Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๖ อวิชชาโดยสรุป

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๒๖ อวิชชาโดยสรุป

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ในหมวดว่า รู้จักอวิชชา รู้จักเหตุเกิดอวิชชา รู้จักความดับอวิชชา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา และได้มีพระเถราธิบายในข้อ อวิชชา ว่าได้แก่

ไม่หยั่งรู้ในทุกข์
ไม่หยั่งรู้ในเหตุเกิดทุกข์
ไม่หยั่งรู้ในความดับทุกข์
ไม่หยั่งรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์


ได้แสดงอธิบายเพิ่มเติมในที่นี้อีก ๔ ข้อ ๒ นัย ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพระสูตรอื่น คือ

ไม่หยั่งรู้ในอดีต
ไม่หยั่งรู้ในอนาคต
ไม่หยั่งรู้ทั้งในอดีตทั้งในอนาคต
ไม่หยั่งรู้ในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

อีกนัยหนึ่งหรืออีกปริยายหนึ่งว่า
ไม่หยั่งรู้ในเงื่อนต้น
ไม่หยั่งรู้ในเงื่อนปลาย
ไม่หยั่งรู้ทั้งในเงื่อนต้นทั้งในเงื่อนปลาย
ไม่หยั่งรู้ในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น


รวมเข้าจึงเป็นอวิชชา ๘ แต่อวิชชา ๘ นี้ก็มีข้ออริยสัจทั้ง ๔ เป็นหลัก และอีก ๔ ข้อนั้น นัยหนึ่งก็ยกเอาอดีตอนาคตขึ้นแสดง อีกนัยหนึ่งก็ยกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง แต่เมื่อยกเอาอดีตอนาคตขึ้นแสดงก็ไม่ยกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง จึงรวมเป็น ๘ หรือเมื่อยกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดงก็ไม่ยกเอาอดีตหรืออนาคตขึ้นแสดง จึงรวมเป็น ๘

อวิชชาเป็นตัวต้นเดิมของอุปกิเลส

และโดยที่ข้ออวิชชานี้เป็นข้อสำคัญในพระพุทธศาสนา ในปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงสาวขึ้นไปก็ถึงอวิชชา เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงเป็นอันว่าเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญแห่งปัจจัยที่เกิดสืบต่อกันไปโดยลำดับ จนถึงชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น และเราทั้งหลายได้รู้เรื่องอวิชชา ก็โดยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถรู้เรื่องอวิชชาได้ทั้งที่อวิชชานี้ก็มิได้มีอยู่ที่ไหน มีอยู่ในจิตใจของทุก ๆ คนนี้เอง ทุก ๆ คนจะรู้จักหรือไม่รู้จักอวิชชาซึ่งนับว่าเป็นตัวต้นเดิมของกิเลสทั้งหลาย อวิชชาก็คงมีอยู่ และเพราะมีอวิชชาอยู่นี้เอง จึงทำให้จิตนี้ซึ่งเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่องต้องเศร้าหมองไป เพราะอุปกิเลสคือกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาใคร่ครวญคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอวิชชานี้ให้มีความเข้าใจ แม้ว่าจะยังไม่สามารถรู้เจาะแทงไปถึงตัวอวิชชา ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของตนเองได้ ก็ยังเป็นการเริ่มต้นแห่งความรู้ในเรื่องอวิชชานี้ จึงจะได้แสดงอธิบายประมวลกันเข้าอีกครั้งหนึ่ง

อธิบายทบทวนอวิชชาในอริยสัจทั้ง ๔

อวิชชา คือไม่หยั่งรู้ในอริยสัจทั้ง ๔ คือในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้เป็นหลัก และเพื่อที่จะได้แสดงขยายความถึงอริยสัจทั้ง ๔ นี้ สำหรับที่จะได้เป็นทางพิจารณาเพื่อทำความรู้ความเข้าใจ จึงได้มีแสดงต่อไปอีก ๒ นัย ยกเอาอดีตอนาคตขึ้นแสดง หรือว่ายกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง ดั่งที่กล่าวมาแล้ว

อธิบายโดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ไม่หยั่งรู้หรือไม่รู้จักอดีต ก็คือไม่รู้จักสาวหลัง ได้แก่เมื่อประสบผลอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่รู้จักจะสาวไปข้างหลังในอดีตว่าเกิดมาจากเหตุอะไร ดั่งนี้ก็เรียกว่า ไม่รู้จักอดีต ผลที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันจึงเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย ส่วนเหตุในอดีตก็เท่ากับเป็น เงื่อนต้น ที่ตรัสแสดงไว้ในนัยที่ ๒

อีกอย่างหนึ่งเมื่อเริ่มกระทำอะไรอยู่ในปัจจุบันอันนับว่าเป็นส่วนเหตุ ก็ไม่รู้จักที่จะคาดหน้าไปในอนาคต ว่าจะให้เกิดผลต่อไปอย่างไร การที่จับกระทำอะไรอยู่ในปัจจุบันที่เป็นกรรมต่าง ๆ เป็นกายกรรม กรรมทางกาย วจีกรรม กรรมทางวาจา มโนกรรม กรรมทางใจ อันเป็นส่วนเหตุ ก็เท่ากับว่าเป็นเงื่อนต้น ส่วนผลที่จะบังเกิดขึ้นต่อไปก็เท่ากับว่าเป็นเงื่อนปลาย ไม่รู้จักคาดหน้าคือไม่รู้จักหยั่งถึงผลที่จะบังเกิดขึ้นข้างหน้า ดั่งนี้จึงเรียกว่า ไม่รู้จักอนาคต ก็เท่ากับว่า ไม่รู้จักเงื่อนปลาย ที่แสดงไว้ในนัยที่ ๒

และความที่ไม่รู้จักที่จะโยงอดีตและอนาคตเข้าถึงกัน คือไม่หยั่งรู้ถึงเหตุและผล หรือว่าผลและเหตุที่โยงกันอยู่ ก็เรียกว่า ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต หรือว่าไม่รู้จักทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย ดังกล่าวไว้ในนัยที่ ๒

ส่วนที่ ไม่รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นอันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ก็ได้แก่ไม่รู้จักดังที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงเถราธิบายมาโดยลำดับดั่งที่ยกมาแสดงไว้ทีละหมวด

จับตั้งแต่ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ คือความโศก ความรัญจวนคร่ำครวญใจ เป็นต้น ว่ามีเพราะอะไร ก็มีเพราะชาติคือความเกิด
ชาติคือความเกิดมีเพราะอะไร ก็เพราะภพคือความเป็น
ภพมีเพราะอะไร ก็เพราะอุปาทานคือความยึดถือ
อุปาทานมีเพราะอะไร ก็เพราะตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
ตัณหามีเพราะอะไร ก็เพราะเวทนา
เวทนามีเพราะอะไร ก็เพราะผัสสะ ความกระทบ
ผัสสะมีเพราะอะไร ก็เพราะอายตนะ ๖
อายตนะทั้ง ๖ มีเพราะอะไร ก็เพราะนามรูป
นามรูปมีเพราะอะไร ก็เพราะวิญญาณ
วิญญาณมีเพราะอะไร ก็เพราะสังขาร
สังขารมีเพราะอะไร ก็เพราะอวิชชา

รู้จักปฏิจจสมุปบาทหรือลูกโซ่ที่เป็นอริยสัจ ๔

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงอวิชชา อวิชชาจึงเท่ากับเป็นเงื่อนต้น สังขารเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย และสังขารนั้นเองก็ต้องไปเป็นเงื่อนต้น วิญญาณเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย ก็ทยอยกันไปดั่งนี้ จนถึงชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น และก็อาจกล่าวได้ว่าอวิชชานั้นก็เป็นปัจจุบันก่อน และเมื่ออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารอวิชชาก็เท่ากับเป็นอดีต สังขารก็เป็นปัจจุบัน เมื่อสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณสังขารก็เท่ากับเป็นอดีต วิญญาณก็เป็นปัจจุบัน ก็โยงกันไปดั่งนี้ ซึ่งความรู้จักปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้ ก็กล่าวได้ว่าเป็นอริยสัจอย่างละเอียด แต่ละข้อ ๆ นั้นเท่ากับเป็นลูกโซ่อันหนึ่ง ๆ ที่โยงกันไป อวิชชาก็เท่ากับเป็นลูกโซ่อันหนึ่ง สังขารก็เท่ากับเป็นลูกโซ่อีกอันหนึ่งเป็นต้น โยงกันไปอาศัยกันไป และท่านพระสารีบุตรได้มาจับอธิบายลูกโซ่แต่ละลูกโซ่นี้ แจกออกไปเป็น ๔ เป็น ๔ คือลูกโซ่อันหนึ่ง ๆ ก็เท่ากับเป็นอริยสัจ ๔ ไปทุกลูกโซ่ ดังในลูกโซ่ อวิชชา นี้ท่านแจกไปเป็น ๔ ดังที่กล่าวมาข้างต้น คือ

ไม่รู้จักอวิชชา
ไม่รู้จักเหตุเกิดอวิชชา
ไม่รู้จักความดับอวิชชา
ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา


ลูกโซ่อื่น ๆ ถัดไปท่านก็แจกเป็น ๔ เป็น ๔ คือเป็นอริยสัจ ๔ ไปทุกลูกโซ่ ซึ่งเป็นการแสดงอธิบายอย่างละเอียดพิสดาร และในปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนนั้นจบลงแค่อวิชชา แต่ของท่านพระสารีบุตรยังไม่จบ ยังมีต่อไปอีกลูกโซ่หนึ่ง คือว่าในข้อเหตุเกิดอวิชชาที่ท่านชี้เอาว่าได้แก่อาสวะทั้งหลาย แต่เมื่อถึงอาสวะทั้งหลายท่านก็แจกออกไปอีกเป็น ๔ เหมือนกัน แต่ว่าเหตุเกิดอาสวะนั้นคืออะไร ท่านก็ชี้เอาอวิชชา ก็วนกลับมาอีก ก็เป็นอันว่าในพระเถราธิบายนี้มีเพิ่มปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ไปอีกเงื่อนหนึ่งคืออาสวะ ซึ่งจะยังไม่แสดงอธิบายในวันนี้ ก็เพียงแต่กล่าวย่อคำว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นไว้เสียก่อนคราวหนึ่ง

มีไตรลักษณ์เพราะมีกาลเวลา

เพราะฉะนั้น อวิชชา ๘ นี้จึงมีอริยสัจ ๔ เป็นหลัก และอีก ๔ ข้อข้างหลังก็มี ๒ นัยดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็มีความอธิบายที่สัมพันธ์กัน อีก ๔ ข้อ ๒ นัย ข้างหลังนั้นก็เป็นการอธิบายอริยสัจ ๔ นั้นเอง อันเกี่ยวด้วยกาลเวลา เกี่ยวด้วยเงื่อน การจับทำความเข้าใจในอริยสัจ ๔ อาศัยกาลเวลา อาศัยเงื่อน คือพิจารณาอาศัยกาลเวลา อาศัยเงื่อน ย่อมจะทำให้มีความเข้าใจในอริยสัจ ๔ นี้ได้มากขึ้นหรือได้ง่ายขึ้น ข้อที่ควรอธิบายเพิ่มเติมก็คือ กาลเวลานั้นย่อมควบคู่กันไปกับไตรลักษณ์ คือ

อนิจจตา ความไม่เที่ยง หรืออนิจจลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง
ทุกขตา ความเป็นทุกข์ หรือทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์
อนัตตา ความเป็นอนัตตา หรืออนัตตลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าเป็นอนัตตา

ความเป็นไตรลักษณ์ย่อมมี ก็เพราะมีกาลเวลา คือมีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นสังขารขึ้นก็เพราะอาศัยกาลเวลา จึงได้เป็นสังขารขึ้นมาคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อเป็นสังขารขึ้นมาก็ต้องเป็นไตรลักษณ์ คือสังขารนี้เองแสดงตัวออกว่าอนิจจะ ไม่เที่ยงต้องเกิดดับ ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตาบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ มิใช่ตัวเราของเราอย่างแท้จริง เพราะว่ากาลเวลานั้นล่วงไป ๆ อยู่เสมอ ปัจจุบันนั้นเป็นปัจจุบันขึ้นมาแล้วก็เป็นอดีตคือล่วงไป ส่วนที่ยังไม่มาถึงเป็นอนาคต อนาคตก็มาเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบันแล้วก็เป็นอดีต เพราะฉะนั้นมีปัจจุบันก็เพราะมีอนาคต และเพราะมีปัจจุบันจึงมีอดีต

สังขารขึ้นอยู่กับกาลเวลา

กาลเวลาจึงเลื่อนไป ๆ อยู่ทุกขณะไม่มีหยุด สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายซึ่งมีชาติเป็นเบื้องต้น จึงต้องมีชราต้องมีมรณะ ถ้าหากว่ากาลเวลานี้หยุดได้ ไม่เลื่อนไป ๆ ความไม่เที่ยงของสังขารก็ต้องหยุดได้ เช่นเมื่อเกิดเป็นเด็กออกมา กาลเวลาหยุดอยู่เพียงนั้น ก็คงเป็นเด็กอยู่นั่นแหละ หรือว่าเมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว กาลเวลาหยุดอยู่แค่นั้น ก็คงเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่นั่นแหละ เมื่อเป็นคนแก่ กาลเวลาหยุดอยู่แค่นั้น ก็เป็นคนแก่อยู่นั่นแหละ แต่นี่กาลเวลาไม่หยุด กาลเวลาที่มาถึงจำเพาะหน้าเป็นปัจจุบัน ที่ยังไม่มาถึงเป็นอนาคต ที่ล่วงไปก็เป็นอดีต ปัจจุบันนั้นมาจากอนาคต อดีตก็มาจากปัจจุบัน ทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบันไม่มีหยุด เพราะฉะนั้น ความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายความเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลาย จึงไม่มีหยุด คนเราจึงต้องมีอายุ ๑ ขวบ ๒ ขวบ ๓ ขวบ ๔ ขวบ เป็นต้น สมมติว่า ถ้ากาลเวลาหยุดอยู่แค่เมื่ออายุ ๔ ขวบ ก็คง ๔ ขวบอยู่นั่นแหละ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ อายุก็ต้องล่วงไป ๆ จนในที่สุดก็ถึงเวลาที่แตกสลาย ชาติ ชรา มรณะ อันเป็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลายนี้ จึงเป็นไปตามกาลเวลา กาลเวลานี้เองก็เป็นตัวไม่เที่ยงเป็นตัวทุกข์เป็นตัวอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์ทั้งหลายพร้อมทั้งตัวเอง

คือกาลเวลานี้กินผู้ที่เกิดมาคือสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย และกินตัวเองด้วย สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเกิดมาก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กาลเวลาเองก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตากินสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย กินตัวเองด้วยดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ทุก ๆ สิ่งที่ยังขึ้นอยู่แก่กาลเวลา คือเป็น กาลิโก ประกอบด้วยกาลเวลา ย่อมตกอยู่ในทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ทั้งนั้น เป็น สังขาร ทั้งนั้น

ส่วนธรรมชาติที่พ้นจากกาลเวลา จึงจะเป็นวิสังขาร คือไม่ใช่สิ่งผสมปรุงแต่งอันได้แก่นิพพาน อันเป็นอมตธาตุ ธาตุที่ไม่ตาย ทุก ๆ สิ่งที่ขึ้นอยู่แก่กาลเวลานั้น ต้องเกิดแก่ตายทั้งนั้น จะเป็นเทพก็ตามเป็นมนุษย์ก็ตามเป็นพรหมก็ตามขึ้นอยู่แก่กาลเวลา ต้องเกิดแก่ตายทั้งนั้น แต่ธรรมชาติที่อยู่เหนือกาลเวลา เป็น อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเป็น วิสังขาร คือนิพพาน เป็นอมตธาตุ ธาตุที่ไม่ตาย ก็คือเป็นธรรมชาติที่พ้นจากกาลเวลาเป็นอกาลิโก

สัจจธรรมไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ตั้งต้นแต่ธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งตรัสเรียกว่าเป็น

ธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม
ธรรมนิยาม ความกำหนดแน่แห่งธรรม

คือเป็นธรรมชาติธรรมดา ซึ่งเรียกอีกคำหนึ่งว่า ธาตุ ซึ่งแปลว่า ทรงอยู่ ดำรงอยู่ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ธรรม ที่แปลว่า ทรงอยู่ ดำรงอยู่ ดังที่มีตรัสเอาไว้ใน ธรรมนิยามสูตร ว่า

พระตถาคตพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นหรือไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นซึ่งเป็นธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยาม ความกำหนดแน่แห่งธรรม ก็ตั้งอยู่ดำรงอยู่แล้ว อันได้แก่ข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ข้อที่สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ข้อที่สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ข้อที่วิสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตนซึ่งตรัสรวมเรียกว่า ข้อที่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน พระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธาตุนั้นคือ ธรรมฐิติธรรมนิยามนั้นแล้ว จึงได้ตรัสจำแนกแจกแจงแสดงเปิดเผยกระทำให้ตื้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือทั้งสังขารธรรมทั้งวิสังขารธรรมเป็นอนัตตาดั่งนี้

ข้อที่เป็นสัจจะคือความจริง ซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดาดังกล่าวนี้ไม่ขึ้นอยู่แก่กาลเวลาเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เมื่อไร ๆ ก็คงเป็นอยู่อย่างนี้ คือ ข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น

วิสังขารหรือนิพพานอยู่เหนือกาลเวลา

เพราะฉะนั้น สัจจธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงที่เป็นธรรมชาติธรรมดาดั่งนี้จึงเป็นอกาลิโก และจิตนี้เองที่ได้สดับฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ได้ปฏิบัติจนกำจัดอวิชชาได้หมดสิ้น เป็นวิชชาบังเกิดขึ้น วิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งสิ้น ก็บรรลุถึงวิสังขารคือนิพพาน เพราะสิ้นตัณหาทั้งหลาย ก็บรรลุถึงความเป็นอมตธาตุ อมตธรรม ธรรมะที่ไม่ตาย อยู่เหนือกาลเวลา เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา พ้นจากภาวะที่เป็นสังขารซึ่งขึ้นอยู่แก่กาลเวลา ซึ่งตรัสว่าไม่เกิดอีก เพราะความเกิดอีกนั้นก็เกิดเป็นสังขารต้องขึ้นอยู่แก่กาลเวลา เมื่อขึ้นอยู่แก่กาลเวลาก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์เกิดแก่เจ็บตาย เพราะฉะนั้น เกี่ยวแก่กาลเวลานี้ เมื่อทำความเข้าใจให้ดีพร้อมกับเงื่อนทั้งหลายซึ่งอาศัยกันอยู่สัมพันธ์กันอยู่ ย่อมจะทำให้เข้าใจในอริยสัจทั้ง ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ดีขึ้น และสามารถที่จะจับกาลเวลาได้ถูกต้อง

รู้จักที่จะสาวหลัง ในเมื่อประสบผลที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันได้ถูกต้อง
รู้จักที่จะคาดหน้า คือเมื่อกระทำอะไรที่เป็นส่วนเหตุอยู่ในปัจจุบัน ก็จะคาดไปข้างหน้าได้ถูกว่าจะให้เกิดผลอย่างไร

เป็นการจับเงื่อนได้ถูกต้องทั้งในด้านที่เป็นสายทุกข์ทั้งในด้านที่เป็นสายดับทุกข์

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 02 สิงหาคม 2555
Last Update : 2 สิงหาคม 2555 9:39:53 น. 0 comments
Counter : 693 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.