۩♥ T r i l l i o n a i r e ♥۩
Group Blog
 
All blogs
 
===ไขปริศนา "เฮดจ์ฟันด์" ล้ม จุดพลุโดมิโนตลาดการเงินโลก ?===

นับจากข่าวของกองทุนซาราแนค แคปิตอล แมเนจเมนต์ หนึ่งในกองทุนบริหารความเสี่ยง หรือ hedge fund ที่เคยโดดเด่นเป็นดาวของวงการต้องปิดตัวลง เพราะนักลงทุนแห่ถอนเงินทุนออกมากถึง 80% ของมูลค่าสินทรัพย์ที่บริหาร

ได้กลายเป็นชนวนให้คนในแวดวงการเงินโลกถกเถียงกันว่า จะเกิดปัญหาขึ้นกับเฮดจ์ฟันด์รายอื่นๆ ในลักษณะเดียวกับกองทุนซาราแนคฯหรือไม่

ที่สำคัญ จะสั่นคลอนต่อระบบการเงินระหว่างประเทศเฉกเช่นที่กองทุนลองเทอมเครดิต แมเนจเมนต์ (Long Term Credit Management) เคยเขย่าขวัญไว้ในปี 2541 หรือไม่

ในมุมมองของนักวิเคราะห์การเงินบางกลุ่มยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาของกองทุนเฮดจ์ฟันด์อาจเกิดขึ้นเป็นโดมิโน แต่บางรายก็มองว่าคงจะไม่ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล

เหตุผลที่กลุ่มแรกค่อนข้างวิตกกับสถานการณ์ของเฮดจ์ฟันด์มาก เนื่องจากมองเห็นสัญญาณการเทขายในตลาดการเงินหลายๆ แห่ง

ยกตัวอย่าง การดำดิ่งของตลาดหุ้นยุโรปมากกว่า 10% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ก็อยู่ในอาการเดียวกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นอินเดีย ที่ทรุดตัวแรงถึงกว่า 10% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นการตกต่ำของตลาดหุ้นมากที่สุดภายในวันเดียว

ยิ่งเมื่อปรายตามองตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ก็เห็นความปั่นป่วนชัดเจน นับจากต้นเดือนพฤษภาคม เงินลีร์ของตุรกีอ่อนค่าลงไปแล้วประมาณ 14% ขณะที่ราคาทองแดงที่เคยพุ่งพรวดพราด และทำสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ก็ทรุดฮวบมาตลอด รวมลดลงกว่า 15%

ประกอบกับปัจจุบันมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ก่อกำเนิดขึ้นในระบบการเงินโลกเป็นจำนวนมหาศาล เฉพาะในสหรัฐประเทศเดียว ก็มีเป็นจำนวนราวๆ 7,000-9,000 กองทุนเข้าไปแล้ว ควบคุมเม็ดเงินลงทุนในระบบไว้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

ที่น่าสนใจคือ ในจำนวนนั้นเป็นเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐผ่านกองทุนเฮดจ์ฟันด์ถึง 20%

เมื่อบวกรวมจำนวนเฮดจ์ฟันด์ในสหรัฐเข้ากับยุโรปและเอเชีย รวมถึงตลาดเกิดใหม่อื่นๆ (ถ้ามี) น่าจะเป็นจำนวนที่มากมายอยู่ เพียงแต่ไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วเฮดจ์ฟันด์ในระบบนั้นมีอยู่เท่าใด และกุมเม็ดเงินรวมกันเป็นมูลค่ามากน้อยขนาดไหน

ดังเช่นกองทุนของซาราแนคฯซึ่งเคยมีมูลค่าสินทรัพย์ในการบริหารสูงถึงเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ในการบริหาร 9 กองทุนที่เหลืออยู่นั้น มีมูลค่ารวมกันแค่ 600 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

แต่อีกกลุ่มกลับมองต่างออกไป กล่าวคือ ไม่คิดว่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์จะเดินซ้ำรอย ลองเทอมเครดิต แมเนจเมนต์ เพราะปัจจุบันผู้จัดการกองทุน และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับเฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่ต่างซึมซับบทเรียนในอดีต และตระหนักถึงความเสี่ยงที่พวกเขาแบกรับอยู่ขณะทำธุรกรรมร่วมกับกองทุนประเภทนี้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990

เพราะเวลาที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีปัญหานั้น ผลกระทบจะไม่จำกัดอยู่แค่ตัวกองทุน แต่กินความรวมไปถึงคู่สัญญา หรือคู่ธุรกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของเฮดจ์ฟันด์ด้วย ซึ่งโดยหลักๆ มี 2 กลุ่ม คือ โบรกเกอร์ และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับเฮดจ์ฟันด์

หมายความว่า ตัวแปรที่สั่นคลอนเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งในและระหว่างประเทศนั้น ไม่ใช่ตัวเฮดจ์ฟันด์ แต่มาจากสถาบันการเงินที่มีภาระผูกพันอยู่กับเฮดจ์ฟันด์มากกว่า

ดังเช่น กรณีการล้มละลายของลองเทอมเครดิต แมเนจเมนต์ เมื่อ 8 ปีก่อนนั้น ได้ส่งผลกระทบรุนแรง เพราะมีสถาบันการเงินที่มีภาระผูกพันอยู่รายหลักๆ ถึง 17 ราย ได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ารวมกัน 3-5 พันล้านดอลลาร์

เหตุผลหนึ่งที่ลองเทอมเครดิต แมเนจเมนต์ ล้มดัง ก็เพราะเฮดจ์ฟันด์กองทุนนี้ได้กู้ยืมเงิน เกินตัว โดยเป็นตัวเลขสูงถึง 100 เท่าของมูลค่าสินทรัพย์ ซึ่งมากกว่าตัวเลขเฉลี่ยของการก่อหนี้ของกองทุนอื่นๆ ที่จะอยู่ในระดับ 10 เท่าของสินทรัพย์เท่านั้น

ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ได้เกิดวิกฤตค่าเงิน รูเบิลขึ้นในรัสเซียอย่างกะทันหัน ทำให้ลองเทอมเครดิต แมเนจเมนต์ เริ่มมีปัญหา และปั่นป่วนอย่างหนัก เมื่อวิกฤตก่อผลกระทบลุกลามเข้าสู่ตลาดพันธบัตรและตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงตามมาเป็นระลอก

เช่นเดียวกับปัญหาของกองทุนซาราแนคฯ เหตุผลสำคัญที่ทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์รายนี้เดินสู่จุดจบ เป็นผลมาจากการวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดผิดพลาด โดยเฉพาะการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ เนื่องจากกลยุทธ์การลงทุนในตลาดทั้งสองจะได้ผลดีและให้ผลตอบแทนสูง ก็ต่อเมื่อตลาดเหล่านั้นอยู่ในภาวะผันผวน ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดจะแกว่งตัวแรง

แต่หลังจากปี 2547 ตลาดหุ้นเริ่มอยู่ในอาการทรง ก่อนจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ซาราแนคฯจึงอยู่ในสถานการณ์ลำบาก จากที่เคยให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงถึง 18% ต่อปีในช่วง 2538-2547 กลับกลายเป็นติดลบลงเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ตีจาก และเหลือเม็ดเงินในการบริหารเพียง 600 ล้านดอลลาร์

อีกประการหนึ่งที่หลายฝ่ายเชื่อว่าปัญหาของเฮดจ์ฟันด์จะไม่ลุกลามและรุนแรงเหมือนในอดีต ก็เนื่องจากปัจจุบันกองทุนเฮดจ์ฟันด์มักจะกันสินทรัพย์ของกองทุนให้เป็นเงินสด หรือหุ้นที่สามารถแปลงสภาพได้ง่ายไว้ประมาณ 20-30% เพื่อไว้รองรับการถอนการลงทุนอย่างกะทันหัน

ยิ่งกว่านั้น เฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่จะเป็นพวกจมูกไว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เล่นในตลาดเกิดใหม่ หากเห็นสัญญาณจะเทขายเพื่อถอยออกจากตลาดที่มีความเสี่ยง ดังเช่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่ในเวลานี้

ดังนั้น เหยื่อที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาของเฮดจ์ฟันด์จริงๆ ก็หนีไม่พ้นตลาดเกิดใหม่ ที่จวบจนขณะนี้ยังไม่สามารถรู้เท่าทันเงินร้อนได้ดังที่ควรจะเป็น


//www.matichon.co.th/prachachart/prachachart_detail.php?s_tag=02for03290549&day=2006/05/29


Create Date : 29 พฤษภาคม 2549
Last Update : 29 พฤษภาคม 2549 0:18:10 น. 0 comments
Counter : 678 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Trillionaire
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





Friends' blogs
[Add Trillionaire's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.