freedom อิสระของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

เป็นหมอของตัวเองในการดูแลโรคเบาหวาน

เป็นหมอของตัวเองในการดูแลโรคเบาหวาน

ข้อมูลสื่อ
File Name : 368-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 368
เดือน-ปี : 12/2552
คอลัมน์ : บอกเล่าเก้าสิบ
นักเขียนหมอชาวบ้าน : รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
Tue, 01/12/2552 - 00:00 — somsak

ในวงเสวนาเรื่อง " รู้กัน รู้แก้ โรคเบาหวาน" ที่สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน
พ.ศ.2552 ที่ผ่านมานั้น มีผู้สนใจร่วมเสวนา 10 กว่าคน มี 4 คนที่เริ่มป่วยเป็นเบาหวานและรับการรักษาที่โรงพยาบาลมา 1-2 ปี ล้วนเป็นสตรีในวัยทำงาน มี 3-4 คนที่มีญาติเป็นเบาหวานหรือตรวจพบว่าเป็น "เบาหวานแฝง"

วงสนทนาเล็กๆ นี้มีบรรยากาศของการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเองและสนุกสนาน รวมทั้งได้เสนอประเด็นและเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าไม่อาจเกิดขึ้นง่ายนักในการพบปะพูดคุยกับแพทย์ขณะไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากวงสนทนาในครั้งนี้ พอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่นิยมไปตรวจเช็กสุขภาพ บางคนยอมเสียเงินไปหา "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่มีวิธีการตรวจโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ (ตามคำโฆษณา) ราคาแพง

ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการไปรับบริการตรวจเช็กสุขภาพที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่คิดค่าตรวจแพงเกินเหตุ รวมทั้งรู้สึกว่าแพทย์ไม่ได้ให้บริการครบถ้วนตามสัญญาที่ให้ จึงได้ร้องทุกข์กับหน่วยงานต่างๆ และได้ฟ้องร้องต่อสู้คดีความกับแพทย์ นานเป็นปีจนในที่สุดมีการไกล่เกลี่ยและแพทย์ยอมชดใช้เงินให้

ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่ง บอกว่าไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล พบเป็น "เบาหวานแฝง" แต่เจ้าตัวไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร เมื่อสอบถามดู พบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือด (หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง) 105 มก./ดล. ซึ่งสูงเกินค่าปกติ (ต่ำกว่า 100 มก./ดล.) และยังไม่ถึงขั้นเป็นเบาหวาน (ต้องมีค่าตั้งแต่ 126มก./ดล. ขึ้นไป) ภาษาแพทย์เรียกว่าเป็น "เบาหวานแฝง (pre-diabetes)" คือยังไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่มีความเสี่ยงที่อาจจะกลายเป็นเบาหวานในอนาคต ควรระมัดระวังในการควบคุมน้ำหนักและอาหาร ก็จะปลอดภัย

ตรงนี้สะท้อนว่า ภาษาแพทย์ (ศัพท์แสงวิชาการ) มักเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับชาวบ้าน การสื่อสารจึงควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และควรมีการอธิบายให้ชาวบ้านเกิดความกระจ่าง มิเช่นนั้นย่อมสร้างความสับสนวิตกกังวลให้ชาวบ้าน

2. ผู้เสวนา 4 ท่านที่เป็นเบาหวานล้วนมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน (เป็นตระกูลเบาหวาน) และพบเป็นโรคนี้ประมาณอายุ 35-40 ปี 3 ท่านไม่มีอาการแสดง โดยวินิจฉัยได้จากการตรวจเช็กสุขภาพ 1 ท่านมีอาการปัสสาวะบ่อย และดื่มน้ำบ่อย แต่ก็นึกว่าเป็นนิสัยปกติของตัวเองที่รู้สึกคอแห้งมากกว่าคนอื่น เมื่อตรวจเลือด (จากการไปตรวจเช็กสุขภาพ) ก็พบว่ามีค่าน้ำตาลสูงร่วม 300 มก./ดล. จึงเริ่มรับการรักษา

ทั้ง 4 ท่านไปพบแพทย์ตามนัด (นัดทุก 1-3เดือน) ไม่มีปัญหาค่าใช้จ่าย เนื่องจากใช้สิทธิประกันสังคม
หลังรับการรักษา ส่วนใหญ่ยังมีค่าน้ำตาลสูงเกินเป้าหมายของการควบคุมโรค (คือ ต้องมีค่าระหว่าง 70-130 มก./ดล.) มักจะมีค่า 140-150 มก./ดล.ขึ้นไป ซึ่งทุกคนล้วนยืนยันว่ารู้สึกสบายดี ไม่มีอาการแสดงผิดปกติให้รู้สึก

ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าคุมให้ต่ำกว่า 130 มก./ดล. ตามแพทย์สั่ง ก็มักจะมีอาการอ่อนระโหยโรยแรง ไม่สุขสบาย แต่ถ้าสูงเกิน 140-150 มก./ดล. จะรู้สึกสุขสบายดี (แต่จะมีอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ตรงนี้แหละที่เรียกว่า "ภัยเงียบ" คือเป็นเบาหวานโดยไม่มีอาการ ปล่อยให้น้ำตาลเป็นพิษค่อยๆ บ่อนทำลายอวัยวะต่างๆ อย่างช้าๆ)

3. เวลาไปพบแพทย์ แพทย์มักไม่มีเวลาพูดคุยแนะนำผู้ป่วยจะดูค่าน้ำตาลเป็นหลัก ถ้าพบว่าค่าน้ำตาลสูงก็มักจะขู่ว่า "ระวังเถอะ เดี๋ยวจะตาบอด ไตวาย หัวใจวาย อัมพาต ตัดขา..." ไม่มีเวลาแม้แต่จะสอบถามถึงพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย การทำงาน ความเครียด ความเชื่อ ความรู้สึก การกินยาหรือไม่กินยา

4. ผู้ป่วยรู้ว่าทุกครั้งที่ไปตรวจ แพทย์จะพอใจค่าน้ำตาลที่ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงตั้งใจควบคุมอาหารก่อนแพทย์นัดตรวจ 1-2 วัน ซึ่งทำให้ค่าน้ำตาลลงได้ดี โดยก่อนหน้านั้นเป็นเดือนก็ยังคงกินอาหารตามอำเภอใจ ผู้ป่วยรู้ว่าวิธีนี้ไม่ถูกต้อง เท่ากับหลอกหมอ แต่ก็ทำเพื่อให้คุณหมอพอใจ

5. ผู้ป่วยบางคนจะแอบปรับยาเองตามอำเภอใจ โดยไม่กล้าบอกหมอ (ผู้เสวนาท่านหนึ่งบอกว่า "ขืนบอกไป เดี๋ยวคุณหมอไม่พอใจ ขนาดควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดียังถูกคุณหมอเทศนาดุว่าหนักๆ เอาเลย")
ท่านหนึ่งถูกหมอขู่จนกลัว ตั้งใจควบคุมอาหาร ลดน้ำหนักได้ 3 กก. โดยไม่ยอมกินยาที่หมอสั่งให้ (บอกว่า "ขอพึ่งตนเองก่อน ไม่อยากพึ่งยา ซึ่งถ้ากินแล้วจะต้องกินไปเรื่อยๆ") เวลาไปตรวจน้ำตาลลดดี แพทย์เข้าใจว่าได้ผลจากยาที่ให้ โดยหารู้ไม่ว่าผู้ป่วยไม่ได้กินยา ก็ยังคงสั่งยาเดิมให้ผู้ป่วยทุกครั้ง ผู้ป่วยเก็บยาไว้จนเหลือเฟือ และนำไปเจือจานให้คนอื่นที่จำเป็นต้องใช้

ท่านหนึ่งกินยาแล้วรู้สึกไม่สุขสบาย เข้าใจว่าเป็นผลข้างเคียงจากยา เล่าให้หมอฟัง หมอก็ว่าไม่เกี่ยวกัน จึงปรับลดยาเอง อาการก็ดีขึ้น ก็เลยกินยาน้อยกว่าที่หมอสั่งโดยไม่กล้าบอกหมอ

ข้อ 3-5 นี้ สะท้อนว่า แพทย์กับผู้ป่วยขาดความสัมพันธ์ที่ดี และขาดการสื่อสารกันฉัน "กัลยาณมิตร" ผู้ป่วยจึงมีพฤติกรรม "หลอกหมอ" "ไม่กล้าบอกความจริง"

6. ผู้เสวนาบางท่านมีความสับสนหรือความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา (กลัวว่ากินไปนานๆ ทำให้ไตวาย ทั้งๆ ที่ภาวะนี้เกิดจากตัวโรคเองที่ไม่ได้คุมให้ดีๆ) การใช้สมุนไพรรักษาเบาหวาน (ซึ่งยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าได้ผลจริงและปลอดภัย) รวมทั้งยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคและอันตรายของโรคนี้

7. ข้อสรุปสุดท้ายก่อนสิ้นสุดการเสวนาก็คือ ในการป้องกันและควบคุมโรคจะต้อง "เป็นหมอของตัวเอง" ควบคู่กับการดูแลของแพทย์ คือต้องมีสติปัญญาและวินัยในการดำเนินชีวิต




 

Create Date : 10 เมษายน 2554    
Last Update : 10 เมษายน 2554 12:02:12 น.
Counter : 612 Pageviews.  

แมลงไชชอนจริง หรือ แมลงไชชอนหลอก

แมลงไชชอนจริง หรือ แมลงไชชอนหลอก

ข้อมูลสื่อ
File Name : 377-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 377
เดือน-ปี : 09/2553
คอลัมน์ : ผิวสวย หน้าใส
นักเขียนหมอชาวบ้าน : นพ.ประวิตร พิศาลบุตร
Wed, 01/09/2553 - 00:00 — somsak

ที่ผ่านมาเคยนำเสนอเรื่องความเครียดและผลทางจิตใจอาจก่อโรคผิวหนังสารพัดชนิดไปแล้ว และมีข่าวจากลำปางและชุมพร พบผู้ป่วยโรคประหลาดมีแมลงออกมาจากผิวหนัง ซึ่งในที่สุดสรุปว่าน่าจะเข้าข่ายโรคจิตหลงผิดทางผิวหนัง จึงขอถือโอกาสนี้นำเสนอเรื่องของแมลงหรือปรสิตที่ไชชอนผิวหนังได้จริง และเรื่องของแมลงหรือปรสิตที่ไชชอนหลอกๆ คือไม่มีตัวตนจริงแต่ผู้ป่วยคิดไปเอง


คิดว่ามีแมลงไชชอน แต่จริงๆ ไม่มี
กรณีคิดว่ามีแมลงไชชอน แต่จริงๆ ไม่มี ศัพท์แพทย์เรียกว่า โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง (delusions of parasitosis) ผู้ป่วยโรคนี้จะเล่าว่ารู้สึกมีพยาธิ แมลงไต่ ไชชอน กัดผิวหนัง หรือบินออกจากผิวหนัง มักจะเล่าประวัติอย่างละเอียด รวมทั้งย้ำคิดย้ำทำที่จะแกะตัวพยาธิออก หรือใช้สารพิษฆ่าแมลง สารพิษฆ่าหิด พบบ่อยว่าผิวหนังเป็นแผลจากการกระทำของผู้ป่วยเอง

ผู้ป่วยอาจนำของสะสมที่เป็นผ้าพันแผล เส้นผม เศษผิวหนังที่สะสมในกล่องหรือกระป๋องเล็กๆ มาให้แพทย์ดูด้วย (ภาพที่ ๑) ผิวหนังจะมีรอยแกะเกา ตุ่มนูน หรือแผล




ผู้ป่วยมักไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองมีความหลงผิด เพราะมั่นใจว่ามีความผิดปกติของผิวหนังจริง จึงพบบ่อยว่าผู้ป่วยปฏิเสธรับการตรวจรักษาทางจิตเวช

พบว่ากรณีทำนองนี้เกี่ยวข้องกับการใช้ยาที่ผิดกฎหมาย เช่น ยาบ้า (amphetamines) ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่ กัด หรือต่อย แต่ผู้ป่วยไม่มั่นใจว่าเกิดจากปรสิต เรียกเป็นศัพท์แพทย์ว่า formication

ส่วนผู้ที่ติดโคเคนจะมีภาพหลอน (visual hallucinations) และมีความรู้สึกว่ามีแมลงคลานอยู่ในผิวหนังเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า cocaine bugs หรือ coke bugs

นอกจากโรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนังแล้ว ยังมีโรคจิตหลงผิดทางผิวหนังอื่นๆ อีกคือ
โรคฝังใจว่ามี "เส้นใย" ผุดออกมาจากผิวหนัง (Morgellons disease) ผู้ป่วยเชื่อฝังใจว่ามีเส้นใย หรือวัสดุอื่นๆ ฝัง หรือผุดออกมาจากผิวหนัง ผู้ป่วยโทษว่าต้นเหตุเป็นวัสดุ ไม่ได้เป็นพยาธิเหมือนกรณีแรก

โรค "ฉันไม่สวยไม่หล่อ" หรือ body dysmorphic disorders (BDD) ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ผู้ป่วยกังวลว่ามีความผิดปกติของผิวหนัง หรืออวัยวะไม่ได้สัดส่วน การทำผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งบ่อยครั้งเกินไป การไปพบแพทย์ผิวหนังรักษาหน้า รวมทั้งการสัก การเจาะ การฝังหมุด การผ่าลิ้น ๒ แฉก และการตกแต่งร่างกายถาวรแบบสุดขั้วที่เรียกว่า extreme body modification บางรายที่มีลักษณะหมกหมุ่นครุ่นคิด น่าจะเข้าข่ายเป็นโรคจิตหลงผิดชนิดนี้

ส่วนโรคจิตหลงผิดว่ามี "กลิ่นตัว" (delusions of bromhidrosis) ผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่ามีกลิ่นตัว กลิ่นปาก หรือกลิ่นจากช่องคลอด

สำหรับกรณีผู้ป่วยที่เป็นข่าวนั้น หลังการเฝ้าสังเกตของคณะแพทย์ผู้รักษาไม่พบแมลงบินออกจากผิวหนัง แต่มีแค่แมลงไต่ตอมผิวหนังที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าเป็นแมลงวันขายาว ด้วงมอด คาดว่าแมลงน่าจะมาตอมแผลที่ผิวหนังมากกว่า



แมลงหรือปรสิตไชชอนผิวหนัง
ส่วนกรณีที่แมลงหรือปรสิตไชชอนผิวหนังได้จริงๆ อาจเป็น myiasis คือภาวะที่มีหนอนแมลงวัน (botfly larva) อาศัยอยู่ในคน หรือสัตว์ช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยแมลงเข้าสู่ผิวหนังทางบาดแผลหรือแมลงกัด และไข่ทิ้งไว้ในผิวหนัง เคยมีรายงานทางภาคใต้ของไทย
ตัวอย่างของพยาธิที่ชอนไชออกจากผิวหนังได้จริงอีกตัวคือ dracunculiasis หรือโรค guinea worm พบพยาธิตัวนี้ในทวีปแอฟริกา (ภาพที่ ๒)





ไม่ต้องเป็นห่วงว่านักฟุตบอลคนโปรดที่เพิ่งไปแข่งบอลโลกที่แอฟริกาใต้มาจะติดโรคน่าสยดสยองนี้ เพราะปัจจุบันพยาธิตัวยาวเหยียดนี้พบเฉพาะ ๔ ประเทศของทวีปแอฟริกา (ซูดาน กานา มาลี และเอทิโอเปีย) เท่านั้น

พยาธิอีกตัวที่ไชชอนผิวหนังได้และไม่อยากให้ลืมกันคือพยาธิปากขอ (hookworm) ที่ยังพบบ่อยในบ้านเรา ลักษณะของพยาธิตัวนี้จะไชชอนเข้าสู่ผิวหนังมากกว่าไชออก เมื่อคนถ่ายอุจจาระไข่พยาธิจะออกมากับอุจาระ ไข่จะฟักและเจริญจนเป็นตัวอ่อนระยะที่ ๓ ซึ่งสามารถไชทะลุผ่านผิวหนังที่ง่ามนิ้วเท้ากลับเข้าสู่ร่างกายคนได้ จึงไม่ควรเดินเท้าเปล่า

ที่น่าสนใจอีกกรณีคือ cutaneous larva migrans เกิดจากการไชชอนของตัวอ่อนพยาธิปากขอแต่มักเป็นพยาธิปากขอในสุนัขและแมว ที่ถ่ายมูลไว้บนดินหรือทราย ไข่พยาธิจะฟักเป็นตัวอ่อน เมื่อคนเราสัมผัสดินหรือทรายนั้น ตัวอ่อนของพยาธิจะไชชอนผิวหนังเห็นลักษณะเป็นเส้นคดเคี้ยวตามผิวหนัง

พยาธิที่ไชชอนผิวหนังอีกชนิดที่พบบ่อยในไทยคือ โรคพยาธิตัวจี๊ด ผู้ป่วยมักมีประวัติการกินอาหารดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ส้มฟัก ปลาหรือไก่ย่างที่ไม่สุกพอ ยำกบ อาการคือบวมเคลื่อนที่ ปวดจี๊ดๆ และคัน นอกจากอาการที่ผิวหนังแล้ว พยาธิอาจไชไปอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ เช่น ตา ปอด กระเพาะปัสสาวะ และสมอง

อาจารย์ พล.อ.ต.นพ.ประสพ นิติทัณฑ์ประภาศ ปรมาจารย์ด้านโรคผิวหนังและคณะได้เคยรายงานว่าพยาธิตัวจี๊ดไชชอนจากผิวหนังไปจนถึงกระเพาะปัสสาวะทำให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะเป็นตัวจี๊ด นับเป็นรายงานแรกของโลก

นอกจากนั้น มีรายงานของอาจารย์ นพ.สมพนธ์ บุณยคุปต์ ปรมาจารย์ด้านโรคติดเชื้อและคณะที่พบอาการเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบจากพยาธิตัวจี๊ดไชขึ้นสมอง

สรุปว่า แมลงหรือปรสิตที่ไชชอนผิวหนังมีทั้งที่เป็นจริงๆ และเป็นหลอกๆ คือหลงผิดไปเอง




 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2553 0:45:06 น.
Counter : 603 Pageviews.  

ชัก, ลมบ้าหมู ? Epilepsy

ชัก, ลมบ้าหมู ?
Epilepsy

ลมบ้าหมู เป็นชื่อเรียกในภาษาไทยที่หมายถึง อาการชักของผู้ป่วย ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Epilepsy แต่ในความหมายจริง ๆ ของคำว่าEpilepsy จะหมายถึง ภาวะการชัก (Seizure) ที่เกิดซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง
การชัก เกิดจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าจากเซลล์ประสาทของสมองที่ผิดปกติ โดยการปราศจากการควบคุมที่เหมาะสม สาเหตุของการชักเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ตามหลังการบาดเจ็บที่ศีรษะ การติดเชื้อของสมอง การติดยา สุรา มะเร็งหรือเนื้องอกของสมอง เป็นต้น

กระแสไฟฟ้าที่ถูกปลดปล่อยออกจากแหล่งกำเนิด จะทำให้เซลล์ประสาทสมองที่อยู่ข้างเคียงถูกกระตุ้น มีผลให้อวัยวะของ ร่างกายส่วนที่ถูกควบคุมนั้นมีการทำงานมากเกินปกติ เช่นถ้าเซลล์สมองส่วนนั้นควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนข้างขวา ผู้ป่วยก็จะมีอาการกระตุกที่แขนข้างขวา เมื่อเซลล์สมองที่อยู่ข้างเคียงถูกกระตุ้นต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ จะทำให้มีการชักนั้นลามไปเรื่อย ๆ จากแขนขวา อาจลามไปขาขวา เรื่อยจากนิ้วไป มือ ไปยังแขนหรือขาทั้งท่อน (ตรงกับTermในภาษาอังกฤษที่ว่า Jacksonian epilepsy) ถ้าเซลล์สมองถูกกระตุ้นมากจนไฟฟ้าที่ถูกปลดปล่อยออกมาลามไปยังสมองซีกตรงข้ามจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชักทั้งตัว (Grand mal or Generalized convulsion) และมักจะหมดสติในที่สุด

ในรายที่มีอาการชักทั้งตัว ผู้ป่วยมักจะหมดสติ และมีการหยุดหายใจชั่วขณะในระหว่างการชัก เห็นได้จากริมฝีปาก และ ปลายนิ้วจะเขียวคล้ำ ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่โดยทั่วไปการชักจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นานนัก อาจจะเป็นวินาที หรือ ไม่เกิน 1-2 นาที ในรายที่มีอาการชักอยู่นาน (เกินกว่า 5-10 นาที) หรือที่แพทย์เรียกกันว่า Status epilepticus ผู้ป่วยจะมีอันตรายถึงชีวิต รายแ บบนี้จะเกิดไม่บ่อยนัก แต่เป็นรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาและช่วยชีวิตจากแพทย์โดยตรง มากกว่าที่จะปฐมพยาบาลกันเอง

ระหว่างที่ผู้ป่วยชักทั้งตัว ผู้ป่วยมักจะหมดสติ น้ำลายฟูมปาก เพราะไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ ปัสสาวะอุจจาระอาจจะ ราดเนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดทำงานผิดปกติ บางรายอาจจะกัดฟัน ถ้ามีลิ้นไปอยู่ระหว่างฟันบนและล่าง อาจทำให้ลิ้นขาด ดังนั้นระ หว่างที่ผุ้ป่วยชักทั้งตัวและมีอาการเกร็งกราม กัดฟัน ห้ามเอานิ้วมือไปถ่างฟันออกโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นท่านอาจ จะสูญเสียนิ้วมือได้ ทางที่ดีควรเอาวัสดุที่ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไปนัก มาขัดระหว่างฟันบนและล่างไว้ เพื่อไม่ให้ผุ้ป่วยพลาดไปกัดลิ้นตัวเอง

การรักษาการชักที่ดีที่สุดคือการหาสาเหตุ และกำจัดสาเหตุนั้นออกไป ยกเว้นในรายที่ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รักการควบคุมไม่ให้เกิดอาการชักโดยการฝช้ยาป้องกันการชัก (เมื่อไรก็ตามที่เกิดการชักขึ้นมาแล้ว เราไม่สามารถหยุดอา การนั้นได้ ต้องรอให้ผุ้ป่วยหยุดไปเอง หรือให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อร่างกาย) แพทย์มักจะ ให้ยาป้องกันการชักนานหลายเดือน โดยส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย ระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ และ มาตรวจเพื่อรับยาไปทานอย่างต่อเนื่อง

จำไว้ว่า เมื่อไรที่เกิดการชักทั้งตัว จะทำให้สมองขาดออกซิเจนไปชั่วขณะ อันจะมีผลทำให้เซลล์สมองตายลงไปมากเท่า นั้น ยิ่งยากต่อการควบคุมการชักขึ้นเรื่อย ๆ อีกปัญหาที่พบได้บ่อย คือ ผู้ป่วยมักไม่มารับยาต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าไม่ ชักแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกินยาตามสั่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการชักตามมาภายหลัง และทำให้แพทย์ต้องเริ่มต้นการให้ยาไหม่

ผู้ป่วยที่มีอาการชัก โดยเฉพาะในรายที่ยังอยู่ในระหว่างต้องกินยาควบคุม ควรหลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว และ ควรหลีก เลี่ยงการขับรถหรือการทำงานที่มีความอันตราย ในบางประเทศจะไม่อนุญาติให้ผู้ป่วยมีประวัติการชักทำงานเสี่ยงอันตราย เช่น งานบนที่สูง งานควบคุมเครื่องจักรสำคัญ ๆ หรือแม้แต่การขับรถ ยิ่งในประเทศที่เคร่งครัดเรื่องกฎจราจร จะยึดใบอนุญาติขับขึ่ และถือเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานให้ทราบว่ามี ผู้ป่วยรายใดที่ยังต้องควบคุมการชักเพื่อพักใบอนุญาติขับขี่




 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2553 0:43:09 น.
Counter : 511 Pageviews.  

อัมพฤกษ์, อัมพาตท่อนล่างหลังอุบัติเหตุ? Paralysis

อัมพฤกษ์, อัมพาตท่อนล่างหลังอุบัติเหตุ?
Paralysis
อัมพฤกษ์ (Paresis) เป็นการอ่อนแรงของร่างกายส่วนขาเรื่อยขึ้นมาถึงด้านบน แต่ไม่รวมถึงกล้ามเนื้อแขน
อัมพาต (Paralysis) เป็นอาการที่ร่างกายส่วนขาเรื่อยขึ้นมาถึงด้านบน แต่ไม่รวมแขน ปราศจากแรงใด ๆ ต่าง จากอัมพฤกษ์ตรงที่ อัมพาตนั้นร่างกายส่วนล่างจะไม่มีแรงเลย แต่อัมพฤกษ์จะยังพอมีแรงอยู่บ้าง แต่ไม่เหมือนเดิม

สาเหตุเนื่องมาจากการที่ไขสันหลังหรือเส้นประสาทที่ต่อเนื่องมาจากไขสันหลัง สูญเสียความสามารถในการสั่งงานกล้ามเนื้อให้หดตัวเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหว โดยมากมักเป็นผลตามมาจากอุบัติเหตุ ที่ทำให้มีการกระแทกที่ไขสันหลัง นอกจากนั้นอาจเป็นผลมาจากเนื้องอกไขสันหลัง หมอนรองกระดูกไขสันหลังแตกและกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง เป็นต้น นอกเหนือจากความผิดปกติที่ไขสันหลังแล้ว อาจเป็นความผิดปกติของสมองโดยตรง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

กรณีที่มีความผิดปกติมาจากไขสันหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการชาร่วมด้วย บางรายเป็นเพียงความรู้สึกลดน้อยลง (มักให้ประวัติว่าผิวหนังบริเวณลำตัว และ ขา หนาขึ้น) ในรายที่เป็นมากจะไม่รู้สึกใด ๆ เลย ผู้ป่วยที่มีอาการมากมักจะมีความผิดปกติของระบบขับถ่ายร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ เวลานอนจะพลิกตะแคงตัวเองไม่ได้ หรือ ได้แต่ไม่ถนัด เมื่อมีการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ จะทำให้ผู้ป่วยถ่ายรดที่นอน และนอนกดทับบริเวณก้นกบนาน ๆ ทำให้เกิดแผลกดทับ (Bed sore or Pressure sore) ปัญหาอีกอันคือผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการรับความรู้สึกทางเพศของร่างกาย

ถ้าความผิดปกติเกิดที่ไขสันหลังระดับล่าง (ท่อนอก หรือ เอว, Thorocolumbar) ผู้ป่วยจะมีเพียงการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อท่อนล่าง คือ ลำตัว และ ขา ซึ่งเรียกว่า อัมพฤกษ์/อัมพาตส่วนล่าง (Paresis/Paralysis) แต่ถ้าความผิดปกติเกิดที่ระดับบน (คอ, Cervical) จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนบน คือ แขนอ่อนแรงด้วย ทำให้ผู้ป่วยมีสภาพเป็นอัมพฤกษ์/อัมพาตทั้งตัว (Quadriperesis/Quadriplegia) ซึ่งรุนแรงกว่าแบบแรกมาก เพราะผุ้ป่วยมักมีปัญหาเรื่องการหายใจร่วมด้วย (Respiratory distress) ในรายที่เป็นมาก จะไม่สามารถหายใจได้หลังเกิดเหตุ ทำให้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หรือที่เรียกว่าคอหักตายนั่นเอง

ผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นอัมพาต คือกลุ่มที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ถ้ายังรู้สึกตัวมักจะบ่นเจ็บคอ หรือชาแขนและขา ในรายที่ไม่รู้สึกตัว ต้องถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าสงสัยว่าจะมีไว้ก่อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถ้าได้รับการเคลื่อนย้าย ไม่ถูกต้อง จะทำให้การบาดเจ็บนึ้นรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย




 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2553 1:08:24 น.
Counter : 4288 Pageviews.  

สมองตาย คืออะไร ? (Brain Death)

สมองตาย คืออะไร ? (Brain Death)

เป็นคำที่ญาติผู้ป่วยไม่อยากได้ยินที่สุด และอาจไม่เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร โดยปกติแล้วเวลาจะประกาศว่าผู้ป่วยได้เสียชีวิตแล้ว หรือเวลาเราพูดกันว่าคน ๆ นั้นได้ตายแล้ว คนทั่วไปจะเข้าใจดี ว่า คน ๆ นั้น ไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้นแล้ว (ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร) แต่ในทางการแพทย์ จะมีการตายอีกแบบที่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเต้นของหัวใจ แต่จะอิงกับการทำงานของสมอง โดยถือว่าถ้าสมองไม่ทำงานโดยสิ้นเชิง จะเรียก ว่าสมองตาย และหมายถึงว่าผู้ป่วย หรือ คน ๆ นั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว แม้ว่าหัวใจยังคงเต้นอยู่
โดยธรรมชาติของคนเรา สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด (ไม่ใช่หัวใจ) เห็นได้ว่าในเทคโนโลยียุคปัจจุบันเราสามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้เกือบทั้งตัว มีเพียงแต่สมองเท่านี้นที่เรายังไม่สามารถย้ายสมองจากคน ๆ หนึ่งไปอีกคนได้ สมอง เป็นตัวสั่งงานร่างกายของคนเราทั้งหมด ถ้าปราศจากสมอง อวัยวะอื่นก็ไม่มีความหมาย ( โดยธรรมชาติหัวใจจะ เต้นได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าเราจะนำออกมานอกร่างกาย) การที่แพทย์ลงความเห็นว่าสมองตาย นั่นหมายถึงผู้ป่วยได้เสียชีวิตไปแล้วในทางการแพทย์ ไม่ว่าเราจะให้การรักษาเช่นใดต่อไปก็ไม่มีความหมาย เพราะผู้ป่วยจะไม่มีทางฟื้นขึ้นมาอีก ตามปกติแล้วหลังจากสมองตายไม่นาน อวัยวะอย่างอื่นก็จะค่อย ๆ ลดการทำงานลงและหยุดการ ทำงานในเวลาหลังจากสมองตายไม่นาน

ปัจจุบันเราจะได้ยินคำว่าสมองตายมากขึ้น เพราะผุ้ป่วยที่อยู่ในสภาพสมองตายใหม่ ๆ อวัยวะอย่างอื่นยังทำงานได้ดี ปอดสามารถฟอกอากาศได้ หัวใจสูบฉีดโลหิตได้ ไตล้างของเสียในเลือดได้ ตับยังทำงานอยู่ กระจกตายังไม่ขุ่นมัว ตับอ่อนทำงานตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยที่สมองตาย (ซึ่งได้ตายจากเราไปแล้ว) มีสภาพเหมาะที่จะเป็นผู้บริจาคอวัยวะอย่างอื่นที่ยังปกติดี (Donor) ให้ กับผู้รอคอบการปลูกถ่ายได้ (Recipient) แพทยสภาและสมาคมแพทย์ระบบประสาทจึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการบริจาคอวัยวะ เพื่อป้องกันการซื้อขาย หรือ ทำผิดจรรยาแพทย์

ในต่างประเทศ ที่บัตรประชาชน หรือ ใบขับขี่ จะมีการระบุไว้ว่าเจ้าของบัตรจะยินยอมให้มีการบริจาคอวัยวะได้หรือ ไม่ ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุ และแพทย์ได้พยายามจนสุดความสามารถและอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าสมองตายแล้ว แต่ในทางปฏิบัติแพทย์มักจะสอบถามความยินยอมจากญาติอีกครั้งหนึ่งก่อน ในบ้านเรายังไม่มีการทำแบบนี้ มีแต่ เพียงว่าถ้าต้องการบริจาคอวัยวะ สามารถแจ้งความจำนงไปได้ที่สภากาชาดไทย โดยทำบัตรประจำตัวระบุว่ายินยอม ให้มีการบริจาคอวัยวะในกรณีที่สมองตายไปแล้ว




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2553 17:23:25 น.
Counter : 722 Pageviews.  

1  2  

vapium
Location :
กระบี่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ข้อมูลทั่วไป
อายุ-เพศ 26 male
วันเดือนปีเกิด 13 กุมภาพันธ์ 2527
สถาบันการศึกษา อำมาตย์พานิชนุกูล/มหาวิทยาลัยมหิดล
อาชีพ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ
งานอดิเรก ดูหนัง
ความสนใจ หนัง,การ์ตูน
Friends' blogs
[Add vapium's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.