Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๐ ชาดก (ต่อ)

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



สุตตะหรือสูตร

นวังคสัตถุศาสน์ ที่ได้แสดงแล้ว แบ่งเป็น ๙ ก็เป็นการแบ่งลักษณะของพระธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าออกไป โดยลักษณะของถ้อยคำนั้นเอง แต่ว่าส่วนใหญ่นั้น คำที่มีความหมายกว้างที่สุด คลุมอยู่มากที่สุด ก็คือคำว่า สุตตะ หรือ สูตร ในบัดนี้ภาษาไทยเราก็นำเอาคำนี้มาใช้ เช่นว่าหลักสูตรของชั้นเรียน ชั้นการศึกษาต่างๆ และสูตรต่างๆ ของวิชาการต่างๆ เรานำเอาคำนี้มาใช้มาก แม้ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพุทธศาสนานั้น ก็ใช้คำนี้คลุมไปมากที่สุด อย่างพระวินัยทั้งสิ้นก็เรียกว่า สูตร แม้พระ อภิธรรมปิฏก ท่านอาจารย์ที่ท่านเป็นผู้สรุปก็สรุปเข้าในสูตรเหมือนกัน ก็นับว่าเข้าในส่วนหนึ่งของสุตตันตปิฏก และใน สุตตันตปิฏก ทั้งสิ้น ก็รวมเข้าในคำว่าสูตรทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนั้นจึงรวมเข้าได้ในคำว่าสูตรคำเดียว แม้จะแบ่งเป็น ปิฏก ๓ วินัยปิฏก สุตตันตปิฏก อภิธรรมปิฏก ก็นับเข้าในคำว่าสุตตะหรือสูตร เพราะต่างก็เป็นสูตรอันหนึ่งๆ ทั้งนั้น เหมือนอย่างที่ภาษาไทยเราเรียกว่าสูตร เช่นหลักสูตรเป็นต้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อต้องมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา หลักเกณฑ์นั้นก็เป็นสูตร ที่นำมาใช้ในภาษาไทยนั้นก็ตรงกับความหมายเดิมที่ใช้มาแต่เดิม ดังที่สรุป นวังคสัตถุศาสน์ นั้นเข้าในคำว่า สุตตะ หรือ สูตร ได้ทั้งหมด ปิฏก ๓ ก็นับเข้าในสูตรได้ทั้งหมด และก็เป็นสูตรหนึ่งๆ เป็นหลักสูตรอันหนึ่งๆ ที่เมื่อวางเป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นไว้ ก็เป็นสูตรอันหนึ่งๆ

ชาดกอยู่ในหมวดที่เป็นสูตรเล็กน้อย

และชาดกนั้นก็เป็นองค์อันหนึ่งใน นวังคสัตถุศาสน์ ดังที่ได้ปรารภกล่าวแล้วและคำว่าชาดกนี้ ก็มีแสดงไว้ใน สุตตันตปิฏก ในหมวด ขุททกนิกาย คือหมวดที่เป็นสูตรเล็กน้อย เพราะว่าชาดกนั้นมีมากที่ได้กล่าวแล้วว่า ๕๐๐ เศษ และชาดกหนึ่งๆ ก็แสดงไว้ใน สุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย นั้น ตั้งแต่คาถาหนึ่งขึ้นไปจนถึงมากคาถา คาถาหนึ่งนั้นก็หมายถึงว่า เป็นคำที่ประพันธ์ขึ้นเป็นฉันท์บาลี คือเป็นคำร้อยกรอง คาถาหนึ่งมี ๔ บาท และฉันท์ที่ใช้เป็นพื้นเรียกว่า ปัฐยาวัตร บาทหนึ่งมี ๘ คำ ๔ บาทก็เป็นคาถาหนึ่ง เช่น มงคลสูตร ที่สวดกัน อเสวนา จ พาลานํ นี่บาทหนึ่ง ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา บาทหนึ่ง ปูชา จ ปูชนียานํ บาทหนึ่ง เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ บาทหนึ่ง โดยปกตินั้นในการพิมพ์ ๒ บาทก็เป็นหนึ่งบรรทัด ๔ บาทก็เป็น ๒ บรรทัด ก็เป็นคาถาหนึ่ง ชาดก ๕๐๐ กว่าเรื่องนั้น เริ่มตั้งแต่เรื่องหนึ่งมีคาถาเดียว ก็ยาวขึ้นไปๆ มีสองคาถา สามคาถา แล้วจึงมากคาถา แต่ว่าโดยมากนั้นไม่ได้แสดงเรื่องนิทานแสดงไว้แต่ ธัมมีกถา คือถ้อยคำที่เป็นคำสอน เพราะฉะนั้น จึงต้องมีอรรถกถาคือถ้อยคำที่แสดงเนื้อความเล่านิทานของชาดกนั้นๆ

ชาดกเป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์

และชาดกทั้งหมดนี้ก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่แสดงว่าได้มีมาแล้วในอดีตกาลนานไกล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้ทรงอุบัติขึ้น ก็เป็นนิทานแบบนิทานสุภาษิตของอีสปที่เรียนอ่านกันเมื่อเป็นเด็กๆ นั้น ในปัจจุบันนี้การใช้เป็นหลักสูตรเรียนของนักเรียนอย่างนิทานสุภาษิตดังกล่าว ก็มุ่งแสดงเรื่องเล่าเรื่องเป็นนิทาน และในตอนท้ายก็ผูกเป็นภาษิตคำสอนขึ้น มุ่งสอนมากกว่าที่จะมุ่งให้เชื่อในเรื่องที่แสดงเหล่านั้น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า นกกับคนพูดกันได้ อะไรเป็นต้นเหล่านี้ แต่ทางพุทธศาสนานั้น เล่านิทานเป็นนิทานสุภาษิตก็เรียกว่าเป็นชาดก ซึ่งเป็นวิธีสอนอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เพราะเมื่อเล่านิทานแล้ว ก็ลงท้ายด้วยสุภาษิตคือคำสอน อันเรียกว่าธัมมีกถา มุ่งที่คำสอนนั้นเป็นหลักใหญ่ แต่ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ชั้นบาลีนั้น มีแต่คำสุภาษิตคือที่เป็นคำสอน โดยมากไม่มีเรื่องที่เป็นนิทาน เรื่องที่เป็นนิทานนั้นมาแต่งขึ้นในภายหลังโดยมาก สำหรับชาดกที่ประกอบด้วยคาถามากๆ คือเป็นเรื่องแสดงเป็นเรื่องยาวๆ ก็มี อย่างที่ไทยเราเรียกกันว่าพระเจ้าสิบชาติ ที่แสดงถึงว่าพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีในชาตินั้นๆ ๑๐ ชาติที่เป็นชาติใหญ่ๆ มาจนถึงชาติที่เป็นพระเวสสันดรที่เมืองไทยเรานิยมเอามาเทศน์กัน และต่อจากพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรนั้น ก็มาถึงพระชาติสุดท้ายที่มาทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ทรงพระนามว่าสิทธัตถะกุมาร ที่มีแสดงอยู่ในพุทธประวัตินั้น ทั้ง ๑๐ ชาตินี้ได้มีแสดงเรื่องที่เรียกว่าเป็นนิทานไว้เป็นส่วนใหญ่ด้วย แต่นอกจากนั้นแล้วแสดงเรื่องที่เป็นนิทานไว้สั้นๆ ถ้ายิ่งที่มีคาถาน้อยเช่นว่าเรื่องหนึ่งมีคาถาเดียว คือมีแต่คำสุภาษิตข้างท้ายเท่านั้น เรื่องไม่มีนี่มีมาก และก็มาแสดงเป็นยุติไว้ว่า เรื่องที่เป็นชาดกทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่แสดงพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงถือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้างในชาตินั้นๆ ที่เป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นที่คนไทยรู้จักมากก็คือ ฉัททันตชาดก ที่เล่าเรื่องช้างฉัททันต์ พระมักจะนำมาเทศน์ในสมัยก่อนนั้นมาก คนไทยก็รู้จักกันมากมาในสมัยก่อน ในบัดนี้อาจจะไม่ค่อยรู้จักกัน แต่เรื่องพระเวสสันดรนั้นยังรู้จักกันมาก

ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เมื่อตั้งปรารถนาโมกขธรรม

มาถึงพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ท่านเริ่มเป็นพระโพธิสัตว์มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ถ้าจับเอาแต่เพียงในชาติปัจจุบันของพระองค์ คือเมื่อเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา มีพระนามว่าสิตธัทถะราชกุมาร ก็มาปรากฏว่าทรงเริ่มปรารถนา โมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น ตั้งแต่เมื่อได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรเห็นคนแก่คนเจ็บคนตายและสมณะ ที่เรียกว่าเทวทูตทั้ง ๔ จึงทรงพิจารณาน้อมเข้ามาถึงพระองค์ว่า ทุกคนผู้เกิดมาในโลกก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถึงจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระราชาเอกในโลก ที่นับว่าเป็นผู้มียศสูงสุดในโลก ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เพราะฉะนั้น ชีวิตจึงเป็นของไม่ยั่งยืน ทรัพย์ยศเป็นต้นก็เป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เพราะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย และก็ทรงพิจารณาว่า เมื่อมีแก่มีเจ็บมีตาย ก็จะต้องมีธัมมะที่ทำให้ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เหมือนอย่างมีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็มีเย็นคู่กัน จึงทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากแก่เจ็บตาย และก็ทรงเห็นว่า ธรรมดังกล่าวนี้เป็นของลุ่มลึก เมื่อครองชีวิตอยู่ในฆราวาส ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้พบได้ ทรงเห็นสมณะอันเป็นเทวทูตที่ ๔ ก็ได้ทรงพอพระทัยในสมณเพศว่า เป็นเพศที่ตัดกังวลทางโลกได้ทั้งหมด อาจที่จะปฏิบัติแสดงหาโมกขธรรมได้ จึงน้อมพระทัยไปในการบวชเพื่อจะพบโมกขธรรมเรื่องก็น่าจะเริ่มแสดงได้ว่า เป็นพระโพธิสัตว์ตั้งแต่เมื่อตั้งปรารถนาที่จะทรงพบโมกขธรรมนั้น แล้วก็เรื่อยไปจนถึงเสด็จออกทรงผนวช ทรงปฏิบัติแสดงหาโมกขธรรม จนถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

คำว่า บารมี ปรากฏเฉพาะในชาดก

แต่ว่าในพระสูตรที่แสดงพระพุทธประวัติ คือที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธประวัติของพระองค์เอง ในการที่ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ทรงปฏิบัติเพื่อโมกขธรรมต่างๆ จนถึงตรัสรู้นั้น ไม่ได้มีใช้คำว่าบารมี และมาเมื่อทรงแสดงปฐมเทศนา ก็ไม่ได้มีใช้คำว่าบารมี จนถึงพระธรรมเทศนาต่อๆ มาที่เป็นพระสูตรสำคัญๆ ก็ไม่มีคำว่าบารมี พระสูตรที่แสดงไว้เป็นพระสูตรยาวใน ทีฆนิกาย ไม่พบคำว่า บารมี เป็นพระสูตรปานกลางใน มัชฌิมนิกาย พบคำว่าบารมีในบางพระสูตร ในความหมายว่าเลิศ พระสูตรที่ประกอบกันที่เป็น สังยุตตนิกาย พระสูตรที่แสดงธัมมะเป็นข้อๆ ที่เรียกว่า อังคุตตรนิกาย พระสูตรที่เป็นหมวดเล็กน้อยเรียกว่า ขุททกนิกาย มาถึงพระสูตรเล็กต่างๆ นี้แหละ จึงมาแสดงเรื่องชาดกเรื่องบารมีต่างๆ แต่ครั้นเมื่อมามีชาดก รวมเข้าในหมวด ขุททกนิกาย ดังกล่าวนั้น จึงได้มีอรรถกถาแสดงเรื่องราวซึ่งย้อนหลังไปนานไกล ตั้งแต่พระโพธิสัตว์เริ่มขึ้น คือเริ่มทรงเป็นพระโพธิสัตว์และทรงบำเพ็ญบารมีสืบต่อมา

คำว่า บารมี ที่พบในบางพระสูตรในมัชฌิมนิกาย คือ

มหาสกุลุทายิสูตร เล่ม ๑๓ ว่า อภิญฺญาโวสานปารมิปฺปตฺตา บรรลุบารมีที่สุดอภิญญา

สคารวสูตร เล่ม ๑๓ ว่า ทิฎฺฐธมฺมาภิญฺญาวานปารมิปฺปตฺตา บรรลุบารมีที่สุดอภิญญาในธรรมที่เห็นแล้ว (ปัจจุบัน)

อนุปทสูตร เล่ม ๑๔ ว่า วสิปฺปตโต ปารมิปฺปตฺโต อรรถกถาอธิบายว่า วสิปฺปตฺโต คือ จิณฺณวสิตปตฺโต บรรลุความมีวสี (ชำนาญ) ที่ประพฤติแล้ว ปารมิปฺปตฺโต คือ นิปฺผตฺติปตฺโต บรรลุความสำเร็จ

นิธิกัณฑสูตร ขุททกนิกาย เล่ม ๒๕ ว่า
ปฎิสมฺภิทา วิโมกฺขา จ ยา จ สาวกปารมี
ปจฺเจกโพธิ พุทฺธภูมิ สพฺเพเมเตน ลพฺภติ
ปฏิสัมภิทา วิโมกข สาวกบารมี ปัจเจกโพธิ พุทธภูมิ ทั้งหมดได้ด้วยบุญนิธินี้

ในบุคคลปัญญัตติ ในอภิธรรม พบใช้คำว่า สาวกปารมี

๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 02 พฤษภาคม 2554
Last Update : 2 พฤษภาคม 2554 7:36:42 น. 1 comments
Counter : 1011 Pageviews.

 
ทักทายยามเที่ยงจ่ะ หาอะไรทานด้วยนะจ่ะ จะได้มีแรง อิอิ


โดย: ตะวันเจ้าเอย วันที่: 2 พฤษภาคม 2554 เวลา:12:00:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.