+ + + Time Traps กับดัก ผล่าเวลา + + +
Time Traps


บทความที่นำเสนอมาจากหนังสือเรื่อง Time Traps แต่งโดย Todd Duncan เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมในการทำงานที่พล่าผลาญเวลาโดยไม่จำเป็น โดยผู้แต่งมีความเชื่อว่า เวลาทั้งหมดในชีวิตไม่จำเป็นต้องทุ่มเทให้กับเรื่องงานเพียงอย่างเดียวเพราะชีวิตไม่ได้มีเพียงมิติเดียวและในโลกนี้ยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่รอให้เราค้นหา แต่มนุษย์ส่วนใหญ่มักใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์จนไม่เหลือเวลาที่จะมองโลกในมุมอื่น ๆ หรือไม่มีเวลาพอแม้แต่จะสานความฝันที่ตัวเองต้องการให้เป็นจริง ดังนั้น ผู้แต่งจึงชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นหลุมพรางควรแก่การหลีกเลี่ยงเพื่อประหยัดเวลาที่มีค่าในชีวิตดังนี้

1. การตกหลุมพรางกับการสร้างภาพให้ตัวเอง (Identity trap)
การสร้างภาพในที่นี้คือ การทำตัวยุ่งอยู่ตลอดเวลา ขยันขันแข็ง ทุ่มเทให้กับการทำงานทุกวินาทีจนแทบจะไม่มีเวลาว่าง แม้แต่เวลาทานอาหารก็ต้องคุยเรื่องงาน กลับบ้านก็เอางานกลับไปทำ พฤติกรรมดังกล่าวดูผิวเผินอาจจะเป็นเรื่องดี แต่ผู้แต่งกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างความอึดอัด ความกระวนกระวายใจ ความเร่งรีบ และความตึงเครียดให้สั่งสมอยู่ในจิตใจโดยไม่รู้ตัวเหมือนลากโซ่ตรวนติดตามตัวไปตลอดเวลา สุดท้ายมักจบลงที่คำว่าทำงานไม่ทัน ทำงานไม่เสร็จ ทำงานไม่ดี เพราะความกังวลที่สะสมในจิตใจเป็นตัวบั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงาน เมื่อไม่มีผลงานก็เกิดความเครียดความกังวลใจวนเวียนเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด และนอกจากนั้น ผู้แต่งยังเชื่อว่า การสร้างภาพเป็นคนที่มีงานรัดตัวนั้นอาจจะเป็นการโกหกตัวเองเพื่อหนีความจริงเพราะรู้ตัวดีว่าตนเองไม่มีผลงาน วิธีทางแก้ไขมีดังนี้

รู้ว่าจุดไหนคือเพียงพอแล้ว และเลือกทำแต่สิ่งที่สำคัญและสร้างผลประโยชน์แก่องค์กรมากที่สุดบอกตัวเองว่าชีวิตนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานอย่างเดียวบอกตัวเองว่าการใช้เวลาในแต่ละวันจะต้องช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่าแคร์สายตาของผู้อื่นมากนัก แต่ให้รู้ตัวว่าขณะนี้ตนเองกำลังทำอะไรและทำเพื่ออะไร

2.การตกหลุมพรางกับระบบงานในองค์กร (Organization trap)
ในที่นี้คือการตอบอีเมล์ ตอบจดหมาย หรือรับโทรศัพท์ เป็นต้น งานดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้แต่งเปรียบเหมือนการพายเรือในกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก และถึงแม้ว่าจะหยุดกระแสน้ำไม่ได้แต่ผู้แต่งมีวิธีชะลอความแรงของกระแสน้ำได้โดยการสร้างเขื่อน มีด้วยกัน 4 วิธี ดังนี้

1.หยุดทุกกิจกรรมที่ไม่จำเป็นเช่น คุยโทรศัพท์ในเรื่องสัพเพเหระกับเพื่อนฝูงตอบอีเมล์ที่ไม่เร่งด่วน หรือเล่นอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
2.ลงมือทำในสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับองค์กร
3.ประเมินตัวเองว่าสามารถหยุดกิจกรรมที่ไร้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่
4.ประเมินตัวเองว่าได้ลงมือทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อองค์กรตามที่คิดไว้บ้างหรือยัง หรือทำแล้วมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

3.การตกหลุมพรางกับการชอบทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง (Control trap)
ผู้แต่งเชื่อว่าคนที่เลือกทำงานเองทั้งหมด มีเหตุผลอยู่ 4 แบบคือ
1.Ego สูงไม่ไว้ใจใคร คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด
2.ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเองกลัวคนอื่นจะดูถูกดูแคลน จึงเลือกที่จะทำเองทั้งหมด
3.คิดแบบตื้น ๆ ว่าทำเองก็ได้ ไม่ต้องไปพึ่งใคร
4.เป็นนิสัยส่วนตัว

การทำงานด้วยตัวเองทั้งหมดเป็นการใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์แทนที่จะเอาเวลาไปสร้างผลงานอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่า และยังเป็นการแสดงถึงการขาดความสามารถในการทำงานเป็นทีมด้วย สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการรู้จักกระจายงานไปให้ผู้ร่วมงานหรือลูกน้องทำบ้าง และควรหมั่นเข้าหาหัวหน้าให้ท่านชี้นำแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างผลงานแก่องค์กรเพื่อประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูก

4.การตกหลุมพรางกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Technology trap)
ในที่นี้คือการเสียเวลากับการรับโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์กรุ่นใหม่ ๆ ที่จะต้องเสียเวลากับการทดลองใช้เสียเวลาอ่านคู่มือ
ดังนั้น ผู้แต่งจึงแนะนำว่าการให้ผู้ที่เคยใช้เครื่องดังกล่าวมาสาธิตวิธีการใช้จะเป็นการประหยัดเวลาและสะดวกกว่าการศึกษาด้วยตนเอง นอกจากนั้น ผู้แต่งยังให้ข้อคิดว่าการใช้อุปกรณ์ที่ธรรมดาไม่ต้องไฮเทคมากนักจะประหยัดเวลามากกว่าและได้ประโยชน์เหมือน ๆ กัน เช่นการจดบันทึกข้อมูลในสมุดย่อมรวดเร็วกว่าการคีย์ข้อมูลลงในอิเลคทรอนิคส์ไดอารี่หรือPalm เป็นต้น

5.การตกหลุมพรางกับการพยายามสร้างผลงานที่มากเกินไป (Quota trap)
ในที่นี้คือการพยายามสร้างฐานลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยผู้แต่งได้จำแนกประเภทของลูกค้าที่ควรหลีกเลี่ยงและที่ควรรักษาไว้ ดังนี้

กลุ่มลูกค้าที่ควรหลีกเลี่ยง
-จุกจิกและซื้อสินค้าน้อย
-จุกจิกแต่ก็ซื้อสินค้ามาก ประเภทนี้ต้องหลีกเลี่ยงเพราะทำให้เราเสียเวลามากจนเกินไป

กลุ่มลูกค้าที่ควรรักษาไว้
-ซื้อมาก ไม่เรื่องมากและช่วยแนะนำคนอื่นมาซื้อสินค้าเรา
-ซื้อน้อย แต่ไม่เรื่องมากและชอบสินค้าของเรา กลุ่มนี้ควรรักษาไว้เพราะเมื่อมีโอกาสลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อสินค้าของเราอีกอย่างแน่นอน

6.การตกหลุมพรางกับการกลัวความผิดพลาด (Failure trap)
คือการไม่กล้าเสนอผลงานมากนักเพราะกลัวจะผิดพลาด ส่งผลให้เวลาเสนอผลงานในที่ประชุมจะไม่มั่นใจและเสียเวลามากเพราะมีแต่ความหวาดวิตกอยู่ตลอดเวลา ผู้แต่งเสนอทางแก้คือให้ตั้งเป้าหมายให้สูงไว้ก่อนและต้องรู้จักเลือกทำงานที่สำคัญและสร้างประโยชน์ให้องค์กร

7.การตกหลุมพรางกับค่านิยมของสังคม (Party trap)หลุมพรางสุดท้ายในที่นี้คือการเห่อเหิมไปตามค่านิยมของสังคม เช่นทำงานหนักเพื่อเก็บเงินซื้อรถรุ่นใหม่ มือถือรุ่นล่าสุด หรือบ้านราคาหลายสิบล้าน เป็นต้น เหล่านี้เป็นความคิดที่ผิดเพราะชีวิตที่แท้จริงมีหลายมิติเกินกว่าเรื่องวัตถุ คุณภาพชีวิตที่ดีจะต้องประกอบด้วยการมีสุขภาพที่ดี การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล การสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคม และมีเวลาเหลือพอที่จะไปทำสิ่งต่าง ๆ ที่ในใจลึก ๆ อยากจะทำ


************************************************************************************************
เครดิตเว็บ : ดร.บุญชัย โกศลธนากุล




Create Date : 29 พฤษภาคม 2554
Last Update : 29 พฤษภาคม 2554 13:00:07 น.
Counter : 637 Pageviews.

4 comment
@ @ @ ดึงพลังสมองออกมาใช้ทั้งหมดด้วยพลังสติ @ @ @
ดึงพลังสมองออกมาใช้ทั้งหมดด้วยพลังสติ


บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือชื่อ Classics of Buddhism and Zen แต่งโดย Thomas Cleary ผู้แต่งกล่าวถึงพระสูตรของท่านปรมาจารย์หุ้ยเหนิง (Hui Neng) สังคปรินายกองค์ที่หกของพุทธศาสนาสายมหายานผู้สอนการบรรลุธรรมแบบลัดสั้น ท่านสามารถสั่งสอนสานุศิษย์จนบรรลุธรรมได้ถึง 43 รูป ท่านหุ้ยเหนิงกล่าวว่า จิตใจของมนุษย์นั้นเปรียบดั่งอากาศธาตุที่สามารถแทรกซึมไปได้ทุกสถานที่และอยู่ได้ในทุกสภาวะ โดยไม่มีการกระทบกระเทือนหรือหวั่นไหวแต่อย่างใด เป็นพลังแห่งความรู้สึกที่ไร้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงมีแต่อาการรับรู้อย่างเดียว มีแต่ความสุขสงบเบาสบายและว่องไว แต่คนส่่วนใหญ่กลับไม่สามารถสัมผัสถึงสภาวะจิตแท้ดั้งเดิมนี้ได้เลยเพราะโดนครอบงำด้วยความคิดที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา และอุปาทาน อย่างไรก็ตาม ท่านหุ้ยเหนิงสอนว่าจิตเป็นสิ่งที่ฝึกได้ ท่านจึงอธิบายวิธีฝึกจิตไว้

ดังต่อไปนี้

1.ควบคุมความคิดทุก ๆ ความคิดที่ผุดขึ้นมาในจิตใจไม่ให้ตอบสนองและเกิดขึ้นตามความเคยชินหรือตามนิสัยเดิม

หลักคำสอนของท่านหุ้ยเหนิงคือ ให้ทิ้งความคิดในอดีตทั้งหมด อยู่กับปัจจุบัน และให้เอาใจไปจดจ่อกับความคิดอันถัดไปที่กำลังจะเกิดขึ้น หากมีความคิดอกุศลใดผุดขึ้นมาให้ตัดทิ้งทันที ความคิดดังกล่าวได้แก่
1) ความคิดอาฆาตพยาบาท ความโกรธเกลียดไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ
2) ความคิดที่เต็มไปด้วยความอวดดี ถือเนื้อถือตัว ยกตนข่มท่าน ดูถูกดูแคลนผู้อื่น
3) ความคิดอิจฉาริษยาหรือความน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
4) ความคิดปรุงแต่งที่เกิดจากการจับผิดและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น
5) ความคิดยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมาย คิดว่าทุกอย่างจะต้องเหมือนเดิม
6) ความคิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดไปเกินจริง วิตกกังวล
7) ความคิดยึดมั่นถือมั่นในความรักที่มากเกินพอดีและความเกลียดชัง
8) ความคิดยึดมั่นถือมั่นในความดีความชั่ว การทำความดีละเว้นความชั่วเป็นสิ่งที่ควรทำแต่ต้องไม่ยึดมั่นว่าฉันเป็นคนดีกว่าคนอื่นเหนือกว่าคนอื่น และไม่เจ็บแค้นหรือด่าทอคนที่ทำความชั่วจนจิตใจเราต้องหม่นหมองและเศร้าโศกไปด้วย เราควรปล่อยวางเพราะคนทำดีย่อมได้ดี คนทำความชั่วกรรมย่อมตามสนอง
9) ความคิดยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู
10) ความคิดยึดมั่นถือมั่นในความว่าง คนที่ยึดมั่นในความว่างและมองว่าทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติและคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ ถือว่าเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิงและจะนำมาซึ่งบาปกรรมและอกุศลจิตทั้งปวง

2. กำจัดความคิดอกุศลเดิม ๆ ที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจ คนเรามักมีเรื่องที่ทุกข์ใจหนัก ๆ ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 4-5 เรื่อง ท่านหุ้ยเหนิงได้สอนวิธีฝึกจิตให้เข้มแข็งและมีกำลังสามารถต่อสู้กับความคิดปรุงแต่งที่ฝังแน่นในจิตใจไว้สามประการคือ

- กระทบแต่ไม่กระเทือน
เมื่อเรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และมีความคิดผุดขึ้นในใจถือว่าเป็นการกระทบผ่านทางอายาตนะทั้งหก ให้เราทำกิริยารับรู้ ไม่ให้คำจำกัดความว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ

- กระทบแต่ไม่ปรุงแต่ง
เมื่อเกิดการกระทบเราควรมีสติหยุดนิ่ง ไม่คิดเสริมต่อเติมใด ๆ ให้หยุดอยู่ที่การรับรู้และไม่คิดต่อ

- กระทบแต่ไม่นำกลับมาคิดซ้ำอีก
เมื่ออยู่ว่าง ๆ ไม่ควรดึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้วมาคิดอีกเพราะจะทำให้เราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันและถือว่าเป็นการปรุงแต่งฟุ้งซ่านและเป็นการกระตุ้นความคิดให้มีพลังครอบงำจิตมากยิ่งขึ้น

การปฏิบัติตามแนวทางของท่านอาจารย์หุ้ยเหนิงนั้นจะเป็นการรวมเอาสติ สมาธิ และปัญญาเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน สติคือการรู้เท่าทันความคิดที่เป็นอกุศลที่กำลังผุดขึ้นมา........... สมาธิคือการจดจ่อกับการกำจัดความคิดที่เป็นอกุศล........... และปัญญาคือการสอนวิธีให้จิตรับมือกับการกระทบที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รวมถึงการเข้าใจและตระหนักถึงโทษของการยึดมั่นถือมั่นซึ่งก็คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อฝึกอย่างต่อเนื่องจิตจะสงบและมีกำลัง เมื่อนั้นจะมีปัญญาญาณผุดขึ้นให้เรารู้ว่าควรตอบโต้อย่างไร ควรพูดอย่างไร และควรทำอย่างไรโดยปราศจากซึ่งความทุกข์และความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง




Create Date : 23 พฤษภาคม 2554
Last Update : 23 พฤษภาคม 2554 9:23:23 น.
Counter : 915 Pageviews.

0 comment
* * * JACK WELCH : สุดยอด CEO ระดับโลก * * *
JACK WELCH : สุดยอด CEO ระดับโลก


บทความที่นำเสนอมาจากหนังสือเรื่อง Control Your Destiny or Someone Else Will แต่งโดย Noel Tichy และ Stratford Sherman ว่าด้วยเรื่องประวัติความเป็นมาของแจ็ค เวลช์ (Jack Welch) ทั้งชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานที่ทำให้เขาพลิกผันตนเองจนกลายเป็นผู้บริหารของบริษัทชั้นนำระดับโลก
คือ บริษัท จี อี และกลายเป็นCEO ที่มีค่าตัวสูงที่สุดในโลก ทั้ง ๆ ที่ในสมัยเด็ก แจ๊ค เวลช์ เคยเป็นคนที่พูดติดอ่างเสียด้วยซ้ำ แต่เขาก็ไม่เคยรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเขามีคุณแม่ที่คอยให้กำลังใจตลอดเวลา คุณแม่ของเขาสอนว่า การที่เขาพูดติดอ่างเป็นเพราะว่า เขามีระบบความคิดที่พิเศษกว่าคนปกติและรวดเร็วเกินกว่าที่เขาจะพูดได้ทัน นอกจากจะมีคุณแม่คอยให้กำลังใจและปลูกฝังให้เป็นคนมองโลกในแง่ดีมาตั้งแต่เด็กแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้แจ็ค เวลช์ สามารถก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดได้มีดังต่อไปนี้

1. กฎทองคำ 6 ประการที่ทำให้แจ๊ค เวลช์ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

1) จงกำหนดชะตาชีวิตของท่าน มิฉะนั้นคนอื่นจะเป็นผู้มาบงการชีวิตของคุณ (Control your destiny ,or someone else will)
ควรกำหนดเป้าหมายชีวิตของตนเองให้ชัดเจนและแน่นอน เพราะถ้าตัวเราเองยังไม่รู้ว่าเรากำลังจะเดินไปทิศทางไหนแล้วนั้น จะทำให้เราไขว้เขวไปกับการท้วงติงและการตำหนิเตียนจากคนรอบข้าง หรือในทางกลับกัน ถึงแม้มีโอกาสต่าง ๆ มารออยู่ข้างหน้าเราก็จะไม่เห็นความสำคัญ และปล่อยให้โอกาสเหล่านั้นหลุดลอยไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะเราไม่รู้ว่าเรากำลังทำสิ่งใด เพื่ออะไร และเรากำลังอยู่ตรงจุดไหนของแผนที่ชีวิต นอกจากนั้น เมื่อเรามีเป้าหมายแล้วหากประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ เราจะต้องไม่โทษผู้อื่นเพราะชีวิตนี้เป็นของเรา จะสุขหรือทุกข์เราจะต้องรับผิดชอบเอง สิ่งนี้จึงจะแสดงว่าเราเป็นผู้มีวุฒิภาวะ และสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเราได้เองอย่างแท้จริง

2) จงมองความจริงตรงตามความเป็นจริง มิใช่ความเป็นจริงที่มันเคยเป็นมาแล้วในอดีต หรือความเป็นจริงที่คุณอยากให้มันเป็น (Live with the present reality as it is, not the kind of reality that used to be in the past or the reality that you want it to be)
คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงทุกรูปแบบทั้งสมหวังและผิดหวัง และจะต้องอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่ยึดติดกับเรื่องในอดีตหรือเพ้อฝันไปกับสิ่งที่เราคิดเข้าข้างตัวเองและอยากให้มันเป็น เพราะการที่เราอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันจะทำให้เราเห็นเหตุและปัจจัยใหม่ ๆ ที่เข้ามาและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เป็นจริง

3) หากจะโน้มน้าวจิตใจคนไม่ควรใช้วิธีการบังคับขืนใจ แต่ควรเสนอมุมมองที่แตกต่างเพื่อกระตุ้นเตือนให้อีกฝ่ายได้คิด ซึ่งมุมมองเหล่านั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของผลดีหรือผลเสียที่อีกฝ่ายจะได้รับ
ตัวอย่างเช่น อธิบายให้อีกฝ่ายเห็นโทษของการเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากการกินอาหารที่มีรสหวานจัดจนเกินไป แทนที่จะไปบังคับขู่เข็ญหรือว่ากล่าว เป็นต้น

4) จงมีความจริงใจและมีความตรงไปตรงมาต่อตนเองและผู้อื่น (Integrity)
การแสดงความตรงไปตรงมาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ไม่มุทะลุดุดันหรือพูดจาเป็นขวานผ่าซาก และปากกับใจต้องตรงกัน ถ้าไม่อยากพูดก็ไม่ต้องพูด และถ้าจะพูดหรือแสดงออกจะต้องออกมาจากความรู้สึกไม่ใช่จากความคิด (Speak from your heart, not from your head)

5) อย่าเปลี่ยนจุดยืนของตนเองโดยเด็ดขาดถ้าไม่จำเป็นหลังจากที่เราคิดทบทวนทุกอย่างอย่างรอบคอบแล้ว เราจะต้องมุ่งมั่นทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จเป็นรูปธรรมให้จงได้ แต่ในระหว่างที่ดำเนินการ หากมีความคิดใหม่ ๆ เข้ามา เราต้องรับฟังและนำมาขบคิดพิจารณาว่าสิ่งใดที่แตกต่างไปจากที่เราเข้าใจหรือไม่ หรือมุมมองใหม่นั้น มีเหตุมีผลพอที่จะหักล้างในสิ่งที่เราเชื่อหรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่จะช่วยส่งเสริมให้เราก้าวไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วมากขึ้นหรือเปล่า

6) จงอย่าสู้หรือแข่งขันในสมรภูมิที่เราเสียเปรียบก่อนอื่นเราต้องศึกษาจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเราหรือสินค้าของเราอย่างถ่องแท้เสียก่อน นอกจากนั้น ในตลอดสามปีที่ผ่านมาบริษัทคู่แข่งของเราผลิตสินค้าหรือดำเนินนโยบายใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหรือบริษัทของเราบ้างหรือไม่ และตัวเราเตรียมรับมือกับคู่แข่งอย่างไร และทำอะไรไปบ้างที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหรือต่อคู่แข่ง และที่สำคัญคือ เราต้องคาดการณ์ล่วงหน้าว่า ในอีกสามปีคู่แข่งน่าจะทำอะไรบ้าง และเราจะเตรียมทำอะไรสำหรับการแข่งขันในอนาคต เป็นต้น

2.วิธีการบริหารเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร

วิธีการบริหารของแจ็ค เวลช์ เหมาะกับองค์กรใหญ่ ๆ ที่พนักงานไม่มีความกระตือรือร้น ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม มีการเล่นเส้นเล่นสาย และมีการแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เป็นต้น วิธีการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาองค์กร มีดังนี้

1) สร้างความปริวิตกและหวาดกลัวให้กับพนักงานทุกคน
แจ็ค เวลช์ บอกพนักงานทุกคนว่า หากทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กรได้แล้ว คุณอาจจะถูกปลดออกได้ทุกเวลา และที่สำคัญ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับนโยบายของจีอีแล้ว คุณก็ไม่สมควรที่จะทำงานกับจีอีอีกต่อไป อาจจะดูรุนแรงและโหดร้าย แต่แจ็ค เวลช์ให้เหตุผลว่า เขาทำทุกอย่างเพื่อจีอี และเขามีความยุติธรรมพอ ที่จะให้การเลื่อนขั้นตามความสามารถของพนักงาน และเขามีความเชื่อที่ว่า ในเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะเข้ามาทำงานกับองค์กร รับเงินเดือนจากองค์กร แต่ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กรหรือตั้งใจทำงานก็ถือได้ว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำงานร่วมกันอีกต่อไป และถึงแม้ว่า พนักงานคนนั้นจะมีความสามารถสักเพียงใด แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับนโยบายขององค์กรก็ต้องปลดออก

แจ็ค เวลช์ มีวิธีการกำจัดพนักงานที่หัวแข็งและทำงานมานานแต่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยการจ้างพนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความสามารถมาทำงานเพื่อท้าทายความสามารถของพนักงานหน้าเดิม จนพนักงานรุ่นเก่าเหล่านั้นอึดอัดและยอมลาออกไปเอง อาจจะดูไร้ความปรานีแต่ทุกอย่างตั้งอยู่บนความยุติธรรม และบนพื้นฐานของความเป็นจริง คนเก่งมีผลงานย่อมได้รับการเลื่อนขั้นตามความเป็นจริง ไม่มีการเล่นเส้นสายใด ๆ หรือถ้ายังไม่ยอมลาออก แจ็ค เวลช์ จะสั่งให้ย้ายไปทำงานประเภทที่น่าเบื่อ จนต้องยอมลาออกไปเอง แต่ถ้ายังไม่ยอมลาออกอีก หรือมีพวกพ้องมากมายทำให้สั่งย้ายลำบาก แจ็ค เวลช์ ก็จะใช้วิธีตั้งเป้าหมายงานให้สูง ทำได้ยาก จนหมดแรงและลาออกไปเองในที่สุด

2) สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับองค์กร
สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่บอกพนักงานทุกคนว่า องค์กรต้องการอะไร และกำลังมุ่งไปสู่จุดไหน เมื่อไหร่ อย่างไร พนักงานทุกคนจะต้องทำงานรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแยกกรมกองหรือแผนกอีกต่อไป ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จะต้องได้รับการเสนอจากระดับล่างสู่ระดับบนอย่างไม่มีข้อยกเว้น และหากหัวหน้าคนใดพยายามที่จะสกัดกั้นลูกน้องไม่ให้แสดงออกหรือแย่งผลงานลูกน้องไปเสนอเสียเอง จะต้องถูกปลดออกทันที นอกจากนั้น พนักงานคนใดที่ได้รับมอบหมายงานไปแล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่รับปากได้ จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นหรืออาจจะต้องถูกลดตำแหน่งลงตามความเหมาะสม

3) ยกเลิกการผลิตสินค้าที่จีอีไม่สามารถครองตลาดได้เป็นอันดับหนึ่งหรือสองออกทั้งหมด
เพื่อปรับองค์กรให้เล็กลงและมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สินค้าใดที่ไม่ทำกำไร หรือมีกำไรแนวโน้มที่จะลดลงอีกในอนาคตก็ให้ตัดออกเสีย เมื่อคนในองค์กรมีจำนวนน้อยลง ไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน ทุกคนมีงานต้องทำ พนักงานก็จะมีความตื่นตัวและกระตือรือร้น ขยันทำงานมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สินค้าของ จีอี ติดตลาดมาจนถึงทุกวันนี้ คือ แจ็ค เวลช์ จะเน้นที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ในที่นี้คือการรู้ซึ้งถึงความต้องการของลูกค้าว่าต้องการสินค้าแบบใด เพื่อแก้ไขปัญหาหรือสนองตอบต่อความต้องการตรงจุดไหน และสินค้าจะต้องมีความทันสมัยตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

3. ทักษะ 4 ประการที่ แจ็ค เวลช์ ปลูกฝังให้กับพนักงานที่จะก้าวขึ้นมาสู่ระดับผู้บริหาร

1) มีทักษะในการสื่อความ
พูดจาชัดเจน ตรงประเด็น และพูดเพื่อความสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย เน้นผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักและมีความยุติธรรม

2) ทักษะในการทำงานเป็นทีมสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

3) ทักษะในการบริหารทำงานอย่างรวดเร็ว เรียบง่าย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้องได้ว่า ตนสามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

4) ทักษะในการฟังฟังมากกว่าพูด และถ้าจะต้องพูดให้ "พูดทีละคำ ฟังทีละเสียง"



************************************************************************************************
เครดิตเว็บ ดร.บุญชัย : โกศลธนากุล








Create Date : 15 พฤษภาคม 2554
Last Update : 15 พฤษภาคม 2554 1:17:30 น.
Counter : 2174 Pageviews.

0 comment
+ + + วิธีพิชิตโทสะโดยวิถีแห่งเซน + + +
วิธีพิชิตโทสะโดยวิถีแห่งเซน


บทความที่นำเสนอจากหนังสือเรื่อง Anger แต่งโดย Thich Nhat Hanh พระภิกษุชาวเวียดนามของพุทธศาสนาสายมหายานซึ่งพำนับในสหรัฐอเมริกา ท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เป็น bestseller หลายเล่ม รวมถึงหนังสือเรื่อง Anger นี้ด้วย งานเขียนของท่านได้สรุปถึงการทำวิปัสสนากรรมฐานที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หลักสำคัญของท่านมีอยู่สองประการคือ การรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอในทุก ๆ อิริยาบถ และการจับความรู้สึกที่ลมหายใจเข้า - ออก ตั้งแต่ปลายจมูกผ่านลำคอ ช่องอก ช่องท้อง ช่องลมทั่วสรรพางค์กาย จนกระทั่งกลับออกมาที่ปลายจมูก เป็นต้น สำหรับในหนังสือเรื่อง Anger ท่านกล่าวถึงเรื่องของความโกรธ โทษของความโกรธ และวิธีระงับความโกรธ

มีใจความสำคัญ ดังนี้

ลักษณะของความโกรธ

1. เมื่อมีอารมณ์โกรธทุกคนย่อมคิดว่าตนเองนั้นถูกต้องเสมอ ทุก ๆ คนต่างหยิบยกเหตุผลต่าง ๆ นานา มาสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูก ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมแพ้แม้แต่ก้าวเดียว

2. เมื่อมีความโกรธจะทำให้ขาดสติและถูกหลอกได้ง่าย เพราะคนที่โกรธจะไม่ฟังใคร ยกเว้นคนที่คิดเหมือนกับตัวเอง ยิ่งมีกำลังเสริมยิ่งฮึกโหมคิดว่าตนเองนั้นถูกต้อง จึงถูกจูงจมูกและใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างง่ายดาย

3. เมื่อมีอารมณ์โกรธจะมองโลกในแง่ร้าย ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และคิดว่าปัญหาไม่สามารถแก้ไขหรือประนีประนอมได้ และมีแนวโน้มที่จะทำลายล้างมากกว่าสร้างสรรค์

4. เมื่อมีความโกรธจะมีความคิดในแง่ลบผุดขึ้นมามากมาย ทั้งเรื่องในปัจจุบันและเรื่องที่สะสมมาในอดีต ก่อให้เกิดอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้มองความจริงไม่ตรงตามความเป็นจริง คำพูดจะบิดเบือน วาจาจะก้าวร้าว มองไม่เห็นหัวคนอื่น เพราะคิดว่าตัวเองเท่านั้นที่ถูกต้อง

โทษของความโกรธ

บุญบารมี โชคลาภ วาสนา ความรู้สึกที่ดีต่อกัน และภาพพจน์ดี ๆ ที่เคยสั่งสมมาทั้งหมดจะสูญสลายไปในพริบตา เพราะในขณะที่โกรธ ตัวเราจะขาดสติ คำพูดจะเสียดแทงจิตใจ แววตาจะดุร้าย กิริยาจะรุนแรง สูญเสียบุคลิกภาพ และทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างศัตรูโดยที่เราไม่รู้ตัว และหากถึงขั้นรุนแรงทำร้ายร่างกายจะยิ่งเป็นการสร้างกรรมเวรขึ้นอีกเป็นทวีคูณ และที่สำคัญเมื่อมีอารมณ์โกรธร่างกายจะปล่อยสารทำลายเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม นอกจากนั้น การโมโหจนเป็นนิสัยจะเป็นการเติมเชื้อโทสะที่มีอยู่ในจิตใจให้มีกำลังรุนแรง ทำให้มองความโกรธว่าเป็นเรื่องธรรมดา กิริยาจะก้าวร้าวจนเป็นนิสัย มักชอบใช้ความรุนแรงเข้ายุติปัญหา ลูกหลานและคนรอบข้างก็จะติดนิสัยไปด้วย สังคมจะมีแต่ความแปลกแยกหาความสุขไม่ได้

วิธีรับมือกับความโกรธ

1. นิ่งสงบ หยุดพูด หยุดหาเหตุหาผลมาปกป้องตัวเองและตั้งใจฟังอีกฝ่ายว่า อีกฝ่ายมีประเด็นอะไร สาเหตุที่อีกฝ่ายโกรธคืออะไร และตั้งใจมองอีกฝ่ายด้วยความเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจต่อความระทมทุกข์ของอีกฝ่ายอย่างแท้จริง (Compassionate listening) ขณะที่ฟังห้ามพูดโดยเด็ดขาด ยิ้มได้อย่างเดียว

2. รู้จักข่มใจ เช่น หายใจลึก ๆ หรือใช้ลิ้นดันเพดานในปากไว้เพื่อข่มความโกรธ เป็นต้น

3. เมื่อฟังอีกฝ่ายจบแล้วถ้าจำเป็นต้องพูดให้พูดเท่าที่จำเป็นด้วยวาจาที่สุภาพ ไพเราะ และนุ่มนวล (Loving speech) ผู้พูดควรได้ยินเสียงทุกเสียง ที่ตัวเองพูดโดยการพูดทีละคำฟังทีละเสียง และพูดด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส แต่ถ้ายังไม่ถึงโอกาสที่ควรพูด เช่น อีกฝ่ายหรือแม้แต่ตัวเราเองกำลังมีอารมณ์ขุ่นมัว ไม่สามารถพูดกันดี ๆ ได้ก็ให้เงียบเสียดีกว่า ไม่จำเป็นต้อง รีบพูดโดยทันที เพราะพูดไปตอนนี้อีกฝ่ายก็คงไม่รับฟัง

4. อย่าหลงเชื่อคำพูดของอีกฝ่ายที่พูดออกมาตอนที่โกรธ เพราะเมื่อจิตโกรธข้อมูลทั้งหลายจะบิดเบือนไปได้ทั้งสิ้น ให้ฟังหูไว้หู ฟังอย่างเดียวไม่ต้องโต้เถียงหาข้อเท็จจริง

5. เมื่อรับฟังแล้ว พูดเท่าที่จำเป็นแล้ว ให้หลบเลี่ยงออกจากสถานที่และบุคคลนั้น ๆ

6. มองปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวม และแก้ไขปัญหาเป็นจุด ๆ ไป ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ คันที่ไหนให้เกาที่นั่น

7. ฝึกนิสัยที่จะไม่โกรธ ใครมาพูดจายั่วยุให้โกรธ เราจะไม่สนใจและเลิกใส่ใจกับคนที่ชอบนินทา หรือชอบหาเรื่องให้เราโกรธ

8. มองความรู้สึกของตัวเองอยู่ตลอดเวลาพร้อม ๆ กับการหายใจลึก ๆ เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์จะได้ระงับความโกรธได้อย่างทันท่วงที เมื่อโกรธให้รู้ว่ากำลังโกรธ โกรธเพราะอะไร ความโกรธหายไปเมื่อไร และสิ่งใดทำให้เราหายโกรธได้ เป็นต้น

9. สร้างปัจจัยความสุขในจิตใจมาก ๆ ทำจิตใจให้สบาย ๆ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ จิตใจจะได้ไม่เครียด เป็นต้น ความสุขเหล่านี้จะไปทดแทนโทสะที่มีอยู่ในจิตใจได้

10. อย่ายึดมั่นถือมั่นในความคิดทั้งหลายทั้งปวง เพราะสิ่งที่เราเห็นในขณะนี้เป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยใหม่เข้ามา สิ่งที่เราคิดว่าใช่มันก็เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น อย่าเชื่อนักในสิ่งที่เห็นและอย่าเชื่อนักในสิ่งที่ได้ยิน

11.ความโกรธไม่สามารถเอาชนะความโกรธได้ แต่ความรัก ความเมตตา ความเข้าใจ และการให้อภัยจึงจะสลายความโกรธลงได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเมตตาแล้วต้องไม่เดือดร้อนต่อตัวเองและผู้อื่นด้วย จึงจะเรียกได้ว่ามีความเมตตาอย่างแท้จริง



************************************************************************************************
เครดิตเว็บ : ดร.บุยชัย โกศลธนากุล









Create Date : 07 พฤษภาคม 2554
Last Update : 7 พฤษภาคม 2554 2:02:49 น.
Counter : 622 Pageviews.

2 comment
^ ^ ^ การจัดความสำคัญก่อนหลัง เพื่อความสำเร็จในชีวิต ^ ^ ^
การจัดความสำคัญก่อนหลัง เพื่อความสำเร็จในชีวิต

การรับมือกับโลกยุคปัจจุบันที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จำเป็นต้องมีการบริหารชีวิต และการบริหารเวลาอย่างเหมาะสม เพื่อรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนว่ามีความสำคัญเท่า ๆ กันไปหมดทุกเรื่อง การบริหารเวลาให้ถูกต้องมิใช่เรื่องการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมิใช้เพียงการเน้นความสามารถในการตอบโต้มากขึ้น แต่เป็นเรื่องของการสร้างสมดุลให้กับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ 4 อย่าง นอกจากนั้นหากขาดวิจารณญาณที่ดี (Intuitive wisdom) ก็ไม่สามารถบริหารเวลาให้สมดุลได้ตามต้องการ



ความต้องการพื้นฐาน 4 อย่าง ของมนุษย์

• ปัจจัย 4 (Physical need) ประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค รวมถึงความแข็งแรงทางกายและทางใจ

• ความต้องการทางสังคม (Social need) คือความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี ที่อบอุ่นกับคนรอบข้าง หากความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ดีจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆลดลง

• ความต้องการทางจิตใจ (Mental need) คือความต้องการความสงบทางใจ

• ความต้องการทางจิตวิญญาณ (Spiritual need) คือความต้องการที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการสร้างอะไรบางอย่างเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป

ความต้องการทั้ง 4 อย่าง จะต้องมีความสมดุลกัน จึงจะเกิดพลังชีวิตที่จะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีความสุข และไม่เกิดความย่อท้อหรือเบื่อหน่าย



การจัดความสำคัญก่อนหลัง เพื่อความสำเร็จในชีวิต
การบริหารเวลา หรือการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องของการใช้วิจารณญาณในการรู้แล้วเลือก ดังนั้นการมีวิจารณญาณที่ดีจะช่วยให้เราสามารถเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสมดุล



วิจารณญาณในการรู้แล้วเลือกที่ดีประกอบด้วยปัจจัย 4 อย่าง คือ

• Self-awareness หรือการรู้จักตัวเอง คือรู้ว่าตัวเราเองเป็นเช่นไร คิดอะไรอยู่ อยู่ในอิริยาบถไหน และมีอารมณ์กับความรู้สึกต่าง ๆ ในแต่ละขณะเป็นอย่างไร รวมทั้งรู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร และรู้ว่าเราชอบอะไร มีความถนัดทางด้านไหน

• Conscience คือหิริโอตตัปปะ หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่อยู่ภายในจิตสำนึก โดยรู้ได้จากเสียงที่อยู่ภายในตัวเรา (Inner voice) ที่จะเกิดขึ้นเมื่อจิตใจค่อนข้างสงบและมีแต่ความรู้สึกเพียงอย่างเดียว

• Independent will คือการมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ สามารถเลือกและตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง จะเกิดขึ้นได้ต้องหัดตั้งเป้าหมายในชีวิตและต้องทำให้ได้ หัดรักษาคำสัญญาต่อตนเองและผู้อื่น และอย่าให้อารมณ์มีความสำคัญกว่าสิ่งที่ทำอยู่

• Creative imagination คือการมีจินตนาการที่กว้างไกล คนที่จะมีจินตนาการได้จะต้องมีความสามารถที่จะมองเห็นภาพจากภายในใจได้ และต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ และกล้ายอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้



รากฐานที่สำคัญของการมีชีวิต 4 ประการ

• To live คือการมีชีวิตที่สอดคล้องกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี สอดคล้องกับเข็มทิศที่ติดตัวมาแต่เกิด หรือศักยภาพสูงสุดที่คนอื่นจะมีไม่เหมือนเรา ตราบใดที่ยังไปไม่ถึงจุดหมายมที่เข็มทิศของชีวิตชี้ไว้ชีวิตเราก็จะไม่มีความสุข

• To love คือการใช้ชีวิตอย่างเผื่อแผ่ และเอื้ออาทรต่อผู้อื่น เพื่อความร่มเย็นและความสงบสุขในสังคม

• To learn คือการเรียนรู้จากการกระทำและการใช้ชีวิตของตัวเองในแต่ละวัน เพื่อให้มีการยกระดับคุณภาพของจิต และคุณภาพของชีวิตให้ดีขึ้นทุกวัน

• To leave a legacy คือการที่เราได้สร้างประโยชน์เพื่อสังคมและคนรุ่นต่อไป



การบริหารเวลา หรือการบริหารชีวิต จำเป็นต้องมีความสมดุลในทุก ๆ ด้าน มิฉะนั้นทุกอย่างจะจบลงที่ความเครียด และความล้มเหลวในด้านต่างๆ



************************************************************************************************
เครดิตเว็บ ดร.บุญชัย โกศลธนากุล









Create Date : 01 พฤษภาคม 2554
Last Update : 1 พฤษภาคม 2554 1:53:39 น.
Counter : 613 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  

ลามูเต้
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]



ไทป์ 5....การง่วนอยู่กับรูปแบบที่คุ้นเคยจนสามารถมองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเห็นมาก่อนได้
All Blog