udotingtong
Group Blog
 
All blogs
 
บทความสงสัยบทที่หนึ่ง

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบันนั้นก้าวหน้าขึ้นจากเมื่อก่อนอย่างมาก หากผู้ศึกษาสนใจทางวิทยาศาสตร์ในแขนงหรือหัวข้อต่างๆ ต้องการวิจัยหรือสืบค้นข้อสงสัยบางอย่างก็มีเทคโนโลยีมากมายที่มารองรับการทดลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบค้นเอกสารทางอินเตอร์เนทหรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูทางวิชาการว่า "Paper" แต่ถึงกระนั้น ด้วยความอยากรู้และสงสัยของผู้เขียน ประกอบกับความสนใจอยู่บ้างก็ได้เกิดความสับสนบางอย่างในใจที่ผู้เขียนขอเรียกว่า ความไม่เชื่อใจ เกิดขึ้นกับข้อมูลทางวิชาการเหล่านี้


โดยปกติ ก่อนข้อมูลเหล่านี้จะได้ออกสู่สายตาสาธารณชนทั่วโลกหรือภาษาทางการเรียกกันว่าการตีพิมพ์นั้น จะมีขั้นตอนมากมายในการคัดกรองข้อมูลทางวิชาการเป็นอย่างดี อันประกอบไปด้วยข้อมูลที่จะตีพิมพ์นั้น ต้องมีความถูกต้อง ชัดเจน มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับอย่างสมเหตุสมผลและหนักแน่นซึ่งสามารถพิสูจน์เป็นข้อเท็จจริงได้ ผ่านการแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากคณะกรรมการกลางที่ถูกแต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ข้อมูลออกมาดูสากลเป็นที่ยอมรับมากที่สุด รวมไปถึงสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ เงินตรา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันอยู่ทั่วไปในวงการวิทยาศาสตร์ว่าการตีพิมพ์เอกสารแต่ละหน้านั้นราคาสูง สูงขนาดที่ "คนธรรมดา" ไม่อยากจะจ่าย


หลังจากเกริ่นนำมานานก็เข้าเรื่องข้อสงสัยของผู้เขียน โดยจะประกอบด้วยอะไรนั้นผู้เขียนจะแจกแจงเป็นหัวข้อย่อย เพื่อง่ายต่อผู้อ่านในการตอบคำถาม ซึ่งผู้อ่านไม่จำเป็นต้องตอบผู้เขียนโดยตรง เพียงตอบในใจก็เพียงพอถ้าอยากตอบ หรือนำไปคิด และเสนอข้อคิดเห็นต่อยอด โต้แย้ง ผู้เขียนเองก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง


  1. โดยปกติแล้ว ผู้เขียนเองก็เคยอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ผ่านการทำการทดลองในห้องทดลองหรือที่เรียกกันคุ้นหูว่าทำ lab นั้นก็เคย และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เคยเห็น "ด้านมืด" มาบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเป็นความผิดพลาดที่ไม่อยากให้เกิดของผู้ทดลองเอง ยกตัวอย่างเช่น การทดลองโดยทั่วไปนั้น ผู้ทดลองก็จะมีการศึกษาในเรื่องที่ตนเองจะทำการทดลองอยู่ก่อนแล้ว แต่กระนั้น เมื่อการทดลองออกมาไม่เป็นดังใจ ไม่ได้ผลดังหวัง ห่างจากมาตรฐานที่ได้ศึกษามา นักวิทยาศาสตร์บางคน อาจจะมีการบิดเบือน "ค่า" การทดลองที่ได้ เพื่อให้ผลการทดลองดูไม่ย่ำแย่จนน่าเกลียด และทำการทดลองในเรื่องอื่นๆ ต่อไป แล้วเอกสารทางวิชาการ ซึ่งจากนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า paper เหล่านั้น ก็มาจากนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผู้ทดลองปกติมีจิตใจแบบเราๆ ท่านๆ นั้น จะไม่มีลูกเล่นในการนำเสนอผลการทดลองลงใน paper บ้างเลยหรือ หากมี แล้วผู้ทดลองรุ่นถัดมา จะเชื่อถืออะไรได้บ้าง

  2. การทดลองบางอย่างที่นำ paper เก่ามาอ้างอิง แต่ความจริงบางอย่างนั้นได้ถูกพิสูจน์มาเป็นเวลานาน และหากการทดลองนั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ณ ปัจจุบัน แล้วผู้อ่านคิดว่า ท่านสามารถเชื่อการทดลองนั้นได้อย่างหมดใจเลยหรือไม่

  3. ก่อนจะผ่านคณะกรรมการแต่ละครั้งก็มีการตรวจสอบแก้ไขกันไม่ใช่น้อย แล้วใครกันล่ะ "กรรมการกลาง" ใครเป็นคนแต่งตั้ง ใครเป็นคนอนุญาตให้คนกลุ่มนั้นมีหน้าที่แต่งตั้ง ถามจริงๆ เถอะ ท่านทั้งหลายได้รู้จัก หรือมีเส้นสายในวงการรู้จัก รู้ชื่อ รู้ประวัติกันหรือไม่ หรือหากสงสัยใคร่รู้ ก็คงต้องใช้เวลาเพื่อหาข้อมูลกันเป็นการใหญ่ แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่คำถามที่ว่า "ใคร" แต่ต้องถามว่า โดยภูมิความรู้ของท่านกรรมการกลางเหล่านั้น ผู้อ่านคิดว่า พวกเขาจะมีความรู้ได้ครบทุกๆ ด้าน จนกระทั่งตรวจ paper ของคนทั่วโลกให้เป็นมาตรฐานได้จริงหรือ หากผู้อ่านคิดว่า กรรมการกลางก็มีหลายคนและความสามารถแตกต่างกันออกไป แล้วท่านผู้อ่านคิดว่า หากท่านเป็นคนทำการทดลองนั้นเอง จะมีใครหรือที่รู้จักการทดลองได้ดีไปมากกว่าตัวท่านผู้ทดลองและสรุปผลนั้น จริงไหม

  4. หากท่านไม่มีเงินทุน แต่ท่านมีความสงสัยและต้องการทำการทดลอง ผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนมิได้ใจร้ายเกินไป หากผู้เขียนจะกล่าวว่า "ฝันนั้นไม่มีวันเป็นจริง" จะพูดว่าทดลองไม่ได้ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว คงจะไม่มีเงินเรียนเลยตั้งแต่แรกจะตรงประเด็นมากกว่า เพราะการจะส่งเสียจนได้เรียนทางวิทยาศาสตร์โดยตรงนั้นต้องใช้เงินพอสมควร หากพอจะมีกำลังทรัพย์ร่ำเรียนมาแต่ไม่มีเงินวิจัย ก็คงต้องตั้งใจเพื่อชิงทุนทั่วไปที่หน่วยงานต่างๆ กำลังแจกหรือให้กู้ยืมอย่างยากลำบากอยู่สักหน่อย ผู้อ่านคิดว่าอย่างไร ผู้เขียนใจร้ายใจดำหรือใจแคบเกินไปบ้างหรือไม่

  5. กล่าวถึงการอ้างอิงทางวิชาการ ผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรหากการทดลองสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอัน ได้รางวัลโนเบล อิกโนเบล หรืออะไรก็แล้วแต่อย่างสวยงาม แล้วผู้ที่นักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นกล่าวอ้างล่ะ พวกเขาได้อะไรบ้าง นอกจากรายชื่อยาวๆ หลังหนังสือของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปแล้วท่านนั้น ผู้อ่านคิดว่า ควรตอบแทนนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกอ้างอิงในการนำข้อมูลที่คิดค้นได้และถูกนำไปใช้ต่อยอดบ้างหรือไม่ อย่างไรถึงจะสมน้ำสมเนื้อกับความพยายามของพวกเขาเหล่านั้น ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า หากพวกเขาเหล่านั้นยังมีชีวิต


สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอจบบทความสงสัยเอาไว้เพียงเท่านี้ก่อน โดยคาดหวังว่าบทความนี้จะไม่สั้นเกินไปจนทำให้ผู้อ่านผิดหวัง ถึงอย่างไรนั้น ผู้เขียนอยากจะตอกย้ำความคิดของผู้อ่านเผื่อจะไปถึงวงการนักวิทยาศาสตร์บ้างว่า ด้านมืด ของนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีเพียงแค่การบิดเบือนความจริงเท่านั้นหรอก หากเพียงแต่ยังมีด้านที่มืดมิด จนผู้เขียนก็ไม่อยากจะกล่าวอ้าง กลัวจะเป็นการป้ายสีต่อนักวิทยาศาสตร์ดีๆ ที่มีอยู่ อย่างที่ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจ ;)





Create Date : 20 มีนาคม 2555
Last Update : 10 เมษายน 2555 19:47:12 น. 1 comments
Counter : 496 Pageviews.

 
เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก ขอเสริมว่าถ้ามีการตีพิมพ์ให้รู้ว่าแบบไหนทำวิจัยแล้วผลไม่ออกก็น่าจะทำให้การวิจัยไปเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลา

เข้ามาให้กำลังใจ รอบทความบทต่อไปนะครับ
*_*


โดย: คุณก็รู้ว่าใคร IP: 202.28.179.5 วันที่: 21 มีนาคม 2555 เวลา:16:12:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

udotingtong
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add udotingtong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.