"ความสามัคคีปรองดอง เป็นกำลังอย่างสูงสุดของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ความสามัคคีของคนในชาติ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นอุปสรรค และทำให้สังคมไทย ร่มเย็นเป็นสุข" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สนใจลงโฆษณา ในพื้นที่ข้างบน ติดต่อ email : nana_sara1000@ymail.com
Home Lover’s Corner นานา สาระ๑๐๐๐ นานา สารพัด พระพุทธประวัติ ภาคพิเศษ
Travel Around the World Real Estate Buyer's Guide สุขภาพกาย สุขภาพใจ Pets & Animals
ปางพระพุทธรูปตามพุทธประวัติ Horoscope 12 ราศี พระพุทธศาสนา World of Beautiful Musics

พระพุทธรูปปาง ทรงเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์

ทรงเห็นสาวสนม นอนระเกะระกะ ระอาพระทัย ใคร่ผนวช

ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมใน นอนระเกะระกะ
ทรงระอาพระทัย ใคร่ผนวช

ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือ ทรงมีพระโอรส และมีความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง

ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณนาไว้ตอนหนึ่งว่า "…วันนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐปราศจากอาลัยในเบญจกามคุณ มิได้ยินดีในการขับฟ้อนของนางสนมทั้งหลาย หรือเป็นที่เจริญหฤทัยไม่ แต่กลับหยั่งลงสู่นิทรารมณ์ ประมาณมุหุตหนึ่ง…" (มุหุตหนึ่ง คือ ครู่หนึ่ง)





เจ้าชายประทับ ดูบรรดานางบำเรอฟ้อนรำขับร้อง

ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟ ที่ตามด้วยน้ำมันหอมส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง… บรรดานางบำเรอฟ้อนรำขับร้องที่อยู่เฝ้า เมื่อเห็นเจ้าชายบรรทมหลับแล้วต่างก็เอนกายลงนอนทับเครื่องดนตรี
ครู่หนึ่ง เมื่อเจ้าชายตื่นบรรทมแล้ว ก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ที่นอนหลับไม่สำรวม ปฐมสมโพธิพรรณนาไว้ว่า "แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) อันหลั่งไหล นางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อฝันจำนรรจาด่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถา สำแดงที่สัมพาธฐานให้ปรากฏ…"



เจ้าชายทรงบรรทมหลับ ขณะที่บรรดานางบำเรอฟ้อนรำขับร้อง




เมื่อเจ้าชายตื่นบรรทมแล้ว ก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ในอาการต่างๆ


เจ้าชายเสด็จจากพระแท่นที่บรรทม เสด็จลุกขึ้นทอดพระเนตรภายในปราสาทที่ประทับ แม้จะสว่างรุ่งเรืองด้วยดวงประทีป และงามตระการด้วยเครื่องประดับ แต่ทรงเห็นเป็นที่มืด และทรงเห็นเป็นดุจป่าช้าผีดิบ สิ่งที่มีชีวิตที่ยังหายใจได้ที่กำลังนอนระเนระนาด ปราศจากอาการสำรวม คือ นางบำเรอปรากฏแก่พระองค์เป็นซากศพผีดิบในสุสาน จึงออกพระโอษฐ์ลำพังพระองค์ว่า "อาตมาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้" แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท และตรัสเรียกมหาดเล็กเฝ้าพระทวารว่า "ใครอยู่ที่นั่น"




ทรงรับสั่งให้นายฉันนะเตรียมม้า


พอสิ้นพระดำรัสถามของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็มีเสียงทูลขานรับ โดยนาย"ฉันนะ" นายฉันนะ คือ มหาดเล็กคนสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะและเป็น สหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับเจ้าชายด้วย





ถ้าจะอุปมา เรื่องราวของพระพุทธเจ้าเป็นดุจบทละคร นายฉันนะก็เป็นตัวละครที่สำคัญคนหนึ่งในเรื่อง ความสำคัญนั้น คือ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ เมื่อภายหลังเจ้าชายได้เสด็จออกบวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นายฉันนะได้โดยเสด็จออกบวชด้วย พระฉันนะกลายเป็นพระหัวแข็ง ใครว่ากล่าวไม่ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวเพราะพระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า เขาใช้สรรพนามเรียกเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าติดปากมาจนกระทั่งบวชเป็นพระอยู่คำเดียวว่า "พระลูกเจ้า"

ในตอนที่กล่าวนี้ นายฉันนะนอนอยู่ที่ภายนอกห้องพระบรรทมของเจ้าชาย ศีรษะหนุนกับธรณีพระทวาร เมื่อเจ้าชายรับสั่งให้ไปเตรียมผูกม้า นายฉันนะก็รับพระบัญชารีบลงไปที่โรงม้า





เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา เป็นนิมิตอำลาผนวช

เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิท
เป็นนิมิตอำลาผนวช


ส่วนเจ้าชายผู้ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้ว ว่าจะเสด็จออกบวช ได้ทรงเสด็จไปยังห้องพระบรรทมของพระนางพิมพายโสธราผู้ชายาก่อน เมื่อเสด็จไปถึง ทรงเผยบานพระทวารออก ทรงเห็นพระชายากำลังหลับสนิท พระนางทอดพระกรไว้เหนือเศียรราหุล โอรสผู้เพิ่งประสูติ พระองค์ทรงเกิดความเสน่หาอาลัยในพระชายาและพระโอรส ที่เพิ่งได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นครั้งแรกอย่างหนัก ทรงหมายพระทัยว่า "จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส…" ก็ทรงเกรงพระนางจะตื่นบรรทม และจะเป็นอุปสรรคแก่การเสด็จออกบวช จึงข่มพระทัยเสียได้ว่า "อย่าเลย เมื่อได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า จะกลับมาทัศนาการพระพักตร์พระลูกแก้วเมื่อภายหลัง"




แล้วเสด็จออกจากที่นั้น ลงจากปราสาทไปยังที่ที่นายฉันนะเตรียมผูกม้าไว้เรียบร้อยแล้ว





ทรงเสด็จหนีพิมพา

นับแต่วันที่พระโอรสราหุลประสูติแล้วเป็นต้นมา พระเจ้าสุทโธทนทรงวางพระทัย รู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องกักขังปิดบังเรื่องของโลกด้วยสิ่งบันเทิงเริงรื่นอีกต่อไป ทรงอนุญาตให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกนอกวังได้ตามใจปรารถนา แต่เจ้าชายก็ยังมิได้รู้สึกเป็นสุขหรือสบายพระทัย กลับทรงเคร่งขรึมและคิดหนักกว่าที่เคย พระบิดาทรงสังเกตุเห็นและพยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ทรงรับสั่งให้จัดหาหญิงระบำและผู้ขับร้องที่ฉลาดที่สุด งามที่สุดมาร้องรำถวายเจ้าชาย ด้วยหวังที่จะให้เจ้าชายเกิดความพอพระทัยและเพลิดเพลินลืมความทุกข์ แรกๆเจ้าชายก็ทรงทอดพระเนตรเพื่อมิให้ขัดเคืองพระทัยของพระบิดา แต่ภายในจิตใจกลับครุ่นคิดอยู่แต่ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรพระองค์และคนทั้งหลายจักหลีกหนีพ้นความแก่ ความเจ็บไข้ และแม้กระทั่งความตายโดยสิ้นเชิง





พระองค์จึงทรงเสด็จออกมาอย่างเงียบๆ และรับสั่งนายฉันนะให้เตรียมม้ากัณฐกะตัวโปรดเพื่อเสด็จทางไกล แล้วจึงทรงเสด็จไปดูพระโอรสและพระชายาที่กำลังบรรทมหลับอยู่ ก่อนที่จะเสด็จออกจากพระตำหนักอย่างเงียบกริบจนไม่มีผู้ใดล่วงรู้ในเหตุการณ์นี้





เสด็จประทับม้าเป็นพาหนะออกบรรพชา

ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะ
เสด็จออกบรรพชา


ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายสิทธัตถะขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้ มีชื่อว่า "กัณฐกะ" เป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับเจ้าชาย ม้ากัณฐกะนั้นสูงใหญ่ มีสีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิ เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ "พระยาบาลทวาร" โดยมีนายฉันนะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปข้างหลัง วันที่เสด็จออกบวชนั้น หนังสือปฐมสมโพธิบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ ท่านว่า "พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัดนาคลประเทศ (ท้องฟ้า) ปราศจากเมฆ ภายในห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี" นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ.





* หนังสือปฐมสมโพธิ อธิบายรายละเอียดของม้า "กัณฐกะ" นี้ไว้ว่า "ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ ๑๘ ศอก" แต่ส่วนสูงกี่ศอกไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่า "โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว" และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า "สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในขุมประเทศ(หน้า) ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด กอปรด้วยพละกำลังมาก แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี" ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรณนาให้เขื่อง และให้เห็นเป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญ




พญามารเข้าขัดขวาง

พญามารเข้าขัดขวาง ห้ามออกบรรพชา
ว่าอีก ๗ วันจะได้เสวยสมบัติบรมจักร แต่ไม่ทรงฟัง

ครั้นเจ้าชายเสด็จพ้นพระนครออกมาแล้ว ในเวลาราตรีที่มีแสงจันทร์กระจ่าง ขณะนั้นพญามาร “ วัสวดี ” เมื่อเห็นว่าเจ้าชายทรงสละราชสมบัติ จะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จะล่วงพ้นบ่วงของพญามารซึ่งกั้นขวางไว้ จึงรีบเหาะมาในอากาศ ยกหัตถ์ขึ้นร้องห้ามว่า "ดูกรสิทธัตถะ ท่านอย่ารีบร้อนออกบรรพชา เพราะอีก 7 วันข้างหน้า ทิพยรัตนจักรก็จะปรากฎแก่ท่าน ท่านจะได้เป็นองค์บรมจักรพรรดิ"





เจ้าชายสิทธัตถะจึงตรัสแก่พญามารว่า "เราไม่ต้องการสมบัติแลบรมจักรพรรดิ เพราะแม้สมบัติอำนาจนั้นก็ยังอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ ไม่อาจทำผู้เสวยให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจงหลีกทางแก่เราเถิด " พระยามารทูลถามว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านจะเสด็จออกบวชเพื่อประโยชน์อันใด" เจ้าชายจึงตรัสตอบว่า "เพื่อสัพพัญญุตญาณ" พญามารได้ฟังจึงได้ล่าถอยไปพ่ายแพ้แก่ความแน่วแน่พระทัยของพระองค์





สัพพัญญุตญาณตามความหมายในพระดำรัสของเจ้าชาย คือ ความได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ความที่บรรยายมาทั้งหมดนั้น บรรยายตามความในวรรณคดีที่กวีท่านแต่งไว้ในปฐมสมโพธิ และที่พระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ในอรรถกถาธรรมบท โดยท่านสาธกให้เห็นปุคคลาธิษฐาน ( ปุคคลาธิษฐาน คือ การแปลสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา หรือสัมผัสไม่ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ ที่เรียกว่า "นามธรรม" แปลออกมาให้เห็นเป็นฉาก เป็นบุคคล ซึ่งเป็นตัวแสดงในเรื่อง เหมือนนักเขียนนวนิยายที่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาทางตัวละคร ถ้าไม่สาธกอย่างนี้คนก็จะไม่เข้าใจ และท้องเรื่องก็จะจืด )

ความในวรรณคดีที่เป็นปุคคลาธิษฐานดังกล่าวข้างต้นนั้น ถ้าว่าถึงเนื้อแท้ก็คือ พอเสด็จออกพ้นประตูเมือง เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งทรงอยู่ในภาวะปุถุชน แม้พระทัยหนึ่งจะทรงปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า แต่อีกพระทัยหนึ่งก็ยังทรงห่วงบ้านเมือง

ความที่ทรงห่วงนี้ กวีท่านจำลองออกมาในรูปของพระยามารผู้ขัดขวาง แต่แล้วเจ้าชายก็ทรงเอาชนะเสียได้ จะเรียกว่าชนะพระยามาร หรือ ชนะความห่วงที่เป็นข้าศึกในพระทัยนั้นก็ได้ทั้งนั้น




พระพุทธรูปปาง ทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์





ทรงเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์

เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จทรงอัศวราช โปรดให้นายฉันนะตามเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในเวลาเที่ยงคืนนั้นเอง เมื่อเสด็จออกจากนครไปได้สักพักก็ทรงชักม้าเหลียวหลังกลับประทับนิ่ง ทอดพระเนตรสู่นครกบิลพัสดุ์ในท่ามกลางแสงจันทร์เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงทรงชักม้าออกไป พระองค์ได้เสด็จเดินทาง 30 โยชน์ (480 กิโลเมตร) ในคืนเดียว ผ่านรัฐถึง 3 รัฐ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และเวสาลี จนกระทั่งลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา แล้วจึงเสด็จลงจากหลังม้าประทับยืนบนหาดทรายอันขาวดุจแผ่นเงิน











จากนั้นทรงใช้พระหัตถ์เปลื้องเครื่องประดับทั้งหมดออกจากพระองค์ ยื่นส่งให้นายฉันนะพร้อมตรัสว่า "นี่ฉันนะจงเอาเครื่องประดับของเราเหล่านี้พร้อมทั้งม้ากัณฐกะกลับไปบ้านเมือง บัดนี้เป็นเวลาที่เราสละโลกแล้ว" และทรงให้นายฉันนะนำกลับไปกราบทูลแจ้งข่าวแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ







นายฉันนะมีความอาลัยรักองค์ผู้เป็นเจ้านาย ถึงร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบพระบาทไม่อยากกลับไป แต่ขัดรับสั่งไม่ได้ ด้วยเกรงพระอาญา อีกทั้ง นายฉันนะได้ร้องขอที่จะตามเสด็จไปด้วยอยู่หลายครั้ง แต่ก็มิทรงอนุญาตและตรัสสั่งให้นายฉันนะกลับไปทูลพระบิดาพระมารดาด้วยว่าพระองค์ยังทรงปลอดภัยอยู่ ณ ริมน้ำอโนมาเพื่อแสวงหาหนทางที่จะทำให้คนทั้งปวงประสบชัยชนะอยู่เหนือความเจ็บไข้ทุกข์โศก และความยากแค้นทั้งปวง อยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว



เจ้าชาย หรือตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หนังสือพุทธประวัติเรียกว่า "พระมหาบุรุษ" ทรงลูบหลังม้าที่กำลังจะจากพระองค์กลับเมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบซิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้เคยทรงเป็นเจ้าของ ทั้งม้าทั้งคน คือ นายฉันนะน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรพระมหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออก ๗ ภาค หรือหัวใจวายตาย นายฉันนะจึงปลดเครื่องม้าออก แล้วนำดอกไม้ป่ามาบูชาศพพญาสินธพ แล้วฉันนะก็หอบพระภูษาทรง และเครื่องม้าเดินร้องไห้กลับเมืองคนเดียว.




 

Create Date : 05 มีนาคม 2552    
Last Update : 7 มีนาคม 2552 0:21:28 น.
Counter : 2958 Pageviews.  

พระพุทธรูปปาง : ทรงเห็นนิมิตร 4

เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพายโสธรา

พระบิดาทรงอภิเษกสมรสให้
พระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา

พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ทั้งสองฝ่าย อยู่คนละเมือง มีแม่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเขตกั้นพรมแดน พระญาติวงศ์ฝ่ายพระมารดามีชื่อว่า โกลิยวงศ์ ครองเมืองเทวทหะ พระญาติวงศ์ฝ่ายพระบิดาชื่อ ศากยวงศ์ ครองเมืองกบิลพัสดุ์

ทั้งสองนครนี้เกี่ยวดองเป็นพระญาติกัน มีความรักกันฉันพี่น้องร่วมสายโลหิต ต่างอภิเษกสมรสกันและกันเสมอมา สมัยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงอยู่ในฐานะประมุขครองเมืองเทวทหะ คือ พระเจ้าสุปปพุทธะ ส่วนผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ ก็เป็นที่ทราบกันดี คือ พระเจ้าสุทโธทนะ





พระชายาของพระเจ้าสุปปพุทธะมีพระนามว่าพระนางอมิตา เป็นกนิษฐภคินี คือน้องสาวคนเล็ก ของพระเจ้าสุทโธทนะ กลับกันคือ พระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระมารดาของพระพุทธเจ้า มีพระนามว่าพระนางมายา พระนางเป็นน้องสาวของพระเจ้าสุปปพุทธะ ทั้งสองทรงอภิเษกสมรสกับพระภคินีของกันและกัน พระเจ้าสุปปพุทธะมีพระโอรส และพระธิดาอันเกิดกับพระนางอมิตาสองพระองค์ พระโอรสคือ พระเทวทัต พระธิดาคือ พระนางพิมพายโสธรา
ปฐมสมโพธิว่า พระนางพิมพายโสธราเป็นผู้หนึ่งในจำนวน ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า สหชาติ คือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด ๗ สหชาตินั้น คือ
๑. พระนางพิมพายโสธรา
๒. พระอานนท์
๓. กาฬุทายีอำมาตย์
๔. นายฉันนะมหาดเล็ก
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
๗. ขุมทองทั้ง ๔ (สังขนิธิ, เอลนิธิ, อุบลนิธิ, บุณฑริกนิธิ)

ในคราวนั้น พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายทรงเห็นพร้อมกันว่า พระนางพิมพายโสธราทรงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงได้มีขึ้นในสมัยที่ทั้งเจ้าชาย และเจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีพอดี



พระพุทธรูปปาง : ทรงเห็นนิมิตร 4

วันหนึ่งขณะที่เจ้าชายเสด็จประพาสพระราชอุทยาน พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง4 คือคนแก่ คนเจ็บ คนตายและสมณะ ซึ่งเทพยดานิมิตรให้เห็น ทรงสนพระทัยใต่ถามถึงการแก่ การเจ็บ และการตาย โดยเฉพาะเรื่องนักบวช จนสามารถหยั่งถึงภายในใจของบุรุษผู้นั้น ว่ากำลังเต็มไปด้วยความสงบสุขเยือกเย็น จึงได้ตรัสถามนายฉันนะว่า บุคคลเช่นนี้มีชีวิตและความประพฤติเช่นใด นายฉันนะกราบทูลว่า บุคคลผู้นี้เป็นคนที่เรียกว่า ผู้สละโลกเพื่อแสวงหาสิ่งดับทุกข์ทรมานของโลก เจ้าชายมีความปลาบปลื้มในคำๆนี้เป็นอันมากและประทับนิ่งอยู่ในอุทยานนั้นด้วยความสุขใจตลอดวัน จนเกิดน้อมจิตขึ้นถึงการสละเรือนเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น



พระพุทธรูปปางนี้ ของไทยก็ไม่มีการสร้าง เพราะมีองค์ประกอบ สลับซับซ้อน เกินไป ของพม่าจะพบเห็นมาก แต่ก็ไม่สร้างองค์พระพุทธรูปไว้ สร้างแต่รูปของนิมิตร 4 เท่านั้น


พระเจ้าสุทโธทนะผู้พระราชบิดา และพระญาติวงศ์ทั้งปวงทรงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จอยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชาอย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้ จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรส ให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่าง แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิด สมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดา โปรดชาวโลก จึงยินดีอยู่ในความสุขนั้นไม่นาน พอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย
ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้นอยู่ ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวทูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประพาสพระราชอุทยานนอกเมือง ด้วยรถม้าพระที่นั่งพร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช





ทรงเห็นคนแก่ก่อน



ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า "มีเกศาอันหงอก แลสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้องหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวสั่นไปทั่วทั้งกาย ควรจะสังเวช...." ก็ทรงสลดพระทัย








ทรงเห็นคนเจ็บและคนตาย









เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนแก่ เมื่อเสด็จ ประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่า สภาพในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน คือ มีมืดแล้วมีสว่าง มีร้อนแล้วมีเย็น เมื่อมีทุกข์ ก็น่าจะมีทางแก้ทุกข์








ทรงเห็นนักบวช



ในคราวเสด็จพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวช "นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม...." เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา ทรงรำพึงในพระทัยที่เรียกอีกอย่างหนึ่ง ทรงเปล่งพระอุทานออกมาว่า "สาธุ ปัพพชา" สองคำนี้เป็นภาษาบาลี แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า "บวชท่าจะดีแน่" แล้วตัดสินพระทัยว่า จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา





ทรงทราบข่าวพระนางพิมพาประสูติพระโอรส

ทรงสรงสนานน้ำในสระ ราชบุรุษไปทูลว่า
พระนางพิมพาประสูติพระโอรสแล้ว

ภายหลังที่เจ้าชายสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๔ คือ นักบวช จนตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จออกบวชแน่นอนแล้ว ก็เสด็จด้วยรถพระที่นั่ง ที่ปฐมสมโพธิว่า "เทียมด้วยมงคลสินธพทั้ง ๔ มีสีดังดอกโกกนุทปทุมบุปผาชาติ (ดอกบัวสีแดง)" เสด็จไปถึงพระราชอุทยาน

เมื่อเสด็จไปถึง เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งแวดล้อมไปด้วยคณานางอเนกนิกรสุรางคศักยราชกัญญา ก็เสด็จลงสรงสนานในสระโบกขรณีที่เรียงรายระดาดาดด้วยเบญจปทุมชาติ เกือบทั้งวัน จนเกือบเย็นจึงมีเจ้าพนักงานจากราชสำนักผู้หนึ่ง ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะ รับสั่งให้นำข่าวมาทูลให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงทราบ เจ้าพนักงานกราบทูลว่าพระนางพิมพายโสธราประสูติพระโอรสแล้ว





พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาธรรมบทได้พรรณนาความตอนนี้ไว้ว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงทราบข่าวว่า พระชายาของพระองค์ประสูติพระโอรสแล้ว ทรงเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเกิดกับพระองค์มาก่อนเลย คือ ความรักลูกยิ่งนัก ความรักนั้นเกิดขึ้นแล้ว หนักหน่วงในพระทัย ผูกมัดรัดรึงพระทัยยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก จนทรงอุทานออกมาว่า "พันธนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง" แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว" คำที่แปลว่า 'ห่วง' ในพระอุทานของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ราหุลัง หรือ ราหุล ต่อมาคำนี้ได้ถวายเป็นพระนามของราหุลกุมาร

ที่เจ้าชายสิทธัตถะเปล่งอุทานขึ้นว่า "ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว" นั้น หมายถึงว่า พระองค์กำลังตัดสินพระทัย จะเสด็จออกบวช กำลังจะตัดห่วงหาอาลัยในฆราวาสอย่างอื่น ก็เกิดมีห่วงใหม่ขึ้นมาผูกมัดอีกเสียแล้ว




ทรงเปลื้องสังวาลประทานนางกีสาโคตรมี

ทรงเปลื้องสังวาลย์ประทานนางกีสาโคตมี
ซึ่งสดุดีพระคุณ ขณะเสด็จขึ้นสู่ปราสาท

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับเข้าเมือง พร้อมด้วยราชบริพารที่ตามเสด็จ สตรีที่ยืนเยี่ยมมองทางสิงหบัญชร หรือหน้าต่างพระตำหนักที่เห็นอยู่นั้น ปฐมสมโพธิบอกว่าเป็น "นางขัตติยราชกัญญองค์หนึ่งแห่งเมืองกบิลพัสดุ์" ทรงพระนามว่า "กีสาโคตมี" เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะในทางพระญาติวงศ์อย่างไร ไม่ได้บอกไว้ แต่ในอรรกถาธรรม บทที่พระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียรจนาไว้บอกว่า เธอเป็นธิดาของพระเจ้าอา(หญิง) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงพระนางปมิตา และพระนางอมิตา ทั้งสองพระนางนี้เป็นพระกนิษฐา หรือน้องสาวของพระเจ้าสุทโธทนะ แต่เป็นธิดาของพระเจ้าอาพระองค์ไหนแน่ ท่านก็ไม่ได้บอกไว้
พระนางกีสาโคตมี ได้ทรงเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับจากสรงสนานในสระโบกขรณี ในพระราชอุทยานผ่านมา และทรงเห็นเจ้าชายงามบริบูรณ์ด้วยพระรูปศิริโสภาคย์ ก็ทรงปีติโสมนัส จึงตรัสพระคาถา ชมเจ้าชายสิทธัตถะบทหนึ่ง พระคาถา คือคำกลอน หรือโศลกที่กวีแต่งร้อยกรองความเดิมเป็นภาษาบาลีว่า

นิพพุตา นูน สา มาตา นิพพุโต นูน โส ปิตา
นิพพุตา นูน สา นารี ยัสสายัง อีทิโส ปิติ

ถอดเป็นร้อยแก้วในภาษาไทยว่า "ผู้ใดได้เป็นพระราชมารดา และพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นั้นจะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ สตรีใดได้เป็นพระชายาสตรีนั้น ก็จะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ"





เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้ยิน ก็ชอบพระทัย ที่ทรงชอบที่สุด คือคำว่า "ดับ" ซึ่งพระองค์ทรงหมายพระทัยถึง "นิพพุต" หรือ นิพพาน จึงทรงเปลื้อง "แก้วมุกดาหาร" เครื่องประดับพระศอราคาแสนกหาปณะ มอบให้ราชบุรุษนำไปมอบให้แก่นางกีสาโคตมี พระนางสำคัญหมายในพระทัยว่า เจ้าชายทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์เสน่หาในพระนางก็ทรงเกิดโสมนัสยินดีเป็นอันมาก




 

Create Date : 05 มีนาคม 2552    
Last Update : 5 มีนาคม 2552 17:23:59 น.
Counter : 2667 Pageviews.  

พระพุทธรูปปางเจ้าชายสิทธัตถะ | พระพุทธรูปปางทรงแสดงศิลปศาสตร์

การถวายพระนามพระกุมาร

พราหมณาจารย์รับพระลักษณะสมโภชพระกุมาร
ถวายพระนามว่าพระสิทธัตถะ

ภายหลังเจ้าชายราชกุมารผู้พระราชโอรสประสูติได้ ๕ วันแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา ได้โปรดให้มีการประชุมใหญ่ ผู้เข้าประชุมมีพระญาติวงศ์ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายพระมารดา มุขอำมาตย์ ราชมนตรี และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวทย์ เพื่อ ทำพิธีมงคลแก่พระราชกุมาร ๒ อย่าง คือ ขนานพระนาม และพยากรณ์พระลักษณะ ผู้ทำพิธีมงคลในการนี้คือพราหมณ์ มี ทั้งหมด ๑๐๘ แต่พราหมณ์ผู้ทำหน้าที่นี้จริง ๆ มีเพียง ๘ นอกนั้นมาในฐานะคล้ายพระอันดับ พราหมณ์ทั้ง ๘ มีรายนามดังนี้ คือ
๑. รามพราหมณ์ ๒. ลักษณพราหมณ์ ๓. ยัญญพราหมณ์ ๔. ธุชพราหมณ์
๕. โภชพราหมณ์ ๖. สุทัตตพราหมณ์ ๗. สุยามพราหมณ์
๘. โกณทัญญพราหมณ์

ที่ประชุมลงมติขนานพระนามพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายสิทธัตถะ' ซึ่งเป็นมงคลนาม มีความหมาย ๒ นัย นัยหนึ่งหมายความว่า ผู้ทรงปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จสิ่งนั้นดังพระประสงค์ อีกนัยหนึ่งหมายความว่า พระโอรสพระองค์แรก สมดังที่พระราชบิดาทรงปรารถนา แปลให้เป็นเข้าสำนวนภาษาสามัญก็ว่าได้ลูกชายคนแรก
พระนามนี้ คนอินเดียทั่วไปในสมัยนั้นไม่นิยมเรียก แต่นิยมเรียกพระโคตรแทน 'พระโคตร' คือนามสกุลของ ของคนไทยนั่นเอง คนจึงนิยมเรียกพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายโคตมะ' หรือ 'โคดม'




พร้อมกันนี้ พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็พยากรณ์พระลักษณ์ คำพยากรณ์แตกความเห็นเป็น ๒ กลุ่ม พราหมณ์ ๗ คน ตั้งแต่ท่านที่ ๑ ถึง ท่านที่ ๗ มีความเห็นเป็นเงื่อนไขในคำพยากรณ์ว่า ถ้าเจ้าชายเสด็จอยู่ครองราชสมบัติ จักได้ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก แต่ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก

มีพราหมณ์หนุ่มอายุเยาว์คนเดียวที่พยากรณ์เป็นมิติเดียว โดยไม่มีเงื่อนไข ว่า พระราชกุมารนี้จักเสด็จออกทรงผนวช และได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน พราหมณ์ผู้นี้ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ ออกบวชตามเสด็จ พระพุทธเจ้า และได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์แรกที่รู้จักในนามว่า พระอัญญาโกณทัญญะ นั่นเอง ที่เหลืออีก ๗ คน ไม่ได้ตามเสด็จออกบวช เพราะชรามากแล้ว อยู่ไม่ทันสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช





ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์
ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ

เมื่อเจ้าสิทธัตถะโคตมะมีพระชนมายุ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ ภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระทัยพระโอรส (สระโบกขรณี คือ สระที่ปลูกดอกบัวประดับในสระ) แล้วพระราชทานเครื่องทรง คือจันทน์สำหรับ ทาผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ผ้าสะพัก พระภูษาทั้งหมดเป็นของมีชื่อจากเมืองกาสีทั้งนั้น

เมื่อถึงวันพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาได้โปรดให้เจ้าชายสิทธัตถะพระราชกุมารโดยเสด็จด้วย แต่ในขณะที่กำลังดำเนินการพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระสหาย พระพี่เลี้ยง และมหาดเล็ก พากันไปชมพระราชพิธี กันหมด เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอยู่ลำพังพระองค์เดียวภายใต้ต้นหว้าที่กวีท่านพรรณนาไว้ว่า "...กอปรด้วยสาขาแลใบ อันมีพรรณอันเขียวประหนึ่งอินทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณีย์สถาน.." พระทัยอันบริสุทธิ์และวิสัยของผู้ที่จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ได้รับความวิเวกก็เกิดเป็น สมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า 'ปฐมฌาน'




ครั้นตกบ่ายพระราชพิธีแรกนาขวัญได้เสร็จสิ้นลง พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิม เหมือนเวลาเที่ยงวันไม่คล้อยตามดวงตะวัน ก็เกิดอัศจรรย์ใจเป็นยิ่งนัก จึงนำความไปไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระราชบิดาเสด็จมาทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า "กาลเมื่อวันประสูติ จะให้ น้อมองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสก็ทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้องบนชฎาพระดาบส อาตมก็ประณตเป็นปฐมวันทาการ ครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติยวันทนาการคำรพสอง"

พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อคราวที่พระดาบสมาเยี่ยม เห็นดาบสไหว้ก็เลยไหว้ ครั้งที่สองก็คือครั้งที่ทรงปาฏิหาริย์ ครั้งที่สามคือภายหลังที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชได้สำเร็จ เป็นพระพุทธเจ้าแล้วและเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก



พระพุทธรูปปางเจ้าชายสิทธัตถะ

พระพุทธรูปปางนี้พบเห็นได้น้อยมาก เพราะเป็นปางที่ยังทรงอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ในฐานะเจ้าชาย ยังไม่ได้ออกผนวช พบเห็นที่อินเดียเท่านั้น ที่มีการสร้างกันขึ้น






พระพุทธรูปปางทรงแสดงศิลปศาสตร์

ทรงประลองศิลปศาสตร์ยกศรอันหนัก
ดีดสายศรเสียงสนั่นกระหึ่มเมือง

พอเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุพอสมควรแล้ว พระราชบิดาจึงทรงส่งไปศึกษาศิลปวิทยา ที่สำนักครูที่มีชื่อว่า 'วิศวามิตร' เจ้าชายทรงศึกษาการใช้อาวุธยิงธนู และการปกครองได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาได้ตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ ฤดู เป็นจำนวน ๓ หลัง ให้พระโอรสประทับเป็นที่สำราญพระทัย ปราสาทหลังที่หนึ่งเหมาะสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังที่สอง สำหรับฤดูร้อน แต่ทั้งสองหลังนี้จะมีอะไรเป็นเครื่องควบคุมอุณหภูมิไม่ทราบได้ และหลังที่สามสำหรับประทับในฤดูฝน

หลังจากนั้น พระราชบิดาได้ทรงแจ้งไปยังพระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ให้จัดส่งพระราชธิดามาเพื่อคัดเลือกสตรีผู้สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ทั้งนี้เพราะพระราชบิดาทรงต้องการจะผูกมัด พระราชโอรสให้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะให้เสด็จออกทรงผนวช

แต่พระญาติทั้งปวงเห็นว่า ควรจะให้เจ้าชายได้แสดงความสามารถในศิลปศาสตร์ที่ทรงเล่าเรียนมา ให้เป็นที่ประจักษ์แก่หมูพระญาติก่อน พระราชบิดาจึงอัญเชิญพระญาติวงศ์มาประชุมกันที่หน้าพระมณฑลที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ ณ ใจกลางเมือง เพื่อชมเจ้าชายแสดงการยิงธนู




ธนูที่เจ้าชายยิงมีชื่อว่า 'สหัสถามธนู' แปลว่า ธนูที่มีน้ำหนักขนาดที่คนจำนวนหนึ่งพันคนจึงจะยกขึ้นได้ แต่เจ้าชายทรงยกธนูนั้นขึ้นได้ ปฐมสมโพธิให้คำอุปมาว่า 'ดังสตรีอันยกขึ้นซึ่งไม้กงดีดฝ้าย' บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงได้เห็นแล้ว ต่างชื่นชมยิ่งนัก แล้วเจ้าชายทรงลองดีดสายธนูก่อนยิง เสียงสายธนูดังกระหึ่มครึ้มครางไปทั้งกรุงกบิลพัสดุ์ จนคนทั้งเมือง ที่ไม่รู้และไม่ได้มาชมเจ้าชายทรงยิงธนู ต่างถามกันว่านั่นเสียงอะไร





เป้าที่เจ้าชายยิงธนูในวันนั้น คือ ขนหางทรายจามรีที่วางไว้ในระยะหนึ่งโยชน์ ปรากฏว่าเจ้าชายทรงยิง ถูกขาดตรงกลางพอดี ทั้งนี้ท่านว่า 'ด้วยพระเนตรอันผ่องใสพร้อมด้วยประสาททั้ง ๕ อันบริสุทธิ์อันปราศจากมลทิน' พระญาติวงศ์ ทั้งปวงจึงยอมถวายพระราชธิดา ซึ่งมีพระนางพิมพายโสธรารวมอยู่ด้วย เพื่อคัดเลือกเป็นพระชายา





 

Create Date : 04 มีนาคม 2552    
Last Update : 4 มีนาคม 2552 19:50:53 น.
Counter : 2147 Pageviews.  

ท่านอสิตดาบสมาเยี่ยมพระราชกุมาร

ท่านอสิตดาบสมาเยี่ยมพระราชกุมาร

อสิตดาบสมาเยี่ยม พระราชกุมาร
เห้นว่าทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ก็ถวายบังคม






เมื่อท่าน 'อสิตดาบส' หรือ 'กาฬวินดาบส' ซึ่งเป็นฤาษีอยู่ที่ข้างเขาหิมพานต์ หรือที่เรียกกันว่าภูเขาหิมาลัย เป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและราชตระกูล ทราบว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ทรงมีพระราชโอรส จึงออกจากอาศรมเชิงเขาเข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพร ยังราชสำนัก พระเจ้าสุทโธทนะ เทื่อทรงทราบว่าท่านดาบสมาเยี่ยมก็ทรงดีพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะ แล้วทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส



พระเจ้าสุทโธทนะทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส









พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทำกริยาผิดวิสัยสมณะ คือ หัวเราะแล้วร้องไห้ แล้วกราบแทบพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ



ภาพจำหลัก ท่านดาบสมีพระกุมารอยู่เหนือหัว อีกความหมายหนึ่ง แทนภาพท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร


ท่านยิ้มเพราะเห็นพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ ต้องด้วยตำรับมหาบุรุษลักษณ์ ท่านเห็นว่าคนที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล แต่ถ้าได้ออกบวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเจ้าชายราชกุมารนี้จะต้องออกบวช เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้เลยนึกถึงตนเองว่า เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้ว เลยเสียใจว่ามีบุญน้อย ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่ ก็เพราะเหตุเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว



ฝ่ายเจ้านายในราชตระกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร ต่างก็มีพระทัย นับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะตระกูลละองค์ ๆ ทุกตระกูล




 

Create Date : 03 มีนาคม 2552    
Last Update : 3 มีนาคม 2552 22:43:24 น.
Counter : 1478 Pageviews.  

พระพุทธรูปปางเสด็จพระดำเนิน 7 ก้าว

พระพุทธรูปปางเสด็จพระดำเนิน 7 ก้าว



ภาพจำหลัก พระพุทธรูปปางเสด็จพระดำเนิน 7 ก้าว ของพม่า เป็นพระพุทธรูปแบบที่ไม่ใช่เด็กทารก

พระโพธิสัตว์กุมาร เมื่อเสด็จเหยียบลงยังพื้นภูมิภาคแล้ว ทรงทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ เห็นเทพยดาและมนุษย์เป็นอันมากทั้งปวง ทำสักการะบูชาแล้ว ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทางอุตรทิศ เสด็จย่างพระบาทไปบนพื้นแผ่นทอง อันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับไว้ได้ ๗ ก้าว แล้วทรงหยุดประทับบนทิพยปทุมบุบผาชาติ ทรงเปล่งพระสุรเสียง ดำรัสอาสภิวาจา ความว่า “ในโลกนี้เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้ เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี ” ขณะนั้นโลกธาตุ ก็เกิดมหัศจรรย์หวั่นไหว รัศมีพระอาทิตย์ ก็อ่อนลงมิได้ร้อน มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในทิศทั้งหลาย ยังวัสโสทกให้ตกลงในที่นั้นๆโดยรอบ ทั้งสรรพบุพพนิมิตรปาฏิหาริย์ต่างๆ ก็ปรากฏมีดุจกาลเมื่อเสด็จลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น





พระพุทธรูปของจีน



พระพุทธรูปของทิเบต


พระพุทธรูปปางเสด็จพระดำเนิน 7 ก้าว ของไทยไม่ปรากฏว่ามีการสร้าง เพราะจะพบเฉพาะประเทศที่นับถือมหายานเท่านั้น เช่นจีนและประเทศทางแถบทางธิเบต โดยสร้างเป็นรูปพระกุมาร พระกรซ้ายยกชี้นิ้วพระหัตถ์ขึ้นฟ้า พระกรขวาชี้นิ้วพระหัตถ์ลงดิน ส่วนของจีนยกพระกรสลับข้างกัน







 

Create Date : 03 มีนาคม 2552    
Last Update : 3 มีนาคม 2552 22:24:20 น.
Counter : 4222 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

travelaround
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]





ยินดีต้อนรับทุกท่านที่แวะเข้ามาชม blog มีข้อคิดเห็น เชิญ comment มาได้นะครับ ถ้าตอบได้ จะตอบให้ทันทีครับ แต่ถ้าไม่ทราบ ต้องขอเวลา จะค้นคว้ามาให้อ่านกัน ท่านที่จะถามคำถาม หรือติดต่อเรื่องบทความ ได้ทาง Email :- d_sign_place@yahoo.com ครับ


เรื่องต่างๆที่ผมได้เขียนหรือรวบรวม เรียบเรียงมานี้ ยินดีให้ทุกท่านได้อ่านเป็นวิทยาทานและเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำไปโพสต่อใน website สาธารณะ หรือ website อื่นใดที่ไม่ใช่ทางพาณิชย์ กรุณาระบุที่มา คือ https://www.travelaround.bloggang.com และนามปากกาผู้เขียนคือ TraveLArounD ด้วย

แต่ขอสงวนสิทธิ์สำหรับการนำไปใช้ ในเชิงพาณิชย์ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง จะถูกดำเนินคดี ตามกฏหมายลิขสิทธิ์

ส่วนบทความหรือภาพถ่ายใดๆ ที่ได้นำมาจาก website อื่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบเรื่องนั้นๆ เป็นการถ่ายทอดจากวิจารณญาณแล้วว่า มีความถูกต้องเป็นจริง มากที่สุด และได้นำมาจาก website ที่เป็นสาธารณะ ถ้าเรื่องราวหรือภาพของท่านที่ได้นำมาถ่ายทอดนี้ ไปละเมิดลิขสิทธิ์ของท่าน กรุณาแจ้งมาทาง email :– nana_sara1000@ymail.com ผมจะทำการลบข้อมูลหรือภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ออกทันที

Acknowledges that I try to write or report accurately but postings may contain fact , speculation or rumor. I find images from the Web that are believed to belong in the public domain. If any stories or images that appear on the site are in violation of copyright law, please email to :- nana_sara1000@ymail.com and I will remove the offending information as soon as possible.


Website counter
: Users Online









ที่ดินเชียงใหม่ ทางไปแม่ริม ใกล้ศาลากลาง และสนามกีฬา 700 ปี ติดน้ำปิง ในหมู่บ้านเพชรริมปิง พื้นที่ 667 ตารางวา @ 14,000.- บาท สภาพแวดล้อมดี สนใจติดต่อ โทร. 0859559950



DESIGN PLACE CO.,LTD. รับออกแบบ และตกแต่งภายใน บ้านพักอาศัย ในแบบไทย และไทยร่วมสมัย



มรดก ฉบับที่ 1

มรดก ฉบับที่ 2

มรดก ฉบับที่ 3

มรดก ฉบับที่ 4

มรดก ฉบับที่ 5

มรดก ฉบับที่ 6

มรดก ฉบับที่ 7

ช่วยสนับสนุนการจัดทำ BLOG ด้วยการซื้อหนังสือ "มรดก" 1ชุด 7เล่ม (หนังสือเก่า) ในราคาชุดละ 700 บาท (รวมค่าส่งทางไปรษณีย์)

สนใจสั่งซื้อทาง E-mail :- nana_sara1000@ymail.com



New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add travelaround's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.