Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๕ วิมุตติ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



วิมุตติ ความหลุดพ้นจากอาสวะ

ได้แสดง ไตรสิกขา ไปแล้ว ก็ควรจะแสดงอีกข้อหนึ่งต่อกันไป คือ วิมุตติ ที่แปลว่าความหลุดพ้น หมายความว่าหลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากทุกข์

พระพุทธเจ้าได้แสดง อริยธรรม ที่แปลว่า ธัมมะที่ทำผู้ปฏิบัติให้เป็นอริยะหรือธัมมะที่พระอริยะแสดงไว้ ธัมมะของพระอริยะ และก็แปลเป็นชื่อของธัมมะเองก็ได้ว่า ธัมมะที่เป็นอริยะคือที่เจริญที่ประเสริฐ ดังที่ได้บอกไว้เมื่อบอกอนุศาสน์ในตอนท้ายว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ผู้เห็นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเองพระองค์นั้น ตรัสศีลไว้โดยชอบแล้ว ตรัสสมาธิไว้โดยชอบแล้ว ตรัสปัญญาไว้โดยชอบแล้ว โดยหลายขบวนคือหลายวิธี เพียงเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้น อันเป็นทางย่ำยีความเมาเสีย เป็นทางนำความอยากเสีย เป็นทางถอนอาลัยขึ้นเสีย เป็นทางเข้าไปตัดวนเสีย เป็นทางสิ้นแห่งตัณหา เป็นทางฟอกจิต เป็นทางดับทุกข์ ในศีลสมาธิปัญญานั้น สมาธิอันศีลอบรมแล้ว มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมพ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานโดยชอบ คือ จาก กามาสวะ อาสวะคือกาม ความอยาก ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้สัจจะคือความจริงของจริง เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงศึกษาสิกขาคือศีลยิ่งอย่างเคารพ พึงศึกษาสิกขาคือจิตยิ่งอย่างเคารพ พึงศึกษาสิกขาคือปัญญายิ่งอย่างเคารพ ในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตตรัสประกาศไว้ฉะนี้ พึงให้ถึงพร้อมความไม่ประมาทในศีลสมาธิปัญญานั้นเทอญ” ดั่งนี้

วิมุตติ เป็นผลของการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา

เพราะฉะนั้น วิมุตติคือความพ้นนั้น จึงเป็นผลของการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญามาโดยลำดับ แล้วก็ตรัสไว้ว่า สมาธิที่ศีลอบรมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาที่สมาธิอบรม มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตที่ปัญญาอบรมย่อมพ้นจากอาสวะ คือกิเลสที่ดองสันดานทั้งหลายโดยชอบ คำว่า พ้น ก็คือวิมุตตินั้นเอง และศีลสมาธิปัญญาทั้ง ๓ นี้ ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป สำหรับในพุทธภาษิตที่ยกขึ้นมานี้กล่าวโดยย่อก็คือว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาก็อบรมจิต ให้พ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่า ปัญญาอบรมจิต จิตก็อบรมศีล เพราะฉะนั้น จึงต่างอบรมซึ่งกันและกัน อาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปแล้วก็รวมกันเข้าอบรมจิตนี้เอง ให้ได้วิมุตติคือความหลุดพ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน และวิมุตติคือความหลุดพ้นนั้น เมื่อกล่าวรวมๆ ไปหรือว่าเมื่อกล่าวดังเช่นยกพุทธภาษิตที่อ้างมานี้ ก็จะทำให้เห็นว่าเป็นของที่ปฏิบัติให้บรรลุได้ยากอย่างยิ่ง เพราะการที่จะปฏิบัติให้สิ้นอาสวะได้นั้น ต้องปฏิบัติกันจริงจัง และก็ต้องใช้เวลาทั้งหมดเพื่อปฏิบัติ อันยากที่คนโดยมากจะกระทำได้

วิมุตติ ๕

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงวิมุตติลดหลั่นกันลงมาอีก ซึ่งเมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็น วิมุตติ ๕ อันได้แก่

หนึ่ง ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว
สอง วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้
สาม สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด
สี่ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ
ห้า นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป

ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว

ประการที่หนึ่ง ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว แปลตามศัพท์ว่า พ้นด้วยองค์นั้นคือพ้นด้วยองคคุณหรือองคสมบัตินั้น อันหมายความว่า พ้นได้ชั่วคราวด้วยเหตุที่ปฏิบัติในธัมมะข้อใดข้อหนึ่ง เป็นองคคุณหรือองคสมบัติขึ้นในจิต กิเลสก็พ้นไปได้ในขณะที่ปฏิบัตินั้น เช่นว่าเกิดความกำหนัดขึ้นในกาม และมาปฏิบัติทำกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เช่นนึกถึงความแก่เจ็บตายว่าต้องมีเป็นธรรมดา หรือว่าปฏิบัติใน กายคตาสติ สติที่ไปในกาย เช่นพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเป็นสิ่ง ปฏิกูล ไม่สะอาด อสุภะ ไม่งดงาม เมื่อได้ ธรรมสังเวช ความรู้ชัดในธัมมะซึ่งเป็นคติธรรมดาขึ้นมา หรือว่าได้ ปฏิกูลสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่สะอาด อสุภสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่งดงาม ความกำหนัดในกามก็สงบลงไป เมื่ออบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้น โกรธก็หายไป ดั่งนี้เป็นตทังควิมุตติ พ้นด้วยองค์นั้นเป็นการพ้นชั่วคราว

วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้

ประการที่สอง วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้ ก็หมายถึงว่า ทำสมาธิได้ดีจนถึง อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียดๆ คือใกล้จะตั้งมั่นแนบแน่น หรือได้จนถึง อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นถึงฌาน ในขณะที่กำลังอยู่ในสมาธินี้ กิเลสก็ถูกสะกดไว้ให้สงบไป แต่ว่าไม่ได้ละไป อาจจะสงบไปได้นานเท่าที่จิตยังอยู่ในฌาน หรือในความสงบอันเนื่องมาจากฌานนั้น ดั่งนี้เรียกว่า วิกขัมภนวิมมุติ พ้นด้วยสะกดไว้

สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด

ประการที่สาม สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด ก็หมายความว่าพ้นด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาด บางส่วนหรือว่าทั้งหมด คือการพ้นด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาดของท่านที่เป็นโสดาบันบุคคลขึ้นไป เรียกว่า สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด

ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ

ประการที่สี่ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ คือเมื่อตัดกิเลสได้เด็ดขาดแล้วกิเลสก็สงบไป ก็เป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ใน ๒ ข้อนี้ท่านแสดงว่า สมุทเฉทวิมุตติอันเป็นข้อที่ ๓ นั้น เป็นการพ้นด้วยเด็ดขาด ด้วยอำนาจของมรรคคือ อริยมรรค ส่วนข้อ ๔ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ หมายความว่าพ้นด้วยอำนาจของผลคือ อริยผล ตั้งแต่อริยมรรคอริยผลขั้น โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ขึ้นไป

นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป

มาถึงข้อ ๕ นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป ก็หมายความว่า เมื่อตัดกิเลสได้เด็ดขาดด้วยมรรค และกิเลสสงบไปด้วยผลดั่งนั้นแล้ว ก็เป็นอันว่าออกไปจากกิเลสได้ตลอดไป เป็นการพ้นจากกิเลสตลอดไป ก็เข้าในข้อ ๕ เพราะฉะนั้น ข้อ ๕ นี้ท่านจึงแสดงว่าพ้นด้วยออกไปด้วยอำนาจของ นิพพาน

เทียบวิมุตติกับมรรค ผล นิพพาน

ก็เป็นอันว่า ข้อ ๓ สมุทเฉทวิมุตตินั้นพ้นด้วยมรรค ข้อ ๔ ปฏิปัสสัทธิวิมุตตินั้นพ้นด้วยผล ข้อ ๕ นิสสรณวิมุตตินั้นพ้นด้วยนิพพาน ก็อาจจะเทียบได้กับคนป่วย เมื่อคนป่วยรับประทานยา ยานั้นก็แก้โรคที่บังเกิดขึ้นให้หาย โรคก็หายได้ด้วยยา อาการที่หายได้ด้วยยานี้เทียบกับพ้นด้วยมรรค และความหายโรคอันเป็นผลของการรักษาด้วยยา ก็เทียบกับปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ และเมื่อหายโรคแล้วร่างกายก็กลับเป็นปกติ ไม่ปรากฏโรคนั้นขึ้นอีก เหมือนอย่างคนที่มีร่างกายเป็นปกติทั่วๆ ไป ดั่งนี้ก็เทียบได้กับนิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไปคือพ้นด้วยนิพพาน อีกอย่างหนึ่งเหมือนอย่างการเรียนหนังสือ ในทีแรกเมื่อกำลังเรียนเพื่อให้อ่านหนังสือออกอ่านหนังสือได้ และเมื่ออ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้ด้วยการเรียน ก็เหมือนอย่างสมุทเฉทวิมุตติ พ้นจากความไม่รู้หนังสือด้วยการเรียน คราวนี้การที่อ่านหนังสือได้การที่อ่านหนังสือออก อันเป็นผลของการเรียนนั้น ก็เทียบได้กับปฏิปัสสัทธิวิมุตติพ้นด้วยสงบ ก็คือว่าเป็นอันว่าพ้นจากความไม่รู้หนังสือได้ อ่านหนังสือได้ การอ่านหนังสือได้เป็นผล และเมื่อเรียนจบอ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้ ก็อ่านได้เรื่อยไป เพราะว่าความรู้ที่อ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้นั้นยังคงอยู่ ก็อ่านได้เรื่อยๆ ไป ก็เทียบกับข้อ ๕ นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป

ได้มีพระพุทธาธิบายเรื่องวิมุตติไว้ดังที่ยกมาเป็น ๕ ข้อดั่งนี้ สำหรับวิมุตติที่สามัญชนผู้ปฏิบัติธัมมะทุกท่านทุกคนพึงได้พึงถึงนั้นก็คือ ตทังควิมุตติ และ วิกขัมภนวิมุตติ ข้อ ๑ ข้อ ๒ ส่วนข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ นั้น เมื่อปฏิบัติจนได้มรรค จึงได้สมุทเฉทวิมุตติ และเมื่อได้มรรคก็ได้ผลต่อไป เป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และก็ได้นิพพาน คือการที่พ้นกิเลสได้ตลอดไป ก็เป็นนิสสรณวิมุตติ อันเป็นข้อที่ ๕

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 27 มีนาคม 2554    
Last Update : 27 มีนาคม 2554 18:55:55 น.
Counter : 842 Pageviews.  

ครั้งที่ ๔ สรุปไตรสิกขา

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ได้แสดง ไตรสิกขา คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา มาโดยลำดับโดยปริยาย คือทางอันหนึ่งที่สำหรับผู้มาใหม่พึงเข้าใจได้ วันนี้จะได้สรุปในสิกขาทั้ง ๓ นี้

พระพุทธาธิบายในอธิสิกขา

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้อย่างไรในสิกขาทั้ง ๓ นี้ ก็จะได้นำมากล่าวถึงพุทธาธิบายโดยตรง พระองค์ได้ตรัสอธิบายในสีลสิกขาข้อแรก โดยเป็นอธิสีลสิกขาสำหรับภิกษุ ว่าภิกษุเป็นผู้สำรวม ด้วยความสำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระคือความประพฤติที่ดี โคจรคือที่เที่ยวไปของกายและของใจที่ดี เห็นภัยโทษในสิกขาบทแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นอธิสีลสิกขา และตรัสแสดงอธิบายอธิจิตตสิกขา ว่าคือเป็นผู้บรรลุถึงฌาน อันได้แก่อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ที่มีรูปเป็นอารมณ์ ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๑ นั้นก็คือได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น อันประกอบด้วยวิตก ความนำจิตเข้ามาตั้งไว้ในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง วิจาร ความที่ประคองจิตไว้ในกรรมฐานข้อนั้นได้ ปีติ ความอิ่มใจ สุข ความสบายกายสบายใจ และเอกัคคตา ความที่มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ที่ ๒ ก็คือละวิตกวิจารเสียได้ ได้ปีติ สุข และเอกัคคตา ที่ ๓ ก็ละปีติเสียได้ ได้สุข ได้เอกกัคคตากับอุเบกขา ที่ ๔ ก็คือละสุขเสียได้ ได้เอกัคคตาและอุเบกขา อธิปัญญาสิขา ก็ตรัสอธิบายไว้ว่า คือได้ปัญญาหรือญาณ ที่รู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์และตรัสไว้อีกปริยายหนึ่งว่า ได้เข้าถึงบรรลุถึง เจโตวิมุตติ คือความหลุดพ้นทางใจ ปัญญาวิมุตติ คือความหลุดพ้นทางปัญญาอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นการตรัสอธิบายถึง อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

ไตรสิกขาที่ยังไม่ถึงขั้น

และหากจะมาพิจารณาถึงไตรสิกขาที่ยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็พึงอธิบายได้ว่า การปฏิบัติในศีล แม้สำหรับภิกษุที่ปฏิบัติอยู่ในปาติโมกข์สังวรศีล หรือว่าในปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่การปฏิบัตินั้นยังเป็นขั้นเริ่มต้น หรือเป็นขั้นที่ดำเนินอยู่ยังไม่บริบูรณ์ จึงยังไม่เป็นปาริสุทธิศีล ศีลที่บริสุทธิ์ทีเดียว ยังมีละเมิดสิกขาบทเล็กน้อย หรือแม้สิกขาบทใหญ่ที่ยังแก้ไขได้ แสดงได้ หรือว่าอยู่กรรมก็พ้นได้ ไม่ใช่ถึงอันติมวัตถุคือร้ายแรงถึงที่สุด ถึงขาดจากความเป็นภิกษุ การปฏิบัติในสมาธิก็ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ยังเป็นอุปจารสมาธิ สมาธิที่เฉียดๆ คือได้ความสงบของใจ ใจรวมเหมือนกัน แต่ยังไม่มั่นคง หรือว่าได้แค่สมาธิที่เริ่มปฏิบัติอันเป็นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วครั้งชั่วคราว ก็นับว่าเป็นจิตตสิกขา และปัญญาคือความรู้ที่อบรมอยู่ ยังไม่รู้ถึงอริยสัจทั้ง ๔ ยังไม่ถึงวิมุตติ ความหลุดพ้นที่เป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ แต่ก็ได้ความหลุดพ้นชนิดที่เป็นความหลุดพ้นชั่วคราวหรือความหลุดพ้นในขณะที่ได้สมาธิ จิตสงบอย่างธรรมดา ก็เป็นปัญญาสิกขาได้

คฤหัสถ์อาจปฏิบัติให้ถึงอธิสิกขาได้

และหากจะถามว่า สำหรับคฤหัสถ์ที่ปฏิบัติไตรสิกขา ปฏิบัติให้ถึงอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาได้หรือไม่ ก็ตอบได้ว่าอาจปฏิบัติได้ เช่นว่าคฤหัสถ์ผู้ที่สมาทานศีล ๕ หรือว่าศีล ๘ แต่ว่ารักษาศีล ๕ ศีล ๘ นี้ให้บริสุทธิ์ ให้เป็น สีลวิสุทธิ ศีลบริสุทธิ์ คือว่าบริสุทธิ์ถึงใจ ใจเป็นศีล ศีลไม่ขาดเป็นท่อน ไม่ขาดเป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทแก่ใจ ไม่เป็นทาสของตัณหาของกิเลส ไม่ถูกกิเลสลูบคลำ หรือไม่เกิดกิเลสในขณะที่รักษาศีล เป็นการที่จะจับต้องคือดึงศีลให้ขาด และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ คือหมายความว่าจิตสงบหรือเป็นที่ตั้งของสมาธิ ที่จะปฏิบัติสมาธิได้สะดวก แม้รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ดั่งนี้ ก็เป็นอธิสีลสิกขาสำหรับคฤหัสถ์ได้ อธิจิตตสิกขาก็อาจที่จะถึงได้ ด้วยปฏิบัติทำสมาธิให้ถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นจนถึงฌาน เพราะฆราวาสเมื่อรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ หรือศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ ก็เป็นพื้นฐานของสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิได้เหมือนกัน อธิปัญญาก็อาจปฏิบัติให้ถึงได้ เพราะเมื่อได้ปฏิบัติในศีล ในสมาธิ จนถึงอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขาแล้ว ก็สามารถอบรมปัญญาให้เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ได้ เพราะว่าฆราวาสนั้นสำเร็จเป็นโสดาบันได้ เป็นสกทาคามีได้ เป็นอนาคามีได้ จนถึงพระอรหันต์ในขณะที่เป็นฆราวาสก็มี แต่ว่าเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็บวชทันที หรือว่าปฏิบัติปัญญาให้บรรลุถึงวิมุตติคือความหลุดพ้น เป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติได้ เพราะปัญญากับวิมุตตินี้ย่อมเนื่องกัน เมื่อได้ปัญญาที่รู้อริยสัจ ๔ ก็ย่อมได้วิมุตติที่เป็นเจโตวิมุตติ พ้นทางใจ ปัญญาวิมุตติ พ้นทางปัญญาคู่กันไป เพราะวิมุตติเป็นผล เพราะฉะนั้น แม้คฤหัสถ์ก็ปฏิบัติให้ถึงอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาได้

ภาวะจิตปกติเป็นอธิสีลสิกขา

และอาจอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติในศีลนั้น เป็นภิกษุก็ปฏิบัติในปาติโมกข์สังวรศีล หรือในปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ในฐานะภิกษุ เมื่อเป็นคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติในศีล ๕ ศีล ๘ และเมื่อจะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ได้ปฏิบัติในศีลตามควรแก่เพศของตนดังกล่าว จนถึงจิตเป็นศีล อันหมายความว่า จิตสงบเป็นปกติ ไม่คิดละเมิดศีล จิตเป็นตัวศีลคือเป็นตัวปกติ เมื่อจิตเข้าถึงภาวะของศีลที่เป็นภาวะที่มีความเป็นจิตปกติ ดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้เข้าถึงภาวะของศีลแท้ที่มีลักษณะเป็นอันเดียว คือมีลักษณะเป็นปกติ เป็นศีลที่ไม่มีสิกขาบทว่ามีกี่ข้อๆ ทั้งหมดรวมอยู่ในความที่จิตเป็นปกติ เป็นหนึ่ง เป็นอันเดียวกัน ดังผู้ที่ได้เรียนได้ปฏิบัติในศีล เช่นภิกษุบวชเรียนปฏิบัติในศีล ยกเอาข้อที่เป็นข้อ ๑ ก็คือ ปาติโมกขสังวรศีล ได้ทราบถึงสิกขาบทบัญญัติ ๒๒๗ ที่เป็น อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือเป็นข้อที่พึงศึกษาที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ และก็ได้เรียนได้รู้ได้ปฏิบัติในศีลที่เป็น อภิสมาจาริกาสิกขา เป็นข้อที่พึงปฏิบัติเกี่ยวแก่มรรยาทต่างๆ และก็ตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องให้บริสุทธิ์ ในทีแรกนั้นจิตก็ต้องพะวงถึงว่า จะต้องเว้นอย่างนี้ จะต้องทำอย่างนั้น แต่ว่าในขณะที่จิตรวมเข้ามาเป็นปกติ ก็แปลว่าได้ชื่อว่าได้ปฏิบัติในศีลที่เป็นสิกขาบทเหล่านั้นได้ทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องนึก ไม่ต้องรู้ในขณะนั้นว่าข้อไหนบ้าง เพราะว่าไม่มีจิตคิดละเมิดในขณะที่มีภาวะเป็นจิตปกติ ศีลทั้งหมดจึงรวมอยู่ในภาวะที่มีจิตเป็นปกตินั้น จะเป็น ๒๒๗ สิกขาบท ก็รวมอยู่ในภาวะที่จิตเป็นปกตินั้น จะเป็นสิกขาบท ๕ สิกขาบท ๘ ที่เรียกว่าศีล ๕ ศีล ๘ ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นลักษณะที่มีภาวะเป็นจิตปกตินี้ ก็เป็นอธิสีลสิกขา แต่ถ้าจิตยังกวัดแกว่ง ฟุ้งซ่านว่าจะต้องเว้นสิ่งนั้น จะต้องทำสิ่งนี้ หรือว่าได้ละเมิดข้อนั้น ละเมิดข้อนี้ เป็นอาบัติอย่างนั้น เป็นอาบัติอย่างนี้ ขณะที่จิตฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย ละเมิดแม้ทางจิตอยู่ดั่งนี้ ก็ยังไม่เป็นอธิสีลสิกขา เหมือนดังศึกษาปฏิบัติอยู่ คือตั้งใจเว้นในข้อที่ตรัสสอนให้เว้น ทำในข้อที่ตรัสสั่งให้ทำ แปลว่ายังตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งคือสิกขาบทของพระพุทธเจ้าอยู่ ก็ชื่อว่าปฏิบัติอยู่ในสีลสิกขา

มีสติคอยดึงจิตให้นิ่งสงบ

ทางจิตก็เหมือนกัน ที่เป็นจิตตสิกขา เมื่อจิตยังไม่ได้ เอกัคคตาของจิต คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว จิตยังฟุ้งซ่านไปในนิวรณ์ทั้งหลาย ด้วยนิวรณ์ทั้งหลาย โดยยังเป็นจิตตสิกขา ในเมื่อตั้งใจปฏิบัติทางจิตอยู่ ไม่ทิ้ง ถึงจิตจะยังมีนิวรณ์ ก็ยังชื่อว่าเป็นจิตตสิกขาได้ ต่อเมื่อจิตสงบจากนิวรณ์เป็นอันดี เรียกว่าสงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย โดยที่ได้วิตก คือความที่จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ หรือการที่นำจิตเข้ามาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิหรือในกรรมฐาน ได้วิจาร คือความที่คอยประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ดังกล่าว เมื่อจิตตกออกไปในกาม ในอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือในอารมณ์ทั้งหลายภายนอก เมื่อได้สติขึ้นมาก็นำจิตเข้ามาตั้งไว้ใหม่ ประคองไว้ใหม่ ในทีแรกก็ได้ ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ ในเมื่อมีสติประคองอยู่ แม้ว่าจิตจะดิ้นออกไป ก็มีสติที่จะคอยนำกลับเข้ามา จิตที่ยังดิ้นอยู่นี้ ก็ชื่อว่าเป็นขั้นปฏิบัติ ก็ยังปฏิบัติอยู่ในจิตตสิกขา เป็นจิตตสิกขาขึ้นมาได้เพราะกำลังปฏิบัติอยู่ ข้อสำคัญให้มีสติที่คอยนำจิตกลับเข้ามา ท่านจึงเปรียบไว้เหมือนอย่างที่แสดงไว้แล้วว่า เหมือนอย่างลูกโคที่เจ้าของเอาเชือกผูกคอไว้ แล้วนำปลายเชือกมาผูกไว้กับหลัก ลูกโคก็จะวิ่งออกไป แต่ก็วิ่งออกไปแค่เชือก คือแต่ความยาวของเชือกที่ผูกอยู่ และเมื่อออกไปไกลกว่านั้นไม่ได้ ก็วิ่งวน วนหลัก เพื่อที่จะหาช่องทางว่าจะออกไปทางไหนได้ เมื่อยังมีเชือกผูกคออยู่ก็วิ่งไปไกลไม่ได้ ก็วิ่งวนหลักอยู่เท่านั้น ในที่สุดเหนื่อยเข้าก็นอนอยู่ที่โคนหลัก จิตก็เหมือนกัน ในทีแรกจะวิ่งวนอยู่อย่างนั้น แต่ว่าวิ่งวนหลักในเมื่อมีสติคอยผูกอยู่ หากไม่มีสติผูกอยู่แล้ว จะวิ่งพ้นหลักออกไป ไกลหลักออกไป แปลว่าหลุดออกไปเลย ดั่งนี้แปลว่าไม่มีสติที่คุมอยู่ แต่ถ้ามีสติคอยคุมอยู่แล้ว สตินั้นก็จะไม่ให้จิตวิ่งออกไปได้ไกล เมื่อจิตหลุดออกจากหลักคือกรรมฐานที่ตั้งจิตไว้ มีสติขึ้นทันที สติก็จะนำกลับมาตั้งไว้ใหม่ หลดุออกไปอีกก็มาตั้งไว้ใหม่ ก็แปลว่าในทีแรกนั้นจิตก็วิ่งอยู่นั่นแหละที่จะออกไป แต่ก็ไม่ไกลหลัก เพราะมีสติคอยดึงอยู่ และเมื่อมีสติคอยดึงอยู่นานๆ เข้าแล้ว จิตก็จะนิ่งสงบได้ แม้เป็นขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วคราว

จิตได้อัปปนาสมาธิจึงเป็นอธิจิตตสิกขา

และเมื่อได้ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วคราวดั่งนี้แล้ว ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ ได้สุขคือความสบายกายสบายใจ อันเป็นผลของความสงบใจ เหมือนอย่างลูกโคที่วิ่งวนหลัก วิ่งไปหนักๆ เข้าลูกโคก็เหนื่อยลงนอนที่โคนหลัก และเมื่อนอนที่โคนหลักก็ได้สุข ความสบายหายเหนื่อยที่เกิดจากการวิ่ง จิตก็เหมือนกัน เมื่อวิ่งหนักๆ เข้าและมีสติคอยดึงอยู่แล้ว ก็สงบอยู่กับหลักคือสมาธิ ก็ได้ปีติ ได้สุข คือได้ความสบาย ได้ความเอิบอิ่มใจ ได้ความสบายความสุข ตอนนี้แหละ เอกัคคตาของจิต คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือจิตสงบอยู่ตัวก็จะเกิดขึ้น ในทีแรกก็จะเป็น อุปจาระ คือว่าได้เอกัคคตา ความที่มีอารมณ์เดียวไม่นานนัก แต่ว่าก็เกินไปกว่าที่เรียกว่าครู่หรือขณะอันเป็นขณิกสมาธิ ได้นานกว่า แต่ไม่แนบแน่นทีเดียว ยังไม่แนบแน่นและเมื่อตั้งใจทำสมาธิให้จริงจังยิ่งขึ้นต่อไป ก็จะได้สมาธิที่แนบแน่นมากขึ้น จนถึงเป็น อัปปนา ที่เรียกว่าแนบแน่น ซึ่งตั้งต้นแต่ที่เรียกว่า ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา แล้วก็ได้ฌานที่แนบแน่นขึ้นไป ละวิตกวิจารได้ ละปีติได้ ละสุขได้ เหลือแต่เอกัคคตาและอุเบกขา ก็เป็น อัปปนาสมาธิ อย่างเต็มที่ เป็นขั้นที่เรียกว่า อธิจิตตสิกขา

กำหนดรู้ขันธ์ ๕ หรือนามรูป

และทางปัญญานั้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา การปฏิบัติทำปัญญาสิกขาก็สะดวกขึ้น น้อมจิตไปเพื่อกำหนดรู้ รู้ที่เป็น ญาตปริญญา คือกำหนดรู้ด้วยการรู้หรือด้วยความรู้ ที่ท่านแสดงว่าก็คือขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ที่จิตนี้เอง คือว่าดูให้รู้จักว่า นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ ที่จิตของตัวนี้เอง ที่ย่อลงรูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม ก็เป็น นามรูป ย่อสั้นเข้ามาแล้วก็อาจจะพูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่รู้เป็นรูป รู้เป็นนาม สิ่งที่รู้นั้นที่เรียกว่ารูป เมื่อรวมเข้ามาแล้วก็ได้แก่กายนี้ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือเพิ่มอีกหนึ่งคืออากาศ ช่องว่าง รวมกันอยู่ และมีตาที่คู่กับรูป มีหูที่คู่กับเสียง มีจมูกที่คู่กับกลิ่น มีลิ้นที่คู่กับรส มีกายที่คู่กับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง มีมโนคือใจที่คู่กันกับธัมมะ คือเรื่องราวที่ใจรู้ใจคิดต่างๆ ข้อ ๖ นี้ต้องมีอยู่จึงเป็นกายที่มีชีวิต และจึงจะมีนามต่อไปได้ ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าเป็นกายหรือเรียกว่าเป็นรูป

คราวนี้เมื่อรูปหรือว่ากายนี้ปฏิบัติหน้าที่ ดังร่างกายของทุกคนเรานี้ที่มีชีวิตอยู่ปฏิบัติหน้าที่ มีหายใจเข้ามีหายใจออก มีอาการยืนเดินนั่งนอน และมีอิริยาบถประกอบต่างๆ เช่นก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง และเหลียวเป็นต้น และมีอาการ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น ที่ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตัว รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลมที่ยังประกอบกันอยู่ เพราะฉะนั้น ตาจึงเห็นรูปอะไรได้ หูจึงได้ยินเสียงอะไรได้เป็นต้น เหล่านี้ก็เป็นรูป ก็ดูให้รู้จักว่านี่รูป แล้วก็ดูให้รู้จักถึงนาม คืออาการของจิตที่น้อมไปรู้ต่างๆ อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจนี้ คือจิตนี้ ก็น้อมออกรู้เรื่องรูปทางตา เรียกว่าเห็นรูปเป็นเบื้องต้น นี่เรียกว่าเป็นวิญญาณ เพราะอาการที่จิตน้อมออกรู้ดังกล่าวนี้ ที่เรียกว่านามนั้น เป็นตัวรู้ทั้งนั้น ทีแรกเห็นรูปก็คือรู้รูปและก็มีสุขมีทุกข์มีเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็รู้เหมือนกัน รู้สุขรู้ทุกข์รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นเวทนา เป็นสัญญาคือจำได้หมายรู้ ก็จำรูปจำเสียง ถ้าตาก็เรียกว่าจำรูป นี่ก็เป็นสัญญา ก็รู้เหมือนกัน รู้จำ แล้วก็คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ก็รู้เหมือนกันคือรู้คิดหรือปรุงคิดต่างๆ ถึงรูปที่จำได้นั้น เพราะว่าจะไปคิดถึงสิ่งที่จำไม่ได้นั้นไม่ได้ คิดปรุงได้เฉพาะสิ่งที่จำได้ เพราะฉะนั้น คิดปรุงหรือปรุงคิดที่เป็นตัวสังขารนั้นจึงต้องมาทีหลังสัญญา สัญญาก็มาทีหลังเวทนา เวทนาก็มาทีหลังวิญญาณ แต่ว่ามีวิญญาณมาใส่ไว้ท้ายในขันธ์ ๕ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณนั้นก็มีอธิบายได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือว่าวิญญาณนั้นละเอียด ในการยกขึ้นพิจารณา เมื่อพิจารณาทีหลัง จากหยาบไปหาละเอียดก็สะดวก อีกอย่างหนึ่งวิญญาณนั้นก็เกิดสืบต่อจากสังขารอีกเหมือนกัน คือเมื่อปรุงคิดไป คิดปรุงไปแล้ว ก็รู้ไปด้วยซึ่งเป็นวิญญาณ ก็กลับมาหาต้นใหม่ แล้วก็วนไปใหม่ นี้เป็นอาการของใจหรือจิต จิตที่น้อมออกรู้ทางตา ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมโน ใจเองก็เหมือนกัน ก็เป็นแบบเดียวกันดั่งนี้ คือดูให้รู้จัก นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ ดังนี่เป็นญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยการรู้ หรือกำหนดรู้ด้วยความรู้ หรือกำหนดรู้ในสิ่งที่รู้ คือดูให้รู้จักว่านี่เป็นนี่ นี่ต้องได้ข้อนี้ก่อน แล้วโดยเฉพาะทางปัญญาทางพุทธศาสนาที่เป็นวิปัสสนานั้น ต้องการให้กำหนดดูขันธ์ ๕ แล้วย่อเป็นนามรูป

เห็นเกิดดับของนามรูปจึงเป็นอธิปัญญา

แล้วก็มาถึง ตีรณปริญญา กำหนดรู้ที่การพิจารณา คือพิจารณาดูให้รู้จักความเป็นไปของสิ่งเหล่านี้ ว่ามีเกิดมีดับ รู้จักความเกิดของรูป รู้จักความเกิดของเวทนา รู้จักความเกิดของสัญญา รู้จักความเกิดสังขาร รู้จักความเกิดของวิญญาณ ความดับของรูป ความดับของเวทนา ความดับของสัญญา ความดับของสังขาร ความดับของวิญญาณ ซึ่งเกิดดับอยู่ทุกอารมณ์ที่มาประสบในปัจจุบัน เมื่อถึงขั้นตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณาดั่งนี้ ก็จะดับฉันทะราคะ ความติดใจด้วยอำนาจของความพอใจ หรือความพอใจติดใจอยู่ในขันธ์ ๕ ในนามรูปได้ ดับความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราในนามรูปได้ ก็เป็น ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ คือเมื่อละได้ก็รู้ ละได้ด้วยแล้วก็รู้ว่าละได้ด้วย การปฏิบัติดั่งนี้แหละเป็นตัวปัญญาในพุทธศาสนา รวมความก็คือว่าให้เห็นเกิดเห็นดับของขันธ์ ๕ หรือของนามรูปที่เป็นปัจจุบันธรรม ก็เป็นอธิปัญญาขึ้นมาได้ ในขณะที่ยังไม่เห็นเกิดดับ คือยังไม่ได้ปริญญาทั้ง ๓ นี้ต่อเนื่องกันไป ก็ยังเป็นปัญญาสิกขาธรรมดา ในเมื่อได้ก็เป็นอธิปัญญาสิกขา ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิตก็เหมือนกัน ปฏิบัติให้ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สิกขาทั้ง ๓ นี้จึงเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติทางพุทธศาสนา

๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 19 มีนาคม 2554    
Last Update : 19 มีนาคม 2554 8:55:52 น.
Counter : 1049 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓ ปัญญาสิกขา

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ปัญญาสิกขา ศึกษาปัญญา

จะแสดง ปัญญาสิกขา สิกขาหรือศึกษาปัญญา

ปัญญานั้น แปลว่า ความรู้ทั่ว อันหมายความว่าความรู้ทั่วถึงเหตุและผล รู้เหตุถึงผล รู้ผลถึงเหตุ ตามสัจจะคือความจริง เมื่อมีความรู้ดังกล่าวในสิ่งใด ก็ชื่อว่ามีปัญญาในสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นความรู้หลง รู้ผิด คือไม่ใช่ความรู้จริง ก็ไม่เรียกว่าปัญญา แต่ก็มีคำเรียกรู้ถูกต้องว่า สัมมัปปัญญา ปัญญาชอบ ส่วนรู้ผิด รู้หลง เรียกว่า มิจฉาปัญญา หรือ มิจฉัปปัญญา ปัญญาผิด ก็แปลว่าเมื่อแยกเรียกดั่งนี้ ปัญญาก็เป็นคำกลางๆ แต่ว่าอีกอย่างหนึ่ง ต้องเป็นความรู้ถูกต้องจึงเป็นปัญญาหรือสัมมัปปัญญานั้นเอง จึงเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช่สัมมัปปัญญา เป็นมิจฉัปปัญญา ปัญญาผิด ก็ไม่เรียกว่าปัญญา แต่เป็นความรู้หลง รู้ผิด เพราะนั้น เมื่อเรียกว่าปัญญาโดยทั่วไป จึงมุ่งถึงในทางดี อันหมายถึงว่ารู้ถูกต้อง ดั่งที่อธิบายไว้ข้างต้นว่า รู้ทั่วถึงเหตุผลตามสัจจะคือตามที่เป็นจริง คำว่าตามที่เป็นจริงนั้น เรียกว่าตามสัจจะคือความจริงอย่างนั้นก็ได้ หรือเรียกอีกอย่างหนี่งว่า ยถาภูตะ ตามที่เป็นแล้วตามที่มีแล้ว คือว่ามีแล้วเป็นแล้วอย่างไร ก็รู้อย่างนั้น ไม่ใช่รู้ผิดไปจากที่มีแล้วที่เป็นแล้ว พูดกันสั้นๆ ก็รู้ตามเป็นจริง ปัญญาดั่งกล่าวนี้เป็นสิกขา คือเป็นข้อที่พึงศึกษา อันหมายความว่าเรียนให้รู้จักปัญญาที่เป็นตัวปัญญาดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไรและก็ปฏิบัติให้ปัญญาดังกล่าวนี้มีขึ้นเป็นขึ้น

ความรู้ทางอายตนะ ไม่เรียกว่าเป็นปัญญา

ความรู้ที่เกิดทางอายตนะ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ ดั่งที่ทุกๆ คนได้เห็นอะไร ก็รู้สิ่งที่เห็นนั้นทางตา เช่นเห็นต้นไม้ก็รู้ว่านี่ต้นไม้ เห็นภูเขาก็รู้ว่านี่ภูเขา ดั่งที่ทุกคนเมื่อลืมตาขึ้นมาก็เห็นนั่นเห็นนี่อยู่ด้วยกัน ก็เรียกว่าเป็นความรู้ทางตา ได้ยินเสียงก็รู้ทางหู เป็นเสียงนั้นเสียงนี้ หรือว่ารู้เสียงที่พูดจากันเป็นภาษา ก็รู้เรื่องที่พูดจากันนั้น หรือใช้ภาษามาเขียนเป็นอักษรขึ้นใช้อ่าน เมื่ออ่านภาษาก็รู้ว่าเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้สิ่งถูกต้องทางกาย รู้เรื่องราวที่คิดทางใจ นี่ก็เป็นความรู้ เรียกว่าเป็นความรู้ทางอายตนะ และเมื่อเล่าเรียนศึกษาศิลป์วิทยา ก็มีความรู้ในศิลปวิทยา เมื่อมาเรียนพุทธศาสนา ก็รู้ธัมมะในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เรียนทางหูก็ฟัง เรียนทางตาก็อ่าน เรียนทางใจก็คือว่าคิดนึกพิจารณา ก็ได้ความรู้ในสิ่งที่เรียนนี้ นี่ก็เป็นความรู้ ความรู้ดังที่กล่าวมานี้ ก็เรียกว่าเป็นความรู้ทางอายตนะ เรียกว่า วิญญาณ เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็คือรู้ เช่นตากับรูปประจวบกัน ก็ได้ความรู้รูปที่เรียกว่าเห็น เห็นรูป นี่ก็เป็นตัววิญญาณ เป็นสุข เป็นทุกข์ ก็รู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข นี่ก็เป็นเวทนา หรือจำได้หมายรู้ นี่ก็เป็นสัญญา รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดไปต่างๆ ก็เป็นสังขาร นี่ก็เป็นความรู้ทางขันธ์ ๕ ตากับรูป นั่นก็เป็นรูป รู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ก็เป็นเวทนา รู้จำหมาย ก็เป็นสัญญา รู้คิดปรุงหรือปรุงคิด ก็เป็นสังขาร รู้ที่เรียกว่าเห็น คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน รู้รูปคือเห็นรูป ก็เรียกว่าวิญญาณเป็นต้นดังที่กล่าวมา ยังไม่เรียกว่าเป็นปัญญา

ปริยัติปัญญา ปฏิบัติปัญญา ปฏิเวธปัญญา

มาถึงขั้นความรู้ที่เกิดจากการเรียนต่างๆ เป็นศิลปวิทยา ตลอดจนถึงเรียนพุทธศาสนาดังที่เรียนกันอยู่นี้ ใช้ตาใช้หูก็เป็นความรู้ขึ้นมา ดั่งนี้ก็เรียกกันว่าปัญญาเป็น ปริยัติปัญญา ปัญญาทางปริยัติคือการเรียน และคำว่าการเรียนนั้นจึงมีความหมายว่าฟัง แต่โบราณก็ใช้ฟัง ไม่มีตัวหนังสือ เมื่อมีตัวหนังสือขึ้นก็มีอ่าน ท่องบ่นจำทรง เพ่งด้วยใจอันหมายถึงว่าพินิจพิจารณา ขบเจาะด้วยทิฏฐิ ความเห็นคือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง นี่เป็นปริยัติปัญญา ปัญญาทางปริยัติ และเมื่อเรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติ ดังเช่นเมื่อเรียนรู้ศิลปวิทยาแล้วก็นำมาปฏิบัติ เหมือนอย่างเรียนการช่าง เรียนรู้แล้วก็มาประกอบสิ่งนั้นๆ ที่เป็นเรื่องของช่าง เช่นสร้างสิ่งนั้น สร้างสิ่งนี้ สร้างตึกรามบ้านเรือนเป็นต้น และเมื่อเรียนทางพุทธศาสนา มีความรู้ทางปริยัติแล้ว ก็นำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ เช่นเมื่อเรียนรู้จักศีล รู้จักสมาธิ รู้จักปัญญา ก็นำมาปฏิบัติให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นที่ตนเอง ก็ได้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัตินี้ขึ้นโดยลำดับ และโดยเฉพาะพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ล้วนเป็นคำสั่งสอนที่ให้ละชั่ว ทำดี ให้ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เครื่องเศร้าหมอง คือตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก กิเลสกองโกรธกองหลง หรือกิเลสกองราคะโทสะโมหะให้หมดไปจากจิตใจ ก็ได้ปัญญาคือความรู้ในการปฏิบัติ อันเป็นเครื่องขัดเกลาดังกล่าวนี้ขึ้นไปโดยลำดับ ดั่งนี้ก็เป็น ปฏิบัติปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการปฏิบัติและเมื่อปฏิบัติไปจนถึงที่สุด อันหมายความว่าชำระจิตใจด้วยปัญญา ให้บริสุทธิ์หมดจดได้บางส่วนหรือสิ้นเชิง ที่เรียกว่าเป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน ตั้งแต่ชั้นต้นคือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนถึงขั้น อรหัตตมรรค อรหัตตผล อันเป็นชั้นสูงสุด กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ก็เรียกรวบยอดว่า ปฏิเวธปัญญา ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอด อันหมายความว่าเจาะแทงกิเลสที่หุ้มห่อจิตใจให้หลุดไปได้หมดสิ้นให้บรรลุถึงความบริสุทธิ์สิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมี ๓ อันได้แก่ ปริยัติปัญญา ปฏิบัติปัญญา ปฏิเวธปัญญา

สุตมัยปัญญา จินตามัยปัญญา ภาวนามัยปัญญา

และท่านแสดงปัญญาไว้อีกอย่างหนึ่ง ถึงเหตุที่ให้เกิดปัญญา ได้แก่ สุตมัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสุตะคือการฟัง การอ่าน จินตามัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพินิจพิจารณา ภาวนามัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ปัญญาที่แบ่งเป็น ๓ อย่างที่กล่าวมานี้ ต้องเข้าใจว่า สุตะคือการฟัง รวมทั้งการอ่านด้วยนั้น ไม่ใช่เป็นตัวปัญญา แต่ว่าเป็นทางนำให้เกิดปัญญาได้ จินตาคือการคิดพินิจพิจารณา ก็ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นทางให้เกิดปัญญาได้ ภาวนาคือการปฏิบัติอบรมต่างๆ ก็ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นทางให้เกิดปัญญาได้ ดังเช่นสุตะคือการฟัง อันหมายถึงการดูด้วยตาด้วย สิ่งที่ตามองเห็น สิ่งที่หูได้ยิน ไม่ใช่ว่าเป็นความจริงซึ่งเป็นตัวปัญญาไปเสียทั้งหมด หรือจะกล่าวว่าโดยมากไม่เป็นความจริงก็ได้ ดังเช่นว่าเราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก แล้วโคจรไปตกทางทิศตะวันตก ตาเห็นอย่างนี้ก็เป็นความรู้ทางตา แต่โบราณมาก็มักจะมีปัญญาเรื่องดวงอาทิตย์ขึ้นอาทิตย์ตกกันเพียงเท่านี้ เรามองดูถนนที่เป็นสายตรง ก็จะเห็นว่าถนนที่ยืนอยู่นั้นกว้าง แต่ถนนที่อยู่ห่างออกไปสุดสายตานั้นเล็กลง ๆ จนรวมเป็นเส้นเดียว เราแหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้า มองดูดวงดาว ก็เห็นว่าเป็นดวงเล็ก ๆ ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้นโตกว่า แต่ก็ไม่โตมากนัก เป็นวงกลมไม่โตเท่าไหร่ โคจรอยู่กลางฟ้า เราก็เห็นว่าดวงดาวเล็กนิดหนึ่ง ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์โตหน่อยหนึ่ง แต่ก็ไม่โตมากและเราก็เห็นด้วยตาว่าโลกนี้แบนไปโดยรอบ เป็นโลกแบนๆ อยู่โดยทั่วไป นี่เป็นสิ่งที่ได้ทางตา ทางหู นี่ก็เป็นสุตะคือการฟัง รวมทั้งการเห็นด้วย แต่ว่าเพราะการฟังการเห็นดังกล่าวนี้เอง เมื่อมาใช้จินตาคือความคิดพินิจพิจารณา และใช้ภาวนาคือการปฏิบัติอบรม คือตรวจสอบต่างๆ ย่อมจะได้ปัญญาคือตัวความรู้ที่เป็นไปตรงกันข้ามกับที่ตาเห็น ดั่งเช่นเห็นว่าดวงดาวเล็กระยิบระยับอยู่บนฟ้า ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ก็โตขึ้นมา โคจรอยู่ในฟ้า แต่อันที่จริงนั้นทั้งดวงอาทิตย์ทั้งดวงจันทร์ทั้งดวงดาวเป็นสิ่งที่โตใหญ่ แต่เพราะอยู่ไกลสายตา สายตานั้นสามารถที่จะมองเห็นสิ่งที่ไกลออกไปนั้นเล็กเข้าๆ อันเป็นสมรรถภาพของทางตา เป็นอย่างนั้น แต่ว่าไม่ใช่เป็นความจริง ความจริงเป็นของใหญ่ และโลกที่เห็นว่าแบนนั้น เดี๋ยวนี้ก็ว่าไม่ใช่แบนเป็นโลกกลม กลมเช่นเดียวกับดวงดาวดวงอาทิตย์ที่เห็นในท้องฟ้า แล้วก็เป็นดาวดวงหนึ่งที่ลอยอยู่ เหมือนอย่างดวงอาทิตย์จันทร์อังคารเป็นต้นเหมือนกัน ดวงอาทิตย์ที่เห็นขึ้นทางตะวันออก ตกทางตะวันตก แต่อันที่จริงนั้นโลกต่างหากที่หมุนไป เป็นการตรงกันข้ามกับที่ตาเห็น นี่อาศัยจินตาคือความคิด และภาวนาคือการปฏิบัติอบรม คือ การทดสอบต่างๆ ก็ได้เป็นความรู้ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้าม ถ้าหากว่าความรู้ที่ว่ามานี้ยุติเท่านี้ ก็เป็นปัญญาที่ยุติลงหรือลงตัว คือเป็นความรู้ทั่วถึงในสิ่งนั้นๆ อย่างนี้

อายตนะ ๖ เป็นทางให้เกิดปัญญา

เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ทุกคนต้องมีความเข้าใจว่า สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้นนั้น ไม่ใช่ให้ปัญญาคือความจริงที่เป็นตัวสัจจะไปทั้งหมดหรือโดยมาก เมื่อไปใช้การพิจารณา การที่ทดสอบต่างๆ อันจัดเข้าในภาวนาคือการปฏิบัติอบรมแล้วจึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ อันเป็นความรู้ที่บวกกับสัจจะคือความจริง หรือความรู้ที่เรียกว่า ยถาภูตะ ตามที่เป็นแล้ว มีแล้วอย่างไร นั่นแหละจึงจะเป็นตัวปัญญา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเป็นต้น ทางตา ทางหู หรือรวมเข้าทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ เรียกว่าทางอายตนะทั้ง ๖ นั้น จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่ให้สัจจะคือความจริงแก่บุคคล แต่ว่าเป็นทางให้เกิดปัญญานั่นแหละ เป็นได้แต่ไม่ใช่เป็นตัวปัญญา คือความรู้เท่าที่ตาเห็น หูได้ยินนั้น ยังไม่ใช่เป็นตัวปัญญาจะต้องมีจินตาคือการคิด และภาวนาคือการปฏิบัติอบรมทดสอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วย จึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้จริงขึ้นโดยลำดับ

ตรัสสอนให้รู้จักกำหนดรู้หรือปริญญา

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักกำหนดรู้ด้วยความรู้ เรียกว่า ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยความรู้ คำว่า ปริญญา นั้น ท่านมักแปลว่ากำหนดรู้ แต่ตามศัพท์แปลว่ารู้รอบคอบ ปริ แปลว่า รอบคอบ ญา แปลว่ารู้ รวมกันเป็น ปริญญา แปลว่ารู้รอบคอบ แต่มักจะแปลกันในทางปฏิบัติว่า กำหนดรู้ ก็คือกำหนดรู้ให้รอบคอบนั้นเองด้วยความรู้ คือว่าด้วยความรู้ที่ได้จากตา ได้จากหู เป็นการเห็น เป็นการได้ยิน ที่ได้จากจมูก ที่ได้จากลิ้น ที่ได้จากกาย จากความที่ทราบที่รู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมโนคือใจ คือที่ได้คิด ได้รู้ทางใจ ให้กำหนดรู้ความรู้เหล่านี้แหละให้รอบคอบ ดั่งนี้เรียกว่า ญาตปริญญา แปลว่ากำหนดรู้ด้วยความรู้หรือด้วยการรู้ คือเมื่อรู้ด้วยตาด้วยหูเป็นต้นดังที่กล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าพอเพียงเท่านั้น ต้องทำความกำหนดรู้ให้รอบคอบในความรู้ ในการรู้ ตลอดถึงในสิ่งที่รู้ และเมื่อได้กำหนดรู้ด้วยความรู้ ดั่งนี้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือว่า ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา คือพิจารณาสิ่งที่รู้นั้น ให้รู้จักสภาพคือความเป็นไปของตน ของสิ่งเหล่านั้น ตามเป็นจริง คือตามที่เป็นแล้วว่าเป็นอย่างไร และต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในปริญญาขั้นต่อไป คือ ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติโดยตรงในพุทธศาสนา คือ ละ ฉันทราคะ ความติดใจยินดีพอใจในทุกๆ สิ่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติขัดเกลากิเลสในจิตใจ ละความทุกข์ที่บังเกิดขึ้นให้สิ้นไปตามเป้าหมายทางพุทธศาสนา ซึ่งจะต้องมีปหานะคือการละ ละสิ่งที่พึงละไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้น ปริญญาในพุทธศาสนานั้นจึงมี ๓ ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยความรู้ ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ นี่เป็นตัวปัญญาในพุทธศาสนา

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 12 มีนาคม 2554    
Last Update : 12 มีนาคม 2554 10:06:33 น.
Counter : 726 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒ จิตตสิกขา

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



จิตตสิกขา การศึกษาในจิต

จะแสดง จิตตสิกขา คือสมาธิ เพราะว่าสมาธิเกี่ยวแก่จิตโดยตรง ต้องปฏิบัติทางจิต ฉะนั้น จึงได้เรียกว่า จิตตสิกขา

คำว่า “จิต” นี้ มีความหมายเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งจิตที่เป็นธาตุรู้อันเป็นตัวเดิม ไม่มีสรีรสัณฐาน อาศัยอยู่ในกายนี้ เรียกว่า จิต ที่แปลว่า ธรรมชาติที่ให้สำเร็จความคิดนึก อีกอย่างหนึ่งจิตที่เป็นอาการ เรียกว่าความคิด การอบรมจิตเรียกว่า จิตตภาวนา พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติทางจิตไว้เป็นอันมาก เช่นตรัสสอนว่า ให้อบรมจิต ให้ฝึกจิต ให้ข่มจิต ให้ทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าอบรมไว้นี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าจิตนี้เมื่อเรียกควบกันกับกาย กายก็เปรียบเหมือนเรือ จิตก็เปรียบเหมือนอย่างบุคคลผู้ที่แจวเรือ หรืออีกอย่างหนึ่ง กายเปรียบเหมือนอย่างบ่าว จิตเหมือนอย่างนาย จิตจึงเป็นผู้ที่สั่งให้กายปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตจึงเป็นผู้นำ แม้ในการปฏิบัติทางศีล ซึ่งเกี่ยวแก่การปฏิบัติทางกายทางวาจาเป็นที่ตั้ง ดังศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นวินัยสำหรับปฏิบัติ การละเมิดศีลไม่เกิดขึ้นลำพังทางจิต ต้องละเมิดออกไปทางกายทางวาจา จึงจะเป็นการละเมิดพระวินัยบัญญัติ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทางวินัยบัญญัติ เมื่อไม่ละเมิดทางกายทางวาจา ก็ไม่เป็นอาบัติ แม้ว่าจะละเมิดทางใจ คือใจคิดล่วงละเมิด อาบัติก็ยังไม้เกิด ต่อเมื่อไปทำไปพูดขึ้น ผิดจากพระวินัยบัญญัติจึงเป็นอาบัติ ได้มีภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ไม่สามารถจะอยู่ปฏิบัติพระวินัยได้ เพราะว่ามีมากมาย พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า เธอจะสามารถรักษาไว้เพียงข้อเดียวได้ไหม ภิกษุรูปนั้นก็กราบทูลว่า ถ้าข้อเดียวได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ให้เธอรักษาจิตของเธอ เมื่อรักษาจิตของเธออย่างเดียวได้ ก็รักษาวินัยบัญญัติทุกข้อไว้ได้” ภิกษุนั้นก็ปฏิบัติรักษาจิต จึงได้รักษาวินัยได้ และบวชอยู่ต่อไปได้ เจริญในพระธรรมวินัยต่อไป เพราะฉะนั้น การรักษาจิตจึงเป็นข้อสำคัญ เมื่อรักษาจิตได้ แม้ว่าวินัยบัญญัติจะมากข้อก็รักษาได้ และรักษาปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ นั้นได้

ในข้อนี้ควรจะทราบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การปฏิบัติพระวินัยไม่ละเมิดทางกายทางวาจา ตามพระบัญญัติก็ไม่เป็นอาบัติ แม้จะละเมิดด้วยใจอย่างเดียว อาบัติก็ยังไม่เกิด แต่แม้เช่นนั้นศีลก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะศีลที่จะบริสุทธิ์นั้นต้องรักษาให้ได้ถึงใจ คือใจก็ต้องไม่คิดล่วงละเมิดด้วย มีใจเป็นปกติ สงบ ไม่คิดละเมิด ศีลจึงจะบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น แม้จะรักษาวินัยได้ บริสุทธิ์ทางวินัย เพราะไม่ละเมิดทางกายทางวาจา แต่ว่าถ้าละเมิดทางใจ ถึงจะไม่เป็นอาบัติทางพระวินัย ก็เป็นความไม่บริสุทธิ์ทางใจ เมื่อไม่บริสุทธิ์ทางใจ ศีลก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ศีลนี้จึงมีความหมายถึงจิตใจ คือต้องรักษาถึงจิตใจ รักษากายวาจาให้บริสุทธิ์ด้วย และรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วย ศีลจึงจะบริสุทธิ์ ปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็ต้องรักษาให้ถึงใจ ให้ใจบริสุทธิ์ ไม่คิดล่วงละเมิด ศีลจึงมีความหมายถึงใจดั่งนี้ และก็มีความหมายถึงว่า เมื่อรักษาจิตได้ ก็รักษาศีลทุกข้อได้โดยไม่ยาก

นิวรณ์ ๕

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกสิกขาข้อที่ ๒ ว่า จิตตสิกขา ข้อที่พึงศึกษาคือจิต หรือการศึกษาในจิต ก็คือการที่มาปฏิบัติอบรมจิตให้สงบจากความคิดล่วงละเมิดในศีลต่างๆ ให้สงบจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ ที่เป็นตัว นิวรณ์ คือบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ กั้นจิตใจไว้ให้ไม่ได้สมาธิ ให้ไม่ได้ปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสนิวรณ์ดังกล่าวนี้ไว้ ๕ ข้อ คือ

๑. กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม คือวัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่พอใจทั้งหลาย หรือความพอใจด้วยอำนาจของ กิเลสกาม กิเลสอันเป็นเหตุให้ใคร่ให้ปรารถนา เป็นต้นว่าราคะ ความติดใจยินดี
๒. พยาบาท ความกระทบกระทั่งของจิต มีอาการเป็นความหงุดหงิดเดือดพล่าน โกรธแค้นขัดเคืองจนถึงมุ่งร้ายหมายทำลาย
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย

นิวรณ์ทั้ง ๕ เกิดจากอารมณ์

จิตเมื่อมีนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ ย่อมเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง เป็นจิตที่อ่อนแอ ไม่ควรแก่การงาน คือไม่สามารถที่จะทำการงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะคือไม่สามารถที่จะทำการงานที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน ที่ตั้งของการงานคือสมถะ คือการปฏิบัติทำจิตให้สงบ อันหมายถึงสมาธิรวมอยู่ด้วย คือทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานทั้งหลาย และนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็เกิดขึ้นจากอารมณ์ คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง อันเป็นเรื่องที่เข้ามาทางตา คือตาเห็น จิตรับเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปบ้าง เข้ามาทางหูคือเสียง จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงบ้าง ที่เข้ามาทางจมูกคือกลิ่น จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นบ้าง ที่เข้ามาทางลิ้นคือรส จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า รสารมณ์ อารมณ์คือรสบ้าง ที่เข้ามาทางกายคือโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ บ้าง เป็นอารมณ์คือธัมมะ คือเรื่องราวที่เข้ามาทางมโนคือใจ จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า ธัมมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราวบ้าง อารมณ์ที่จิตรับเข้ามาเหล่านี้เอง ที่เป็นที่ตั้งของนิวรณ์ข้อไหน ก็เกิดนิวรณ์ข้อนั้น ย่อเข้าก็เป็น ๓ คือเป็น ราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของราคะ ก็เกิดราคะหรือกามฉันท์ อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของโทสะ ก็เกิดโทสะคือพยาบาท หรือกุกกุจจะ ความรำคาญใจ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโมหะ ก็เกิดโมหะ ความหลง อันได้แก่ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ ความรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย กุกกุจจะ คือความรำคาญใจนี้ อาจารย์ท่านจัดเข้าเป็นกองโทสะก็มี จัดเข้าเป็นกองโมหะคือความหลงก็มี

กำจัดนิวรณ์ด้วยการตั้งจิตในอารมณ์อันตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ทำสมาธิ คือหัดทำจิตให้สงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันเป็นอารมณ์ทางกรรมฐาน คือเป็นอารมณ์ของทางสมถกรรมฐาน กรรมฐานที่ให้เกิดสมถะ คือความสงบ ยกจิตจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส มาตั้งอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสมถะคือความสงบ และอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสมถะคือความสงบนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติเลือกหาอารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับนิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนั้น เหมือนอย่างแพทย์ให้ยาให้เหมาะแก่โรค นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนั้นก็เหมือนอย่างว่าเป็นโรค ๕ ชนิด ก็จะต้องใช้ยา ๕ อย่างสำหรับแก้ไข เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติสมาธินั้น จึงต้องรู้นิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในใจของตนว่าข้อไหนบังเกิดขึ้น เช่น กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกามบังเกิดขึ้น ก็ให้ถอนใจจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกามฉันท์นั้น มาให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์อันตรงกันข้าม เช่นว่ากำหนดพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่อุปัชฌาย์บอกให้เมื่อขอบวชนั้น ว่าเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาดและไม่งดงาม ไม่ใช่คิดเอาเองว่าไม่สะอาด ไม่งดงาม แต่ว่าความจริงของผม ขน เล็บ ฟัน หนังนั้น ไม่สะอาดไม่งดงามอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่เพราะบุคคลหลงยึดถือว่างดงาม ว่าสะอาด จึงได้ปรุงใจให้เกิดกามฉันท์คือความพอใจรักใคร่ เพราะฉะนั้น ก็พิจารณากลับตรงกันข้ามตามความเป็นจริง ว่าเป็นของไม่สะอาด ไม่งดงาม จนจิตสงบ ก็เรียกว่าได้กรรมฐานในข้อนี้

เมื่อพยาบาทบังเกิดขึ้น ก็ให้เจริญ เมตตา คือคิดปรารถนาให้เป็นสุข ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดโกรธแค้นขัดเคืองมุงหมายล้างผลาญ เมื่อปลูกเมตตาให้บังเกิดขึ้นในจิตได้ โทสะพยาบาทก็สงบ ก็เป็นกรรมฐาน

เมื่อถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบังเกิดขึ้น ก็ให้เจริญ พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทำจิตให้เบิกบานผ่องใส เลื่อมใสในพระคุณ หรือว่าทำ อาโลกสัญญา ความสำคัญหมายในความสว่าง ทำจิตใจให้สว่าง หรือว่าทำจิตใจให้เข้มแข็ง ปรารภความเพียร แม้ว่าจะต้องฝืนใจ ก็ต้องฝืนใจให้จิตมีความเข้มแข็ง มีความเพียร เริ่มจับความเพียร ดำเนินความเพียร ทำความเพียรให้ก้าวหน้าไปในกิจที่พึงทำ และเมื่อทำจิตให้เข้มแข็ง ปรารภความเพียรได้ ทำจิตให้สว่างได้ ทำจิตให้เลื่อมใสผ่องใสได้ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มก็สงบ ก็เป็นกรรมฐาน

เมื่อความฟุ้งซ่านรำคาญใจบังเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดทำกรรมฐานที่รวมใจเข้ามาให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เช่นทำ อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ให้จิตรวมอยู่ที่ลมหายใจ ก็จะทำจิตให้สงบได้ ก็เป็นกรรมฐาน

เมื่อความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ บังเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาหาความรู้ก็ต้องศึกษาหาความรู้ค้นคว้าแก้ข้อสงสัยในข้อที่พึงสงสัยต่างๆ แต่ถ้าเป็นความสงสัยเคลือบแคลงในขณะที่ต้องการจะปฏิบัติทำใจให้สงบ หรือในข้อที่ไม่ควรสงสัยต่างๆ ก็ให้เจริญ ธาตุกรรมฐาน พิจารณากายนี้แยกธาตุออกไป ว่าส่วนที่แข้นแข็งก็เป็น ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เหลวก็เป็น อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เป็น เตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็น วาโยธาตุ ธาตุลม สักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั้น เป็นสมมติบัญญัติสำหรับเรียกกัน และคนทั่วไปก็ยังมีอุปทาน ความยึดถือ ว่าเป็นตัวเราของเราอยู่ในสมมติบัญญัติเหล่านี้ด้วย เมื่อมีตัวเราของเราขึ้น ก็ตัวเราของเรานี่เองเป็นที่ตั้งของความสงสัยต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมาพิจารณาสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความยึดถือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งของบัญญัติ สมมติต่างๆ ว่าตัวเรา ของเรา แยกออกไปที่กายนี้ ว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น ธาตุสัญญา ปรากฏขึ้น คือความสำคัญหมายว่าธาตุปรากฏขึ้น อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวตนก็หายไป ความสงสัยเคลือบแคลงที่อาศัยความยึดถือว่าตัวเราของเราก็หายไปด้วย ก็สงบเป็นกรรมฐาน

ปฏิบัติให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว

นี้เป็นการปฏิบัติทางสมาธิที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ ให้ดูปัจจุบันและจิตของตัวเอง ว่าจิตปัจจุบันของตัวเป็นอย่างไรในข้อใดข้อหนึ่งใน ๕ ข้อนี้ ก็ใช้กรรมฐานที่เหมาะกันนั้น มาพิจารณาแก้ให้นิวรณ์ข้อนั้นๆ สงบ จิตก็จะสงบตั้งมั่น จะอ่านหนังสือ จะเรียนหนังสือ จะทำการทำงานอะไรก็สะดวก จะปฏิบัติทางปัญญาต่อไปก็ได้สะดวก และเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ที่ชื่อว่าสมาธินั้นคือ จิตเตกัคคตา แยกออกเป็น จิตตะ ก็คือจิต เอกัคคตา ก็คือความที่มีอารมณ์อันเดียว รวมกันเป็น จิตตเอกัคคตา หรือ จิตเตกัคคตา ก็คือความที่มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว มียอดเป็นอันเดียว มีอารมณ์เป็นอันเดียว เพราะจิตนี้โดยปกติมีอารมณ์มาก พล่านไปในอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาทางตา ทางหู เป็นต้น มากมายหลายเรื่องสลับซับซ้อนกันจิตจึงพร่า และเมื่อประกอบกับกิเลสต่างๆ เข้าด้วย บังเกิดเป็นนิวรณ์ดังกล่าวแล้วก็ยิ่งวุ่นวายหนักเข้า เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวชัง เดี๋ยวหลง เดี๋ยวง่วง เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวสงสัย เป็นอันว่าไม่ได้ความสงบ เมื่อไม่ได้ความสงบ จิตก็ไม่มีกำลังที่จะปฏิบัติการงาน เรียกว่าไม่ควรแก่การงาน แม้การงานที่เป็นธรรมดา เช่นจะไหว้พระสวดมนต์ จะฟัง จะเรียน จะอ่านเป็นต้น ก็ไม่สำเร็จด้วยดี ต่อเมื่อได้สงบจิตจากอารมณ์และกิเลสที่เป็นนิวรณ์เหล่านี้ได้ จิตก็มีความสงบตั้งมั่น มีกำลัง สามารถทำการงานได้ดี เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทำสมาธิ คือ การที่มาตั้งจิตมั่นในอารมณ์ของกรรมฐานสำหรับแก้นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ ดังจะพึงเห็นได้เช่นว่าจะมาฟังโอวาทของอุปัชฌาย์นี้ บางทีก็ไม่อยากจะมา เกิดง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็ต้องระงับความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเสีย ตั้งความเพียรขึ้นในใจว่าต้องมา ก็ทำให้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้นสงบ ก็มาได้ หรือในขณะที่ฟังอยู่ ก็ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มขึ้นมา ก็ต้องตั้งจิตใจให้มีความเพียร เข้มแข็งขึ้นมา ไม่ยอมง่วง หรือทำจิตใจให้สว่าง ทำจิตใจให้มีความผ่องใสในธรรม ให้มีความเข้าใจในธรรม ง่วงก็หายไป หรือมีความเคลือบแคลงสงสัย ถ้ามัวสงสัยอยู่ในข้อที่กล่าวไว้ทีแรก ก็ไม่ฟังในข้อที่กำลังจะกล่าวต่อไป ก็เป็นอันว่าไม่ได้ความเข้าใจตลอด ก็ต้องเก็บความสงสัยนั้นไว้ก่อนฟังต่อไปก่อนให้ตลอด แล้วอะไรสงสัยก็มาคิดแก้ไขกันใหม่ หรือถ้าเกิดความสงสัยนอกเรื่องออกไป ก็ต้องสงบเสีย ว่าไม่ใช่เวลาที่จะมาสงสัยในนอกเรื่อง เวลามาฟังก็ต้องฟัง ก็แปลว่าในขณะที่กำลังฟังนี้ ก็ต้องทำกรรมฐาน ทำสมาธิ ระงับกามฉันท์ ระงับพยาบาท ระงับถีนมิทธะ ระงับอุทธัจจกุกกุจจะ ระงับวิจิกิจฉา จิตใจจึงจะสงบตั้งมั่น เรียกว่ามีสมาธิในการฟัง เมื่อมีสมาธิในการฟังแล้ว ก็ฟังได้ตลอด ฟังได้ยินทุกคำ แล้วจะมีความเข้าใจ นี่เป็นสมาธิที่กล่าวอย่างง่ายๆ ที่จะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ อันจะทำจิตให้มีความสามารถ ทำจิตใจนี้ให้ควรแก่การงาน อันนี้แหละเป็น จิตตสิกขา ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้ปฏิบัติเป็นประการที่ ๒

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 04 มีนาคม 2554    
Last Update : 4 มีนาคม 2554 9:38:46 น.
Counter : 629 Pageviews.  

ครั้งที่ ๑ ไตรสิกขา ข้อสีลสิกขา

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ตรัสสอนให้ตั้งใจศึกษา ไตรสิกขา

บัดนี้ จะกล่าว ไตรสิกขา อันต่อจากคำสอนอนุศาสน์ ๘ ประการ เป็นคำสอนที่มีต่อหลังจากอุปสมบทเสร็จ ที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระบัญญัติไว้ให้อุปัชฌายอาจารย์รีบบอก เพื่อให้ภิกษุผู้บวชใหม่ได้ทราบถึง นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเพิ่มไตรสิกขา คือให้บอกไตรสิกขาด้วย ซึ่งในคำบอกไตรสิกขานั้น ก็มีใจความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น ได้ตรัสบอกไตรสิกขาไว้โดยปริยายคือทางเป็นอันมากว่า พึงศึกษา อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ตราบเท่าจะได้ละกิเลส บรรลุถึงนิพพานคือความดับทุกข์ และสีลสิกขาก็อบรมจิตตสิกขา จิตตสิกขาก็อบรมปัญญาสิกขา ปัญญาสิกขาก็อบรมจิตให้หลุดพ้นจาก อาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน ได้แก่ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็นนั่นเป็นนี่ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้จักสัจจะที่เป็นตัวความจริง เพราะฉะนั้น ก็ให้ตั้งใจศึกษาในสิกขาทั้ง ๓ นี้ ไตรสิกขาดังกล่าวมานี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเติมเข้ามาท้ายอนุศาสน์ทั้ง ๘ ข้อ คือ นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ เพราะฉะนั้น จึงจะได้เริ่มอธิบายไตรสิกขานี้ก่อน จะว่าด้วยคำว่า “สิกขา”

ปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อความสิ้นกิเลส

คำว่า สิกขา นี้เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตว่า ศิกษา ใช้เป็นภาษาไทยว่า ศึกษา ความหมายของคำนี้ก็คือ เมื่อยังไม่รู้ก็เรียนให้รู้ เมื่อเรียนให้รู้แล้วก็ปฏิบัติไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คำว่าศึกษาจึงมีความหมายถึงการเรียน อันจะเรียกว่าเป็นภาคทฤษฏีก็ได้ และการปฏิบัติรวมกัน ไม่ใช่การเรียนอย่างเดียว ดังที่มักใช้พูดกันอยู่ในภาษาไทย และการปฏิบัตินั้นก็หมายถึงการปฏิบัติเรื่อยไป จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย จึงจะเรียกว่าสำเร็จการศึกษา และก็เรียกว่าเสร็จกิจ คือเสร็จการที่จะพึงกระทำ หรือข้อที่จะพึงกระทำต่อไป และเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนานั้นก็คือ นิพพาน อันหมายถึงธัมมะเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ซึ่งตามศัพท์นั้นแปลว่า ธัมมะที่ออกจากวานะ อันแปลว่า กิเลสเป็นเครื่องเสียบแทง กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด ออกจากวานะ คือสิ้นกิเลสเป็นเครื่องเสียบแทง สิ้นกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด และคำว่า วานะ นี้ แปลว่า ลูกศร ก็ได้ ลูกศรที่เป็นอาวุธที่ใช้ยิงศัตรูหรือสิ่งที่ต้องการยิง เป็นสิ่งที่มีปลายแหลมคม เสียบแทงศัตรูให้สิ้นชีวิตได้ เมื่อถูกที่สำคัญ มาใช้ในทางศาสนาก็หมายถึงเป็นลูกศรที่เสียบแทงจิตใจ อันหมายถึงกิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย เป็นต้นว่า ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก การปฏิบัติในไตรสิกขาจึงมีเป้าหมายสูงสุด สำหรับที่จะถอนลูกศรคือตัณหาที่เสียบแทงหัวใจนี้ให้หลุดออก ที่เรียกว่าสิ้นกิเลส เมื่อสิ้นกิเลสก็สิ้นทุกข์ เป็นจุดเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา

เป้าหมายของการบวช

และการบวชนี้ ชั้นเดิมมุ่งบวชเพื่อปฏิบัติถอนตัณหานี้ออกจากจิตใจ บรรลุถึงนิพพาน อันเป็นธัมมะที่ไม่มีเครื่องเสียบแทงหัวใจดังกล่าว ในครั้งโบราณมา ในคำกล่าวขออุปสมบทที่บัดนี้เราขึ้นด้วย เอสาหํ ภนฺเต จึงได้มีคำว่า นิพฺพาน สจฺฉิกรณตฺถาย เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ก็คือให้ถึงภาวะที่ถอนตัณหาที่เสียบแทงหัวใจออก คือสิ้นกิเลสและกองทุกข์นั้นเอง แต่การบวชในชั้นหลังนี้ ได้มุ่งหวังเพียงเพื่อบวชเรียนให้รู้และปฏิบัติ สำหรับที่จะครองชีวิตอย่างเป็นสุขในโลก เพราะว่าความมุ่งหมายของผู้นับถือพระพุทธศาสนานั้น ก็มีผู้ที่มุ่งหมายอย่างสูงสุดและมีผู้ที่มุ่งหมายเพื่อเรียน เพื่อปฏิบัติ เพียงเพื่อให้อยู่เป็นสุขในโลก และผู้ที่มุ่งหมายประการหลังนี้มีจำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนผ่อนลงมาจากที่ทรงสั่งสอนในชั้นแรก ซึ่งโดยมากก็เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดดังกล่าว อันเรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสอนผ่อนลงมาเป็นเพื่อประโยชน์ปัจจุบันบ้าง เพื่อประโยชน์ภายหน้าบ้าง เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงจัดได้เป็น ๓ ระดับ ตั้งแต่เบื้องต่ำขึ้นไปจนถึงสูงสุด ก็คือเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน อันเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถ เพื่อประโยชน์ภายหน้าอันเรียกว่า สัมปรายิกัตถ และเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งคือนิพพาน อันเรียกว่า ปรมัตถ และได้ทรงแสดงคำสั่งสอนไว้โดยปริยาย คือทางเป็นอันมาก เพื่อให้บรรลุถึงประโยชน์ดังกล่าว และเมื่อแสดงโดยสรุป ก็อาจสรุปเข้าในสิกขาทั้ง ๓ เมื่อเป็นการสอนเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้าก็เป็นสิกขาหรือศึกษาธรรมดา ถ้าเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งอันเป็นปรมัตถดังกล่าว ก็เรียกว่า อธิสิกขา หรือ อธิศึกษา ที่แปลว่า ศึกษาอย่างยิ่ง และก็ประมวลเข้าโดยย่อก็คือ ๓ ข้อนี่แหละ คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ถ้าเป็นอย่างยิ่งก็เป็น อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา แต่ว่าเมื่อสอนภิกษุโดยมากแล้ว ก็สอนเป็นอย่างยิ่ง คือที่เป็น อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

สีลสิกขา การศึกษาในศีล

เพราะฉะนั้น ก็จะได้อธิบายในข้อแรกที่เรียกอย่างสามัญว่า สีลสิกขา อันแปลว่า ข้อที่พึงศึกษาคือศีล แปลว่า การศึกษาในศีล ก็หมายความว่า ศีลเป็นข้อที่พึงศึกษา ที่นับว่าเป็นประการที่ ๑ และการที่เล่าเรียนปฏิบัติในศีลอันเป็นข้อที่พึงศึกษาข้อที่หนึ่งนั้น ก็เรียกว่าการศึกษาในศีล ศีลนั้นก็เป็นภาษาบาลี มักจะแปลกันตามศัพท์ว่าปกติ เหมือนดังที่พูดว่าเป็นปกติธรรมดา แต่โดยความหมายนั้น ศีลก็หมายถึงการปฏิบัติที่เว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตในพระวินัยบัญญัติ คือในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ นี้เป็นหลักสำคัญของคำว่าศีล และก็มีทั้งที่เป็น อาคาริยะ กับ อนาคาริยะ อาคาริยศีล ก็คือศีลสำหรับผู้ที่ครองเรือน ก็ปฏิบัติตาม อาคาริยวินัย คือวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ครองเรือน เช่นว่าทรงบัญญัติไว้ ๕ ประการ ก็เรียกว่าศีล ๕ ทรงบัญญัติไว้ ๘ ประการ ก็เรียกว่าศีล ๘ ส่วนอนาคาริยะนั้นก็คือ อนาคาริยศีล ศีลสำหรับผู้ที่ไม่มีเรือน อันหมายถึงบรรพชิตคือผู้บวช ออกจากเรือนมาเป็นผู้ไม่มีเรือน ก็ปฏิบัติตาม อนาคาริยวินัย คือวินัยที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ไม่มีเรือนคือ บรรพชิต แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ๒ หมวด คือ ที่เป็น อาทิพรหมจริยกาสิกขา สิกขาวินัยที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ก็ได้แก่สิกขาบทที่มีมาในพระปาติโมกข์ บัดนี้ก็มี ๒๒๗ สิกขาบท ที่อ่านในเวลาหลังทำวัตรค่ำ กับ อภิสมาจาริวินัย หรือ อภิสมาจาริกาสิกขา สิกขาที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับเป็นข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อความดีงามต่างๆ อันควรแก่สมณวิสัย ที่มาในขันธกะทั้งหลาย มีจำนวนมากที่อ่านในเวลาเช้าหลังทำวัตรเช้า เพราะฉะนั้น ศีลที่เป็นหลักก็คือการปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติตามที่กล่าวมา

ปาริสุทธิศีล ๔

และยังได้มีศีลที่ท่านแสดงเอาไว้ประกอบเข้ามา รวมทั้งข้อที่ปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติดังกล่าวนี้อีก ๓ ข้อ รวมเป็น ๔ ข้อ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ คือ ศีลที่พึงปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ๔ ข้อ ได้แก่

๑. ปาติโมกข์สังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์ ก็ได้แก่ศีลที่เกิดจากการปฏิบัติด้วยความสำรวม คือความระมัดระวังในอันที่จะเว้น และในอันที่จะปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติที่มาในพระปาติโมกข์ อันหมายถึง อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือวินัยที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ดังกล่าวมาข้างต้น ท่านใช้คำว่า ปาติโมกข์ คู่กับคำว่า อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีความหมายถึงสิกขาบทบัญญัติอันสำคัญ เพราะคำว่าอาทิพรหมจริยกา แปลว่า เบื้องต้นของพรหมจรรย์ หรือเป็นหัวหน้าของพรหมจรรย์ก็ได้ และคำว่า ปาติโมกข์ ก็แปลว่า สิกขาบทที่รักษาผู้สังวร รักษาให้พ้นจากทุกข์มีอบายเป็นต้น เพราะฉะนั้น คำทั้ง ๒ นี้จึงมีความหมายถึงสิกขาบทบัญญัติที่เป็นข้อสำคัญ

๒. อินทรียสังวรศีล ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ อันได้แก่มีสติสำรวมใจในเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ทราบกลิ่น ลิ้นได้ทราบรส กายได้ถูกต้องโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และมโนคือใจ ได้คิด ได้รู้ธรรมคือเรื่องราวทางใจ ก็เท่ากับว่ามีสติรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนคือใจนั้นเอง โดยที่ทั้ง ๖ นี้เรียกว่า อินทรีย์ คือเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ตาเป็นใหญ่ในหน้าที่ดูเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในหน้าที่ฟังได้ยินเสียง จมูกเป็นใหญ่ในหน้าที่ทราบกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในหน้าที่ทราบรส กายเป็นใหญ่ในหน้าที่ถูกต้องโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจ เป็นใหญ่ใน ๕ ข้อข้างต้นนั้นด้วย และเป็นใหญ่ในการรู้คิดธรรมคือเรื่องราวต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีสติสำรวม คือระมัดระวังใจ เมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น โดยที่มีสติป้องกันใจ ไม่ให้ยึดถือสิ่งที่ตาเห็นเป็นต้นนั้น เข้ามาเป็นความยินดียินร้ายในใจ ให้เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยินเป็นต้น ไม่ให้เป็นกิเลสไหลเข้ามาถึงใจ มาท่วมใจ ความที่มีสติคอยสำรวมระวังอยู่ดั่งนี้ เรียกว่า อินทรียสังวรศีล

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลอันเกิดจากการเลี้ยงชีวิตให้บริสุทธิ์ เช่นด้วยการที่เที่ยวบิณฑบาต รับอาหารที่เขาใส่บาตรมาบริโภค หรือบริโภคอาหารที่เป็นอดิเรกลาภ เช่นที่เขานำมาถวายแก่สงฆ์แล้วก็แบ่งกันโดยที่ไม่เที่ยวขอเขา หรือแสวงหาในทางที่ผิดต่างๆ การเลี้ยงชีวิตให้บริสุทธิ์ดั่งนี้ก็ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล

๔. ปัจจัยสันนิสสิตศีล ศีลที่อาศัยปัจจัย ก็หมายถึงพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ ที่บริโภค คือ พิจารณาจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ยาแก้ไข ที่บริโภค ตามบทพิจารณาดังที่สวดในเวลาเช้า ปฏิสงฺขา โยนิโส .... และแม้ว่าในขณะที่บริโภคไม่ได้พิจารณา ก็ให้พิจารณาในวันนั้นถึงสิ่งที่ได้บริโภคไปแล้ว ด้วยบท อชฺช มฺยา .... ที่สวดในเวลาทำวัตรค่ำ ท่านแสดงว่า เมื่อบริโภคมิได้พิจารณา และไม่ได้พิจารณาสิ่งที่บริโภคแล้วในวันนั้น การบริโภคนั้นก็ชื่อว่า อิณบริโภค คือบริโภคเป็นหนี้ แต่ว่าเมื่อได้พิจารณาบริโภค หรือว่าไม่ได้พิจารณา ก็พิจารณาภายหลังในวันนั้น ก็ชื่อว่าเป็นการบริโภคที่เป็นปัจจัยสันนิสสิตศีล ไม่ใช่เป็นการบริโภคหนี้

เพราะฉะนั้น ผู้มุ่งปฏิบัติในศีล ก็ควรปฏิบัติในศีลทั้ง ๔ ข้อนี้ด้วยกัน คือ ปาติโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และ ปัจจัยสันนิสสิตศีล หัดปฏิบัติให้ศีลทั้ง ๔ นี้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2554 16:30:04 น.
Counter : 1925 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.