Welcome to twojay's weblog...
Group Blog
 
All Blogs
 
ตอนที่ ๑ ก่อนเข้ารับราชการ (พ.ศ. ๒๔๐๕ - ๒๔๒๖)

ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์
ตอนที่ ๑ เรื่องประวัติตอนก่อนรับราชการ. (๒๔๐๕ - ๒๔๒๖)
กำเหนิด ปฐมวัย และการศึกษา
มหาปั้น
ทำบุญอธิษฐาน
ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก



มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น ต้นสกุลสุขุม) เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม ปีจอ พ.ศ.๒๔๐๕ สกุลเป็นคฤหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลบ้านน้ำตกริมแม่น้ำฟากตวันออกข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณฯ ไม่ห่างนัก บิดาของท่านชื่อกลั่น มารดาชื่อผึ้ง มีพี่ร่วมบิดามารดา ๕ คนเรียงกันเป็นลำดับดังนี้


๑. พี่ชายชื่อฉาย ได้เป็นที่หลวงเทพสุภา กรมการเมืองสุพรรณบุรีคน ๑
๒. พี่หญิงชื่อนิล เป็นภรรยาหลวงแก้วสัสดี (ดี สุวรรณศร) กรมการเมืองสุพรรณบุรีคน ๑
๓. พี่ชายชื่อหมี ได้เป็นที่พระยาสมบัติภิรมย์ กรมการเมืองสงขลาคน ๑
๔. พี่ชายชื่อคล้ำ ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งในตำบลน้ำตกที่ตั้งเคหะสถานของสกุล คน ๑
๕. พี่หญิงชื่อหยา เป็นภรรยาหลวงจ่าเมือง (สังข์ พิชัย) กรมการเมืองสุพรรณบุรี คน ๑
๖. ตัวเจ้าพระยายมราชเป็นลูกสุดท้อง


เรื่องประวัติเจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นเด็กปรากฎว่าเมื่ออายุได้ ๕ ขวบ บิดามารดาพาไปฝากเรียนหนังสือที่วัดประตูศาลในเมืองสุพรรณ ฯ แต่เรียนอยู่ไม่ถึงปี พอมีงานทำบุญในสกุลเขานิมนต์พระใบฎีกาอ่วม วัดหงสรัตนาราม จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นที่นับถือกันมาแต่ก่อน ออกไปเทศน์แล้วบิดามารดาเลยถวายเจ้าพระยายมราชให้เป็นศิษย์ พระใบฎีกาอ่วมจึงพามาจากเมืองสุพรรณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ เวลานั้นอายุได้ ๖ ขวบ ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เคยได้ยินกรมการเมืองสุพรรณชั้นผู้ใหญ่ในเครือญาติดูเหมือนจะเป็นหลวงยกรบัตรเล่าความหลังให้ฟัง (ในสมัยเมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต) ว่าท่านเป็นลูกสุดท้องเกิดเมื่อบิดามารดามีลูกแล้วหลายคนจนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มี เมื่อยังเป็นเด็กมิใคร่มีใครเอาใจนำพานัก บิดามารดาจึงใส่กัณฑ์เทศน์ถวายพระเข้ามากรุงเทพฯ ที่ว่านี้ตามโวหารของญาติแสดงความพิศวง ด้วยมิได้มีใครเคยหวังว่าเจ้าพระยายมราชจะมาเป็นคนดีมีบุญล้ำเหล่ากอถึงเพียงนั้น แต่เมื่อคิดดูก็ชอบกล ถ้าหากเจ้าพระยายมราชเกิดเป็นลูกหัวปีที่จะเป็นทายาทของสกุลบิดามารดาก็คงถนอมเลี้ยงไว้ที่เมืองสุพรรณ จนเติบใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อถึงเวลาเจ้าพระยายมราชฯ ครอบครองบ้านเรือนบางทีก็จะได้เลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เหมือนอย่างนายคล้ำพี่ชายเคยเป็นมาแต่ก่อน ถ้าสูงกว่านั้นก็ได้เป็นกรมการเช่นหลวงเทพสุภาพี่ชายคนใหญ่ หรืออย่างดีที่สุดก็จะได้เป็นพระยาสุนทรสงครามฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี น่าที่จะไม่มีช่องได้เป็นเจ้าพระยายมราชจนตลอดชีวิต ข้อที่ท่านเกิดเป็นลูกสุดท้องไม่มีใครหวงแหน "ใส่กัณฑ์เทศน์" ถวายพระพาเข้ามากรุงเทพฯ นั้น ควรนับว่าบุญบันดาลให้ท่านเข้าสู่ต้นทางที่จะดำเนินไปจนถึงได้เป็นรัฐบุรุษวิเศษคนหนึ่งในสมัยของท่าน


การศึกษาของเจ้าพระยายมราชเมื่อเข้ามาอยู่วัดหงสฯ ปรากฎว่าแรกมาเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ ๖ ปี ตอนนี้มีเค้าที่จะสันนิษฐานว่าพระใบฎีกาอ่วมเห็นจะเอาเป็นธุระระวังสั่งสอนผิดกับลูกศิษย์วัดอย่างสามัญ เพราะท่านเป็นลูกคฤหบดีที่บิดามารดายกให้เป็นบุตรบุญธรรม ตรงกับศัพท์ที่เรียกว่า "ลูกศิษย์" คือเป็นลูกด้วยเป็นศิษย์ด้วย ข้อนี้มีเค้าอยู่ในกิริยามารยาทของท่านที่ข้าพเจ้าเห็นเมื่อตอนแรกรู้จักกัน ดูสภาพเรียบร้อยผิดกับชาวบ้านนอก ส่อให้สังเกตได้ว่า ท่านได้รับความอบรมมาแต่ครูบาอาจารย์ที่ดี อีกอย่างหนึ่งความรู้ภาษาไทยท่านก็ได้เรียนแต่ที่วัดหงส ไม่เคยเข้าโรงเรียนอื่นนอกจากไปเรียน ก. ข. นโมที่วัดประตูศาลเมืองสุพรรณหน่อยหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ที่ท่านมีความรู้ภาษาไทยเชี่ยวชาญถึงเป็นครูผู้อื่นได้แต่ยังหนุ่ม ก็ต้องนับว่าได้ความรู้ภาษาไทยมาแต่สำนักพระใบฎีกาอ่วมด้วย ถึง พ.ศ. ๒๔๑๗ อายุท่านถึง ๑๓ ปี ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ญาติคงรับออกไปโกนจุกที่เมืองสุพรรณแล้วส่งกลับมาอยู่กับพระใบฎีกาอ่วมที่วัดหงสตามเดิม


ถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ พระใบฎีกาอ่วมจัดการให้บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนวิชาต่อมาอีก ๗ พรรษา ลักษณการเล่าเรียนของสามเณร ในสมัยนั้นมีระเบียบเกือบจะเหมือนกันหมดทุกวัน นอกจากเรียนเสขิยวัตรและท่องจำคำไหว้พระสวดมนต์ ให้เริ่มเรียนหนังสือขอมและหัดเทศน์มหาชาติสำหรับเทศน์โปรดญาติโยม เจ้าพระยายมราชเสียงดี อาจารย์จึงให้หัดเทศน์กัณฑ์มัทรี (เมื่อแรกท่านมาอยู่กับข้าพเจ้าเคยเทศน์ให้ฟังแหล่ ๑ ว่าทำนองดีพอใช้เสียงก็ดีข้อนี้ผู้ที่เคยฟังท่านอ่านถวายชัยมงคลเมื่อเป็นเสนาบดีแล้ว คงจะจำได้ว่าเสียงท่านยังดีแม้เมื่อแก่ตัวแล้ว) สามเณรองค์ไหนจะบวชอยู่นานอาจารย์ก็ให้เรียนภาษามคธ เริ่มด้วยคัมภีร์ "มูล" คือ เวยยากรณ์ภาษามคธ บางทีพระใบฎีกาอ่วมจะสอนให้เอง หรือมิฉะนั้นคงให้เรียนกับพระอาจารย์องค์อื่นในวัดหงสหรือวัดอื่นที่ใกล้เคียงกัน เพราะอาจารย์สอนชั้นมูลมีแทบทุกวัด เมื่อเรียนคัมภีร์มูลตลอดแล้ว ก็ตั้งต้นเรียนคัมภีร์พระธรรมบท ตอนนี้เรียกกันว่า "ขึ้นคัมภีร์" เพราะเรียนภัมภีร์สำหรับจะเข้าสอบความรู้เป็นเปรียญในสนามหลวง การเรียนถึงชั้นขึ้นคัมภีร์ต้องไปเรียนในสำนักอาจารย์ที่เชี่ยวชาญภาษามคธ เจ้าพระยายมราชเริ่มเรียนในสำนักอาจารย์เพ็ญ (ซึ่งเคยเป็นพระราชาคณะที่พระวิเชียรกระวีเมื่อบวช) แล้วไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) และ สำนักสมเด็จพระวันรัตน (แดง) วัดสุทัศน์ต่อกันมา สมเด็จพระวันรัตน (แดง) และพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เป็นอาจารย์ที่เลื่องลือเกียรติคุณ ศิษย์ของท่านทั้ง ๒ นั้นได้เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะก็หลายองค์ จึงควรนับว่าเจ้าพระยายมราชได้โอกาสเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักดีอย่างยิ่งถึง ๒ แห่ง


ลักษณการที่พระภิกษุสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เบื้องต้นชีต้นอาจารย์ที่เลี้ยงดูผู้เป็นนักเรียนต้องพาไปฝากต่อท่านผู้จะเป็นอาจารย์ ต่อท่านเชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตัวดีและตั้งใจจะเรียนจริงๆ จึงรับเข้าไปเป็นศิษย์ในสำนัก หนังสือเรียนในสมัยนั้นยังใช้คัมภีร์ใบลานก็ต้องหาเอาไปเอง ถ้าผู้จะเรียนไม่สามารถหยิบยืมหนังสือของผู้อื่นได้ ก็ต้องเที่ยวขอคัดลอกสำเนาจากฉะบับของผู้อื่น และพยายามจารหนังสือด้วยฝีมือของตนเองไปให้ทันกับที่เรียน การจารหนังสือจึงเป็นความรู้อย่างหนึ่งซึ่งผู้จะเรียนพระปริยัติธรรมต้องฝึกหัดตั้งแต่ยังเรียนคำภีร์มูล ข้อนี้เป็นเหตุให้เปรียญแต่ก่อนเขียนหนังสืองามโดยมาก การเรียนนั้นถ้านักเรียนเป็นผู้อยู่ในวัดที่เป็นสำนักเรียนก็มักไปเรียนตอนเช้า ถ้าเป็นผู้อยู่ต่างวัดต้องฉันเพลเสียก่อนแล้วจึงไปเรียนในตอนบ่าย เวลาเดินไปใครเห็นก็รู้ว่าพระเณรนักเรียนเพราะแบกห่อคัมภีร์หนังสือไปบนบ่าเหมือนกันทุกองค์ ถึงเวลาเรียนท่านผู้เป็นอาจารย์ออกมานั่งอาศนะที่ปูไว้มีกาคะเยียสำหรับวางคัมภีร์ลานตั้งอยู่ข้างๆ พวกศิษย์นั่งรายกันอยู่ตรงหน้าและปันเวรกันเข้าไปแปลหนังสือให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ถือคัมภีร์ที่แปลนั้นอีกฉะบับหนึ่งคอยสอบแปลผิดศัพท์ใดหรือประโยคใด หรือแห่งใดมีกัลเมตในกระบวรแปลอย่างไร อาจารย์ก็ทักท้วงสั่งสอนไปจนสิ้นระยะการเรียนของศิษย์องค์นั้น แล้วก็ให้องค์อื่นเข้าไปแปลต่อไป วันหนึ่งสอนราว ๔ ชั่วโมง สำนักไหนมีนักเรียนมากเวลาไม่พอจะเข้าแปลต่ออาจารย์ได้หมดก็ต้องกำหนดวันเป็นเวรเปลี่ยนกันเข้าแปลต่ออาจารย์ พวกศิษย์ที่ไม่ต้องเข้าแปลก็นั่งฟังได้ความรู้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ไปเปล่า เหตุใดเจ้าพระยายมราชจึงเรียนพระปริยัติธรรมต่ออาจารย์ถึง ๓ สำนัก ข้อนี้เป็นด้วยอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมความรู้ยิ่งหย่อนผิดกัน ถึงแม้อาจารย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญถึงชั้นสูงด้วยกันเล่ห์เหลี่ยมในการแปลก็มีต่างกัน แต่มีข้อสำคัญแก่นักเรียนอย่างหนึ่ง คือถ้าไปเรียนต่ออาจารย์ที่ไม่สู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีเวลาเรียนต่ออาจารย์มากเพราะศิษย์มีน้อย ถ้าเรียนในสำนักที่คนนับถือมาก เวลาที่ได้เรียนต่ออาจารย์น้อยลงเพราะมีศิษย์มากถึงต้องผลัดเวรกันเรียน เจ้าพระยายมราชคงไปเรียนต่ออาจารย์เพ็ญเมื่อตอนแรกขึ้นคำภีร์เวลาความรู้ยังอ่อนได้มีเวลาเรียนมาก ครั้นมีความรู้พอเป็นพื้นแล้ว อยากจะมีความรู้ให้สูงขึ้นไปจึงย้ายไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เมื่อมีความรู้ยิ่งขึ้นจนถึงเกิดประสงค์จะเข้าแปลหนังสือในสนามหลวงจึงไปเรียนในสำนักสมเด็จพระวันรัตน (แดง) ด้วยท่านเป็นผู้สอบความรู้องค์หนึ่งที่ในสนามหลวงเพื่อจะให้ตระหนักใจในวิธีแปลตามนิยมของพระมหาเถรผู้สอบความรู้ในสนามหลวง เห็นจะไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตน (แดง) ในเวลาเมื่อก่อนอุปสมบทไม่นานนัก


ถึง พ.ศ. ๒๔๒๕ เจ้าพระยายมราชอายุได้ ๒๑ ปีครบอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุที่วัดหงส์ สมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) เป็นพระอุปปัชฌาย์ แต่เวลานั้นบิดามารดาจะยังมีชีวิตอยู่ หรือสิ้นชีพไปเสียแล้วข้าพเจ้าหาทราบไม่ พอบวชเป็นพระภิกษุแล้วในปลายปีนั้นเองก็เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง เมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าแปลหนังสือก็ได้รับความสรรเสริญเป็นอย่าง ปลาดควรจะเล่าไว้ด้วย แต่ก่อนมาการตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมไม่มีกำหนดปี เมื่อใดเปรียญซึ่งสำหรับทรงเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะมีน้อยตัวลงก็โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพื่อหาพระภิกษุซึ่งทรงพระไตรปิฎกตั้งเป็นเปรียญสำรองไว้สำหรับเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะ เป็นประเพณีเดิมมาดังนี้ ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรก เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้วก็ว่างมาถึง ๑๔ ปี พระมหาเถรพากันวิตกว่าการสอบพระปริยัติธรรมเริดร้างมาช้านาน ความรู้พระภิกษุสามเณรที่เรียนพระไตรปิฎกจะเสื่อมลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้ตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ คราวเจ้าพระยายมราชเข้าแปลนั้น ตั้งสนามหลวง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พอเปิดสนามก็เห็นสมจริงดังพระมหาเถรท่านวิตกด้วยพระภิกษุสามเณรซึ่งเข้าแปลวันละ ๔ องค์ แต่วันแรกมาแปลตกหมด ไม่มีใครได้เป็นเปรียญเลยสักองค์เดียว เป็นเช่นนั้นมาหลายวันจึงถึงกำหนดพระปั้นวัดหงส์ (คือเจ้าพระยายมราช) เข้าแปล เมื่อแปลวันแรกได้ประโยคที่ ๑ ก็ไม่มีใครเห็นแปลกปลาดเพราะพระภิกษุสามเณรที่แปลตกมาก่อนแปลได้ประโยคที่ ๑ แล้วไปตกเมื่อแปลประโยคที่ ๒ ก็มี ต่อเมื่อเจ้าพระยายมราชแปลได้ประโยคที่ ๒ จึงเริ่มมีเสียงกล่าวกันว่าบางที "คุณปั้น" จะได้เป็นเปรียญ ถึงวันท่านเข้าแปลประโยคที่ ๓ อันเป็นวันตัดสินว่าจะได้เป็นเปรียญหรือไม่ จึงมีคนพากันไปฟังมาก ทั้งพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียน และคฤหัสถ์ที่เอาใจใส่ในการเรียนพระปริยัติธรรมข้าพเจ้าก็ได้ไปฟังกับเขาด้วยในวันนั้น พอท่านแปลได้ประโยคที่ ๓ สังเกตดูพระมหาเถรพากันยิ้มแย้มยินดี เพราะเพิ่งได้เปรียญองค์แรก ในการสอบพระปริยัติธรรมครั้งนั้น ผู้อื่นที่ไปฟังนั่งคอยเอาใจช่วยอยู่ก็พากันแสดงความยินดีทั่วหน้า แต่วันนั้นก็เรียกกันว่า "มหาปั้น" สืบมา


ตรงนี้ถึงที่จะเล่าเรื่องเจ้าพระยายมราชมาอยู่กับข้าพเจ้าสมัยนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้รับกรม แต่เป็นนายพันตรีราชองครักษ์ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รับราชการประจำอยู่ในพระบรมราชวังอยู่ที่ห้องมุมตึกยาวทางข้างฝ่ายตะวันตกประตูพิมานชัยศรี และกำลังจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอยู่ด้วย เวลาเช้าพอหัดทหารแล้ว ข้าพเจ้าก็ออกจากโรงทหารเดินผ่านทางในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปดูงานที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบทุกวันก็ที่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสนารามเวลานั้นมีสำนักของหลวงตั้งสำหรับสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ๔ แห่ง แห่งใหญ่กว่าเพื่อนพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เป็นอาจารย์สอนที่ในพระพุทธปรางค์ปราสาท (คือปราสาทพระเทพบิดรบัดนี้) นอกจากนั้นสอนตามเก๋งซึ่งสร้างไว้บนกำแพงข้างหน้าวัดอีก ๓ แห่ง หน้าที่อุดหนุนสำนักเรียนทั้ง ๔ แห่ง เช่น จัดอาหารเลี้ยงเพลพระภิกษุสามเณรที่มาเรียนเป็นต้น โปรดให้ข้าพเจ้าเอาเป็นธุระอุดหนุน เพราะโรงครัวของทหารมหาดเล็กอยู่ใกล้ ส่วนตัวข้าพเจ้าเองเวลาเดินผ่านไปในวัดก็มักแวะฟังพระภิกษุสามเณรหัดแปลพระไตรปิฎกที่แห่งนั้นบ้างแห่งนี้บ้างเป็นเนืองนิจ เจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นสามเณรมาเรียนอยู่ที่พระพุทธปรางค์จึงเริ่มรู้จักกันกับข้าพเจ้า แต่ก็เพียงสนทนาปราสัยเหมือนอย่างเพื่อนนักเรียนองค์อื่นๆ เมื่อท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมถึงวันแปลประโยคที่ ๓ ข้าพเจ้าไปฟังได้พูดปลอบท่านอย่าให้หวาดหวั่น และได้แสดงความยินดีต่อท่านเมื่อแปลสำเร็จ ตั้งแต่วันนั้นก็มิได้พบกับท่านมากว่าเดือน คืนวันหนึ่งเวลาราว ๒๐ นาฬิกาท่านมาหาข้าพเจ้าที่โรงทหารมหาดเล็ก มีต้นไม้ดัดปลูกในกระถางมาให้ด้วยต้น ๑ เมื่อข้าพเจ้าถามถึงกิจธุระที่ท่านมา ท่านบอกว่าจะมาลาสึกและเมื่อสึกแล้วจะขอถวายตัวอยู่กับข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าได้ฟังก็ปลาดใจ ถามท่านว่าเมื่อได้อุส่าห์พากเพียรเรียนพระไตรปิฎกมาจนได้เป็นเปรียญมีชื่อเสียงแล้วเป็นไฉนจะสึกเสียแต่ยังมิได้รับพระราชทานพัดยศ อนึ่งตัวท่านก็ยังเป็นหนุ่ม ถ้าเรียนพระไตรปิฎกต่อไปคงได้เป็นเปรียญประโยคสูงแล้วได้เป็นพระราชาคณะตั้งตนเป็นหลักแหล่งได้ตลอดชีวิตจะมาทิ้งทางความเจริญของตัวเองเสียด้วยเหตุใด ท่านตอบว่าท่านสิ้นอาลัยในการเป็นสมณะ ได้ปลงใจตั้งแต่ก่อนเข้าแปลพระปริยัติธรรมว่าจะสึก ที่เข้าแปลนั้นด้วยประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอุทิศสนองคุณท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์มาแต่หนหลัง นึกไว้ว่าพอแปลแล้วจะตกหรือได้เป็นเปรียญก็จะสึกอยู่นั่นเอง เมื่อข้าพเจ้าห้ามไม่ไหวแล้วก็คิดเห็นว่าสึกเสียดีกว่าจำใจบวชอยู่ต่อไป จึงตอบว่าเมื่อสึกแล้วถ้าสมัคร์มาอยู่กับข้าพเจ้าก็จะรับด้วยความยินดี เหตุที่ท่านเอาต้นไม้ดัดมาให้ด้วยในวันนั้น ข้าพเจ้ามานึกได้ต่อภายหลังว่าคงเป็นเพราะท่านยังเป็นพระภิกษุ จะถวายตัวด้วยให้ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นถวายต้นไม้ดัดแทน มาหวลรำลึกขึ้นในเวลาเมื่อเขียนเรื่องประวัตินี้ดูก็ชอบกล การที่ท่านให้ต้นไม้ดัดแทนดอกไม้ธูปเทียนนั้น ราวกับเป็นนิมิตรสังหรณ์ว่าท่านถวายตัวแก่ข้าพเจ้าเพียงให้เป็นมัคคุเทศชี้ทางที่ท่านจะไปได้ดี มิใช่มาเป็นข้ากับเจ้า หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่งก็เหมือนเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้เคยทำบุญอธิษฐานร่วมใจกันมาแต่ชาติก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเกิดรุ่นราวคราวเดียวกันและได้มาช่วยกันทำราชการงานเมืองในชาตินี้
เมื่อเจ้าพระยายมราชจะสึกได้มีจดหมายไปลาญาติฉะบับ ๑ ถ้านับเวลามาจนบัดนี้ได้ ๕๔ ปีแล้ว พวกลูกเขาค้นพบจดหมายฉะบับนั้นที่เมืองสุพรรณ คัดสำเนาส่งมาให้ข้าพเจ้าเมื่อจะเขียนเรื่องประวัตินี้ จึงให้พิมพ์ไว้ด้วยต่อไปนี้


ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก


ขอคำนับมายังพี่

พี่ ฉาย พี่ ดี (พี่เขย) พี่ นิล พี่ หมี พี่ คล้ำ พี่ หยา


ได้ทราบ

ว่าฉันเห็นจะบวชไปไม่ตลอดเสีย ฉันจะลาสึกแล้ว ฉันทูลลา (ทางกรมธรรมการตามธรรมเนียม) แล้ว กำหนดวันสึก ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ สึกแล้วฉันจะตามเสด็จ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร) ขึ้นไปอยู่บางปะอินสักสามเดือน นายท่านจะทรงผนวชตัวฉันนั้นท่านพระองค์ดิศวรกุมารท่านทูลขอไว้ เห็นจะพอเอาตัวรอดได้ไม่เป็นไรดอก ถ้าทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓๐ บาท ถ้าไม่ได้ทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓ ตำลึง นี่แล พี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลย เป็นกรรมของฉันแล้ว เคยรักน้องเพียงไหนก็ขอให้รักน้องเพียงนั้น เทอญ


ฉันเล่าตั้งแต่รู้ความมาก็ไม่ได้ประพฤติการชั่วให้พี่น้องมีความร้อนใจเลยสักอย่างเดียว ก็ครั้งนี้เห็นว่าพี่จะมีความเสียใจมากฉันอยากจะให้พี่นิลลงมาสักน้อย ให้ถึงบางกอก ณ วันเดือนแปด ขึ้น ๑๐ ค่ำ ขอให้มาให้ได้ทีเดียว พวกใน (กรุงเทพฯ) นี้เล่าใครๆ ก็ลาไม่ได้เขาไม่ยอมให้สึก ฉันคิดการครั้งนี้ก็คิดคนเดียวครั้นฉันจะขึ้นมา (เมืองสุพรรณ) เล่าก็มาไม่ได้ การก็จวนอยู่แล้วขอพี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลย นึกเสียว่าสมเด็จเจ้ายังต้องสึกลิขิต มา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีมะแม เบ็ญจศก (พ.ศ. ๒๔๒๖)




เจ้าพระยายมราชเกิดปีเดียวกันกับข้าพเจ้าๆ แก่กว่าท่านไม่ถึงเดือน โดยปกติข้าพเจ้าควรจะบวชเป็นพระภิกษุในพรรษาเดียวกันกับเจ้าพระยายมราช แต่ข้าพเจ้าต้องรอมาบวชเมื่ออายุ ๒๒ ปี เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสชวนให้ไปจำวัสสา ณ วัดนิเวศธรรมประวัติซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน แต่ในปีที่อายุข้าพเจ้าครบอุปสมบทพระอมราภิรักขิต (อ่อน) เจ้าอาวาสมีพรรษายังไม่ถึงเขตต์ที่จะเป็นอาจารย์ให้นิสสัยได้จึงต้องรอมาปี ๑ เจ้าพระยายมราชสึกแล้วก็มาขออาสาไปอยู่เป็นเพื่อนที่บางปะอินจึงได้ขึ้นไปอยู่ที่วัดนิเวศฯ ด้วยกันกับข้าพเจ้าตลอดพรรษา ในเวลาเมื่ออยู่บางปะอินนั้นเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้พบปะพูดจากันทุกวัน ได้รู้วิสัยใจคอกันและกันก็เริ่มรักใคร่กันแต่นั้นมา เมื่อท่านอยู่วัดนิเวศฯ ไม่ได้อยู่เปล่า ใช้โอกาสที่มีเวลาว่างตลอดพรรษา ขวนขวายเรียนความรู้ภาษาไทยทั้งหัดเขียนหนังสือไทยจนลายมืองาม นอกจากนั้นท่านตั้งใจศึกษาหาความรู้ประเพณีทางฝ่ายคฤหัสถ์จนสามารถเข้าสมาคมได้ ครั้นออกพรรษาข้าพเจ้าสึกก็กลับลงมากรุงเทพฯ ด้วยกัน


เมื่อเจ้าพระยายมราชบวชเป็นสามเณรอยู่วัดหงส หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ กับหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนหลานกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และเป็นหม่อมกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาแต่ก่อน ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมวัดหงส เคยไปทำบุญที่วัดนั้นเนืองๆ เมื่อรู้จักสามเณรปั้น มีความเอนดูก็รับเป็นโยมอุปถากตลอดมาจนจัดการให้อุปสมบทด้วย เมื่อเจ้าพระยายมราชแรกสึกยังไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนกับหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนจึงชวนให้ไปพักอยู่ที่บ้าน


Create Date : 25 มิถุนายน 2550
Last Update : 25 มิถุนายน 2550 3:13:10 น. 6 comments
Counter : 902 Pageviews.

 
นี่คือจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ออกไปเทศน์แล้วบิดามารดาเลยถวายเจ้าพระยายมราชให้เป็นศิษย์ พระใบฎีกาอ่วมจึงพามาจากเมืองสุพรรณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ เวลานั้นอายุได้ ๖ ขวบ

ส่วนหนังสือจากยมราชถึงสุขุมวิทฯ ของคุณประสงค์ สุขุม ให้รายละเอียดมากกว่านี้เล็กน้อย คือ พระใบฎีกาอ่วม เจ้าอาวาสวัดหงส์ฯ ออกจากท่าน้ำหน้าวัดเช้าตรู่วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ เรือมาดแล่นออกจากคลองบางกอกใหญ่สู่ลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองอะไรอีกบ้างก็ไม่บอก แล้วเข้าสู่แม่น้ำสุพรรณ(ท่าจีน)

ถึงบ้านคหบดีกลั่นเมืองสุพรรณบุรี ท่าทางจะเป็นตอนบ่ายถึงเย็น ท่านมาเทศน์แสดงธรรรมเทศนาการทำบุญของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วของบิดามารดาเจ้าพระยายมราช และสวดพระอภิธรรมร่วมกับพระจากวัดในสุพรรณ

บิดาก็ได้ถวายลูกชายคนเล็กให้เป็นลูกศิษย์ท่านในค่ำคืนวันนั้น เรียกกันติดปากถึงปัจจุบันว่า ติดกันเทศน์

พระใบฎีกาอ่วม จำวัด ที่บ้านนั้นคืนหนึ่ง อีกวันก็เดินทางกลับวัดหงส์ธนบุรีพร้อมกับเจ้าพระยายมราช

เจ้าพระยายมราชจึงจากบ้านนามาเมืองกรุงในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑


ถึงตอนนี้อยากเรียนถามท่านผู้รู้ว่า พระใบฎีกาอ่วม เป็นญาติทางไหนกับเจ้าพระยายมราช หรือเป็นเพียงแต่นับถือกันมา

พระใบฎีกาอ่วมภายหลังได้ครองสมณศักดิ์สูงขึ้นอีกหรือไม่ อย่างไร

ท่านเกิดและมรณภาพเมื่อไร



โดย: NickyNick วันที่: 4 กันยายน 2550 เวลา:14:10:59 น.  

 
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ว่า

เมื่อเจ้าพระยายมราชบวชเป็นสามเณรอยู่วัดหงส หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ กับหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนหลานกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และเป็นหม่อมกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาแต่ก่อน ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมวัดหงส เคยไปทำบุญที่วัดนั้นเนืองๆ เมื่อรู้จักสามเณรปั้น มีความเอนดูก็รับเป็นโยมอุปถากตลอดมาจนจัดการให้อุปสมบทด้วย เมื่อเจ้าพระยายมราชแรกสึกยังไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนกับหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนจึงชวนให้ไปพักอยู่ที่บ้าน

หลังจากเจ้าพระยายมราชตามเสด็จกลับมาจากยุโรปเมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๓๑

....ถึงเวลานั้นหม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนซึ่งได้เคยอุปการะมาแต่ก่อนเห็นจะสิ้นชีพตักษัยแล้ว ยังเหลือแต่หม่อมราชวงศ์หญิงเขียน ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกอกน้อย เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมายังมีความอารีชวนท่านไปพักอยู่ที่บ้าน เจ้าพระยายมราชได้เคยพาหม่อมราชวงศ์เขียนมาหาข้าพเจ้า เป็นคนสูงอายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว ดูเจ้าพระยายมราชเคารพนับถืออย่างเป็นผู้ใหญ่

ต่อมาภายหลังเมื่อท่านเป็นเจ้าพระยายมราชอยู่ที่จวนตำบลศาลาแดง ข้าพเจ้าไปหาได้พบหม่อมราชวงศ์เขียนอยู่ที่นั่น ไต่ถามได้ความว่าเมื่อหม่อมราชวงศ์เขียนแก่ชราลง อยู่ที่บ้านเดิมมีความอัตคัดขัดสน เจ้าพระยายมราชจึงไปรับมาเลี้ยงดูอุปัฏฐากสนองคุณให้มีความสุขสบาย และต่อมาเมื่อถึงแก่กรรมก็ปลงศพให้ด้วย


ทั้งหม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยน และหม่อมราชวงศ์หญิงเขียน ในราชสกุล เสนีวงศ์
- เป็นทั้งโยมอุปัถากเมื่อท่านเป็นสามเณร
- จัดการให้อุปสมบท
- ให้ที่พักเมื่อแรกสึก

จึงเป็นผู้มีพระคุณในชั้นต้น ณ กรุงเทพ

แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ท่านทั้งสองนี้นับเกี่ยวข้องเป็นญาติทางใดทางหนึ่งกับบิดามารดาเจ้าพระยายมราชด้วยหรือไม่

เพราะเห็นมีนามสกุล เจ้าวังหลัง ทั้งปาลกะวงศ์ และ เสนีวงศ์ อยู่ในเมืองสุพรรณเยอะเหมือนกัน


โดย: NickyNick วันที่: 5 กันยายน 2550 เวลา:13:57:05 น.  

 
จากบทนิพนธ์
ถึง พ.ศ. ๒๔๒๕ เจ้าพระยายมราชอายุได้ ๒๑ ปีครบอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุที่วัดหงส์ สมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) เป็นพระอุปปัชฌาย์ แต่เวลานั้นบิดามารดาจะยังมีชีวิตอยู่ หรือสิ้นชีพไปเสียแล้วข้าพเจ้าหาทราบไม่

ท่านบวชได้ ๑ พรรษา อยู่ครบปีก็ได้สึก

นึกเสียว่าสมเด็จเจ้ายังต้องสึกลิขิต มา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีมะแม เบ็ญจศก (พ.ศ. ๒๔๒๖)

คิดว่าขณะนั้นโยมบิดามารดาคงจะเสียชีวิตหมดแล้ว เพราะจาก ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก ที่ห่างหลังจากบวชเพียงแค่ปีเดียว ไม่มีชื่อบิดามารดาด้วยเลย

เจ้าพระยายมราชบวชที่วัดหงส นับแต่เมื่อเป็นสามเณรแล้วต่อเนื่องจนมาถึงบวชและสึก สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ได้ทรงกล่าวถึง พระใบฎีกาอ่วม เจ้าอาวาส อีกเลย ไม่แน่ใจว่าขณะนั้นท่านได้มรณภาพไปแล้วหรือยัง


โดย: NickyNick วันที่: 5 กันยายน 2550 เวลา:14:03:33 น.  

 
มจ.พูนพิศมัย ดิศกุล ได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น เล่ม ๑ ปี ๒๕๔๓ หน้า ๑๗๕ ว่า
เจ้าพระยายมราช เป็นลูกคนที่เก้าของนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี พ่อแม่ใส่กัณฑ์เทศน์ถวายพระเข้ามาอยู่วัดหงส์ฝั่งธนบุรีแต่เล็กๆ

ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ที่เราควรจะรับฟังไว้ แต่ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมด
เราเคยรู้มาจากประวัติที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์ไว้ว่าเป็นลูกคนเล็ก คือคนที่ ๖
แต่ความจริงอาจมีพี่คนอื่นที่ตายก่อนแต่เล็ก และยังไม่มีตำแหน่งหน้าที่ราชการใดๆ จึงไม่ได้นำมารวบรวมไว้

ส่วนที่ว่าเป็นลูกนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ก็ยังไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า บิดา คือพ่อกลั่น ทำหน้าที่ราชการใด ถ้าเป็นนายอำเภอน่าจะมียศนำหน้า เช่น ขุน หรือหลวง แต่นี่ไม่มี สรุปแล้วคงไม่ใช่

ความหมายของนายอำเภอสมัยก่อนต่างจากปัจจุบัน เมื่อก่อนมีนายอำเภอจีน นายอำเภอไทย พวกรังวัดแสนาก็พอเรียกว่าเป็นนายอำเภอได้ ตอนนี้ยังอ่านและศึกษาไม่ดีพอที่จะมาเสนอไว้ตรงนี้

แต่ท่านหญิงพูนพิศมัยอาจจะจำผิดก็ได้ แทนที่จะเป็นบิดา ควรเป็นพี่เขย เพราะเจ้าพระยายมราชมีพี่เขยคนหนึ่งคือ หลวงแก้วสัสดี (ดี สุวรรณศร) บอกแต่ว่าเป็นกรมการเมืองสุพรรณบุรี ถ้าดูหน้าที่ราชการตามยศ ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับการคดีความ การศาล

สมัยนั้น น่าจะเป็นช่วงใกล้เคียงกัน แต่คงรุ่นหลังกว่าเล็กน้อย มีหลวงแก้วสัสดีที่ผมรู้จักชื่ออีกท่านหนึ่ง คือหลวงแก้วสัสดี(ด้วง) ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุล กอแก้ว แห่งสุพรรณบุรี


โดย: NickyNick วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:8:32:32 น.  

 
สาส์นสมเด็จ กรมดำรง ลว.๑๒ ตุลาคม ๒๔๘๒ (ล.๑๖, ๒๕๐๕, น.๑๙๘)
...เมื่อพวกลูกเต้าเจ้าพระยายมราชเขาขอให้หม่อมฉันแต่งประวัติเจ้าพระยายมราช หม่อมฉันบอกให้ส่งหัวข้อประวัติมาให้เป็นโครง หัวข้ออันหนึ่งซึ่งเขาส่งมา เขาจะได้มาจากใครหม่อมฉันไม่ทราบ ว่าเมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นเด็กไม่ซุกซน ชอบแต่นั่งอยู่กับที่เหมือนตุ๊กตาที่เขาปั้น บิดามารดาจึงให้ชื่อว่า "ปั้น" ดังนี้

ตรงนี้พอจับความได้ ๒ ประเด็น
๑. รู้ที่มาของคำว่า "ปั้น" และทางญาติพี่น้องเป็นคนส่งเค้าโครงเรื่องมาให้
๒. หัวข้อประวัติเจ้าพระยายมราช มาจากไหนบ้าง .... ตามที่เคยอ่านในหนังสืออนุสรณ์นาวาตรี คุณหญิงสุวรรณา ศราภัยพิพัฒ (28 เม.ย. 2463 - 18 พ.ย. 2527) ที่เขียนโดย รตอ.เชื้อ สุวรรณศร พี่ชาย ในกระทู้ต้นพิกุล
//topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4986346/K4986346.html#72
ที่ว่า ... จนต่อมาเมื่อผู้เล่าอายุ 20 กว่าปี ผู้ใหญ่คนหนึ่งในตระกูล สุขุม ขอไปเพื่อทำประวัติของท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เลยไม่มีโอกาสได้พบท่านอีก เอกสารฉะบับนั้นเลยหายไปไม่ทราบว่าอยู่กับใคร เสียดายเหลือเกิน ...


รตอ.เชื้อ เกิดราวปี พ.ศ.๒๔๖๐ ดังนั้นเมื่อท่านอายุประมาณ ๒๐ ปี ก็ใกล้เคียงกับช่วงวันอสัญกรรมของเจ้าพระยายมราช ดังนั้น เอกสารต้นฉบับวงศ์ตระกูลนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาอยู่ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงที่ปีนังนี่เอง



โดย: NickyNick วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:30:18 น.  

 
ดีใจมากที่ได้พบwebsite นี้เพราะได้เคยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับญาติที่สุพรรณตั้งแต่พี่ๆเสียแต่ไปไม่ถึงไหน มีเหตุที่ทำให้ต้องหยุดไป อายุดิฉันตอนนี้ก็จะแปดสิบในไม่กี่เดือนนี้แล้ว อยากส่งข้อมูลที่ทราบให้ผู้เป็นญาติได้ทราบแต่ไม่สันทัดในการใช้คอมนัก จะหาวิธีค่ะ ศิริรัฐ (เดิม สังขพิชัย หลานคุณย่าหยา ลูกหลวงอนุการฯ)
หากคุณได้อ่านข้อความนี้และมีข้อแนะนำ ยินดีรับค่ะ


โดย: ศิริรัฐ ทองใหญ่ ณ อยุธยา IP: 125.24.20.103 วันที่: 12 ธันวาคม 2556 เวลา:11:06:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

twojay
Location :
Clermont, FL United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




***Enjoy your visit!!***

New Comments
Friends' blogs
[Add twojay's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.