Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๙ สีลบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



จะแสดงบารมีข้อที่ ๒ คือ สีลบารมี

ศีลเปรียบเหมือนรั้วล้อมมิให้ความชั่วเข้ามา

การทำทานนั้นทั่วๆ ไปอาจเห็นว่าง่ายกว่าการรักษาศีล เพราะเมื่อให้ไปแล้วก็เสร็จกัน ส่วนการรักษาศีลเป็นที่รู้สึกกันโดยมากว่า เหมือนเป็นการสร้างรั้วล้อมตนเอง ศีลยิ่งมากข้อ ก็ยิ่งเหมือนรั้วที่แน่นหนาแข็งแรง และยิ่งมีวงแคบ จะทำอะไรจะไปไหนก็ล้วนแต่มีข้อห้ามทั้งนั้น เมื่อรู้สึกดั่งนี้จึงไม่พอใจจะรักษาศีลปรารถนาที่จะทำอะไรไปข้างหน้าตามความพอใจ มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า ภิกษุรูปหนึ่งรู้สึกว่า วินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มีเป็นอันมาก ไม่อาจที่จะรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ มีความเบื่อหน่ายหมดกำลังใจ พระพุทธเจ้าได้ทรงเรียกภิกษุนั้นไปตรัสถาม ว่าสามารถจะรักษาเพียงข้อหนึ่งได้หรือไม่ ภิกษุนั้นก็กราบทูลว่า ถ้าเพียงข้อเดียวก็สามารถ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ถ้าอย่างนั้นก็รักษาจิตของตน เมื่อสามารถรักษาจิตของตนได้เพียงข้อเดียว ก็สามารถรักษาข้ออื่นๆ ได้ทั้งหมด ภิกษุนั้นได้ปฏิบัติตามพระพุทธโอวาท ก็สิ้นความอึดอัดรำคาญสามารถรักษาพระวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์

อันที่จริงจะเปรียบศีลเหมือนอย่างรั้วล้อมก็ได้ แต่หมายความว่า ล้อมมิให้ความชั่วเข้ามา เหมือนอย่างรั้วล้อมบ้านป้องกันโจรผู้ร้าย และรั้วบ้านนั้นก็มีประตูสำหรับเข้าออก แม้ตัวบ้านเองก็มีประตูหน้าต่าง คนโดยปกติก็เข้าออกทางประตู ถ้าปีนรั้วหรือปีนหน้าต่างเข้าหรือออก ก็เป็นการผิดปกติ ศีลก็เช่นเดียวกัน แม้เป็นข้อห้ามดังศีล ๕ เหมือนอย่างรั้วกั้น แต่นอกจากที่ห้ามไว้นั้นก็อาจทำได้ เท่ากับมีประตูสำหรับเข้าออกอยู่ด้วยบริบูรณ์ เพราะข้อที่พึงทำมีมาก จะแสดงไว้ก็คงไม่หมด จึงแสดงไว้แต่ข้อห้ามที่มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเข้าใจดั่งนี้ ก็จะเข้าใจต่อไปได้ว่า ผู้ที่เว้นจากข้อห้าม ทำในข้อที่ท่านไม่ห้าม เรียกได้ว่าเป็นคนปกติ เหมือนอย่างเข้าออกทางประตูโดยปกติ เป็นอันได้เข้าใจความหมายของศีลโดยตรง

ศีลคือความปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ

ศีลแม้จะมีข้อบัญญัติน้อยหรือมากอย่างไร แต่ก็มีลักษณะเดียวคือ ความปกติ อันหมายถึงปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ แต่เพราะบุคคลมีโลภะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง จึงทำให้ประพฤติผิดปกติ เหตุฉะนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติผิดปกติต่างๆ และได้ทรงบัญญัติข้อที่พึงงดเว้นไว้โดยชัดเจน เมื่อได้ตั้งใจงดเว้นตามพระบัญญัติ ก็ชื่อว่ามีศีลตามที่งดเว้นได้ เมื่อจะตั้งปัญหาว่าอะไรชื่อว่าศีล ก็อาจยกเอาลักษณะใดลักษณะหนึ่งของการปฏิบัติดังกล่าวขึ้นพูดได้ทั้งนั้น เช่นที่แสดงไว้ใน ปฏิสัมภิทามรรค ว่า “เจตนา สีลํ เจตนาชื่อว่าศีล เจตสิกํ สีลํ เจตสิกชื่อว่าศีล สํวโร สีลํ สังวรชื่อว่าศีล อวีติกฺกโม สีลํ ความไม่ล่วงละเมิดชื่อว่าศีล” มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าศีลต้องประกอบด้วยเจตนาวิรัติ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นต้น เจตนานี้แหละชื่อว่าศีล วิรัติ หรือ เวรมณี คือความงดเว้นชื่อว่าเจตสิก เพราะมีในใจ แม้เจตสิกคือวิรัติก็ชื่อว่าศีล เมื่อมีเจตนาและเจตสิกเป็นศีลขึ้น ก็มีความสำรวมระมัดระวังเป็นอันดี แม้ความสำรวมระมัดระวังหรือที่เรียกว่าสังวรนี้ก็ชื่อว่าศีล เมื่อมีความสังวร ก็ย่อมไม่ล่วงละเมิดภัยเวรนั้นๆ แม้อวีติกกมะ ความไม่ล่วงละเมิดก็ชื่อว่าศีล

อนึ่ง ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อันผู้มีศีลสมาทานประพฤติเรียกว่าสิกขาบท แม้สิกขาบทนี้ก็เรียกว่าศีล และก็เรียกว่าศีล ๕ เพราะมี ๕ สิกขาบท ศีล ๘ ก็เพราะมี ๘ สิกขาบทเป็นต้น ผู้ที่สมาทานศีลคือสมาทานสิกขาบทนั้นๆ ดังสมาทานว่า “ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบทคืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์” ดั่งนี้เป็นต้น

ความสงบ ความเป็นปกติ เป็นตัวศีล

การสมาทานสิกขาบทนี้เป็นเบื้องต้นแห่งการนำตนเข้าสู่ศีลด้วยสมาทานวิรัติ เมื่อสมาทานแล้วก็รักษาไว้ด้วยดี ไม่ล่วงละเมิดด้วยความสังวร ประกอบด้วยวิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้น ผู้สมาทานศีลแล้วไม่ล่วงทางกายวาจา ศีลก็ไม่ขาดไม่ทะลุ แต่ถ้ายังคิดล่วงอยู่ หรือยังมีความคะนองกายวาจา ศีลก็ด่างพร้อยไม่บริสุทธิ์ ต่อเมื่อใจไม่คิดล่วงละเมิด และไม่คะนองกาย คะนองวาจา ศีลจึงไม่ด่างพร้อย เป็นศีลบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ผู้มุ่งรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จึงต้องรักษาเจตนาหรือใจให้ประกอบด้วยวิรัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ศีลก็จะเกิดอยู่กับใจ ใจก็จะอยู่กับศีล เป็นใจสงบใจปกติ กายวาจาก็สงบปกติ ดังพระบาลีว่า

สมฺตํ ตสฺส มนํ โหติ สนฺตา วาจา จ กมฺมํ จ
ใจของท่านสงบ วาจาและกรรทางกายก็สงบ


จึงเป็นศีลตลอดกายวาจาใจ ความสงบความเป็นปกตินี้เป็นลักษณะเอกอันเดียวของศีล เป็นตัวศีล

ศีลที่เป็นบารมีในจริยาปิฎก

ศีลตามที่กล่าวมานี้มี ๒ ประเภทก่อน คือ ศีลที่เป็นกรรม กับ ศีลที่เป็นบารมี ศีลที่ปฏิบัติคราวหนึ่งๆ เป็นศีลที่เป็นกรรม เพราะเป็นกิจที่ทำ ศีลที่เป็นกรรมนี้แหละที่เก็บสั่งสมเป็นสันดานแห่งศีลในจิต ก็เป็นศีลที่เป็นบารมี ท่านแสดงว่าพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญ สีลบารมี ทรงรักษาจิตไม่ให้โกรธ รักษาศีลไว้โดยไม่อาลัยแก่ชีวิตและเลือดเนื้อ ตลอดพระชาติเป็นอันมาก จึงได้สำเร็จพระโพธิญาณในที่สุด

ดังที่แสดงไว้ในจริยาปิฎก เล่าเรื่องดิรัจฉานบ้าง มนุษย์บ้าง เทพบ้าง ผู้รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต แม้เป็นเรื่องนิทานชาดกอันอาจเห็นว่าเก่าพ้นสมัย แต่คติของเรื่องก็ยังเป็นเครื่องสอนใจได้ ไม่มีเก่า ซ้ำยังเป็นเครื่องเตือนโดยอ้อมว่า แม้ดิรัจฉานก็ยังเห็นคุณของศีล ไฉนมนุษย์จะไม่เห็นคุณของศีลเล่า ดังเช่นเล่าเรื่องช้าง ชื่อสีลวนาค เลี้ยงมารดา งูมีพิษร้ายชื่อ ภูริทัต กระบือใหญ่เรียกว่า มหิสราช เรื่องหลังนี้เล่าถึงกระบือซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ ถูกวานรชั่วรังแกต่างๆ เช่นแกล้งถ่ายรด แต่ก็อดกลั้นใจไม่ทำร้ายตอบทั้งที่อาจทำได้ โดยเฉพาะเรื่องภูริทัต ที่แสดงไว้ใน ภูริทัตชาดก จัดเป็นชาดกที่แสดงสีลบารมี และจัดเป็นชาติที่สำคัญชาติหนึ่งในทศชาติมีเรื่องโดยย่อว่า นาคชื่อภูริทัต เป็นบุตรของท้าวธตรัฏฐ และนางสมุทรชา ขึ้นจากเมืองบาดาลมารักษาอุโบสถศีลที่ริมฝั่งน้ำยมุนาในเมืองมนุษย์ ถูกพราหมณ์อาลัมพายน์จับไป บังคับให้แสดงแก่ประชาชน ตลอดจนแสดงถวายพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นพระเชษฐาของนางสมุทรชา ต่อมาพี่น้องของภูริทัตติดตามมาช่วยแก้ให้พ้นจากอำนาจของพราหมณ์อาลัมพายน์ได้ ภูริทัตระวังจิตมิให้โกรธและทำร้ายพราหมณ์อาลัมพายน์ ยอมปฏิบัติตามคำสั่งให้แสดงของพราหมณ์อาลัมพายน์ รักษาศีลอยู่ได้ตลอดเวลา

เรื่องมนุษย์เล่าเรื่องกุมารชื่อ ชยทิส พระราชบิดาถูกโปริสาท ซึ่งเป็นมนุษย์กินคน จับพระองค์ไปได้ ในขณะที่เสด็จไปทรงล่าสัตว์ จะปลงพระชนม์เป็นภักษา พระราชาทรงขอผ่อนผันให้ปล่อยพระองค์เพื่อทรงทำกิจบางอย่าง และมอบหมายกิจการทั้งปวงแล้ว พระองค์จะกลับมา โปริสาทจึงปล่อยพระองค์กลับ พระราชกุมารขอพระราชบิดาเสด็จไปหาโปริสาทแทน ทรงรักษาสัจจวาจาสัญญาของพระราชบิดา โปริสาทเห็นความเด็ดเดี่ยวมั่นคง ไม่สะดุ้งสะเทือนของพระราชกุมารก็กลับเป็นฝ่ายสะดุ้งกลัว ไม่กล้าที่จะทำอันตรายได้ ปล่อยพระองค์ไป พระราชกุมารกลับเป็นฝ่ายชักนำให้โปริสาทมีศีลขึ้น

ส่วนเรื่องของเทพ ได้เล่าเรื่องธรรมเทพบุตรกับอธรรมเทพบุตร ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายธรรมเทพบุตร เที่ยวชักชวนมหาชนให้สมาทานกุศลกรรมบถ อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายอธรรมเทพบุตร ชักชวนมหาชนให้มาสมาทานอกุศลกรรมบถ รถของทั้ง ๒ ฝ่ายแล่นส่วนทางมาพบกัน ฝ่ายอธรรมบังคับขู่ให้ฝ่ายธรรมหลีกทาง ถ้าไม่หลีกจะเกิดมหายุทธ ฝ่ายธรรมไม่ปรารถนาจะตอบโต้ด้วยอธรรม จึงเบี่ยงรถหลีกทางให้ด้วยจิตใจอันสงบ ฝ่ายอธรรมก็ตกจมแผ่นดินลงไปในขณะนั้นเอง ชาดกเรื่องนี้เป็นเครื่องสอนว่า ทุกๆ คนเมื่อเกิดความกำเริบขึ้นในจิตเช่นความโกรธ ก็เท่ากันเป็นอธรรมเทพบุตร จะประพฤติบาปอกุศลทุจริตได้ทุกอย่าง ทั้งจักชักชวนคนอื่นให้ประพฤติด้วย แต่เมื่อดับความกำเริบจิตเสียได้ อธรรมในจิตก็จักตกลงไปทันทีทั้งนี้ด้วยวิธีหลีกทางให้คือเอาตัวหลบ ไม่เอาตัวออกรับออกโต้ เช่นเมื่อถูกยั่วโทสะ ก็ไม่เอาตัวออกรับการยั่วนั้น ปล่อยให้เขายั่วไปข้างเดียว ก็จักไม่เกิดโทสะซึ่งเป็นชนวนของการวิวาท การยั่วนั้นก็ไม่บังเกิดผล ต้องเลิกไปเอง เท่ากับฝ่ายอธรรมต้องตกจมแผ่นดิน เรื่องวิวาทที่เกิดด้วยโทสะ ก็เพราะเอาตัวออกรับเผชิญหน้ากันเหมือนอย่างรถวิ่งมาชนกัน เรื่องนี้มีคติสอนใจได้อย่างดี ถึงวิธีปฏิบัติชนะอธรรมด้วยธรรม

เรื่องในชาดกต่างๆ เหล่านี้ แม้จะถือว่าเป็นเพียงนิทานที่นำมาเล่าอ้าง แต่ก็เป็นนิทานที่ให้คติเกี่ยวกับสีลบารมี

สีลบารมี ๓ ชั้น

และสีลบารมีนี้ยังแบ่งออกไปเป็น ๓ ชั้น คือ
สีลบารมี ได้แก่ศีลที่บำเพ็ญ ด้วยรักศีลยิ่งกว่าบุคคลที่รักและทรัพย์สิน ดังภาษิตว่า “ผู้รักษาศีลพึงรักศีล เคารพในศีล เหมือนนกต้อยตีวิตรักษาไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง เหมือนมารดารักษาลูกที่รัก หรือเหมือนคนตาบอดข้างหนึ่งรักษานัยน์ตาอีกข้างหนึ่งที่เหลืออยู่”

สีลอุปบารมี ได้แก่ศีลที่บำเพ็ญ ด้วยรักศีลยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน ดังคำของจัมเปยยกนาคว่า “ร่างกายของเราจงแตกกระจัดกระจายอยู่ในที่นี้ เหมือนแกลบที่เขาโปรยกระจักระจายอยู่ก็ตามที เราจะไม่ทำลายศีล”

สีลปรมัตถบารมี ได้แก่ศีลที่บำเพ็ญด้วยรักศีลยิ่งกว่าชีวิตของตน ดังคำของภูริทัตว่า “ความสละชีวิตของตนเบายิ่งกว่าหญ้าในเรา ความละเมิดศีลสำหรับเราเหมือนพลิกแผ่นดิน” และดังภาษิตว่า “นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะ เมื่อจะรักษาชีวิตพึงสละอวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรมพึงสละทุกอย่าง ทั้งอวัยวะ ทรัพย์และแม้ชีวิต”

อานิสงส์ของศีล

ศีลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพรรณนาอานิสงส์ไว้โดยเอนกปริยาย ดังเช่น คำบอกอานิสงส์ว่า “สีเลน สุคตึ ยนฺติ ไปสู่สุคติเพราะศีล สีเลน โภคสมฺปทา โภคทรัพย์ถึงพร้อมเพราะศีล สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ถึงความดับทุกข์เพราะศีล ตสฺมา สีลํ วิโสธเย เหตุดั่งนั้นสาธุชนพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์”

ศีลให้อานิสงส์ดังกล่าวในปัจจุบัน พึงเห็นได้ในที่ใกล้ที่สุดคือ ในตนเองของทุกๆ คนและในปัจจุบันนี้ คือทุกๆ คนมีความสวัสดี ปราศจากภัยเวร ไม่ถูกทำร้ายร่างกายและชีวิต ไม่ถูกลักทรัพย์เป็นต้น เพราะเหตุที่มีเครื่องคุ้มครองรักษาทางบ้านเมืองบ้าง ทางพระศาสนาบ้าง กล่าวเฉพาะทางพระศาสนาก็คือ ศีล อันได้แก่การงดเว้นจากการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น ในที่ใดคนไม่มีศีลแก่กัน มุ่งแต่จะเบียดเบียนกัน อยู่ในที่นั้นไม่มีความสุข จะประกอบอาชีพอะไรให้เกิดความเจริญไม่ได้ ส่วนในที่ใดคนมีศีลแก่กัน อยู่ในที่นั้น จึงจะมีความสุขความเจริญ สุคติ แปลว่า การไปดี การถึงดี หมายถึงมีความสุขความเจริญ โภคสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยโภคะ หมายถึงมีโภคทรัพย์สมบูรณ์ ผลเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นเพราะคนที่อยู่ด้วยกันมีศีลแก่กัน คือเว้นเบียดเบียนกัน ผลอีกข้อหนึ่งคือความดับทุกข์ร้อนใจจะเห็นได้ง่ายว่าเกิดจากศีล ฉะนั้น เมื่อพิจารณาโดยถ่องแท้แล้วจะเห็นว่า ศีลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่อยู่ร่วมกัน และเป็นสิ่งจำเป็นของทุกๆ คน เพราะก็เป็นผู้หนึ่งๆ บรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกัน แม้โจรผู้ร้ายไม่มีศีลแก่บุคคลอื่น ก็ต้องมีศีลแก่พวกของตนเอง ถ้าไม่ซื่อตรงต่อพวกของตน ทำร้านกันเอง คดโกงกันเอง ก็จะคุมกันอยู่ไม่ได้ แต่บุคคลโดยมากมีความคิดคับแคบ ปรารถนาให้คนอื่นมีศีลแก่ตน คือ ปรารถนาไม่ให้คนอื่นเบียดเบียนตน แต่กลับไม่มีศีลแก่บุคคลอื่น ประพฤติเบียดเบียนเขา

พิจารณาสืบไปอีกชั้นหนึ่งว่า เพราะเหตุไรจึงปรารถนาให้คนอื่นมีศีลแก่ตนก็จะเห็นเหตุผลต่อไปว่า เพราะทุกๆ คนมีความรักตน รักร่างกายและชีวิต รักทรัพย์สมบัติและอื่นๆ ของตน ปรารถนาสุขแก่ตน ไม่ปรารถนาทุกข์ รวมความว่าเมตตาตนเอง ถ้าได้แผ่เมตตานี้ไปแก่บุคคลอื่นใด ก็จะทำให้มีศีลแก่บุคคลนั้น คืองดเว้นจากการเบียดเบียนผู้นั้น เปลี่ยนเป็นเกื้อกูลอนุเคราะห์ เหมือนอย่างมารดาบิดามีศีลแก่บุตรธิดาด้วยอำนาจของเมตตา และเมื่อแผ่ไปในสัตว์ดิรัจฉาน ก็พาให้มีศีล เว้นเบียดเบียนในสัตว์ดิรัจฉาน เหมือนอย่างที่คนมีศีลในสัตว์เลี้ยงด้วยอำนาจของเมตตาเช่นเดียวกัน ผลของศีลที่เกิดจากเมตตานี้ ก็คือความสุขความเจริญของบุคคลผู้รับเมตตา เช่นมารดาบิดามุ่งผลคือความสุขความเจริญของบุตรธิดา เมื่อบุตรธิดามีความสุขความเจริญเต็มที่ มารดาบิดาย่อมจะวางใจเป็นอุเบกขาได้ ชื่อว่าวางความปรารถนาในผลที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น และก็ย่อมมีความสุขเพราะเต็มความปรารถนา ศีลที่เกิดจากเมตตาก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาดูตนเห็นว่า ไม่ได้เบียดเบียนใครให้เดือดร้อนด้วยกายวาจาหรือแม้ด้วยใจ ก็ย่อมจะรู้สึกว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์และมีความสุข ผู้รักษาศีลเมื่อคอยรักษาจิตไม่ให้ปรารถนาผิด ไม่ให้โกรธ อบรมเมตตาจะมีศีลโดยง่าย และจะได้รับอานิสงส์ของศีลโดยฉับพลัน จิตใจเป็นสุคติ มีโภคทรัพย์คือความอิ่มเต็มไม่บกพร่องไม่ทุกข์เดือดร้อน และจะแผ่ออกไปในวงแคบหรือกว้างตามขอบเขตอำนาจของศีล สรุปลงโดยย่อที่สุด คือดับใจไม่ให้กำเริบ ไม่ให้โกรธ ก็จะรักษาศีลได้ และศีลก็จะรักษาผู้มีศีลให้ได้รับอานิสงส์ คือสุคติ การไปดี โภคสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ และ นิพพุติ ความดับทุกข์เดือดร้อน

๒ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 08 กรกฎาคม 2554
Last Update : 8 กรกฎาคม 2554 11:02:59 น. 0 comments
Counter : 1214 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.