ชะตาชีวิตลิขิตให้ขีดเส้น 100 วัน 1000 ล้านเส้น บ่(สุด)หน่ายแหน่
 
กฎหมายอาคาร (โดยย่อ) 1.

ทีมา://www.thaiengineering.com/viewnew.php?id=348&&id_cate=34

"กฎหมายควบคุมอาคาร เป็นกฎหมายมหาชน ที่มุ่งรักษาประโยชน์ ความสงบสุข และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนส่วนใหญ่ และสังคม โดยเน้นเรื่องที่เกี่ยวแก่การปลูกสร้างอาคาร "

จากเอกสาร ฯ เผยแพร่ในคราวประชุมใหญ่ทางวิศวกรรม วันที่ 23 มิถุนายน 2545 โดยอนุกรรมการ เฉพาะกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย 2545-2546

1. ทั่วไป

กฎหมายควบคุมอาคาร เป็นกฎหมายมหาชน ที่มุ่งรักษาประโยชน์ ความสงบสุข และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนส่วนใหญ่ และสังคม โดยเน้นเรื่องที่เกี่ยวแก่การปลูกสร้างอาคาร ข้อปฏิบัติของเจ้าของอาคาร การขออนุญาต การใช้งานอาคาร เจ้าพนักงาน อำนาจหน้าที่ คำสั่ง โทษ บทลงโทษ ตลอดจนรายละเอียดอื่น ๆ กฎหมายอาคารปัจจุบัน ได้แก่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และฉบับอื่น ๆ ที่ออกภายหลัง เพื่อเพิ่มเติม แก้ไข) แล้ว ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งออกโดยเจ้าพนักงาน หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ กำกับดูแล เรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวแก่การก่อสร้าง หรือออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร

2. กฎหมายอาคาร
นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวแก่ การออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งานอาคารมากมาย ทั้งโดยตรง และทางอ้อม แบ่งเป็นกลุ่มหลักได้ดังนี้

2.1 กฎหมายควบคุมอาคาร
กฎหมายแม่บทที่เกี่ยวแก่การควบคุมอาคารคือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฉบับที่ 2 และ 3 ในปี พ.ศ. 2535 และ 2543 ตามลำดับ) เป็นกฎหมายมหาชน ที่ว่าด้วยการควบคุมอาคาร มีกฎหมายอีกเป็นจำนวนมากที่ออกโดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เช่นกฎ หรือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย กฎหมายที่ออกโดยองค์กรหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น เช่น ข้อบัญญัติหรือประกาศกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติหรือประกาศของเทศบาลนคร เทศบาล และเมืองพัทยา เป็นต้น ภายใต้พระราชบัญญัตินี้และกฎหมายประกอบอื่น ๆ ทั้งปวง จะกล่าวถึง นิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับอาคารและคำอธิบาย ได้แก่ อาคารประเภทต่างๆ องค์ประกอบของแบบ (แผนผัง แบบแผน รูปด้าน รูปตัด มาตราส่วน) องค์ประกอบของอาคาร และวัสดุ (ฐานราก ผนัง พื้น เสาเข็ม และอื่น ๆ) สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับงานอาคาร (ทาง และทางระบายน้ำสาธารณะ) การปลูกสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนการใช้ ขั้นตอนขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร อาทิเช่น รายการเอกสารและหลักฐาน สถานที่ยื่นขอ และเจ้าพนักงาน ค่าธรรมเนียมขั้นตอนและเวลาพิจารณา ผลพิจารณาและคำสั่ง (อนุญาต คำสั่งแก้ไขฯ) การใช้ใบอนุญาต อายุ และการต่ออายุใบอนุญาต สถาปัตยกรรม ระบบและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวแก่งานอาคาร ได้แก่ ระยะร่น ที่ว่าง ทางสาธารณะ สุขภัณฑ์ น้ำทิ้ง และระบบระบายน้ำ ระบบป้องกันหรือเตือนภัยเพลิงไหม้ การกำจัดสิ่งปฏิกูล อื่น ๆ การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ขออนุญาต หรือ ผิดแผกจากใบอนุญาต คำสั่งเจ้าพนักงานได้แก่ คำสั่งระงับก่อสร้างหรือใช้งานอาคารคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร การละเมิดคำสั่ง โทษ และ อื่น ๆ

กฎหมายสำคัญเฉพาะที่เกี่ยวแก่การคำนวณออกแบบ ก่อสร้าง ใช้หรือดัดแปลงอาคาร เป็นอย่างยิ่ง มีดังนี้
2.1.1 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (พ.ศ. 2522) พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2543) พระราชบัญญัติควบคุมอาคารถือได้ว่าเป็นกฎหมายแม่บทที่เกี่ยวแก่อาคาร ทั้งเรื่องนิยาม คำจำกัดความ เจ้าพนักงาน การบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างอาคาร การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น การอุทธรณ์ นายช่างและนายตรวจ และผู้ตรวจสอบ เขตเพลิงไหม้ เบ็ดเตล็ด บทกำหนดโทษ บทเฉพาะกาล อัตราค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ กล่าวโดยสังเขป พระราชบัญญัตินี้ ครอบคลุมทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานวิศวกรรมที่เกี่ยวแก่อาคาร โดยกำหนดกรอบหรือหลักเกณฑ์กว้าง ๆ รายละเอียดปลีกย่อย กล่าวไว้ในกฎหมายย่อย ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายหลักนี้

2.1.2 กฎกระทรวงมหาดไทยฉบับต่าง ๆ เช่นกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 23 พ.ศ. 2533 เรื่องกำหนดให้อาคารหมายรวมถึงป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ที่ติดหรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะในทางราบน้อยกว่าความสูงของป้าย นั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2535 เรื่องอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 49 พ.ศ.2540 เรื่องการออกแบบต้านแผ่นดินไหว เป็นต้น

2.1.3 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เช่น ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ว่าด้วยนั่งร้าน พ.ศ. 2525 เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น พ.ศ. 2530 เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับการตอกเสาเข็ม พ.ศ. 2531

2.1.4 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องอาคารจอดรถยนต์ พ.ศ. 2521 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522

2.1.5 ประกาศกรุงเทพมหานคร เช่น ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องคำแนะนำเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชั้นฐานรากก่อนได้รับ ใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2531 ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องข้อกำหนดลักษณะแบบของบันไดหนีไฟและทางหนีไฟทางอากาศ พ.ศ. 2532 ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร พ.ศ. 2534

2.2 กฎหมายวิชาชีพ
กฎหมายวิชาชีพ มุ่งเน้นที่จะกำกับดูแลการปฏิบัติวิชาชีพของสถาปนิก และวิศวกรให้เป็นแบบอย่างเดียวกัน เดิมกฎหมายหลักที่เกี่ยวแก่การประกอบวิชาชีพวิศวกร ในประเทศไทยคือ พระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบอาชีพหรือทำงานวิศวกรรมควบคุม จำแนกงานวิศวกรรมควบคุมแขนงต่าง ๆ ลักษณะงาน และประเภทงาน คุณสมบัติของผู้ขอมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ใบอนุญาต ประเภทของใบอนุญาต การเลื่อนชั้น การสั่งพัก หรือถอดถอนใบอนุญาต เจ้าพนักงาน อำนาจหน้าที่ โทษ และบทลงโทษ นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายย่อยที่ออกโดยอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบอีกเป็น จำนวนมาก ตั้วอย่างกฎหมายที่ออกตามความ หรืออาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรมได้แก่ กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2508 เรื่องกำหนดวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2526 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2529 เรื่องมรรยาทแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

ปัจจุบันพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2543 กลายเป็นกฎหมายหลักที่เกี่ยวแก่วิชาชีพวิศวกรรมฉบับใหม่ โดยวิศวกรมีสภาวิชาชีพที่ควบคุมดูแลกันเอง คล้ายคลึงกับวิชาชีพอิสระอื่น ๆ โดยจะมีกฎหมายย่อยที่ออกโดยอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้อีก เป็นลำดับ สถาปนิก และวิศวกรต้องทราบ และปฏิบัติให้ถูกต้อง

2.3 กฎหมายกรรมสิทธิ์ การใช้ประโยชน์ หรือสิ่งปลูกสร้างเกี่ยวเนื่องกับที่ดิน
กฎหมายเหล่านี้ออกโดยเจ้าพนักงาน หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ กำกับดูแล เรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวแก่การกรรมสิทธิ์ การใช้ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างอันเกี่ยวเนื่องกับที่ดิน กิจการสาธารณูปโภค หรือสาธารณูปการ ได้แก่ ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติจัดสรร ที่ดิน พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินฯ กฎหมายที่ออกโดยราชการส่วนท้องถิ่นเช่น ประกาศกรุงเทพมหานครประกาศเมืองพัทยา ประกาศเทศบาลนคร ประกาศเทศบาล เป็นต้น

ประกาศของส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ ประกาศกรมทางหลวง ประกาศการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกาศของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประกาศของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (เช่นเรื่องสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินซึ่งสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องกำหนดเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ พ.ศ. 2517 ระเบียบกรมเจ้าท่า ประกาศกรมทางหลวง ประกาศผู้อำนวยการทางหลวง

2.4 กฎหมายสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับงานอาคาร ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 (เนื้อหาประกอบด้วย วิเคราะห์ศัพท์มลพิษ และแหล่งกำเนิดมลพิษ เจ้าพนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) กฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชัญญัติดังกล่าวได้แก่ประกาศกระทรวงวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กำหนดให้ประเภทของโครงการหรือกิจการตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผน สิ่งแวดล้อม) ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 (กำหนดเพิ่มเติมประเภทของโครงการหรือกิจการตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผน สิ่งแวดล้อม)

ส่วนกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร ในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (กล่าวถึง หลักการและเหตุผล วิเคราะห์ศัพท์ พนักงานเจ้าหน้าที่ การอนุรักษ์พลังงานในอาคาร หรือโรงงาน หน้าที่ของเจ้าของอาคารควบคุม การอนุรักษ์พลังงานในเครื่องจักร อุปกรณ์ และส่งเสริมการใช้วัสดุเพื่ออนุรักษ์พลังงาน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาตรการส่งเสริม และช่วยเหลือ ค่าธรรมเนียม การอุทธรณ์ บทกำหนดโทษ)

นอกจากนั้นยังมีกฎหมายที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริมการ อนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม พ.ศ. 2538 พระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุม พ.ศ. 2540 กฎกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2538 กฎกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2538 เรื่องการใช้พลังงานในอาคาร กฎกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2538 กฏกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 5 พ.ศ.2540 กฎกระทรวง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 6 พ.ศ.2540 ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2539 เรื่อง วิธีการจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานของอาคารควบคุม และสาระสำคัญ ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2539 เรื่อง ค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนของวัสดุ ค่าความต้านทานความร้อนของฟิล์มอากาศ ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2539 เรื่อง หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคารควบคุม พ.ศ. 2539 ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานควบคุม พ.ศ. 2539 เป็นต้น4.2.3 กฎหมายมหาชน และ กฎหมายเอกชนอื่น ๆ

ตัวอย่างกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชนอื่น ๆ ได้แก่ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง ซึ่งวิศวกรอาจต้องรับผิด อันเป็นผลเนื่องมาจากการกระทำที่เป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมายดังกล่าวซึ่ง หลายกรณีมักจะเป็นความที่มีผลสืบเนื่องจากกฎหมายวิชาชีพ หรือ เป็นความผิดในกฎหมายวิชาชีพด้วย อาทิเช่น ความผิดต่อประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 226, 227, 229, 238 และ 239 ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย มาตรา 291, 300, 368, 375, 380, 385-387, 389 และ 390 ความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการละเมิด มาตรา 420, 428, 434, และ 435 เรื่องทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ มาตรา 1335 ถึง 1347, 1349, 1351, 1352 และ 1355 เป็นต้น

3. องคาพยพของกฎหมายอาคาร
องคาพยพของกฎหมาย ที่จะทำให้การบังคับใช้ หรือการปฏิบัติใด ๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง มีดังนี้

3.1 กฎหมาย
กฎหมายเป็นเสมือนมาตรฐาน หรือบรรทัดฐานที่ต้องยอมรับ และปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ทั้งในแง่ของผู้อยู่ใต้กฎหมายที่บังคับใช้ ได้แก่ บุคคล นิติบุคคล ผู้รักษา หรือปฏิบัติตามกฎหมายใน ฐานะเจ้าพนักงาน สถานที่ที่กฎหมายบังคับใช้ เว้นแต่จะเป็นกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งกำหนดพื้นที่บังคับใช้ หรือสถานที่อันจำเพาะเจาะจง และเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ ในบางกรณี กฎหมายที่มีผลบังคับใช้อาจมีบทเฉพาะกาลเพื่อความเหมาะสมเป็นธรรมในเชิง ปฏิบัติ เช่นยืดหยุ่นให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีเวลาเตรียมพร้อม อนุโลมให้โอกาสผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมายเดิมได้ มีเวลาปรับเปลี่ยน เป็นต้น

3.2 เจ้าพนักงาน และหน่วยงานรับผิดชอบ
เจ้าพนักงาน (หรือพนักงานเจ้าหน้าที่) รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบปกติจะระบุไว้ในกฎหมาย อาจระบุให้หมายถึงเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งกำกับดูแลงานอาคารในพื้นที่นั้น ๆ ดังเช่น มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า

"เจ้าพนักงานท้องถิ่น" หมายความว่า
(1) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
(2) ประธานกรรมการสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล
(3) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(4) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(5) ปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
(6) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองท้องถิ่นที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับในเขต ราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

3.3 เจ้าของ สถาปนิก วิศวกร ผู้ก่อสร้าง และบุคคลอื่น
กฎหมายทำให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหลายฝ่าย ดังนี้
3.3.1 นิติสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของอาคารกับรัฐ หรือเจ้าพนักงาน เช่นการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเวนคืน การขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร การขออนุญาตต่อเติม หรือดัดแปลงอาคาร คำสั่งของเจ้าพนักงาน เป็นต้น
3.3.2 นิติสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของอาคารกับสถาปนิก หรือวิศวกร เช่นสัญญาจ้างคำนวณออกแบบ สัญญาจ้างควบคุมงาน โดยทั้งนี้สัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาจ้างทำของตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์
3.3.3 นิติสัมพันธ์ระหว่างสถาปนิก หรือวิศวกร กับเจ้าพนักงาน เช่น การปฏิบัติ หรือประกอบวิชาชีพ ความสามารถในการประกอบวิชาชีพ มรรยาทในการประกอบวิชาชีพ ความผิดตามกฎหมายวิชาชีพ เป็นต้น
3.3.4 นิติสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของอาคารกับบุคคลอื่น อาทิเช่น การก่อสร้าง หรือการทำงานซึ่งกระทบสิทธิของบุคคลอื่น ในที่ดิน หรืออาคารข้างเคียง การละเมิด หรือความเสียหายเนื่องจากการก่อสร้างต่อบุคคลที่สัญจรผ่านไปมา เป็นต้น

3.4 อำนาจหน้าที่ ความผิด และโทษ
กฎหมายจะกำหนดอำนาจ หรือหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งอำนาจ หน้าที่ของเจ้าพนักงาน หน้าที่ของเจ้าของอาคาร หน้าที่ของสถาปนิก หรือวิศวกร ในทำนองเดียวกัน กฎหมายจะกำหนดฐานความผิดอันได้แก่ การละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมาย เป็นต้น พร้อม ๆ กับความผิด กฎหมายจะระบุโทษตามแต่กรณี ตัวอย่างโทษตามฐานความผิดต่าง ๆ ได้แก่ โทษปรับ โทษถอน หรือพักใบอนุญาต ตลอดจนกระทั่งโทษทางอาญา เป็นต้น3.5 ระเบียบ ขั้นตอนปฏิบัติ และค่าธรรมเนียม

โดยเหตุที่กฎหมายอาคารเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพได้แก่วิชาชีพ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม มีระเบียบ หรือขั้นตอนปฏิบัติเช่น การยื่นขออนุญาต เอกสาร หรือหลักฐาน ที่จะต้องยื่นขออนุญาต กำหนดเวลาในการยื่นขออนุญาต หรือเจ้าพนักงานจะมีคำส่ง รวมทั้งอาจต้องชำระค่าธรรมเนียม ดังนั้น กฎหมายอาคาร จึงมักมีรายละเอียดดังกล่าว เช่น แสดงในส่วนท้ายของกฎหมาย หรือให้อำนาจเจ้าพนังงานกำหนด หรืออกกฎระเบียบ ตลอดจนกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ตามแต่กรณี

4. ความหมายของอาคาร

โดยทั่วไปความหมายของคำว่าอาคาร (Building) ซึ่งเป็นคำนาม ในเชิงแคบ อาจหมายถึงสิ่งปลูกสร้างที่มี เสา ผนัง รับหลังคาคลุม ทำให้เกิดพื้นที่ใช้สอยอย่างถาวร (A usually roofed and walled structure built for permanent use) ในขณะที่คำกริยาว่า การปลูกสร้าง (Build) หมายถึงกระบวนกิจกรรมที่ทำให้เกิดเป็นโครงสร้าง (To form a fashion of structure) คำกริยาที่มีความหมายพ้องกันในภาษาอังกฤษ ได้แก่ คำว่า Construct, Erect, Put up, Raise, Rear, Up-rear ในจำนวนนี้ บางคำเช่นคำว่า Erect อาจมีความหมายในภาษาไทยในเชิงก่อตั้ง หรือยกขึ้นติดตั้ง เช่นยกเสาเหล็กเป็นท่อน ๆ ขึ้นตั้ง และเชื่อมยึดกับฐานราก ยกคานเหล็กขึ้นไปประกอบ หรือเชื่อมยึดกับเสา เป็นต้น

คำอื่น ๆ ที่มีความหมายคล้ายคลึงกับการก่อสร้าง การติดตั้ง หรือประกอบได้แก่ คำว่า Fabricate หรือ Prefabricate มีความหมายในทำนองตระเตรียม หรือประกอบสำเร็จ แล้วยกไปติดตั้ง เช่นแผ่นพื้นสำเร็จรูปที่หล่อ หรือผลิตจากโรงงาน แล้วขนย้าย ยกติดตั้ง บนโครงสร้าง ซึ่งได้แก่เสาคาน ยกโครงถักหลังคาเหล็กซึ่งประกอบข้างล่าง หรือขนย้ายมาจากโรงงาน ขึ้นไปวางบนเสา

คำว่า Fashion หรือ Frame มีความหมายในเชิงสรรสร้าง ประกอบกันเข้าเป็นรูปร่าง โดยนัยหมายถึงการนำองค์อาคารต่าง ๆ มาประกอบขึ้นเป็นโครงสร้าง หรืออาคารนั่นเอง
คำว่า Manufacture หรือ Run up หรือ Throw up มีความหมายในทำนองการผลิต คล้ายอุตสาหกรรม หรือตระเตรียมอย่างเป็น กระบวน มีขั้นตอน หรือรูปแบบที่แน่นอน

5. ความหมายของอาคารตามกฎหมายอาคาร
แม้นิยามศัพท์จะพอเข้าใจได้ว่า อาคารหมายถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างถาวร มีลักษณะเป็นเสา หรือกำแพงรองรับสิ่งปกคลุม หรือหลังคา ทำให้เกิดพื้นที่ใช้สอยภายใต้ หลังคาคลุม หรือบริเวณโดยรอบ ก็ตาม กฎหมายอาคาร อาจมีนิยามศัพท์คำว่าอาคาร แตกต่างออกไป หรือครอบคลุมสิ่งปลูกสร้างในลักษณะอื่น ๆ ที่กว้างขวางกว่า สำหรับประเทศไทย วิเคราะห์ศัพท์ที่เกี่ยวแก่อาคาร ปรากฏในกฎหมายต่อไปนี้

5.1 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (พ.ศ. 2522) ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทเกี่ยวแก่งานอาคาร ทั้งการจัดสัดส่วนอาคาร คำนวณออกแบบ ก่อสร้าง (หรือปลูกสร้าง) และใช้งานอาคาร พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "อาคาร" ไว้ในมาตรา 4 ดังนี้

"อาคาร" หมายความว่า ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่ หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึงสิ่งต่อไปนี้
(1) อัฒจันทร์ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน
(2) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทาง หรือท่อระบายน้ำ อู่เรือ คานเรือ ท่าน้ำ รั้ว ท่าจอดเรือ กำแพง หรือประตู ที่สร้างขึ้นติดต่อ หรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย
(3) ป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้าย
ก. ที่ติด และตั้งไว้เหนือที่สาธารณะ และมีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม
ข. ที่ติดตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้ว ระยะห่างจากที่สาธารณะมีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้น เมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาด หรือ น้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง
(4) พื้นที่ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก ของรถ สำหรับอาคารที่กำหนดตามมาตรา 8 (9)
(5) สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงส่วนต่าง ๆ ของอาคารด้วย
พึงสังเกตว่า ข้อความในมาตรา 4 (ง) ระบุว่าอาคาร หมายความครอบคลุมถึงสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ในที่นี้หมายถึงกฎกระทรวงมหาดไทย ซึ่งโดยปกติมีแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ จึงสมควรต้องติดตามเพื่อทราบ

5.2 กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2508
กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 กำหนด งานในสาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งได้แก่
1) งานออกแบบและคำนวณ หมายถึง การใช้ความรู้ในสาขาวิศวกรรมโยธา เพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดในการก่อสร้าง โดยแสดงเป็นแบบรูป ข้อกำหนด และประมาณการ
2) งานควบคุมการก่อสร้าง หมายถึง การอำนวยการควบคุมดูแลการก่อสร้าง ในสาขาวิศวกรรมโยธา ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ แบบรูป และข้อกำหนด
3) งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ การหาข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงานในสาขาวิศวกรรมโยธา
4) งานวางโครงการก่อสร้าง หมายถึง การวางแผนผังหรือการวางแผนงานการก่อสร้างในสาขาวิศวกรรมโยธา
5) งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อแนะนำ และหรือการตรวจสอบที่เกี่ยวกับงานในสาขาวิศวกรรมโยธา ตาม 1, 2, 3 หรือ 4 งานในสาขาวิศวกรรมโยธาดังกล่าวข้างต้นนี้ ต้องมีลักษณะ ขนาด หรืออยู่ในประเภท ดังต่อไปนี้

(1) อาคารตั้งแต่สามชั้นขึ้นไปที่ก่อสร้างห่างจากทางสาธารณะไม่เกินสิบสี่เมตร
(2) โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าเพลาขึ้นไป
(3) อาคารถาวรที่ใช้เป็นอาคารสาธารณะหรือเป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลจำนวนมาก เช่น โรงมหรสพ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ภัตตาคาร หอประชุม หอสมุด อาคารแบบแฟลต หรืออาคารอย่างอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
(4) สะพานที่มีช่วงระหว่างศูนย์กลางตอม่อช่วงให้ช่วงหนึ่งยาวตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป
(5) ท่าสำหรับเทียบเรือที่มีระวางขับน้ำตั้งแต่หนึ่งร้อยตันขึ้นไป
(6) อู่เรือหรือคานเรือ สำหรับเรือที่มีระวางขับน้ำตั้งแต่ห้าสิบตันขึ้นไป
(7) เขื่อนกั้นน้ำที่ต้องรับความดันของน้ำหลังเขื่อนที่มีความลึกตั้งแต่สองเมตรขึ้นไป
(8) กำแพงกันดินที่ต้องรับความดันของดินหลังกำแพงที่มีความสูงตั้งแต่สองเมตรขึ้นไป
(9) โครงสร้างสำหรับรองรับถังน้ำ ถังน้ำมัน หรือสำหรับใช้ในการรับส่งวิทยุหรือโทรทัศน์หรือใช้ในการอื่นใดที่มีความสูง จากระดับฐานตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป เว้นแต่โครงสร้างชั่วคราว ที่ใช้กับกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
(10) ปล่องไฟหรือเสาที่ปลูกสร้างหรือปักไว้ และมีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป เว้นแต่ปล่องไฟ หรือเสาที่ปลูกสร้างหรือปักไว้ชั่วคราว
(11) ถังเก็บของไหล เช่น ก๊าซ น้ำ น้ำมัน ที่มีความจุตั้งแต่หนึ่งร้อยลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
(12) ทางรถไฟ หรือทางรถราง ซึ่งมีความยาวตั้งแต่สิบกิโลเมตรขึ้นไป
(13) ทางประเภททางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด ทางหลวงเทศบาล และทางหลวงสัมปทาน ตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง
(14) สนามบิน ทางวิ่ง หรือลานจอดเครื่องบิน
(15) อุโมงค์สาธารณะ
(16) สระว่ายน้ำสาธารณะ
(17) งานผลิตน้ำประปาสำหรับประชาชนที่มีปริมาณการผลิตตั้งแต่หนึ่งพันลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป

5.3 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ. 2521
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 วิเคราะห์ศัพท์ ว่า "อาคารจอดรถยนต์" หมายความว่า อาคารหรือส่วนของอาคารที่ใช้สำหรับจอดรถยนต์ โดยได้ระบุเพิ่มเติมว่า "อาคารจอดรถยนต์ที่อยู่ในข้อบัญญัตินี้ เป็นอาคารที่มีที่จอดรถจำนวนตั้งแต่เจ็ดคันขึ้นไป" (ข้อ 5) และ "อาคารจอดรถยนต์ต้องสร้างด้วยวัตถุทนไฟทั้งหมด" (ข้อ 6) และ " อาคารจอดรถยนต์ให้สร้างได้สูงไม่เกินสิบชั้น จากระดับพื้นดิน " (ข้อ 7)5.4 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 วิเคราะห์ศัพท์อาคารประเภทต่าง ๆ ดังนี้
(1) "อาคารที่พักอาศัย" หมายความว่า ตึก บ้าน เรือน โรง แพ ซึ่งโดยปกติ บุคคลอาศัยอยู่ ทั้งกลางวัน และ กลางคืน
(2) "ห้องแถว" หมายความว่า อาคาร ที่พักอาศัย หรือ อาคารพาณิชย์ ซึ่งปลูกสร้าง ติดต่อกัน เป็นแถว เกินสองห้อง และประกอบด้วย วัตถุไม่ทนไฟ เป็นส่วนใหญ่
(3) "ตึกแถว" หมายความว่า อาคาร ที่พักอาศัย หรือ อาคารพาณิชย์ ซึ่งปลูกสร้าง ติดต่อกัน เป็นแถว เกินสองห้อง และประกอบด้วย วัตถุทนไฟ เป็นส่วนใหญ่
(4) "อาคารพาณิชย์" หมายความว่า อาคาร ที่ใช้ เพื่อประโยชน์ แห่งการค้า หรือ โรงงาน ที่ใช้ เครื่องจักร ซึ่งเทียบได้ไม่เกิน 5 แรงม้า หรือ อาคาร ที่ก่อสร้าง ห่างแนวทาง สาธารณะ หรือ ทางซึ่งมีสภาพ เป็นสาธารณะ ไม่เกิน 20 เมตร ซึ่งอาจใช้ เป็นอาคาร เพื่อประโยชน์ แห่งการค้าได้
(5) "โรงงานอุตสาหกรรม" หมายความว่า โรงงาน สำหรับ ประกอบกิจการ อุตสาหกรรม โดยใช้ เครื่องจักร ซึ่งเทียบได้เกิน 5 แรงม้า เป็นปัจจัย
(6) "อาคารสาธารณะ" หมายความว่า สถานที่ ซึ่งกำหนด ให้เป็น ที่ชุมนุมชน ได้ทั่วไป เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงเรียน ภัตตาคาร หรือ โรงพยาบาล เป็นต้น
(7) "อาคารเลี้ยงสัตว์" หมายความว่า สิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ สัตว์พาหนะ พักอาศัย เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น
(8) "อาคารชั่วคราว" หมายความว่า สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมี กำหนดเวลา ที่จะรื้อถอน
(9) "อาคารพิเศษ" หมายความถึง อาคาร ดังต่อไปนี้
(ก) มหรสพ อัฒจันทร์ หรือ หอประชุม
(ข) อู่เรือ คานเรือ หรือ ท่าเรือ สำหรับเรือ ขนาดใหญ่เกิน 100 ตัน และ โป๊ะจอดเรือ
(ค) อาคารสูงเกิน 15 เมตร หรือ สะพานช่วงหนึ่ง ยาวเกิน 10 เมตร
(10) "อาคารแผงลอย" หมายความว่า โต๊ะ แทน แคร่ มีหลังคา ตั้งอยู่บนพื้นดิน สามารถเคลื่อนที่ได้ ขนาดไม่เกิน 4 ตารางเมตร ไม่มีฝา หรือ ผนังซึ่งใช้ประโยชน์ แห่งการค้าย่อย โดยมี กำหนดเวลา เข้าใช้สอย และ เลิกเป็นประจำวัน และไม่ได้ใช้ เป็นที่ พักอาศัย 5.5 กระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2526

กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) วิเคราะห์ศัพท์ อาคารบางประเภท ดังนี้

"อาคารที่พักอาศัย" หมายถึง ตึก บ้าน เรือน โรง แพ ซึ่งโดยปกติบุคคลอาศัยอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน

"ห้องแถว" หมายถึง อาคารที่พักอาศัย หรืออาคารพาณิชย์ ซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินสองห้อง และประกอบด้วยวัตถุไม่ทนไฟเป็นส่วนใหญ่

"ตึกแถว" หมายถึง อาคารที่พักอาศัย หรืออาคารพาณิชย์ ซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินสองห้อง และประกอบด้วยวัสดุทนไฟเป็นส่วนใหญ่

"อาคารพาณิชย์" หมายถึง อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์แห่งการค้า หรือโรงงานที่ใช้เครื่องจักร ซึ่งเทียบได้ไม่เกิน 5 แรงม้า หรืออาคารที่ก่อสร้างห่างแนวทางสาธารณะ หรือทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะไม่เกิน 20 เมตร ซึ่งอาจใช้เป็นอาคารเพื่อประโยชน์แห่งการค้าได้

"อาคารเลี้ยงสัตว์" หมายถึง สิ่งปลูกสร้างเพื่อให้สัตว์พาหนะพักอาศัย เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น

"อาคารแผงลอย" หมายถึง โต๊ะ แท่น แคร่ มีหลังคาตั้งอยู่บนพื้นดิน สามารถเคลื่อนที่ได้ ขนาดไม่เกิน 4 ตารางเมตร ไม่มีฝาหรือผนัง ซึ่งใช้ประโยชน์แห่งการค้าย่อย โดยมีกำหนดเวลาเข้าใช้สอย และเลิกเป็นประจำวัน และไม่ได้ใช้เป็นที่พักอาศัย5.6 กฎกระทรวงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527

กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ส่วนต่าง ๆ ของอาคาร" ว่า หมายถึง ส่วนของอาคารที่จะต้องแสดงรายการคำนวณการรับน้ำหนัก และกำลังต้านทาน เช่น แผ่นพื้น คาน เสา และฐานราก เป็นต้น (ดูหัวข้อถัดไป)5.7 กฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535

กฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวแก่อาคารสูง และอาคาร ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ดังนี้

"อาคารสูง" หมายความว่า อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้โดยมีความสูงตั้งแต่ 23 เมตร ขึ้นไป การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนัง ของชั้นสูง

"อาคารขนาดใหญ่พิเศษ" หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่ อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภทโดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า กฎกระทรวงดังกล่าวได้วิเคราะห์ศัพท์อื่น ๆ โดยเฉพาะ องค์ประกอบทางประณีตสถาปัตยกรรม วัสดุก่อสร้าง วิศวกรรมระบบ (ไฟฟ้า เครื่องกล ปรับ อากาศ สุขาภิบาล หรืออื่น ๆ) ได้แก่ คำว่า พื้น พื้นที่อาคาร ที่ว่าง วัสดุทนไฟ ผนังกันไฟ ระบบท่อยืน น้ำเสีย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบประปา มูลฝอย ที่พักมูลฝอย ที่พักรวมมูลฝอยลิฟต์ดับเพลิง แสดงให้เห็นว่า อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษนั้น องค์ประกอบ หรืองานทางประณีตสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมระบบต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานวิศวกรรมโครงสร้าง และอาจกล่าวได้ว่าบูรณาการของวิชาการในแขนงต่าง ๆ นั้นมาประกอบกันเข้าเป็นวิศวกรรมงานอาคาร หรืองานออกแบบอาคาร นั่นเอง (ผู้เขียน) 5.8 กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 พ.ศ.2537

กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 วิเคราะห์ศัพท์อาคารบางประเภท ไว้ดังนี้
"ห้องแถว" หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างติดต่อกันเป็นแถวยาวตั้งแต่สองคูหาขึ้นไป มีผนังร่วมแบ่งอาคารเป็นคูหาและประกอบด้วยวัสดุไม่ทนไฟเป็นส่วนใหญ่
"ตึกแถว" หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างติดตั้งกันเป็นแถวยาวตั้งแต่สองคูหาขึ้นไป มีผนังร่วมแบ่งอาคารเป็นคูหาและประกอบด้วยวัสดุทนไฟ เป็นส่วนใหญ่
"บ้านแถว" หมายความว่า ห้องแถวหรือตึกแถวที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีที่ว่างด้านหน้าและด้านหลังระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดินกับตัวอาคาร แต่ละคูหา
"บ้านแฝด" หมายความว่า อาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยก่อสร้างติดต่อกันสองบ้าน มีผนังร่วมแบ่งอาคารเป็นบ้าน มีที่ว่างระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดินกับตัวอาคารด้านหน้า ด้านหน้า และด้านข้าง ของแต่ละบ้าน และมีทางเข้าออกของแต่ละบ้านแยกจากกันเป็นสัดส่วน
"อาคารอยู่อาศัยรวม" หมายความว่า อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว มีห้องน้ำ ห้องส้วม ทางเดิน ทางเข้าออก และทางขึ้นลงหรือลิฟต์แยกจากกันหรือร่วมกัน
6. ส่วนต่าง ๆ ของอาคาร
นอกเหนือจากวิเคราะห์ศัพท์คำว่าอาคาร หรืออาคารบางประเภท ดังกล่าวในหัวข้อที่แล้ว กฎหมายอาคารหลายฉบับยังวิเคราะห์ศัพท์อื่น ๆ ที่เกี่ยวแก่อาคาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาคาร ดังนี้
6.1 กฎกระทรวงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527
กฎกระทรวงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527 ข้อ 1ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ส่วนต่าง ๆ ของอาคาร" ว่า หมายถึง ส่วนของอาคารที่จะต้องแสดงรายการคำนวณการรับน้ำหนัก และกำลังต้านทาน เช่น แผ่นพื้น คาน เสา และฐานราก เป็นต้น

นอกจากนั้นยังได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "เสาเข็ม" หมายความว่า เสาที่ตอกหรือหล่ออยู่ในดินเพื่อรับน้ำหนักบรรทุกของอาคาร และ
"ฐานราก" หมายความว่า ส่วนของอาคารที่ใช้ถ่ายน้ำหนักอาคารลงสู่ดิน
6.2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522 วิเคราะห์ศัพท์ที่เกี่ยวแก่ "ส่วนต่างๆ ของอาคาร" เพิ่มเติม ดังนี้



พื้นอาคาร หมายความว่า เนื้อที่ส่วนราบของอาคาร ซึ่งอยู่ภายในขอบเขตของคาน หรือรอดที่รับพื้น หรือภายในพื้นนั้น หรือภายในขอบเขตของเสาอาคาร
ฝา หมายความว่า ส่วนก่อสร้างในด้านตั้ง ซึ่งกั้นแบ่งพื้นอาคารให้เป็นห้อง ๆ
ผนัง หมายความว่า ส่วนก่อสร้างในด้านตั้ง ซึ่งกั้นด้านนอกของอาคารให้เป็นหลัง หรือหน่วยจากกัน
ผนังกันไฟ หมายความว่า ผนังซึ่งทำด้วยวัตถุกันไฟ และไม่มีช่องที่ให้ไฟผ่านได้
หลังคา หมายความว่า สิ่งปกคลุมส่วนบนของอาคารสำหรับบังแดดและฝน รวมทั้งสิ่งใดซึ่งประกอบขึ้นเพื่อยึดเหนี่ยวสิ่งปกคลุมนี้ให้มั่นคงแข็งแรง
ฐานราก หมายความว่า ส่วนรับน้ำหนักของอาคารนับจากใต้พื้นชั้นล่างลงไปจนถึงที่ฝังอยู่ในดิน
เสาเข็ม หมายความว่า เสาที่ตอกฝังลงไปในดิน เพื่อช่วยรับน้ำหนักบรรทุกของอาคาร
ช่วงบันได หมายความว่า ระยะตั้งบันได ซึ่งมีขั้นต่อกันโดยตลอด
ลูกตั้ง หมายความว่า ระยะตั้งของขั้นบันได
ลูกนอน หมายความว่า ระยะราบของขั้นบันได

7. สาธารณูปโภค
สาธารณูปโภคเป็นส่วนประกอบที่ทำให้อาคารใช้งานได้ต้องตามวัตถุประสงค์ สาธารณูปโภคเหล่านี้ ประกอบด้วยงานวิศวกรรมระบบต่าง ๆ ได้แก่ สุขาภิบาล ไฟฟ้า เครื่องกล ถนน ทางน้ำ หรืออื่น ๆ เพื่อให้สาธารณูปโภคในอาคาร มีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นการรักษาคุณภาพ หรือมาตรฐานของชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมโดยรวม กฎหมายอาคารฉบับต่าง ๆ กำหนดเรื่องสาธารณูปโภคไว้ดังนี้
7.1 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 วิเคราะห์ศัพท์ "ที่สาธารณะ" ว่า หมายถึง ที่ซึ่งเปิด หรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไป หรือใช้เป็นทางสัญจรได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือไม่
7.2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง "ควบคุมการก่อสร้างอาคาร" พ.ศ. 2522 บัญญัติและวิเคราะห์ศัพท์ "สาธารณูปโภค" ที่เกี่ยวข้องกับงานอาคาร โดยเฉพาะระบบสุขาภิบาล และถนน ไว้ดังนี้
บ่อตรวจระบายน้ำ หมายความว่า ส่วนที่เปิดได้ของท่อระบายน้ำ ซึ่งกำหนดไว้ใช้ในการชำระล้างท่อ

บ่อพักขยะ หมายความว่า ส่วนที่เปิดได้ของทางระบายน้ำที่กำหนดไว้เพื่อกั้นขยะไม่ให้ระบายไปกับน้ำ

เครื่องสุขภัณฑ์ หมายความว่า เครื่องประกอบอันใช้ประโยชน์ในการสุขาภิบาลของอาคาร

บ่ออาจม หมายความว่า บ่อพักอุจจาระ หรือสิ่งโสโครกอันไม่มีวิธีการระบายออกไปตามสภาพปกติ

ลิฟท์ หมายความว่า เครื่องใช้สำหรับบรรทุกบุคคล หรือของ ขึ้น-ลง ระหว่างชั้นต่าง ๆ ของอาคาร

ส่วนลาด หมายความว่า ส่วนระยะตั้ง เทียบกับส่วนระยะยาวของฐานตามแนวราบ

ทางสาธารณะ หมายความว่า ที่ดินที่ประชาชนมีสิทธิใช้เป็นทางคมนาคมได้

ถนนสาธารณะ หมายความว่า ทางสาธารณะที่ยวดยานผ่านได้

ระดับถนนสาธารณะ หมายความว่า ความสูงของยอดถนนสาธารณะใกล้ชิดกับที่ดินที่ปลูกสร้างเทียบกับระดับน้ำทะเล

ทางระบายน้ำสาธารณะ หมายความว่า ช่องน้ำไหลตามทางสาธารณะ และถนนสาธารณะ ซึ่งกำหนดไว้ให้ระบายน้ำออกจากอาคารได้

แนวถนน หมายความว่า เขตถนน และทางเดินที่กำหนดไว้ให้เป็นทางสาธารณะ
ทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะ หมายความว่า ที่ดินที่เจ้าของยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางคมนาคมได้

ทางน้ำสาธารณะ หมายความว่า ทางน้ำที่ประชาชนมีสิทธิ ใช้เป็นทางคมนาคมได้

แนวทางสาธารณะ หมายความว่า แนวเขตที่กำหนดให้เป็นทางสาธารณะทั้งทางบก และทางน้ำ

แนวทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะ หมายความว่า แนวเขตที่เจ้าของที่ดินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางคมนาคมได้
8. การก่อสร้าง ดัดแปลง ซ่อมแซม และรื้อถอน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522) วิเคราะห์ศัพท์เกี่ยวแก่ การก่อสร้าง ดัดแปลง ซ่อมแซม และรื้อถอนอาคารไว้ดังนี้
ก่อสร้าง หมายความว่า สร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่
ดัดแปลง หมายความว่า เปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของโครงสร้างของอาคาร หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม และมิใช่การซ่อมแซม หรือการดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง
ซ่อมแซม หมายความว่า ซ่อม หรือเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ ของอาคารให้คงสภาพเดิม
รื้อถอน หมายความว่า รื้อส่วนอันเป็นโครงสร้างของอาคารออกไป เช่น เสา คาน ตง หรือส่วนอื่นของโครงสร้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
อนึ่ง ให้ดูเรื่อง "การกระทำที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร" และ "การรื้อส่วนอื่นของโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นการรื้อถอนอาคาร" ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ประกอบ
9. การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนฯ ให้ผิดไปจากแบบแปลนฯ ที่ได้รับอนุญาต
กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2528) อนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผัง บริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนวิธีการ หรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตได้ในกรณีต่อไปนี้

(1) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ เว้นแต่ระยะที่ตั้งของอาคารถึงขอบเขตที่ดิน หรือขอบเขตที่สาธารณะผิดไปจากแผนผังบริเวณที่ได้รับอนุญาตเกิน ร้อยละยี่สิบ
(2) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยาย ซึ่งลักษณะขอบเขตแบบ หรือรูปทรงของโครงสร้างอาคาร เว้นแต่
(ก) สัดส่วนโครงสร้างของอาคารจะผิดไปจากแบบแปลน หรือรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเกินร้อยละห้า หรือ
(ข) เมื่อผู้คำนวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณ ตามมาตรา 28 เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายโครงสร้างของอาคาร เพื่อความมั่นคงแข็งแรงโดยไม่ทำให้ลักษณะ แบบ รูปทรงเนื้อที่ และที่ตั้งของอาคารผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต และได้แจ้งให้ผู้ควบคุมงาน และเจ้าของอาคารทราบแล้ว พร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบโดยมีเหตุผลแสดงความจำ เป็นพร้อมด้วยแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณโครงสร้างของอาคารส่วนนั้นแล้ว ทั้งนี้ต้องแจ้งก่อนใบอนุญาตก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารสิ้นอายุ
(ค) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยาย ซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรงสัดส่วน หรือเนื้อที่ของส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคารอันเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้าง ของอาคารส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละยี่สิบ
10. การกระทำที่ไม่เป็นการดัดแปลงอาคาร และการกระทำที่ถือเป็นการรื้อถอนอาคาร การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร
1. การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิม เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
2. การเปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยใช้วัสดุเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่น ซึ่งเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ สิบ
3. การเปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกิน ร้อยละสิบ
4. การลด หรือการขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใดให้มีพื้นที่น้อยลงหรือมากขึ้น รวมกันไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสา หรือคาน หรือ
5. การลด หรือการขยายเนื้อที่ของหลังคา ให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่ลด หรือเพิ่มจำนวนเสา หรือคาน
การรื้อส่วนอื่นของโครงสร้างอาคารที่ถือว่าเป็นการรื้อถอนอาคาร
1. กันสาดคอนกรีตเสริมเหล็ก
2. ผนัง หรือฝาที่เป็นโครงสร้างของอาคาร หรือผนัง หรือฝาคอนกรีตเสริมเหล็ก
3. บันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก
4. พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งแต่พื้นชั้นที่สองของอาคารขึ้นไป
11. การขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร
หลักเกณฑ์การขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน และเคลื่อนย้ายอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มีดังนี้
11.1 การปลูกสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร
การปลูกสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร
11.1.1 จะต้องยื่นขอและได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 21 และ 25 (พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ) หรือข้อ 5 ถึง 9 (ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร) หรือ
11.1.2 แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ (มาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ว่าด้วยเรื่อง "การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น"
11.2 การรื้อถอนอาคารต่อไปนี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ
11.2.1 อาคารที่มีส่วนสูงเกิน 15 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่น หรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร
11.2.2 อาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่น หรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตร
12. เอกสารยื่นขออนุญาต
รายการเอกสารที่ต้องยื่นขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 มีดังนี้
(1) หนังสือขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร (แบบ อ. 1) หรือหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทำแล้วแต่กรณี
(2) โฉนดที่ดิน น.ส. 3 ก หรือ ส.ค. 1 พร้อมสำเนา
(3) หนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน หรือสัญญาเช่า (กรณีที่มิได้ปลูกสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนบนที่ดินตนเอง)
(4) ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
(5) บัตรประจำตัวประชาชน
(6) หนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน (กรณีมิได้ดำเนินการด้วยตนเอง)
(7) หลักฐานแสดงว่าเป็นนิติบุคคล
(8) แผนผังบริเวณ และแบบแปลน จำนวน 5 ชุด
(9) รายการคำนวณ จำนวน 5 ชุด
(10) สำเนาใบอนุญาตฯ ของสถาปนิก และวิศวกรผู้ออกแบบที่ลงนามรับรอง
ผู้ยื่นจะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามกฎหมายกำหนด

อนึ่ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 วิเคราะห์ศัพท์ ทีเกี่ยวแก่เอกสารที่ต้องยื่นขออนุญาตไว้ในมาตรา 4 ดังนี้
"แผนผังบริเวณ" หมายความว่า แผนที่แสดงลักษณะ ที่ตั้ง และ ขอบเขตของที่ดิน และอาคารที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้ หรือเปลี่ยนการใช้ รวมทั้งแสดงลักษณะและขอบเขตของที่สาธารณะ และ อาคารในบริเวณที่ดินที่ติดต่อโดยสังเขปด้วย

"แบบแปลน" หมายความว่า แบบเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยมีรูปแสดงรายละเอียดส่วนสำคัญ ขนาดเครื่องหมายวัสดุ และการใช้สอยต่าง ๆ ของอาคาร อย่างชัดเจนพอที่จะใช้ในการดำเนินการได้

"รายการประกอบแบบแปลน" หมายความว่า ข้อความชี้แจง รายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพและชนิดของวัสดุ ตลอดจนวิธีปฏิบัติหรือวิธีการ สำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้ อาคาร เพื่อให้เป็นไปตามแบบแปลน

"รายการคำนวณ" หมายความว่า รายการแสดงวิธีการคำนวณ กำลังของวัสดุ การรับน้ำหนัก และกำลังต้านทานของส่วนต่าง ๆ ของอาคาร
(ดูรายละเอียดในหัวข้อต่อไป)
13. หนังสืออนุญาต และคำสั่งฯ
ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) เมื่อได้รับเอกสารยื่นขออนุญาตแล้ว เจ้าพนักงงานอาจอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร โดยที่หนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารมีกำหนดอายุ และอาจมีเงื่อนไขประกอบท้าย ซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม หรือ เจ้าพนักงานอาจมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(1) คำสั่งฯ ตามแบบ อ.3 เนื่องจากปรากฏลักษณะยังไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง (ดังเจ้าพนักงานระบุ)
(2) คำสั่งตามแบบ อ.4 เนื่องจากปรากฏลักษณะยังไม่มั่นคงแข็งแรง หรือปลอดภัยฯ (ดังเจ้าพนักงานระบุ)
ให้ดู "เวลาที่ใช้ในการยื่นขออนุญาต" และ "เอกสารหลักฐานฯ" ประกอบ
14. เวลาที่ใช้ในการยื่นขออนุญาต
มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) กำหนดระยะเวลาขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารฯ ตามมาตรา 21 อนึ่ง ระยะเวลา "สูงสุด" ที่กฎหมายกำหนดในแต่ละกรณี ภายในระยะเวลาดังเจ้าพนักงานจะต้องดำเนินการโดยไม่ชักช้า กรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องขยายเวลาต้องมีหนังสือแจ้งการขยายเวลา และเหตุจำเป็นแต่ละคราวให้ผู้ขอฯ ทราบก่อนสิ้นกำหนดเวลา
15. แผนผัง หรือผังบริเวณ
ตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (วิเคราะห์ศัพท์ "แผนผังบริเวณ" หมายความว่า แผนที่แสดงลักษณะ ที่ตั้ง และ ขอบเขตของที่ดิน และอาคารที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อ ถอน เคลื่อนย้าย ใช้ หรือเปลี่ยนการใช้ รวมทั้งแสดงลักษณะและขอบเขตของที่สาธารณะ และ อาคารในบริเวณที่ดินที่ติดต่อโดยสังเขปด้วย) แผนผัง หรือผังบริเวณจะต้องมีองค์ประกอบ และรายละเอียดดังนี้

(1) แสดงระยะเป็นหน่วยเมตริก
(2) มาตราส่วนไม่เล็กกว่า 1 : 500
(3) แสดงอาคาร และขอบเขตที่ดินบริเวณติดต่อ (ระยะห่าง)
(4) เครื่องหมายแสดงทิศทาง
(5) แสดงขอบนอกของอาคารที่มีอยู่แล้ว
(6) อาคารที่ขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนฯ
(7) ทางสาธารณะที่ติดต่อกับที่ดินที่จะปลูกสร้างฯ
(8) ระดับของพื้นชั้นล่างของอาคาร และความสัมพันธ์กับระดับทางสาธารณะ (ที่ใกล้เคียงที่สุด) หรือระดับพื้นดินที่จะปลูกสร้าง
(9) ทางระบายน้ำออกจากอาคารที่จะปลูกสร้างฯ จนถึงทางระบายน้ำสาธารณะ โดยแสดงเครื่องหมายชี้ทิศทางน้ำไหล พร้อมด้วยส่วนลาด
แผนผัง หรือแผนผังบริเวณ เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องประกอบกับแบบแปลนที่ใช้ยื่นขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

16. แบบแปลน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 วิเคราะห์ศัพท์ "แบบแปลน" หมายความว่า แบบเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยมีรูปแสดงรายละเอียดส่วนสำคัญ ขนาดเครื่องหมายวัสดุ และการใช้สอยต่าง ๆ ของอาคาร อย่างชัดเจนพอที่จะใช้ในการดำเนินการได้




Create Date : 12 กันยายน 2553
Last Update : 12 กันยายน 2553 22:46:43 น. 0 comments
Counter : 3637 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

tzu149
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add tzu149's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com