Welcome to twojay's weblog...
Group Blog
 
All Blogs
 

คุยกับผม.. (ว่าด้วยเรื่องสกุล "สุขุม" และเจ้าพระยายมราช)

เผอิญได้เข้ามาเช็คบล็อกตามโอกาส (เช็คเรตติ้ง) และพบว่ามีท่านผู้อ่านได้กรุณามาให้คอมเมนท์เอาไว้บ้าง กระจัดกระจายตามบล็อกต่างๆ ซึ่งหลังจากที่ผมได้ปิดบล็อกมาระยะหนึ่ง คอมเมนท์ต่างๆที่ว่าจึงมักจะมาอยู่ในกรุ๊ปบล็อกเจ้าพระยายมราช ซึ่งเข้าใจว่าคงตามมาเจอจากเสิร์ชเอนจิ้น และแขกที่มาเยือนก็มักจะเป็นลูกหลานเชื้อสายท่านเจ้าคุณยมราชฯ

ขอขอบคุณและขออนุญาตสวัสดีทักทายตรงนี้นะครับ จริงๆแล้ว แม้ว่าผมจะประกาศปิดบล็อกเอาไว้ในกรุ๊ปบล็อก Miscellaneous คือไม่ค่อยจะมีเรื่องราวอะไรยาวๆมาเล่า อาจจะได้มาตอบสั้นๆบ้างแล้วแต่โอกาส แต่เอาเป็นว่า ผมจะเปิดบล็อกนี้เอาไว้สำหรับพูดคุยและรวมญาตินะครับซึ่งยินดีต้อนรับเสมอไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทหรือมิตรสหาย (ยินดีต้อนรับทุกๆท่านครับ ใครๆก็เข้ามาคุยกันได้)

อยากจะมีโอกาสได้คุยกับทุกๆท่านมากขึ้นนะครับ เพื่อที่จะเป็นการสานสัมพันธ์และร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานรุ่นหลังๆ
ทุกวันนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทราบข้อมูลประเภท “บอกเล่ากันต่อมาปากต่อปาก” ก็ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว ลูกหลาน “สุขุม” รวมถึงสกุลอื่นๆซึ่งเกี่ยวดองกัน ก็แตกแขนงออกไปมากมาย จนแทบจะไม่รู้จักกันแล้ว จะถามกันทีนึงว่าเป็นญาติสายไหน ต้องไล่ไปถึงรุ่นปู่ย่าตายาย ถึงพอจะนึกออก หากได้มีลูกหลานรุ่นปัจจุบันเข้ามาร่วมกันถ่ายทอดข้อมูลและเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็จะดีไม่น้อยครับ




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 17 ธันวาคม 2555 2:52:34 น.
Counter : 9220 Pageviews.  

อารัมภบทจาก twojay และภาคปกิณกะ

ผมเปิดบล็อกนี้ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่จะจัดเป็นพื้นที่ชั่วคราว(หรืออาจจะถาวร)สำหรับรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสายสกุลสุขุม โดยข้อมูลทั้งหมดจะพยายามค้นหาจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือเว็บไซท์ของสกุลสุขุมซึ่งมีผู้รวบรวมไว้บ้างแล้ว เช่นเว็บไซท์ของคุณหมอประดับ สุขุม ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณอาของผม (ถือโอกาสเรียนขออนุญาตมา ณ ที่นี้ครับ) และนอกจากนี้ผมยังมีเพื่อนผู้ที่กรุณาให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีในที่นี้ คือคุณนิค NickyNick ซึ่งมีสายเลือดสุพรรณฯเช่นเดียวกับผม แม้จะคนละนามสกุลกัน ก็ถือว่าเป็นญาติกัน อีกท่านนึงคือ คุณกัมม์ ซึ่งทั้งสองท่านนี้สิงสถิตอยู่ ณ พันทิป ห้องสมุดครับ

ผมจะเริ่มต้นด้วยการนำประวัติของเจ้าพระยายมราชมาลงก่อน ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ ๓ พระองค์ ทรงพระนิพนธ์และทรงแต่ง คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ภาคที่ ๑, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงแต่งภาคที่ ๒ ตอนที่ ๕-๖, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงแต่งตอนที่ ๗ และทั้งหมดนี้คัดมาจากเว็บไซท์ของ นพ.ประดับ สุขุม ครับ

เว็บไซท์ที่เกี่ยวข้องครับ

Sukhum Site

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)-วิกิพีเดีย

เพชรพระมหามงกุฎ - เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

เจ้าพระยายมราช-คลังปัญญาไทย


ในบล็อกนี้ ผมจะเปิดไว้สำหรับเติมข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งต่อไปหากผมและคุณ NickyNick พอมีเวลา ก็จะค่อยหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆมาใส่เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับญาติพี่น้องสายสุพรรณหรือสงขลา ข้อมูลในรุ่นลูกหลานของท่านเจ้าพระยายมราช เป็นต้น




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2550    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2552 5:16:26 น.
Counter : 4748 Pageviews.  

ประวัติของมหาอำมาตย์นายกเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) : คำนำ คำไว้อาลัย











คำนำ

จำเดิมแต่ท่านเจ้าพระยายมราชถึงอสัญญกรรม ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นศพหลวง บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานเป็นงานหลวงโดยลำดับจนตลอด กระทั่งกาลที่สุดซึ่งจะได้พระราชทานเพลิงครั้งนี้ เป็นเหตุให้บุตรธิดาและบรรดาผู้อยู่ในครอบครัวท่านตลอดจนมิตรสหาย มีความปีติยินดีในพระมหากรุณาเป็นอย่างยิ่ง ในระวางเวลาที่ตั้งศพอยู่ก็ได้พากันหาโอกาสบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ท่านแซกการพระราชกุศลตามกำลังและฐานานุรูป จนมิได้เว้นว่างแต่ละคืน บัดนี้ถึงวาระที่สุดแห่งงานศพ บรรดาบุตรธิดาและครอบครัวท่านปรารถนาจะได้โดยเสด็จฯ งานพระราชกุศลนอกจากด้วยการทำบุญถวายพระนั้นอีกด้วย จึงพร้อมใจกันพิมพ์สมุดนี้ขึ้นเป็นที่ระลึกถึงท่านเรื่องหนึ่ง


ในสมุดนี้เนื้อเรื่องเป็นสำเนาพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระราชทานแด่ท่านเจ้าพระยายมราชระวางรัตนโกสินทรศก ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ซึ่งเป็นปีที่สวรรคต เห็นว่าพระราชหัตถเลขาเหล่านี้นอกจากที่จะสำแดงพระราชหฤทัยสนิธเสน่หาแด่ท่านเจ้าพระยายมราชเป็นอย่างน่าจับใจแล้ว ยังมีประโยชน์ในทางศึกษาประวัติแห่งราชการแผ่นดินส่วนหนึ่งด้วย ทั้งจะได้เป็นการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นโดยที่เป็นการเผยแผ่พระราชาธิบายอันสุขุมในกิจราชการต่างๆ ให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศในพระองค์ แม้ท่านเจ้าพระยายมราชได้สามารถทราบดังนี้แล้ว เชื่อแน่ว่าท่านคงจะยินดีเห็นชอบด้วยเป็นอย่างยิ่ง


โดยปกติหนังสือแจกในโอกาสเช่นนี้มักมีประวัติท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นด้วย ได้ปรึกษากันเห็นว่าสำหรับประวัติท่านเจ้าพระยายมราชนั้น หากจะช่วยกันค้นคว้ารวบรวมขึ้นโดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่ทั้งในบ้านและในหนังสือราชการก็อาจทำเป็นเรื่องติดต่อกันได้จริง แต่ก็จะเป็นเพียงการเขียนโดยฝีมือคนรุ่นหลัง ย่อมจะขาดความคุ้นเจนแก่ตัวท่านในสมัยแต่ก่อนๆ จึงพร้อมใจกันกราบทูลขอพระกรุณาแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะพระองค์ท่านเป็นผู้เคยทรงใฝ่พระทัยสังเกตเห็นค่าแห่งท่านเจ้าพระยายมราชมาแต่ยังอุปสมบท ได้ทรงปลูกฝังชุบเลี้ยงไว้ในราชการตั้งแต่เป็นครูสามัญ กระทั่งถึงเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล และผู้แทนปลัดทูลฉลองภายใต้บังคับบัญชาของพระองค์ท่านมา นอกจากนั้นยังได้ทรงมีส่วนใหญ่ในการที่จะชักนำให้ท่านได้เข้าเฝ้าแหนคุ้นเคยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยพอที่จะทรงเลือกขึ้นสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีอันเป็นขีดสูงสุดแห่งอันดับราชการในสมัยนั้นอีก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์นั้นก็ทรงพระเมตตารับแต่งประวัติตั้งแต่ต้นมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕ ด้วยอาการอันจักเห็นได้ชัดว่าทรงโดยเต็มพระทัย แม้ว่าการนี้จำต้องรีบเร่งเพราะงานกระชั้นเข้ามาแล้วก็ดี แต่ท่านก็มิได้ละลดพระอุตสาหะ ต้องทรงสละพระสำราญ และฝืนพระอิริยาบถเพื่อทรงอุปการะท่านผู้ล่วงลับไป ดังปรากฎจากลายพระหัตถที่ประทานมา เนื่องในการสอบสวนข้อความสำหรับประวัตินี้ตอนหนึ่งว่า "รู้สึกลำบากมากด้วยท่านเป็นอัจฉริยบุรุษ มีเรื่องซึ่งจะต้องเขียนลงในประวัติมากกว่าผู้อื่น ฯลฯ…………………….

ฉันแก่ชราความคิดก็ล้าไม่รวดเร็วเหมือนแต่ก่อน และร่างกายก็ทนงานหนักไม่ไหว เช่นเขียนเรื่องประวัตินี้ก็เขียนแต่ในตอนเช้าตอนเย็นปัญญาทึบเขียนก็ไม่ดี แม้ในตอนเช้าเขียนไปพักหนึ่งเจ็บหลังทนไม่ไหวก็ต้องลงนอนเสียครู่หนึ่ง พอหายเจ็บหลังจึงกลับนั่งเขียนใหม่ เพราะความรักเจ้าคุณยมราชอย่างเดียวที่จูงใจให้ฉันยอมทนความลำบาก"


ส่วนประวัติต่อมานั้น ตอนรัชกาลที่ ๖ ที่ ๗ ก็ได้อาศัยความเมตตากรุณาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงดำรงตำแหน่งเลขานุการเสนาบดีสภาได้ทรงทราบเรื่องของท่านเจ้าพระยายมราชอยู่เป็นอันมาก และในสมัยรัชกาลที่ ๗ ต่อมา ก็ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทั้งนี้มีพระยาศรีธรรมาธิราช และพระยาวิชิตสรไกรซึ่งเคยร่วมงานกับท่านเจ้าพระยายมราช ในกระทรวงนครบาลและกระทรวงมหาดไทยตลอดมาในสมัยนั้น ช่วยเหลือค้นคว้าหลักฐานเท่าที่จะทำได้ จะหาใครที่เหมาะกว่าไม่ได้เป็นแน่ ตอนสุดท้ายสำหรับระยะเวลาที่ท่านกลับเข้าสนองพระเดชพระคุณอีกในรัชกาลปัจจุบัน ก็เผอิญเป็นเคราะห์ดีที่ได้รับพระอนุเคราะห์จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตยทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระองค์ท่านได้ร่วมราชการในคณะเดียวกันกับท่านผู้ล่วงลับไป จะหาผู้ใดรู้ลักษณะงานที่ท่านต้องทำในยุคนี้ดีไปกว่าท่านก็เห็นจะยากยิ่ง ทั้งนี้บุตรธิดาทุกคน ย่อมรู้สึกทราบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของท่านผู้เคยร่วมราชการกับท่านเจ้าพระยายมราชเป็นที่สุด จนยากที่จะกล่าวพรรณนาให้สมรู้สึกนั้นได้

อนึ่ง ท่านผู้หลักผู้ใหญ่บางพระองค์บางท่านได้ทรงพระเมตตาและกรุณารจนาคำไว้อาลัยในท่านเจ้าพระยายมราชมาสำหรับพิมพ์ในหนังสือนี้อีกด้วย ขอถือโอกาสนี้บันทึกความรู้สึกพระเดชพระคุณของท่านไว้ในที่นี้ และได้จัดพิมพ์คำไว้อาลัยเหล่านั้นลงในสมุดนี้แล้ว

บ้านศาลาแดง
วันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑


*************************************

คำไว้อาลัย


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

ไว้อาลัย
แด่ท่านเจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในการพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นี้ บรรดาบุตร์และธิดาของท่านผู้ถึงอสัญญกัมม์ ได้ขอให้ข้าพเจ้าช่วยเรียบเรียงประวัติของท่านเจ้าพระยายมราช สมัยในรัชชกาลที่ ๘ ฉะเพาะตอนที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์(๑) กับขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำไว้อาลัยแด่ท่านเจ้าพระยายมราชด้วย


โดยคำขอร้องของบุตร์ธิดา แห่งท่านผู้วายชนม์ดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้ายินดีรับจะเขียนส่งมาให้ทั้งสองประการตามปรารถนา แต่โดยที่เวลาต้องการของผู้ขอ จำเพาะมาประจวบกับเวลาที่ข้าพเจ้ามีราชการอื่นชุกอยู่มาก โอกาศไม่อำนวยให้ข้าพเจ้าได้มีเวลารำลึกนึกคิดได้เท่าที่ควร จึ่งจำต้องขออภัยไว้ในที่นี้ด้วย


ก่อนอื่น ข้าพเจ้าใคร่จะขอกล่าวไว้เสียก่อนว่า ข้าพเจ้าไม่สู้จะสันทัดในการเขียนประวัติของผู้วายชนม์ และยิ่งโดยฉะเพาะมาถูกขอร้องให้เรียบเรียงประวัติของท่านเจ้าพระยายมราช ซึ่งท่านเป็นผู้ที่เพียบพร้อมกอร์ปไปด้วยคุณงามความดีอันยอดเยี่ยมที่จะพรรณนาได้ ก็ยิ่งหนักใจไม่น้อย แต่เพื่อให้สมศรัทธาของบุตร์ธิดา ข้าพเจ้าจึ่งได้เรียบเรียงขึ้นเพียงเท่าที่โอกาศจะอำนวยได้ปรุงฉะเพาะแต่ตอนที่ท่านผู้วายชนม์ได้รับราชการในตำแหน่งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับข้าพเจ้าจนถึงวาระสุดท้ายที่ท่านได้ถึงอสัญญกัมม์ ทั้งนี้ย่อมต้องมีการขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง เพราะเหตุดั่งกล่าวแล้วข้างต้น


ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้ร่วมราชการในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยกับท่านเจ้าพระยายมราช ตั้งแต่เริ่มแรกที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ พอรุ่งขึ้นจากวันประกาศตั้ง ข้าพเจ้าก็มีโอกาศได้ร่วมปรึกษาหารือข้อราชการแผ่นดิน และราชการส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์กับท่านแต่นั้นมา ข้าพเจ้ากล่าวได้ด้วยความจริงใจว่า ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ท่านเจ้าพระยายมราชได้แสดงความคิดความเห็นในข้อราชการล้วนแต่เป็นคุณเป็นประโยชน์อันสำคัญยิ่ง เป็นแนวทางบริหารราชการทั้งในส่วนราชการแผ่นดินและราชการส่วนพระองค์ให้ต้องตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อจรรโลงสยามรัฐให้เจริญยิ่งขึ้นอยู่เสมอ ท่านเจ้าพระยายมราชเป็นอัจฉริยอำมาตย์ ผู้ถึงพร้อมแห่งรัฐประศาสโนบายในการปกครองที่เหมาะสมทันสมัยทุกยุคทุกกาละอันจะหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ประกอบทั้งเป็นผู้ที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารีสุขุมคัมภีรภาพเป็นที่เคารพยำเกรงของผู้ที่คุ้นเคยวิสาสะทุกรูปทุกนาม ความอุตสาหะพิริยะอันแรงกล้าของท่านก็ได้สำแดงให้ปรากฎแก่ข้าพเจ้าและผู้ที่ร่วมหน้าที่ราชการด้วยกันมา อย่างเข้มแข็งและมานะอดทนเป็นอย่างยิ่ง ในบางโอกาศเมื่อมีราชการในหน้าที่ชุกหรือฉุกเฉินแม้ข้าพเจ้าจะได้ขอร้องให้ท่านได้พักผ่อนหย่อนอารมณ์เพื่อบำรุงกำลังและสังขารร่างกายให้มีอนามัยดีขึ้น เนื่องด้วยท่านมีอายุมากเข้าในเขตต์ชะรา เกรงว่าถ้าฝืนสังขารเกินไปอาจจะเจ็บป่วยลงได้แต่ด้วยความเข้มแข็งแห่งกำลังน้ำใจของท่าน ท่านมิได้ท้อถอยหรืองดเว้น ความมานะและอดทนเร้าให้ท่านพยายามและสามารถมาปฏิบัติราชการในหน้าที่ด้วยความแช่มชื่นตามปรารถนาของท่านจนได้ ต่อเมื่อไม่สามารถจะมาปฏิบัติราชการได้จริงๆ จึ่งจะขอทุเลาถึงแม้กระนั้น ถ้าเป็นราชการเร่งร้อนฉุกเฉินก็ยังยอมให้ไปปรึกษาหารือที่บ้านท่านได้ทุกเมื่อ อันเป็นความจริงบางคราวถึงต้องนำเสนอข้อราชการในขณะที่ท่านกำลังนอนเจ็บไข้อยู่ก็มี ทั้งนี้แสดงให้เห็นประจักษ์ในน้ำใจของท่าน เพื่อบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์โดยแท้ สู้ยอมสละความสุขส่วนตัวอุทิศเวลาให้แก่ราชการทุกเมื่อ ซึ่งเป็นที่ตระหนักในความอุตสาหะวิริยะอันแรงกล้า ประกอบด้วยความมานะอดทนของท่านอย่างเหลือที่จะพรรณนาได้


ในส่วนตัวสำหรับท่านเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากล่าวด้วยน้ำใสใจจริงได้ว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้ายกย่องเคารพนับถืออย่างบริสุทธิใจ ท่านได้มีความเมตตาอารีแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก ทั้งได้เคยแนะนำสั่งสอนให้โอวาทต่างๆ อันล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ราชการเป็นเอนกประการ ซึ่งข้าพเจ้าเคยนำไปใช้ในแนวทางบริหารราชการอยู่เสมอ อันความคุ้นเคยสนิทสนมนั้น ถ้าจะนับเนื่องมาก็ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเด็กอยู่ได้เคยเคารพนับถือยำเกรงท่านเป็นอันมาก ตลอดกระทั่งข้าพเจ้ามีหน้าที่ราชการก็ยังได้ติดต่อเรื่อยมาจนในที่สุดถึงมาได้ร่วมราชการแห่งเดียวกัน ความสัมพันธและความเคารพนับถือได้ทวีแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ท่านเจ้าพระยายมราชเป็นผู้ที่เพียบพร้อมในการรักชาติ, สาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงประจำอยู่เป็นเนืองนิจตั้งตนอยู่ในฐานะอันควรคาระวะน่าเลื่อมใสแก่บุคคลทั่วไปเป็นอันดี มีน้ำใจโอบอ้อมอารี มีเมตตาจิตต์ต่อบุคคลทุกชั้นทุกวัย จึ่งเป็นปัจจัยให้บังเกิดความเลื่อมใสเคารพนับถือ บรรดาข้าราชการตลอดจนคหบดี พ่อค้า ประชาชน ต่างพากันสรรเสริญในคุณงามความดีของท่านโดยทั่วไป


การที่ท่านมาถึงอสัญญกัมม์ลงนี้ จึ่งกระทำให้ข้าพเจ้าเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้ง และอาลัยในความเมตตาอารีที่ท่านเคยมีแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนหน้าที่ราชการก็ต้องมาขาดผู้ที่เคยร่วมกันปรึกษาหารือข้อราชการที่มีคุณมีประโยชน์อันเหลือหลายไปเสียท่านหนึ่ง ไม่แต่ข้าพเจ้าเท่านั้นที่ได้รับความเศร้าสลดใจที่ท่านได้มาจากไปโดยไม่มีเวลาจะได้เห็นหน้ากันอีก ถึงแม้ท่านทั้งหลายที่คุ้นเคยเคารพนับถือท่านคงพากันเต็มตื้น และเศร้าสลดใจโดยทั่วหน้า ปรากฎว่าทั้งในและนอกพระราชอาณาเขตต์ต่างแสดงความเสียใจอาลัยมามากมาย ด้วยคุณงามความดีของท่านที่ได้มีอยู่แก่บุคคลโดยทั่วไปดั่งกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าหวังว่า ในโอกาศพระราชทานเพลิงศพนี้ ท่านทั้งหลายคงจะยินดีมาไว้อาลัยในงานนี้เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ท่านผู้ล่วงลับโดยพร้อมเพียง

อาทิตย์ทิพอาภา
พระที่นั่งอุดร
พระราชวังดุสิต
วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑


(๑) ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ - ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๐



เจ้าพระยาพิชเย็นทร์โยธิน

ไว้อาลัย

ท่านเจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พระยาสุขุมนัยวินิต บุตรชายคนใหญ่ของท่านเจ้าพระยายมราชมีหนังสือมาขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำไว้อาลัยแด่ท่านเจ้าพระยายมราชเพื่อจะเข้าเล่มพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ข้าพเจ้ายินดีรับเขียนให้ตามความประสงค์ ด้วยท่านผู้ถึงอสัญญกัมม์ได้เป็นผู้ที่ข้าพเจ้าเคยเคารพนับถือรักใคร่กับท่านมาเป็นเวลาช้านานประการหนึ่ง กับทั้งได้ร่วมราชการในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยกันจนถึงวาระสุดท้ายที่ท่านได้ถึงอสัญญกัมม์


อันเกียรติคุณความดีของท่านเจ้าพระยายมราชมีเพียงใด เห็นจะเป็นการยากที่จะพรรณนาให้ละเอียดได้ ณ ที่นี้ เข้าใจว่าจะปรากฎอยู่ในประวัติของท่านแล้ว ข้าพเจ้าขอกล่าวแต่บางส่วนเท่าที่ข้าพเจ้าได้เคยร่วมเคยเห็นและด้วยความรู้สึกที่ข้าพเจ้าพอจะรำลึกได้ไว้พอเป็นสังเขป


ท่านเจ้าพระยายมราช ท่านเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจจริต พร้อมด้วยความจงรักภักดีต่อชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยอดเยี่ยมผู้หนึ่ง ในสมัยที่การปกครองแผ่นดินเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย ท่านก็มั่นอยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ราชการแผ่นดินและราชการส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์นับว่าท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาในตำแหน่งสูงและสำคัญๆ ล้วนเป็นคุณประโยชน์แก่แผ่นดินมาเป็นเอนกประการ เป็นที่พอพระราชหฤทัยแก่พระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อนๆ เป็นอันมาก ดังจะเห็นได้จากที่ท่านได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ และเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ล้วนแต่ชั้นสูงสุดกว่าอำมาตย์ทั้งหลาย


ในสมัยรัชชกาลที่ ๖ ข้าพเจ้าเคยได้รับราชการร่วมกับท่านหลายคราว เช่นในคราวมีการประลองยุทธกองเสือป่าแทบจะทุกปีเพราะท่านมีตำแหน่งเป็นนายกองใหญ่เสือป่า บังคับบัญชากองเสือป่ากรุงเทพฯ และลูกเสือ ฯลฯ เข้าทำการประลองยุทธกับกองเสือป่าเสนาหลวงรักษาพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำ ข้าพเจ้าสังเกตว่าท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุขุมรอบคอบ ประกอบด้วยความโอบอ้อมอารีมีเมตตาจิตต์ คอยช่วยเหลือเกื้อหนุนเอาใจใส่ดูแลในสุขภาพและอนามัยของบรรดาผู้ที่อยู่ในใต้บังคับบัญชาประดุจบิดากับบุตร จนเป็นที่นิยมรักใคร่นับถือ ต่างพากันสรรเสริญโดยทั่วไป ทั้งนี้เป็นที่ตระหนักในคุณงามความดีของท่านอันมีอยู่แก่บุคคลทั่วไปทุกรูปทุกนามทุกชั้นทุกวัย จึงเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก


ครั้นมาในรัชชสมัยแห่งรัชชกาลที่ ๘ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงราชย์ ท่านเจ้าพระยายมราชก็ได้รับตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยผู้หนึ่ง ตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายที่ท่านถึงอสัญญกัมม์ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมราชการในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับท่านด้วย ตามความสังเกตของข้าพเจ้ากล่าวได้ว่า ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้มีอายุย่างเข้าในเขตต์ปัจฉิมวัยแล้วก็ดี ท่านก็ได้ปฏิบัติราชการในหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งมานะอดทนสำเร็จประโยชน์เป็นอย่างดียิ่งเสมอ ความทรงจำในกิจการหรือขนบธรรมเนียมประเพณีใดๆ ที่ท่านเคยผ่านมาแล้ว ท่านยังจำได้และชี้แจงแสดงเหตุผลได้อย่างแม่นยำ ท่านให้ความคิดความเห็นเป็นคุณประโยชน์แก่การบริหารราชการในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นอันมาก อันราชการทางส่วนพระองค์ท่านก็ปฏิบัติมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีอยู่เป็นเนืองนิจเป็นที่โปรดปรานพอพระราชหฤทัยยิ่ง จนได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๑ แลด้วยเหตุว่าท่านเจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์และเครื่องอิสสริยยศอื่นๆ สูงกว่าข้าราชการทั้งหลายจะพึงได้รับพระราชทานมาแล้วแต่ในรัชชกาลก่อนๆ จึงเนื่องในงานพระราชพิธีสมโภชในการเสด็จพระราชดำเนินกลับมาเยี่ยมราชอาณาจักรครั้งนี้ ท่านเจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานถาดชาทองคำ อันเป็นเครื่องอิสสริยยศสูงศักดิ์เทียบเท่าที่พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นเกียรติยศ นับว่าท่านเป็นข้าราชการที่ประกอบด้วยเกียรติคุณเกียรติยศ อันสูงสุดยากที่จะหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก เมื่อท่านได้มาถึงอสัญญกัมม์ลงดังนี้ จึงกระทำให้บังเกิดความเศร้าสลดใจอันสุดซึ้งของข้าพเจ้าและผู้ที่คุ้นเคยเคารพนับถือท่านโดยทั่วกัน

พิชเยนทรโยธิน
บ้านถนอมพระอาทิตย์
พระนคร
กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑



สมเด็จพระสังฆราช

ยมราชานุสสร
การถึงอสัญญกรรมของเจ้าพระยายมราช นำมาซึ่งความสลดใจแลอาลัยถึง เพราะต่างได้นับถือแลคุ้นเคยสนิทสนมกันมานานตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร ทั้งมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นพระอุปัชฌายะร่วมกันด้วย นำให้รู้สึกว่าขาดคนสำคัญดีไปคนหนึ่ง ซึ่งจะหาอย่างนี้ได้เป็นยากอย่างยิ่ง ฯ


สิ่งใดในโลก เมื่อเกิดและเจริญขึ้น ถ้าดีก็น่าชมน่านิยมยินดีแต่ที่สุดก็เดินเข้าหามฤตยูทั้งหมด เพราะมฤตยูมีอำนาจเหนือกว่า แม้โลกคือมวลมนุษย์ก็มีคติเช่นนั้น เจ้าพระยายมราชก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งถูกมฤตยูเด็ดชีวิตให้ศูนย์ไปจากโลก ต่างพากันเศร้าโศกและเสียดายเป็นอันมาก ฯ


แต่มีพระพุทธภาษิตเป็นเครื่องปลุกใจอยู่ข้อหนึ่งว่า "ธรรมเป็นสภาวะไม่ตาย" เพราะธรรมมีอำนาจเหนือมฤตยู ท่านเรียกว่า "อมฤตธรรม" เจ้าพระยายมราชแม้ศูนย์จากโลก ก็ชื่อว่าศูนย์ไปฉะเพาะร่างกาย แต่ธรรมคือความดีชอบของท่านไม่ศูนย์ยังมีเกียรติขจรอยู่ทั่วทิศ เป็นเหมือนคันธชาติชนิดอุกฤษฐ์หอมหวนทวนลมไปได้ไม่ขัดขวาง เป็นทางให้เกิดนิยมยินดีในสัมนาปฏิบัติ นี่เป็นความจริงที่ได้ประจักและน่าอัศจรรย์ ฯ


อันความดีความชอบของเจ้าพระยายมราชนั้น มีอาทิคือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิปรีชาสามารถเฉียบแหลม มีความประพฤติสม่ำเสมอเป็นลำดับ รับราชการสนองคุณประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ด้วยความจงรักภักดีไม่มีเสียหายตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลปัตยุบัน มีความเจริญรุ่งเรืองด้วยเกียรติยศไม่มีเวลาตกต่ำ จนถึงได้ดำรงตำแหน่งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นที่สุด ซึ่งนับว่ามีอิสสริยยศอันสูงยิ่งเป็นศรีแก่ประเทศชาติแลสกุลวงศ์ แม้ทางพระพุทธศาสนาท่านก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งมีศรัทธาปสาทะมั่นคง ดำรงอยู่ในสุจริตธรรมมีขันติและเมตตาเยือกเย็นแก่ชนทุกชั้น ตลอดสมณชีพราหมณ์ชาวต่างประเทศ แลมีเจตนาอันแรงกล้าที่จะเชิดชูพระพุทธศาสนาให้เจริญแพร่หลายเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ประชาชาติตามกาลสมัยฯ


ชีวิตของท่านสดชื่น เพราะประกอบไปด้วยเกียรติคุณดังนี้จึงเป็นสง่าราศรีแก่สกุล "สุขุม" ทั้งเป็นการเตรียมตัวเพื่อโลกใหม่ของท่านด้วย ส่วนชีวิตใหม่ของท่านน่าจะเป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่านี้ เพราะแสงแห่งความดีคอยอภิบาลให้ร่าเริงบรรเทิงใจในโลกหน้า ฯ


กุศลใดที่คณะกุลทายาทได้จัดทำเพื่ออุทิศสนองคุณ ขอกุศลนั้นจงสำเร็จเพื่อประโยชน์สุขแก่ท่าน ตามฐานนิยม เทอญ ฯ


สมเด็จ พระสังฆราช



นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

ไว้อาลัย

ท่านเจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ข้าพเจ้ามีความเคารพนับถือท่านเจ้าพระยายมราชมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ทั้งก่อนที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และภายหลังที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งนั้นมาแล้ว


ในการที่ข้าพเจ้าได้มีส่วนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งท่านเจ้าพระยายมราชให้ดำรงตำแหน่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้หนึ่งนั้น ก็เพราะปรากฎว่าท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเคยได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณและสนองคุณชาติมาหลายรัชชกาลแล้ว ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและความสามารถอันเหมาะสมแก่ตำแหน่งราชการสำคัญๆ ที่ท่านได้เคยดำรงมาแล้วแต่ก่อน ท่านเป็นผู้ที่มีกิริยามารยาทสุภาพอ่อนโยน มีความเมตตากรุณาต่อผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยไม่ถือตัว ท่านมีความรู้แจ้งชัดจัดเจนในทางพระศาสนา มีความเลื่อมใสในคติธรรมเป็นที่ตั้งท่านได้ทำคุณงามความดีสนองคุณประเทศชาติตลอดจนฉลองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ในส่วนพระองค์มานานัปปการ จึงเป็นที่เคารพรักใคร่โดยทั่วไป


ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความไว้อาลัยโดยทราบซึ้งในจิตต์ใจไว้ ณ ที่นี้ด้วย


พ.อ. พหลพลพยุหเสนา



นายนาวาอากาศเอก หลวงพิบูลสงคราม

ไว้อาลัย

นายนาวาอากาศเอก เจ้าพระยายมราช

เจ้าคุณสุขุมนัยวินิต ได้มีหนังสือขอร้องข้าพเจ้าให้เขียนคำไว้อาลัยในท่านเจ้าพระยายมราช เพื่อนำลงพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพท่าน ข้าพเจ้ารับสนองด้วยเต็มใจเหตุเพราะท่านผู้ล่วงลับได้เคยมีเมตตากรุณาข้าพเจ้ามาแต่หนหลังอย่างจับใจยิ่ง ทั้งข้าพเจ้าก็รักและเคารพท่านโดยลำดับกาลตลอดมา
ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้าพเจ้ารักและเคารพท่านนั้นเป็นความจริงในใจของข้าพเจ้า ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นท่านเจ้าพระยายมราชปฏิบัติราชการเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมาโดยเอนกนับจำเดิมตั้งแต่ท่านได้เริ่มรับภาระของชาติในหน้าที่สำคัญตลอดมาจนถึงวันอนิจจกรรม ท่านได้สร้างความดีความเจริญไว้แก่แผ่นดินเป็นหลักฐานสืบมาจนมากมายหลายประการ สมกับเป็นมุขอำมาตย์ผู้ถึงพร้อมด้วยอัจฉริยะของชาติไทยมาตลอดทุกกาลสมัย โดยฉะเพาะอย่างยิ่งในกิจการของทหารก็ได้สนับสนุนแทบทุกวิถีทาง มีข้อสำคัญที่ควรกล่าวอาทิเช่น ดำเนินการใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารในมณฑลกรุงเทพฯ ให้เรียบร้อยสมบูรณ์เหมือนกับมณฑลภายนอก ในคราวมหายุทธสงครามก็ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยิ่งกว่านั้น ยังได้ดำเนินการจัดหาเงินบำรุงกองทัพอากาศสมัยเมื่อกำลังยังอ่อนแอ และร่วมการดำริและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการเปิดสนามบินเกือบแทบทุกจังหวัด เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านเจ้าพระยายมราชได้มีคุณแก่ชาติ และเป็นเกียรติเป็นประวัติอันงามในทางการทหาร และการป้องกันประเทศไว้ให้ยืนยงคงคู่กับสยามรัฐสีมาอาณาจักร์ นอกจากนี้ยังมีคุณงามความดีอีกมากมายหลายประการ ซึ่งท่านได้สร้างสมไว้ และจะได้สถิตเป็นอนุสสรณีย์เชิดชูประวัติของท่านไปอีกหลายชั่วอายุคน
ท่านเจ้าพระยายมราชเป็นผู้กอร์ปด้วย คุณธรรมอันงามทุกลักษณะ เป็นผู้มีนิสสัยสัตย์ซื่อ ถือกตัญญูเป็นที่ตั้ง มีอัธยาศัยอ่อนโยนโอบอ้อมอารี มีมรรยาทสุภาพละมุนละไม มีวาจาอ่อนหวานน่ารักน่านับถือ เป็นที่ควรเคารพแก่ผู้ที่ได้พบปะทุกคน คุณธรรมสำคัญๆ เหล่านี้ยังผลให้มหาชนเกิดความนิยมชมชอบในตัวท่านเป็นอันมาก การจากไปของท่านโดยไม่มีเวลาคืนกลับครั้งนี้นับเป็นการจากที่เต็มไปด้วยความเสียดายอาลัยรักของชาติไทยและคนไทยส่วนมากรวมทั้งข้าพเจ้าด้วยผู้หนึ่งยังระลึกถึงคุณงามความดีของท่านอยู่มิได้ขาด ท่านเจ้าพระยายมราชสมควรได้รับความยกย่องเป็นคนไทยตัวอย่างที่ควรเคารพทุกสถานะ และสมควรเป็นแบบอย่างอันดีสำหรับบรรดาชาวไทยทุกรุ่นจะพึงยึดถือสืบไป
ข้าพเจ้าขอน้อมคารวะแก่ท่าน แม้ว่าท่านจะได้ล่วงลับไปสู่ปรโลกภพใดๆ ก็ตาม ขอจงเป็นผู้สัมฤทธิในอิฎฐวิบากวิบูลผลเป็นสุขสำราญตามควรแก่ภพนั้นๆ ทุกประการ
ถึงว่าดวงวิญญาณของท่านได้ดับไป เหลือแต่รูปกายที่จะมอดไหม้ลง ณ บัดนี้ แต่ชื่อเสียงคุณงามความดีของท่านก็ยังยืนยงคงคู่กับชาติไทยจนตราบเท่าแทบฟ้าดินสลาย.

นายนาวาอากาศเอก พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

วังสวนกุหลาบ
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๘๑




ท่านเซอร์ ยอแซร์ ครอสบี อัครราชทูตอังกฤษ



All my recollections of Siam are bound up with the late Chao Phya Yomaraj, whose acquaintance I made soon after I first came to this country as a young man some thirty-five years ago. He was then known as Phya Sukhum and occupied the position of High Commissioner of the Provincial Circle of Nagara Sridharmaraj. His exceptional talents were the cause of his Sovereign summoning him soon afterwards to Bangkok, where he held in succession, over a long period of twenty years, the ministerial portfolios of Public Works, Local Government and the Interior. His Excellency was most assuredly a man whom the King delighted to honour, for his brilliant achievements were rewarded by the bestowal upon him by his Royal Masters of distinctions too numerous to mention here. He had already been a most loyal and faithful servant of the State during three Reigns when, in the evening of his days and after he had already retired from the cares and the strenuous labour of official life. he responded once more to the call of duty and assumed the functions of a member of the Council of Regency in the Reign of His present Majesty. Such a record of service must be rare in any land and it justly earned for Chao Phya Yomaraj the affectionate and admiring title of the Grand Old Man of Siam. Among the foreign community of Bangkok he had many devoted friends, for he was essentially tolerant and broad-minded and his patriotism, though ardent, was never exclusive.


Now that His Excellency has gone from our midst, I feel that Siam without him can never be for myself quite what it was before. I had known him for so long, he was in my experience so intimately associated with the Government and he was always so courteous and so friendly in his relations with me, that his death has affected me as a great personal loss. We shall not easily see his like again. But let us realise that in a sense he is not dead, for his memory lives on after him as an example and an inspiration to the younger generation of Siamese who have come into the heritage which he helped to prepare for them, and whose mission it is to lead their country and his on to the high destiny which awaits her.
J. Crosby

BRITISH LEGATION,
BANGKOK




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2550    
Last Update : 25 มิถุนายน 2550 3:12:42 น.
Counter : 5364 Pageviews.  

ตอนที่ ๑ ก่อนเข้ารับราชการ (พ.ศ. ๒๔๐๕ - ๒๔๒๖)

ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์
ตอนที่ ๑ เรื่องประวัติตอนก่อนรับราชการ. (๒๔๐๕ - ๒๔๒๖)
กำเหนิด ปฐมวัย และการศึกษา
มหาปั้น
ทำบุญอธิษฐาน
ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก



มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น ต้นสกุลสุขุม) เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม ปีจอ พ.ศ.๒๔๐๕ สกุลเป็นคฤหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลบ้านน้ำตกริมแม่น้ำฟากตวันออกข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณฯ ไม่ห่างนัก บิดาของท่านชื่อกลั่น มารดาชื่อผึ้ง มีพี่ร่วมบิดามารดา ๕ คนเรียงกันเป็นลำดับดังนี้


๑. พี่ชายชื่อฉาย ได้เป็นที่หลวงเทพสุภา กรมการเมืองสุพรรณบุรีคน ๑
๒. พี่หญิงชื่อนิล เป็นภรรยาหลวงแก้วสัสดี (ดี สุวรรณศร) กรมการเมืองสุพรรณบุรีคน ๑
๓. พี่ชายชื่อหมี ได้เป็นที่พระยาสมบัติภิรมย์ กรมการเมืองสงขลาคน ๑
๔. พี่ชายชื่อคล้ำ ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งในตำบลน้ำตกที่ตั้งเคหะสถานของสกุล คน ๑
๕. พี่หญิงชื่อหยา เป็นภรรยาหลวงจ่าเมือง (สังข์ พิชัย) กรมการเมืองสุพรรณบุรี คน ๑
๖. ตัวเจ้าพระยายมราชเป็นลูกสุดท้อง


เรื่องประวัติเจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นเด็กปรากฎว่าเมื่ออายุได้ ๕ ขวบ บิดามารดาพาไปฝากเรียนหนังสือที่วัดประตูศาลในเมืองสุพรรณ ฯ แต่เรียนอยู่ไม่ถึงปี พอมีงานทำบุญในสกุลเขานิมนต์พระใบฎีกาอ่วม วัดหงสรัตนาราม จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นที่นับถือกันมาแต่ก่อน ออกไปเทศน์แล้วบิดามารดาเลยถวายเจ้าพระยายมราชให้เป็นศิษย์ พระใบฎีกาอ่วมจึงพามาจากเมืองสุพรรณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ เวลานั้นอายุได้ ๖ ขวบ ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เคยได้ยินกรมการเมืองสุพรรณชั้นผู้ใหญ่ในเครือญาติดูเหมือนจะเป็นหลวงยกรบัตรเล่าความหลังให้ฟัง (ในสมัยเมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต) ว่าท่านเป็นลูกสุดท้องเกิดเมื่อบิดามารดามีลูกแล้วหลายคนจนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มี เมื่อยังเป็นเด็กมิใคร่มีใครเอาใจนำพานัก บิดามารดาจึงใส่กัณฑ์เทศน์ถวายพระเข้ามากรุงเทพฯ ที่ว่านี้ตามโวหารของญาติแสดงความพิศวง ด้วยมิได้มีใครเคยหวังว่าเจ้าพระยายมราชจะมาเป็นคนดีมีบุญล้ำเหล่ากอถึงเพียงนั้น แต่เมื่อคิดดูก็ชอบกล ถ้าหากเจ้าพระยายมราชเกิดเป็นลูกหัวปีที่จะเป็นทายาทของสกุลบิดามารดาก็คงถนอมเลี้ยงไว้ที่เมืองสุพรรณ จนเติบใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อถึงเวลาเจ้าพระยายมราชฯ ครอบครองบ้านเรือนบางทีก็จะได้เลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เหมือนอย่างนายคล้ำพี่ชายเคยเป็นมาแต่ก่อน ถ้าสูงกว่านั้นก็ได้เป็นกรมการเช่นหลวงเทพสุภาพี่ชายคนใหญ่ หรืออย่างดีที่สุดก็จะได้เป็นพระยาสุนทรสงครามฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี น่าที่จะไม่มีช่องได้เป็นเจ้าพระยายมราชจนตลอดชีวิต ข้อที่ท่านเกิดเป็นลูกสุดท้องไม่มีใครหวงแหน "ใส่กัณฑ์เทศน์" ถวายพระพาเข้ามากรุงเทพฯ นั้น ควรนับว่าบุญบันดาลให้ท่านเข้าสู่ต้นทางที่จะดำเนินไปจนถึงได้เป็นรัฐบุรุษวิเศษคนหนึ่งในสมัยของท่าน


การศึกษาของเจ้าพระยายมราชเมื่อเข้ามาอยู่วัดหงสฯ ปรากฎว่าแรกมาเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ ๖ ปี ตอนนี้มีเค้าที่จะสันนิษฐานว่าพระใบฎีกาอ่วมเห็นจะเอาเป็นธุระระวังสั่งสอนผิดกับลูกศิษย์วัดอย่างสามัญ เพราะท่านเป็นลูกคฤหบดีที่บิดามารดายกให้เป็นบุตรบุญธรรม ตรงกับศัพท์ที่เรียกว่า "ลูกศิษย์" คือเป็นลูกด้วยเป็นศิษย์ด้วย ข้อนี้มีเค้าอยู่ในกิริยามารยาทของท่านที่ข้าพเจ้าเห็นเมื่อตอนแรกรู้จักกัน ดูสภาพเรียบร้อยผิดกับชาวบ้านนอก ส่อให้สังเกตได้ว่า ท่านได้รับความอบรมมาแต่ครูบาอาจารย์ที่ดี อีกอย่างหนึ่งความรู้ภาษาไทยท่านก็ได้เรียนแต่ที่วัดหงส ไม่เคยเข้าโรงเรียนอื่นนอกจากไปเรียน ก. ข. นโมที่วัดประตูศาลเมืองสุพรรณหน่อยหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ที่ท่านมีความรู้ภาษาไทยเชี่ยวชาญถึงเป็นครูผู้อื่นได้แต่ยังหนุ่ม ก็ต้องนับว่าได้ความรู้ภาษาไทยมาแต่สำนักพระใบฎีกาอ่วมด้วย ถึง พ.ศ. ๒๔๑๗ อายุท่านถึง ๑๓ ปี ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ญาติคงรับออกไปโกนจุกที่เมืองสุพรรณแล้วส่งกลับมาอยู่กับพระใบฎีกาอ่วมที่วัดหงสตามเดิม


ถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ พระใบฎีกาอ่วมจัดการให้บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนวิชาต่อมาอีก ๗ พรรษา ลักษณการเล่าเรียนของสามเณร ในสมัยนั้นมีระเบียบเกือบจะเหมือนกันหมดทุกวัน นอกจากเรียนเสขิยวัตรและท่องจำคำไหว้พระสวดมนต์ ให้เริ่มเรียนหนังสือขอมและหัดเทศน์มหาชาติสำหรับเทศน์โปรดญาติโยม เจ้าพระยายมราชเสียงดี อาจารย์จึงให้หัดเทศน์กัณฑ์มัทรี (เมื่อแรกท่านมาอยู่กับข้าพเจ้าเคยเทศน์ให้ฟังแหล่ ๑ ว่าทำนองดีพอใช้เสียงก็ดีข้อนี้ผู้ที่เคยฟังท่านอ่านถวายชัยมงคลเมื่อเป็นเสนาบดีแล้ว คงจะจำได้ว่าเสียงท่านยังดีแม้เมื่อแก่ตัวแล้ว) สามเณรองค์ไหนจะบวชอยู่นานอาจารย์ก็ให้เรียนภาษามคธ เริ่มด้วยคัมภีร์ "มูล" คือ เวยยากรณ์ภาษามคธ บางทีพระใบฎีกาอ่วมจะสอนให้เอง หรือมิฉะนั้นคงให้เรียนกับพระอาจารย์องค์อื่นในวัดหงสหรือวัดอื่นที่ใกล้เคียงกัน เพราะอาจารย์สอนชั้นมูลมีแทบทุกวัด เมื่อเรียนคัมภีร์มูลตลอดแล้ว ก็ตั้งต้นเรียนคัมภีร์พระธรรมบท ตอนนี้เรียกกันว่า "ขึ้นคัมภีร์" เพราะเรียนภัมภีร์สำหรับจะเข้าสอบความรู้เป็นเปรียญในสนามหลวง การเรียนถึงชั้นขึ้นคัมภีร์ต้องไปเรียนในสำนักอาจารย์ที่เชี่ยวชาญภาษามคธ เจ้าพระยายมราชเริ่มเรียนในสำนักอาจารย์เพ็ญ (ซึ่งเคยเป็นพระราชาคณะที่พระวิเชียรกระวีเมื่อบวช) แล้วไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) และ สำนักสมเด็จพระวันรัตน (แดง) วัดสุทัศน์ต่อกันมา สมเด็จพระวันรัตน (แดง) และพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เป็นอาจารย์ที่เลื่องลือเกียรติคุณ ศิษย์ของท่านทั้ง ๒ นั้นได้เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะก็หลายองค์ จึงควรนับว่าเจ้าพระยายมราชได้โอกาสเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักดีอย่างยิ่งถึง ๒ แห่ง


ลักษณการที่พระภิกษุสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เบื้องต้นชีต้นอาจารย์ที่เลี้ยงดูผู้เป็นนักเรียนต้องพาไปฝากต่อท่านผู้จะเป็นอาจารย์ ต่อท่านเชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตัวดีและตั้งใจจะเรียนจริงๆ จึงรับเข้าไปเป็นศิษย์ในสำนัก หนังสือเรียนในสมัยนั้นยังใช้คัมภีร์ใบลานก็ต้องหาเอาไปเอง ถ้าผู้จะเรียนไม่สามารถหยิบยืมหนังสือของผู้อื่นได้ ก็ต้องเที่ยวขอคัดลอกสำเนาจากฉะบับของผู้อื่น และพยายามจารหนังสือด้วยฝีมือของตนเองไปให้ทันกับที่เรียน การจารหนังสือจึงเป็นความรู้อย่างหนึ่งซึ่งผู้จะเรียนพระปริยัติธรรมต้องฝึกหัดตั้งแต่ยังเรียนคำภีร์มูล ข้อนี้เป็นเหตุให้เปรียญแต่ก่อนเขียนหนังสืองามโดยมาก การเรียนนั้นถ้านักเรียนเป็นผู้อยู่ในวัดที่เป็นสำนักเรียนก็มักไปเรียนตอนเช้า ถ้าเป็นผู้อยู่ต่างวัดต้องฉันเพลเสียก่อนแล้วจึงไปเรียนในตอนบ่าย เวลาเดินไปใครเห็นก็รู้ว่าพระเณรนักเรียนเพราะแบกห่อคัมภีร์หนังสือไปบนบ่าเหมือนกันทุกองค์ ถึงเวลาเรียนท่านผู้เป็นอาจารย์ออกมานั่งอาศนะที่ปูไว้มีกาคะเยียสำหรับวางคัมภีร์ลานตั้งอยู่ข้างๆ พวกศิษย์นั่งรายกันอยู่ตรงหน้าและปันเวรกันเข้าไปแปลหนังสือให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ถือคัมภีร์ที่แปลนั้นอีกฉะบับหนึ่งคอยสอบแปลผิดศัพท์ใดหรือประโยคใด หรือแห่งใดมีกัลเมตในกระบวรแปลอย่างไร อาจารย์ก็ทักท้วงสั่งสอนไปจนสิ้นระยะการเรียนของศิษย์องค์นั้น แล้วก็ให้องค์อื่นเข้าไปแปลต่อไป วันหนึ่งสอนราว ๔ ชั่วโมง สำนักไหนมีนักเรียนมากเวลาไม่พอจะเข้าแปลต่ออาจารย์ได้หมดก็ต้องกำหนดวันเป็นเวรเปลี่ยนกันเข้าแปลต่ออาจารย์ พวกศิษย์ที่ไม่ต้องเข้าแปลก็นั่งฟังได้ความรู้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ไปเปล่า เหตุใดเจ้าพระยายมราชจึงเรียนพระปริยัติธรรมต่ออาจารย์ถึง ๓ สำนัก ข้อนี้เป็นด้วยอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมความรู้ยิ่งหย่อนผิดกัน ถึงแม้อาจารย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญถึงชั้นสูงด้วยกันเล่ห์เหลี่ยมในการแปลก็มีต่างกัน แต่มีข้อสำคัญแก่นักเรียนอย่างหนึ่ง คือถ้าไปเรียนต่ออาจารย์ที่ไม่สู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีเวลาเรียนต่ออาจารย์มากเพราะศิษย์มีน้อย ถ้าเรียนในสำนักที่คนนับถือมาก เวลาที่ได้เรียนต่ออาจารย์น้อยลงเพราะมีศิษย์มากถึงต้องผลัดเวรกันเรียน เจ้าพระยายมราชคงไปเรียนต่ออาจารย์เพ็ญเมื่อตอนแรกขึ้นคำภีร์เวลาความรู้ยังอ่อนได้มีเวลาเรียนมาก ครั้นมีความรู้พอเป็นพื้นแล้ว อยากจะมีความรู้ให้สูงขึ้นไปจึงย้ายไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เมื่อมีความรู้ยิ่งขึ้นจนถึงเกิดประสงค์จะเข้าแปลหนังสือในสนามหลวงจึงไปเรียนในสำนักสมเด็จพระวันรัตน (แดง) ด้วยท่านเป็นผู้สอบความรู้องค์หนึ่งที่ในสนามหลวงเพื่อจะให้ตระหนักใจในวิธีแปลตามนิยมของพระมหาเถรผู้สอบความรู้ในสนามหลวง เห็นจะไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตน (แดง) ในเวลาเมื่อก่อนอุปสมบทไม่นานนัก


ถึง พ.ศ. ๒๔๒๕ เจ้าพระยายมราชอายุได้ ๒๑ ปีครบอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุที่วัดหงส์ สมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) เป็นพระอุปปัชฌาย์ แต่เวลานั้นบิดามารดาจะยังมีชีวิตอยู่ หรือสิ้นชีพไปเสียแล้วข้าพเจ้าหาทราบไม่ พอบวชเป็นพระภิกษุแล้วในปลายปีนั้นเองก็เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง เมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าแปลหนังสือก็ได้รับความสรรเสริญเป็นอย่าง ปลาดควรจะเล่าไว้ด้วย แต่ก่อนมาการตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมไม่มีกำหนดปี เมื่อใดเปรียญซึ่งสำหรับทรงเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะมีน้อยตัวลงก็โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพื่อหาพระภิกษุซึ่งทรงพระไตรปิฎกตั้งเป็นเปรียญสำรองไว้สำหรับเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะ เป็นประเพณีเดิมมาดังนี้ ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรก เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้วก็ว่างมาถึง ๑๔ ปี พระมหาเถรพากันวิตกว่าการสอบพระปริยัติธรรมเริดร้างมาช้านาน ความรู้พระภิกษุสามเณรที่เรียนพระไตรปิฎกจะเสื่อมลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้ตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ คราวเจ้าพระยายมราชเข้าแปลนั้น ตั้งสนามหลวง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พอเปิดสนามก็เห็นสมจริงดังพระมหาเถรท่านวิตกด้วยพระภิกษุสามเณรซึ่งเข้าแปลวันละ ๔ องค์ แต่วันแรกมาแปลตกหมด ไม่มีใครได้เป็นเปรียญเลยสักองค์เดียว เป็นเช่นนั้นมาหลายวันจึงถึงกำหนดพระปั้นวัดหงส์ (คือเจ้าพระยายมราช) เข้าแปล เมื่อแปลวันแรกได้ประโยคที่ ๑ ก็ไม่มีใครเห็นแปลกปลาดเพราะพระภิกษุสามเณรที่แปลตกมาก่อนแปลได้ประโยคที่ ๑ แล้วไปตกเมื่อแปลประโยคที่ ๒ ก็มี ต่อเมื่อเจ้าพระยายมราชแปลได้ประโยคที่ ๒ จึงเริ่มมีเสียงกล่าวกันว่าบางที "คุณปั้น" จะได้เป็นเปรียญ ถึงวันท่านเข้าแปลประโยคที่ ๓ อันเป็นวันตัดสินว่าจะได้เป็นเปรียญหรือไม่ จึงมีคนพากันไปฟังมาก ทั้งพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียน และคฤหัสถ์ที่เอาใจใส่ในการเรียนพระปริยัติธรรมข้าพเจ้าก็ได้ไปฟังกับเขาด้วยในวันนั้น พอท่านแปลได้ประโยคที่ ๓ สังเกตดูพระมหาเถรพากันยิ้มแย้มยินดี เพราะเพิ่งได้เปรียญองค์แรก ในการสอบพระปริยัติธรรมครั้งนั้น ผู้อื่นที่ไปฟังนั่งคอยเอาใจช่วยอยู่ก็พากันแสดงความยินดีทั่วหน้า แต่วันนั้นก็เรียกกันว่า "มหาปั้น" สืบมา


ตรงนี้ถึงที่จะเล่าเรื่องเจ้าพระยายมราชมาอยู่กับข้าพเจ้าสมัยนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้รับกรม แต่เป็นนายพันตรีราชองครักษ์ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รับราชการประจำอยู่ในพระบรมราชวังอยู่ที่ห้องมุมตึกยาวทางข้างฝ่ายตะวันตกประตูพิมานชัยศรี และกำลังจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอยู่ด้วย เวลาเช้าพอหัดทหารแล้ว ข้าพเจ้าก็ออกจากโรงทหารเดินผ่านทางในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปดูงานที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบทุกวันก็ที่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสนารามเวลานั้นมีสำนักของหลวงตั้งสำหรับสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ๔ แห่ง แห่งใหญ่กว่าเพื่อนพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เป็นอาจารย์สอนที่ในพระพุทธปรางค์ปราสาท (คือปราสาทพระเทพบิดรบัดนี้) นอกจากนั้นสอนตามเก๋งซึ่งสร้างไว้บนกำแพงข้างหน้าวัดอีก ๓ แห่ง หน้าที่อุดหนุนสำนักเรียนทั้ง ๔ แห่ง เช่น จัดอาหารเลี้ยงเพลพระภิกษุสามเณรที่มาเรียนเป็นต้น โปรดให้ข้าพเจ้าเอาเป็นธุระอุดหนุน เพราะโรงครัวของทหารมหาดเล็กอยู่ใกล้ ส่วนตัวข้าพเจ้าเองเวลาเดินผ่านไปในวัดก็มักแวะฟังพระภิกษุสามเณรหัดแปลพระไตรปิฎกที่แห่งนั้นบ้างแห่งนี้บ้างเป็นเนืองนิจ เจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นสามเณรมาเรียนอยู่ที่พระพุทธปรางค์จึงเริ่มรู้จักกันกับข้าพเจ้า แต่ก็เพียงสนทนาปราสัยเหมือนอย่างเพื่อนนักเรียนองค์อื่นๆ เมื่อท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมถึงวันแปลประโยคที่ ๓ ข้าพเจ้าไปฟังได้พูดปลอบท่านอย่าให้หวาดหวั่น และได้แสดงความยินดีต่อท่านเมื่อแปลสำเร็จ ตั้งแต่วันนั้นก็มิได้พบกับท่านมากว่าเดือน คืนวันหนึ่งเวลาราว ๒๐ นาฬิกาท่านมาหาข้าพเจ้าที่โรงทหารมหาดเล็ก มีต้นไม้ดัดปลูกในกระถางมาให้ด้วยต้น ๑ เมื่อข้าพเจ้าถามถึงกิจธุระที่ท่านมา ท่านบอกว่าจะมาลาสึกและเมื่อสึกแล้วจะขอถวายตัวอยู่กับข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าได้ฟังก็ปลาดใจ ถามท่านว่าเมื่อได้อุส่าห์พากเพียรเรียนพระไตรปิฎกมาจนได้เป็นเปรียญมีชื่อเสียงแล้วเป็นไฉนจะสึกเสียแต่ยังมิได้รับพระราชทานพัดยศ อนึ่งตัวท่านก็ยังเป็นหนุ่ม ถ้าเรียนพระไตรปิฎกต่อไปคงได้เป็นเปรียญประโยคสูงแล้วได้เป็นพระราชาคณะตั้งตนเป็นหลักแหล่งได้ตลอดชีวิตจะมาทิ้งทางความเจริญของตัวเองเสียด้วยเหตุใด ท่านตอบว่าท่านสิ้นอาลัยในการเป็นสมณะ ได้ปลงใจตั้งแต่ก่อนเข้าแปลพระปริยัติธรรมว่าจะสึก ที่เข้าแปลนั้นด้วยประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอุทิศสนองคุณท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์มาแต่หนหลัง นึกไว้ว่าพอแปลแล้วจะตกหรือได้เป็นเปรียญก็จะสึกอยู่นั่นเอง เมื่อข้าพเจ้าห้ามไม่ไหวแล้วก็คิดเห็นว่าสึกเสียดีกว่าจำใจบวชอยู่ต่อไป จึงตอบว่าเมื่อสึกแล้วถ้าสมัคร์มาอยู่กับข้าพเจ้าก็จะรับด้วยความยินดี เหตุที่ท่านเอาต้นไม้ดัดมาให้ด้วยในวันนั้น ข้าพเจ้ามานึกได้ต่อภายหลังว่าคงเป็นเพราะท่านยังเป็นพระภิกษุ จะถวายตัวด้วยให้ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นถวายต้นไม้ดัดแทน มาหวลรำลึกขึ้นในเวลาเมื่อเขียนเรื่องประวัตินี้ดูก็ชอบกล การที่ท่านให้ต้นไม้ดัดแทนดอกไม้ธูปเทียนนั้น ราวกับเป็นนิมิตรสังหรณ์ว่าท่านถวายตัวแก่ข้าพเจ้าเพียงให้เป็นมัคคุเทศชี้ทางที่ท่านจะไปได้ดี มิใช่มาเป็นข้ากับเจ้า หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่งก็เหมือนเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้เคยทำบุญอธิษฐานร่วมใจกันมาแต่ชาติก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเกิดรุ่นราวคราวเดียวกันและได้มาช่วยกันทำราชการงานเมืองในชาตินี้
เมื่อเจ้าพระยายมราชจะสึกได้มีจดหมายไปลาญาติฉะบับ ๑ ถ้านับเวลามาจนบัดนี้ได้ ๕๔ ปีแล้ว พวกลูกเขาค้นพบจดหมายฉะบับนั้นที่เมืองสุพรรณ คัดสำเนาส่งมาให้ข้าพเจ้าเมื่อจะเขียนเรื่องประวัตินี้ จึงให้พิมพ์ไว้ด้วยต่อไปนี้


ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก


ขอคำนับมายังพี่

พี่ ฉาย พี่ ดี (พี่เขย) พี่ นิล พี่ หมี พี่ คล้ำ พี่ หยา


ได้ทราบ

ว่าฉันเห็นจะบวชไปไม่ตลอดเสีย ฉันจะลาสึกแล้ว ฉันทูลลา (ทางกรมธรรมการตามธรรมเนียม) แล้ว กำหนดวันสึก ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ สึกแล้วฉันจะตามเสด็จ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร) ขึ้นไปอยู่บางปะอินสักสามเดือน นายท่านจะทรงผนวชตัวฉันนั้นท่านพระองค์ดิศวรกุมารท่านทูลขอไว้ เห็นจะพอเอาตัวรอดได้ไม่เป็นไรดอก ถ้าทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓๐ บาท ถ้าไม่ได้ทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓ ตำลึง นี่แล พี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลย เป็นกรรมของฉันแล้ว เคยรักน้องเพียงไหนก็ขอให้รักน้องเพียงนั้น เทอญ


ฉันเล่าตั้งแต่รู้ความมาก็ไม่ได้ประพฤติการชั่วให้พี่น้องมีความร้อนใจเลยสักอย่างเดียว ก็ครั้งนี้เห็นว่าพี่จะมีความเสียใจมากฉันอยากจะให้พี่นิลลงมาสักน้อย ให้ถึงบางกอก ณ วันเดือนแปด ขึ้น ๑๐ ค่ำ ขอให้มาให้ได้ทีเดียว พวกใน (กรุงเทพฯ) นี้เล่าใครๆ ก็ลาไม่ได้เขาไม่ยอมให้สึก ฉันคิดการครั้งนี้ก็คิดคนเดียวครั้นฉันจะขึ้นมา (เมืองสุพรรณ) เล่าก็มาไม่ได้ การก็จวนอยู่แล้วขอพี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลย นึกเสียว่าสมเด็จเจ้ายังต้องสึกลิขิต มา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีมะแม เบ็ญจศก (พ.ศ. ๒๔๒๖)




เจ้าพระยายมราชเกิดปีเดียวกันกับข้าพเจ้าๆ แก่กว่าท่านไม่ถึงเดือน โดยปกติข้าพเจ้าควรจะบวชเป็นพระภิกษุในพรรษาเดียวกันกับเจ้าพระยายมราช แต่ข้าพเจ้าต้องรอมาบวชเมื่ออายุ ๒๒ ปี เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสชวนให้ไปจำวัสสา ณ วัดนิเวศธรรมประวัติซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน แต่ในปีที่อายุข้าพเจ้าครบอุปสมบทพระอมราภิรักขิต (อ่อน) เจ้าอาวาสมีพรรษายังไม่ถึงเขตต์ที่จะเป็นอาจารย์ให้นิสสัยได้จึงต้องรอมาปี ๑ เจ้าพระยายมราชสึกแล้วก็มาขออาสาไปอยู่เป็นเพื่อนที่บางปะอินจึงได้ขึ้นไปอยู่ที่วัดนิเวศฯ ด้วยกันกับข้าพเจ้าตลอดพรรษา ในเวลาเมื่ออยู่บางปะอินนั้นเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้พบปะพูดจากันทุกวัน ได้รู้วิสัยใจคอกันและกันก็เริ่มรักใคร่กันแต่นั้นมา เมื่อท่านอยู่วัดนิเวศฯ ไม่ได้อยู่เปล่า ใช้โอกาสที่มีเวลาว่างตลอดพรรษา ขวนขวายเรียนความรู้ภาษาไทยทั้งหัดเขียนหนังสือไทยจนลายมืองาม นอกจากนั้นท่านตั้งใจศึกษาหาความรู้ประเพณีทางฝ่ายคฤหัสถ์จนสามารถเข้าสมาคมได้ ครั้นออกพรรษาข้าพเจ้าสึกก็กลับลงมากรุงเทพฯ ด้วยกัน


เมื่อเจ้าพระยายมราชบวชเป็นสามเณรอยู่วัดหงส หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ กับหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนหลานกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และเป็นหม่อมกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาแต่ก่อน ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมวัดหงส เคยไปทำบุญที่วัดนั้นเนืองๆ เมื่อรู้จักสามเณรปั้น มีความเอนดูก็รับเป็นโยมอุปถากตลอดมาจนจัดการให้อุปสมบทด้วย เมื่อเจ้าพระยายมราชแรกสึกยังไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนกับหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนจึงชวนให้ไปพักอยู่ที่บ้าน




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2550    
Last Update : 25 มิถุนายน 2550 3:13:10 น.
Counter : 902 Pageviews.  

ตอนที่ ๒ แรกเข้ารับราชการ (พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๓๗)

ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์
ตอนที่ ๒ ประวัติตอนแรกรับราชการ. (พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๓๗)
เป็นครูพระเจ้าลูกเธอ๔พระองค์
ขุนวิจิตรวรสาส์น
ตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ๔พระองค์
แต่งงาน
หลวงวิจิตรวรสาสน์
พระวิจิตรวรสาสน์
เป็นครูของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
คำรำพัน


รูปภาพตอนแรกเข้ารับราชการ (พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๓๗)

(กรุณาคลิกโหลดภาพ และคลิก expand ที่มุมล่างขวา เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ขึ้นครับ/twojay)














ประเพณีมีมาแต่โบราณ ผู้ได้เคยบวชเป็นพระราชาคณะหรือเป็นเปรียญ ถ้าสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ แม้สึกเมื่ออายุเป็นกลางคนแล้ว ถ้าปรารถนาจะทำราชการก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ เพราะเหตุที่เป็นผู้ได้เล่าเรียนมีความรู้มากมาแต่เมื่อบวช มักได้เป็นขุนนางมีตำแหน่งในกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง หรือกรมอาลักษณ์และกรมราชบัณฑิตย์ข้าราชการทั้ง ๓ กรมที่กล่าวมาแล้วเป็นพวกเปรียญลาพรต ซึ่งผู้อื่นมักเรียกกันว่า "พวกแก่วัด" หรือว่า "พวกอาราม" ทั้งนั้นก็ว่าได้ เมื่อตั้งโรงเรียนหลวงในรัชชกาลที่ ๕ โปรดให้เลือกข้าราชการกรมอาลักษณ์มาเป็นครูๆ ในโรงเรียนหลวงก็เป็นแหล่งสำหรับพวกเปรียญลาพรตอีกแห่งหนึ่ง อาศัยประเพณีมีดังกล่าวมาเมื่อข้าพเจ้ากลับลงมารับราชการตามเดิม จึงจัดการให้นายปั้นเปรียญถวายตัวเป็นมหาดเล็ก นับเป็นกำหนดในเรื่องประวัติได้ว่าเจ้าพระยายมราชแรกเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เวลานั้นอายุได้ ๒๒ ปี ส่วนราชการที่จะทำนั้น ในสมัยนั้นข้าพเจ้าสามารถจะหาหน้าที่ให้ท่านได้แต่ ๒ ทาง คือรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กทาง ๑ หรือเป็นครูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกทาง ๑ ถามตัวท่านๆ สมัคร์จะรับราชการพลเรือน ข้าพเจ้าจึงส่งให้ไปหัดเป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ชั้นแรกได้เงินเดือนเพียงเดือนละ ๑๖ บาท แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นครูผู้ช่วย


ถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปพระราชทานรางวัลนักเรียนในงานประจำปีที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแล้วเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรในโรงเรียนทั่วไป พอพระราชหฤทัยในความเจริญของโรงเรียนนั้นมาก เมื่อเสด็จกลับดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์ชายที่พระชันษาถึงขนาดเข้าโรงเรียนมี ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ (กรมพระจันทนบุรีนฤนาถ) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช) พระองค์ ๑ ให้ข้าพเจ้ารับเอาไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบด้วย เมื่อข้าพเจ้าได้รับสั่งแล้วมาคิดถึงการที่จะฝึกสอนพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์นั้น เห็นว่าให้นักเรียนรวมกันทั้ง ๔ พระองค์จะดีกว่าให้แยกกันไปเรียนตามชั้นความรู้ในโรงเรียน แต่จะต้องมีครูคน ๑ ต่างหากสำหรับสอนฉะเพาะเจ้านาย ๔ พระองค์นั้น คิดหาตัวผู้ที่จะเป็นครู เห็นว่ามหาปั้น (คือเจ้าพระยายมราช) จะเหมาะกว่าคนอื่น เพราะมีความรู้พอจะเป็นครูได้ ทั้งอัธยาศัยใจคอก็เป็นคนดี ดังได้เห็นมาแล้วตั้งแต่ขึ้นไปอยู่บางปะอินด้วยกันเมื่อข้าพเจ้าบวช ทั้งในเวลานั้นก็ยังเป็นแต่ครูผู้ช่วย ถึงถอนตัวมาก็ไม่ลำบากแก่การในโรงเรียน ข้าพเจ้าจึงเลือกมหาปั้นให้มาเป็นครูผู้สอนพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ และจัดห้องเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งต่างหากที่ท้องพระโรงของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อครั้งเสด็จประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ เจ้าพระยายมราชก็ได้เลื่อนที่และได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๔๘ บาท เสมอครูประจำชั้นอื่นๆ ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ตั้งแต่พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เวลาข้าพเจ้าไปก็แวะไปที่ห้องเรียนของพระเจ้าลูกเธอด้วยเสมอ ในไม่ช้าก็ตระหนักใจว่าคิดถูกทั้งที่ จัดให้พระเจ้าลูกเธอเรียนต่างหากและที่ได้เลือก มหาปั้นมาเป็นครูด้วย สังเกตเห็นเรียนรู้รวดเร็วเพราะเรียนด้วยกันแต่ ๔ พระองค์ ฝ่ายมหาปั้นก็ฉลาดในการสอนทั้งวางตัวต่อพระเจ้าลูกเธอเหมาะดีคือไม่เหลาะแหละอย่างว่า "ประจบลูกศิษย์" แต่ก็ไม่วางตัวข่มเกินไป พระเจ้าลูกเธอทรงเคารพยำเกรงและโปรดมหาปั้นสนิทสนมหมดทุกพระองค์ ต่อมาภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ (กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์) เสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกพระองค์ ๑ ก็ได้เรียนต่อเจ้าพระยายมราชเหมือนกัน


สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยเป็นยุติมานานแล้ว ว่าบรรดาพระเจ้าลูกเธอพระองค์ชายเมื่อเจริญพระชันษาโสกันต์แล้วจะโปรดฯ ให้ไปเรียนวิชาความรู้ถึงยุโรปทุกพระองค์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ กรมพระจันทนบุรีฯ กับกรมหลวงราชบุรีฯ พระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ ทรงพระราชดำริว่ากรมหลวงปราจีณฯ กับกรมหลวงนครชัยศรีฯ พระชันษาอ่อนกว่าเพียงปีหนึ่งสองปีและได้ทรงเล่าเรียนอยู่ด้วยกันแล้ว จึงโปรดฯ ให้ทำพระราชพิธีโสกันต์และทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๑๕ วันด้วยกันทั้ง ๔ พระองค์ แล้วโปรดฯ ให้พระยาชัยสุรินทร (ม.ร.ว.เทวหนึ่ง ศิริวงศ) เป็นผู้พาไปส่งยังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ (เวลานั้นยังเป็นกรมหมื่น) ซึ่งเป็นอัคราชทูตสยามอยู่ ณ กรุงลอนดอน ให้ทรงจัดการเล่าเรียนต่อไป (แต่กรมหลวงชุมพรเวลานั้นพระชันษาเพียง ๖ ขวบจึงมิได้เสด็จไปด้วย) เมื่อจะส่งพระเจ้าลูกเธอไปยุโรปครั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่าพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมาเพียงปีเดียว ถ้าทิ้งหนังสือไทยก็จะลืมเสีย จึงดำรัสสั่งข้าพเจ้าให้หาครูไปยุโรปกับพระเจ้าลูกเธอสักคน ๑ การเลือกก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องหาใครอื่น เพราะมีเหมาะแต่เจ้าพระยายมราชคนเดียว โดยได้เป็นครูและคุ้นเคยสนิทสนมกับพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์อยู่แล้ว ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิให้ "นายปั้นเปรียญ" เป็นที่ "ขุนวิจิตรวรสาส์น" มีตำแหน่งในกรมอาลักษณ (แผนกครู) เจ้าพระยายมราชจึงได้ไปยุโรป เรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชตอนนี้คิดดูก็ชอบกลอีก ถ้าหากท่านสมัครรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กก็ดี หรือเมื่อสมัครไปเป็นครูแล้วแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมิได้โปรดส่งพระเจ้าลูกเธอไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็ดี หรือที่สุดถ้ามิได้ทรงพระราชดำริจะให้มีครูหนังสือไทยไปยุโรปกับพระเจ้าลูกเธอก็ดี เจ้าพระยายมราชก็คงจะมิได้มีโอกาสออกไปหาคุณวิเศษเพิ่มขึ้นที่ในยุโรป พฤตติการชวนให้เห็นว่าผลบุญส่งท่านไปยังโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเหมือนอย่างที่เคยส่งท่านเข้ามาจากเมืองสุพรรณอีกครั้ง ๑ น่าพิศวงอยู่



ตั้งแต่เจ้าพระยายมราชไปยุโรปอยู่ห่างกับตัวข้าพเจ้า ได้แต่มีจดหมายไปมาถึงกัน เรื่องประวัติตอนนี้ต้องเขียนตามความเห็นจดหมายเหตุและได้ยินคนอื่นเล่าโดยมาก เมื่อพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จไปถึงกรุงลอนดอน กรมพระนเรศทรงหาบ้านแห่งหนึ่งให้ประทับอยู่ด้วยกัน เจ้าพระยายมราชกับนายสิบทหารมหาดเล็ก ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าเลือกไปเป็นพี่เลี้ยงก็อยู่ด้วยกันที่บ้านนั้น ส่วนการเรียนของพระเจ้าลูกเธอนั้นกรมพระนเรศทรงหาครูฝรั่งคน ๑ มาสอนภาษาอังกฤษเป็นเวลาเสมอทุกวัน เวลาว่างเรียนภาษาอังกฤษ เจ้าพระยายมราชก็สอนภาษาไทยถวาย เล่ากันว่าเจ้าพระยายมราชชักเงินเดือนของตนเองไปจ้างครูสอนภาษาอังกฤษแก่ตัวท่านด้วย ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ด้วยเวลาเมื่อแรกไปยังได้เงินเดือนน้อยนัก น่าจะเรียนต่อตอนเมื่อได้มีตำแหน่งในสถานทูตรับเงินเดือนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ข้อที่เจ้าพระยายมราชเรียนภาษาอังกฤษด้วยทุนของท่านเองและพยายามเรียนจนรู้ภาษาอังกฤษ อีกภาษาหนึ่งนั้นเชื่อได้ว่าเป็นความจริง พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เสด็จอยู่ลอนดอนได้ไม่ช้านัก เห็นจะราวสักปี ๑ กรมพระนเรศก็เสด็จกลับมากรุงเทพฯ แต่นั้นเจ้าพระยายมราชก็เป็นทั้งครูและเป็นพระอภิบาลเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ต่อมา


ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียจะฉลองรัชชกาลครบ ๕๐ ปี เป็นงานใหญ่ เชิญเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปช่วยงานด้วยกันกับพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ แต่ยังขัดข้องจะเสด็จไปเองไม่ได้ จึงโปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศวโรประการ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น แต่เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแล้ว) เสด็จไปแทนพระองค์ ข้าพเจ้าเคยได้ยินจะเป็นสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศตรัสเล่า หรือใครบอกก็ลืมไปเสียแล้ว ทรงทราบว่าพระเจ้าลูกเธอไม่สบายพระหฤทัยด้วยคิดถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระญาติวงศ อยากจะกลับมาเยี่ยมบ้านเมืองสักครั้ง ๑ สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศสงสาร และทรงพระดำริเห็นว่าการเล่าเรียนของพระเจ้าลูกเธอในชั้นนั้นก็ยังเป็นแต่ให้ครูไปรเวตมาสอนที่บ้าน ถึงแม้จะกลับมากรุงเทพฯ ถ้าให้ครูมาด้วยก็จะไม่เสียประโยชน์ในการเรียน จึงมีโทรเลขเข้ามากราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ เสด็จกลับมาชั่วคราวตามพระประสงค์ เมื่อสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศเสร็จราชการในยุโรปแล้ว จึงพาพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์กลับมากรุงเทพฯ ทางทวีปอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น เจ้าพระยายมราชก็ตามเสด็จกลับมาด้วย มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๓๑ เจ้าพระยายมราชได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ เป็นบำเหน็จครั้งแรก ถึงเวลานั้นหม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนซึ่งได้เคยอุปการะมาแต่ก่อนเห็นจะสิ้นชีพตักไสยแล้ว ยังเหลือแต่หม่อมราชวงศหญิงเขียนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกอกน้อย เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมาก็ยังมีความอารีชวนท่านไปพักอยู่ที่บ้าน เจ้าพระยายมราชได้เคยพาหม่อมราชวงศหญิงเขียนมาหาข้าพเจ้า เป็นคนสูงอายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว ดูเจ้าพระยายมราชเคารพนับถืออย่างเป็นผู้ใหญ่ ต่อมาภายหลังเมื่อท่านเป็นเจ้าพระยายมราชอยู่ที่จวนตำบลศาลาแดง ข้าพเจ้าไปหาได้พบหม่อมราชวงศหญิงเขียนอยู่ที่นั่น ไต่ถามได้ความว่าเมื่อหม่อมราชวงศหญิงเขียนแก่ชราลงอยู่ที่บ้านเดิมมีความอัตคัดขัดสน เจ้าพระยายมราชจึงไปรับมาเลี้ยงดูอุปถากสนองคุณให้มีความสุขสบายและต่อมาเมื่อถึงแก่กรรมก็ปลงศพให้ด้วย


เมื่อพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จกลับมากรุงเทพฯ แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้ไปเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้าอย่างแต่ก่อนการเรียนตอนนี้ ผิดกับแต่ก่อนเพียงแบ่งเวลาให้ครูอังกฤษสอนครึ่งวันเจ้าพระยายมราชสอนครึ่งวัน ส่วนตัวเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าก็กลับใกล้ชิดไปมาหาสู่กันเสมอเหมือนอย่างแต่ก่อน และยังไม่มีกำหนดว่าจะโปรดให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปยุโรปอีกเมื่อใด การที่เจ้าพระยายมราชได้กลับมากรุงเทพฯ ครั้งนั้นเป็นคุณแก่ตัวท่านโดยมิได้คาดหลายอย่าง จะกล่าวแต่ฉะเพาะที่เป็นข้อสำคัญคือ เมื่อเดินทางมาด้วยกันกับสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศฯ ได้ทรงรู้จักคุ้นเคยตระหนักพระหฤทัยว่าเป็นผู้มีความรู้และอัธยาศัยดีก็ทรงพระเมตตากรุณา เป็นเหตุให้ทรงเกื้อหนุนดังจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า แต่ข้อที่เป็นคุณอย่างสำคัญอันหนึ่งในเรื่องประวัติของท่านนั้น คือที่มาได้ภรรยาดี เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะเล่าได้ด้วยความรู้เห็นของตนเอง


เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ราวสัก ๒ เดือนวันหนึ่งท่านมาบอกข้าพเจ้าว่าใคร่จะมีภรรยาให้เป็นหลักแหล่ง ท่านทราบว่าพระยาชัยวิชิต (นาก ณป้อมเพ็ชร์ เวลานั้นยังเป็นพระยาเพชดา) มีลูกสาว ถ้าข้าพเจ้าไปขอให้ท่านบิดาเห็นจะไม่ขัดเพราะเคยเมตตากรุณาแต่เมื่ออยู่ลอนดอนด้วยกัน (เมื่อพระยาชัยวิชิตยังเป็นหลวงวิเศษสาลีได้ ตามเสด็จกรมพระนเรศไปเป็นเลขานุการในสถานทูต) ข้าพเจ้าแต่งคนไปทาบทามก็ดูเหมือนจะให้ แต่ข้าพเจ้านึกลำบากใจด้วยตัวเองยังเป็นหนุ่ม อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเจ้าบ่าว จะวางตัวเป็นเถ้าแก่ดูกะไรอยู่ จึงแนะให้ไปไหว้วานมารดาของข้าพเจ้าให้เป็นเถ้าแก่ขอสู่ เพราะท่านก็เคยคุ้นกับพระยาชัยวิชิตพอจะพูดกันได้ เจ้าพระยายมราชไปบอกมารดาท่านก็ยินดีรับจะไปขอให้ตามประสงค์ ด้วยท่านเมตตาปราณีเจ้าพระยายมราช มาตั้งแต่ไปอยู่วัดนิเวศด้วยกันกับข้าพเจ้า ท่านจึงชวนข้าพเจ้าไปขอนางสาวตลับ ธิดาคนใหญ่ของพระยาชัยวิชิตให้แก่ขุนวิจิตรวรสาส์น พระยาชัยวิชิตก็ยิ้มแย้มยอมยกให้ด้วยความยินดีว่าได้เคยคุ้นกับขุนวิจิตรวรสาส์น เห็นว่าเป็นคนดีพอจะวางใจให้ลูกสาวได้ แต่เมื่อตกลงกันจนถึงไต้ลงมือปลูกเรือนหอในบ้านพระยาชัยวิชิตที่บางขุนพรหม แล้วมีความลำบากเกิดขึ้นด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงกำหนดเวลาให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปยุโรปใกล้ๆ กับวันฤกษ์ที่จะแต่งงาน ข้าพเจ้าทราบก็ตกใจเกรงพระยาชัยวิชิตจะไม่ยอมให้แต่งงาน เพราะแต่งแล้วกลัวขุนวิจิตรวรสาส์นจะต้องทิ้งลูกสาวของท่านไปเสีย จึงรีบไปปรึกษาพระยาชัยวิชิตว่าจะทำอย่างไรดี แต่พระยาชัยวิชิตไม่ตกใจกลับยิ้มแย้มตอบว่า "ถ้าเช่นนั้นให้เขาไป ฮันนีมูน (คือประเพณีฝรั่งพากันไปเที่ยวเมื่อแรกแต่งงาน) ก็แล้วกัน" จึงคงได้แต่งงานตามฤกษ์ที่กำหนดไว้


เมื่อเจ้าพระยายมราช แต่งประวัติท่านผู้หญิงตลับได้พรรณาถึงการพิธีที่ทำเมื่อแต่งงานพิสดาร ว่าเริ่มด้วยพิธีสงฆ์สวดมนต์และฉันที่เรือนหอ (จะเพิ่มอธิบายสักหน่อย ว่าสวดมนต์เลี้ยงพระนั้นเป็นพิธีสำหรับขึ้นอยู่เรือนใหม่ต่างหาก ส่วนการแต่งงานสมรสนั้นพระสงฆ์หาเกี่ยวข้องไม่) ส่วนการพิธีทางฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ท่านเล่าว่าได้เชิญพระยาเจริญราชไมตรี (ชื่น ศรีเพ็ญ) กับคุณหญิงจันทเจริญราชไมตรีเป็นผู้ปูที่นอน ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงพิธีปูที่นอนบ่าวสาวแทรกลงตรงนี้สักหน่อย เพราะเกี่ยวถึงเรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับเมื่อภายหลัง


อันคู่ผัวเมียซึ่งสมควรจะเป็นผู้ปูที่นอนให้บ่าวสาวนั้น ต้องทรงคุณสมบัติประกอบกันหลายอย่าง เป็นต้น แต่ต้องได้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นคู่ผัวตัวเมียมาแต่ยังเป็นหนุ่มสาว จนแก่ด้วยกันอย่าง ๑ อยู่เป็นสุขสำราญร่วมใจกันมามิได้ร้าวฉานอย่าง ๑ สามารถตั้งตัวได้เป็นหลักฐานและมีบุตรธิดาที่จะสืบสกุลวงศอย่าง ๑ และเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมด้วยอย่าง ๑ ถ้าว่าโดยย่อคือผู้ซึ่งทรงคุณสมควรจะเป็นเยี่ยงอย่างแก่บ่าวสาวเมื่ออยู่ด้วยกันต่อไป ผู้ปกครองทั้ง ๒ ฝ่ายจึงปรึกษาหาคู่ผัวเมียซึ่งทรงคุณเช่นว่ามาเป็นผู้ปูที่นอนและประสิทธิพรให้คุณสมบัติของตนแก่บ่าวสาว ก็แต่คู่ผัวเมียซึ่งสมบูรณ์คุณสมบัติเช่นนั้นหายาก บางคู่มีคุณอย่างอื่นบริบูรณ์แต่ผัวกลัวเมียเกินขนาด ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าบ่าวก็มักรังเกียจ ถ้าผู้ผัวมีเมียน้อยผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวก็มักรังเกียจ เมื่อเลือกจึงต้องปรึกษาหารือให้พร้อมใจกันว่าจะเชิญคู่ไหน ส่วนผู้ที่ได้รับเชิญก็ย่อมรับทำให้ด้วยความยินดี เพราะเหมือนกับได้รับความยกย่องของมหาชนว่าเป็นผู้ทรงความดีอันควรเป็นที่นับถือ แต่ก็มีเสี่ยงภัยอยู่บ้าง แม้ผัวเมียคู่นั้นไปเกิดแตกร้าวกันขึ้นเมื่อภายหลังเขาก็ไม่มีเชิญอีกต่อไป คล้ายกับถูกถอด หรือคู่ใดถึงความตายไปคนหนึ่ง คนที่ยังอยู่ก็ไม่ได้รับเชิญอีก เปรียบเหมือนถูกปลดขาดจากหน้าที่ ด้วยเหตุเหล่านี้คู่ผัวเมียซึ่งคนชอบเชิญปูที่นอนบ่าวสาวในสมัยหนึ่งจึงไม่มีมากนัก


อนึ่งการปูที่นอนบ่าวสาวนั้นมีแบบพิธีมาแต่โบราณ ผู้จะปูที่นอนบ่าวสาวต้องเรียนให้รู้ตำราด้วย เมื่อแต่งงานเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นพิธีปูที่นอน เพราะไปรดน้ำเมื่อตอนบ่าย พิธีปูที่นอนเขาทำต่อเวลาค่ำราว ๒๑ นาฬิกา มาได้เห็นพิธีนั้นเป็นครั้งเมื่อแต่งงานหม่อมเจ้าจุลดิศลูกชายใหญ่ของข้าพเจ้ากับนางสาวแช่ม เปาโรหิต (น้องเจ้าพระยามุขมนตรี อวบ) ทั้ง ๒ ฝ่ายพร้อมใจกันเชิญพระยาพฤฒาธิบดี (ปลอด) กับคุณหญิงหนูพฤฒาธิบดี อายุกว่า ๖๐ ปี แล้วทั้ง ๒ คนเป็นผู้ปูที่นอนบ่าวสาว เมื่อถึงเวลาจะทำพิธี ข้าพเจ้ากับพวกญาติเข้าไปนั่งคอยดูอยู่ในห้องนอนหลายคน นั่งอยู่กับพื้นด้วยกันทั้งนั้น พอถึงเวลาเริ่มการพิธี พระยาพฤฒาก็ลุกขึ้นยืนร้องถามข้อความต่างๆ และมีทนายคอยตอบ จะเรียงคำตามที่ยังจำได้ดังนี้


พระยาพฤฒา "ถึงฤกษ์ดีหรือยัง"
ทนาย "ถึงแล้วขอรับ"
พระยาพฤฒา "นายบุญมั่นมาแล้วหรือยัง"
ทนาย "มาแล้วขอรับ"
พระยาพฤฒา "ก็นายบุญคงเล่า มาแล้วหรือยัง"
ทนาย "มาแล้วขอรับ"


แล้วถามถึงคนที่ชื่อเป็นสวัสดิ์มงคลอย่างอื่นต่อไปอีกสักสามสี่คน ทนายก็รับว่ามาแล้วทุกครั้ง เมื่อถามเสร็จแล้วพระยาพฤฒาลงนั่งหันหน้าไปพูดกับคุณหญิงหนู ว่า "ถึงฤกษ์ดีแล้วผู้จะมาช่วยอำนวยพรก็มาพร้อมกันแล้ว เรามาช่วยกันปูที่นอนให้เถิดแม่หนู" ว่าแล้วก็ช่วยกันปูที่นอนจนเรียบร้อย แล้วพระยาพฤฒากับคุณหญิงหนูก็ขึ้นไปนั่งเคียงกันบนที่นอนหันหน้าไปทางข้างหัวนอน ไหว้พระสวดมนต์ด้วยกันสักครู่หนึ่ง พอจบแล้วก็ลงนอนเคียงกันบนที่นอน ให้พรบ่าวสาวเป็นคำสนทนากันและกันเป็นทำนองดังนี้


พระยาพฤฒา ที่นอนน่านอน ใครนอนเห็นจะอยู่เย็นเป็นสุขสบายอายุยืนนะแม่หนู
คุณหญิงหนู สบายนักคะ ถ้าใครนอนที่นอนนี้คงจะเกิดทรัพย์สินมากมูลพูนเขา มีลูกเต้าน่ารักน่าชม


ให้พรโดยกระบวรสนทนาเช่นนี้อีกหลายอย่างจนจบบทให้พรแล้ว นอนหลับตานิ่งเหมือนกับหลับอยู่สักครู่หนึ่งก็ลุกลงจากเตียงเป็นเสร็จการพิธี


ต่อมาอีกหลายปี เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีแล้วข้าพเจ้าจะแต่งงานหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพบุตรข้าพเจ้ากับหม่อมราชวงศ์หญิงสอิ้ง สนิทวงศ ในพระองค์เจ้าพร้อมพงศอธิราช ข้าพเจ้าได้ยินว่าในสมัยนั้นมีผู้เชิญเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับปูที่นอนบ่าวสาวอยู่บ้างแล้ว จึงเชิญท่านๆ ก็รับ ครั้นถึงวันแต่งงานเวลาจะปูที่นอน ข้าพเจ้าอยากดูการพิธีเหมือนเมื่อครั้งชายใหญ่แต่งงาน ก็เข้าไปนั่งคอยดูอยู่ด้วยกันกับพวกญาติที่ในห้องนอนเจ้าพระยายมราชเข้าไปตรวจตราเครื่องที่นอนด้วยกันกับท่านผู้หญิงตลับแล้ว มาพูดแก่ข้าพเจ้าว่าการที่ทำพิธีปูที่นอนบ่าวสาวท่านอยากทำให้เป็นศิริมงคลด้วยน้ำใจบริสุทธิ์ ถ้ามีคนคอยดูทำให้ใจคอฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิ เห็นว่าคล้ายกับเล่นละคอนหาเป็นมงคลจริงๆ ไม่ ข้าพเจ้าเกรงใจท่านก็ชวนกันออกมาเสียจากห้อง พอคนออกหมดแล้วท่านก็ปิดประตูลงกลอน เหลืออยู่ในห้องแต่ตัวท่านกับท่านผู้หญิงตลับ ๒ คนเท่านั้น จนเสร็จการพิธีจึงเปิดประตูออกมาข้างนอก การทำพิธีปูที่นอนบ่าวสาวในชั้นหลังมาได้ยินว่าผู้ปูที่นอนไม่ยอมให้ใครดูเหมือนอย่างครั้งนั้น จะได้แบบของเจ้าพระยายมราชไป หรือท่านจะได้แบบมาจากใคร ข้าพเจ้าหาทราบไม่ แต่เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับได้มีเกียรติในการรับเชิญปูที่นอนบ่าวสาวสืบมาช้านาน


พระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จกลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ ๑๐ เดือน ถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๓๑ ประจวบกับเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ซึ่งในเวลานั้นเป็นตำแหน่งผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือเสด็จตรวจการในยุโรปจึงโปรดให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์พาพระเจ้าลูกเธอกลับไปส่งยังประเทศอังกฤษด้วย เสด็จไปครั้งนี้เดินทางตามระยะที่พระองค์เจ้าสายฯ ได้กะไว้สำหรับพระองค์ท่านเอง ไปทางเมืองพม่าและอินเดียก่อนแล้วจึงไปลงเรือเมล์ที่เมืองบอมเบไปยุโรป เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าลูกเธอได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองของชนชาติต่างๆ หลายเมือง กระบวรส่วนพระองค์พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปครั้งนี้ไม่มีพี่เลี้ยงไปเหมือนครั้งก่อน มีแต่เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับเท่านั้น แต่เจ้าพระยายมราชได้รับพระกรุณาของสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ทรงอุดหนุนด้วยกราบบังคมทูลขอให้เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตที่กรุงลอนดอนได้เงินเดือนมากขึ้น เมื่อไปถึงลอนดอนจึงสามารถหาบ้านที่อยู่ต่างหาก เพราะมีภรรยาไปด้วยจะอยู่บ้านเดียวกับพระเจ้าลูกเธออย่างแต่ก่อนไม่สมควร ถึงสมัยนี้เจ้าพระยายมราชอาจทำราชการได้ทั้งที่สถานทูตและที่พระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์ เพราะทรงชำนิชำนาญหนังสือไทยมากแล้ว เป็นแต่ต้องแนะนำให้ทรงหนังสือเรื่องต่างๆ แต่เมื่อเจ้านายไม่มีพี่เลี้ยงไทยอยู่ด้วยดังแต่ก่อนเจ้าพระยายมราชก็ต้องเอาเป็นธุระในการส่วนพระองค์มากขึ้นแม้เวลาพระองค์ใดประชวรก็ไปอยู่ดูและรักษาพยาบาลจนกว่าจะหาย ฝ่ายท่านผู้หญิงตลับก็ไปด้วยช่วยทำการต่างๆ ถวายพระเจ้าลูกเธอ เช่น ทำเครื่องอย่างไทยให้เสวยเป็นต้น ความรักใคร่ในระหว่างพระเจ้าลูกเธอกับเจ้าพระยายมราชจึงสนิทสนมอยู่ตามเคยมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใด เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตอยู่ไม่ช้านักก็ได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นเลขานุการชั้นที่ ๒ เต็มตำแหน่ง



ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เป็นผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมตอบแกรนยุ๊กซาเรวิช รัชชทายาทประเทศรุสเซีย (ซึ่งต่อมาได้เสวยราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าซานิโคลาสที่ ๒) ที่ได้เสด็จมากรุงเทพฯ เมื่อปีก่อน และโปรดให้ข้าพเจ้าไปยังราชสำนักประเทศอื่นๆ เพื่อถวายเครื่องราชอิศริยาภรณ์บ้าง เพื่อกิจการอย่างอื่นบ้างอีกหลายอย่าง เมื่อไปครั้งนั้นโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าเชิญสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนวิจิตรวรสาสน์ (คือเจ้าพระยายมราช) ขึ้นเป็นหลวงวิจิตรวรสาสน์ไปพระราชทานด้วย นอกจากนั้นยังมีกิจที่เกี่ยวกับพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ คือ กรมหลวงราชบุรีสอบความรู้ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว โปรดให้ข้าพเจ้าพาไปส่งยังวิทยาลัยไคลสต์เชิชในมหาวิทยาลัยออกสฟอดด้วย ส่วนกรมหลวงนครชัยศรีนั้น มีพระราชประสงค์จะให้ไปเรียนวิชาทหารบกในประเทศเดนมาร์ก ด้วยสมเด็จพระเจ้าคฤศเตียนที่ ๙ (พระอัยกาของพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้ ตรัสรับว่าจะทรงอุปการะให้ได้เรียนดังพระราชประสงค์ จึงโปรดให้ข้าพเจ้าพากรมหลวงนครชัยศรีไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กด้วย เมื่อข้าพเจ้าไปถึงลอนดอนยินดีอย่างยิ่งด้วยไปได้พบกับพระเจ้าลูกเธอและเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ เวลานั้นท่านผู้หญิงตลับมีลูกแล้ว ๒ คน บุตรคนหัวปีชื่อ สวาท (คือพระยาสุขุมนัยวินิตเดี๋ยวนี้) คน ๑ ธิดาชื่อไสว (แต่เมื่อกลับมากรุงเทพฯ มาถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเด็ก) คน ๑ ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สถานทูต พระเจ้าลูกเธอเสด็จมาหาและพาไปเที่ยวเนืองๆ ทั้งเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับก็หมั่นไปมาหาสู่ ข้างฝ่ายข้าพเจ้ามักไปที่ตำหนักพระเจ้าลูกเธอและที่บ้านเจ้าพระยายมราชเนืองๆ เป็นเริ่มแรกที่ข้าพเจ้าจะได้คุ้นกับท่านผู้หญิงตลับมาแต่ครั้งนั้น


เมื่อข้าพเจ้าได้เฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและได้ส่งกรมหลวงราชบุรีเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็พากรมหลวงนครชัยศรีออกจากประเทศอังกฤษ และให้เจ้าพระยายมราชไปในตำแหน่งเป็นเลขานุการของข้าพเจ้าเพื่อจะได้เป็นเพื่อนกรมหลวงนครชัยศรีด้วยไปพักอยู่ที่เมืองฝรั่งเศสหน่อยหนึ่งแล้วชวนพระยาสุริยานุวัติ (เกิด บุนนาค) เวลานั้นยังมียศเป็นพระและเป็นอุปทูตอยู่ประเทศฝรั่งเศสคน ๑ กับมิสเตอร์ไวก ที่ปฤกษาในสถานทูตที่ปารีสอีกคน ๑ ไปด้วย ไปยังกรุงโคเปนเฮเกนประเทศเดนมาร์กก่อน เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าคฤศเตียนเสด็จไม่อยู่เจ้ารัชชทายาท (คือสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริค พระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้) เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ทรงรับรองเลี้ยงดู ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่าเมื่อสมเด็จพระราชบิดาจะเสด็จไปประเทศรุสเซียได้ดำรัสสั่งไว้ให้บอกข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าก็จะไปสู่ราชสำนักในรุสเซียจะได้พบพระองค์ ณ ที่นั้น ถ้าพากรมหลวงนครชัยศรีไปถวายที่นั่นก็จะทรงยินดี เพราะฉะนั้นกรมหลวงนครชัยศรีกับเจ้าพระยายมราชจึงได้ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยกันกับข้าพเจ้าอีกหลายประเทศออกจากรุงโคเปนเฮเกนไปยังกรุงเบอรลิน แต่ที่กรุงเบอรลินกรมหลวงนครชัยศรีเสด็จไปเป็นอย่างไปรเวต ข้าพเจ้าถวายเครื่องราชอิศริยาภรณ์แก่สมเด็จพระเจ้าไกเซอวิลเฮมที่ ๒ แล้วขึ้นรถไฟออกจากกรุงเบอรลินไปยังประเทศรุสเซีย ลงจากรถไฟที่เมืองโอเดสซาริมทะเลดำแล้วลงเรือกำปั่นไฟของหลวงไปยังพระราชวังลิวาเดียอันเป็นที่ประทับในระดูร้อน โปรดให้ไปอยู่ในพระราชวังด้วยกันทั้งหมด เวลานั้นมีเจ้านายไปประชุมกันอยู่ที่ลิวาเดียมากในพระราชวงศ์รุสเซียมีสมเด็จพระเจ้าซาอเล็กซานเดอที่ ๒ กับสมเด็จพระราชินีมารีเป็นประมุข ลูกก็เสด็จอยู่ที่นั่นทุกพระองค์คือ ซาเรวิช แครนดยุกยอช แครนดัชเชสเซเนีย แครนดยุกไมเคล แครนดัชเชสออลคา และแครนดยุก อเล็กซาเดอซึ่งจะเป็นราชบุตรเขย เจ้านายในวงศ์เดนมาร์กคือ สมเด็จพระเจ้าคฤศเตียนและสมเด็จพระราชินีหลุยส์ เจ้านายราชวงศ์อังกฤษคือ สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา (เวลานั้นยังเป็นปรินเซสออฟเวลส์) เจ้าหญิงวิกตอเรีย เจ้าหญิงหมอด (ซึ่งภายหลังเป็นสมเด็จพระราชินีประเทศนรเว) เวลาเสวยกลางวันเสวยด้วยกันแต่เจ้านาย วันหนึ่งพอเวลาเสวยแล้วสมเด็จพระเจ้าซาร์ดำรัสให้แครนดยุกไมเคลราชโอรสพระองค์น้อย ซึ่งยังเป็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับกรมหลวงนครชัยศรียังทรงเครื่องกลาสีอยู่ ให้พากรมหลวงนครชัยศรีลงไปเล่นด้วยกันที่ในสวน พอลงไปถึงแครนดยุกไมเคลก็กรากเข้าเล่นปล้ำตามประสาเด็ก กรมหลวงนครชัยศรีของเราก็แววดีใจหาย แทนที่จะกระดากกระเดื่อง เขาปล้ำก็ปล้ำกับเขาบ้าง เล่นกันสนุกสนานอยู่ในสวน สมเด็จพระชนกชนนียืนทรงพระสรวลทอดพระเนตรอยู่ทั้ง ๒ พระองค์ เวลาค่ำเสวยพร้อมกันทั้งเจ้านายและข้าราชการที่ไปตามเสด็จ รวมเบ็ดเสร็จทั้งพวกกว่า ๕๐ คน เมื่อกลับจากลิวาเดียสมเด็จพระเจ้าซาร์โปรดให้เรือไฟพระที่นั่งลำใหญ่รับข้ามทะเลดำมาส่งที่กรุงคอนสะแตนติโนปัล (เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองอิสตัมบูล) ราชธานีของประเทศเตอรกี ชรอยสมเด็จพระเจ้าอับดุลฮามิดสุลต่านเตอรกีจะได้ทรงทราบถึงการรับรองพวกเราในประเทศรุสเซียจึงโปรดให้รับเข้าไปอยู่ในพระราชวังยิลดิส อันเป็นที่เสด็จประทับด้วยกันทั้งนั้น และทรงแสดงพระเมตตาปราณีมาก เมื่อจะมาจากเตอรกีก็ตรัสห้ามมิให้มาเรือเมล์ โปรดให้เรือกำปั่นไฟหลวงมาส่งจนถึงกรุงแอเธนราชธานีประเทศครีซ สมเด็จพระเจ้ายอชที่ ๑ (องค์พระอัยกาของสมเด็จพระเจ้ายอชที่ ๒ ซึ่งเสวยราชย์อยู่บัดนี้) ก็โปรดรับให้อยู่ในพระราชวังด้วยกันทั้งหมด เห็นจะเป็นด้วยมีพระราชประสงค์จะตอบแทนพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงรับเจ้ายอชราชโอรสซึ่งเข้ามากรุงเทพฯ ด้วยกันกับแครนยุกซารวิชออกจากประเทศครีซมายังกรุงโรมในประเทศอิตาลี ตอนนี้กรมหลวงนครชัยศรีเสด็จเป็นอย่างไปรเวตเหมือนอย่างไปกรุงเบอรลินเมื่อข้าพเจ้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอุมเบิต และไปเที่ยวชมเมืองฟลอเรนศ์กลับมาถึงเมืองเนเปอล์ เป็นอันเสร็จราชการที่ข้าพเจ้าไปยุโรปแล้วก็ต้องแยกกัน กรมหลวงนครชัยศรีกับเจ้าพระยายมราชกลับไปกรุงลอนดอน พระยาสุริยานุวัติ กับมิสเตอร ไวก กลับไปกรุงปารีส ฝ่ายข้าพเจ้าก็ลงเรือกลับมาจากยุโรป มาแวะดูประเทศอียิปต์และอินเดียราว ๒ เดือนตามได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔


การที่เจ้าพระยายมราชได้ไปประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยกันกับข้าพเจ้าครั้งนั้นเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านมาก นอกจากได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ในประเทศที่ไป ท่านได้ความคุ้นเคยเข้าสมาคนชั้นสูงในยุโรปทั้งได้เห็นขนบธรรมเนียมในราชสำนักต่างๆ ได้ประโยชน์เหล่านั้นเหมาะกับเวลา พอท่านกลับไปถึงกรุงลอนดอนไม่ช้า สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ก็กราบบังคมทูลขอให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเลขานุการชั้นที่ ๑ ในสถานทูต ต่อมาได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่พระวิจิตรวรสาสน์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ด้วย ถึงตอนนี้ทั้งตัวท่านและท่านผู้หญิงตลับได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและได้รับเชิญเข้ากับหมู่ทูตต่างประเทศเวลามีงานต่างๆ เนืองนิจ


ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จออกไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ เจ้าพระยายมราชก็ได้เป็นพระครูสอนหนังสือไทยถวายเมื่อตอนแรกเสด็จออกไปถึง จนเจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว. เปีย มาลากูล) แต่ยังเป็นที่พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ออกไปเปลี่ยน


ถึง พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นสิ้นเขตต์ที่เจ้าพระยายมราชเป็นครูและเป็นพระอภิบาลพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์ ด้วยทรงพระเจริญวัยเสด็จแยกย้ายกันไปเรียนฉะเพาะอย่างตามต่างประเทศมิได้อยู่รวมกันเหมือนแต่ก่อน กรมพระจันทบุรีเสร็จการเล่าเรียนจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก่อนพระองค์อื่น จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช เมื่อยังเป็นที่พระวิจิตรวรสาสน์กลับมาพร้อมกันกับกรมพระจันทบุรี ท่านผู้หญิงตลับกับบุตรธิดา ๒ คนก็กลับมาด้วยมาอยู่ที่เรือนหอในบ้านพระยาชัยวิชิต ณ ตำบลบางขุนพรหม ต่อมาเมื่อพระยาชัยวิชิตถึงอนิจกรรมท่านผู้หญิงตลับได้รับมรดกบ้านนั้นก็อยู่ด้วยกันเป็นหลักแหล่งต่อมาจนถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๕ จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านศาลาแดงด้วยเหตุดังจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า


เจ้าพระยายมราชได้เป็นครูพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์อยู่ในกรุงเทพฯ ปี ๑ อยู่ในยุโรป ๙ ปี รวมเป็น ๑๐ ปี ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความรักใคร่กันสนิทสนมยิ่งขึ้นโดยลำดับมา แม้เมื่อพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับเข้ามารับราชการได้เป็นต่างกรมถึงชั้นกรมพระและกรมหลวงและเจ้าพระยายมราชก็ได้เป็นเสนาบดีแล้วเวลาเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ตรัสกับท่านยังเรียกว่า "ครู" ติดพระโอษฐอยู่อย่างเดิมหาเปลี่ยนเรียกว่า "เจ้าคุณ" ไม่ ผู้ที่เคยได้ยินก็เห็นจะยังมีอยู่มาก ฝ่ายข้างเจ้าพระยายมราชก็รักใคร่อยู่อย่างเดิมไม่เสื่อมคลาย เมื่อท่านเขียนคำไว้อาลัยพิมพ์ในงานศพท่านผู้หญิงตลับในรัชชการที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ยังหวนพิไรรำพันถึงพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ แล้วรำพันต่อไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อ่านจับใจน่าสงสาร จึงคัดตอนที่กล่าวนั้นมาพิมพ์ด้วย




คำรำพันของเจ้าพระยายมราช


ข้าพเจ้าเคยถวายพระอักษรพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถฯ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงปราจิณกิติบดี และกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช แต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ที่พระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศยุโรป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าตามเสด็จไปอยู่ด้วยถึง ๙ ปี แม่ตลับไปทีหลังอยู่ ๖ ปี ท่านทั้ง ๔ พระองค์ทรงพระเมตตาสัญญากับข้าพเจ้าไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้าตายท่านจะช่วยกันทรงเผาผี จะมิให้บุตรภรรยาต้องวุ่นวาย ข้าพเจ้านึกดีใจมาก และหวังเต็มที่ว่าอย่างไรๆ ก็คงไม่พลาด เพราะถึง ๔ พระองค์ด้วยกัน และบางพระองค์ก็เท่ากับว่าได้ทรงเริ่มต้นบ้างแล้วคือเวลาข้าพเจ้าป่วยทรงพระอุสาหะเสด็จมาพยาบาล แต่อนิจจายังไม่ทันไรท่านมาสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนข้าพเจ้าหมดแล้ว โดยพระชนพรรษายังน้อยอยู่ทั้งนั้น แทนที่ท่านจะทรงเผาผีข้าพเจ้าๆ กลับต้องถวายพระเพลิงพระศพท่าน และรับอัฏฐิท่านด้วยความเศร้าสลดใจเสียอีก ในกรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นพระองค์สุดท้าย ยังซ้ำทรงไว้อาลัยให้คิดถึงมากขึ้น คือ ทั้งในกรมหลวงราชบุรีและในกรมพระจันทบุรี เมื่อจะเสด็จไปรักษาพระองค์ยังเมืองนอก ข้าพเจ้าไปส่งเวลาจะทรงอำลา รับสั่งแก่ข้าพเจ้าเป็นลางว่า "บางทีครูจะไม่ได้เห็นฉันอีก" รับสั่งอย่างเดียวกันทั้ง ๒ พระองค์ เวลาก็ห่างไกลกันหลายปี แล้วก็ไม่ได้กลับมาเห็นกันอีกจริงๆ ดังนี้ ใช่แต่เท่านั้นยังมีเครื่องปลงอีก คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ได้เคยมีพระราชกระแสร์รับสั่งแก่ข้าพเจ้าว่า "ฉันก็เคยเป็นศิษย์เจ้าพระยายมราชเหมือนกัน ฉันยังได้เติมสร้อยสมญาเจ้าพระยายมราช ลงในสุพรรณบัตรว่า ฉัฏฐราชคุรุฐานวโรปการี ให้เป็นหลักฐานถ้าเจ้าพระยายมราชตาย ฉันจะต้องนุ่งขาวให้" เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ที่ยังทรงพระมหากรุณาระลึกถึงความหลังมีพระราชกระแสร์รับสั่งเช่นนี้ เป็นที่ปิติยินดีของข้าพเจ้าอย่างเหลือเกิน แต่ลงปลายก็เปล่าอีกเหมือนกัน ยังมิทันที่จะได้ทรงพระภูษาขาวพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ศพข้าพเจ้า ก็มาเสด็จสวรรคตเสียก่อน ข้าพเจ้ากลับต้องนุ่งขาวถวายพระบรมศพฉลองพระเดชพระคุณด้วยความเศร้าโศกาลัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นการไม่เที่ยงแท้อยู่ดังนี้ เมื่อเอาธรรมเรื่องนี้เข้ามาหักก็ทำให้ข้าพเจ้าค่อยคลายความเศร้าใจคิดถึงแม่ตลับ ซึ่งดับศูนย์ไปเมื่อมีอายุ ๖๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๔) แล้วนั้นลงได้มาก




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2550    
Last Update : 25 มิถุนายน 2550 3:13:37 น.
Counter : 2160 Pageviews.  

1  2  3  

twojay
Location :
Clermont, FL United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




***Enjoy your visit!!***

New Comments
Friends' blogs
[Add twojay's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.