Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๔ ลักษณะพุทธศาสนา - กิเลส (๒)

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาโดยลำดับ จนถึงสังขตธรรมอสังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งและธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือสิ่งที่เป็นสังขารส่วนผสมปรุงแต่ง กับสิ่งที่เป็นวิสังขารคือไม่มีการปรุงแต่งทั้งทางวัตถุและทางสิ่งที่มิใช่วัตถุคือจิต หรือวิญญาณธาตุ ธาตุรู้มาจนถึงจิตที่เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้คือตัวรู้ซึ่งยังมิได้อบรม จึงมาผสมปรุงแต่งกับส่วนที่เป็นวัตถุ ก็เกิดเป็นกายจิตขึ้น และได้แสดงถึงความผสมปรุงแต่งของกายจิตนี้ เป็นกระบวนการปรุงแต่งทางกาย กระบวนการปรุงแต่งทางจิต และกระบวนการปรุงแต่งของจิตที่ประกอบกับกายปรากฏเป็นขันธ์ ๕ ดังที่ได้แสดงแล้ว และจิตนี้เมื่อยังไม่มีอารมณ์ก็เป็นภวังคจิต เมื่อเคลื่อนออกไปสู่อารมณ์ จึงเป็นจิตในวิถีที่เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร และก็มาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหากิเลส และก็ตกเป็นตะกอนอยู่ในจิตเป็นอนุสัยดองจิตเป็นอาสวะ จึงปรากฏเป็นกิเลสที่เรียกว่าอุปกิเลส คือกิเลสที่เข้าไปนอนจมเข้าไปดองจิต และก็เป็นกิเลสที่กล่าวว่าเป็นอย่างละเอียดเป็นขั้นตะกอน เมื่อประสบกับอารมณ์ที่เข้าทางทวารทั้ง ๖ หรือที่อาจแบ่งเป็นประตูชั้นนอก ๕ ประตู ชั้นใน ๑ ตามที่กล่าวแล้ว ก็ไปกวนกิเลสที่เป็นตะกอนให้ฟุ้งขึ้น ก็ปรากฏเป็นกิเลสที่เป็นขั้นนิวรณ์ หยาบออกมาอีกก็เป็นขั้นที่ทำให้ล่วงละเมิดทางกายทางวาจาทางใจ ซึ่งกายวาจาใจนี้ก็เรียกว่าทวารอีกเหมือนกัน กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร ก็เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็นับเป็นกิเลสที่เป็นอย่างหยาบ เพราะฉะนั้นจึงสรุปว่ากิเลสนั้นกล่าวโดยย่อก็อย่างหยาบอย่างกลางและอย่างละเอียด จึงต้องย้ำในที่นี้อีก ว่าการละกิเลสนั้นจะต้องละให้ได้จนถึงอย่างละเอียดละอาสวะอนุสัย จึงจะเป็นอันว่าละกิเลสได้

จิตบริสุทธิ์สิ้นเชิงเพราะสิ้นอาสวะ

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตขีณาสพทั้งหลายละกิเลสได้จนถึงอย่างละเอียด คือละอาสวะอนุสัยได้ จึงเรียกว่าขีณาสวะ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นพระอรหันต์ และเมื่อเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีจิตที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง เมื่อมีจิตที่บริสุทธิ์สิ้นเชิงดั่งนี้แล้ว เวลารับอารมณ์จึงไม่มีตะกอนที่จะฟุ้งขึ้นมาเป็นกิเลสอย่างกลางเป็นกิเลสอย่างหยาบ และตะกอนใหม่ก็ไม่ลงไป เพราะว่าไม่รับเป็นความยินดีเป็นความยินร้ายเป็นความหลงงมงายต่างๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นตะกอนใหม่ ไม่มีตะกอนใหม่ที่จะตกลงไป ตะกอนเก่าก็สิ้นไปหมด เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่สิ้นกิเลสด้วยประการทั้งปวง และก็พึงทราบว่าความที่จะทำกิเลสให้สิ้นไปได้นั้น ก็เพราะจิตนี้เอง คือจิตนี้เป็นธาตุรู้ คือเป็นวิญญาณธาตุรู้ดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อได้ประสบกับผลที่เป็นตัวทุกข์ต่างๆ อันเกิดจากกิเลส ก็มีความรู้จับเหตุจับผลได้โดยลำดับตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจึงได้รู้จักเทียบเคียงในระหว่างความดีความชั่วบุญบาปทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงได้รู้จักที่จะละความชั่ว ที่จะกระทำความดี และที่จะชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ก็เป็นการที่ได้อาศัยอารมณ์นี่แหละ จิตก็ประกอบเจตนาคือความจงใจ ประกอบความดีเป็นกรรมดีทางไตรทวาร คือกายวาจาใจ ก็เป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมที่เป็นส่วนกุศล คือเป็นความดีก็เก็บความดีนี้เป็นบารมีสั่งสมขึ้นในจิต ชำระตะกอนที่เป็นฝ่ายกิเลสนั้นให้น้อยลงไปโดยลำดับ

จิตสั่งสมทั้งบารมีและอาสวะอนุสัย

ทุกคนจึงมีทั้งส่วนดีทั้งส่วนชั่วที่เก็บในจิตใจของตน ส่วนดีนั้นก็เรียกว่าบารมี ส่วนชั่วนั้นก็เรียกว่าอาสวะหรืออนุสัยซึ่งเก็บอยู่ และความที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ท่านก็แสดงว่าด้วยอำนาจของกุศล กิจของคนฉลาด โดยตรงก็คือตัวปัญญานี้เอง ที่สูงขึ้นโดยลำดับและก็หมายรวมถึงกรรมที่เป็นกุศลทั้งหลาย หรือที่เรียกว่าบุญซึ่งได้สั่งสมกระทำมา เป็นเหตุให้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีใจสูง มีมนะสูง หรือว่ามีความรู้สูง มนะที่แปลกันว่าใจนั้น อีกอย่างหนึ่งแปลว่าความรู้ มีใจสูงก็คือมีความรู้สูง ก็คือมีปัญญานั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงสามารถที่จะละอายแก่ใจ และสามารถที่จะเกรงกลัวต่อสิ่งที่ควรเกรงกลัว และรู้จักความดีความชั่ว รู้จักที่จะละความชั่วกระทำความดีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และสามารถที่จะศึกษาให้มีความรู้สูงขึ้น จนถึงได้ปัญญาคือตัวความรู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงอันเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ได้ ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก และพระอริยสาวกกับทั้งสาวกสาวิกาผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็แปลว่าแม้ในการกระทำความดีนี้ก็เป็นสังขตธรรม ธรรมที่ปรุงแต่งอีกเหมือนกัน คือต้องทำต้องปรุงแต่งจึงจะเป็นความดี แม้ในด้านความชั่วก็เป็นสังขตธรรม คือต้องทำต้องปรุงแต่งจึงจะเป็นความชั่ว ความดีความชั่วนั้นต้องทำ เมื่อทำดีจึงจะเป็นความดี เมื่อทำชั่วจึงจะเป็นความชั่ว เมื่อทำก็เป็นสังขตธรรมต้องปรุงต้องแต่ง

ทุกสังขารมีวัฏฏะคือความวน

ฉะนั้นจึงควรเข้าใจในต้อนนี้อีกด้วย ว่าอันคำว่าปรุงแต่งคือสังขตธรรม สิ่งที่ปรุงแต่งหรือสังขารสิ่งที่ผสมปรุงแต่งนั้น ก็มีความหมายอันเดียวกับคำว่า วัฏฏะ คือคำว่าวน และอยู่ในข่ายของกาลเวลา คือมีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน กาลเวลาคืออดีตอนาคตและปัจจุบันก็ดี ความวนอันเรียกว่าวัฏฏะก็ดี ความเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่งก็ดี ย่อมสัมพันธ์กันอยู่กับ อนิจจตา คือความไม่เที่ยง ทุกขตา คือความเป็นทุกข์ อนัตตา คือความเป็นอนัตตามิใช่เป็นอัตตาตัวตน ก็เพราะว่าสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง ทั้งที่มีชีวิตและทั้งที่ไม่มีชีวิต จะต้องมีวัฏฏะคือความวน คือไม่นิ่ง ต้องปรุงแต่งอยู่เสมอไม่หยุดไม่นิ่ง และความไม่หยุดไม่นิ่งนั้นก็คือไม่หยุดไม่นิ่งอยู่ด้วยความเกิดความดับ ความที่ปรุงเข้ามาก็เป็นความเกิด และความที่เสื่อมสลายไปก็เป็นความดับ แล้วก็ต้องปรุงเข้ามาใหม่ และเมื่อปรุงเข้ามาใหม่แล้วก็เสื่อมสลายไปอีก แล้วก็ปรุงเข้ามาใหม่อีก ไม่มีหยุด ลักษณะดังกล่าวมานี้เรียกว่าไม่เที่ยง และลักษณะที่กล่าวมานี้ก็เรียกว่าเป็นทุกข์ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่คงอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และทั้งเป็นสิ่งที่เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน เพราะเหตุว่าบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ จะบังคับให้เที่ยงคือคงอยู่คงที่ คือให้ดำรงอยู่คงที่ไม่เกิดไม่ดับก็บังคับไม่ได้ จะให้หยุดก็บังคับไม่ได้ ต้องเกิดต้องดับต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน คือเป็นไปตามคติธรรมดา และเมื่อเป็นไปตามคติธรรมดาดั่งนี้ ก็ต้องมีกาลมีเวลา คือมีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน อดีตก็คือว่าล่วงไปแล้ว ปัจจุบันก็คือบัดนี้ อนาคตก็คือเบื้องหน้า ทุกๆ สิ่งต้องมีอดีตต้องมีปัจจุบันต้องมีอนาคต ดังที่สิ่งที่เกิดดับมาแล้วก็เป็นอดีต ที่เกิดดับอยู่ในปัจจุบันก็เป็นปัจจุบัน ที่เกิดดับต่อไปก็เป็นอนาคต ก็สิ่งเดียวกันนี้เอง แต่เพราะมี สันตติ คือความสืบต่อ อันหมายความว่ายังไม่หยุดความเกิดความดับ ยังเกิดดับต่อไป เพราะฉะนั้นจึงมีอดีตมีปัจจุบันมีอนาคต และแม้ว่าจับเอาเพียงคำว่าเกิดดับเท่านั้น ถ้าเดี๋ยวนี้เกิดก็เป็นปัจจุบัน ดับก็เป็นอนาคต ครั้นมาถึงเวลาดับ ดับก็เป็นปัจจุบัน ที่จะเกิดสืบต่อก็เป็นอนาคต เพราะฉะนั้นอดีตอนาคตปัจจุบัน หรืออดีตปัจจุบันอนาคต จึงเนื่องอยู่กับสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย และที่ว่าเป็นวัฏฏะคือความวนนั้น ก็เพราะว่าวนอยู่ในความเกิดความดับ ไม่นอกไปกว่าความเกิดความดับ เกิดดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ ก็วนอยู่ดั่งนี้

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงวัฏฏะคือความวนของสัตวโลกไว้ ๓ อย่างคือ
๑. กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
๒. กรรมวัฏฏะ วนคือกรรม และ
๓. วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก

วนคือกิเลสนั้น ก็หมายความว่ากิเลสเป็นเหตุให้กระทำกรรม ก็มาถึงกรรม และกรรมนั้นก็เป็นเหตุก่อวิบากคือผล ก็มาถึงวิบาก วิบากคือผลนั้นก็เป็นที่ตั้งของกิเลสขึ้นอีก หรือจะกล่าวว่าเป็นเหตุให้เกิดกิเลสขึ้นอีกก็ได้ ก็เป็นกิเลสขึ้นมาอีก และเมื่อเป็นกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรม กรรมก็เป็นเหตุให้ได้ประสบวิบากคือผล และผลก็เป็นที่ตั้งหรือเป็นเหตุของกิเลสขึ้นอีก ก็วนอยู่ใน ๓ ประการนี้ คือกิเลส กรรม วิบาก แล้วก็วิบาก กิเลส กรรม วิบาก ก็วนเป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้ อันนี้เรียกว่าวัฏฏะ วัฏฏะสังสาระ สังสาระแปลว่าความท่องเที่ยวไปคือความท่องเที่ยวไปของสัตวโลก ก็ท่องเที่ยวไปในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ ประการนี้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย หรือเวียนเกิดเวียนดับดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อดูเข้าไปที่ความวนอันเป็นตัวเหตุชั้นในแล้ว จึงจะพบว่าวนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ ประการนี้ ส่วนที่ว่าเวียนเกิดเวียนตายหรือเวียนเกิดเวียนดับมาข้างต้นนั้น ก็ยกเอาข้อวิบากขึ้นมาเพียงประการเดียว วิบากคือผล ผลของกรรม จับเอาขันธ์เป็นที่อาศัยยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้ หรือกายใจอันนี้หรือชีวิตนี้ ก็มีเกิดมีดับ และเมื่อเกิดดับแล้วก็เกิดในเมื่อยังมีกิเลสมีกรรมอยู่ เมื่อมีเกิดก็มีดับอีก และเมื่อมีดับก็มีเกิดแล้วก็มีดับอีก แม้ว่าดูแค่วิบากคือผลตัวชีวิตนี้เท่านั้น ก็วนอยู่ในเกิดในดับดังที่กล่าวมา แต่นั่นยกขึ้นมาเพียงข้อเดียว แต่เมื่อจะยกทั้งหมดแล้วก็ต้องยกทั้ง ๓ อย่างคือกิเลสกรรมวิบาก เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสมีกรรมอยู่ จึงต้องมีเกิดดับแห่งชีวิตหรือแห่งอัตภาพแห่งกายใจอันนี้ เมื่อไม่มีกรรมไม่มีกิเลสก็ไม่มีวิบากที่จะต้องเกิดดับ ดังกล่าวมาเพราะฉะนั้นเมื่อจะยกขึ้นกล่าวถึงวัฏฏะทั้งหมด จึงต้องกล่าวทั้ง ๓ คือกิเลสกรรมวิบาก กิเลสกรรมวิบากนี้เองเป็นกุญแจของสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง คือเพราะมีวัฏฏะคือความวนแห่งกิเลสแห่งกรรมแห่งวิบากอยู่ดั่งนี้ จึงยังเป็นสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งอยู่ตลอดไปเพราะต้องปรุงต้องแต่ง กิเลสก็แต่งกรรม กรรมก็แต่งวิบาก วิบากก็แต่งกิเลส กิเลสก็แต่งกรรม กรรมก็แต่งวิบาก ก็วนเวียนกันดั่งนี้

พิจารณาวัฏฏะในวงนอกหรือส่วนหยาบ

คราวนี้การพิจารณาวัฏฏะทั้ง ๓ ประการนี้ พิจารณาในวงนอกคือพิจารณาในวงของความเวียนว่ายตายเกิดชาตินี้ชาติหน้า ก็ให้พิจารณาในวงนอกดั่งนี้ ก็คือความที่ทุกคนต้องเกิดมาหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งจิตหรือธาตุรู้ต้องมาถือปฏิสนธิในกายนี้ ก็เพราะยังมีกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้กระทำกรรม และกรรมที่เป็นชนกกรรม กรรมที่นำให้เกิดก็ให้มาเกิด คือเกิดก่อกายนี้ทั้งรูปกายทั้งนามกาย รูปกายนามกายนี้เป็นตัววิบากคือวิบากขันธ์ และเมื่อได้วิบากขันธ์มาแล้วจิตเข้าอาศัย จิตยังมีกิเลส จิตก็ยึดถือรูปกายนามกายนี้ ยินดีพอใจอยู่ในรูปกายนามกายนี้ ไม่เบื่อหน่ายเพราะฉะนั้นรูปกายนามกายนี้ก็เป็นที่ตั้งของกิเลสขึ้นอีก ดังจะพึงเห็นได้ ว่ารูปกายนามกายนี้ย่อมมีที่ตั้งของกิเลสอยู่ในรูปกายนามกายนี้เองด้วย เพราะฉะนั้นจึงได้ก่อให้เกิดกิเลสได้ง่าย ตั้งแต่ตัวกิเลสที่เป็นเหตุให้สืบพันธุ์กันอีกต่อไป อันเป็นเรื่องของโลก ก็มีกายนี้เป็นที่ตั้งอยู่แล้ว และเมื่อเป็นดั่งนี้ กายนี้เองก็เรียกว่าวิบากขันธ์ เป็นตัววิบาก เป็นที่ตั้งเป็นเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก เพราะฉะนั้นกิเลสจึงได้ตั้งอยู่และได้งอกงาม ก็ก่อกรรม และกรรมก็ก่อวิบากคือผลต่างๆ ตลอดจนถึงเป็นชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิดชาติภพต่อไปอีก เพราะฉะนั้นเมื่อดูในวงกว้างก็จะเห็นได้ ว่ากิเลสกรรมวิบากเป็นวัฏฏะคือตัววน ก่อชาติก่อภพเวียนว่ายตายเกิดกันเรื่อยไป

พิจารณาวัฏฏะในวงในหรือส่วนละเอียด

เมื่อจะดูในวงในให้แคบเข้ามา ก็จะเห็นได้แม้ในตัวจิตและอารมณ์ที่ประกอบกันอยู่ในปัจจุบัน ดังเช่นว่ากิเลสเป็นเหตุให้อยากดูรูปที่สวยงาม ให้อยากฟังเสียงที่ไพเราะ นี่เป็นตัวกิเลส เป็นตัวรูปตัณหา สัททตัณหา ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง เป็นตัวกิเลส เมื่อเกิดตัณหาในรูปเกิดตัณหาในเสียงขึ้น ก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมคือให้ทำการดู เช่นการแสวงหาสถานที่ที่มีรูปที่งดงาม สถานที่ที่มีเสียงไพเราะที่อยากจะดูอยากจะฟัง แล้วก็ไป แล้วก็ดู เหล่านี้เป็นกรรม ดั่งนี้จะเห็นได้ว่ากิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม และเมื่อเป็นกรรมขึ้นแล้วก็ให้เกิดผลเป็นวิบาก เป็นความสุขบ้างเป็นความทุกข์บ้าง ตั้งต้นแต่เป็นตัวเวทนาเป็นสุขเวทนาเป็นทุกขเวทนา ตัวสุขเวทนาทุกขเวทนาเหล่านี้เป็นวิบาก เป็นส่วนผลของกรรม คือการดูการฟังดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อเป็นเวทนา เป็นสุขเวทนาเป็นทุกขเวทนาขึ้นมาดั่งนี้แล้ว เวทนานี้เองและผลอื่นๆ ก็เป็นที่ตั้งของกิเลสขึ้นอีก ถ้าเป็นสุขเวทนาเป็นวัตถุที่ชอบใจที่ได้มา ก็ก่อตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากในสิ่งนั้นมากขึ้น เป็นส่วนกามตัณหาบ้างภวตัณหาบ้าง ถ้าเป็นทุกขเวทนา เป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็ก่อให้เกิดวิภวตัณหา ความทะยานอยากที่จะทำให้สิ่งนั้นสิ้นไปหมดไป ต้องการที่จะผลักออกไป ถ้าเป็นกามตัณหาภวตัณหาก็ต้องการที่จะดึงเข้ามา ก็เป็นอันว่าวิบากคือผลก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสขึ้นอีกดั่งนี้ ก็วนอยู่ดั่งนี้ เป็นวัฏฏะของกิเลสกรรมวิบาก และถ้าดูเข้ามาที่จิตและอารมณ์ดั่งนี้ เป็นการดูเข้ามาอย่างละเอียด ดูจิตที่พบกับอารมณ์ทั้งหลาย ตรวจดูก็จะเห็นดั่งนี้ ว่าจิตของตนเป็นเช่นนี้ เป็นกิเลส ถ้าเป็นตัณหาขึ้นมาก็อยากจะได้นั่นได้นี่ ก็ทำให้ประกอบกรรมเพื่อที่จะได้มา เมื่อได้มาแล้วสิ่งที่ได้มาก็เป็นวิบากคือผล จะได้สิ่งที่ต้องการหรือจะได้สิ่งที่ไม่ต้องการก็ตาม คือทั้งการได้และการไม่ได้เป็นผล เป็นวิบากคือผล และถ้าเป็นการได้ก็ก่อกิเลสด้านกามตัณหาภวตัณหา ถ้าเป็นการไม่ได้หรือได้สิ่งที่ไม่ชอบก็ก่อให้เกิดกิเลสกองวิภวตัณหา ก็เป็นไปอยู่ดังนี้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นแม้จิตใจนี้เองก็วนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ ประการนี้อยู่เป็นประจำ สำหรับสามัญชนทั่วไป

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงสั่งสอนชี้ให้รู้จัก ว่าความวนอยู่ดั่งนี้เป็นความวนอยู่ในทุกข์ เมื่อจะพ้นทุกข์ ก็จำเป็นต้องพยายามปฏิบัติตัดความวนเหล่านี้ และการที่จะตัดความวนเหล่านี้ ก็ต้องตัดด้วยการปฏิบัติเพื่อละกิเลส อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดนั้นให้ตั้งใจว่าเพื่อละกิเลส ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อสะสมกองกิเลส จะเป็นขั้นศีลก็ตาม ขั้นสมาธิก็ตาม ขั้นปัญญาก็ตาม เป็นการปฏิบัติเพื่อละกิเลส จะทำบุญทั้งหลาย เช่นทาน จะให้สิ่งนั้นจะให้สิ่งนี้ก็ตาม ก็ต้องตั้งใจว่าให้ทานเพื่อละกิเลส ให้มีความตั้งใจไว้ดั่งนี้ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว การกระทำทุกๆ อย่างก็จะได้รับผลเป็นความพ้นทุกข์ น้อยหรือมากตามแต่ที่จะปฏิบัติได้

๑๗ กันยายน ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 29 ธันวาคม 2553
Last Update : 29 ธันวาคม 2553 0:07:01 น. 5 comments
Counter : 768 Pageviews.

 
หวัดดีพี่

เพิ่งเขียน blog เสร็จเมื่อกี้เหมือนกัน ว่างก็แวะไปดูได้นะพี่ แต่รูปมากเหลือเกิน


โดย: Katai_Akiko วันที่: 29 ธันวาคม 2553 เวลา:0:40:06 น.  

 
สวัสดีค่ะ

ตอนแรกอ่านcomment แล้วให้รู้สึกแปลกใจมากว่า วันนี้ทำไมคุณพี่ sirivitnit เรียกตัวเองว่าผม แต่พอเห็นชื่อข้างล่างถึงได้รู้ว่าเขียนส่งผิดคนซะแล้ว
ต้องขอประทานโทษเป็นอย่างยิ่ง ที่ใช้คำพูดแบบนั้น แต่ใหนๆก็ได้รู้จัก blog นี้แล้ว ขออนุญาติเข้ามาอ่านอีกนะคะ


โดย: Katai_Akiko วันที่: 29 ธันวาคม 2553 เวลา:15:38:01 น.  

 



สวัสดีค่ะ

เราอั๊พบล็อกใกล้ๆกัน เรื่องธรรมะเหมือนกัน แต่บล็อกดิฉันมีหลากหลาย เพราะคนทำ สนใจหลายอย่างค่ะ

ตั้งใจมาสวัสดีปีใหม่ค่ะ
เลยเห็นบล็อกข้างบนนี้
ขอนุญาตขำหน่อยนะคะ ฮ่าๆๆๆๆ


ขอพรพระพุทธคุณ โปรดดลบันดาลประทานพรให้คุณ sirivajj ประสบแต่ความสุข ปราศจากสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภยันตรายทั้งปวงนะคะ



โดย: พี่นาถค่ะ (sirivinit ) วันที่: 29 ธันวาคม 2553 เวลา:20:38:53 น.  

 
มาขอบคุณและน้อมรับพรที่ให้ด้วยค่ะ ขอพรนั้นย้อนกลับไปหาผู้ส่งด้วยเป็นหมื่นเท่าพันทวีคูณเลยนะคะ

แฮะๆ ถูกคุณพี่ comment ข้างบนจับได้ซะแล้ว ว่าป้ำๆเป๋อ แค่ใหน


โดย: Katai_Akiko วันที่: 30 ธันวาคม 2553 เวลา:12:20:40 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ยกกระเช้าดอกไม้มาสวัสดีปีใหม่ด้วยค่ะ

เมื่อวานไปไหว้พระ 9 วัดหรือเปล่าคะ







โดย: Katai_Akiko วันที่: 2 มกราคม 2554 เวลา:12:52:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.