Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๙ ความรู้จักอาสวะ (๓)

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๒๙ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

วิชชา วิมุตติเกิดจากจิตตภาวนา

ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรแก่ภิกษุทั้งหลายมาโดยลำดับ จนถึงหมวดอาสวะ และก็ได้แสดงข้ออาสวะกับข้ออนุสัยมาแล้ว จะได้แสดงเพิ่มเติมถึงความเกิดขึ้นของอาสวอนุสัยตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้จากพระสูตร เพราะว่าอาสวอนุสัยนี้เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่หมักหมมดองจิตสันดานที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานของสัตว์บุคคลทั้งหลาย เราทั้งหลายได้ทราบก็เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ความตรัสรู้ของพระองค์ได้เจาะแทงลงไปถึงอาสวอนุสัย ละถอนกำจัดอาสวอนุสัยได้หมดสิ้นด้วยพระปัญญาพร้อมทั้งมรรคข้ออื่น ๆ ประกอบกันเป็นมรรคสามัคคี กำจัดอาสวอนุสัยให้หมดสิ้นไป จิตของพระองค์จึงบรรลุถึงวิสังขารคือนิพพาน สิ้นปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง สิ้นตัณหาอันเป็นสมุทัยแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง จิตนี้พระองค์ได้ตรัสบอกไว้ว่าประภัสสรคือผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะกิเลสทั้งหลายที่จรเข้ามา แต่ว่าเมื่อบุคคลได้สดับธรรมะที่ทรงสั่งสอน ทำจิตตภาวนาคืออบรมจิตตามที่ทรงสั่งสอนด้วยมรรคมีองค์ ๘ ย่อลงก็เป็นศีลสมาธิปัญญา จิตก็จะวิมุตติหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามาเป็นจิตที่ประกอบด้วยวิชชาคือความรู้อันตรงกันข้ามกับอวิชชา วิมุตติคือความหลุดพ้นอันตรงกันข้ามกับอุปาทานคือความยึดถือ

อนุสัยกิเลสเกิดจากเวทนา

พิจารณาดูตามกระแสพระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงไว้นี้ ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า จิตนี้แม้เป็นธรรมชาติที่ประภัสสรคือผุดผ่อง แต่เมื่อยังมิได้ปฏิบัติทำจิตตภาวนาอบรมจิต จิตนี้ก็ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง แม้จิตนี้จะเป็นธาตุรู้ แต่ก็ยังเป็นรู้ผิดรู้หลง จึงยังมี อุปาทาน คือความยึดถือ

และเมื่ออายตนะภายนอกอายตนะภายในประจวบกัน ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาของกายและใจอันนี้หรือของนามรูปอันนี้ ก็ย่อมเกิด

จักขุวิญญาณ ความรู้ทางจักษุ คือเห็นรูป
โสตวิญญาณ ความรู้ทางหู คือได้ยินเสียง
ฆานวิญญาณ ทราบกลิ่นทางจมูก
ชิวหาวิญญาณ ทราบรสทางลิ้น
กายวิญญาณ ทราบสิ่งถูกต้องทางกาย
มโนวิญญาณ ทราบเรื่องราวที่รู้ที่คิดทางมโนคือใจ

และเมื่ออายตนะภายในตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ อายตนะภายนอกคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราวที่รู้ที่คิดทางใจกับวิญญาณดังกล่าวทั้ง ๓ อย่างนี้มาประชุมกันเข้า ก็เป็น สัมผัสหรือผัสสะ คือความกระทบ

และเพราะสัมผัสคือความกระทบก็หมายถึงความกระทบจิตนี้เอง จึงเกิด เวทนา คือความรู้เป็นสุขรู้เป็นทุกข์หรือรู้เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขทางกายทางใจ ดังที่ทุก ๆ คนได้มีเวทนากันอยู่เป็นประจำ เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้างทางกายทางใจ

ราคานุสัยเกิดจากสุขเวทนา

และเมื่อได้พบกับ สุขเวทนา เวทนาที่เป็นสุข ก็ย่อมจะมีความติดใจยินดีในสุข เมื่อเป็นดั่งนี้ ราคะคือความติดใจยินดีในสุขนี้ก็ตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต เรียกว่า ราคานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตคือราคะความติดใจยินดี แม้ว่าสุขเวทนานั้นจะหายไปแล้ว แต่ว่าราคานุสัยก็ยังตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต

ปฏิฆานุสัยเกิดจากทุกขเวทนา

เมื่อพบกับ ทุกขเวทนา เวทนาที่เป็นทุกข์ ก็เกิดความทุกข์เดือดร้อนอย่างแรง ก็ตีอกชกหัวต่าง ๆ ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งนั้นก็ตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต เป็น ปฏิฆานุสัย กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง แม้ว่าทุกขเวทนานั้นจะสงบไปแล้ว แต่ปฏิฆานุสัยก็ยังนอนเนื่องอยู่ในจิต

อวิชชานุสัยเกิดจากอทุกขมสุขเวทนา

เมื่อพบกับ เวทนาที่เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็มิได้พิจารณาให้รู้จักความเกิดขึ้นความดับไป ความน่าพอใจ ความไม่น่าพอใจ และการที่จะนำจิตแล่นออกไปได้ นี้ก็เป็นอวิชชา ก็นอนจมนอนเนื่องอยู่ในจิต เป็น อวิชชานุสัย กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คืออวิชชาคือตัวที่ไม่รู้ แม้ว่าเวทนาที่เป็นกลาง ๆ นั้นจะสงบไปแล้ว แต่อวิชชานุสัยนี้ก็ยังนอนเนื่องอยู่ในจิตเป็นตะกอนอยู่ในจิต

ซึ่งโดยปกติทุกคนก็จะไม่รู้สึกว่ามีอนุสัยเหล่านี้อยู่ในจิต ยิ่งผู้ที่ปฏิบัติธรรมะได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญา แต่ยังไม่เป็นมรรคกำจัดกิเลสได้ อนุสัยเหล่านี้ก็ยิ่งไม่ปรากฏ แต่ก็ยังมีอยู่ยังนอนเนื่องอยู่ในจิต นอนจมอยู่ในจิต เป็นตะกอนอยู่ในจิตดังที่เปรียบไว้แล้วว่าเหมือนอย่างตะกอนนอนก้นตุ่ม ไม่ฟุ้งขึ้นมา น้ำในตุ่มก็ดูใสสะอาด แต่อันที่จริงนั้น ไม่ใช่เป็นน้ำบริสุทธิ์สิ้นเชิง เพราะยังมีตะกอนนอนจมอยู่ก้นตุ่ม นี่คืออนุสัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพบ

ได้ตรัสแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่งถึงความบังเกิดขึ้นของอนุสัยดั่งนี้ ว่าอาศัยเวทนานี้เอง หรือว่ากล่าวให้หมดก็คือว่าอาศัยอายตนะภายนอกภายในของบุคคลที่ประจวบกันเกิดวิญญาณ และทั้ง ๓ นี้ก็มาประชุมกันเป็นสัมผัสหรือผัสสะ ก็เป็นเหตุให้เกิดเวทนา เมื่อเกิดเวทนาก็เป็นเหตุให้เกิดราคะบ้าง คือจิตใจยินดีในสุข ปฏิฆะบ้าง คือว่าหงุดหงิดในทุกข์ อวิชชาบ้าง คือไม่รู้ในเวทนาที่เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ราคะ ปฏิฆะ อวิชชาเหล่านี้ก็ตกเป็นตะกอนนอนจมอยู่ในจิต เป็นราคานุสัยบ้าง ปฏิฆานุสัยบ้าง อวิชชานุสัยบ้าง ดังกล่าว และเมื่อได้ประสบเวทนากันอยู่เป็นประจำ และก็มีความติดใจยินดีในสุขกันอยู่เป็นประจำ หงุดหงิดขัดเคืองในทุกข์อยู่เป็นประจำ ไม่รู้อยู่ในเวทนาที่เป็นกลาง ๆ อยู่เป็นประจำ ราคะ ปฏิฆะ อวิชชาที่บังเกิดขึ้นใหม่ ๆ อยู่ทุกวี่ทุกวันทุกเวลาเหล่านี้ก็นอนจมลงไปในจิต นอนเนื่องอยู่ในจิตเป็นอนุสัยเพิ่มเติมขึ้นอยู่เสมอ ก็แปลว่าตะกอนก้นตุ่มนั้นก็มากขึ้นมากขึ้น แต่เมื่อไม่ฟุ้งขึ้นมา น้ำในตุ่มก็ดูยังใส

ตรัสสอนให้มีอินทรียสังวร

ส่วนอาสวะนั้นก็มีตรัสแสดงไว้ในข้อที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติใน อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ดังที่ตรัสสอนเอาไว้ว่า

เห็นรูปอะไรทางตา ได้ยินเสียงอะไรทางหู สูดกลิ่นอะไรทางจมูก ลิ้มรสอะไรทางลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้องอะไรทางกาย คิดหรือรู้เรื่องอะไรทางมโนคือใจ ก็ไม่ยึดถือโดยนิมิต คือไม่ยึดถือทั้งหมดว่างามหรือไม่งาม น่าชอบใจหรือไม่น่าชอบใจ ไม่ยึดถือโดยอนุพยัญชนะ คือเลือกแต่บางส่วนว่างามหรือไม่งาม น่าชอบใจหรือไม่น่าชอบใจ อภิชฌาคือความยินดี โทมนัสคือความยินร้าย บาปอกุศลธรรมทั้งหลายย่อมไหลเข้ามาสู่จิตเพราะเหตุที่มิได้สำรวมมิได้รักษาอินทรีย์ คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเหล่านี้ เพราะตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเหล่านี้อันใดเป็นเหตุ ย่อมปฏิบัติรักษาอินทรีย์คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเหล่านี้ไว้ มิให้ยึดถือดั่งนั้น มิให้ความยินดียินร้าย บาปอกุศลธรรมทั้งหลายไหลเข้ามาสู่ใจอย่างนั้น ปฏิบัติดังนี้เรียกว่า อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์

ตามพระพุทธภาษิตนี้ตรัสเรื่องอินทรียสังวร และก็ย่อมส่องความถึงว่าหากไม่มีอินทรียสังวรก็ย่อมจะยึดถือย่อมจะยินดียินร้ายย่อมจะมีบาปอกุศลธรรมทั้งหลายไหลเข้ามาสู่จิต เพราะเหตุที่ยึดถือและยินดียินร้ายดังกล่าว หรือเพราะเหตุที่มิได้รักษามิได้สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจดังกล่าว บุคคลโดยมากย่อมหย่อนต่อการรักษาอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้ หรือว่าโดยปกติย่อมไม่รักษาอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้ เมื่อเห็นอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู ตลอดจนถึงคิดถึงเรื่องอะไรทางมโนคือใจ ย่อมจะยึดถือสิ่งที่ได้เห็นสิ่งที่ได้ยินตลอดจนสิ่งที่คิดเป็นต้นนั้น ยึดถือทั้งหมดหรือว่ายึดถือบางอย่างบางส่วน ว่างามบ้าง ไม่งามบ้าง น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเกิดความยินดีความยินร้าย เกิดบาปอกุศลธรรมทั้งหลายไหลลงสู่จิต ไหลเข้าสู่จิต ก็ไหลเข้ามาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางมนะคือใจนี้เอง สิ่งที่ไหลเข้ามาสู่จิตก็มาหมักหมมดองจิตสันดานอยู่ เป็น

กามาสวะ อาสวะสิ่งที่ไหลมาดองจิตสันดานคือกาม ความใคร่
ภวาสวะ อาสวะคือภพความเป็นเราเป็นของเรา
อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชาไม่รู้

แม้อาสวะเหล่านี้ก็ไหลเข้ามาจากตาหูเป็นต้นดังกล่าว ซึ่งเมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น ก็เกิดความใคร่ความยินดีก็คือกามนั่นเอง และยึดถือ ก็ยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา ก็เป็นภพ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาสวะคือภพ และแม้เป็นกลาง ๆ ก็ไม่ได้พิจารณาให้รู้จักความเกิดความดับเป็นต้น ก็เป็นอวิชชาคือไม่รู้ แม้ว่าการเห็นการยึดถือความยินดีความยินร้ายเป็นต้นนั้นจะผ่านไปแล้วสงบไปแล้ว แต่ก็ยังตกตะกอนลงมาเป็นอาสวะ มาดองมาหมักหมมจิตสันดานเป็นกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะอยู่ เพราะฉะนั้น ความบังเกิดขึ้นของอาสวะนั้นจึงบังเกิดขึ้น ดั่งนี้

อนุสัย ๔

และใน สัมมาทิฏฐิสูตร ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงรวมกันไว้ว่า

เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ มีความเห็นตรง ย่อมจะทำให้ประกอบด้วยความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในธรรมะ นำมาสู่พระสัทธรรม คือพระธรรมวินัยนี้ จะละราคานุสัย กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตคือราคะ จะถอนปฏิฆานุสัย จะบรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง จะถอนทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าเรามีเราเป็น จะละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น จะกระทำทุกข์ให้สิ้นสุดไปได้ในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ก็เท่ากับท่านแสดงอนุสัยไว้เป็น ๔ คือ ราคะ ปฏิฆะ และอัสมิทิฏฐิมานานุสัย เรียกสั้นก็คือภวานุสัยนั่นเอง แต่ท่านไม่เรียกว่าภวานุสัย เรียกอย่างเต็มที่ว่าทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะ ความเห็นยึดถือว่าเรามีเราเป็น ก็ตัวภพนั้นแหละดังที่กล่าว และ อวิชชา ก็เป็นอันว่าท่านนำอาสวะกับอนุสัยที่แยกเอาไว้นี้มารวมกันเข้า แต่แม้ว่าจะไม่รวมกันเข้า แยกออกเป็น ๒ หมวด ข้อที่ ๒ ของหมวดทั้ง ๒ นั้นจะต่างกัน คือเป็นภวาสวะกับเป็นปฏิฆานุสัย แต่ก็มีความที่เนื่องถึงกันสัมพันธ์กัน ดั่งที่ได้อธิบายแล้ว ก็นับว่าเป็นอันเดียวกันได้ แต่เมื่อแยกแสดงได้เป็น ๔ ก็เป็นอันว่าครบถ้วน คือ เป็นราคะหรือกามหนึ่ง เป็นปฏิฆะหนึ่ง เป็นภพหรืออัสมิทิฏฐิมานะหนึ่ง เป็นอวิชชาหนึ่ง เป็นตัวกิเลสที่นอนเนื่องหรือนอนจมหมักหมมดองจิตสันดานอยู่

รู้จักจิตส่วนลึกอันเป็นที่ตั้งของอาสวอนุสัย

ก็เพราะเหตุที่จิตนี้ที่ยังไม่มีจิตตภาวนา แม้เป็นธรรมชาติที่ประภัสสร แต่ก็ยังมีอวิชชา เมื่อมีอวิชชาก็ยังมีอุปาทาน เพราะฉะนั้น เมื่ออายตนะภายในภายนอกประจวบกันเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา จึงยังมียินดีมียินร้าย ยังมีหลงไม่รู้ และแม้ว่าความประสบทางตาหูเป็นต้น ความยินดียินร้าย หลงไม่รู้ที่บังเกิดขึ้นสงบไปเป็นคราว ๆ แต่ก็ยังนอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิตดองเป็นอาสวะ นอนเนื่องเป็นอนุสัย และก็เพิ่มพูนขึ้นอยู่เสมอ ต่อเมื่อได้ปฏิบัติในอินทรียสังวรและได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนคือ ในมรรคมีองค์ ๘ รวมเข้าเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา รักษาอินทรีย์ รักษาจิต มิให้ยึดถือยินดียินร้าย หลงไม่รู้ในเวลาที่ประสบเรื่องประสบอารมณ์ต่าง ๆ ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางมนะคือใจอยู่ จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่เพิ่มราคะอนุสัย และเมื่อศีลสมาธิปัญญาที่ปฏิบัตินี้ลึกซึ้งลงไปจนถึงรู้ถึงตัวอาสวอนุสัย คือลึกซึ้งลงไปถึงจิตส่วนลึกอันเป็นที่ตั้งของอาสวอนุสัย ก็จะกำจัดอาสวอนุสัยได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง นั่นแหละจิตนี้จึงเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ พร้อมทั้งประภัสสรคือผุดผ่อง ประกอบด้วยวิชชาวิมุตติ อยู่กับวิชชาวิมุตติตลอดเวลา ดั่งที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า

ตถาคตคือพระพุทธเจ้าทรงอยู่ด้วยวิชชาวิมุตติ ทรงมีวิชชาวิมุตติเป็นธรรมะเครื่องอยู่

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๐ มีนาคม ๒๕๒๘

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 25 สิงหาคม 2555
Last Update : 25 สิงหาคม 2555 6:58:06 น. 1 comments
Counter : 735 Pageviews.

 
  หากมนุษย์ยุคนี้ มีความสามารถ จัดวางผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้อยู่ในปรัชญาใดใดก็ได้ จะด้วยความฝัน(หรือความฟัน) ความระลึกชาติได้ ความอภินิหารใดใดก็แล้วแต่จะกล่าวเถิด. ถ้าสามารถเช่นนั้นได้ เราขอวางทุกๆศาสดา รวมถึงพระพุทธเจ้าด้วย ให้อยู่บนปรัชญาที่สุจริตที่สุด กตัญญูที่สุด ไม่มีการอวดอ้างว่าได้อะไรมาเอง มาฟรี มาอัตโนมัติ แต่ได้มาจากการรับมอบ การจัดการ การจัดกรรม การอนุมัติ การบริหาร ทั้งเมตตา(สาธารณะทั่วกัน) กรุณา(เฉพาะตน เช่นความรู้กฏ อิถะปัจยตา อริยะสัจ แรงโน้มถ่วง วัคซีน) เหล่าบรรพบุรุษเหล่านั้น ไม่มีใครที่ อกตัญญู ลบหลู่ ลบชื่อ พระเจ้า ออกจากจิตใจเขา เพราะเขารู้ว่า ปัจจุบันจะมีผู้อกตัญญูเช่นนั้นน้อยลงๆเรื่อยๆ(เพราะท่านๆนั้นรู้ด้วยผู้มีพระคุณให้รู้) จงสุจริตที่จะจัดวาง(repositionning) ทุกๆศาสดาให้สุจริต กตัญญู อย่าเชื่อว่าท่านๆผู้ใดจะอกตัญญูต่อผู้ให้เขาเกิด ให้ออกซิเจนท่านเสพ. แม้แต่พระพุทธเจ้า


โดย: ดีดี IP: 27.55.13.123 วันที่: 26 สิงหาคม 2555 เวลา:3:38:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.