม่ใช่รู้จริงรู้ถูก เป็นความรู้ผิดรู้หลงก็มี ก็เป็นอันว่า ก็คงเป็นอวิชชาคือไม่รู้อยู่นั่นเอง แต่สำคัญว่ารู้

เพราะฉะนั้น จึงยังมีสังขารคือปรุงแต่ง อันหมายความว่า ความรู้ที่คิดว่ารู้นั้นไม่ใช่เป็นตัวความรู้ แต่เป็นความปรุงแต่งขึ้นว่ารู้ คือไม่ใช่รู้จริง เมื่อไม่ใช่รู้จริง ความรู้นั้นจึงเป็นความปรุงแต่ง ปรุงแต่งขึ้นว่ารู้ ไม่ใช่เป็นความรู้จริง ต่อเมื่อเป็นความรู้จริง จึงจะไม่ใช่เป็นสังขาร คือความปรุงแต่ง

ความรู้ที่ปรุงแต่งไม่เป็นความรู้จริง

เพราะฉะนั้น วิชชาคือความรู้ที่บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าในอริยสัจ ๔ ท่านจึงได้แสดงไว้ว่า

จักษุ คือดวงตาผุดขึ้น
ญาณ คือความหยั่งรู้ผุดขึ้น
ปัญญา คือความรู้ทั่วถึงผุดขึ้น
วิชชา คือความรู้ถูกต้องผุดขึ้น
อาโลก คือความสว่างผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลายที่ยังมิได้เคยสดับมาก่อนว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นต้น

ความรู้ที่ผุดขึ้นดั่งนี้ไม่ใช่เป็นความรู้ที่ปรุงแต่ง แต่เป็นความรู้จริง ส่วนความรู้ที่ปรุงแต่งนั้นยังไม่ใช่เป็นความรู้จริง แต่เป็นความปรุงแต่งต่างหากอันเรียกว่า สังขาร แม้ความรู้ที่เป็นปริยัติคือที่เล่าเรียน อันได้แก่สดับตรับฟังอ่านท่องบ่นจำทรง ดังเช่นสดับตรับฟัง อ่าน ท่องบ่น จำทรงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จำอริยสัจได้ นี้ก็เป็นสังขารคือเป็นความปรุงแต่งขึ้นของผู้เรียน ไม่ใช่เป็นความรู้ของตนเอง แต่เป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสสอนเอาไว้ แล้วก็มาฟัง มาจำทรง เป็นความจำเป็นความจำทรง ซึ่งเป็นตัวสังขารคือเป็นความปรุงแต่ง ไม่ใช่เป็นความรู้ที่เป็นตัวปัญญาของตนเอง จะเป็นความรู้ที่เป็นปัญญาของตัวเองนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ผุดขึ้น ไม่ใช่คิดขึ้น มิใช่จำเอาไว้ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นโดยที่มิได้คิด มิได้แต่ง มิได้จำ

ดังจะพึงเห็นได้ว่าในปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือธรรมจักรแก่พระปัญจวัคคีย์ได้ตรัสแสดงถึงทางที่ทรงปฏิบัติมา ทรงละทางที่เป็นสุดโต่ง ๒ อย่าง ทรงปฏิบัติทางที่เป็นมัชฌิมา ซึ่งอยู่ในท่ามกลาง ไม่ข้องแวะด้วยทางสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ จึงได้ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ ก็ทรงแสดงอริยสัจทั้ง ๔ และทรงแสดงพระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจทั้ง ๔ และเพราะพระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ บริสุทธิ์บริบูรณ์แก่พระองค์ จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้แล้วดั่งนี้ ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา
นี้เป็นตัว ปัญญา

เห็นสังขารเห็นความเกิดดับของสังขาร จึงชื่อว่าเห็นทุกข์

จะเห็นได้ว่าธรรมจักษุที่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะนี้ ไม่เกี่ยวแก่ถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงในปฐมเทศนานั้น แต่เมื่อท่านพระโกณฑัญญะ ท่านได้ฟังแล้ว ท่านเข้าใจ ความเข้าใจของท่านนั้น ก็ผุดขึ้นมาแก่ท่านว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

คือท่านเห็นเกิดดับของทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น ก็และอันทุก ๆ สิ่งที่เกิดดับนี้เป็นตัวสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง สิ่งที่มีที่เป็นขึ้นทุกอย่างในโลกนี้เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทุกอย่างดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงต้องเกิดดับเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับคู่กันไปในขณะเดียวกัน นี้เป็นตัวธรรมดาหรือเป็นธรรมะของทุก ๆ สิ่งทุก ๆ อย่างในโลก ที่มีเกิดขึ้นก็ต้องมีดับ นี้แหละคือตัวสังขาร และเมื่อเห็นสังขารและเห็นเกิดดับของสังขารจึงชื่อว่าเห็นทุกข์ ซึ่งเป็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ก็คือทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนานั้นเอง

แต่ว่าความรู้ที่ผุดขึ้นแก่ท่านนั้น ไม่ได้อิงพยัญชนะถ้อยคำในปฐมเทศนา แต่ว่าเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอรรถรส หรือเป็นสาระคือแก่นสารของเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น อันจะเปรียบได้ว่า เทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหรือที่พระสาวกแสดงกันต่อมาก็ตาม ซึ่งทุก ๆ คนได้สดับตรับฟัง ได้เล่าเรียนศึกษาได้ท่องบ่นจำทรง ก็เหมือนอย่างอาหารที่จัดใส่ไว้ในสำรับ และที่ทุกคนก็ตักหยิบบริโภคคือนำเข้าใส่ปาก อาหารเหล่านี้ก็รวมกันและกลืนลงไปสู่ท้อง เมื่อเข้าไปสู่ท้องแล้วก็ต้องย่อยให้โอชะของอาหารนั้นแผ่ไปเลี้ยงร่างกาย ถ้าหากว่าไม่ย่อยเอาโอชะของอาหารนั้นไปเลี้ยงร่างกาย อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นไม่ย่อยก็กลายเป็นพิษ ทำให้ปวดท้อง ทำให้เป็นโรค ต่อเมื่อย่อยเอาโอชะไปเลี้ยงร่างกาย และส่วนกากนั้นก็เป็นอาหารเก่าถ่ายทิ้งต่อไป ใช้แต่โอชะของอาหารนั้นไปเลี้ยงร่างกายเท่านั้นดังนี้ อาหารนั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์ แผ่ไปเลี้ยงร่างกายได้ ธรรมะที่ฟังก็ฉันนั้น ก็เหมือนอย่างอาหารที่ยังใส่อยู่ในสำรับ แม้ที่หยิบใส่ปากเคี้ยวก็เป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ แต่ว่าที่จะเป็นธรรมะที่เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมขึ้นนั้น จะต้องใช้ปัญญาย่อย ย่อยให้เหลือแต่โอชะ โอชะของถ้อยคำ โอชะของปริยัติ โอชะของแบบแผน ส่วนที่เป็นกากที่ไม่ใช่โอชะนั้นก็วางทิ้งไป ให้เหลือแต่โอชะ

ฉันใดก็ดี เมื่อท่านพระโกณฑัญญะฟังธรรม ท่านก็มิได้จับเอาพยัญชนะถ้อยคำมิได้จับเอาปริยัติ แต่ว่าย่อยปริยัติคือย่อยถ้อยคำนั้นด้วยปัญญาที่พิจารณา จนได้โอชะของปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าผุดขึ้นแก่ท่าน คือท่านเห็นเกิดดับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นความเห็นเกิดดับที่ผุดขึ้นมา เพราะฉะนั้น ข้อความในธรรมจักษุของท่านพระโกณฑัญญะนั้น จึงคล้าย ๆ กับเป็นคนละเรื่องกับปฐมเทศนา แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นคนละเรื่อง แต่เป็นตัวโอชะของปฐมเทศนานั้น อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ที่จะเห็นธรรมะได้นั้นก็อาศัยถ้อยคำนั่นแหละ อาศัยปริยัตินั่นแหละ แต่ว่าจับเอาโอชะของปริยัติของถ้อยคำนั้นได้ เป็นสาระคือตัวแก่นสารจริง ๆ ให้ความรู้ดั่งนี้ผุดขึ้น นั่นแหละจึงจะเป็น ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรมเป็น วิชชา

และเมื่อเป็นวิชชาแล้วก็สิ้นสงสัย ไม่ต้องคิดปรุงแต่งกันอีกต่อไป แต่ที่ยังต้องปรุงแต่งกันอยู่นั้น ก็เพราะยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ในข้อนี้เห็นได้ธรรมดาทั่วไป ดังเช่นเมื่อเห็นอะไรทางตา เพราะอวิชชาคือไม่รู้ในรูปที่ตาเห็นนั้น จึงได้ยึดถือและก็ปรุงแต่งรูปนั้น ว่านี่สวยนี่งามนี่ไม่สวยนี่ไม่งาม นี้เป็นสังขารคือปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว แต่งให้รูปที่ตาเห็นนั้นว่างามบ้างไม่งามบ้าง และเมื่อแต่งให้เห็นว่างามบ้างไม่งามบ้างขึ้นแล้ว กิเลสก็เกิดขึ้นจับทันที

เมื่อแต่งให้เห็นว่างาม ราคะ ความติดความยินดี โลภะ ความโลภอยากได้ก็บังเกิดขึ้น

เมื่อเห็นว่าไม่งาม ก็ไม่สนใจ หรือว่า โทสะ ปฏิฆะ ความหงุดหงิดกระทบกระทั่งขัดเคืองก็บังเกิดขึ้น ก็เป็นความปรุงแต่งที่เพิ่มเติมขึ้นไปอีก

เหล่านี้สังขารทั้งนั้น คือใจปรุงขึ้นทั้งนั้น ว่างามก็ใจปรุงขึ้น ว่าไม่งามก็ใจปรุงขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังมีอวิชชาคือไม่รู้ คือไม่รู้ว่านี่คือสังขาร รูปที่ตาเห็นนี้คือสังขารเป็นสิ่งที่เกิดดับ เห็นรูปนั้นก็เป็นเกิด แล้วก็รูปนั้นก็ดับทันที คือหมายความว่าการเห็นนั้นเป็นปัจจุบันแล้วก็เป็นอดีตไปทันที เมื่อเป็นอดีตก็คือว่าดับไปแล้ว อันที่จริงนั้นเมื่อคนเห็นอะไรทางตา รูปที่ตาเห็นนั้นก็เกิดดับไปทันทีในขณะนั้น และเห็นรูปอื่นขึ้นอีกก็เกิดดับไปทันทีในขณะนั้น แต่คราวนี้ยังไม่ดับอยู่ในใจ เพราะว่าจิตใจนี้ยังมีอวิชชาคือไม่รู้ว่านี่คือตัวทุกข์ เป็นตัวสังขาร เป็นสิ่งที่เกิดดับ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงยึดถือ ยึดถือเอารูปนั้นมาตั้งอยู่ในใจ

เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงไม่ดับอยู่ในใจ เป็นที่ตั้งของราคะบ้าง ของโทสะบ้าง หรือว่าของโลภะบ้าง โทสะบ้างสืบต่อไป นี้เป็นสังขารตัวปรุงแต่งทั้งนั้น คราวนี้เมื่อเห็นรูปอะไรทางตาแล้วรู้ทันทีว่าเกิดดับ รูปที่เห็นในบัดนี้เกิดในบัดนี้ก็ดับไปในบัดนี้แล้ว คือผ่านไปแล้วเป็นอดีตไปแล้ว ถ้าเห็นเกิดดับทันทีดั่งนี้แล้ว จะไม่เกิดความปรุงแต่ง คือไม่ยึดเอารูปที่ดับไปแล้วนั้นมาปรุงแต่งในใจว่างามหรือไม่งาม และก็เกิดชอบหรือเกิดชังขึ้นมา ก็เป็นสังขารคือปรุงแต่งสืบต่อไป อวิชชาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารคือปรุงแต่งขึ้นดั่งนี้ แต่ว่าถ้ารู้แล้วก็จะหยุดปรุงแต่งทันที ไม่ปรุงแต่ง ปล่อยให้รูปที่ตาเห็นนั้น รู้ว่าดับไปแล้ว เสียงที่ได้ยินก็ดับไปแล้ว จะเป็นเสียงสรรเสริญเสียงนินทาก็ดับไปแล้ว กลิ่นรสโผฏฐัพพะเรื่องราวที่บังเกิดขึ้นในใจที่คิดที่นึก เกิดก็ดับไปแล้ว คือเป็นอดีตไปแล้วทันทีคู่กันไปกับเกิด เกิดดับเกิดดับไปทันที ดังนี้เรียกว่า ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม เมื่อเป็นวิชชาขึ้นมาดังนี้แล้ว ก็จะหยุดไม่ปรุงแต่งในสิ่งเหล่านี้ ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วก็ชอบแล้วก็ชังกันเป็นต้นต่อไป ซึ่งเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ชอบหรือชังเป็นต้นต่อ ๆ ไปนั้น ก็เป็นความปรุงความแต่งทั้งสิ้นเป็นสังขารทั้งสิ้น คือใจนี้เองปรุงขึ้นแต่งขึ้น แต่งเอาสิ่งที่ผ่านไปแล้วว่ายังมีอยู่ อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญคือไม่เห็นเกิดดับ

ความเห็นเกิดดับเป็นธรรมจักษุ

เพราะฉะนั้น ความเห็นเกิดดับที่เป็นธรรมจักษุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ฟังธรรมะทุกข้อทุกบทที่จะเป็นตัวธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมนั้นซึ่งก็คือเห็นเกิดดับนี้เอง และเมื่อเห็นเกิดดับ ก็ไม่ใช่หมายความว่า เห็นเกิดดับเฉพาะตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แต่ว่าทำให้เห็นเกิดดับในธรรมะคือในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ในโลกที่เป็นปัจจุบันนี้ทุกอย่าง คือสิ่งที่มาประสบทางตาเป็นรูปที่ตาเห็น มาประสบทางหูเป็นเสียงที่หูได้ยิน เป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะที่จมูกที่ลิ้นที่กายได้ทราบ และเป็นธรรมะเรื่องราวต่าง ๆ ที่ใจได้คิดนึกที่รู้เหล่านี้ทั้งสิ้น ที่ประสบพบผ่านอยู่ทั้งขณะนี้ เมื่อประสบพบผ่านขึ้นเมื่อใด ก็เกิดดับไปเมื่อนั้นทันที คู่กันไปเลย ไม่มีเหลืออยู่ นี้เป็นวิชชา เมื่อเป็นวิชชาขึ้นมาดั่งนี้ได้จริง ๆ แล้ว ก็จะหยุดปรุงหยุดแต่ง หยุดยึด ไม่ยึดให้เป็นสังโยชน์คือข้อที่ผูกพันจิตใจอยู่ จิตใจไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ผูกพันจิตใจอยู่ และไม่ปรุงแต่งว่าสิ่งเหล่านั้นงามหรือไม่งามดีหรือไม่ดี ชอบใจหรือไม่ชอบใจ กิเลสที่เป็นกองราคะโทสะโมหะ ก็ไม่บังเกิดขึ้น ซึ่งล้วนเป็นสังขารคือสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น

ดับอวิชชา ดับสังขาร ด้วยวิชชา

เพราะฉะนั้น ธรรมจักษุที่เป็นตัวเห็นทุกข์นั้น จึงต้องเห็นเกิดดับ และเมื่อเห็นเกิดดับก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ ฉะนั้น จะเห็นทุกข์ได้ก็ต้องเห็นสังขาร คือเห็นว่าเป็นสังขาร สิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อเห็นสังขารก็จะเห็นเกิดดับของสังขาร เมื่อเป็นดั่งนี้รวมกันเข้าก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ ต้องอาศัยวิชชาจึงจะเห็นทุกข์ เห็นสังขาร เห็นเกิดดับ และเมื่อเห็นเป็นวิชชาขึ้นดังนี้ก็หยุดปรุงหยุดแต่ง หยุดกิเลสได้ในสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ในโลก แต่ที่ทุกคนยังต้องยึด ยังต้องปรุง ยังต้องแต่ง เป็นตัวสังขารอยู่นี้ก็เพราะอวิชชาคือไม่รู้ คือไม่เห็นเกิดดับของสิ่งทั้งหลายในโลก ในขณะที่ประสบพบผ่านทางตาทางหูเป็นต้น จึงต้องยึดต้องปรุงต้องแต่งก็ใจนี้เอง นี้เป็นสังขารคือการผสมปรุงแต่งเท่านั้นที่บังเกิดขึ้นจิตใจ อวิชชาจึงทำให้เกิดสังขารขึ้น ดังนี้

และก็กล่าวได้ว่าก็เพราะอวิชชานี้เองก็จะทำให้เกิดวิชชาขึ้น คือทำให้เกิดปรุงแต่งเพื่อที่จะรู้จะเห็นขึ้นดังที่เมื่อได้ฟังพระธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้เช่นดังที่นำมาแสดงนี้ก็ตั้งใจที่ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา หรือในมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมา และเมื่อปฏิบัติได้ ดังนี้ ก็จะได้วิชชาคือความรู้ ตรงกันข้ามกับอวิชชา คืออวิชชาก็จะดับไป วิชชาก็จะบังเกิดขึ้น ก็จะทำให้หยุดปรุง หยุดแต่งในที่สุดได้

เพราะฉะนั้น ก็กล่าวได้อีกว่า ก็เพราะอวิชชานี้เองเป็นปัจจัยให้เกิดปรุงแต่ง เพื่อที่จะรู้เป็นวิชชาขึ้นมา และเมื่อเป็นวิชชาขึ้นมา อวิชชาดับ ก็หยุดปรุงหยุดแต่ง เพราะว่ารู้แล้วก็ไม่ต้องปรุงแต่งกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเห็นเกิดเห็นดับทุก ๆ อย่างที่ประสบพบผ่านทางตาทางหูเกิดดับอยู่ในปัจจุบัน ทุกอย่างไม่มีอะไรเหลืออยู่ ก็ไม่มีอะไรที่จะไปยึดถือ เพราะว่าดับไปแล้วจึงไม่ต้องคิดปรุงคิดแต่งว่างามหรือไม่งาม ดีหรือไม่ดี แล้วก็เกิดยินดีหรือเกิดความยินร้าย ก็เป็นอันว่าหมดเรื่องกันไป เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นเหตุให้เกิดสังขารคือความปรุงแต่ง และเมื่อเป็นวิชชาขึ้นมาก็หยุดสังขารคือความปรุงแต่งได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๑๓ เมษายน ๒๕๒๘

-------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 23 กันยายน 2555    
Last Update : 23 กันยายน 2555 10:03:48 น.
Counter : 1028 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๒ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออวิชชา สังขาร

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๓๒ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออวิชชา สังขาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรในข้อสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบมาโดยลำดับ ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่านถึงอธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิ เมื่อท่านได้ตอบไปตอนหนึ่งแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามปริยายคือทางอธิบายอย่างอื่นต่อไปอีกซึ่งท่านก็ตอบไปโดยลำดับตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น โดยยกเอาธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเหล่านี้มาแสดงอธิบายทีละข้อ จำแนกออกเป็น ๔ ตามแนวแห่งอริยสัจทั้ง ๔ ทุกข้อ จึงเท่ากับว่าพระเถราธิบายนี้ได้แสดงอธิบายอริยสัจ ๔ หลายนัยหลายปริยายอย่างละเอียด ไปตามข้อธรรมะที่เนื่องกันเป็นสายแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น โดยจับข้างปลายคือชรามรณะขึ้นมาจนถึงอวิชชาอาสวะ และก็ได้แสดงอธิบายอวิชชาอาสวะนี้ว่าต่างเป็นปัจจัยของกันและกัน

พระพุทธาธิบายในปฏิจจสมุปบาทนี้จบลงแค่อวิชชาเป็นส่วนมาก ท่านพระสารีบุตรได้จับเอาพระพุทธาธิบายหรือพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในที่อื่นมาเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง คืออาสวะ อวิชชาเกิดเพราะอาสวะ ก็จบลงแค่อาสวะ แต่อาสวะเกิดเพราะอะไรก็ต้องกลับมาหาอวิชชาอีกว่าเกิดเพราะอวิชชา ซึ่งได้แสดงอธิบายในที่นี้แล้วว่า อวิชชาเกิดเพราะอาสวะอย่างไร และอาสวะเกิดเพราะอวิชชาอย่างไร จึงมาถึงข้อที่จะอธิบายต่อไปตามพระเถราธิบายว่า เพราะอวิชชาเกิด จึงเกิดสังขาร และคำว่าสังขารนั้นก็ได้อธิบายในที่นี้แล้วว่า ได้แก่ สังขาร ๓

กายสังขาร ได้แก่ ลมอัสสาสะปัสสาสะ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
วจีสังขาร ได้แก่ วิตกวิจารความตรึกความตรอง
จิตตสังขาร ได้แก่ สัญญาเวทนา

ในวันนี้จะได้อธิบายว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หรือว่า เพราะอวิชชาเกิดสังขารจึงเกิดอย่างไร จึงจะต้องอธิบายคำว่าสังขารก่อน

สังขารให้หมวดธรรมต่าง ๆ

คำว่า สังขาร นั้นใช้ในหมวดธรรมะหลายหมวด เช่น
สังขาร ๒ คือสังขารที่มีใจครองหรือมีผู้ครอง เรียกว่า อุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง หรือไม่มีผู้ครอง เรียกว่า อนุปาทินนกสังขาร
สังขารในเบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งหมายถึงความคิดปรุงหรือความปรุงคิดของจิตใจ
สังขารที่แสดงไว้ในโลก ๓ คือ โอกาสโลก โลกคือโอกาส อันได้แก่ พื้นพิภพนี้ สังขารโลก โลกคือสังขาร อันได้แก่ทุก ๆ สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นจากพื้นพิภพนี้ ตลอดจนถึงเป็นอุปาทินนกสังขารและอนุปาทินนกสังขารดังกล่าว สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ โดยตรงก็หมายถึงจิตใจซึ่งครองสังขารอยู่ ซึ่งยังมีความข้องความติด
สังขาร ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ที่ท่านพระสารีบุตรได้ยกมาอธิบายในข้อว่าสังขารนี้
และ สังขาร ๓ อีกหมวดหนึ่ง ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญก็คือทำบุญ อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งกรรมที่มิใช่บุญคือบาป ก็คือทำบาป อเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งธรรมะที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น
สำหรับในข้อสังขารที่ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หรือเพราะอวิชชาเกิดสังขารเกิดนี้ ก็มีอธิบายถึงสังขาร ๓ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร จึงรวมเข้าได้ว่าท่านยกเอาสังขาร ๓ ทั้ง ๒ หมวดนี้มาอธิบายสังขารในที่นี้

อธิบายความหมายของสังขารที่เป็นกลาง ๆ

แต่ในเบื้องต้นนี้จะได้อธิบายเป็นกลาง ๆ ก่อน ว่าสังขารก็คือสิ่งประสมปรุงแต่งหรือการประสมปรุงแต่ง ทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่างที่เป็นไปตามจิตก็ตาม เป็นไปทางกาย หรือเป็นไปอยู่ในโลกธาตุทั้งสิ้น ที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ ทั้งที่เป็นอย่างละเอียด ล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น ถ้าหากว่าไม่มีสิ่งผสมปรุงแต่งหรือไม่มีการผสมปรุงแต่ง ก็จะไม่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่อะไรทั้งสิ้น จะไม่ปรากฏสัตว์บุคคล จะไม่ปรากฏต้นไม้ภูเขา จะไม่ปรากฏโลกธาตุนี้ ไม่ปรากฏพื้นพิภพนี้ ไม่ปรากฏกลางวันกลางคืน ไม่ปรากฏหนาวร้อนลมฝน ไม่ปรากฏดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ดวงดาวอะไรทั้งสิ้น แต่ที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ดังกล่าว ตลอดจนถึงสัตว์บุคคลดั่งเราทั้งหลาย ทุก ๆ คนที่มีกายมีใจ ก็เพราะมีการผสมปรุงแต่ง จึงมีสิ่งผสมปรุงแต่งปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้น ดังเช่นตัวอย่างที่ยกมากล่าวแล้ว และการผสมปรุงแต่งนี้ย่อมมีอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด หยุดทีหนึ่งก็คือว่าแตกสลาย หรือว่าดับไปทีหนึ่ง เกิดก็คือผสมปรุงแต่งขึ้นใหม่แล้วก็ดับ ในระหว่างเกิดและดับ ซึ่งเรียกว่าตั้งอยู่ ก็ไม่หยุดผสมปรุงแต่ง ไม่หยุดความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

สังขารมีความปรุงแต่งที่เป็นสันตติ

ดังจะพึงเห็นได้ว่า ร่างกายของทุก ๆ คนนี้เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งอย่างหนึ่งต้องมีความปรุงแต่งติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ดังเช่นต้องหายใจเข้าหายใจออกติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่หมายความว่า สืบเนื่องกันเป็นอันเดียวเพราะว่ามีเกิดมีดับต่อเนื่องกันไป คือหมายความว่าเกิดดับแล้วก็เกิด แล้วก็ดับ แล้วก็เกิด ติดต่อกันไป อันเรียกว่า สันตติ

ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ เป็นตัวอย่างที่ปรากฏพิจารณาเห็นได้ คือเอาเป็นว่าหายใจเข้านี่เป็นเกิด และหายใจออกนั้นเป็นดับ ก็สมมติเท่านั้น แต่อันที่จริงนั้นหายใจเข้าเองก็เกิดดับเกิดดับ เข้าไปเช่นทีแรกอยู่ที่ปลายจมูก ก็แปลว่าเกิดที่ปลายจมูกแล้วก็เข้าไปก็ดับจากปลายจมูกเข้าไปถึงจุดหนึ่งก็ไปเกิดที่นั่นจุดหนึ่ง ผ่านจุดนั้นไปก็ดับจากจุดนั้นไปเกิดในจุดอื่นต่อไปอีก หายใจออกก็เหมือนกัน ก็แปลว่าเกิดเหมือนกัน คือลมหายใจนั้นในส่วนที่นำออก ก็เกิดตั้งแต่จุดออกทีแรก ผ่านจุดนั้นมาก็ดับจากจุดนั้นอีกจุดหนึ่งก็มาเกิดที่จุดนั้น ผ่านแล้วก็ดับที่จุดนั้นมาสู่อีกจุดหนึ่งก็มาเกิดอีกจุดหนึ่ง เรื่อยมาดั่งนี้ จนถึงปลายจมูกก็พ้นปลายจมูกไป ดั่งนี้คือสังขาร ปรุงแต่งไม่หยุด ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้ นอกจากนี้อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ ที่แบ่งเป็นอาการ ๓๑ หรืออาการ ๓๒ หรือว่าจะแบ่งตามหลักสรีรศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นส่วนภายนอกทั้งที่เป็นส่วนภายใน ล้วนมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดทุกส่วนทุกสิ่ง ไม่มีหยุดการปรุงแต่งชีวิตจึงดำรงอยู่

ดับการปรุงแต่ง ดับสังขาร

เพราะฉะนั้น สังขารคือความปรุงแต่งนี้จึงเป็นตัวชีวิตของร่างกายนี้ เมื่อหยุดการปรุงแต่งโดยที่ไม่มีสันตติคือความสืบต่อ ก็แปลว่าชีวิตนี้ดับ ซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่า กายแตกทำลาย

กาย นั้นแปลว่า ประชุม ส่วนทั้งหลายที่มาประชุมกันเป็นกายนี้แตกทำลายจึงหยุดปรุงแต่ง ร่างกายนี้จึงเริ่มเป็นสิ่งที่เน่าเปื่อยผุพัง ต้องนำไปเผาไปฝัง แม้จะไม่เผาก็ผุพังไปเอง ซึ่งในที่สุดก็แตกสลายไปหมด เพราะเหตุว่า หยุดความเป็นสังขารคือหยุดความปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสยกเอาลมอัสสาสะปัสสาสะขึ้นมา ว่าเป็นตัว กายสังขาร เครื่องปรุงแต่งกายเป็นตัวอย่างให้พิจารณาเห็นได้

กายนี้ดำรงชีวิตอยู่ก็เพราะมีลมหายใจเข้าลมหายใจออก ลมหายใจเข้าลมหายใจออกดับ ก็แปลว่าเครื่องปรุงกายนี้ดับ กายนี้ก็แตกสลาย จิตใจก็เหมือนกัน มีเครื่องปรุงแต่งคือมีวิตกมีวิจาร ความตรึกความตรองหรือความคิด ซึ่งเป็นเหตุให้พูดออกมาเป็นวาจา วาจาที่พูดนี้ก็เพราะมีวิตกวิจารคือความตรึกความตรอง จึงเป็นอันว่าต้องมีวิตกวิจาร ความตรึกความตรองขึ้นก่อน วาจาจึงจะออกมา ถ้าหากว่าไม่มีความตรึกความตรองก็ไม่มีวาจา เพราะฉะนั้น ความตรึกความตรอง จึงเป็นเครื่องปรุงวาจา ที่เรียกว่า วจีสังขาร

วาจานี้เป็นผลที่ออกมาจากวิตกวิจารความตรึกความตรอง และจิตที่มีความคิดไปต่าง ๆ ดังเช่นมีวิตกวิจารความตรึกความตรอง ซึ่งเป็นความตรึกความตรองของจิตนั้นเอง ก็เพราะว่ามีสัญญามีเวทนา สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ เวทนาก็มีความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เพราะมีสัญญาเวทนานี้ จิตจึงมีความคิดหรือมีวิตกมีวิจารความตรึกความตรองไปต่าง ๆ ถ้าไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา จิตก็ไม่ปรากฏ คือจะไม่มีความคิด ไม่มีความตรึกความตรองต่าง ๆ เพราะฉะนั้น สัญญาเวทนานี้จึงเป็น จิตตสังขาร เครื่องปรุงจิต

อันคนที่จะตายนั้นท่านแสดงไว้ว่า ดับวจีสังขาร คือดับวิตกวิจารความตรึกความตรองก่อน วาจาจึงดับ นิ่งไม่พูด เพราะไม่มีความตรึกความตรอง แต่ว่าเพียงนี้ยังไม่ตาย ต่อไปก็ดับกายสังขาร คือดับลมอัสสาสะปัสสาสะ หยุดหายใจ แต่ว่าแม้จะดับลมหายใจดับกายสังขารก็ยังไม่ตาย จะต้องดับสัญญาเวทนาซึ่งเป็นตัวจิตตสังขาร เมื่อดับสัญญาเวทนาที่เป็นตัวจิตตสังขาร นั่นแหละจึงจะตาย

ซึ่งข้อนี้ก็ตรงกับความรู้ในปัจจุบันที่ว่า แม้ว่าจะดับลมหายใจเข้าออก แต่ว่าถ้าสมองยังไม่ดับคนก็ยังไม่ตาย ต้องสมองดับ เพราะฉะนั้น จึงมาตรงกับที่ว่าจะต้องดับสัญญาเวทนาซึ่งเป็นจิตตสังขาร ดับจิตตสังขาร ดับสัญญาเวทนานั่นแหละจึงจะตาย นี้คือสังขาร ๓

ทำบุญ ทำบาป ทำสมาธิ เป็นสังขาร

และเมื่อสังขาร ๓ ดังกล่าวนี้ยังมีอยู่ คนยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ มีวิตกวิจารอยู่ มีสัญญาเวทนาอยู่ ร่างกายก็ยังดำรงอยู่และเป็นไปได้ เดินยืนนั่งนอนได้ อาการต่าง ๆ ในร่างกายนี้ใช้ได้ มือเท้าใช้ได้ จักษุประสาทโสตประสาทเป็นต้นใช้ได้ และพูดได้คิดอะไรได้ก็เพราะว่าสังขารทั้ง ๓ นี้ยังดำรงอยู่ และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงทำดีได้ทำชั่วได้ ตลอดจนถึงทำสมาธิจนถึงได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นได้ เพราะฉะนั้น จึงมี ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบาป คือทำบุญทำบาป อเนญชาภิสังขาร ทำสมาธิกันได้ ดังที่มาปฏิบัติทำสมาธิกันนี้

ฉะนั้น แม้บุญแม้บาปแม้สมาธิที่ทำกันนี้ ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องแต่งคือต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่เกิดเป็นบุญไม่เกิดเป็นบาปไม่เกิดเป็นสมาธิที่ปรุงแนบแน่น ต้องทำคือต้องปรุงต้องแต่งให้เป็นบุญขึ้นมาจึงเป็นบุญ ให้เป็นบาปขึ้นมาจึงเป็นบาป ให้เป็นสมาธิขึ้นมาจึงเป็นสมาธิคือทำได้

มรรค ๘ เป็นยอดของสังขตธรรม

แม้มรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ให้ปฏิบัติเป็นตัวมรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทุกข้อก็เป็นสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง คือต้องปฏิบัติ ต้องกระทำ ต้องปฏิบัติอบรมทิฏฐิ คือความเห็นให้เห็นถูกให้เห็นชอบ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องปฏิบัติอบรมความดำริให้ถูกให้ชอบ จึงจะเป็นสัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ต้องปฏิบัติต้องกระทำกรรมทางวาจาให้ถูกให้ชอบ เว้นจากที่ไม่ถูกไม่ชอบจึงจะเป็นสัมมาวาจา ต้องปฏิบัติต้องกระทำกรรมทางกายให้ถูกให้ชอบเว้นจากที่ไม่ถูกไม่ชอบ จึงจะเป็นสัมมากัมมันตะ ทางอาชีพก็เหมือนกัน จึงจะเป็นสัมมาอาชีวะ ความเพียรก็เหมือนกัน จึงจะเป็นสัมมาวายามะ สติก็เหมือนกัน จึงจะเป็นสัมมาสติ สมาธิก็เหมือนกัน จึงจะเป็นสัมมาสมาธิ คือต้องทำต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ทำไม่ปฏิบัติ มรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสเอาไว้ว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นยอดของสังขตธรรม ธรรมะที่ปรุงแต่งขึ้น เพราะว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้ เมื่อได้ปรุงแต่งขึ้นจนเป็นมรรคสมังคี กำจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็เสร็จกิจ ไม่ต้องปรุงแต่งกันอีกต่อไป จึงชื่อว่าเป็นยอด เหมือนอย่างขึ้นไปถึงยอดไม้แล้ว ก็ไม่ต้องขึ้นต่อไป เมื่อขึ้นไปถึงมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นมรรคสมังคีแล้ว กำจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็เป็นอันว่าหมดกิจ ไม่ต้องขึ้นไม่ต้องทำกันต่อไป เสร็จกิจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง แต่ว่าปรุงแต่งมรรคมีองค์ ๘ ก็นับเข้าว่า เป็นปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ และก็นับเข้าในข้ออเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งอเนญชาเพราะมีสมาธิอยู่ด้วย

สังขารเกิดเพราะอวิชชา

สังขารทั้งปวงนี้คือสิ่งผสมปรุงแต่ง การผสมปรุงแต่งทั้งปวงนี้มีเพราะอวิชชา เมื่อมีอวิชชาจึงมีการผสมปรุงแต่ง ดังจะพึงเห็นได้ว่า

เพราะมีอวิชชา จึงได้มีชาติความเกิดขึ้นมาเป็นสังขาร ๓ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร
และ เมื่อมีสังขาร ๓ ก็แปลว่ามีขันธ์ ๕ บริบูรณ์ มีกายใจบริบูรณ์ ก็ทำบุญทำบาปทำสมาธิกันได้ ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้
และ การปฏิบัติแม้ที่เป็นบุญ ก็เพราะว่าเพื่อที่จะชำระบาปชำระกิเลส ซึ่งมีอวิชชานี่แหละเป็นหัวหน้า
ถ้าหากว่า ไม่มีอวิชชาแล้ว คือดับอวิชชาเสียได้แล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญ ไม่ต้องทำบาปกันต่อไป เรียกว่า เสร็จกิจ

การที่ต้องทำบุญอยู่นั้น ก็เพราะว่ามีบาปที่จะต้องละ มีกิเลสที่จะต้องละ มีอวิชชาที่จะต้องละ จึงต้องทำบุญ ต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ต้องปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญากัน และเมื่อยังมีอวิชชาก็ต้องทำบาป เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงต้องทำบาปทำบุญกันอยู่ ต้องทำสมาธิกันอยู่ ทำบุญก็เพื่อละบาปละกิเลส และจะทำบาปก่อกิเลสกันอยู่ก็เพราะยังมีอวิชชา เพราะฉะนั้น จึงแปลว่าต้องมีกิจที่จะต้องทำ

จิตหยุดปรุงแต่งเมื่อสิ้นอวิชชา

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า พึงอบรมศีลสมาธิปัญญา ตราบเท่าจนถึงสิ้นความติดใจยินดี บรรลุนิพพาน ดับกิเลสและกองทุกข์ได้หมดสิ้น คือแปลว่าเมื่อดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ดับอวิชชาได้แล้ว อวิชชาเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหลาย หรือจะว่าอาสวะเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหลายก็ได้ เมื่อดับได้แล้วก็เป็นอันว่าเสร็จกิจ ไม่ต้องปรุงไม่ต้องแต่งกันต่อไป ดังที่ตรัสเอาไว้ว่า จิตถึงวิสังขาร คือธรรมะที่ปราศจากความปรุงแต่ง ไม่มีความปรุงแต่งอันหมายถึงนิพพาน เพราะสิ้นตัณหาทั้งหลาย

ก็เป็นอันว่าจิตนี้หยุดปรุงแต่งเพราะละอวิชชาได้ จิตประกอบด้วยวิชชา คือความรู้แจ่มแจ้งถูกต้องตามความจริง วิมุตติ คือความหลุดพ้น เรียกว่าเป็นจิตที่รู้พ้น จิตนี้รู้อะไร ๆ ทุกอย่างทางอายตนะตาหูเป็นต้น แต่รู้แล้วก็ไม่ยึด หลุดพ้นทุกอย่าง เป็นจิตที่รู้พ้น จิตที่รู้ก็คือจิตที่มีวิชชา จิตที่พ้นก็คือจิตที่มีวิมุตติ รู้พ้น จึงเป็นจิตที่บรรลุวิสังขารที่เรียกว่านิพพาน คือธรรมะที่ไม่มีสังขาร ไม่ปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น ไม่ปรุงแต่งบุญไม่ปรุงแต่งบาป ไม่ปรุงแต่งอเนญชาทั้งหมด อยู่กับรู้และพ้น ในเมื่อวิบากขันธ์นี้ยังดำรงอยู่ ก็คงมีกายสังขารปรุงแต่งกาย อย่างหายใจเข้าหายใจออก มีวจีสังขารคือวิตกวิจาร ตรึกตรอง พูด มีจิตตสังขาร สัญญาเวทนา คิดตรึกตรองเป็นต้น

ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว จิตของพระองค์ดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นแล้ว ดับอวิชชาได้แล้ว จิตของพระองค์อยู่กับวิชชาวิมุตติ แต่พระกายก็ยังหายใจเข้าหายใจออก และยังทรงมีวิตกวิจาร แสดงธรรมะสั่งสอนก็เป็นพระวาจาที่แสดงออกมา วิตกวิจารหรือวิชชาคือความรู้ วิมุตติคือความพ้น จิตของพระองค์ก็ยังเป็นจิตตสังขารมีสัญญาเวทนานี้ปรุงแต่งจิตให้คิด จึงทรงตรึกตรอง ทรงพระญาณดูสัตว์ทั้งหลายในตอนเช้า เมื่อผู้ใดเข้าในข่ายของพระญาณว่าเป็นเวไนยชน คือบุคคลที่พึงแนะนำอบรมได้ ก็เสด็จไปทรงแสดงธรรมะโปรด ก็เป็นอันว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ของพระองค์นั้นเป็นวิบากขันธ์ที่เหลืออยู่และก็ทรงใช้วิบากขันธ์ที่เหลืออยู่นี้ด้วยพระมหากรุณา ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนโปรดให้เวไนยนิกรพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ตามพระองค์ซึ่งต้องใช้อยู่ตลอดเวลาถึง ๔๕ ปี จึงดับขันธปรินิพพาน ดับกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร แต่เพราะสิ้นกิเลสหมดสิ้นแล้ว จึงไม่ทรงเกิดอีก ไม่ก่อเกิดกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารคือขันธ์ ๕ หรือนามรูปขึ้นอีก เป็นผู้ไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็เป็นผู้ที่ไม่แก่ไม่ตาย พ้นจากถ้อยคำที่จะพูดถึงว่าเป็นอะไร เพราะเมื่อพูดถึงว่าเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสังขารขึ้นมา ต้องเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาจึงจะพูดถึงได้ แต่เมื่อไม่เป็นสังขาร ไม่เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ไม่เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา ก็ไม่มีอะไรจะพูดถึง อาจกล่าวได้แต่เพียงว่า เป็นอมตธรรม ธรรมะที่ไม่ตาย ที่เป็นวิสังขาร ไม่มีการปรุงแต่งหรือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด แต่ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ก็จะต้องมีสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง กายผสมปรุงแต่ง ต้องทำบุญต้องทำบาปต้องทำสมาธิ ตลอดจนถึงต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้นกันไป ดับอวิชชาได้แล้วก็ดับสังขารหรือสิ่งผสมปรุงแต่งได้หมดสิ้น

เพราะฉะนั้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร สิ่งผสมปรุงแต่งหรือการผสมปรุงแต่งดั่งนี้ และสิ่งผสมปรุงแต่งหรือการผสมปรุงแต่งอันเรียกว่าสังขารนี้ต้องมีอยู่ตลอดเวลา ดังชีวิตนี้ต้องมีการผสมปรุงแต่งกันอยู่ตลอดเวลาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หยุดเมื่อใดก็ดับชีวิตเมื่อนั้น

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๑๒ เมษายน ๒๕๒๘

-------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 15 กันยายน 2555    
Last Update : 15 กันยายน 2555 12:45:06 น.
Counter : 894 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๑ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออาสวะ อวิชชา

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๓๑ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออาสวะ อวิชชา

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรในข้อสัมมาทิฏฐิมาโดยลำดับ จนถึงในข้อสุดท้ายซึ่งได้แสดงอธิบายข้อว่า เพราะอวิชชาเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ และท่านก็ได้แสดงเหตุผลของธรรมะที่เป็นเหตุเกิดสืบเนื่องกันไปเหมือนดังลูกโซ่ โดยเฉพาะในข้อสุดท้ายนี้ เมื่อแสดงว่าเพราะอวิชชาเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ และเมื่อแสดงถึงเหตุปัจจัยที่สืบกันไปเหมือนดังลูกโซ่ ก็แสดงต่อไปว่า เพราะอาสวะเกิด จึงเกิดอวิชชา ก็เป็นอันว่าในหมวดสุดท้ายนี้อันเป็นยอดของปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น จึงต่างเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน อันได้แก่ อวิชชาและอาสวะ หรือ อาสวะและอวิชชา

เมื่อท่านแสดงถึงอวิชชา ก็จะต้องมีปัญหาว่า เพราะอะไรเกิดจึงเกิดอวิชชา ท่านจึงแสดงว่า เพราะอาสวะเกิดจึงเกิดอวิชชา
และมีปัญหาต่อไปอีกว่า เพราะอะไรเกิดจึงเกิดอาสวะ ท่านจึงแสดงว่า เพราะอวิชชาเกิดจึงเกิดอาสวะ

ก็เป็นอันว่าอาสวะกับอวิชชานี้เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน อันนับว่าเป็นเหตุปัจจัยสุดท้ายที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่จะแสดงสืบต่อขึ้นไปอีก และก็ได้แสดงอธิบายแล้วว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดอาสวะ หรือเพราะอวิชชาบังเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ จึงจะได้แสดงในทางที่กลับกันอีกครั้งหนึ่งว่า เพราะอาสวะเกิดจึงเกิดอวิชชาหรือเพราะมีอาสวะจึงมีอวิชชาบังเกิดขึ้น

จิตไม่มีสรีระสัญฐาน

ในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจไว้ก่อนข้อหนึ่งว่า บรรดาเหตุปัจจัยเหล่านี้ เหตุปัจจัยที่สุดยอดคืออวิชชากับอาสวะหรืออาสวะกับอวิชชา และเหตุปัจจัยที่สืบต่อกันไป รวมว่าทั้งหมดย่อมเป็นสิ่งที่เกิดได้เพิ่มเติมได้ และเป็นสิ่งที่ดับได้ จิตวิมุตติหลุดพ้นจากเหตุปัจจัยเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เนื้อแท้หรือธรรมชาติของจิตนั้นเป็นสิ่งที่ประภัสสรคือผุดผ่อง และเป็นธาตุรู้ที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ และจิตนี้ไม่มีสรีระสัณฐานเหมือนอย่างกาย แต่มีกายนี้เป็นที่อาศัยดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

อสรีรํ ไม่มีสรีระคือไม่มีร่างกาย ไม่ใช่วัตถุ
คูหาสยํ มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย

คูหาคือถ้ำนี้ พระอาจารย์ได้แสดงอธิบายคลุม ๆ ว่ากาย คือมีกายนี้เป็นที่อาศัย เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงมีกายและจิตซึ่งอาศัยกันอยู่ กายนั้นเป็นวัตถุประกอบด้วยธาตุที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ที่แสดงไว้ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งหมายถึงว่า

ส่วนที่แข้นแข็งในกายนี้ก็เรียกว่า ธาตุดิน
ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เรียกว่า ธาตุน้ำ
ส่วนที่อบอุ่นก็เรียกว่า ธาตุไฟ
ส่วนที่พัดไหวก็เรียกว่า ธาตุลม
และในบางพระสูตรยังเติมอีก ๑ ธาตุ คือ อากาศธาตุ ช่องว่าง คือบรรดาช่องว่างทั้งหลายในกายอันนี้ก็เรียกว่าอากาศธาตุ ธาตุคือช่องว่าง เป็นธาตุ ๕

แต่โดยมากแสดงไว้เพียงธาตุ ๔ เพราะอากาศธาตุคือช่องว่างนั้นไม่ใช่วัตถุ แต่ว่าเติมขึ้นอีกก็เพราะว่า ในกายนี้เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ย่อมมีอากาศธาตุ คือช่องว่างอยู่เป็นอันมาก เช่น ช่องตา ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก และช่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดจนถึงทุกขุมขน และช่องว่างเหล่านี้เองทำให้แบ่งขอบเขตของอวัยวะร่างกายเป็นส่วน ๆ ออกไปได้ เช่นว่านิ้วทั้ง ๕ ของบุคคลมีช่องว่างอยู่ในระหว่างจึงได้แบ่งออกได้เป็น ๕ นิ้ว ถ้าไม่มีช่องว่างอยู่ในระหว่างก็จะต้องรวมกันเป็นพืดแบ่งออกเป็น ๕ นิ้วไม่ได้ ร่างกายเช่นแขนทั้ง ๒ ขาทั้ง ๒ และทุกส่วนก็ต้องมีช่องว่างอยู่ในระหว่าง ๆ ทั้งนั้น จึงแบ่งออกได้เป็นส่วน ๆ ตลอดจนถึงอวัยวะภายใน เช่น เส้นเอ็น ตับ ปอด หัวใจ เป็นต้น ต่างก็มีช่องว่างในระหว่าง ๆ จึงทำให้แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ไปได้ และบรรดาช่องว่างอันนี้ถ้ายุบรวมเข้า ไม่ให้มีช่องว่างเลยแม้แต่น้อย ร่างกายของทุก ๆ คนที่ใหญ่โตอยู่เท่านี้จะเหลือเล็กนิดเดียว อย่างเช่นขนาดปลายไม้ขีด มีท่านหนึ่งแสดงว่าอย่างนี้ แต่ว่าที่ใหญ่โตปรากฏเป็นอาการต่าง ๆ ๓๑ หรือ ๓๒ เป็นต้น ก็เพราะมีช่องว่างอยู่เป็นอันมากเพราะฉะนั้น ในบางพระสูตรจึงได้ยกขึ้นเป็นอีกธาตุอันหนึ่ง เรียกว่าอากาศธาตุ ธาตุคือช่องว่าง นี้เป็นส่วนกายซึ่งมีสรีระ รูปร่างสัณฐานทรวดทรง

จิตเป็นธาตุรู้

แต่ว่าจิตไม่มีสรีระสัณฐานเหมือนอย่างกาย แต่ว่ามีคูหาเป็นที่อาศัย ที่ท่านอธิบายว่าก็คือมีกายนี้เป็นที่อาศัย จึงมีปัญหาว่าถ้าจิตไม่มีสรีระสัณฐาน มองเห็นไม่ได้จับต้องไม่ได้ก็จะรู้ได้อย่างไรว่ามีจิต ก็ตอบได้ว่ารู้ได้ที่ความรู้ เพราะจิตนี้เป็นธาตุรู้อะไร ๆ ได้ หากจะถามว่าจิตอยู่ที่ไหน ก็ตอบได้ว่า จิตอยู่ที่ตัวรู้ รู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น และจิตนี้เพราะเป็นธาตุรู้และไม่มีสรีระสัณฐาน จึงกำหนดได้ที่ตัวรู้หรือที่ความรู้ที่ทุก ๆ คนมีอยู่ดังกล่าว และนอกจากนี้ทุกคนก็รู้จิตใจของตัวเองได้ว่าจิตเป็นอย่างไร ตั้งต้นแต่จิตคิดอะไร ดำริอะไร ทุกคนก็รู้จิตของตัวเอง และเมื่อจิตคิดอะไรรู้อะไรแล้ว จิตชอบอะไร ชังอะไร อยากได้อะไร ไม่อยากได้อะไร หรือว่ายินดีอะไรยินร้ายอะไร หลงใหลอะไร ทุกคนก็รู้ และโดยที่จิตนี้เป็นธาตุรู้ ทุกคนจึงเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นไปได้ดั่งที่ทุก ๆ คนเรียนกันอยู่ ตั้งต้นแต่ขั้นอนุบาล ขั้นประถม ขั้นมัธยม ขั้นอุดม ตามหลักสูตรต่าง ๆ แต่ว่าเมื่อเรียนรู้อะไร ๆ สิ่งที่รู้นั้นก็ไม่มีสรีระสัณฐานอีกเช่นเดียวกัน จะบอกว่าความรู้ที่เรียนนั้นกว้างเท่าไร ยาวเท่าไร ใหญ่เท่าไร เหมือนอย่างวัตถุ เช่นว่าตึกรามบ้านช่องใหญ่เล็กหนึ่งชั้น สองชั้น สามชั้น กี่ห้อง อะไรเป็นต้น จะเอามาแสดงความรู้ที่เรียนหรือที่รู้ว่ากว้างเท่านั้นยาวเท่านี้ใหญ่เท่านั้นนี้หาได้ไม่ ความรู้ที่เรียนกันมาก็ไม่มีสรีระสัณฐานอีกเช่นเดียวกัน แต่ว่าความรู้ทั้งหมดนี้ก็เก็บอยู่ที่จิตอันนี้ และจิตอันนี้เมื่อปฏิบัติทางสมาธิได้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ดังเช่นพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ทรงได้อัปปนาสมาธิ ก็ทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้ระลึกชาติได้ ระลึกชาติในหนหลังได้ว่าทรงเกิดเป็นอะไร มีชื่อมีนามสกุลหรือโคตรอย่างไร มีสุขมีทุกข์อย่างไรเป็นต้น เป็นอันมาก อันแสดงว่าจิตนี้เป็นที่เก็บสิ่งที่ประสบพบผ่านไว้ทั้งหมด เก็บอยู่ในจิตที่ขอยืมคำมาพูดว่าจิต ส่วนลึกหรือที่พบกันในบัดนี้เรียกกันว่าจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้น เมื่อทำสมาธิจนถึงได้อัปปนาสมาธิรู้ถึงจิตใต้สำนึกหรือจิตส่วนลึกนี้ได้ สิ่งที่เก็บไว้ในจิตส่วนลึกก็ปรากฏเป็นความรู้ขึ้นมา ดังความรู้ระลึกชาติได้ของพระพุทธเจ้า

จิตเก็บบารมีและอาสวะ

และจิตนี้เองก็ยังเก็บดีเก็บชั่วไว้อีกด้วย เมื่อทำดี กิริยาที่ทำนั้นทำแล้วก็เสร็จกันไปเป็นคราว ๆ แต่ว่าความดีที่ทำไว้นั้นก็ยังเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก เรียกว่า บารมี เก็บดี ความดีที่ทำไว้นั้นไม่หายไปไหน แม้ว่ากิริยาที่ทำเสร็จไปเป็นคราว ๆ แต่ว่าความดีที่ทำนั้นก็ยังเก็บไว้ในจิตส่วนลึก

ทำชั่วก็เหมือนกัน เมื่อทำชั่วทางกายทางวาจาทางใจอะไรไว้ ทำไปแล้วความชั่วก็ยังเก็บเอาไว้ในจิตส่วนลึก ก็เป็น อาสวะ ดองจิตสันดาน

เพราะฉะนั้น จิตนี้จึงมีทั้งส่วนดีที่เป็นบารมี ทั้งส่วนชั่วที่เรียกว่าอาสวะ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ลึกเข้าที่จิตของพระองค์เองจนทรงพบอาสวะ จึงได้ตรัสรู้และก็ได้ตรัสแสดงสั่งสอนเอาไว้เป็น

กามาสวะ อาสวะคือกาม
ภวาสวะ อาสวะคือภพ
อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา

ก็เป็นอันว่าใจจิตของบุคคลทั่วไปมีกามเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก คือความใคร่ความปรารถนา ต้องการพร้อมกับสิ่งที่ใคร่ สิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่ต้องการ มีภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น คือเป็นเราเป็นของเราเป็นนั้นเป็นนี่เก็บอยู่ในจิตส่วนลึก มีอวิชชาสวะ อาสวะ คืออวิชชาซึ่งเป็นตัวไม่รู้ อันหมายถึงว่ารู้ที่เป็นรู้หลงรู้จิต ก็เหมือนอย่างไม่รู้ ก็คือไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นต้น เป็นตัวอวิชชาเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก นี้เป็นส่วนอาสวะ

อาสวะทำให้เกิดกาม เกิดภพ และเกิดอวิชชา

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู ได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้องทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ได้คิดเรื่องอะไรต่าง ๆ ทางใจ ตัวกามซึ่งเก็บอยู่ในจิตส่วนลึกนั้นจึงโผล่ขึ้นมา ปรากฏเป็นความรักใคร่ปรารถนา พอใจในรูปเสียงเป็นต้นที่ประสบพบผ่านนั้น เป็นฝ่าย ราคะ หรือ โลภะ หรือว่าฝ่ายความยินดี

แต่ว่าถ้าขัดกับกามที่เก็บไว้ในจิตใจส่วนลึกนี้ก็เป็น ปฏิฆะ คือความกระทบกระทั่งอันเป็นมูลของโกธะ ความโกรธ โทสะ ความประทุษร้ายใจ พยาบาท ความมุ่งร้ายต่าง ๆ อันเป็นกองโทสะ

และ ภวาสวะ อาสวะคือภพ คือตัวเราของเราก็โผล่ขึ้นมาเป็นตัวเราเป็นนั่นเป็นนี่เป็นของเราในสิ่งนั้นในสิ่งนี้

อวิชชาสวะ อวิชชาคือตัวความไม่รู้ ก็โผล่ขึ้นเป็นความรู้ที่หลงรู้ผิด คือว่าไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นเหตุเกิดทุกข์ ไม่เห็นความดับทุกข์ ไม่เห็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แต่เห็นตรงกันข้าม เห็นทุกข์นั้นว่าเป็นสุข เห็นเหตุเกิดทุกข์คือตัณหานั้นว่า เป็นตัวความเพลิดเพลินยินดีสนุกสนาน ความรักใคร่พอใจ เห็นตรงกันข้ามกับอริยสัจ นี้เป็นตัวอวิชชา

อวิชชาตกตะกอนในจิตเพราะอาสวะ

เพราะฉะนั้น เมื่ออาสวะโผล่ขึ้นมาเป็นกาม เป็นภพ เป็นอวิชชา ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้อง ในเรื่องราวที่ประสบพบผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่เป็นปกติ จึงเป็นอวิชชาคือความไม่รู้จริง หรือความไม่รู้ที่เป็นความรู้จริง แต่ว่าเป็นความรู้ความเห็น ว่าน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจบ้าง ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจบ้าง น่าเพลิดเพลินยินดีบ้าง เห็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์คือตัณหาว่าเป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดี เป็นตัวความสนุกสนาน ความติดใจยินดี จึงติดใจยินดีอยู่ในตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์และในตัวทุกข์ ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ตามที่เป็นจริง ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นทุกขัง ไม่เห็นอนัตตา แต่เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นสุข เห็นว่าเป็นตัวเราของเรา ความรู้ความเห็นดั่งนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิต่อองค์มรรค เป็นอวิชชา คือตัวความไม่รู้เป็นโมหะ คือความหลง เพราะฉะนั้น เมื่ออาสวะโผล่ขึ้นมาในอารมณ์ คือเรื่องทั้งหลายที่ประสบพบผ่านอยู่เป็นปกติดั่งนี้ ความรู้ความเห็น จึงเป็นอวิชชาไปหมด ไม่เห็นอริยสัจที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ เห็นตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงได้เพิ่มมากขึ้น ตกตะกอนลงในจิตส่วนลึกเพิ่มขึ้น ๆ อาสวะ จึงเป็นเหตุให้เกิดอวิชชาดั่งนี้ คือเมื่ออาสวะเกิดขึ้น อวิชชาก็เกิดขึ้น

ปฏิบัติเพิ่มวิชชาเพื่อละอวิชชา

เป็นอันว่าอาสวะเกิดขึ้น อวิชชาก็เกิดขึ้น และก็ลงไปเพิ่มเติมอวิชชา ซึ่งเป็นอวิชชาสวะ อันเป็นข้อสำคัญนั้นให้มากขึ้น แต่ว่าเมื่อบารมีโผล่ขึ้นมา คือความดีที่ได้กระทำเอาไว้เก็บเอาไว้ในจิตส่วนลึกโผล่ขึ้นมา ดังบุคคลที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุก ๆ คนนี้ก็กล่าวได้ว่าบารมีให้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็คือตัวปัญญาหรือตัววิชชานั้นเอง ซึ่งเป็นตัวความรู้ความฉลาดรู้ถูกต้อง ตั้งต้นแต่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ดั่งที่สามัญชนรู้กันอยู่ เมื่อประสบอารมณ์ทางตาทางหูเป็นต้น บารมีโผล่ขึ้นมา ทั้งได้ฟังได้สดับคำสอนของพระอริยะทั้งหลาย โดยตรงคือของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนเอาไว้ ชี้ให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ปฏิบัติกำหนดพิจารณารู้ว่า

สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยินเป็นต้น เหล่านั้นเป็นตัวทุกข์ คืออนิจจะไม่เที่ยง เกิดดับเป็นทุกข์ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไม่ตั้งอยู่คงที่ บังคับไม่ได้ คือบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาต้องการไม่ได้ เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา มองเห็นตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจว่าเป็นตัวสมุทัย เห็นความดับตัณหาว่า เป็นตัวดับทุกข์ เห็นมรรคมีองค์ ๘ ย่นลงในศีลสมาธิปัญญาว่าเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ดังนี้

ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติเพิ่มวิชชา ผ่อนคลายอวิชชาให้น้อยลง วิชชาคือความรู้ก็ลงไปเพิ่มบารมีส่วนดีในจิตส่วนลึกนี้ให้มากขึ้น

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๘ มีนาคม ๒๕๒๘

-------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 09 กันยายน 2555    
Last Update : 9 กันยายน 2555 11:27:25 น.
Counter : 852 Pageviews.  

1  2  3  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.