Group Blog
 
All Blogs
 
ปฏิปทา ขันติ และวัตถุมงคล ของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

พระญาณวิศิษฏ์ สมิทธิวิจารย์ (หลวงพ่อสิงห์)




ท่านอาจารย์สิงห์เมื่อได้เข้าพบและสมัครตัวเป็นลูกศิษย์ ศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากรรมมัฎฐานจากท่านอาจารย์มั่น ได้แน่วแน่ที่จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมมัฎฐานมิได้หยุดหรือท้อถอย และได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นเดินธุดงค์ปฏิบัติกรรมมัฎฐานไปตามป่าช้า ตามถ้ำ เขาต่างๆ ไปเรื่อยๆ บำเพ็ญเพียรจนเกิดความชำนาญ รู้จักบังคับจิตของตน รู้วาระจิตตนเองและวาระจิตของผู้อื่นด้วย เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงจนเป็นที่ไว้วางใจของท่านอาจารย์มั่น ให้ทำการสอนลูกศิษย์พระเณรแทนในบางโอกาส ท่านอาจารย์มั่นได้มอบหมายให้ท่านอาจารย์สิงห์คอยควบคุมดูแลเณรในการประพฤติปฏิบัติทำสมาธิและเดินจงกรม ปรากฏว่า ท่านไม่ได้เดินตรวจควบคุมแต่อย่างใด ท่านเพียงแต่นั่งทำสมาธิหลับตาตรวจดู แต่ท่านอาจารย์สิงห์ก็สามารถทราบได้ว่า พระเณรองค์ไหนได้ปฏิบัติอย่างไรบ้าง องค์ใดยืน เดิน นั่ง นอนอย่างไร ตลอดไปถึงความนึกคิด ในวันรุ่งขึ้นท่านสามารถรายงานให้ท่านอาจารย์มั่นทราบได้ทุกองค์ และเมื่อสอบถามความจริงพระและเณรทุกองค์ต่างก็ยอมรับว่า เป็นจริงตามที่ท่านอาจารย์สิงห์รายงาน จนเป็นที่เคารพเกรงขามของพระเณรทุกองค์ ไม่กล้ากระทำกิจอันใดที่ผิด เพราะเกรงท่านอาจารย์สิงห์รู้ จนเป็นที่ไว้วางใจของท่านอาจารย์มั่น ได้มอบหน้าที่ให้เป็นผู้อบรมสั่งสอนพระเณรทั้งหมด

ในการสร้างวัดของท่านอาจารย์สิงห์และคณะ บางครั้งก็ถูกขัดขวางจากคนบางกลุ่ม เช่น เมื่อครั้งไปจัดสร้างวัดป่าทรงคุณ บริเวณป่ามะม่วง จังหวัดปราจีนบุรี มีนักเลงโตไม่พอใจ จนถึงจ้างคนมาลอบยิงท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ในป่าช้า แต่คนที่รับจ้างมายิงยกปืนยิงไม่ออก พอจะก้าวเท้าหนีก็ก้าวไม่ออก ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้รู้ว่า ใครเป็นผู้จ้างวาน ท่านจึงได้อบรมสั่งสอนแนะผิดแนะชอบแล้วปล่อยตัวมือปืนไป ตอนเช้าท่านได้ออกบิณฑบาตไปที่บ้านคนที่เป็นคนจ้างมือปืนไปยิงท่าน เมื่อบุคคลทั้งหมดเห็นท่านอาจารย์สิงห์ก็ตกตะลึงยืนนิ่งเป็นใบ้ จนกระทั่งอาจารย์มหาปิ่นซึ่งไปด้วยบอกเตือน ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้คลายอำนาจกระแสจิต คนเหล่านั้นต่างก้มกราบและขออภัยจากท่าน เสร็จแล้วต่างร่วมใจกันสร้างวัดให้เป็นวัดป่าทรงคุณ ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ลุล่วงด้วยดี

ปฏิปทาและขันติของท่านพระอาจารย์สิงห์

ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์สิงห์ได้ปฏิบัตกิจวัตรประจำไม่ได้ขาด ตอนเช้าทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านจะนำคณะออกบิณฑบาตแผ่บุญกุศลแก่ญาติโยม หลังจากนั้นท่านจะทำการอบรมพระภิกษุ สามเณรให้ปฏิบัติกรรมฐานทุกๆ วันมิให้ขาด
ตอนเย็นเมื่อกระทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านจะอบรมธรรมะแก้ปัญหาธรรมที่มีภิกษุสามเณรติดขัดจนเป็นที่เข้าใจ ตอนกลางคืน ท่านจะให้พระภิกษุ สามเณรนั่งสมาธิภาวนาทุกรูป ซึ่งปรากฏว่า ไม่มีใครกล้าหลีกเลี่ยง พอตอนเช้า ท่านก็จะเรียกพระภิกษุ สามเณรที่ไม่ปฏิบัติกรรมฐานมาว่ากล่าวตักเตือน ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายต่างๆ จนเป็นที่ยำเกรงของคณะศิษย์ทุกรูป

ท่านอาจารย์สิงห์ฉันหนเดียว และฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตรตลอดชีวิต ท่านถือผ้าไตรจีวรสามผืนเป็นวัตร
ท่านถือผ้านิสีทนะปูนั่งเป็นวัตร คือ จะนั่ง ณ ที่ใดก็ตาม ท่านต้องปูผ้านิสีทนะของท่านก่อนจึงจะนั่งทับลงไป การปฏิบัติต่างๆ ท่านอาจารย์สิงห์ถือเคร่งครัดมาก
ด้านความเพียร ท่านอาจารย์สิงห์ บางครั้งจะเดินจงกรมตลอดวัน นั่งสมาธิตลอดคืน บางทีท่านจะสั่งลูกศิษย์ คือ พระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รักขิตสีโล ให้ปฏิบัติท่าน โดยท่านจะเข้าสมาบัติเป็นเวลา ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ซึ่งก็หมายความว่าท่านได้อดอาหารเป็นเวลา ๕ – ๗ วันไปด้วย ร่างกายของท่านก็มิได้มีอะไรผิดปรกติ ยังเห็นท่านปฏิบัติกรรมฐานเดินจงกรมทุกวี่วันมิได้ขาด

ครั้งหนึ่ง ตอนที่ท่านอาจารย์สิงห์นอนป่วยอยู่ ท่านพระครูใบฎีกาณรงค์ชัย ได้เข้าเวรรักษาพยาบาลปรนนิบัติท่าน ขณะกำลังนั่งทำงานพัดอยู่ กลดด้ามเหล็ด หนักร่วม ๓๐ กิโลกรัมตกลงมากระแทกหน้าอกของท่านอาจารย์สิงห์เป็นรอยช้ำ แต่ท่านมิได้ปริปากพูดแต่ประการใด เพียงแต่นอนมองทำตาปริบๆ เท่านั้น
และในครั้งเมื่อเกิดการเจ็บป่วยมีทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัส ท่านก็ไม่เคยปริปากบอกใคร เวลาเจ็บป่วยหนักๆ ลุกไม่ขึ้น เมื่อมีแขกมาเยี่ยม ถามว่า ท่านอาจารย์สบายดีหรือ ท่านก็ตอบไปเพียงว่า สบายดีอยู่ ทั้งๆ ที่เจ็บปวดอย่างที่คนธรรมดาสามัญจะทนไม่ได้ ท่านอาจารย์สิงห์เป็นมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้ ช่วงระยะเวลาช่วงหลังของชีวิต ท่านถูกโรคร้ายนี้คุกคามตลอดเวลา เมื่อตอนงานผูกพัทธสีมา วัดป่าสาละวัน ท่านกำลังทำสังฆกรรมในโบสถ์ พอดีกับเวลานั้นโรคมะเร็งของท่านกำเริบเจ็บปวดจนกระดิกตัวไม่ได้ ท่านก็ไม่ยอมปริปากบอกให้ใครรู้ จนเสร็จจากสังฆกรรมเรียบร้อย พระสงฆ์องค์อื่นลุกออกไปเกือบหมดแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้บอกกับพระครูใบฎีกาณรงค์ชัยว่า “ขณะนี้ในท้องของเราไม่ปรกติเสียแล้ว” ท่านพูดเพียงแค่นี้เอง แต่ความไม่ปรกติของท่านนั้น ทำเอาท่านลุกไม่ขึ้น ต้องหามส่งโรงพยาบาลทันที นับเป็นปฏิปทาในด้านความมีขันติของท่านพระอาจารย์สิงห์อย่างยิ่ง
ภายหลังท่านอาจารย์สิงห์ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฏฯ จนถึงเข้าพรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ลูกศิษย์ได้รับท่านมาพักรักษาตัวที่วัดป่าสาละวันตามเจตนาของท่าน ดูเหมือนท่านจะรู้วาระของท่านอย่างแน่ชัด ท่านได้จัดการสั่งสอนศิษย์และภิกษุ สามเณร มอบงานหน้าที่ต่างๆ จนเป็นที่เรียบร้อย จวบวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านก็มรณภาพด้วยอาการสงบ ท่ามกลางลูกศิษย์ที่เฝ้าดูแล ยังความเศร้าสลดต่อลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างยิ่ง วันมรณภาพของท่าน ท่านอาจารย์สิงห์ได้นิมิตบอกมายังพระครูในฎีกาณรงค์ชัย ซึ่งตอนนั้นอยู่ที่วัดป่าทรงคุณ จ.ปราจีนบุรี พระครูใบฎีกาณรงค์ชัย จึงรีบเดินทางมายังวัดป่าสาละวัน แต่ก็มาช้า ปรากฏว่า ท่านอาจารย์สิงห์ได้มรณภาพเสียก่อนแล้วประมาณ ๒ ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์มรณภาพเวลาประมาณ ๑๐.๒๐ น. ซึ่งเป็นการสูญเสียเกจิอาจารย์องค์สำคัญของพระกรรมฐาน ในสายท่านพระอาจารย์มั่น ผู้ที่สำคัญที่สุดทีเดียว

สิ่งมหัศจรรย์

หลังจากที่ท่านมรณภาพ ลูกศิษย์จะนำศพของท่านจากกุฏิลงศาลาไปสรงน้ำ พอเจ้าหน้าที่ยกศพขึ้นจากที่ ฝนก็ตกลงมาอย่างไม่มีเค้าเลย แต่พอวางศพท่านลงถึงพื้นฝนหยุดตกทันที พอหมอนำยามาฉีดกันศพเน่าก็เกิดฉีดไม่เข้าอีก เข็มฉีดยาหักไปสามเล่ม เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาต้องหาดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาและขออนุญาต พอแทงเข็มเข้าก็ยาไม่เดินอีก ต้องจัดหาดอกไม้ขัน ๕ มาบอกกล่าวอีก และเกิดปาฏิหารย์ไม่ต้องเร่งดันเข็ม ยาวิ่งเข้าเองเลย ทำให้ศิษย์ที่อยู่ในบริเวณยกมือท่วมหัวสาธุกันทั่วหน้า เป็นบุญบารมีของท่านอย่างแท้จริง เมื่อตกแต่งศาลาหลังต่ำเสร็จจะนำศพท่านไปสรงน้ำและตั้งศพท่าน พอเจ้าหน้าที่ยกศพท่านขึ้น ฝนก็ตกลงมาอีก แต่พอถึงที่วางศพท่านลง ฝนก็หยุดทันที ยังความแปลกประหลาดใจแกผู้พบเห็นกันทั่วหน้า
เมื่อถึงงานพระราชทานเพลิงศพของท่านอาจารย์สิงห์ก็เช่นกัน พอเจ้าหน้าที่ยกศพของท่านขึ้น ฝนก็เริ่มตกปรอยๆ ได้นำศพของท่านแห่รอบศาลาเมรุสามรอบแล้วนำขึ้นตั้งบนเมรุ พอวางศพท่านลง ฝนก็หยุดตกทันที ในวันพระราชทานเพลิงศพของท่านพระอาจารย์สิงห์ มีผู้คนจากทั่วสารทิศ มีคณะศิษย์ทั้งฆราวาสและสามเณรรวมทั้งภิกษุในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาร่วมชุมนุมกันครบถ้วน จนบริเวณวัดป่าสาละวันแน่นขนัด คับแคบไปหถนัดตา ผู้คนต่างออกปากกล่าวขวัญว่า “ช่างเป็นบุญญาธิการของท่านอาจารย์สิงห์อย่างแท้จริง”


วัตถุมงคล

ประวัติการสร้างวัตถุมงคลของท่านอาจารย์สิงห์ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้สร้างวัตถุมงคลต่างๆ ไว้ดังนี้

พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านอาจารย์สิงห์ได้จัดสร้างเหรียญปางลีลา ด้านหน้าเขียนว่า “ฉลองพระพุทธศาสนา ๒๕๐๐” โดยทำเป็นเหรียญรูปไข่ แบ่งออกเป็นแบบของชายและหญิง สร้างที่วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา

พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านอาจารย์สิงห์ ได้สร้างเหรียญรูปเหมือนของท่าน จัดทำเป็นรูปโดยตัดตามรอยขององค์พระตามรูปนั่งสมาธิของท่านอาจารย์สิงห์ เหรียญรุ่นนี้ตอนสร้าง ท่านอาจารย์สิงห์ได้จัดสั่งให้ทำเป็นเหรียญรูปไข่ แต่คนรับไปทำคือ นายสมศักดิ์ แสงจันทร์ กลับไปสั่งให้ร้านรับทำที่กรุงเทพฯ จัดทำเป็นรูปโดยตัดตามรอยขยักขององค์พระตามรูปท่านั่งสมาธิของท่านอาจารย์สิงห์ เมื่อนำกลับมาส่งมอบให้ท่านปลุกเสก ท่านเห็นเหรียญที่ทำมาท่านบอกว่า “แบบนี้เราไม่ต้องการ เราสั่งให้ทำเหรียญแบบรูปไข่ แบบกลมๆ ไปทำแบบไหนมาให้นำไปฝัง” แต่ท่านก็ได้ปลุกเสกให้ เมื่อท่านปลุกเสกให้แล้วจะนำไปฝังดินทิ้ง แต่ทหารค่ายจักรพงษ์ขอไปแล้วนำไปทดลองยิงปรากฏว่ายิงไม่ออก ยิงครั้งที่สามปืนแตกจนไหม้คนทดลองยิง เป็นเหตุให้คนต่างอยากได้ไว้บูชาประจำตัวกัน พวกลูกศิษย์ลูกหาจึงมาอ้อนวอนให้ท่านนำมาแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของท่าน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๑ โดยนำเหรียญดังกล่าวใส่บาตรไว้ตามแต่ใครจะเอา ให้ทำบุญบูชาไป นับว่าเหรียญรุ่นนี้แปลกกว่าเหรียญอื่นๆ ทำได้สวยงามมาก นับว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกของท่านอาจารย์สิงห์ เหรียญรุ่นนี้ได้จัดสร้างที่วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา และสร้างที่วัดป่าทรงคุณ ปราจีนบุรี มีพระพุทธคุณสูงมาก



เหรียญพระญาณวิศิษฏ์ (สิงห์) หลังยันต์นาเต็ม บล็อคปราจีน



เหรียญพระญาณวิศิษฏ์ (สิงห์) หลังยันต์นาเต็ม บล็อคโคราช



เหรียญบล็อคโคราชและบล็อคปราจีน นั้น ใช้แม่พิมพ์เหรียญเดียวกัน แต่เหรียญบล็อคโคราช นั้น ด้านหน้าเหรียญตรงบริเวณ สันจมูกของท่านจะมีเนื้อเกินออกมา อย่างชัดเจน สันนิษฐานว่า เหรียญบล็อคปราจีน นั้นจะถูกสร้างก่อน เมื่อนำมาใช้ปั๊มสร้างเหรียญออกที่วัดป่าสาละวัน ต่อ แม่พิมพ์ได้ชำรุด จึงเป็นเหตุให้เกิดเนื้อเกิน ดังกล่าวขึ้น



นอกจากนี้เหรียญทั้งสอง ได้ใช้ตัวตัดเหรียญคนละอันกัน สามารถสังเกตุได้อย่างชัดเจน


และท่านอาจารย์สิงห์ ยังได้สร้างวัตถุมงคลของท่านอีกหลายอย่างซึ่งเป็นฝีมือของประชาชนในเขตจังหวัดนครราชสีมา ปราจีนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงอีกเป็นอันมาก



เหรียญเสมาพระญาณวิศิษฏ์ (สิงห์) หลังยันต์ตะกร้อ (ภาพจากเวป ท่าพระจันทร์)

พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านอาจารย์สิงห์ได้จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่าน เป็นแบบตัดริมขยักตามองค์พระอีก ด้านหลังเป็นยันต์หมอมหาวิเศษของท่านเช่นเดิม มีรูปแบบเหมือนเหรียญที่สร้างปี พ.ศ.๒๕๐๑ เนื่องจากนำแม่พิมพ์เก่ามาใช้ อย่างไรก็ดี เหรียญรุ่นนี้ ด้านหน้าเหรียญจะเหมือนเหรียญบล็อคโคราช แต่ด้านหลังของเหรียญ จะปรากฏว่าอักขระยันต์ ที่เหมือนอักษร นา จะไม่ติดชัด ไม่ครบสมบูรณ์ จึงเรียกเหรียญรุ่นนี้ กันว่า บล็อคยันต์นาไม่เต็ม (หรือนาขาด)



เหรียญพระญาณวิศิษฐ์ (สิงห์) หลังยันต์นาไม่เต็ม (ภาพจากเวป ยู อะมิวเลท )
จุดสังเกตุแยกแยะอีกประการหนึ่งคือ เหรียญหลังยันต์นาไม่เต็มนี้ ได้ใช้ตัวตัดแบบตัดริมขยัก เหมือนเหรียญ บล็อคปราจีน ทำให้สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน

และในคราวนี้ได้จัดสร้างล๊อกเกตรูปของท่านด้วยแบ่งเป็นของชาย หญิงแยกกัน ทำแผ่นยันต์หมอมหาวิเศษ และแหวนเงินลงยารูปท่านอาจารย์สิงห์ด้วย



เหรียญรูปไข่ พิมพ์พระประธาน



ล็อคเก็ต หลวงพ่อสิงห์ (ภาพจากเวป ยู อะมิวเลท)



ผ้ายันต์ (ภาพจากเวป ยู อะมิวเลท)

พระชุดนี้สร้างแจกในงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาละวัน จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหรียญและพระรุ่นสุดท้ายของท่านอาจารย์สิงห์ เพราะหลังจากงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาละวันแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ล้มป่วยและมรณภาพในเวลาต่อมา

วัตถุมงคลของท่านอาจารย์สิงห์นั้น เป็นที่นิยม หายาก และมีพระพุทธคุณสูงมาก ผู้ที่มีอยู่ต่างหวงแหน ปัจจุบัน มีผู้ทำปลอม เลียนแบบออกมาหลากหลายฝีมือ ผู้ที่สนใจจะได้ไว้บูชาจึงพึงระมัดระวังในการเช่าหาเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง เกี่ยวกับเหรียญปั๊มที่จัดสร้างเป็นรูปนั่งสมาธิของพระอาจารย์สิงห์นั้น ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้มีการนำแม่พิมพ์เหรียญด้านหน้าชุดนี้มาใช้จัดสร้างเหรียญอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้จัดทำแม่พิมพ์เหรียญด้านหลังใหม่ เรียกกันว่า เหรียญยันต์นกเล็ก




เหรียญปี พ.ศ.๒๕๑๘ นี้ แม้จะจัดสร้างขึ้นหลัง ท่านอาจารยสิงห์ มรณภาพแล้ว แต่ก็ได้รับการพุทธาภิเษก โดยท่านพระอาจารย์ฝั้นและลูกศิษย์พระสายอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสาละวัน นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยม หายากเช่นกัน


อ้างอิงเนื้อความจาก
หนังสือ งานประกวดพระบูชา พระเครื่องและเหรียญคณาจารย์
หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๔

หนังสือชีวประวัติ ปฏิปทาและคำประพันธ์ ของ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
รวบรวมโดย ธีรานันโท
สำนักพิมพ์ ดวงแก้ว

ภาพประกอบเรื่อง (บางส่วน) จาก

//www.thaprachan.com

//www.uamulet.com

ผู้เรียบเรียงและเขียนบทความ ขออนุญาติ นำภาพจากเวปมาเผยแพร่ เพื่อการศึกษาและค้นคว้าเพิ่มเติม สำหรับผู้ศรัทธา และสนใจในปฏิปทา ของท่านพระอาจารย์สิงห์ โดยมิได้หวังผลประโยชน์ตอบแทนแต่อย่างใด และขอขอบคุณทางเวปและท่านเจ้าของภาพไว้ ณ ที่นี้




Create Date : 12 กันยายน 2552
Last Update : 12 กันยายน 2552 15:39:32 น. 9 comments
Counter : 28085 Pageviews.

 
ผมขอรบกวนสอบถามท่านผุ้รู้ เมื่อตอนผมยังเล็กอยู่อายุประมาณ ๘ - ๙ ขวบ ผมมีเหลียนหลวงพ่อสิงห์อยุ่องค์หนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเป็นองค์เดียวกันหรือเปล่า องค์ที่ผมเคยมีเป็นเหลียยรูปสี่เหลียมผืนผ้า ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปนั้ง ด้านหล้งเป็นองค์หลวงพ่อ ตอนนั้นผมยังเล็กมากถูกคนมาหลอกเอาไปทุกวันนี้พยามหา แต่ไม่รู้ว่าเป็นหล่วงพ่อสิงห์วัดไหน ผมจำได้ว่าขนาดผมป่วยยังฉีดยาไม่เข้าเลยครับ เข็มงอหมด หมอต้องถอดพระออกจึงฉีดยาำำได้ ถ้าท่านผู้รู้ รู้ว่าเป็นวัดไหนช่วยตอบด้วยนะครับ ขอบคุณครับ


โดย: อิทธิพล จันทร์สำฤทธิ์ IP: 110.169.14.249 วันที่: 13 กันยายน 2552 เวลา:22:38:39 น.  

 
ขอบพระคุณครับที่ได้อ่านข้อมูลดี ดี.....ขอบคุณมากครับ


โดย: เด็กบางช้าง IP: 202.139.223.18 วันที่: 28 มีนาคม 2553 เวลา:12:08:55 น.  

 


โดย: muansuk (muansuk ) วันที่: 24 มิถุนายน 2553 เวลา:11:14:17 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...




โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 28 มิถุนายน 2553 เวลา:6:27:04 น.  

 
ขอบที่ให้ขอมูล ขอบคุณครับ


โดย: กิจ IP: 115.67.63.33 วันที่: 13 กันยายน 2553 เวลา:11:43:35 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ยามเช้าค่ะ


โดย: Tonkra49 วันที่: 21 ตุลาคม 2553 เวลา:4:34:52 น.  

 
สวัสดีค่ะ มีความสุขมากๆนะค่ะ


โดย: Tonkra49 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:16:11:04 น.  

 
ขอแดงความเสียใจกับศิษยานุศิษย์ของพระราชปราจีนมุณี
วัดป่าทรงคุณ


โดย: ปรีชา รัตนประสิทธิ์ IP: 101.108.48.155 วันที่: 6 มีนาคม 2554 เวลา:20:48:17 น.  

 
โชคของผมที่ได้ล็อคเก็ตรุ่นแรกมาบูชา


โดย: จุมพล ถิระสัตย์ IP: 110.49.233.205 วันที่: 20 มิถุนายน 2555 เวลา:22:10:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.