"ความสามัคคีปรองดอง เป็นกำลังอย่างสูงสุดของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ความสามัคคีของคนในชาติ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นอุปสรรค และทำให้สังคมไทย ร่มเย็นเป็นสุข" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สนใจลงโฆษณา ในพื้นที่ข้างบน ติดต่อ email : nana_sara1000@ymail.com
Home Lover’s Corner นานา สาระ๑๐๐๐ นานา สารพัด พระพุทธประวัติ ภาคพิเศษ
Travel Around the World Real Estate Buyer's Guide สุขภาพกาย สุขภาพใจ Pets & Animals
ปางพระพุทธรูปตามพุทธประวัติ Horoscope 12 ราศี พระพุทธศาสนา World of Beautiful Musics

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๗ | พระเจ้าพิมพิสารทรงบำเพ็ญกุศล ให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๗ : พระเจ้าพิมพิสารทรงบำเพ็ญกุศล
ให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต

พระเจ้าพิมพิสารทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต
เปรตทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ

ในคืนนั้น หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสาร ทรงถวายเวฬุวันนาราม แด่พระพุทธเจ้าแล้ว ถือเป็นการหยั่งรากฐานของพระพุทธศาสนา ลงบนพื้นพสุธาเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นมหากุศลทีเดียว แต่พระเจ้าพิมพิสาร กลับไม่ได้ทรงอุทิศส่วนกุศลใดๆเลย ในครั้งนั้น

ปฐมสมโพธิบรรยายว่า ในคืนวันนั้นพวกเปรตซึ่งเคยเป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ส่งเสียงดังอื้ออึงขึ้นในพระราชนิเวศน์ ที่แสดงกายให้เห็นก็มี ตามนิยายธรรมบทเล่าว่า เปรตเหล่านี้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เคยลักลอบ (หรือจะเรียกอย่างทุกวันนี้ว่าคอรัปชั่นก็ได้) กินของที่คนเขานำมาถวายสงฆ์ ตายแล้วตกนรก แล้วมาเป็นเปรต และมาคอยรับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารอุทิศให้ แต่เมื่อผิดหวังจึงมาประท้วงดังกล่าว



พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันรุ่งขึ้น ทูลถามทราบความแล้ว จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายอาหาร และจีวรแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้นอีกต่อมา แล้วทรงหลั่งน้ำอุททิโสทกว่า

อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ

แปลว่า "ขอกุศลผลบุญครั้งนี้จงไปถึงญาติพี่น้องของข้าพเจ้าด้วยเทอญ" เปรตเหล่านี้จึงต่างได้รับกุศลผลบุญกันทั่วหน้า และพ้นจากความทุกข์ทรมานที่ได้รับอยู่

คำว่า "อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ" ได้กลายเป็นบทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้คนตายที่คนไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน

วิธีการที่พระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าเมื่อตอนถวายพระอารามเวฬุวัน หรือการหลั่งน้ำในที่นี้ เรียกตามภาษาสามัญว่า "กรวดน้ำ" หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า "อุททิโสทก" แปลว่า กรวดน้ำมามอบถวาย ใช้ในกรณีเมื่อถวายของใหญ่ที่ไม่อาจยกประเคนใส่มือพระได้ เช่น ที่ดินและวัด เป็นต้น

ส่วนการกรวดน้ำของพระเจ้าพิมพิสารที่ให้แก่เปรตนั้น เรียกว่า "ทักษิโณทก" แปลว่า กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลแก่คนตาย ใช้ในกรณีที่จะมอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นผู้รับอีกเหมือนกัน ผิดแต่ว่าสิ่งที่ให้มองไม่เห็นตัวตน เพราะเป็นบุญกุศล ผู้รับก็มองไม่เห็น เพราะเป็นคนที่ตายไปแล้ว พิธีนี้เป็นที่นิยมกันอยู่ในเมืองไทยเวลาทำบุญทุกวันนี้




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 22 พฤษภาคม 2551 20:48:31 น.
Counter : 3567 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๖ | พระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำถวายสวนเวฬุวัน

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๖ : พระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำถวายสวนเวฬุวัน


พระเจ้าพิมพิสาร ทรงหลั่งน้ำถวายสวนเวฬุวัน
เป็นปฐมสังฆาราม เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ ได้ทรงฟังธรรมพระพุทธเจ้าจบลง และได้ทรงบรรลุโสดาแล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นอภิวาทแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกหนึ่งพันรูปเสด็จไปเสวยที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าทรงรับคำทูลอาราธนานั้น ด้วยพระอาการดุษณี

นั่นเป็นธรรมเนียมการรับนิมนต์ของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สมัยนั้น ถ้าดุษณีหรือนิ่ง แปลว่ารับได้ ถ้ารับไม่ได้ เช่น มีคนทูลอาราธนาว่า ขอให้เสด็จไปรับบาตรที่บ้านของตนแห่งเดียวตลอดพรรษานี้ พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า "คนในโลกนี้ใคร ๆ ก็อยากทำบุญกับเราทั้งนั้น จะผูกขาดไม่ได้หรอก" อย่างนี้แปลว่ารับนิมนต์ไม่ได้ หรือไม่รับ




รุ่งขึ้นพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวนตาลหนุ่ม เข้าไปในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อเจ้าพนักงานได้ตระเตรียมอาหารบิณฑบาตไว้พร้อมแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก
เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้ว และพระสงฆ์ทั้งนั้นก็ฉันอิ่มกันทั่วแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้า ประทับนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง แล้วทรงมีพระราชดำรัสทูลพระพุทธเจ้าว่า ที่สวนตาลหนุ่มเป็นสถานที่อยู่ห่างไกลเมืองและทุรกันดารมาก ไม่สะดวกแก่การไปมา

แล้วมีพระราชดำรัสว่าพระราชอุทยานสวนไม้ไผ่ หรือเวฬุวันของพระองค์ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวเมืองนัก ไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน กลางคืนสงบสงัด สมควรเป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์



เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับด้วยพระอาการดุษณี พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าลงบนพระหัตถ์พระพุทธเจ้า ถวายเวฬุวันนารามให้เป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในโลก


ปฐมสมโพธิว่า "กาลเมื่อพระสัพพัญญูทรงรับพระเวฬุวันเป็นอาราม ครั้งนั้นอันว่า มหาปฐพีดลก็วิกลกัมปนาท ดุจรู้ประสาทสาธุการว่า มูลที่ตั้งพระพุทธศาสนา หยั่งลงในพื้นพสุธา กาลบัดนี้"

หลังจากนั้น พระพุทธองค์จึงทรงมีพระพุทธานุญาตให้สงฆ์สาวกรับอารามที่มีผู้ถวายได้




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2551 15:17:17 น.
Counter : 1424 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๕ | พระอุรุเวลกัสสปประกาศตนเป็นพุทธสาวก

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๕ : พระอุรุเวลกัสสปประกาศตนเป็นพุทธสาวก

พระอุรุเวลกัสสปประกาศตนเป็นพุทธสาวก
ต่อหน้าพระเจ้าพิมพิสาร ณ สวนตาลหนุ่ม

กรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธและแคว้นอังคะในสมัยนั้น จึงมีประชาชนผู้คนจำนวนมาก มีพระราชาผู้เป็นใหญ่ คือ พระเจ้าพิมพิสารปกครอง พระราชาพระองค์นี้เคยทรงพบพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งเมื่อตอนก่อนตรัสรู้
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกที่แต่ก่อนเป็นพวกชฎิลห่มครองหนังเสือ แต่มาบัดนี้ เป็นพระภิกษุครองจีวร จำนวนหนึ่งพันรูป เสด็จถึงอุทยาน ลัฏฐิวัน หรือสวนตาลหนุ่ม แล้วเสด็จพักที่ใต้ต้นไทรชื่อสุประดิษฐเจดีย์
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยชาวเมือง แต่กลับมีอาการกิริยาแตกต่างกัน ประชาชนส่วนมากจะรู้จัก อุรุเวลกัสสป เพราะอุรุเวลกัสสปเป็นผู้มีอายุและมีชื่อเสียงมากในแคว้นมคธ ประชาชนจึงไม่รู้จักพระพุทธเจ้า จึงมีคนเป็นจำนวนมากที่สงสัยว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับอุรุเวลกัสสป ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลที่เคยมีชื่อเสียงใครเป็นพระศาสดา และใครเป็นสาวก



ลำดับนั้นพระบรมศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณ ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อตัดข้อสงสัยนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามอุรุเวลกัสสปถึงเหตุผลที่ละทิ้งลัทธิเดิมที่เคยปฏิบัติอยู่ จึงทรงพระดำรัสแก่พระอุรุเวลกัสสปว่า
“กัสสป เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร จึงได้เลิกการบูชาไฟเสีย”
พระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า การบูชายัญญ์ทั้งหลายนั้น ก็ด้วยมีความใคร่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่น่าพอใจน่าปรารถนาเป็นสมุฏฐาน แต่เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน เพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย”
ครั้นพระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลดังนั้นแล้ว มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่า ตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่าถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลด้วยเสียงอันดังด้วยอาการคารวะว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า”
แล้วกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง ล้างความสงสัยของพราหมณ์และคหบดี ผู้เป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมดในที่นั้น ให้หมดสิ้นไป พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา และตั้งใจสดับธรรมโดยคารวะ
ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงจตุราริยสัจโปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ส่วนอีก ๑ หมื่น มีความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นอุบาสกในพระศาสนา ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน
เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วพระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยราชกุมารอยู่นั้น หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนามโนปณิธานไว้ ๕ ข้อ คือ
๑ ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้
๒ ขอให้พระสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน
๓ ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๔ ขอให้พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน และ
๕ ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทาน

บัดนี้มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้นได้สำเร็จแล้วทุกประการ หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบานในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวง จงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้”

พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่าพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายอภิวาททูลลา พาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2551 21:44:25 น.
Counter : 1317 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๔ | เสด็จพระนครราชคฤห์

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๔ : เสด็จพระนครราชคฤห์


เสด็จพระนครราชคฤห์
เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารและโปรดชาวเมือง

เมื่อทรงโปรดเหล่าชฎิล จนบรรลุพระอรหัตแล้ว พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคม โดยสำราญพอควรแก่กาล ทรงมีพระประสงค์จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงที่พระนครราชคฤห์ และทรงพระประสงค์จะเปลื้องปฏิญญาที่ทรงประทานพระเจ้าพิมพิสารไว้แต่แรก จึงชวนพระอริยสาวก ๑,๐๐๐ องค์ ที่เคยเป็นชฏิล มีพระอุรุเวลกัสสปเป็นประธาน เสด็จไปยังมคธรัฐ ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวันใกล้พระนครราชคฤห์




ครั้นนายอุทยานบาลได้เห็นพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส รีบนำเรื่องเข้ากราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๒ หมื่นเป็นราชบริพาร เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลิฏฐิวันสถาน ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา

ส่วนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น มีอัธยาศัยต่างกัน บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียคาถาถวายความยินดีในการที่พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์ บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกก็นั่งเฉยอยู่ บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่างๆ ว่าพระสมณโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป หรือท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระสมณโคดม หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันแน่



ปล. ตอนนี้ผมเขียนบล็อกมาได้กว่า 300 เรื่องแล้ว ล้วนเป็นสาระน่ารู้ต่างๆ ท่านที่เข้ามาชมบล็อกใหม่ ผมได้จัดทำเป็นสารบัญ แบบหนังสือให้ดูหัวเรื่องได้ง่ายที่
Blog of All You Needs to Know
ลองเปิดดูก่อนจะออกนะครับ เลือกดูเนื้อเรื่องได้ครบ มีลิงค์ดูเรื่องคลิกง่าย และไม่เสียเวลา




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2551 1:34:04 น.
Counter : 1996 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๓ | ประทานอุปสมบท พระอุรุเวลกัสสป

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๗๓ : ประทานอุปสมบท พระอุรุเวลกัสสป

ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร
แล้วประทานอุปสมบทแก่เหล่าชฎิล

เมื่อชฎิลทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ ในการที่พระพุทธองค์ทรงห้ามสมุทรได้เช่นนั้น จึงยอมอ่อนน้อมและฟังคำสอนของพระองค์ แล้วขอบรรพชา แม้พระพุทธองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสปโดยอเนกประการถึง 2 เดือน อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฏฐิแรงกล้า จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง

ดังนั้น จึงมีพระวาจาตรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า “กัสสป! ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกล มิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่า ท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ เท็จแม้ต่อตัวเอง ทั้งๆที่ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป! ถึงเวลาอันควรแล้วที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสป! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน ”

เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาท ก็รู้สึกตัวละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์ และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง”

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “กัสสป! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจงให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะยอมให้บรรพชาอุปสมบท” อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ ศิษย์ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชาในสำนักพระบรมครูทั้งสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยเครื่องบริขารและเครื่องตกแต่งผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังเสือ ไม้สามง่าม ลงในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน

ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปดาบส ผู้เป็นน้องกลางเห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอยน้ำมา ก็ดำริว่าชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ให้ชฎิลสองสามคน อันเป็นศิษย์ไปสืบดู แล้วนทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ มาสู่สำนักของท่านอุรุเวลกัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้น ดุจชฎิลพวกก่อนนั้น

ฝ่ายคยากัสสปดาบส ผู้เป็นน้องน้อยเห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสป ไปถามทราบความแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชลดุจเดียวกัน แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว



พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฎฐิแห่งตนแล้ว โปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้น ดังนี้ว่า

สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน
ทั้งจักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน
แม้อารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือไม่ ก็เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นของร้อน
ร้อนเพราะอะไร
ร้อนเพราะไฟ คือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ
ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย
ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น

โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ...
ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ...
ชิวหาเป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ...
กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นของร้อน ...
มานะเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยฆานะเป็นของร้อน
สัมผัสอาศัยฆานะเป็นของร้อน

ความเสวยอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ ก็เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้กระนั้นก็เป็นของร้อน
ร้อนเพราะอะไร
ร้อนเพราะไฟ คือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ
ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่และความตาย
ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยจักษุ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยจักษุ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ...

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยมานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยมานะ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข
ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด
เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น
เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว
อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่
จิตของภิกษุ ๑๐๐๐ รูปนั้น ก็พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

สรุปโดยย่อ อาทิตตปริยายสูตร เป็นสูตรที่แสดงอายตนภายใน อายตนภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา ว่าเป็นของร้อน ร้อนเพราะจิต ร้อนเพราะไฟภายใน คือ ราคะ โทสะ โมหะ แต่มิใช่ร้อนเพราะความร้อนที่กายสัมผัสเพียงภายนอก จึงเหมาะแก่เหล่าชฎิลที่นิยมบูชาไฟเป็นวัตร จะเข้าใจได้โดยง่าย ดังนั้น เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบสิ้น เหล่าชฎิลทั้งหมดจึงบรรลุพระอรหัตด้วยกันทั้งสิ้น ณ ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา นั้นเอง

จึงมีนักบวชเป็นพระอรหันตสาวกเพิ่มขึ้นใหม่อีก ๑,๐๐๐ องค์ พร้อมกันในคราวเดียว




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 15 พฤษภาคม 2551 21:08:57 น.
Counter : 1384 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

travelaround
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]





ยินดีต้อนรับทุกท่านที่แวะเข้ามาชม blog มีข้อคิดเห็น เชิญ comment มาได้นะครับ ถ้าตอบได้ จะตอบให้ทันทีครับ แต่ถ้าไม่ทราบ ต้องขอเวลา จะค้นคว้ามาให้อ่านกัน ท่านที่จะถามคำถาม หรือติดต่อเรื่องบทความ ได้ทาง Email :- d_sign_place@yahoo.com ครับ


เรื่องต่างๆที่ผมได้เขียนหรือรวบรวม เรียบเรียงมานี้ ยินดีให้ทุกท่านได้อ่านเป็นวิทยาทานและเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำไปโพสต่อใน website สาธารณะ หรือ website อื่นใดที่ไม่ใช่ทางพาณิชย์ กรุณาระบุที่มา คือ https://www.travelaround.bloggang.com และนามปากกาผู้เขียนคือ TraveLArounD ด้วย

แต่ขอสงวนสิทธิ์สำหรับการนำไปใช้ ในเชิงพาณิชย์ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง จะถูกดำเนินคดี ตามกฏหมายลิขสิทธิ์

ส่วนบทความหรือภาพถ่ายใดๆ ที่ได้นำมาจาก website อื่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบเรื่องนั้นๆ เป็นการถ่ายทอดจากวิจารณญาณแล้วว่า มีความถูกต้องเป็นจริง มากที่สุด และได้นำมาจาก website ที่เป็นสาธารณะ ถ้าเรื่องราวหรือภาพของท่านที่ได้นำมาถ่ายทอดนี้ ไปละเมิดลิขสิทธิ์ของท่าน กรุณาแจ้งมาทาง email :– nana_sara1000@ymail.com ผมจะทำการลบข้อมูลหรือภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ออกทันที

Acknowledges that I try to write or report accurately but postings may contain fact , speculation or rumor. I find images from the Web that are believed to belong in the public domain. If any stories or images that appear on the site are in violation of copyright law, please email to :- nana_sara1000@ymail.com and I will remove the offending information as soon as possible.


Website counter
: Users Online









ที่ดินเชียงใหม่ ทางไปแม่ริม ใกล้ศาลากลาง และสนามกีฬา 700 ปี ติดน้ำปิง ในหมู่บ้านเพชรริมปิง พื้นที่ 667 ตารางวา @ 14,000.- บาท สภาพแวดล้อมดี สนใจติดต่อ โทร. 0859559950



DESIGN PLACE CO.,LTD. รับออกแบบ และตกแต่งภายใน บ้านพักอาศัย ในแบบไทย และไทยร่วมสมัย



มรดก ฉบับที่ 1

มรดก ฉบับที่ 2

มรดก ฉบับที่ 3

มรดก ฉบับที่ 4

มรดก ฉบับที่ 5

มรดก ฉบับที่ 6

มรดก ฉบับที่ 7

ช่วยสนับสนุนการจัดทำ BLOG ด้วยการซื้อหนังสือ "มรดก" 1ชุด 7เล่ม (หนังสือเก่า) ในราคาชุดละ 700 บาท (รวมค่าส่งทางไปรษณีย์)

สนใจสั่งซื้อทาง E-mail :- nana_sara1000@ymail.com



New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add travelaround's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.