Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๑๕ ทศบารมีและทศพิธราชธรรม

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



พุทธศาสนาทำให้รู้จักบารมีและทศพิธราชธรรม

ได้แสดงที่มาของ ทศพิธราชธรรม ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเล่ามหาหังสชาดก แสดงทศพิธราชธรรม ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก และสำหรับทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ และบารมีสำหรับพระโพธิสัตว์ ที่ได้ทรงบำเพ็ญสั่งสมคุณสมบัติที่เป็น พุทธการกธรรม คือธัมมะที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า สำหรับประเทศไทย คนไทย เมื่อได้รับนับถือพระพุทธศาสนา ได้มีพระเถระผู้มาประกาศพระพุทธศาสนาพร้อมกันเป็นหมู่ แม้ว่าจะเป็นหมู่เล็ก อันจะพึงเรียกได้ว่าเป็นพระสงฆ์ หรือแม้ว่าจะมาเพียงรูปเดียวหรือ ๒ รูปก็ตาม ก็ย่อมจะได้นำพระพุทธศาสนามาสั่งสอน และโดยเฉพาะเมื่อได้จารึกพระพุทธศาสนาเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกขึ้นที่ลังกา ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๔ คัมภีร์ชาดกนี้ก็รวมอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นด้วย และก็ปรากฏว่า ได้มีพระสงฆ์ มีพระเถระจากลังกาเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย เช่นที่แสดงว่ามีพระเถระผู้เป็นปราชญ์มาขึ้นที่นครศรีธรรมราช และก็ได้เดินทางเข้ามาถึงกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นราชธานีในครั้งนั้น ก็ได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ จนถึงปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัย คือพญาลิไท ได้ทรงศึกษารอบรู้ในพระพุทธศาสนา จนถึงทรงรจนา ไตรภูมิพระร่วง ขึ้น ซึ่งเป็นที่นับถือว่า เป็นวรรณคดีเรื่องแรกของคนไทยและก็ทรงผนวชเป็นภิกษุอยู่เป็นเวลาหลายเดือน เพราะฉะนั้น ความรู้จักบารมีและทศพิธราชธรรม ก็น่าจะมีแก่คนไทยทั้งฝ่ายที่เป็นพระ และทั้งฝ่ายที่เป็นฆราวาสมาตั้งแต่ในสมัยเก่าก่อนเหล่านั้น

มีหลักฐานเรื่องชาดกก่อนสมัยสุโขทัย

และก็มีปรากฏในหลักฐาน เช่นเป็นศิลาจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ยังมีเหลืออยู่ถึงในปัจจุบัน แสดงว่าในสมัยนานไกลที่พระพุทธศาสนาเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย เอาเป็นว่าก่อนสมัยสุโขทัย ก็มีหลักศิลาจารึกเรื่องชาดกบำเพ็ญบารมี คือพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีที่แสดงไว้ในชาดกต่างๆ อยู่แล้ว และเมื่อจับแต่สมัยสุโขทัย ความรู้เรื่องพุทธศาสนาก็คงจะมากขึ้น เพราะสมัยเมื่อก่อนแต่นั้นที่เป็นที่เชื่อกันว่า พระโสณะ พระอุตตระ ได้แผ่พระพุทธศาสนามาทางสุวรรณภูมิ ซึ่งไทยเราก็เข้าใจว่านครปฐมเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในสุวรรณภูมิ และอาจจะเป็นเมืองหลวง ท่านทั้ง ๒ ที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่นั้น ครั้งนั้นจะมีคนไทยอยู่ในถิ่นนี้หรือไม่ ก็ยังไม่อาจรับรองกันได้ เพราะว่ามีประวัติที่แสดงว่า คนไทยเราอพยพมาจากเมืองจีนเผ่าไทยน้อยก็มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางนี้ เผ่าไทยใหญ่ก็ไปทางเชียงตุงเป็นต้น ด้านทางใกล้พม่านั้น และถ้าเป็นเช่นนั้น ขณะที่ยังอยู่ที่โน่น พระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่าได้แผ่ไปทางโน้นในสมัยต่อจากสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น เพราะฉะนั้น อาจจะรับพุทธศาสนาตั้งแต่ที่โน่นมาแล้ว หรือถ้าหากว่าจะมีคนไทยอยู่ที่นี่บ้างในครั้งนั้น ก็อาจจะได้รับจากสายพระโสณะ พระอุตตระ แต่ในครั้งนั้นยังไม่ได้จารึกพระพุทธวัจนะเป็นตัวอักษร พระเถระที่นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ ท่านจะจำได้ทั้ง ๓ พระไตรปิฎกหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ก็กล่าวได้แต่เพียงว่า ท่านจำมาได้เท่าไหร่ รู้มาเท่าไหร่ ท่านก็มาเผยแพร่ได้เท่านั้น ถ้าหากว่าท่านอาจจำมาได้หมด ก็คงอาจจะเผยแพร่ได้หมด ถ้าจำมาไม่หมด ก็คงจะเผยแพร่ได้เท่าที่จำได้ เพราะฉะนั้น ท่านจะเผยแพร่มาได้จนถึงคัมภีร์ชาดกต่างๆ หรือไม่ ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ว่าสมัยเมื่อได้จารึกพระไตรปิฏกเป็นตัวอักษรแล้ว และพระเถระลังกาท่านก็ขยันมาแผ่ศาสนาเหมือนกัน เมื่อท่านมากับคัมภีร์ ท่านก็อาจที่จะเผยแพร่ได้หมดทั้งทางพระวินัย ทั้งทางพระสุตตันต ทั้งทางพระอภิธรรม ดังที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย ซึ่งก็มีอภิธรรมปนอยู่เป็นอันมาก แสดงว่าพระองค์ผู้ทรงรจนานั้นได้ทรงมีความรู้พระไตรปิฏกตลอดถึงอภิธรรม

ในอดีตมีความนับถือบารมียิ่งกว่าราชธรรม

แต่ว่าเมื่อแยกเอาจำเพาะบารมีกับทศพิธราชธรรม ก็สรุปกล่าวได้ว่า ทศพิธราชธรรมนั้นได้เป็นที่รู้จักและปฏิบัติกันมา ในสมัยอยุธยานั้นมีลายลักษณ์อักษรปรากฏแน่นอน แต่ในสุโขทัยก็น่าจะได้ทราบและได้ปฏิบัติมาแล้ว ส่วนบารมีนั้นได้เป็นที่รู้จักกันมาก่อนนั้น ได้มีศิลาจารึกเรื่องพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ก็แปลว่าได้มีความรู้เรื่องชาดกต่างๆ กัน แต่ว่าจะรู้ทั้งหมดถึง ๕๐๐ กว่าเรื่องหรือไม่ก็ไม่อาจจะทราบได้ และจะรู้ได้ตลอดจนถึงชาดกที่มีทศพิธราชธรรมนี้ด้วยหรือไม่ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ว่ากล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์ผู้ครองประเทศไทยได้ปฏิบัติทศพิธราชธรรมมาช้านาน และในขณะเดียวกันก็ทรงปฏิบัติในพระบารมีทั้ง ๑๐ นั้นด้วย และก็เป็นที่นับถือพระมหากษัตริย์ว่าเป็นเหมือนอย่างพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ซึ่งบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิ ความนับถือพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนอย่างพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งดังกล่าวนี้ได้มีมาช้านาน และก็แสดงว่า ได้นับถือบารมี ๑๐ นี้ยิ่งกว่าทศพิธราชธรรม คือพระมหากษัตริย์เองก็ทรงนับถือบารมีว่า จะพึงต้องทรงปฏิบัติเพื่อพุทธภูมิยิ่งกว่าทศพิธราชธรรม ได้เป็นมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้

การปฏิบัติหนักไปในทางราชธรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔

มาถึงรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงเป็นปราชญ์พระองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ได้ทรงผนวชอยู่ในพุทธศาสนาเป็นเวลานานปี ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาฎีกาทั้งหลาย ได้ทรงปรับปรุงความประพฤติของพระภิกษุสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ และทรงปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะกรรมฐาน กรรมฐานที่สอนกันว่าให้บริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ ก็ปรากฏในหนังสือพระราชประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงปฏิบัติ จนถึงเวลาจะสวรรคตก็ทรงปฏิบัติบทนี้ ดังที่มีเขียนไว้ในจดหมายเหตุตอนสวรรคตว่า ในราตรีที่จะเสด็จสวรรคตนั้น ได้ทรงบรรทมเบื้องขวา และก็มีผู้ได้ยินเสียงทรงบริกรรมดังๆ ว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพระสุรเสียงนั้นเบาเข้าๆ จนสงบหยุด เสด็จสวรรคต เพราะฉะนั้น ก็กล่าวได้ว่า แบบภาวนาพุทโธนี้ เป็นแบบที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงปฏิบัติอยู่และเมื่อทรงผนวชก็เป็นพระอาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระอาจารย์กรรมฐานที่ออกไปตั้งคณะปฏิบัติในภาคอีสานเป็นต้น ซึ่งพระเถระฝ่ายธรรมยุตที่ภาคอีสานก็ได้ปฏิบัติใช้บริกรรม หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ นี้ เรียกว่า พุทโธ พุทโธ นี้เป็นหลักกันอยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า พระอาจารย์กรรมฐานพระองค์แรกที่ทรงสอน ก็คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อทรงผนวชอยู่ก็ทรงเป็นอุปัชฌาจารย์ของพระเถระภาคอีสาน ที่ออกไปตั้งคณะปฏิบัติทางภาคอีสานดังกล่าว มาตั้งแต่ในครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ นั้น และก็ปฏิบัติสืบกันมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เองได้ทรงพระราชนิพนธ์บทสวดภาษาบาลีต่างๆ ไว้เป็นอันมาก เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ ที่เราสวดกันอยู่ และยังพระราชนิพนธ์เรื่องภาษาบาลีที่เป็นประวัติศาสตร์ไว้ก็มี จดหมายเหตุต่างๆ ก็มี และมีอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ทรงไว้ว่า ไม่ได้ทรงปรารถนาพุทธภูมิ เพราะเมื่อตั้งความปรารถนาขึ้นก็ทำให้ฟุ้งซ่าน เพราะเป็นตัณหาฟุ้งซ่าน ดั่งนั้น ก็ทรงปรารถนาเพื่อจะปฏิบัติเพื่อธรรมที่สุดทุกข์เท่าที่จะพึงเป็นไปได้ พระมหากษัตริย์ที่สืบพระราชสันติวงศ์ต่อมาจึงได้ปฏิบัติหนักไปในทางทศพิธราชธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงปฏิบัติบารมีธรรม แม้ไม่ปรารถนาพุทธภูมิ ก็ปฏิบัติบารมีธรรมประกอบไปด้วย

ความนิยมว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์

และเพราะเหตุที่ได้มีความนิยมกำหนดว่า พระมหากษัตริย์เมื่อเป็นพระมหากษัตริย์ขึ้นแล้ว ก็เหมือนอย่างเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อพระโพธิญาณ ซึ่งความนิยมดั่งนี้เป็นมานานดังที่กล่าวมาข้างต้น เพราะฉะนั้นจึงได้มีถ้อยคำที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น มีคำว่า พุทธ พุทธ ประกอบอยู่ด้วยเช่นคำกราบบังคมทูล ที่หมายถึงบุคคลผู้กราบบังคมทูลเองก็ใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า คำรับก็พระพุทธเจ้าข้า รัชกาลที่ ๕ ก็ถวายพระนามว่า พระพุทธเจ้าหลวง เมื่อได้ทรงสร้างพระพุทธรูปถวายรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ก็ได้ถวายนามพระพุทธรูปว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สำหรับรัชกาลที่ ๑ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย สำหรับรัชกาลที่ ๒ เป็นนามของพระพุทธรูปซึ่งบัดนี้ได้ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเข้าไปหันหน้าไปทางพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต พระยืนทรงเครื่ององค์ใหญ่ที่ประทับอยู่ทางด้านขวามือ หรือด้านทิศเหนือ ก็คือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ประดิษฐานทางด้านซ้ายมือหรือด้านทิศใต้ก็คือพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นนามพระพุทธรูป และก็ได้โปรดให้นำนามพระพุทธรูปนี้มาเป็นพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๑ และในรัชกาลที่ ๒ ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อพูดว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็เป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ ๑ เมื่อพูดว่าพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เข้าใจว่าเป็นรัชกาลที่ ๒ พระนามของพระพุทธรูปทั้ง ๒ นี้ ก็มาเป็นพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ รัชกาล คือ ที่ ๑ และที่ ๒ นั้น และนอกจากนี้ยังได้นำคำว่าบารมีมาใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น “ทรงเปี่ยมด้วยพระบารมี” “มีพระบารมีเป็นที่พึ่ง” “พระบารมีแผ่ไพศาล” เหล่านี้เป็นต้น และคำอื่นๆ ก็เป็นความนิยมของประเทศไทยเรา ของคนไทยเราที่ได้เทิดทูนยกย่ององค์พระมหากษัตริย์มาตั้งแต่เก่าก่อน และก็เป็นประโยชน์ที่ทำให้องค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงสำนึกพระองค์ว่า เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ ก็จะต้องทรงบำเพ็ญบารมี มีทานศีลเป็นต้น แก่ประชาชน และโดยเฉพาะก็จะต้องทรงยกย่องรักษาพระพุทธศาสนา อุปถัมภ์บำรุงรักษาพระสงฆ์ ตลอดจนถึงวัดวาอารมทั้งหลาย ว่าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ก็จะต้องทรงทิ้งพระพุทธศาสนาไม่ได้ จะต้องทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา รักษาพระพุทธศาสนา ตลอดจนถึงพระสงฆ์วัดวาอาราม ทุกๆ อย่างที่เนื่องด้วยพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่าวัดวาอารามที่เป็นหลักฐาน มีความมั่นคงงดงามในพุทธศาสนา ย่อมเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง หรือทรงอุปถัมภ์บำรุงเป็นส่วนใหญ่และพระสงฆ์ที่รวมกันอยู่เป็นสังฆสามัคคีตามพระธรรมวินัย ก็เพราะมีพระมหากษัตริย์ได้ทรงอุปถัมภ์ ทรงแต่งตั้งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา และทรงฟื้นฟูพระธรรมวินัย ทรงออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และเพื่อให้พระสงฆ์ได้ประกาศพระพุทธศาสนา สั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ตลอดจนถึงเป็นครูอาจารย์ประสาทศิลปวิทยาแก่กุลบุตรทั้งหลาย และทรงทำการสังคายนาพระธรรมวินัย จารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พิมพ์เป็นหนังสือเป็นต้น และพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรงเป็นปราชญ์ในพุทธศาสนา ก็ทรงรจนาหนังสือทางพุทธศาสนา ดังเช่นพญาลิไทรจนาไตรภูมิพระร่วงในครั้งกรุงสุโขทัย เพราะฉะนั้นถวายให้พระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีก็เป็นประโยชน์ดั่งนี้ และเมื่อทรงบำเพ็ญพระบารมีนั้น ก็เป็นอันว่าได้ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมไปด้วยกัน เพราะธัมมะทั้งคู่นี้ก็มีข้อธรรมที่ตรงกันบ้าง ต่างกันบ้างโดยพยัญชนะ แต่โดยเนื้อความแล้วก็เข้ากันได้ทุกข้อ แต่ว่าทางบารมีนั้น มุ่งพระโพธิญาณสำหรับพระโพธิสัตว์ ทศพิธราชธรรมนั้นมุ่งสำหรับปกครองประชาชนปกครองบ้านเมือง

๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ





 

Create Date : 09 มิถุนายน 2554    
Last Update : 9 มิถุนายน 2554 11:48:23 น.
Counter : 1048 Pageviews.  

ครั้งที่ ๑๔ ที่มาของทศพิธราชธรรม

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



จะแสดง ทศพิธราชธรรม คู่กันไปกับ ทศบารมีโดยที่พุทธศกนี้เป็นปีที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก เจริญพระชนมพรรษามาครบ ๕ รอบนักษัตร คือ ๖๐ คณะสงฆ์ได้ประกาศให้วัดทั้งหลายแสดงธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม ในวัดนี้จึงได้จัดให้ผลัดกันแสดงพระธรรมเทศนาในวันพระ วันพระละ ๑ บท และในการโอวาทนวกภิกษุศกนี้ จึงได้กำหนดสอนทศบารมีคู่กันไปกับทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรมแสดงไว้ในมหาหังสชาดก

ทศบารมีก็คือบารมี ๑๐ ได้แสดงไป ๑ ข้อแล้วคือข้อทาน จึงจะจับแสดงทศพิธราชธรรมเริ่มแต่ข้อ ๑ ให้คู่กันไป และก็จะแสดงที่มาของทศพิธราชธรรมให้ทราบไว้ก่อน ว่าคำสอนเรื่องนี้มาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาคัมภีร์ไหน เรื่องอะไร ทศพิธราชธรรมนี้ได้พบที่มาในคัมภีร์ชาดกชื่อว่า มหาหังสชาดก ที่แปลว่า ชาดก เรื่องใหญ่ที่แสดงถึงหงส์ เพราะว่าได้มี ๒ ชาดกเกี่ยวกับเรื่องหงส์ ชาดกเรื่องหงส์ที่สั้นกว่า เรียกว่า จุลลหังสชาดก ส่วนชาดกแสดงเรื่องหงส์ที่ยาวกว่า เรียกว่า มหาหังสชาดก ทศพิธราชธรรมมาในชาดกหลังนี้คือ มหาหังสชาดก ซึ่งมีความหมายตามคาถาซึ่งเป็นพระบาลีที่อ้างพระพุทธเจ้าตรัสเล่าเอง กับมีคำอธิบายประกอบอันเรียกว่า อรรถกถา สำหรับที่มาในพระบาลีนั้น แสดงถ้อยคำที่พูดโต้ตอบกันเป็นต้นขึ้นมา โดยที่ไม่มีเรื่องประกอบติดต่อกัน ไม่มีเรื่องเล่า เป็นการเริ่มต้นว่าเป็นมาอย่างไร พระอาจารย์ผู้อธิบายที่เรียกว่า อรรถกถาจารย์ จึงได้เรียบเรียงประกอบ และเมื่อเรียบเรียงแล้ว ก็ได้ยกเอาคาถาที่เป็นพระบาลีที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสเองนั้นมารับรองเข้าเป็นตอนๆ ไป เหมือนดังแต่งกระทู้ที่พระอาจารย์ให้บทกระทู้มา ก็มาแต่งบรรยายไป ก็ยกเอาพระพุทธภาษิตในพุทธศาสนภาษิตที่มีความสัมพันธ์กันเข้ามารับรอง แต่ก็ให้อยู่ในแนวของกระทู้บทตั้ง ลงท้ายก็สรุปเข้าในกระทู้บทตั้ง ข้อความที่เป็นบทกระทู้นั้น ที่เป็นบทตั้งก็ดี ที่เป็นบทที่อ้างเข้ามารับรองก็ดีก็เป็นข้อความสั้นๆ แต่ว่าอธิบายของผู้แต่งกระทู้นั้นเป็นอธิบายของผู้แต่งกระทู้เอง แต่ก็ให้อยู่ในขอบเขตของบทกระทู้ พระอาจารย์ผู้แต่งอธิบายพระบาลีชาดกก็ดี พระบาลีอย่างอื่นก็ดี ก็เป็นเช่นเดียวกัน ท่านอธิบายประกอบเข้ามาสั้นบ้างยาวบ้าง แต่สำหรับในชาดกนี้ท่านเล่าเรื่องประกอบเข้ามามากทีเดียว ถ้าไม่เช่นนั้นความก็ไม่ติดต่อกัน คือเมื่ออ่านแต่พระบาลี ก็จะทราบแต่ข้อความที่โต้ตอบกันอันอยู่ในคลองธรรมที่ต้องการ แต่ว่าทำไมจึงมาโต้ตอบกัน เริ่มขึ้นมาอย่างไรนั้นไม่ได้เล่าไว้ พระอาจารย์ท่านจึงมาเล่าเอาไว้ สำหรับที่จะแสดงในที่นี้ ก็จะได้เล่าไปตามที่พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าไว้ แต่สรุปให้สั้นเข้า และก็จะนำเอาคาถาในพระคัมภีร์ชาดกที่อ้างว่าเป็นพระพุทธเจ้าตรัสเข้ามาประกอบ และสาระสำคัญนั้นก็อยู่ที่พระบาลีชาดกที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัส ส่วนเรื่องนิทานนั้นเป็นเรื่องเล่าประกอบเข้ามาเป็นของพระอรรถกถาจารย์

เนื้อความย่อของมหาหังสชาดก

เมื่อกล่าวรวมกันดังกล่าวแล้ว ก็มีความโดยย่อว่า ในอดีตกาลในเมืองพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่า สังยมะ หรือว่า สังยมนะ หรือว่า สัญยมนะ มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า เขมา ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์กำเนิดเป็นหงส์ทอง คือหงส์ที่มีขนสีทอง มีหมู่หงส์บริวารเป็นอันมาก อาศัยอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ นามของพระยาหงส์โพธิสัตว์มีชื่อว่า ธตรัฏฐ เมื่อจะเรียกในฐานะเป็นหัวหน้าฝูงหงส์ ก็เรียกว่า พระยาหงส์ธตรัฏฐ และได้มีหงส์ทองอีกหนึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีชื่อว่า สุมุขะ หรือ สุมุข ในครั้งนั้นพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสีที่มีพระนามว่า เขมา ได้ทรงพระสุบินคือฝันว่ามีพระยาหงส์ทอง ๒ ตัวมาจับอยู่ที่พระราชบัลลังก์แสดงธรรมกถาด้วยเสียงอันไพเราะ พระเทวีประทานสาธุการ สดับธรรมกถายังมิทันอิ่มเอิบในการสดับธรรม ราตรีก็สว่าง พระยาหงส์ทั้ง ๒ จึงพากันออกไปทางช่องพระแกล พระนางก็รับสั่งห้ามว่า อย่าเพ่อไป และตรัสแก่นางพระกำนัลทั้งหลายให้ช่วยกันจับ เมื่อตื่นพระบรรทม และนางกำนัลได้ยินรับสั่งก็พากันแย้มสรวลว่าหงส์ที่ไหนกัน พระนางจึงทรงทราบว่าทรงพระสุบินไป แต่แม้เช่นนั้นก็ทรงดำริว่า พระยาหงส์ที่มีสีประดุจทองคำคงจะมีอยู่ในโลกนี้ จึงได้ทูลพระราชาพระเจ้ากรุงพาราณสีว่าทรงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ครรภ์ ต้องการที่จะได้เห็นหงส์ทอง ได้ฟังหงส์ทองแสดงธรรม พระราชาจึงได้ตรัสให้สืบว่ามีหมู่หงส์อาศัยอยู่ที่ไหนพวกพราหมณ์ก็ไม่ทราบ แต่ก็ทูลว่าพวกพรานคงจะทราบ จึงได้โปรดให้เรียกพวกพรานป่ามาตรัสถาม พรานคนหนึ่งก็กราบทูลว่า ได้ทราบต่อๆ กันมาว่า หงส์เหล่านั้นอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ในประเทศหิมวันต์ พระราชาก็ตรัสถามว่า จะพอรู้อุบายที่จะจับหงส์เหล่านั้นได้หรือไม่ พวกพรานก็ทราบทูลว่าไม่ทราบ จึงได้ทรงปรึกษากับพราหมณ์บัณฑิต พราหมณ์บัณฑิตก็กราบทูลว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจับที่เขาคิชฌกูฏ ขอให้ทรงขุดสระใหญ่ชื่อ เขมะ ทางทิศเหนือแต่พระนคร ให้เต็มด้วยน้ำ ปลูกธัญชาติต่างๆ ให้นายพรานผู้ฉลาดคนหนึ่งอยู่ประจำรักษา อย่าให้หมู่มนุษย์เข้าไปใกล้ และให้ประกาศเป็นเขตให้อภัยแก่สกุณชาติต่างๆ ที่จะมาหากินที่สระนั้น พระราชาก็ได้ตรัสให้ปฏิบัติตามที่บัณฑิตนั้นได้กราบทูลแนะ ก็ได้ตรัสให้นายพรานผู้ฉลาดผู้หนึ่งมามอบให้เป็นผู้ที่รักษาสระ นายพรานนั้นเรียกตามภาษาบาลีว่า เนสาท หรือเนสาทะ เขาชื่อ เขมกะ ก็เป็นผู้รักษาสระเขมะนั้นมา สกุณชาติทั้งหลายก็พากันลงสู่สระนั้น และก็ชักชวนกันต่อๆ ไปว่าเป็นสระที่ไม่มีภัย ก็ทราบไปจนถึงหมู่หงส์ หมู่หงส์ก็พากันมาหากินในสระนั้น จนถึงพระยาหงส์ธตรัฏฐกับเสนาบดีที่ชื่อว่าสุมุขะ ทั้ง ๒ ซึ่งเป็นหงส์ทองด้วยกันก็มาหากินที่สระนั้นด้วย และเมื่อพรานผู้รักษาสระได้เห็นหงส์ทองลงมา ก็ได้เฝ้าดูอยู่ถึง ๖ – ๗ วันว่ามาจับที่ไหน และเมื่อสังเกตที่ได้แน่นอนแล้ว ก็วางบ่วงดักไว้ใต้น้ำ พระยาหงส์ทองนั้นมาก็ลงไปในน้ำตรงบ่วงนั้น ก็ติดบ่วงของนายพราน พระยาหงส์ทองพยายามที่จะสลัดบ่วงให้หลุด แต่บ่วงนั้นก็กัดขาผ่านหนัง เส้นเอ็นจนถึงกระดูก ก็ไม่หลุด พระโพธิสัตว์จึงได้หยุดเพราะเกรงว่าขาจะขาด ส่วนเสนาบดีหงส์ที่เป็นหงส์ทองด้วยกันที่ชื่อว่า สุมุขะเมื่อเห็นเจ้านายของตนติดบ่วงจึงได้เข้าไปหา ส่วนฝูงหงส์ที่เป็นบริวารก็พากันบินหนีไปทั้งหมด เมื่อเข้าไปถึงพระยาหงส์ธตรัฏฐก็ถามว่า ทำไมจึงไม่หนีไป ขอให้รีบหนีไปเสีย หงส์เสนาบดีสุมุขะก็ตอบว่าไม่ไป จะอยู่ช่วย พระยาหงส์ก็บอกให้หนีไปหลายหน หงส์เสนาบดีสุมุขะก็ไม่ยอมหนีไป บอกว่าจะอยู่ช่วย ฝ่ายนายพรานที่มองเห็นโดยตลอดเพราะได้ดักดูอยู่ ซ่อนดูอยู่ จึงเดินเข้าไป ครั้นเห็นหงส์เสนาบดีซึ่งไม่ติดบ่วงยืนอยู่ด้วย ก็แปลกใจว่าทำไมจึงไม่หนีไป หงส์เสนาบดีก็กล่าวว่า เพราะเจ้านายของตนติดบ่วง ตนจะขอตายแทน ขอให้จับเอาตัวหงส์เสนาบดีคือตัวเขาไปแล้วปล่อยเจ้านายเขาไป ฝ่ายนายพรานก็ใจอ่อน ก็บอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็จะปล่อยไปทั้ง ๒ ฝ่ายพระยาหงส์กับหงส์เสนาบดีนั้นก็ตอบว่า ถ้าหากว่านายพรานนี้ดักหงส์และนกทั้งหลายเพื่อประโยชน์ของตน ก็จะขอรับทักษิณาอภัยคือการปล่อยนกทำบุญ แต่ว่าถ้าหากว่าท่านมาดักหงส์ด้วยมีคำสั่งมาจากผู้อื่น ไม่ใช่ของตนเอง ท่านก็ไม่มีอิสระที่จะปล่อยเราทั้ง ๒ เสีย เพราะฉะนั้น ก็ขอให้นำเราทั้ง ๒ ไป แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่กรง ให้เราทั้ง ๒ นี้จับไปที่กระเช้า ๒ ข้างที่เป็นคานให้ท่านหาบไป นายพรานนั้นก็หาบกระเช้าที่หงส์จับ ๒ ข้าง นำหงส์ไปถวายพระราชา ฝ่ายพระราชาเมื่อได้เห็นหงส์ก็มีความดีใจ และก็บอกว่าให้พักอยู่ระยะหนึ่งก็จะปล่อยไป และให้พระยาหงส์จับอยู่ในที่อันสมควร และก็ได้พระราชทานอาหารเป็นต้น ฝ่ายพระยาหงส์นั้นก็ได้ทูลแก่พระราชาเป็นการปฏิสันถารว่า พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธ ทรงสำราญดีอยู่ ทรงปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราไม่มีโรคาพยาธิ มีความสำราญดี และเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า โทษอะไรๆ ไม่มีอยู่ในอำมาตย์ของพระองค์ละหรือ และอำมาตย์เหล่านั้นไม่มีอาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์ละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของเรา พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ประกอบด้วยพระโอรสพระรูปพระโฉมพระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของพระองค์ละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของเรา พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแก่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษ พระองค์ไม่ทรงละทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรม ละทิ้งอธรรม พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้คือ ทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความไม่พิโรธ คือความกระทำไม่ให้ผิด แต่นั้นมีปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา ดั่งนี้ เมื่อพระราชาได้ตรัสตอบดั่งนี้แล้ว พระยาหงส์ก็ถวายอนุโมทนาแก่พระราชา และก็ได้พระราชทานทรัพย์แก่นายพราน ทรงให้พระยาหงส์กับเสนาบดีพระยาหงส์พักอยู่ ทรงพระราชทานเลี้ยงดูให้มีความสุข แล้วก็ทรงปล่อยพระยาหงส์และหงส์เสนาบดีนั้นให้กลับไปสู่ภูเขาคิชฌกูฎ

พระราชาในอดีตกาลทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม

เนื้อความในมหาหังสชาดกมีดั่งที่เล่ามานี้ และเรื่อง ทศพิธราชธรรม ก็มาจากคำตอบ หรือพระราชดำรัสตอบของพระราชาตอนที่ว่า เราตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือ ทาน ศีล ปริจจาคะ การบริจาค อาชชวะ ความซื่อตรง มัททวะ ความอ่อนโยน ตบะ ความเพียร อักโกธะ ความไม่โกรธ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน ขันติ ความอดทน อวิโรธนะ ความไม่ทำให้ผิด รวมเป็น ๑๐ ประการ

นำเล่าเรื่องมหาหังสชาดกนี้ก็เพื่อให้ทราบว่า ที่มาของทศพิธราชธรรมมาจากชาดกเรื่องนี้ ซึ่งธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ ก็ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้ากรุงพาราณสีที่ตรัสตอบแก่พระยาหงส์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่สาธกให้เห็นว่า พระราชาในอดีตกาลนั้นที่ทรงเป็นบัณฑิต ทรงตั้งอยู่ในธรรม ก็ย่อมทรงตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ ประการนี้ ที่บัดนี้เรียกกันว่า ทศพิธราชธรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเล่าเรื่องชาดกนี้ คือ มหาหังสชาดก ว่าแม้พระราชาซึ่งเป็นผู้ปกครองแผ่นดินในอดีตกาลก็ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม คือทรงปกครองโดยธรรม ก็คือโดยทศพิธราชธรรม

๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2554    
Last Update : 1 มิถุนายน 2554 8:16:54 น.
Counter : 3458 Pageviews.  

ครั้งที่ ๑๓ ทานบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



อธิบายทบทวนคำว่าโพธิสัตว์

จะแสดงบารมีที่ ๑ ทานบารมี

เรื่องคำว่าบารมีได้แสดงมาแล้ว จนถึงกำเนิดแห่งบารมี และกำเนิดแห่งพระโพธิสัตว์ที่ได้เล่ามาแล้ว และก็ขอซ้ำย้ำความตอนที่ว่า คำว่า โพธิสัตว์ นี้ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายเอง ว่าเมื่อทรงเล่าถึงเรื่องของพระองค์เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ก็ทรงใช้คำว่า เมื่อทรงเป็นโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติอย่างนั้นๆ แต่ก็ทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติของพระองค์เมื่อเป็นโพธิสัตว์ดังกล่าวในพระชาตินั้นเอง เช่นเมื่อทรงเล่าถึงทรงปรารถนา โมกขธรรม เมื่อได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ทรงมุ่งที่จะได้พบโมกขธรรม จึงได้เสด็จออกทรงผนวช แล้วทรงแสวงหาโมกขธรรมด้วยวิธีต่างๆ ดังที่เล่ามาแล้ว แต่ก็ได้มีคัมภีร์ชาดกที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้นเอง ได้เล่าถึงอดีตชาติของพระองค์ สำหรับชาดกนี้ ประพันธ์เป็นคาถาฉันท์ปัฐยาวัตร และชาดกที่มีคำสรุปธัมมีกถาที่เราเรียกว่า สุภาษิต อย่างนิทานอีสปที่ลงท้ายว่าเป็นภาษิตคำสอน ในชาดกสั้นๆ โดยมากก็มีเพียงธัมมีกถา คือภาษิตหรือสุภาษิตที่เป็นคำสอนดังกล่าวเท่านั้น ในเมื่อเป็นชาดกยาวๆ จึงได้มีการเล่าเรื่องประกอบด้วย แต่พระอรรถกถาจารย์ก็ได้มาอธิบายเพิ่มเติมทั้งหมดด้วยคำร้อยแก้วให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และก็อ้างว่าเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเองถึงอดีตชาติของพระองค์เอง จับตั้งแต่เมื่อเป็นสุเมธดาบสหรือสุเมธะดาบส ได้ทรงปรารถนา พุทธภูมิ ในที่จำเพาะพระพักตร์แห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรตามที่เล่ามาแล้ว และต่อจากนั้นมาได้มีพระชาติเป็นมนุษย์ก็มี เป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี เป็นเทพก็มี ซึ่งทุกๆ ชาติก็บำเพ็ญบารมีเพื่อ โพธิญาณ คือเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อเนื่องกันมา โดยปฏิบัติอยู่ใน พุทธการกธรรม ธัมมะที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งสุเมธดาบสได้พิจารณาว่า ถ้าปรารถนาพุทธภูมิแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็ได้พิจารณาเห็นข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการที่เรียกว่า บารมี หรือเรียกว่า พุทธการกธรรม ก็ได้มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงเป็นสุเมธดาบสนั้น

ชาดกเป็นเรื่องเล่าแสดงบารมี

เพราะฉะนั้น ในการแสดงบารมีทุกข้อ ก็จะมีการเล่าเรื่องชาดกนั้นๆ มาประกอบ อันเป็นเรื่องที่ท่านเล่าไว้แสดงไว้ ว่าทรงแสดงบารมีข้อนั้นๆ และได้บำเพ็ญบารมีข้อนั้นๆ อย่างธรรมดาบ้าง อย่างยิ่งขึ้นไปบ้าง อย่างยิ่งที่สุดบ้าง อันจำแนกว่า บารมีธรรมดา อุปบารมี และ ปรมัตถบารมี ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และธัมมะทั้ง ๑๐ ข้อที่พระโพธิสัตว์ในชาตินั้นๆ ได้บำเพ็ญนั้น ก็เป็นข้อที่เมื่อมองดูตามเหตุผล ด้วยสายตาอย่างสามัญ ก็อาจจะเห็นได้ว่า ดูจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และเมื่อได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้ทรงสอนธัมมะเหล่านี้ในหมวดธรรมทั้งหลายเป็นอันมาก และก็ทรงอธิบายตามเหตุผลอันพอเหมาะพอควรที่บุคคลทั่วไปปฏิบัติได้ แต่ว่าที่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิบัติเองนั้น บางทีก็รู้สึกว่าได้ทำหนักไปหรือเกินไปเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเรื่องชาดกเกี่ยวกับบารมีดังนี้ ก็พึงเข้าใจว่าเมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญธัมมะเหล่านี้ ที่เล่าไว้ในชาดกนั้นๆ ก็เป็นข้อปฏิบัติที่ผู้มุ่งโพธิญาณเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นจะพึงกระทำได้ อันแสดงถึงความที่มีน้ำใจที่เด็ดเดี่ยว เพราะว่ามีความมุ่งหมายพระโพธิญาณ คือมุ่งหมายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ส่วนบุคคลทั่วไปมิได้มีความมุ่งหมายดั่งนั้น เพราะแม้ผู้ที่มุ่งหมายเป็นพระสาวก ก็บำเพ็ญ สาวกการกธรรม คือธัมมะที่ทำให้เป็นพระสาวก ซึ่งในบางพระสูตรก็เรียกว่าบารมีเหมือนกัน ก็เรียกว่า สาวกบารมี ดังที่ได้เล่ามาแล้ว การบำเพ็ญธัมมะเหล่านี้ก็หย่อนลงมา แต่ก็มีความมุ่งหมายที่จะเป็นพระพุทธสาวกต่อไปข้างหน้า

ทานของท่านอกิตติดาบส

สำหรับข้อ ๑ คือทาน ได้แก่ การให้ การบริจาค การให้การบริจาคนี้ สำหรับพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมา ท่านได้ให้ ได้บริจาคทรัพย์บ้าง อวัยวะร่างกายบ้าง ชีวิตบ้าง บุตรภรรยาบ้าง มาในชาตินั้นๆ เป็นอันมาก แก่ผู้มาขอ ผู้ที่ต้องการอันเป็นการยากที่ผู้อื่นจะพึงทำได้ ดังที่มีเรื่องเล่าไว้ในนิทานชาดกบางเรื่องที่จะยกมาเล่า เรื่องการที่ทรงทำงาน เรื่องหนึ่งว่า ในกาลล่วงไปแล้วนานไกล ได้มีดาบสผู้หนึ่งชื่อว่า อกิตติ บำเพ็ญตบะอยู่ในป่า ได้ฉันใบไม้ที่เกี่ยวเก็บจากป่าเป็นอาหารประจำวัน ไม่มีน้ำมัน เกลือ และเครื่องปรุงอื่นๆ วันหนึ่งก็เที่ยวหาฉันเพียงครั้งเดียว ได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งมาขอที่ประตูอาศรม อกิตติดาบสก็ได้ให้ทั้งหมด แล้วไม่ไปแสวงหาใหม่อีกในวันนั้น เข้าอาศรมบำเพ็ญ ตบธรรม ให้กาลเวลาล่วงไปด้วย ปีติสุข วันรุ่งขึ้นพราหมณ์ก็ได้มาขออีก ดาบสก็ได้ให้อีก ได้เป็นดั่งนี้ตลอดเวลานานวัน ดาบสได้ให้อาหารประจำวันแก่พราหมณ์ทุกครั้งเรื่อยมา ไม่หวั่นไหวต่อชีวิต และดำรงอยู่ได้ด้วยปีติสุขในตบธรรม เมื่อพราหมณ์นั้นเห็นว่าอกิตติดาบสมีกำลังใจเข้มแข็ง ไม่ยอมสละทานจริง ก็แสดงตนให้ปรากฏว่ามาทดลองกำลังใจ

ทานของสังขพราหมณ์

อีกเรื่องหนึ่ง พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า สังขะ สวมรองเท้าและกั้นร่ม เดินทางไปบนภูมิภาคอันร้อน ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเดินสวนทางมา เห็นว่าท่านเป็นบุญเขตอันอุดม จึงสละร่มและรองเท้าถวาย ไม่คำนึงถึงภูมิภาคร้อนที่ตนจะต้องเดินต่อไป

ทานของพระเจ้าธนัญชยะ

อีก เรื่องหนึ่ง พระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชยะ ในกรุงอินทปัตถ ได้พระราชทานช้างเผือกแก่พราหมณ์ที่มาขอจากกาลิงครัฐ เพราะรัฐนั้นเกิดฝนแล้งทำนาไม่ได้ เกิดอดอยากกันขึ้น และเห็นว่าในแคว้นอินทปัตถฝนดี อาหารสมบูรณ์เพราะมีช้างเผือก ฉะนั้น ถ้าได้ช้างเผือกมาก็คงจะเกิดความสมบูรณ์เหมือนอย่างนั้น แต่ครั้นได้ช้างเผือกมาแล้ว ฝนก็ยังคงไม่ตก จึงนำช้างไปถวายคืน และทูลถามถึงวิธีปฏิบัติ พระเจ้าธนัญชยะก็ตรัสบอกว่า ทรงปฏิบัติใน กุรุธรรม คือ ศีล ๕ และได้ทรงชักนำให้ประชาชนปฏิบัติในกุรุธรรมนั้นด้วย ทางกาลิงครัฐก็ทูลขอกุรุธรรม ก็ได้พระราชทานกุรุธรรมไป ชาวกาลิงรัฐพากันปฏิบัติในกุรุธรรม จึงเกิดความสมบูรณ์ขึ้น

ทานในชาดกอื่นๆ

อีกเรื่องหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสนะ ในกุสาวดีนคร พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ มหาโควินทะ เป็นปุโรหิตของพระราชา ๗ พระองค์ พระเจ้าเนมิราชในกรุงมิถิลา พระจันทกุมาร ซึ่งทรงรอดพ้นจากการถูกฆ่าบูชายัญ ท่านเหล่านี้ได้บำเพ็ญมหาทานแก่ยาจกวนิพกทั่วไป

พระเจ้าสีวิราชในกริฐนคร ได้มีพระหฤทัยมุ่งมั่นในทาน ได้ประทานดวงพระเนตรแก่พราหมณ์ที่มาทดลองขอ เป็นที่ประจักษ์ว่ามีพระหฤทัยมั่นคงเพื่อสละได้จริง

ทานของกระต่ายบัณฑิตโพธิสัตว์

เรื่องกระต่ายโพธิสัตว์ เรียกว่า สสบัณฑิต ซึ่งได้ไปเที่ยวอยู่ในป่า จนถึงมีสัตว์ป่าหลายจำพวกเป็นมิตรสหายเที่ยวไปด้วยกัน มุ่งจะทำทาน ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งมาทดลองขอ ไม่มีทรัพย์สิ่งอื่นจะให้ จึงยอมสละให้อวัยวะร่างกายของตนทุกส่วนเพื่อเป็นภักษาของพราหมณ์

ทานในเวสสันดรชาดก

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่รู้จักกันทั่วไป คือเรื่องเวสสันดรชาดกหรือมหาชาติแสดงถึงพระเวสสันดร พระโอรสของพระเจ้าสญชัยและพระนางผุสดีในสีวิรัฐ ซึ่งเป็นนครเชตุดรเป็นราชธานี พระเวสสันดรมีพระชายาพระนามว่า มัทรี มีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า ชาลี พระธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า กัณหาชินา พระเวสสันดรมีพระอัธยาศัยแนบแน่นอยู่ในทานเป็นอย่างยิ่ง ทรงดำริจะบริจาคทาน ทั้งได้ทรงเริ่มบริจาคทานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เหมือนอย่างเป็นเด็กชอบเล่น ก็เล่นทำทาน แต่เป็นการกระทำทานจริงแก่คนยากจนขัดสนเรื่อยมา และทรงมีปกติขัดคนที่มาขออะไรไม่ได้ จะต้องประทานให้ทุกๆ อย่าง ได้มีพราหมณ์จากกาลิงครัฐมาทูลขอช้างเผือกในวันหนึ่งขณะที่ทรงช้างเผือกนั้นเสด็จประพาสในนคร ก็ได้พระราชทานช้างเผือกแก่พราหมณ์เหล่านั้นไป ชาวเมืองสีพีพากันโกรธแค้น พากันมาประชุมกันกราบทูลพระจ้าสญชัยให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากประเทศ พระเวสสันดรได้ทรงขออนุญาตทำทานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จัดให้มีครบทุกอย่าง แล้วเสด็จทรงรถออกจากกรุงพร้อมกับพระนางมัทรี และพระชาลีพระกัณหาชินา ก็ยังมีพราหมณ์ตามไปทูลขอรถขอม้า ก็ประทานให้ ต้องอุ้มพระโอรส และพระนางมัทรีก็ทรงอุ้มพระธิดา เสด็จไปประทับ ณ เขาวงกต ต่อมาก็ยังมีพราหมณ์ชูชกตามไปทูลขอพระโอรสธิดา ก็ได้ตัดพระหฤทัยประทานให้อีก และได้มีพราหมณ์อีกผู้หนึ่งมาทูลขอพระนางมัทรี ก็ได้ประทานให้อีก แต่พราหมณ์ผู้นั้นได้ถวายคืน และทูลห้ามมิให้ประทานแก่ผู้อื่นต่อไป ฝ่ายชูชกได้พาพระชาลีและพระกัณหาชินาเข้าไปในนครเชตุดร ได้พาไปเฝ้าพระเจ้าสญชัยในพระราชสำนัก พระเจ้าสญชัยได้ทรงไถ่พระราชนัดดาทั้ง ๒ องค์ไว้ และได้เสด็จไปทรงรับพระเวสสันดรพระราชโอรสและพระนางมัทรี กลับสู่พระนคร เหตุการณ์ก็กลับเรียบร้อย

เรื่องชาดกต่างๆ เหล่านี้ แม้จะถือว่าเป็นเพียงนิทานที่นำมาเล่าอ้าง แต่ก็เป็นนิทานที่ให้คติเกี่ยวกับทานซึ่งมีผลหลายอย่าง ทั้งได้มีผู้วิจารณ์กันไปหลายอย่าง การวิจารณ์ก็วิจารณ์กันไปด้วยเหตุผลอย่างสามัญ แต่เรื่องเหล่านี้ควรวิจารณ์ด้วยเหตุผลอย่างวิสามัญ เพราะท่านนำมาเล่าเป็นนิทานสาธกเฉพาะพระโพธิสัตว์พุทธางกูรว่า พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ได้ทรงบำเพ็ญทานมาแล้วอย่างยิ่งยวดเพียงไร จึงไม่ใช่เรื่องที่จะฟังถือเป็นนิทานสาธกได้โดยทั่วไป

ทานที่เป็นกรรม กับทานที่เป็นบารมี

ทานนี้มี ๒ ประเภทก่อน คือทานที่เป็นกรรม กับทานที่เป็นบารมี ทานที่ทำคราวหนึ่งๆ เป็นทานที่เป็นกรรม เพราะเป็นกิจการที่ทำ ทานที่เป็นกรรมนี้แหละที่เก็บสั่งสมเป็นสันดานแห่งทานในจิต เป็นทานที่เป็น ทานบารมี ทานบารมีนี้ยังแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ

ทานบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์ ดั่งคำของมหาโควินทพราหมณ์โพธิสัตว์ว่า “ทรัพย์และข้าวจะเป็นสิ่งที่เราเกลียดชังก็หามิได้ เราจะไม่มีการสั่งสมก็หามิได้ (แต่) พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงให้ทรัพย์ที่ดี”

ทานอุปบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละอวัยวะ เช่น ดวงตาและโลหิต ดังพระดำรัสของพระเจ้าสีวิราชโพธิสัตว์ว่า “ดวงตาทั้ง ๒ จะเป็นสิ่งที่เราเกลียดชังก็หามิได้ แม้ตนของเราก็มิใช่เป็นสิ่งที่เกลียดชัง (แต่) พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้ดวงตา”

ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ ท่านที่บำเพ็ญด้วยการสละชีวิต ดังเช่นคำของกระต่ายบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า “เราได้ให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หทัย เส้นเอ็น ไส้พุง สิ้นสกนธกายแก่พราหมณ์”

ทานที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเป็นจาคะ

พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระสันดานอันบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ดังคำว่า “วิสุทฺธธมฺมสนฺตาโน” แปลว่า ผู้มีสันดานอันบริสุทธิ์ และความบริสุทธิ์นี้เกิดจากการปฏิบัติขัดเกลาด้วยพระองค์เองมาโดยลำดับ มลทินทาที่ทำให้จิตสันดานเศร้าหมองไม่บริสุทธิ์อย่างหนึ่งก็คือ โลภะ ความโลภอยากได้ และ มัจฉริยะ ความตระหนี่ ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องมาจาก ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก และ อุปาทาน ความยึดถือ ซึ่งเป็น กิเลสานุสัย จมแน่นอยู่ในสันดาน พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาในพุทธภูมิ ย่อมสามารถปฏิบัติสละสิ่งที่จิตใจเกี่ยวเกาะยึดถือได้ทุกๆ อย่างเพื่อพระโพธิญาณ ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสาธกให้เห็นคติปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ว่าทรงสามารถตัดพระหฤทัยสละได้ทุกอย่าง ทั้งทรัพย์ทั้งอวัยวะร่างกายทั้งชีวิตเพื่อพระโพธิญาณ ในข้อนี้ได้มีคาถาบทหนึ่งแปลความว่า “พึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อจะรักษาชีวิตก็พึงสละอวัยวะ นรชนเมื่อระลึกถึงธรรม ก็พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และชีวิตแม้ทั้งสิ้น” และในเย็นวันที่จะตรัสรู้ ท่านแสดงว่าได้ทรงตั้งพระหฤทัยอย่างแน่วแน่เพื่อพระโพธิญาณโดยความว่า “เนื้อและเลือดทั้งหมดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ยังไม่บรรลุคุณวิเศษที่จะพึงได้ด้วยกำลังเรี่ยวแรงของบุรุษ ก็จักไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้” ดั่งนี้ ตามเรื่องที่แสดงมานี้ ทานที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญย่อมเป็น จาคะ คือการสละเพื่อพระโพธิญาณรวมไปด้วยกัน เพราะทรงเห็นว่าสิ่งที่ทรงสละบริจาคนั้นเป็นสิ่งเล็กน้อย ส่วนสิ่งที่ทรงมุ่งหมายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ การสละสิ่งเล็กน้อยเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้ เรียกว่าจาคะโดยตรง ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า “ธีรชนเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ ก็พึงสละสุขพอประมาณ” ฉะนั้น ความสำคัญของการสละบริจาคนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่จะพึงบริจาคเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่สิ่งที่ประสงค์ เมื่อสิ่งที่ประสงค์สำคัญกว่า ก็พึงสละสิ่งอื่นๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ประสงค์นั้น การสละดังกล่าวนี้เป็นสิ่งจำเป็นแก่ผู้มุ่งประโยชน์ที่ใหญ่กว่าสำหรับทุกๆ คน แม้ในเรื่องทั่วๆ ไป เป็นต้นว่า สละทรัพย์เพื่อให้ได้วิชาความรู้ สละส่วนเล็กน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ผู้ที่ไม่ยอมสละในคราวหรือในสิ่งที่ควรสละ ย่อมไม่ได้สิ่งที่ประเสริฐกว่า หรืออาจจะเสียสิ่งที่มีอยู่ไปเสียอีก

ตรัสสอนให้ทำทานอย่างมีขอบเขตและเหตุผล

ส่วนทานโดยทั่วไปนั้น เป็นการให้เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่ควรอนุเคราะห์ซึ่งขาดแคลน หรือเพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นการผูกมิตรไมตรีจิต หรือเพื่อบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นการบูชาคุณหรือตอบแทน หรือเป็นการบำเพ็ญบุญในบุญเขต พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ได้ตรัสสอนให้ทำทานอย่างมีขอบเขตและเหตุผล ดังเช่นที่ตรัสไว้ว่า ทรงสรรเสริญการเลือกให้ และทรงแสดงสมบัติของทานไว้ ๓ ประการ ได้แก่ เจตนาสมบัติ ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดี วัตถุสมบัติ ถึงพร้อมด้วยวัตถุ ได้แก่ วัตถุเป็นของที่ควรให้ เป็นประโยชน์แก่ผู้รับตามสมควร ปฏิคาหกสมบัติ ถึงพร้อมด้วยปฏิคาหก คือผู้รับเป็นผู้ที่ควร และตรัสสอนให้ทำทานเป็นบุญ คือให้เป็นความดีที่เป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว ให้เป็นกุศล คือเป็นความฉลาด นอกจากนี้ยังได้ตรัสให้ทำทานที่เป็น สัปปุริสทาน ได้แก่ ทานของคนดีคนฉลาด เช่น ให้ถูกกาลสมัย มิได้ทำตนเองให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ในสังฆมณฑลก็ได้มีให้ภิกษุพิจารณาเนืองๆ ว่า มีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น ควรทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย และทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามขอจากคนที่มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา แม้เช่นนั้นก็ให้รู้จักประมาณ ให้มีสันโดษ มักน้อย ในเรื่องชาดกต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า พวกนักขอได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ เป็นอันมาก

อามิสทานและธรรมทาน

อนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงว่า ทานมี ๒ อย่าง คือ อามิสทาน การให้อามิส ได้แก่ ให้พัสดุสิ่งของต่างๆ ๑ ธรรมทาน การให้ธรรม ๑ และตรัสว่าทานทั้ง ๒ นี้ ธรรมทานเป็นเลิศ พิจารณาดูตามเหตุผลก็จะพึงเห็นความสำคัญได้ว่าความทุกข์ยากขาดแคลนนั้นมี ๒ อย่าง ได้แก่ ทางกายและทางจิตใจ อามิสทานเป็นเครื่องแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางกาย เหมือนอย่างเมื่อต้องการอาหาร ผ้านุ่งห่ม และได้สิ่งเหล่านั้นมาบริโภคใช้สอย ก็แก้ความขาดแคลน ก็ทำให้เกิดความสุขทางกาย ส่วนธรรมทานเป็นเครื่องแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางจิตใจ เหมือนอย่างในขณะที่จิตใจเกิดทุกข์ร้อน เมื่อได้ธรรมที่เหมาะสมมาดับทุกข์ ก็ทำให้จิตใจเกิดความสุข นอกจากนี้ธรรมทานยังเป็นเครื่องแก้กิเลสทางจิตใจ และแก้ความประพฤติชั่วร้ายเสียหายได้ ทำจิตใจที่หิวกระหายด้วยโลภ ตัณหา ให้รู้จักอิ่ม ให้รู้จักเต็ม ให้รู้จักเพียงพอ ธรรมอย่างเดียวเท่านั้นเป็นเครื่องแก้กิเลสและทุจริตได้ จึงทำให้เกิดความสุขทางกายได้ด้วย เพราะเมื่อคนมีธรรม พากันเว้นทุกจริต ตั้งอยู่ในสุจริตพากันประกอบการอาชีพและการงานต่างๆ ด้วยความขยันหมั่นเพียรในทางที่ชอบก็จะเกิดความสุขสมบูรณ์ทั่วๆ ไป ดังเรื่องในกุรุธรรมชาดกให้คติสาธกว่า ชาวกาลิงครัฐได้รับพระราชทานช้างเผือกไป ก็แก้ความขาดแคลนไม่ได้ ต่อเมื่อได้รับพระราชทานกุรุธรรม คือศีล ๕ ไปปฏิบัติ จึงแก้ความขาดแคลน เกิดความสุขสมบูรณ์ขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “สพฺพทานํ ธมฺฒทานํ ชินาติ” แปลว่า การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ได้ทรงให้สิ่งทั้งปวงมาโดยลำดับ จนถึงทรงให้ธรรมในที่สุด ธรรมทานของพระองค์คือพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธบริษัทได้รับไว้ และได้ให้สืบต่อกันมา ซึ่งได้ดำรงมั่นอยู่ในโลก เป็นเหตุให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลและความสุขตราบเท่าถึงทุกวันนี้

๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 25 พฤษภาคม 2554 11:31:31 น.
Counter : 830 Pageviews.  

ครั้งที่ ๑๒ ชั้นของบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



สรุปความหมายของบารมี

ได้แสดงถึงกำเนิดพระโพธิสัตว์และบารมี ก็จะแสดงเรื่องชั้นของบารมี การใช้คำว่าบารมีในความหมายหลายอย่าง และตามที่ได้กล่าวแล้วว่า คำว่า บารมี นี้ ไม่มีในพระสูตรใหญ่ๆ ในพระสุตตันตปิฎก แต่ก็ได้มีในบางพระสูตรซึ่งใช้ในความหมายว่า เลิศ ก็อย่างยิ่งนี่แหละ แต่ว่าอย่างยิ่งชนิดที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด และได้พบใน นิธิกัณฑสูตร แสดงถึงอานิสงสผลของ บุญนิธิ คือบุญที่บุคคลผู้กระทำได้กระทำเหมือนอย่างฝังเอาไว้ ซึ่งมีสรุปอานิสงส์ของบุญซึ่งใช้ศัพท์ว่า ให้สำเร็จสาวกภูมิ แต่ว่าไม่ใช้คำว่า สาวกภูมิ ใช้คำว่า สาวกปารมี ปัจเจกภูมิ และ พุทธภูมิ เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูความหมายของคำนี้ ก็กล่าวได้ว่า ได้มีความหมายที่ใช้ในพระสูตรบางพระสูตร ที่เป็น มัชฌิมนิกาย คือที่เป็นพระสูตรอย่างกลาง ใช้คำที่มีความหมายว่า เลิศ คือที่สุด คือเมื่อได้แสดงธรรมที่ปฏิบัติมาโดยลำดับ ผู้ปฏิบัติเมื่อปฏิบัติมาโดยลำดับดังที่แสดงไว้แล้ว ก็จะได้บรรลุถึงบารมีคือที่สุด เมื่อเป็นที่สุดจริงๆ ก็ย่อมจะเป็นมรรคผลนิพพาน และมรรคผลนิพพานนั้นก็มีเป็นชั้นๆ ถ้าเป็นที่สุดจริงๆ ก็ต้องเป็นมรรคผลนิพพานชั้นอรหัตมรรค อรหัตตผล นิพพาน เพราะฉะนั้น จึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดำเนินมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น เมื่อปฏิบัติมาจนถึงผลที่สุดแล้ว ผลที่สุดนั่นแหละจึงเรียกว่าบารมี แม้คำว่า สาวกบารมี ในนิธิกัณฑสูตรนั้น ก็แสดงไปด้วยกันกับปัจเจกภูมิ พุทธภูมิ อันมีความหมายว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงความเป็นสาวก คือพระอรหันตสาวก ให้บรรลุถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ให้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในพระสูตรดังกล่าวนี้ คำว่าบารมีกับภูมิใช้มีความหมายเสมอกัน ถ้าหมายถึงภูมิที่ให้เป็นพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระอรหันตสาวก ก็ย่อมมีความหมายถึงที่เป็นอย่างสูงสุด คือเป็นที่สุดดังที่กล่าวนั้น

บารมีที่มีความหมายว่าเลิศ คือที่สุด

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความหมายของบารมีตามที่ใช้ ก็สรุปลงได้เป็น ๒ คือบารมีที่มีความหมายว่าเลิศคือที่สุด อันหมายความว่าผลที่สุด และแปลว่าอย่างยิ่งก็ได้ คือเป็นอย่างยิ่งจริงๆ เป็นอย่างยิ่งที่เป็นยิ่งที่สุด ที่เป็นเลิศก็เป็นเลิศที่สุด ความหมายดังกล่าวนี้พบใช้ในบางพระสูตร ไม่พบใช้มากแห่งนัก และก็ใช้หมายถึงเป็นเลิศที่สุดสำหรับเป็นพระสาวกด้วย ใช้อย่างเดียวกับภูมิดังที่อ้างมานั้น สาวกปารมี ปัจเจกภูมิ พุทธภูมิ แต่ทำไมจึงใช้ปารมี ไม่ใช้สาวกภูมิ ก็เพราะว่าพระสูตรที่กล่าวมานี้เป็นคาถา ถ้าใช้สาวกภูมิก็ไม่เป็นคาถาที่ถูกต้อง คือไม่เป็นฉันทคาถาที่ถูกต้องสำหรับตรงนั้น เมื่อใช้ปารมีจึงจะถูกต้อง ลงได้พอดี ส่วนคำว่าปัจเจกภูมิ พุทธภูมินั้นเหมาะที่จะใช้ภูมิ เพราะรวมเข้าในบาทเดียว ซึ่งทำให้เห็นว่ามีความหมายเสมอกัน และทำให้สันนิษฐานว่า มีความหมายถึงที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด เรียกว่าเลิศ หรือประเสริฐที่สุด สำหรับที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ที่จะเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า และก็เมื่อใช้สำหรับพระสาวกดั่งนั้น ก็แสดงว่าได้มีใช้สำหรับพระสาวก ติดอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นด้วยแล้ว

บารมีที่หมายถึงคุณธรรมที่สั่งสมมาโดยลำดับ

และโดยที่คำว่าบารมีมีที่ใช้น้อยในพระสูตรในพระไตรปิฎกดังกล่าว และพบที่ใช้ก็มีความหมายถึงว่า อย่างยิ่งที่สุด เลิศหรือประเสริฐที่สุด จึงทำให้เข้าใจว่า คำว่าบารมีนี้ได้มีมาเริ่มใช้แม้ในครั้งพุทธกาลนั้นเองก็ในช่วงหลัง และก็ในความหมายว่าเลิศที่สุด อย่างยิ่งที่สุด ดังกล่าวนั้นมาก่อน และต่อมาเมื่อมีแสดงถึง พุทธวงศ์ จึงได้ใช้ในความหมายเป็นบารมี ๑๐ ที่ได้แสดงมาแล้ว และก็ไม่ได้มีความหมายว่า อย่างยิ่งที่สุด เลิศที่สุด แต่มีความหมายว่า เป็นคุณธรรมที่ได้ปฏิบัติสั่งสมมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ก็เรียกว่าบารมีขึ้นมาโดยลำดับ จึงเป็นคำกลาง ที่หมายถึงคุณธรรมที่ปฏิบัติสั่งสมขึ้นมา เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ เพราะฉะนั้น จึงต้องแบ่งบารมีเป็น ๓ ชั้น เป็นชั้นบารมีธรรมดา ชั้นอุปบารมี บารมีที่สูงขึ้น ใกล้จะถึงอย่างยิ่งที่สุด กับปรมัตถบารมี บารมีที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด เพราะฉะนั้น คำว่า ปรมัตถบารมีนี้ ก็มีความหมายได้กันกับคำว่าบารมีที่ใช้ในตอนต้น ในบางพระสูตรดังกล่าวที่มีความหมายว่าเลิศที่สุด อย่างยิ่งที่สุดแต่อย่างเดียว แต่ครั้นมาใช้ในความหมายเป็นคุณธรรมที่ปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นมา เพื่อบรรลุซึ่งเป้าหมายอย่างสูง เรียกว่าบารมีมาตั้งแต่ขั้นต้น จึงต้องแบ่งเป็น ๓ ชั้นดังที่กล่าวมานั้น ความหมายจึงต้องต่างกันออกไป

การแบ่งชั้นของบารมีตามสิ่งที่เสียสละเป็นประมาณ

และเกณฑ์ในการแบ่งนั้น ที่มีแสดงเอาไว้ ก็มุ่งถึงข้อที่ทำนั้น เป็นการเสียสละอย่างธรรมดา หรืออย่างพิเศษขึ้นไป หรือว่าอย่างยิ่งที่สุด คือตั้งเกณฑ์เอาไว้ว่า อย่างเช่น ทานบารมี หรือแม้บารมีข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน ต้องเสียสละทั้งนั้น ในการปฏิบัตินั้นเมื่อต้องเสียสละแค่ทรัพย์สมบัติ ก็เป็นบารมีธรรมดา เมื่อต้องเสียสละอวัยวะร่างกาย ก็เป็นอุปบารมี เมื่อต้องเสียสละชีวิต ก็เป็นปรมัตถบารมี การปฏิบัติของบุคคลก็ดี ของสัตว์เดรัจฉานก็ดี ซึ่งเล่าไว้ในชาดกนั้นๆ ซึ่งมีตั้ง ๕๐๐ กว่าเรื่อง เมื่อต้องเสียสละอย่างไหนแห่ง ๓ อย่างนั้น ก็เรียกว่าบุคคลหรือสัตว์ในเรื่องนั้น ได้บำเพ็ญบารมีในขั้นนั้นขั้นนั้น เช่นเสียสละเพียงทรัพย์ก็เป็นบารมีธรรมดา เสียสละอวัยวะร่างกายก็เป็นอุปบารมี เมื่อเสียสละถึงชีวิตก็เป็นปรมัตถบารมี แม้แสดงถึงชาติที่เป็นกระต่าย ซึ่งในชาดกเรื่องนี้กระต่ายได้สละชีวิต ให้ร่างกายเป็นอาหาร ก็เรียกว่าปฏิบัติในปรมัตถบารมี ถือเอาสิ่งที่เสียสละเป็นประมาณ ไม่ได้ถือเอาคุณธรรมที่ปฏิบัติใกล้พระโพธิญาณเป็นเกณฑ์ เพราะว่าการปฏิบัติบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นเพื่อพระโพธิญาณ เพื่อที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เล่ามาแล้วในเรื่องสุเมธดาบสซึ่งเป็นชาติแรกแห่งพระโพธิสัตว์ คือที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายในบัดนี้ ตามที่แสดงเอาไว้

ท่านสุเมธดาบสนั้นเมื่อได้ตั้งปรารถนาพุทธภูมิต่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรแล้ว ก็เริ่มพิจารณาหาธรรมปฏิบัติที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อันเรียกว่าพุทธการกธรรมดังที่เล่าแล้ว ท่านก็พิจารณาเห็นตั้งแต่ข้อทานขึ้นไปจนถึงข้ออุเบกขาเป็นที่สุด รวมเป็น ๑๐ ข้อ ว่า ๑๐ ข้อนี่แหละจะเป็นพุทธการกธรรม ท่านพิจารณาค้นหาขึ้นเอง แล้วก็ปรากฏแก่ใจของท่านเองด้วยอภิญญาของท่าน พระพุทธเจ้าทีปังกรไม่ได้ตรัสสั่งสอนอย่างไรไว้ จุดมุ่งก็คือพระโพธิญาณหรือพุทธภูมิที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ท่านจึงเริ่มปฏิบัติในธรรมปฏิบัติ ๑๐ ข้อนี้เรื่อยมา สืบชาติกันมาโดยลำดับ และชาติต่างๆ ที่มาเล่าไว้กว่า ๕๐๐ ชาตินั้น ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จะเป็นบารมีประเภทไหน ก็มุ่งเอาข้อที่สละได้ในชาตินั้นๆ เป็นเกณฑ์ แม้เป็นกระต่าย เมื่อสละชีวิต ให้ร่างกายเป็นอาหารเขาได้ ก็เป็นปรมัตถบารมีได้ ไม่ได้มุ่งเอาว่าข้อปฏิบัตินั้นจะสูง ใกล้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง และแม้ที่แสดงว่าในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายในเมืองมนุษย์ เมื่อพระเวสสันดรสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไปเกิดเป็นเทพในชั้นดุสิต จุติในชั้นดุสิตนั้น แล้วจึงมาบังเกิดเป็นสิทธัตถะราชกุมารตามที่แสดงไว้ แม้ทานที่พระเวสสันดรให้เป็นอันมาก จนนับถือว่าพระเวสสันดรเป็นชาดกแห่งทานบารมี ทานที่พระเวสสันดรได้บริจาคทั้งปวงนั้น ก็ไม่นับว่าเป็นปรมัตถบารมีเพราะไม่ได้สละชีวิต กระต่ายเสียอีกซึ่งบังเกิดในชาติที่ห่างไกล แต่ว่าได้สละชีวิตให้ร่างกายเป็นอาหารเขา ก็ยังได้รับยกย่องว่าเป็นปรมัตถบารมี เพราะถือเกณฑ์ดังที่กล่าวนั้น

การแบ่งชั้นของบารมีตามภูมิธรรมที่ได้ปฏิบัติ

คราวนี้เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว ก็ควรจะเห็นว่า เมื่อแบ่งบารมีเป็น ๓ ขั้นดั่งนี้แล้วเกณฑ์ที่จะนับว่าเป็นบารมีขั้นไหนนั้นควรจะมุ่งเอาคุณธรรมที่ได้ปฏิบัติสั่งสมมาเพื่อพุทธภูมิ ได้สูงขึ้น สูงขึ้น ใกล้ความเป็นพระพุทธเจ้าเข้ามาจนถึงเป็นพระพุทธเจ้า คุณธรรมซึ่งได้ปฏิบัติมาในชาติที่ห่างไกลยังไม่สูงมาก ยังไกลที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นบารมีธรรมดาเรื่อยมา จะสละอะไรก็ตาม และเมื่อภูมิสูงขึ้นๆ จนใกล้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นอุปบารมี คือเข้าพรมแดนของพุทธภูมิ และเมื่อถึงขั้นที่จะให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ทันที นั่นก็เป็นปรมัตถบารมี ถ้าจัดอย่างนี้แล้วก็จะเข้าลำดับของธรรมปฏิบัติที่สูงขึ้นโดยลำดับ คราวนี้หากจะเทียบกับในพุทธประวัติ เอาปัจจุบันชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้น เมื่อได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ทรงเริ่มปรารถนา โมกขธรรม นั่นก็เริ่มว่าเป็นพระโพธิสัตว์ และก็เริ่มเป็นบารมีที่ได้ทรงขวนขวายที่จะสละออก เป็น เนกขัมมะ จนถึงได้สละออก แล้วก็แสวงหาทางปฏิบัติ เข้าศึกษาในสำนักของดาบสทั้ง ๒ เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางก็ออกมาทรงทำทุกกรกิริยา เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางก็ทรงเลิก แล้วก็มาระลึกได้ถึง อานาปานสติ ที่ทรงได้เมื่อเป็นพระกุมาร ตามเสด็จพระราชบิดา และพระกุมารน้อยก็ประทับนั่งใต้ต้นหว้า ในขณะที่พระราชบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะทรงทำพิธีแรกนาขวัญ ก็ทรงกำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงบรรลุถึงปฐมฌาน แต่เมื่อเสร็จจากพระราชพิธีนั้นแล้ว ปฐมฌานที่ทรงได้นั้นก็เสื่อมไป ก็ทรงระลึกได้ถึงเรื่องราวที่เล่ามานี้ จึงได้เคยเทศน์เคยแสดงมาแล้วว่า ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงพบพระองค์เองเป็นพระอาจารย์ คือพระองค์เองซึ่งเป็นพระกุมารนั่งประทับใต้ร่มหว้าได้ปฐมฌานนั้น ก็ทรงพิจารณาเห็นว่า การปฏิบัติให้จิตได้ความสงบอย่างบริสุทธิ์ดั่งนั้น จะพึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ จึงได้เริ่มทรงจับปฏิบัติทางสมาธิอันบริสุทธิ์ดังกล่าว นี่ก็เป็นอุปบารมีเรื่อยขึ้นมา แปลว่าเข้าทางที่ถูก เข้าทางมรรคมีองค์ ๘ จนได้พระญาณทั้ง ๓ ในราตรีที่ตรัสรู้ จนถึง อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำอาสวะให้สิ้นไป นี่แหละเป็นปรมัตถบารมี มาเป็นพระพุทธเจ้าขึ้น นี่จัดเทียบเป็นนิทัสสนอุทธาหรณ์ ว่าเกณฑ์จัดของบารมีน่าจะเป็นดั่งนี้ คือถือเอาภูมิธรรมปฏิบัติที่สูงขึ้นๆ และถ้าหากว่าจะถือตามที่พระอาจารย์ท่านได้เล่าเรื่อง และเป็นมาในคัมภีร์พระไตรปิฎกก็มี คืออย่างในจริยาปิฎกในพุทธวงศ์ดังกล่าวนั้น ย้อนไปจนถึงพระชาติที่เป็นสุเมธดาบสก็ได้ ก็เริ่มจากนั้นมา ก็เป็นอันว่าได้สั่งสม สละโน่นบ้าง สละนี่บ้าง สละทรัพย์บ้าง สละร่างกายบ้าง สละชีวิตบ้าง สละลูกสละเมียบ้าง เรื่อยมา เรื่อยมา เรื่อยมา จนถึงตรัสรู้ นั่นแหละก็เป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีมาโดยลำดับ จนถึงที่สุดจะตรัสรู้ นั่นแหละจึงเป็นปรมัตถบารมี แล้วก็ตรัสรู้

มรรคมีองค์ ๘ ก็คือบารมี

และหาว่าจะสรุปเข้าใน มัชฌิมาปฏิปทา มรรคมีองค์ ๘ ก็สรุปเข้าได้ ก็มรรคมีองค์ ๘ นั่นเองคือบารมี ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาจนถึงได้ตรัสรู้ ปฏิบัติทีแรกก็เป็นบารมี ยิ่งขึ้นๆ ก็เป็นอุปบารมี จนถึงยิ่งที่สุดก็เป็นปรมัตถบารมี ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2554 0:06:37 น.
Counter : 813 Pageviews.  

ครั้งที่ ๑๑ กำเนิดพระโพธิสัตว์ และความเริ่มต้นของบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



พระชาติแรกของพระโพธิสัตว์

จะได้เล่าชาดกที่พระอรรถกถาจารย์ คือพระอาจารย์ผู้แต่งถ้อยคำอธิบายเนื้อความของพระไตรปิฎก ได้แสดงไว้ถึงพระชาติของพระพุทธเจ้า ย้อนหลังกลับไปในอดีตชาตินานไกล ถึงพระชาติแรกที่ทรงใช้ชื่อว่า พระโพธิสัตว์ มีความย่อว่า ในนครหนึ่งชื่อว่าอมรวตีนครหรืออมรนคร ได้มีกุลบุตรผู้หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่ง ชื่อว่าสุเมธหรือสุเมธะ เป็นผู้มีความฉลาด รูปร่างงดงาม และเป็นบุตรคนเดียวของพราหมณ์ที่เป็นเศรษฐีมีทรัพย์มาก เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว จึงได้ครอบครองทรัพย์สมบัติของมารดาบิดาที่สืบมรดกกันมาหลายชั่วคนมากมาย แต่สุมเธบัณฑิตนั้น เมื่อได้เป็นผู้รับมรดกครอบครองทรัพย์สมบัติมากมายดั่งนั้นแล้วแทนที่จะมีความยินดีและเสวยสุขอยู่ในฆราวาสวิสัย กลับมีความเบื่อหน่ายในความไม่เที่ยงของชีวิต ที่ทุกชีวิตเมื่อมีเกิด ก็ต้องมีแก่มีเจ็บมีตาย จึงปรารถนาที่จะพบความสุขที่ยิ่งไปกว่าความสุขอันเกิดจากความไม่เที่ยง ได้มีดำริว่า ทุกอย่างย่อมมีคู่กันอยู่ คือมีทุกข์ก็มีสุข มีภพชาติก็ย่อมไม่มีภพชาติ มีร้อนก็มีเย็น มีไฟที่เผาใจ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ก็ย่อมมีธัมมะที่ดับไฟทั้ง ๓ กองนี้คือ นิพพาน มีบาปก็ย่อมมีบุญ มี กัลยาณธรรม หรือ กัลยาณกรรม กรรมงาม มีชาติคือความเกิด ก็ย่อมมีอชาติคือไม่เกิด

สมณสุข ๘ ประการ

และได้มองเห็นความสุขของสมณะอันเรียกว่า สมณสุข ความสุขของสมณะคือผู้ที่ออกบวชเป็นสมณะคือผู้สงบ ว่าย่อมมีความสุข ๘ ประการคือ
หนึ่ง ไม่มีการต้องหวงแหนรักษาทรัพย์สมบัติ
สอง ออกเที่ยวบิณฑบาต รับข้าวที่เขาใส่บาตรมาบริโภคดำรงชีวิตได้อย่างไม่มีโทษ
สาม ฉันบิณฑบาต บริโภคบิณฑบาตที่ได้มาอย่างมีความสุขเย็น
สี่ ไม่ต้องรับการเบียดเบียนต่างๆ จากรัฐ คือบ้านเมือง
ห้า ไม่ต้องมีฉันทราคะ คือความติดใจพอใจในพัสดุที่เป็นอุปกรณ์ทั้งหลาย
หก ไม่ต้องถูกปล้นสดมภ์
เจ็ด ไม่ต้อง สังสัคคะ คือเกี่ยวข้องวุ่นวายกับใคร
แปด ไม่ต้องถูกกระทบกระทั่งในทิศทั้ง ๔

ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น สุเมธบัณฑิตจึ่งได้บริจาคทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาหลายชั่วคนนั้น แก่คนขัดสนยากจนทั้งหลาย แล้วก็ออกบวชเป็นดาบสได้ชื่อว่าสุเมธดาบส อยู่ในอาศรมในป่า ดำรงชีวิตเป็นสมณะคือผู้สงบ ปฏิบัติบำเพ็ญตบะอบรมจิตใจ จนได้บรรลุถึงสมาธิอย่างสูง ถึงฌาน อภิญญา และเมื่อสุเมธดาบสนั้นกำลังบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า เมื่อได้ออกมาพบกับประชาชนในวันหนึ่ง คือมีประชาชนเป็นอันมากกำลังประชุมกันทำทาง ก็ไต่ถาม ประชาชนก็ได้แจ้งแก่ท่านว่าพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร จะเสด็จมาถึงเมืองอมรวดี จะเสด็จเข้าสู่รัมมกนครที่ประชาชนเหล่านั้นได้อาศัยอยู่ จึงได้พากันออกมาทำทางเพื่อให้พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้เดินทางเข้าสู่รัมมกนคร และก็ได้ปันกันทำทาง ฝ่ายท่านสุเมธดาบสครั้นได้ยินพระนามว่าพระพุทธเจ้า ก็เกิดปีติโสมนัสว่าพระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก จึงได้ขออาสาทำทางด้วย ฝ่ายชาวเมืองรัมมกนครก็ได้แบ่งที่ให้ท่านสุเมธดาบสทำทางตอนหนึ่ง อันเป็นทางที่ยากลำบาก เพราะมีลำธารน้ำไหลผ่าน จะต้องมีการถมดินนำหินออกเป็นต้น ท่านสุเมธดาบสก็รับทำทางตอนนั้นและท่านก็ลงมือทำทางด้วยกำลังร่ายกายของท่านเอง ไม่ใช้ฤทธิ์ทางใจ ท่านขนดินเองมาถมที่นั้น จนใกล้จะเสร็จเหลือทางที่เป็นร่องน้ำอยู่อีกแห่งเดียวชั่วขนาดตัวคนก็พอดีพระพุทธเจ้าทีปังกรเสด็จมาถึงพร้อมกับพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ท่านจึงได้นอนลงไปตรงร่องทางที่ยังขาดนั้น โดยนอนคว่ำหน้าลง เพื่อเป็นทางให้พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรและพระอรหันต์ทั้งหลายเสด็จดำเนินผ่านไป เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรได้เสด็จมาถึงที่ๆ ท่านสุเมธดาบสนอนคว่ำหน้าทอดกายเป็นทางถวายนั้น ท่านสุเมธดาบสได้มองเห็นพระรัศมีที่เปล่งปลั่งของพระพุทธเจ้าก็เปิดปีตีโสมนัส และก็ได้มีความดำริว่า หากว่าตนจะบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าทีปังกร ก็อาจจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ว่าท่านได้เลื่อมใสในความเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทีปังกรนั้น

ได้รับพระพุทธพยากรณ์และเริ่มได้ชื่อว่าพระโพธิสัตว์

พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ได้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่านสุเมธดาบส จึงได้ทรงเล็งพระญาณไปในอนาคต ก็ได้ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านผู้นี้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ก็จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ตามความประสงค์ ท่านจะมาเป็นพระพุทธเจ้าคือพระโคดมพุทธเจ้า ผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายในศาสนานี้ ก็ได้มีพระพุทธทำนายขึ้นโดยมีพระวาจาตรัสขึ้น ว่าท่านผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต พระอรหันตสาวกทั้งหลายและประชาชนทั้งปวง ก็ได้ยินพระพุทธพยากรณ์นี้ทั่วกัน ครั้นทรงตรัสเป็นพุทธพยากรณ์แล้ว ก็ทรงย่างพระบาทขวาเสด็จผ่านไป พระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน และอาการที่ได้ย่างพระบาทขวาเสด็จผ่านไปนั้น พร้อมทั้งพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็ได้ชื่อว่าได้ทำประทักษิณ เป็นการที่พระพุทธเจ้าทีปังกรได้ทรงแสดงยกย่องท่านสุเมธดาบส ท่านสุเมธดาบสเมื่อได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทีปังกรดั่งนั้น ก็เริ่มได้ชื่อว่า พระโพธิสัตว์ คือเป็นสัตวโลก เป็นสัตตะ ผู้ข้อง เป็นสัตตะ ผู้กระเสือกกระสนแสวงหาโพธิ คือความตรัสรู้ หรือพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าตั้งแต่นั้นมา

อภินิหารหรือคุณสมบัติ ๘ ประการ

และท่านแสดงสรุปว่า บุคคลที่จะได้รับพุทธพยากรณ์ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคตนั้น ย่อมประกอบด้วยอภินิหาร คือคุณสมบัติที่จะเป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ๘ ประการ คือ
๑. เป็นมนุษย์
๒. ประกอบด้วยเพศ คือเป็นบุรุษเพศ
๓. ประกอบด้วยเหตุ คือคุณสมบัติที่เป็นส่วนเหตุ อาจที่จะบรรลุอรหัต คือความเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นได้
๔. ได้เฝ้าพระศาสดาคือได้เฝ้าได้พบพระพุทธเจ้า ได้รับพระพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
๕. ได้บรรพชาคือได้ออกบวช ดังท่านสุเมธดาบสก็ได้ออกบวชเป็นดาบส
๖. ได้ประกอบด้วยคุณสมบัติคือ อภิญญาสมาบัติ อันเป็นสมาธิอย่างสูง
๗. ได้มี อธิการ คือการกระทำที่เป็นการทำอย่างยิ่งถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งได้เฝ้าได้เห็นได้ประทานพุทธพยากรณ์นั้น คือได้สละชีวิตถวายพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ ดังท่านสุเมธดาบสนั้นได้นอนทอดกายถวายให้เป็นถนน เพื่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกจะได้ทรงพระพุทธดำเนิน ดำเนินผ่านไป
๘. ได้มี ฉันทะ คือความพอใจที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
คุณสมบัติเหล่านี้เรียกว่า อภินิหาร ที่ได้แก่คุณสมบัติที่จะนำให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจปรารถนา มี ๘ ประการดังกล่าว

พุทธการกธรรม หรือ บารมี

และเมื่อสุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทีปังกร ว่าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต ได้เริ่มชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ตั้งแต่นั้นมาแล้ว ก็ได้นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสมาธิ ในเมื่อพระพุทธเจ้า พระสาวกทั้งหลาย และประชาชนทั้งหลายได้ผ่านไปหมดแล้ว เหลือท่านสุเมธดาบสอยู่เพียงผู้เดียว ได้พินิจพิจารณาว่า เมื่อได้ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า และได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะปฏิบัติอย่างไร จะมีธัมมะอะไรที่จะปฏิบัติเป็นเครื่องกระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ อันเรียกว่า พุทธการกธรรม คือธัมมะซึ่งเป็นผู้ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าซึ่งจะต้องบำเพ็ญสั่งสมไปโดยลำดับ จนกว่าคุณธรรมที่เป็นพุทธการกธรรมนี้จะสมบูรณ์ อันทำให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้เรียกพุทธการกธรรมที่ท่านสุเมธดาบสดำริว่าคืออะไรบ้าง ที่เมื่อปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะพึงปฏิบัติว่า บารมี คำว่า บารมี จึงบังเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ ในความหมายนี้ คือเป็นคุณธรรมที่มิใช่ว่าจะปฏิบัติให้สำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่จะต้องปฏิบัติสืบต่อกันไปตลอดกาลนาน ธัมมะที่จะต้องปฏิบัติให้สืบเนื่องกันไปดั่งนี้เรียกว่าบารมี ที่ให้คำแปลไว้ว่า อย่างยิ่ง อันหมายความว่าปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับจนถึงบริบูรณ์

บารมี ๓ ชั้น

เพราะฉะนั้น จึงได้มีการแบ่งบารมีไว้เป็น ๓ ขั้น คือ ขั้น บารมีธรรมดา ขั้น อุปบารมี ขั้น ปรมัตถบารมี ขั้นบารมีธรรมดานั้นก็คือขั้นที่เริ่มปฏิบัติ ที่มีผิดบ้าง ถูกบ้าง บกพร่องบ้าง แล้วก็แก้ไขกันไป จนการปฏิบัตินั้นถูกต้องมากขึ้น เข้าทางมากขึ้น ก็เป็นอุปบารมี และเมื่อปฏิบัติจนถึงสมบูรณ์ คือเต็มที่สุด เปี่ยมที่สุด เป็นปรมะคืออย่างยิ่งจริงๆ ก็เป็นปรมัตถบารมี คำว่าบารมีนี้จึงบังเกิดขึ้นจากความหมายดังที่กล่าวมานี้ และก็มีความหมายอื่นที่ท่านเพ่งเอาศัพท์นี้อาจจะแปลออกไปได้เช่นว่าบรรลุถึงฝั่ง อันหมายความว่า เมื่อยังไม่สำเร็จก็ยังอยู่ในฝั่งนี้ เมื่อสำเร็จก็แปลว่าถึงฝั่งโน้น คือฝั่งที่ปรารถนาเอาไว้ ดังท่านสุเมธดาบสนั้น เมื่อปรารถนาพุทธภูมิก็ยังอยู่ในฝั่งนี้ คือยังไม่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และก็ปฏิบัติไปๆ ซึ่งคุณธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมานั้น ถ้าสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าก็แปลว่าถึงฝั่งโน้นคือฝั่งที่ปรารถนาเอาไว้ แปลว่าบรรลุถึงความสำเร็จในที่สุด และก็มีคำแปลอย่างอื่นอีกที่เพ่งเอาคำหรือศัพท์แสง แล้วก็แปลกันไป แต่ความหมายก็เป็นอย่างที่ว่ามานี้และคำนี้ก็บังเกิดขึ้นอย่างนี้

บารมี ๑๐ ประการ

ท่านสุเมธดาบสก็ได้ดำริว่าจะมีอะไรบ้างที่เป็นคุณสมบัติอันเป็นพุทธการกธรรม คือธัมมะที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะว่าเมื่อปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นขึ้นมาเองเฉยๆ จะต้องปฏิบัติในคุณธรรมที่จะทำให้บังเกิดความสำเร็จดังปรารถนาได้

ทาน การให้

ประการแรกท่านก็คิดถึง ทาน ว่าจะต้องปฏิบัติในทาน คือการให้ การสละให้ จะต้องปฏิบัติในทานนี้ ด้วยการสละให้ จนถึงให้ได้ทุกอย่าง ให้ได้ทั้งหมด เหมือนอย่างเทหม้อน้ำคว่ำลง น้ำที่อยู่ในหม้อน้ำนั้น เมื่อตักให้ ตักให้ น้อยบ้างมากบ้าง ก็แปลว่าตักให้จนหมด เบื้องต้นก็หัดให้ ตักให้ แบ่งให้ดังกล่าวนั้น เหมือนอย่างตักน้ำจากหม้อน้ำให้ หัดทำการให้นี้ ปฏิบัติในทานข้อนี้ให้ได้เรื่อยๆ ไป จนถึงสามารถให้ได้ทุกอย่าง เหมือนอย่างเทหม้อน้ำคว่ำให้หมดกันทีเดียว

ศีล ความงดเว้น

เมื่อท่านพบเห็นว่าทานนี้จะเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่ท่านจะพึงปฏิบัติ ท่านก็ดำริต่อไปถึงข้ออื่น ยังมีข้ออื่นอีกไหม ก็มาพบถึงข้อ ๒ คือ ศีล จะต้องรักษา ศีล ตั้งแต่ศีลที่เป็นอย่างต่ำ จนถึงศีลที่เป็นอย่างสูง คือเป็นผู้ที่สามารถมีวิรัติ คือความงดเว้นจากความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจที่ผิด ได้ไปโดยลำดับ และมีความรักศีล ไม่ต้องการที่จะละเมิดศีล เหมือนอย่างจามรีรักษาขน

เนกขัมมะ การออก

ต่อไปท่านก็นึกถึงข้อ ๓ ก็พบ เนกขัมมะ คือการออก ได้แก่การออกจากกาม ไม่ติดอยู่ในกาม จนถึงการออกที่เป็นการออกบวช มองเห็นเครื่องผูกพันทั้งหลายอันเกิดจากกามนั้น เหมือนอย่างเรือนจำ นักโทษที่อยู่ในเรือนจำก็ย่อมไม่ต้องการที่จะอยู่ในเรือนจำ ก็ย่อมปรารถนาที่จะออกจากเรือนจำ ฉันใดก็ดี เมื่อยังอยู่ในกามโลกทั้งหลาย ก็ปรารถนาที่จะออกจากกามโลกเหมือนอย่างอยากออกจากเรือนจำ

ปัญญา ความรู้ทั่วถึงเหตุผลตามเป็นจริง

ต่อไปท่านก็นึกถึงข้อ ๔ ก็พบ ปัญญา คือความรู้ที่เป็นปัญญา คือความรู้ทั่วถึงเหตุผลตามเป็นจริง หรือรู้ความจริงตามเหตุและผล ศึกษาค้นคว้าไต่ถามผู้ที่คิดว่าจะให้ความรู้ได้ทั่วไป ไม่มีเว้น เหมือนอย่างภิกษุที่ถือธุดงค์ข้อ สปทานจาริก คือเที่ยวรับบาตรไปโดยลำดับ ไม่มีข้าม

วิริยะ ความเพียร

ต่อไปท่านก็นึกถึงข้อต่อไป ก็พบข้อ ๕ คือ วิริยะ ความเพียร คือมีความเพียร พยายามไม่ท้อถอย มีเริ่มต้นดำเนินไปก้าวหน้า ไม่มีถอยหลัง มีความกล้าหาญในการประกอบกระทำ เหมือนอย่างสีหราชทุกอิริยาบถ

ขันติ ความอดทน

ท่านก็คิดถึงข้อต่อไป ก็พบข้อ ๖ คือ ขันติ ความอดทน คือปฏิบัติทำความอดทนให้สามารถถอดทนคือรับที่ตั้งของความทุกข์เป็นต้นได้ทุกอย่าง เหมือนอย่างแผ่นดินรับรองของที่เขาทิ้งลงไปได้ทุกอย่าง ไม่ว่าของสะอาดไม่สะอาด

สัจจะ ความจริง

ท่านก็คิดข้อต่อไปว่าจะมีอะไรอีก ก็พบข้อ ๗ คือ สัจจะ คือความจริง เช่นจริงวาจา ไม่พูดมุสา แม้จะถูกฟ้าผ่าขมองเพราะพูดจริง ท่านก็ยอมที่จะไม่พูดเท็จ ต้องพูดจริง เหมือนอย่างดาวโอสธี คือดาวประจำรุ่งที่ไม่ละวิถี

อธิษฐาน ความตั้งจิตมั่น

ท่านก็คิดต่อไปว่าจะมีอะไรอีก ก็มาพบข้อ ๘ คือ อธิษฐาน อันได้แก่ความที่ตั้งจิตมั่นในความปรารถนาที่ตั้งไว้ ไม่คลอนแคลน กลับกลอกเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างภูเขาที่ไม่หวั่นไหวด้วยลมที่พัดมาแต่ทิศทั้ง ๔

เมตตา ความปรารถนาสุข

ท่านก็คิดต่อไปอีกว่าจะมีอะไรอีก ก็พบข้อ ๙ คือ เมตตา คือความที่มีจิตมีเมตตาปรารถนาสุข ดับโทสะพยาบาท เหมือนอย่างน้ำที่แผ่ความเย็นให้แก่คนทั้งหมด ไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว แผ่ความเย็นให้เหมือนกันหมด

อุเบกขา ความมีจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง

ท่านก็นึกต่อไปว่าจะมีอะไรอีก ก็พบข้อ ๑๐ คือ อุเบกขา อันได้แก่ความที่มีจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง ไม่ลำเอียงไปเพราะอคติต่างๆ ตั้งมั่นอยู่ในความมัธยัสถ์เป็นกลาง เหมือนอย่างแผ่นดินที่ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง ในเมื่อใครๆ เขาทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างลงไป แผ่นดินก็ไม่ว่ากระไร มีความเป็นกลางในทุกสิ่งที่เขาทิ้งลงไปในแผ่นดินนั้น

เมื่อท่านพบถึง ๑๐ ข้อดั่งนี้ ท่านก็รู้สึกว่ามีเพียง ๑๐ ข้อนี้ เป็นคุณธรรมที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ธัมมะทั้ง ๑๐ ข้อนี้จึงได้เรียกว่า พุทธการกธรรม ธัมมะที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า และเรียกว่า บารมี

วันนี้ได้เล่าถึงกำเนิดแห่งพระโพธิสัตว์และความเริ่มต้นของบารมี ที่แสดงไว้ในคัมภีร์อรรถกถา

๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 11 พฤษภาคม 2554 9:11:41 น.
Counter : 921 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.