Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๒ ลักษณะพุทธศาสนา - กระบวนการของจิต (๔)

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



อาสวะอนุสัย - กิเลสอย่างละเอียด

ได้แสดงลักษณะของจิตมาถึงตะกอน ซึ่งสรุปลงเป็น ๒ คือ
กิเลสานุสัย อนุสัยสิ่งที่นอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิตคือกิเลส กับ
อารัมณานุสัย สิ่งที่นอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิตคืออารมณ์

ฉะนั้นกิเลสและอารมณ์ที่เป็นอนุสัยนี้จึงเรียกว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่นอนจมอยู่ในจิตอีกชื่อหนึ่งเรียกว่าอาสวะ แปลว่าหมักหมม คือที่หมักหมมหรือที่ดองอยู่ในจิต ก็หมายถึงกิเลสหรืออารมณ์ ซึ่งเป็นอนุสัยนั้นนั่นเอง แต่ว่าเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอาสวะ แปลว่าหมักหมมหรือแปลว่ากอง เหมือนอย่างน้ำดองของเมาก็เรียกว่าอาสวะด้วยเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่เป็นน้ำเมาดังกล่าวนี้ใช้วิธีหมักดอง ก็เป็นน้ำเมาขึ้นมา ซึ่งดื่มเข้าไปก็เมา แต่ว่าการแสดงจำแนกมีต่างกันบ้าง คืออนุสัยนั้นจำแนกแสดงไว้เป็น ๓ คือ

๑. ราคานุสัย อนุสัยคือราคะความติดใจยินดี
๒. ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือความกระทบกระทั่ง
๓. อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา ความไม่รู้จริง หรือรู้ไม่จริง

ส่วนอาสวะนั้นก็จำแนกเป็น ๓ เหมือนกันคือ

๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ความใคร่
๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น ตั้งต้นแต่อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามี เราเป็น และ
๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา

สำหรับข้อที่ ๑ ของทั้ง ๒ หมวด ราคานุสัย อนุสัยคือราคะ กามาสวะ อาสวะคือกาม กามกับราคะนั้นก็มีอรรถอยู่ในกิเลสกองเดียวกัน ราคะ ความติดใจยินดี กามหรือกามะ ความใคร่ และข้อที่ ๓ ของทั้ง ๒ หมวด อวิชชานุสัยกับอวิชชาสวะ ก็ใช้ชื่อเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน ส่วนข้อที่ ๒ อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง ส่วนอาสวะนั้นได้แก่ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น ก็ต่างกันโดยชื่อ แต่ว่าโดยความที่เกี่ยวข้องกันแล้วก็ย่อมเนื่องถึงกัน อันความกระทบกระทั่งนั้นจำเป็นจะต้องมีสิ่งกระทบกระทั่ง ถ้าไม่มีสิ่งกระทบกระทั่งความกระทบกระทั่งก็ไม่มีเหมือนอย่างการที่มือทั้งสองมากระทบกัน เช่นว่าตบมือหรือปรบมือ อาการที่มือทั้งสองมากระทบกันนั้นก็เทียบกับว่าเป็นปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง จึงจะต้องมีมือทั้งสองมากระทบกัน ถ้าไม่มีความกระทบกระทั่งกันของมือก็ไม่มีเสียง และถ้าไม่มีอะไรเลยความกระทบกระทั่งก็ไม่มีเลย จึงจะต้องมีอะไรขึ้นมาสำหรับเป็นที่กระทบกระทั่ง สิ่งที่จะพึงกระทบกระทั่งก็คือภพหรือภว ความเป็นนั้นเอง อย่างละเอียดก็ตั้งต้นแต่ความเป็นเราความเป็นของเรา เมื่อมีความเป็นเราความเป็นของเรา ก็จะต้องมีความเป็นเขามีความเป็นของเขา ฉะนั้นจึงมีความกระทบกระทั่งกันระหว่างเรากับเขา ความเป็นเราความเป็นของเรานั้นก็คือภวหรือภพนั้นเอง อันเป็นภวาสวะข้อที่ ๒ ซึ่งก็จะต้องมีความเป็นเขาความเป็นของเขา จึงจะมีปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งกันขึ้นได้ ฉะนั้นแม้จะเรียกชื่อต่างกันออกไปในข้ออนุสัยเป็นปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ในข้ออาสวะเป็นภวาสวะ อาสวะคือภพ แต่ว่าโดยอรรถคือเนื้อความแล้วก็อยู่ในกิเลสกองเดียวกันนั้นเอง เพราะเมื่อกล่าวว่าปฏิฆะกระทบกระทั่ง ก็จะต้องมีภพคือความเป็นเราความเป็นของเรา อันเป็นที่ตั้งของความกระทบ และเมื่อกล่าวว่าภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็นเราความเป็นของเรา ก็จะต้องมีความกระทบกระทั่ง

นิวรณ์ - กิเลสอย่างกลาง

ทั้งอาสวะและอนุสัยนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ บางแห่งก็ทรงแสดงไว้เป็นอนุสัย บางแห่งก็ทรงแสดงไว้เป็นอาสวะ แต่ก็หมายถึงกิเลสที่เป็นอย่างละเอียด เพราะมีกิเลสที่เป็นอย่างละเอียดดั่งนี้ จึงมีกิเลสเป็นอย่างกลาง และมีกิเลสที่เป็นอย่างหยาบ กิเลสที่เป็นอย่างกลางนั้นได้แก่กิเลสที่เป็นชั้นนิวรณ์ คือที่ปรากฏขึ้นในจิตใจ ทำจิตใจให้กลัดกลุ้มให้ฟุ้งซ่านวุ่นวายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ปริยุฏฐานะ แปลว่ากิเลสที่ปล้นจิตที่กลุ้มจิต หมายความว่าทำจิตให้กลัดกลุ้ม และเป็นกิเลสที่เป็นเครื่องทำจิตให้ไม่สงบ กำบังปัญญาหรือกั้นมิให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้นได้ จึงเรียกว่านิวรณ์ แปลว่าเครื่องกั้น คือกั้นจิตไว้มิให้บรรลุถึงความสงบ และมิให้ได้ปัญญาคือความรู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งนิวรณ์นั้นจำแนกไว้ในที่ทั่วไปก็เป็น ๕ ข้อ ดังที่แสดงไว้ในหมวด ๕ ในธรรมวิภาคในนวโกวาท ได้แก่

กามฉันทะหรือกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม หมายถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือว่าความพอใจรักใคร่ด้วยอำนาจของกิเลสกาม คือกิเลสเป็นเหตุให้ใคร่ให้ปรารถนา มีราคะเป็นต้น

พยาบาท ความมุ่งร้ายหมายให้พินาศ หมายถึงบรรดากิเลสที่เป็นกองโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง

ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และ

วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยลังเลไม่แน่นอนใจ

ย่อลงก็เป็นกิเลส ๓ กอง คือราคะหรือโลภะหนึ่ง โทสะหนึ่ง โมหะหนึ่ง กามฉันท์ก็เป็นราคะ พยาบาทก็เป็นโทสะ ส่วนถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยลังเลใจไม่แน่นอน เป็นโมหะ แต่บางอาจารย์ท่านแยกเอานิวรณ์ข้อที่ ๔ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ท่านแยกเอาอุทธัจจะความฟุ้งซ่านเป็นกิเลสกองโมหะ ส่วนกุกกุจจะความรำคาญใจเอาเป็นกิเลสกองโทสะ นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ย่อมปรากฏอยู่ในจิต ในเมื่อมีขึ้นทุกคนก็รู้ ว่าบัดนี้จิตของเรามีนิวรณ์ข้อนี้ๆ แต่ก็กลุ้มกลัดอยู่ในจิต ทำจิตให้ไม่สงบ และกั้นมิให้ได้ปัญญาคือรู้แจ้งเห็นจริง ฉะนั้นที่ทำสมาธิกันไม่ได้เพราะว่ายังสงบนิวรณ์เหล่านี้ยังไม่ได้นั้นเอง นี้เป็นกิเลสอย่างกลาง

อกุศลมูล - กิเลสอย่างหยาบ

ส่วนกิเลสอย่างหยาบนั้นก็ได้แก่กิเลสอันเป็นอกุศลมูล อันหมายถึงว่าราคะโทสะโมหะนั่นเอง ราคะก็กำเริบขึ้น เป็นอภิชฌา ความโลภเพ่งเล็งเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน เห็นของของเขาก็อยากได้มาเป็นของของตน เรียกว่าอภิชฌา แรงกว่าโลภะธรรมดา โลภะธรรมดานั้นอยากได้ แต่ว่าไม่ถึงกับไปเพ่งเล็งเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน แต่ถ้าเป็นอภิชฌาแล้วละก็แรงเข้าจนถึงไปเพ่งเล็งที่จะเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ส่วนโทสะนั้นที่เป็นกิเลสอย่างกลางแรงขึ้นก็เป็นพยาบาทความมุ่งร้ายหมายให้พินาศ ดังที่แสดงในข้อนิวรณ์นั้น แต่อันที่จริงในข้อนิวรณ์นั้นเป็นอย่างกลาง ตามอธิบายนั้นก็เป็นชั้นโทสะ ซึ่งโทสะนั้นแปลว่าประทุษร้าย หมายถึงว่าประทุษร้ายใจของตัวเอง เพราะว่าทำให้ใจของตัวเองนั้นเดือดพล่าน ที่เรียกว่าเดือดคือประทุษร้ายใจของตัวเองให้รุ่มร้อน แต่ไม่ถึงกับจะมุ่งร้ายไปในผู้อื่น แต่เมื่อแรงเข้าจนถึงเป็นพยาบาทแล้ว ก็หมายถึงว่ามุ่งร้ายไปในผู้อื่นหมายให้พินาศ เช่นอยากจะไปทำร้ายเขาต่างๆ ดั่งนี้เป็นพยาบาท ถ้าเป็นแต่เดือดปุดๆ อยู่ในใจนี้คือโทสะ ประทุษร้ายใจตัวเอง และเมื่อมุ่งร้ายไปในผู้อื่น มุ่งที่จะไปทำร้ายหมายให้พินาศก็เป็นพยาบาท ก็เป็นกิเลสอย่างหยาบ กองโทสะ

คราวนี้โมหะคือความหลงนั้น เมื่อแรงเข้าก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมไปทีเดียว เช่นเห็นว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ทำบุญก็ไม่เป็นบุญ ทำบาปก็ไม่เป็นบาป บุญบาปไม่มี และบุคคลที่ได้รับสุขได้รับทุกข์ไม่มีเหตุให้ต้องได้รับสุขให้ต้องได้รับทุกข์ เป็นไปตามเรื่องราวเอง ไม่มีกรรมมาเป็นเหตุให้ต้องประสบสุขหรือต้องประสบทุกข์ หรือว่าไม่มีอะไรอย่างอื่นมาเป็นเหตุ เป็นไปตามคราวตามสมัยตามกระแสของคราวของสมัยเป็นต้น และเห็นว่าทุกอย่างไม่มี เช่นว่าบิดามารดาก็ไม่มีคุณ คือไม่มีบิดาไม่มีมารดาที่นับถือว่าเป็นผู้มีคุณ ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ เหล่านี้เป็นต้น เป็นมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม อภิชฌาพยาบาทและมิจฉาทิฏฐินี้เป็นกิเลสอย่างหยาบ ที่เรียกว่า วีติกกมกิเลส กิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกไปทางกายทางวาจาทางใจ เพราะฉะนั้นอภิชฌาพยาบาทและมิจฉาทิฏฐินี้จึงจัดว่าเป็นอกุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลที่เป็นฝ่ายมโนกรรม และเมื่อเป็นอกุศลกรรมบถฝ่ายมโนกรรม คือเป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล ก็ย่อมจะทำให้ประกอบกายกรรม วจีกรรมที่เป็นอกุศล กายกรรมที่เป็นอกุศลนั้นก็ได้แก่ฆ่าเขา ลักของของเขา ประพฤติผิดในกาม วจีกรรมที่เป็นอกุศลกรรมนั้นก็ได้แก่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไม่มีสาระแก่นสาร ไม่ต้องด้วยกาลด้วยเวลา เพราะฉะนั้นจึงจัดเป็นกิเลสอย่างหยาบ เป็นเหตุให้ละเมิดออกไปเป็นมโนกรรม และทำให้เป็นกายกรรมวจีกรรมฝ่ายอกุศลได้ทุกอย่าง

กิเลสกองราคะ

เพราะฉะนั้นจะพึงเห็นได้ว่าตามสายที่กล่าวนี้ กิเลสอย่างละเอียดเรียกว่าอนุสัย หรือเรียกว่าอาสวะ อนุสัยที่เป็นตะกอนนอนจมอยู่ในจิต อาสวะที่ดองจิตนี้เป็นอย่างละเอียด อย่างกลางก็มาเป็นปริยุฏฐานะ กิเลสที่ปล้นจิตที่กลุ้มรุมจิต ทำจิตให้กลัดกลุ้มวุ่นวาย และที่เป็นอย่างหยาบก็เป็นวีติกกมะ คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกไปทางใจทางวาจาทางกาย คือเป็นมโนกรรมวจีกรรมกายกรรม หรือเป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมฝ่ายอกุศล และชื่อที่เรียกนั้นสำหรับกองที่ ๑ คือกองราคะนั้น ที่เป็นอย่างละเอียดก็เรียกว่าราคะบ้างกามบ้าง แต่ว่าหมายถึงที่นอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิต ที่เรียกว่าอนุสัย หรือที่ดองจิตที่เรียกว่าอาสวะ เมื่อยังไม่ฟุ้งขึ้นมาก็ไม่ปรากฏ มีก็เหมือนอย่างไม่มี เหมือนอย่างตะกอนที่นอนก้นตุ่ม น้ำในตุ่มก็ดูใส คราวนี้เมื่อฟุ้งขึ้นมาเป็นอย่างกลาง คือเป็นปริยุฏฐานะหรือเป็นนิวรณ์ดังกล่าวนั้น ก็เรียกว่าราคะ ความติดใจยินดี หรือเรียกว่าโลภะธรรมดาที่บังเกิดขึ้นในจิต แรงออกมาอีกจนถึงเป็นอย่างหยาบก็เรียกว่าอภิชฌา ความโลภเพ่งเล็ง คือไม่ใช่โลภธรรมดาเฉยๆ ถ้าโลภธรรมดาเฉยๆ ก็ยังเป็นชั้นกลาง แต่ว่านี่โลภเพ่งเล็งคือเพ่งเล็งเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลขึ้นทันที

กิเลสกองโทสะ

กองที่ ๒ ที่เป็นอย่างละเอียดนั้นเรียกว่าปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง หรือเรียกว่า ภว หรือ ภพ ความเป็น คือความเป็นเราเป็นของเรา เมื่อฟุ้งซ่านขึ้นมาก็เป็นโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคืองที่เกิดขึ้นในจิตใจ ที่ประทุษร้ายใจเองนี่แหละให้เดือดปุดๆ ให้ร้อน คราวนี้แรงขึ้นมาอีกก็เป็นพยาบาท เป็นอย่างหยาบ แต่ว่ามุ่งร้ายออกไปหมายทำร้ายหมายล้างผลาญใครๆ ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลขึ้นทันที

กิเลสกองโมหะ

ส่วนกองที่ ๓ คือกองอวิชชานั้น ที่เป็นอย่างละเอียดก็เรียกว่าอวิชชา เป็นตะกอนนอนจมดองจิตสันดาน ฟุ้งขึ้นมาก็เป็นโมหะความหลงถือเอาผิดเข้าใจผิด และที่หยาบออกมาอีกก็เป็นมิจฉาทิฏฐิคือเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่นเห็นว่าไม่มีบุญไม่มีบาปเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลขึ้นทันที และทุกคนนั้นเมื่อเกิดมา จิตเข้าปฏิสนธิเกิดมาในภพชาติต่างๆ ซึ่งในบัดนี้เกิดมาในภพชาติปัจจุบันนี้ ก็เป็นจิตที่มีอาสวะมีอนุสัยอยู่แล้วจึงมาเกิด ถ้าไม่มีอาสวะอนุสัยแล้วก็ไม่ต้องมาเกิด แต่ที่มาเกิดก็เพราะมีอาสวะมีอนุสัยอยู่แล้ว และมาอาศัยสังขารคือความผสมปรุงแต่งของรูปกายและของจิต เป็นกระบวนการทางกายเป็นกระบวนการทางจิตดังที่กล่าวมาแล้ว มาถึงเป็นเวทนา เวทนานี้เองก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดราคะโทสะโมหะคืออวิชชาขึ้น อันหมายความว่าเวทนานี้เองก็เป็นปัจจัยให้กิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยที่นอนจมหมักหมมอยู่ฟุ้งขึ้นมา แล้วก็เพิ่มราคะปฏิฆะอวิชชา เพิ่มกิเลสกองละเอียดนี้ให้มากขึ้น แล้วก็เพิ่มอารมณ์เข้าไปเก็บไว้ให้มากขึ้น เป็นไปอยู่ดั่งนี้

อริยสัจ ๒ สาย

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมก็ได้ตรัสรู้สัจจะคือความจริง ดังที่ได้แสดงแล้วว่าทรงได้พระญาณมาโดยลำดับ จนถึงอาสวักขยญาณ ญาณเป็นเหตุสิ้นอาสวะ คือได้ตรัสรู้อริยสัจ ๒ สาย สองสายนั้นก็คือ ตรัสรู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และได้ตรัสรู้ว่า นี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

สำหรับสายที่ ๑ ที่ตรัสรู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้น ได้กล่าวโดยย่อแล้ว ในวันนี้จะกล่าวในข้ออาสวะ ก็คือได้ตรัสรู้ว่านี้อาสวะ คือนี้กามาสวะ อาสวะคือกามที่ดองจิต นี้ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น ตั้งต้นแต่ความเป็นเราเป็นของเราที่ดองจิต นี้อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความรู้ไม่จริงหรือความไม่รู้จริง นี้เหตุเกิดอาสวะ ก็ตรัสชี้เอาตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ก็คือเวทนานั้นเองเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ความดิ้นรนทะยานอยากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดอาสวะ เพิ่มอาสวะให้มากขึ้น ก็ต้องเข้าใจว่าในที่นี้ท่านยกเอาตัณหาขึ้นมา แต่ก็รวมถึงกิเลสที่เป็นกองราคะโทสะโมหะดังกล่าวนั้นด้วย รวมอยู่ในคำว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก นี้ความดับอาสวะก็คือดับตัณหาเสียได้ก็ดับอาสวะได้ ดับตัณหาเสียได้นั้น ในที่อื่นได้ตรัสอธิบายไว้อีกว่าคือดับตัณหานุสัย ตัณหาที่เป็นอนุสัยที่นอนจม หรือที่เป็นตัวอาสวะนั้นแหละ ก็ยกเอาตัณหาขึ้นมา แต่อันที่จริงนั้นก็รวมทั้งอาสวะอนุสัยทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นี้ทางดับอาสวะก็ได้แก่มรรค มีองค์ ๘ อันได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ทั้งสองนี้สงเคราะห์เป็นปัญญาสิกขา นี้เป็นปัญญาสิกขา และสัมมาวาจา เจรจาขอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เป็นสีลสิกขา นี้เป็นสีลสิกขา และสัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ สงเคราะห์เป็นจิตสิกขาหรือสมาธิ นี้เป็นจิตตสิกขาหรือสมาธิ เพราะฉะนั้นทางปฏิบัติที่จะดับกิเลสจนถึงกิเลสที่เป็นชั้นอาสวะอนุสัย ก็คือมรรคมีองค์ ๘ นี้เอง รวมเข้าก็เป็นไตรสิกขา หรือศีล สมาธิ ปัญญา

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 23 ธันวาคม 2553
Last Update : 23 ธันวาคม 2553 9:21:39 น. 0 comments
Counter : 756 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.