Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๘ ความรู้จักอายตนะ ๖

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๑๘ ความรู้จักอายตนะ ๖

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเรื่องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบมาโดยลำดับ เมื่อท่านได้แสดงเถราธิบายจบไปตอนหนึ่ง ๆ ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านว่าจะมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งท่านก็ตอบว่ามี ในวันนี้จึงจะได้แสดงต่อไปถึงคำตอบของท่าน สืบต่อจากที่ได้แสดงมาแล้ว คือท่านได้แสดงว่ามีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีก คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบก็ได้แก่รู้จัก สฬายตนะ อายตนะ ๖ รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ รู้จักความดับอายตนะ ๖ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะ ๖ เมื่อท่านตั้งหัวข้อขึ้น ๔ ข้อดั่งนี้แล้ว ก็ได้แสดงอธิบายขยายความต่อไปว่า

รู้จักสฬายตนะ อายตนะ ๖ ก็คือรู้จักอายตนะภายในทั้ง ๖ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ
รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือรู้จักว่าเพราะนามรูปเกิด อายตนะทั้ง ๖ จึงเกิด อายตนะจึงเกิดเพราะเกิดนามรูป
รู้จักความดับแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือรู้จักความดับแห่งนามรูป
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะทั้ง ๖ ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น

จะได้อธิบายในข้อแรกคือ อายตนะภายในทั้ง ๖

อายตนะ ๖ เป็นวิปัสสนาภูมิ

อันอายตนะนี้เป็นส่วนของอัตภาพนี้ ซึ่งทางพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงยกขึ้นแสดงสั่งสอนไว้เป็นอันมาก เช่นเดียวกับขันธ์ ธาตุ กล่าวคือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้ง ๓ นี้ได้ตรัสแสดงไว้มาก และโดยเฉพาะตรัสแสดงไว้โดยฐานะเป็น วิปัสสนาภูมิ คือภูมิของวิปัสสนา อันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติทางปัญญาคือวิปัสสนาปัญญา ย่อมมีขันธ์ อายตนะ และธาตุเหล่านี้เป็นอารมณ์ คือต้องพิจารณาขันธ์ พิจารณาอายตนะ พิจารณาธาตุ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานจึงต้องอาศัยขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นอารมณ์ เป็นภูมิคือพื้นฐานของวิปัสสนาอันจะทิ้งเสียมิได้ และอายตนะนี้ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า มีอยู่ ๒ อย่างคู่กัน อันได้แก่อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก

อายตนะภายใน นั้นก็ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ
อายตนะภายนอก นั้นก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้องและธรรมะคือเรื่องราว

อายตนะภายในเป็นประตูของจิต

คำว่า อายตนะ นี้แปลว่า ที่ต่อ อันหมายความว่า อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกต่อกัน คือตากับรูปต่อกัน หูกับเสียงต่อกัน จมูกกับกลิ่นต่อกัน ลิ้นกับรสต่อกัน กายกับโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องต่อกัน มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวต่อกัน ฉะนั้น จึงเรียกว่าอายตนะ อีกอย่างหนึ่งต่อกับจิตใจ คือจิตนี้ย่อมรับอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย โดยอาศัยต่อกับอายตนะภายในกับภายนอกเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงมีคำเรียกอายตนะภายในทั้ง ๖ ว่า ทวาร อันแปลว่า ช่องทาง หรือแปลว่า ประตู อันหมายความว่า เป็นช่องทางหรือประตูของจิต ที่จิตออกรับอารมณ์คือเรื่อง

อายตนะภายนอก เรียกว่าอารมณ์ ๖

อันคำว่าอารมณ์นั้นได้แก่เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง ทอดถอนถึง ครุ่นคิดถึง นอนเนื่องถึง หรือว่าสิ่งที่จิตคิด ดำริ หมกมุ่น นอนเนื่องถึง อันสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นรูปโดยตรง ไม่ใช่เป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะและเป็นธรรมะคือเรื่องข้างนอกโดยตรง แต่ว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ ก็แปลว่าเรื่องอีกนั่นแหละ ซึ่งถอดออกมาจากรูปเสียงเป็นต้น เพราะเหตุว่าตัวรูปเสียงเป็นต้นนั้นจะเอาใส่เข้ามาในจิตไม่ได้ เช่นว่าบ้านเรือนที่อาศัยตามองเห็น จะเอาบ้านเรือนจริง ๆ มาใส่ลงไปในจิตไม่ได้ เสียงเป็นต้นก็เหมือนกันจะเอามาใส่เข้าในจิตไม่ได้ สิ่งที่จะเข้าสู่จิตได้จึงเป็นเพียงอารมณ์คือเรื่องของสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น อาจเทียบง่าย ๆ เหมือนอย่างกล้องถ่ายภาพ ถ่ายภาพของบ้านเรือนเป็นต้น ภาพของบ้านเรือนนั้นก็มาติดในกล้องถ่ายภาพ ตัวบ้านเรือนจริง ๆ นั้นหาได้เข้าไปในกล้องถ่ายภาพไม่ สิ่งที่ติดอยู่ในกล้องถ่ายภาพนั้น เป็นภาพของบ้านเรือนเป็นต้นเหล่านั้น ภาพก็คือภาวะความเป็นความมีคือเป็นภาวะไม่ใช่เป็นตัวจริง สิ่งที่ตาเห็นเป็นต้นนั้น ก็เช่นเดียวกันไม่ได้เข้าสู่จิตใจ แต่ว่าภาพคือภาวะของสิ่งเหล่านั้นเข้าสู่จิตใจ ซึ่งเปรียบเหมือนเลนส์สำหรับติดภาพ ภาพที่เข้าสู่จิตใจนั้นคืออารมณ์ที่แปลกันว่าเรื่อง เรื่องที่จิตคิดดำริหมกมุ่นทอดถอนใจถึงต่าง ๆ

ถ้าเป็นเรื่องรูปที่เข้าทางทวารตา ก็เรียกว่า รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป
ถ้าเป็นเรื่องเสียงที่เข้าทางทวารหู ก็เรียกว่า สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง
ถ้าเป็นเรื่องกลิ่นก็เรียกว่า คันธารมณ์ ที่เข้าทางทวารจมูก
ถ้าเป็นเรื่องรสก็เรียกว่า รสารมณ์ ที่เข้าทางชิวหาทวาร ทวารลิ้น
ถ้าเป็นเรื่องโผฏฐัพพะก็เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ
ถ้าเป็นเรื่องธรรมะคือเรื่องราวของสิ่งเหล่านั้นก็เรียกว่า ธรรมารมณ์ อารมณ์ คือเรื่องราวที่เข้าทางมโนทวาร ประตูมโนคือใจ

เพราะฉะนั้น อายตนะภายในทั้ง ๖ จึงเรียกว่า ทวาร ๖ และอายตนะภายนอกจึงเรียกว่า อารมณ์ ๖ อารมณ์ ๖ ก็เข้าทางทวารทั้ง ๖ จิตก็รับอารมณ์ทั้ง ๖ นี้ทางทวารทั้ง ๖ ดังกล่าว

ฉะนั้น เมื่อเรียกว่าทวาร ๖ อันหมายถึงอายตนะภายในทั้ง ๖ อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ก็เรียกว่าอารมณ์ ๖ ทวาร ๖ กับอารมณ์ ๖ จึงคู่กัน แต่เมื่อเรียกว่าอายตนะด้วยกันก็เรียกว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอกเป็นคู่กัน ก็มี ความหมายในภาษาธรรมดั่งนี้เกี่ยวแก่อายตนะภายในทั้ง ๖ นี้ รวมอยู่ในอัตภาพนี้ซึ่งถือว่าเป็น วิบากอายตนะ เช่นเดียวกับที่เรียกว่า วิบากขันธ์ คือเป็นผลของชนกกรรม กรรมที่ให้เกิดมา เช่นเดียวกับขันธ์ และนับว่าเป็น อพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลาง ๆ ไม่ชื่อว่าเป็นกุศล ไม่ชื่อว่าเป็นอกุศล คือหมายความว่า ตัวอายตนะเองไม่ชื่อว่าเป็นกุศลหรือไม่ชื่อว่าเป็นอกุศลเช่นเดียวกับขันธ์เพราะว่าเป็นวิบากคือเป็นผลของกรรมที่ให้เกิดมาดังกล่าว

อินทรีย์คืออายตนะ ๖

และพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ในเรื่องอายตนะนี้เป็นอันมาก ดังเช่นได้ทรงสั่งสอนให้สำรวมอินทรีย์ ๖ คือสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ก็เพราะว่าอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือทวารทั้ง ๖ เหล่านี้ ยังได้ชื่อว่า อินทรีย์ ที่แปลว่าเป็น ใหญ่ อันหมายความว่า ตาเป็นใหญ่ในทางต่อกับรูป หูเป็นใหญ่ในทางต่อกับเสียง จมูกเป็นใหญ่ในทางต่อกับกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในทางต่อกับรส กายเป็นใหญ่ในทางต่อกับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้เป็นใหญ่ในทางรับในทางต่อกับธรรมะคือเรื่องราว กับทั้งเป็นใหญ่ในทางต่อกับรูปคู่กันไปกับตา ต่อกับเสียงคู่กันไปกับหู ต่อกับกลิ่นคู่กันไปกับจมูก ต่อกับรสคู่กันไปกับลิ้น ต่อกับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องคู่กันไปกับกาย คือเป็นใหญ่ในทางต่อคู่กันไปกับอายตนะภายใน ๕ ข้อข้างต้นนั้นด้วย อันหมายความว่าลำพังตาหูจมูกลิ้นกายที่เป็นตัวประสาท คือประสาทตาประสาทหูประสาทจมูกประสาทลิ้นประสาทกาย ทั้ง ๕ นี้อย่างเดียว ต่อกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้ ต้องมีมโนคือใจข้อที่ ๖ นี้เข้าประกอบอยู่อีกด้วยจึงจะต่อได้ ดังที่เคยยกตัวอย่างมาให้ฟังแล้ว เช่นว่าในบัดนี้กำลังแสดงและหูก็กำลังฟัง แต่ว่าต้องมีมโนคือใจตั้งใจที่จะฟังด้วย หูจึงจะได้ยินเสียงที่แสดงนี้ แต่ถ้าใจไม่ตั้งฟังคำที่แสดงนี้ คือส่งใจไปเสียในที่อื่นเมื่อใด หูก็ดับเมื่อนั้น คือว่าฟังไม่ได้ยิน ต่อเมื่อใจกลับมาตั้งอยู่ในเสียงที่แสดงนี้ หูจึงจะไม่ดับฟังได้ยิน นี่ยกตัวอย่างเพียงหู แต่ไม่ใช่เพียงหูอย่างเดียว แม้ตาจมูกลิ้นและกายก็เช่นเดียวกัน มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้ จะต้องตั้งที่จะดูที่จะทราบกลิ่น ทราบรส ที่จะทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องด้วย จึงจะมองเห็น จึงจะทราบกลิ่น ทราบรส จึงจะทราบโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้จึงสำคัญย่อมเป็นใหญ่คู่กันไปกับอินทรีย์ ๕ ข้างต้นด้วย และเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน คือในทางที่จะต่อกับธรรมะคือเรื่องราวด้วย

ทรงสอนให้สำรวมอินทรีย์หรือมีสติ

พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนให้มี อินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ โดยที่เมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น ก็ไม่ยึดถือสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดหรือบางส่วนยินดียินร้าย เพราะเมื่อยึดถือ ความยินดียินร้าย บาปอกุศลธรรมทั้งหลายย่อมไหลเข้าสู่ใจหรือสู่จิต ต่อเมื่อมีความสำรวมอยู่ไม่ยึดถือสิ่งที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นเหล่านั้น ก็ย่อมตกอยู่แค่ตาแค่หูในภายนอกเท่านั้นไม่ไหลเข้าสู่จิตใจ และความสำรวมนี้ก็คือตัวสติ เพราะฉะนั้น สติจึงเป็นเหมือนอย่างนายทวารบาลคือนายประตู เมื่อมีสติอยู่ สตินี้ก็เหมือนอย่างเป็นนายประตูที่จะรับหรือไม่รับบุคคลที่เข้าประตู ถ้าเป็นผู้ร้ายก็ไม่รับให้เข้า ถ้าเป็นผู้ดีเป็นมิตรญาติสหายผู้ที่นำความดีเข้ามาก็รับ สตินี้เองจึงเป็นตัวอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ก็เพราะว่าทวารทั้ง ๖ นี้เป็นทวารทั้งของส่วนดีทั้งของส่วนไม่ดี

อารมณ์ที่เข้ามาทางทวาร ๖ ทำให้ตัณหาฟุ้งขึ้น

ว่าถึงส่วนไม่ดีนั้น ก็ได้แก่ ตัณหานุสัยทั้งหลาย คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน เช่นตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก ที่ดองจิตสันดาน หรือตัณหานุสัยต่าง ๆ ที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นต่าง ๆ ตัณหานุสัยเหล่านี้ย่อมฟุ้งขึ้น ในเมื่อมีอายตนะภายนอกเข้ามากระทบกับอายตนะภายใน หรืออีกชื่อหนึ่งก็เพราะอารมณ์ต่าง ๆ ที่มาทางทวารทั้ง ๖ เหล่านั้น

เมื่อเป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของ ราคะ ราคานุสัย อนุสัยคือราคะก็ฟุ้งขึ้นมาจับอารมณ์เหล่านั้น เกิดราคะ ความติดใจ นันทิ ความเพลิดเพลินยินดีต่าง ๆ
เมื่ออารมณ์เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของ ปฏิฆะ หรือ โทสปฏิฆะ ปฏิฆานุสัย ก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นความขัดเคืองกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้น
เมื่ออารมณ์เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของ โมหะ ความหลง อวิชชานุสัย ก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นความหลงต่าง ๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อดูข้างนอกเข้ามา จึงย่อมปรากฏว่า อายตนะภายในทั้ง ๖ หรือทวารทั้ง ๖ นี้มีเรื่องอยู่เป็นอันมาก ตาก็ต้องการจะดูต่าง ๆ ในสิ่งที่อยากจะดู หูก็อยากจะฟังต่าง ๆ ในสิ่งที่อยากจะฟัง จมูกก็อยากที่จะได้ทราบกลิ่นต่าง ๆ ที่อยากจะได้ ลิ้นก็อยากที่จะได้ทราบรสต่าง ๆ ที่อยากจะทราบ กายก็อยากที่จะถูกต้องสิ่งถูกต้องต่าง ๆ ที่อยากจะถูกต้อง มโนคือใจก็อยากที่จะคิดเรื่องต่าง ๆ ที่อยากจะคิด ก็คืออาศัยกิเลสเหล่านี้ กองราคะโทสะโมหะ หรือว่ากองตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะว่าล้วนแต่ทำให้ใจเกิดดิ้นรนทะยานไปทั้งนั้นซึ่งเป็นลักษณะของตัณหา เพราะฉะนั้น คนในโลกนี้จึงต้อพยายามทำต่าง ๆ ที่จะเสนอสนองความต้องการของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย และของมนะคือใจ ยกตัวอย่างเอาเพียงตาอย่างเดียว รูปที่งดงามต่าง ๆ หรือความงามต่าง ๆ ของรูปจะเป็นรูปกาย หรือว่าเป็นรูปของบ้านเรือนสิ่งต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นความต้องการของตา ที่ต้องการจะดูจะเห็นสิ่งที่เห็นว่าสวยงาม จึงต้องมีการแสวงหา มีการจัดทำ มีการตกแต่ง เพื่อที่จะให้ถูกลูกตาของตน เพื่อที่จะให้ตนเองหรือเพื่อที่จะให้ผู้อื่น ๆ ได้เห็นว่างาม เป็นต้น เพียงแต่เรื่องของลูกตาอย่างเดียวก็ต้องวุ่นวายกันอยู่เป็นอันมาก ยังจะเรื่องของหูของจมูกของลิ้นของกายของใจเองซึ่งเป็นตัวต้นอีกมากมาย เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ ว่ามีสัตว์อยู่ ๖ จำพวก คือว่า

งู ก็มุ่งที่จะเลื้อยไปสู่จอมปลวก
จระเข้ ก็วิ่งไปลงแม่น้ำ
นก ก็บินไปในอากาศ
ไก่ ก็บินไปสู่บ้านที่ตัวอาศัยอยู่
สุนัขจิ้งจอก ก็วิ่งไปสู่ป่าช้าเพื่อที่จะได้กัดกินซากศพ
ลิง ก็วิ่งไปอยู่บนต้นไม้ ฉันใดก็ดี
ตา ก็มุ่งจะดูรูปต่าง ๆ เหมือนอย่างงูที่เลื้อยไปสู่จอมปลวก
หู ก็อยากจะฟังเสียงต่าง ๆ เหมือนอย่างจระเข้ที่วิ่งไปสู่แม่น้ำ
จมูก ก็อยากที่จะทราบกลิ่นต่าง ๆ เหมือนอย่างนกที่บินไปในอากาศ
ลิ้น ก็อยากที่จะได้รสต่าง ๆ เหมือนอย่างไก่ที่บินไปสู่บ้านที่ตัวอาศัย
กาย ก็อยากที่จะถูกต้องสิ่งถูกต้องต่าง ๆ เหมือนอย่างสุนัขจิ้งจอกวิ่งไปสู่ป่าช้าเพื่อที่จะได้กัดกินซากศพ
มโน คือใจก็วิ่งไปในเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนอย่างวานรหรือลิงที่วิ่งหลุกหลิกไปอยู่บนต้นไม้

เพราะฉะนั้น จึงมีสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ ๖ ชนิด วิ่งไปบ้างบินไปบ้างเพ่นพ่านไปทั้งหมดในจิตใจของบุคคลก็เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนอย่างมีสัตว์เหล่านี้ คือเรื่องของตาหูจมูกลิ้นกายใจนี่แหละ วิ่งเพ่นพ่านไปอยู่ อาการที่จิตใจวิ่งเพ่นพ่านไปอยู่ดั่งนี้ ก็คืออาการที่เรียกว่า ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากต่าง ๆ เป็นไปโดยอำนาจของราคะ หรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างหรืออวิชชาบ้าง เป็นต้น

ใช้สติและปัญญากำหนดรู้กระแสของตัณหา

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้มีความสำรวมอินทรีย์ ให้มีสติพร้อมทั้งมีปัญญากำหนดรู้ ว่าอาการที่เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนอย่างบุคคลที่ตกลงไปสู่กระแสน้ำ และก็พอใจเสียด้วยในกระแสน้ำนั้น ๆ พอใจที่จะลอยคอที่จะว่ายน้ำเล่นอยู่ในกระแสน้ำนั้น และก็ตรัสเปรียบเทียบเอาว่า กระแสน้ำที่คนตกลงไปนั้น หรือที่คนกระโดดลงไปนั้น ก็คือกระแสตัณหา คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และอาการที่ชอบใจพอใจสนุกสนานเพลิดเพลินที่จะลอยคอที่จะว่ายเล่นอยู่ในกระแสน้ำนั้น ก็ได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายและใจนี่แหละ ที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า ปิยรูป สาตรูป คือเป็นสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นสิ่งที่สำราญก็เพราะว่าตัณหานั้นก็อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจนี้เอง ไม่ใช่อาศัยอะไรอื่นดังที่กล่าวมาแล้ว และก็พอใจเสียด้วย ทั้งนี้ก็โดยที่ไม่รู้ว่าในกระแสน้ำคือกระแสตัณหาที่ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจสำหรับที่จะวิ่งเพ่นพ่านเพลิดเพลินติดอกติดใจอยู่นั้น เป็นกระแสน้ำอันประกอบด้วยภัยอันตราย โดยที่เมื่อปล่อยให้ลอยไปก็จะยิ่งจมลงไปในห้วงน้ำลึกอันเป็นตัวสังโยชน์ทั้งหลาย อันประกอบด้วยคลื่นอันเป็นตัวโทสะ โกธะ ความโกรธ อุปายาสะ ความคับแค้นใจทั้งหลาย อันประกอบด้วยวังวนได้แก่กามคุณทั้งหลาย อันประกอบด้วยสัตว์ร้ายผีเสื้อน้ำทั้งหลาย อันได้แก่ความที่ติดใจกันอยู่ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของกามเหล่านั้น เป็นบุคคลก็ตามเป็นวัตถุสิ่งของก็ตาม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือน เมื่อได้ฟังเตือนแล้วก็จะได้สติว่ายทวนกระแสเข้าฝั่งได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๙ มกราคม ๒๕๒๘

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 04 มิถุนายน 2555
Last Update : 4 มิถุนายน 2555 11:31:44 น. 1 comments
Counter : 989 Pageviews.

 
สวัสดีวันพระใหญ่ 2600 ปี เปี่ยมบุญ มากความสุข ครับ


โดย: **mp5** วันที่: 4 มิถุนายน 2555 เวลา:12:59:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.