อยากทำอะไรต้องรีบทำ เวลาไม่เคยรอใคร
Group Blog
 
All Blogs
 

สื่ออย่างไร...ให้ลูกรู้ว่ารัก

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะพูดคำว่า “ไม่มีเวลา” ควรมาทำความเข้าใจเรื่องหลักการเลี้ยงลูกเสียก่อน ซึ่งมีหลักสำคัญ 3 ประการที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเสมอ คือ

1. เจตคติในการเลี้ยงดูลูก ให้อยู่ในทางที่เหมาะสมเป็นทางสายกลาง เช่น ให้ความรักลูกแต่อย่ารักมากเกินไป ห่วงลูกแต่อย่าห่วงมากเกินไป ทะนุถนอมก็อย่ามากเกินไป หรือถ้าจะโกรธก็อย่าโกรธมากเกินไป จนถึงขั้นปฏิเสธลูก ให้ดำรงทางสายกลางเอาไว้เป็นเจตคติพื้นฐานที่พ่อแม่ต้องปฏิบัติให้ได้เป็น พื้นฐานก่อน

2. หลักในการปฏิบัติต่อลูก ที่สำคัญ คือ ต้องมีเวลาให้ลูก การพูดคำว่า ไม่มีเวลา เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การจะทำอะไรสักอย่าง ต้องอาสัยเวลาเสมอ จะปลูกต้นไม้ก็ต้องมีเวลา ปลูกต้นรักให้งอกงามก็ต้องมีเวลา ยิ่งเป็นเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยแล้ว ต้องมีเวลาให้ความรักความเอาใจใส่เขาอย่างเพียงพอ เปรียบได้กับร่างกายของเรา ถ้าร่างกายเราหิว เราบอกไม่มีเวลา ไม่ต้องกินข้าว เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีเวลากินจนได้ การเลี้ยงดูลูกเราต้องการอาหารใจเราจะบอกว่าไม่มีเวลาคงไม่ถูกต้อง เราควรต้องมีเวลาในการฟูมฟักพอสมควรทีเดียวเพื่อให้เด็กได้อาหารใจที่เพียง พอ

3. เป็นแบบอย่างที่ดี ตามหลักทางจิตวิทยานั้น เราพบว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างไรลูกก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราก้าวร้าวลูกก็ก้าวร้าว เราซึมเศร้า ลูกก็ซึมเศร้า หรือถ้าเราพูดปด เป็นคนไม่รักษาสัญญา ลูกก็จะเป็นเช่นนั้น ไม่ต่างกัน
จะจัดการบริหารเวลาอย่างไรให้มีเวลาอยู่กับลูกและครอบครัวได้อย่างพอเหมาะ

1. ต้องตระหนักเสมอว่า งานคืองาน บ้านคือบ้าน เมื่อมาถึงบ้านแล้วเป็นเวลาของครอบครัว คือเวลาของพ่อแม่ลูก รู้จักสละหรือวางในเรื่องของการงาน หรือความเหนื่อยล้าทิ้งไป โดยยึดหลักความจริงและความตรงต่อครอบครัว คือจริงในบทบาทของความเป็นพ่อหรือแม่ ตรงในบทบาทของหน้าที่สามีหรือภรรยา ที่สำคัญคือ ซื่อตรงในหน้าที่ที่จะดูแลลูก

2. เมื่อมีความซื่อตรงต่อตนเอง ต่อลูก ต่อครอบครัวแล้ว สำคัญอีกอย่างคือ การบังคับใจตังเองให้ตรงอย่างสม่ำเสมอ เช่น การกลับบ้านมาดูแลลูก ควรมีความสม่ำเสมอคงเส้นคงวา บางครั้งอาจมีเหตุการณ์ที่จะดึงให้เราไม่อยากกลับบ้าน เช่น กิจกรรมสังสรรค์ต่าๆ ถ้ามีก็ต้องจัดสสรเวลาให้ดี พ่อแม่หลายคนถึงกับกำหนดเป็นวินัยเข้มงวดว่า จะต้องกลับมากินข้าวเย็นที่บ้าน ลูกอาจจะกินข้าวไปก่อนในบางครั้งก็ไม่เป็นไร แต่จะต้องกลับมากินข้าวกับภรรยาที่บ้านเป็นขวัญและกำลังใจที่ดีต่อ กัน

3. ต้องมีความอดทน การที่เราจะต้องปฏิบัติให้ตรงต่อหน้าที่ เราต้องบังคับใจของเราให้มีความตรงอยู่เสมอ เราจะทำอย่างนั้นได้เราต้องมีความอดทน การเลี้ยงดูลูกจะปราศจากความอดทนไม่ได้เลย เพราะเป็นวาระและหน้าที่ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น

4. สละและสลัดสิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกต่อครอบครัวที่ทิ้งไป เช่น สลัดความเกียจคร้านออกไปจากใจ สลัดความเห็นแก่ตนออกไป บางครั้งคุณพ่ออยากจะไปเอนเทอร์เทนตัวเอง อยากไปพบกับเพื่อนฝูง ไปสนุกสนานร้องเพลงคาราโอเกะ หรืออาจจะอยากนั่งอ่านหนังสือเพียงลำพัง เป็นความสุขส่วนตัว สิ่งเหล่านี้อาจต้องสละไปบ้าง ไม่ควรห่วงความสุขเฉพาะตนมากเกินไป เราควรให้เวลากับการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเป็นความสุขร่วมกัน ซึ่งจะเป็นความสุขอันยั่งยืน

กรณี ที่ติดงานหรือธุระจริงๆหรือต้องผิดเวลากับลูก ควรสื่อสารให้ลูกรู้ว่า ขณะนี้พ่อแม่กำลังทำอะไร แต่อย่าพยายามใช้เป็นข้ออ้างของตนองที่มาไม่ได้นั้นหรือดูแลลูกได้น้อยเพราะ งานยุ่ง ถ้าเราจะมีงานยุ่งเราต้องเหนื่อยเป็นสองเท่า คือต้องยุ่งกับงานด้วยและดูแลลูกด้วย เหมือนกับนิสิตนักศึกษา ผมมักจะบอกกับเขาเสมอว่า อย่าเอาข้ออ้างว่าเพราะไปทำกิจกรรมมากแล้วเลยเรียนไม่ได้ อ้างอย่างนี้ไม่ได้ คนไหนอยากทำกิจกรรม ก็ต้องยอมเหนื่อยเป็น 2 เท่า คือต้องอดหลับอดนอนที่จะอ่านตำรา ดังนั้น ในการดูแลลูก เวลาที่ดูแลลูกควรมาก่อน แล้วค่อยเอาเวลาช่วงที่ลูกหลับแล้วไปทำงานส่วนตัว

ส่วน คำพูดที่เราจะบอกลูกกรณีติดงานหรือติดธุระจริงๆ คือบอกว่าพ่อแม่อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร ระหว่างที่เราทำงานเราคิดถึงลูกนะ แต่พ่อกับแม่จะรีบทำรีบกลับไปหาเขา คำพูดเหล่านี้จะสื่อให้ลูกรู้ว่าเราให้ความสำคัญกับเขา ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจขึ้นว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง และยังมีสายใยสื่อสัมพันธ์ถึงกันเสมอ

นอก จากคุณพ่อคุณแม่จะมีเวลาให้ลูกแล้ว พ่อกับแม่ต้องมีเวลาให้กันและกันด้วย สำหรับคุณพ่อ บางครั้งเกิดปัญหาไม่มีเวลาให้ลูกจริงๆ แต่ถ้าคุณพ่อไม่ลืมคุณแม่ กำลังใจจากตัวคุณแม่ก็สามารถชดเชยให้ลูกได้ ฉะนั้นพ่ออย่าลืมรักแม่และให้เวลากับคุณแม่ด้วยนะครับ

"หนูอยากเป็นอะไร"
เมื่อ เราถามเด็กเล็กๆที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนอนุบาลว่า โตขึ้นหนูอยากเหมือนใคร เกือบทั้งหมดของเด็กผู้ชายจะตอบว่า โตขึ้นอยากเป็นเหมือนพ่อ และเกือบทั้งหมดของเด็กผู้หญิงก็จะตอบว่า โตขึ้นอยากเป็นเหมือนแม่แต่ก็มีเหมือนกันที่เด็กผู้ชายบางคนบอกว่า อยากเป็นเหมือนแม่ และเด็กผู้หญิงบางคนอยากเป็นเหมือนพ่อเมื่อเด็กๆเหล่านี้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ความรู้สึกว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไรจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกมาก เพราะมีปัจจัยต่างๆเข้ามาเป็นองค์ประกอบอีกมากมาย เป็นต้นว่า แรงจูงใจจากสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อิทธิพลจากเพื่อนๆอิทธิพลจากสังคมและเศรษฐกิจที่เข้าไปครอบงำความคิดของวัย รุ่น ความประทับใจต่อวิชาชีพที่วัยรุ่นมีประสบการณ์ด้วยตนเอง แบบฉบับและความคิดเห็นของ พ่อแม่ และอื่นๆอีกมากมาย ที่เข้ามาเป็นตัวแปรให้เด็กวัยรุ่น เห็น คิด และอยากดำเนินไปตามที่ตนเองรู้เห็น

ดัง นั้นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของวัยรุ่น ซึ่งยังเปลี่ยนแปลงอยู่ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะพบและรู้สึกกับตนเองว่า “นี่แหละใช่” จึงเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นปกติวิสัย แต่มีสิ่งที่น่าคิดก็คือ เด็กผู้ชายตัวเล็กๆที่เคยสนิทกับพ่อ เด็กผุ้หญิงตัวน้อยๆที่เคยสนิทกับแม่ เมื่อวันเวลาผ่านไป เขากลับสนิทกับพ่อและสนิทกับแม่น้อยลง น้อยลงจนเหมือนห่างเหินต่อกัน บางครอบครัวพ่อแม่ลูกอาจมีความขัดแย้งต่อกัน สร้างความทุกข์ต่อกันและกันอันยาวนาน จนดูเหมือนว่า จิตใจพ่อแม่ลูกไม่มีวันจะมาบรรจบกันได้ อะไรทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น ทั้งๆที่ตอนเด็กๆก็ดูว่าดีและไม่น่าจะมีปัญหา ประโยคสั้นๆจากหนังสือ จิตวิทยาครอบครัวเล่มหนึ่ง

The house is made of brick and stone, but the home is only made of love.

"บ้าน สร้างได้ด้วยอิฐและหิน แต่ครอบครัวสร้างให้ดีด้วยความรัก" การที่ลูกอยากเป็นเหมือนใคร อยากเจริญรอยตามใครนั้น ปัจจัยสำคัญจะอยู่ที่พ่อแม่เป็นหลักว่า พ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกรักและผูกพันในตัวพ่อแม่ได้แค่ไหน ลูกประทับใจและเคารพในตัวพ่อแม่เพียงใด ลูกรู้สึกเป็นสุข สงบ สบายใจเมื่ออยู่กับพ่อแม่มากน้อยอย่างไร และลูกมีความรู้สึกว่า เป็นที่ยอมรับ มีคุณค่า เป็นที่ภาคภูมิใจในความรู้สึกของพ่อแม่อย่างไร ประเด็นต่างๆเหล่านี้ ถ้าสร้างให้มีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานก็แน่ใจว่าลูกๆจะมีความเห็น มีความคิด มีการกระทำที่อยู่ในกรอบ ที่ไม่ไกลจากที่พ่อแม่ตั้งความหวังไว้ เรียกได้ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”
เราจะสร้างปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้อย่างไรพ่อแม่ควรสร้างและปรับปรุงหัวใจของตนเองให้เป็นไปตามหลักของพรหมวิหาร 4
ประการ แรก คือ ต้องมีความเมตตา มีสัมพันธภาพอันดีกับเด็กๆ มีความรักและความปรารถนาดี ซึ่งทำได้ด้วยการมีเวลาที่จะเล่น พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีอารมณ์ขัน ซึ่งจะทำให้จิตใจของเด็กแจ่มใสแช่มชื่นและเบิกบาน

ประการที่สอง คือ มีความกรุณา มีความเข้าใจความรู้สึกของลูก พร้อมที่จะช่วยเหลือเด็กๆให้คลายทุกข์ลง และทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงทางใจ ความกรุณานี้จะทำให้เด็กรู้สึกม่นใจ รู้สึกว่ามีขุมพลังจากผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือเขา

ประการที่สาม คือ มุทิตา คือแสดงความยินดี ชื่นชม นับถือ เมื่อลูกได้ทำในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งยอมรับและให้อภัยในจุดอ่อนด้วย ในความผิดพลาด มุทิตาจิตนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง

ประการที่สี่ คือ อุเบกขา เป็นการวางอารมณ์ให้เป็นกลาง ในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่ควรมีอารมณ์ที่นิ่งสงบ รับรู้ทางความเป็นจริงให้มากที่สุด วางอารมณ์ให้เป็นกลาง อย่าวิตกกังวล อย่าโกรธอย่าหงุดหงิดให้มากมายนัก นิ่งสงบ และปฏิบัติไปตามหน้าที่ของผู้ปกครอง พร้อมกันนั้นให้เปิดประตูและหน้าต่างใจให้ลูกรู้ว่า แม้ว่าลูกจะมีปัญหาอย่างไร พ่อกับแม่ยังคงยอมรับและเปิดประตูต้อนรับลูกตลอดเวลา

หัวใจ แห่งพรหมนี้ จะทำให้พ่อแม่เป็นพรหมของลูก ลูกก็จะรูสึกว่า พ่อแม่เป็นพรหมของเราเช่นกัน พร้อมกันนั้นเด็กจะรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่ และวงล้อชีวิตของพ่อแม่ที่หมุนไป ก็จะทำให้วงล้อแห่งชีวิตของลูกได้หมุนตาม หมุนตามวงล้อของพ่อแม่ แม้ว่าลูกจะไม่ได้เลือกวิชาชีพเหมือนพ่อแม่ แต่ลูกก็จะเลือกการดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของพ่อแม่ไปตามอัตโนมัติได้เอง สำหรับการเลี้ยงลูกให้มีความสุขนั้น ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด ตั้งแต่ในอดีตกาลจนถึงยุคปัจจุบันที่เรียกว่า “ยุคไอที” การเลี้ยงดูลูกย่อมมีหลักเกณฑ์ แนวคิด และการปฏิบัติที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป้าหมายของการเลี้ยงดูลูกก็ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าผู้ที่เป็นบิดามารดามีสติและมีปัญญามองตามความเป็นจริงบนพื้นฐานของความ เป็นมนุษย์ โดยพิจารณาทั้งจากตัวลูกและความรู้สึกของผู้เป็นบิดามารดาเองแล้วไม่หลง ประเด็นเต้นตามกระแสสังคมที่เรียกว่า “ยุคไอที” เสียจนเกินไป การเลี้ยงดูลูกย่อมประสบความสำเร็จเสมอ

จะ ขอเสนอบทความให้อ่านและพิจารณา แล้วก็จะนึกออกว่าควรเลี้ยงดูลูกอย่างไร บทความทั้ง 3 เรื่องนี้คือ ถักทอบุคลิกภาพด้วยใยรัก ไม่มีเวลา สื่ออย่างไร... ให้ลูกรู้ว่ารัก และหนูอยากเป็นอะไร
ถักทอบุคลิกภาพด้วยใยรัก

ภาพ ของลูกที่เป็นคนดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ มีบุคลิกที่ดีงามและเหมาะสม เป็นภาพแห่งความหวังของพ่อแม่ทุกคน เป็นสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังจะให้ลูกทุกคนดำเนินไปสู่จุดของความสำเร็จแห่ง ชีวิตนั้นมีหลักความเป็นจริงตามธรรมชาติว่าทุกชีวิตไม่สามารถดำเนินไปสู่จุด หมายปลายทางแห่งความสำเร็จด้วยลำพังตัวของตัวเองได้ ทุกชีวิตต้องอาศัย ปัจจัยต่างๆมากมายที่จะเกื้อหนุนให้มีพัฒนาการของชีวิตและจิตใจ ความจริงมนุษย์ไม่ได้ประกอบด้วยชีวิตและจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆมากมายที่มาผสมผสาน ประมวลกัน และสังเคราะห์ออกมาเป็นบุคคล

ใน วิชาจิตวิทยาพัฒนาการได้แบ่งและมองมนุษย์ออกเป็นองค์ประกอบใหญ่ 4 ด้านคือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสติปัญญา และด้านสังคม ทั้ง 4 ด้านนี้จะผสมผสานกลมกลืนกันเป็นเนื้อเดียวกัน จนเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลที่ติดตัวไปเป็นอุปนิสัยตลอดไปและตลอดชีวิต ของแต่ละคน ลักษณะเฉพาะที่ติดตัวตลอดไปนี้เราเรียกว่า บุคลิกภาพ

การเจริญเติบโตและพัฒนาการของบุคลิกภาพนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลักๆ 3 ประการคือ

- ปัจจัยทางด้านชีววิทยาและร่างกาย เช่น พันธุกรรม ภาวะโภชนาการ ความเข้มแข็งของร่างกายที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น

- ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา เช่น ความรัก ความอบอุ่นที่ได้จากการเลี้ยงดู ความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ ความรู้สึกเป็นสุขปราศจากความตึงเครียดความวิตกกังวลจากพ่อแม่และสิ่งแวด ล้อม เป็นต้น

- ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น ภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ความสงบสุข และความสมดุลภายในครอบครัว สภาพสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมอันดีงาม เป็นต้น

ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างมากบุคลิกภาพเป้าหมายที่พ่อแม่ สังคม และประเทศชาติอยากได้ คือ บุคลิกภาพของประชากรที่สมบูรณ์

บุคลิกภาพที่สมบูรณ์ (healthy personality) หมายถึง ลักษณะบุคลิกภาพที่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่าง เหมาะสม สร้างสรรค์ และมีความสุข เป็นบุคลิกภาพที่มีเอกลัษณ์ที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ผันแปรง่าย แม้จะเผชิญต่อสภาวะตึงเครียดก็ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคง นอกจากนี้ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ จะมีความสามารถในการรับรู้สภาวะต่างๆของโลกภายนอกได้ถูกต้อง แปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง และมิเพียงแต่จะมีความสามารถในการรับรู้โลกภายนอกได้ตามความเป็นจริงเท่า นั้น แต่ยังจะมีความสามารถในการรับรู้ตนเองได้ถูกต้องตามสภาพของความเป็นจริง ด้วย ในศาสตร์ของจิตวิทยาพัฒนาการ มีคำที่กล่าวถึงบ่อยๆ คือ EQ ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Emotional Quotient คำนี้หมายถึงระดับพัฒนาการทางอารมณ์ ว่ามีระดับดี ระดับไม่ดีอย่างไร ระดับสูง ระดับต่ำอย่างไร คนที่มี EQ สูง ก็หมายถึงผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ คือมีคุณลักษณะที่เป็นผู้ที่แจ่มใส สดชื่น มีความคงเส้นคงวาในอารมณ์ มีความอดทน คงทน และมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ เผชิญต่อความตึงเครียดต่างๆด้วยการใช้ปัญญาและการมีเหตุผล เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ มีความเมตตากรุณา เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และสามารถตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง

จาก ความหมายของ EQ จะเห็นว่า EQ เป็นส่วนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของบุคลิกภาพ บุคลิกภาพจะดีจะสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ หรือมี EQ ต่ำ

มี ตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนว่า หลายคนแม้จะประสบความสำเร็จในการศึกษาระดับสูง แม้จะมาจากตระกูลที่มีเศรษฐานะและสังคมที่ดี ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีแล้ว ก็ดูจะเป็นการยากที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้

ถ้า จะเปรียบการพัฒนาบุคลิกภาพให้เหมือนกับการทอผ้า การถักทอผ้าผืนหนึ่งให้งดงาม เนื้อแน่น ดูดี ใครเห็นใครชอบ ใครเห็นใครก็อยากซื้อนั้น ผ้าผืนนั้นก็ต้องได้รับการถักทอมาเป็นอย่างดี ผู้ทอมีความมุ่งมั่นในการถักทอ มีความตั้งใจ มีการวางแผน มีการเลือกวัสดุ และที่สำคัญคือ ต้องถักทอด้วยความรักและความอดทนที่จะถักทอ

นั่นเป็นการถักทอผืนผ้า

แต่ ถ้าเป็นการถักทอบุคลิกภาพ ถักทอ EQหรือวุฒิภาวะทางอารมณ์นั้น ความรักและความอดทนดูจะเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นใยแห่งเส้นด้ายของความรักที่สำคัญสูงสุดปัจจัยหนึ่ง ซึ่งจะขาดไม่ได้เลย และขาดไม่ได้เป็นอันขาด ไม่ว่าเราจะพัฒนาบุคลิกภาพด้านใด ไม่ว่าเราจะพัฒนาเด็กด้านใดๆ ความรักความเมตตาจะต้องเป็นใยเสริมอยู่ทุกเวลา พัฒนาการด้านต้างๆจึงจะดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ ความรักที่เราแทรกผสมผสานเข้าไปนี้ จะเป็นตัวที่ทำให้เด็กมีความปีติ มีความปราโมทย์ มีความผ่อนคลายมีสมาธิ และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆและพัฒนาตนเอง

ใน เด็กที่ไม่ได้รับความรักเพียงพอ เด็กจะมีความทุกข์ใจจากความทุกข์ใจนี้ ทำให้เด็กต้องแบ่งปันพลังงานทางใจมาจัดการกับความทุกข์ใจนั้น ทำให้พลังทางใจในตัวเด็กต้องถูกบั่นทอนให้ลดลง โดยไม่ได้ไปพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตนได้อย่างต็มที่ ดังนั้นเด็กที่ปราศจากความรักจากผู้ใหญ่จึงไม่สามารถพัฒนาร่างกาย อารมณ์ ปัญญา และสังคมได้อย่างเต็มที่

ยิ่ง ถ้าจะมุ่งเน้นไปที EQก็ต้องขอย้ำว่าEQคงจะพัฒนาไปสู่จุดของวุฒิภาวะได้ยากถ้าปราศจากสายใยของ ความรัก เราควรจะมาช่วยกันพัฒนาบุคลิกภาพ มาช่วยกันถักทอ EQ ด้วยความรักและความเข้าใจเด็กกันอย่างพร้อมเพรียง คงเส้นคงวาตลอดๆไป แล้วเราก็จะได้ลูกของเรา จะได้เด็กๆในสังคมของราที่มี EQ ที่ดี เพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าของสังคมประเทศชาติสืบไป




 

Create Date : 15 มกราคม 2554    
Last Update : 15 มกราคม 2554 22:09:22 น.
Counter : 403 Pageviews.  

เตรียมลูกให้ "พร้อม" ก่อนเข้าอนุบาล (รักลูก)

ก่อนเข้าอนุบาลต้องเตรียม "พร้อมที่สุด" เท่าที่จะทำได้

ลูกจะเข้าอนุบาลแล้ว เรื่องสำคัญไม่ใช่แค่การเลือกโรงเรียนเท่านั้นนะจ๊ะ แต่ต้องเตรียมเจ้าตัวเล็กของเราให้ "พร้อมที่สุด" เท่าที่จะทำได้ด้วย เพื่อให้ชีวิตใหม่ในโรงเรียนของลูก เริ่มต้นขึ้นอย่างราบรื่นและงดงามดังหวัง

เดา ได้เลยล่ะค่ะว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัย 3 ปี กำลังวิ่งหาโรงเรียนอนุบาลให้เจ้าตัวเล็กกันขาขวิดเลยใช่ไหมล่ะ โรงเรียนไหนที่ว่าดี คุณพ่อคุณแม่ก็ลองศึกษาหาข้อมูล ไปดูตัว (โรงเรียน) กันให้วุ่น เพราะอยากให้เจ้าตัวน้อยเราได้เรียนในโรงเรียนดี ๆ ที่ถูกใจ ใกล้บ้าน โอย..สารพัดปัจจัยที่ต้องดูเลยค่ะ

แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันกับการหาโรงเรียนให้เจ้าตัวเล็กก็คือ การเตรียมความพร้อมให้กับลูกนั่นเอง เพราะตั้งแต่เปิดเรียนลูกก็จะไม่ได้อยู่ในอ้อมอกของเราทั้งวัน ไม่มีคนช่วยทำโน่นทำนี่ให้ทุกอย่างอีกต่อไป แต่จะต้องเข้าสู่สังคมโรงเรียนที่ลูกไม่คุ้นเคย ดังนั้นลูกจึงต้องหัดทำอะไรต่อมิอะไรเองให้ได้บ้าง ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ลูกจะได้อยู่ในโรงเรียนได้อย่างดีมีสุขไงคะ

จริง ๆ แล้วการเตรียมความพร้อมเรื่องต่าง ๆ ให้ลูกไม่ใช่ว่าเราจะมาเตรียมกันตอนก่อนเข้าโรงเรียนเท่านั้น เพราะพัฒนาการของลูกไม่ใช่สิ่งที่จะมาเนรมิตได้ภายในข้ามคืน เราต้องเตรียมมาตั้งแต่ขวบปีแรก เรียกว่าในช่วง 3 ขวบปีแรกก่อนที่จะเข้าเรียน เราต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกอยู่ตลอดนั่นเอง โดยเฉพาะในเรื่องต่อไปนี้

เตรียมร่างกาย

ร่างกายเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ๆ ค่ะ ต้องให้ลูกได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้พัฒนาด้านร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ให้ลูกได้ออกกำลังกาย ทำให้มีการทรงตัวที่ดี ให้ได้นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก

ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้

เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดค่ะ เพราะเมื่อลูกเข้าไปอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งไม่มีคนมาดูแลใกล้ชิดเหมือนอยู่ที่บ้าน ดังนั้นลูกเราต้องช่วยเหลือตนเองได้ดีพอสมควรค่ะ เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่า ก็จะปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนได้ดีกว่า เช่น การรับประทานข้าวได้ด้วยตนเอง การบอกว่าปวดปัสสาวะหรืออุจจาระกับคุณครูได้

การฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะฝึกกันวันสองวันแล้วก็ได้ผลนะคะ แต่ต้องฝึกตามวัย ตามพัฒนาการของลูก เช่น เมื่ออายุ 1-2 ขวบ ลูกจะเริ่มสนใจตักอาหารเข้าปากเองได้ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องปล่อยให้ลูกลองทำเอง จะหกบ้าง เลอะเทอะบ้างก็ปล่อยไป ไม่เป็นไร ลูกจะได้ฝึกหรือฝึกให้ลูกรู้จักพูดบอกเมื่อปวดปัสสาวะ ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ฝึกให้ลูกรู้จักนั่งชักโครก ให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องง่าย ๆ เช่น เรื่องการแต่งตัว ใส่เสื้อ ติดกระดุม ใส่รองเท้า ถอดรองเท้า เป็นต้น

ในเรื่องการช่วยเหลือตัวเองนี้ บางทีก็เพราะด้วยความรักของพ่อแม่ เราจึงมักทำแทนหรือให้พี่เลี้ยงทำแทนให้ลูก หรือด้วยความเร่งรีบพ่อแม่ก็จะทำให้ลูกเอง เพราะอยากให้เสร็จเร็ว ๆ สะอาด ๆ การทำให้ลูกอย่างนี้เท่ากับเป็นการปิดโอกาสที่ลูกจะได้พัฒนา ฉะนั้นเพื่อให้ลูกได้พัฒนาตัวเอง เราควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรเองตามวัยในสิ่งที่เขาทำได้นะคะ

ฝึกเรื่องการอดทนรอคอย

เวลาที่ลูกอยู่โรงเรียน ลูกจะไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทันทีทันใดเหมือนกับตอนที่อยู่บ้านกับ เราค่ะ หนูน้อยจะต้องรอให้ถึงคิวตัวเองก่อน เช่น อยากจะเล่นอะไรก็อาจจะเล่นไม่ได้ทันที เพราะมีเด็กหลายคนที่รอเล่นอยู่ หนูก็ต้องหัดอดทนรอคอย หรือเมื่อไปโรงเรียน ลูกก็ต้องรู้จักรอพ่อแม่ไปรับกลับบ้าน เป็นต้น

ในการฝึกลูกเราต้องค่อย ๆ ฝึกทีละน้อยค่ะ ให้ลูกรอในสิ่งที่เขารอแล้วได้ ไม่ใช่รอแล้วไม่ได้ลูกก็จะรู้สึกผิดหวัง เช่น ลูกจะเล่นอะไรบางอย่างที่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะให้เขารอสักครู่หนึ่ง และระหว่างนั้นพ่อแม่ก็อาจจะให้ความสนใจในตัวเขา ชวนเขาคุย ก็จะช่วยทำให้เขารอคอยได้มากขึ้นค่ะ

และเวลาที่ลูกอยากได้อะไร ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องตามใจลูกทุกครั้งไปหรอกค่ะ เราอาจจะใช้วิธีเบี่ยงเบนให้ลูกหันไปสนใจสิ่งอื่นทดแทน เป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีขอบเขต ไม่จำเป็นว่าพ่อแม่ต้องตามใจหนูทุกครั้งเพราะกลัวว่าหนูจะเสียใจ เพราะถ้ากลัวลูกเสียใจแล้วจะยิ่งทำให้ลูกปรับตัวกับสิ่งอื่น ๆ หรือคนอื่น ๆ ต่อไปได้ยากค่ะ

ส่งเสริมทักษะการเข้าสังคม

เด็กในวัยอนุบาลจะต้องรู้จักแบ่งปัน แบ่งของเล่นและรู้จักเล่นกับคนอื่นเป็นบ้าง และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ลูกรู้จักเข้าสังคมได้ก็ต้องเริ่มจากตัวเราค่ะ เพราะว่าสังคมเบื้องต้นของลูกก็คือพ่อแม่นั่นเอง เราต้องเล่นกับลูกก่อน สอนให้ลูกเล่นกับเราและเล่นกับคนอื่น ๆ เป็น เมื่อลูกรู้จักสามารถเล่นกับคนอื่นได้ ก็เท่ากับเป็นการเรียนรู้การเข้าสังคมในระดับเบื้องต้นแล้วค่ะ

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือเด็กในวัยนี้จะเป็นวัยที่ถือตัวเองเป็นใหญ่ มีความเห็นแก่ตัวอยู่แล้วเพราะฉะนั้นผู้ใหญ่อย่างเราก็ต้องไม่ไปบังคับลูกจน เกินไป แต่เน้นการเปิดโอกาสให้ลูกทำมากกว่า และเมื่อลูกทำได้ เช่น ลูกยอมแบ่งของเล่นให้เพื่อน เราก็ต้องไม่ลืมชื่นชม แต่ถ้าลูกยังไม่อยากทำละก็ อย่าใช้วิธีบังคับนะคะ เพราะการบังคับจะยิ่งทำให้ลูกหวงของมากขึ้นค่ะ

ส่งเสริมให้ลูกรู้จักใช้ภาษาสื่อสาร

คือการสอนให้ลูกรู้จักบอกความต้องการของตัวเองได้ค่ะ เพราะถ้าอยู่บ้านแล้วพ่อแม่ช่วยเหลือลูกทุกอย่างแบบรู้ใจลูกหมด จะทำให้ลูกไม่จำเป็นต้องพูดบอกความต้องการของตนเอง แต่เมื่อลูกต้องไปอยู่ที่โรงเรียน ครูไม่สามารถทำอย่างที่เราทำให้ลูกได้ เราจึงต้องฝึกลูกให้สามารถพูดได้ว่าต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือเมื่อเพื่อนมาแย่งของเล่นแล้วลูกสามารถบอกว่า อย่าแย่ง นี่ของฉัน เธอต้องรอก่อน เป็นต้น

เมื่อลูกสามารถบอกความต้องการของตนเองกับคนอื่นได้ ลูกก็จะปรับตัวได้ดี แถมยังลดพฤติกรรมก้าวร้าวลงอีกด้วย เพราะเด็กที่พูดสื่อสารไม่ได้ เวลาที่เขาโมโหเขาอาจจะตีเพื่อน หรือแทนที่จะพูดดี ๆ ว่า "ขอเล่นหน่อย" ก็กลับเข้าไปแย่งของเพื่อนเอาดื้อ ๆ เลย แต่ถ้าเราเตรียมลูกในเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อไปถึงโรงเรียนครูก็จะช่วยฝึกทักษะเหล่านี้ให้ลูกเราต่อ ทำให้ลูกสามารถเข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ
ให้ลูกมีโอกาสในการเล่น

นอกจากการเล่นจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับภาพ การได้ยินเสียง ได้กลิ่น การรับรส และการสัมผัสทางร่างกายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี ทำให้ลูกรู้จักอดทนรอคอย ทำให้ลูกสมาธิดีขึ้น และส่งเสริมการเข้าสังคมด้วยค่ะ

สร้างทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน

พูดถึงโรงเรียนในเรื่องที่ดี อย่าไปใช้คำพูดที่ทำให้เห็นว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่น่ากลัว หรือเป็นการลงโทษ เช่น ทำตัวอย่างนี้เดี๋ยวส่งไปอยู่โรงเรียนเลย ลูกจะมองว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะเด็กวัยนี้มักจะกลัวการพลัดพราก การไปโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลูกอยู่แล้วค่ะ ดังนั้นเราควรทำให้ลูกมองว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องที่ดี เป็นเวลาที่เขาได้เติบโตขึ้นและพ่อแม่ภูมิใจกับเขาด้วยหากเขาไปโรงเรียนค่ะ

ปกป้องลูกจากสิ่งกระตุ้นทางลบ

ไม่ให้ลูกติดอะไรที่ไม่ควรจะติด เช่น ติดโทรทัศน์ หรือติดเล่นเกม เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ลูกมุ่งความสนใจอยู่แต่ในเรื่องนั้นๆ และไม่สนใจเรื่องของการใช้ชีวิตในโรงเรียน เพราะอันที่จริงชีวิตในโรงเรียนไม่ได้มีแต่เรื่องน่าสนุกเสมอไปค่ะ บางครั้งก็ยาก บางครั้งก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ เราจึงควรสอนให้ลูกรู้จักเวลา ว่าเวลาไหนที่เล่นได้ หรือว่าเวลาไหนจะต้องทำงานตามที่ครูมอบหมาย ไม่ใช่ติดอยู่แต่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนไม่เป็นอันทำอะไร เรื่องนี้จะดีกับลูกเมื่อโตขึ้นจะทำให้เขารู้จักแบ่งเวลาเป็นด้วยค่ะ

ให้ความมั่นใจว่าจะไม่ทิ้งลูก

เด็กในวัยนี้จะกลัวการพลัดพรากค่ะ การไปโรงเรียนทำให้ลูกกังวลว่าพ่อแม่จะไปรับเมื่อไหร่ หรือกลัวว่าพ่อแม่จะไม่ไปรับหนู บางคนก็กังวลว่าจะไม่ได้เห็นหน้าพ่อแม่อีก เราจึงต้องให้ความมั่นใจกับลูกว่า "หนูไป โรงเรียนนะคะ ถ้าหนูไม่สบายใจ หนูจะร้องไห้ก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นหน้าที่ที่หนูต้องไป แล้วพอถึงเวลานี้ ๆ แม่จะไปรับ หรือถ้าคิดถึงแม่จะเอารูปแม่ติดกระเป๋าไปดูด้วยก็ได้" อย่างนี้เป็นต้นค่ะ

นอกจากนั้นเราอาจจะเอาของที่ลูกติด เช่น ตุ๊กตาตัวโปรดหรือผ้าห่มผืนโปรด ติดไปที่โรงเรียนให้ลูกด้วย เพื่อให้ลูกใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจให้เขาได้ระลึกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแทนแม่ที่จะไปโรงเรียนกับลูกด้วย

เราไม่ควรใช้คำพูดที่ทำให้ลูกหวั่นไหวว่า พ่อแม่จะไปทิ้งเขาไว้ที่โรงเรียน เช่น ถ้าร้องไห้มาก ๆ หรือดื้อจะส่งไปอยู่กับครูเลย เป็นต้น เพราะคำพูดเหล่านี้จะทำให้ลูกยิ่งหวั่นไหวหนักเข้าไปใหญ่ค่ะ

ให้ความร่วมมือกับครู

เพราะว่าเวลาที่ลูกมีปัญหาเกิดความเครียด ความกังวล บางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจกัน หรืออาจจะเกิดจากปัญหาอะไรเพียงนิดหน่อย ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่กับคุณครูได้ช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุ และช่วยกันแก้ไขตั้งแต่ต้น เราก็จะสามารถผ่านปัญหาเล็ก ๆ นั้นไปได้ด้วยดี โดยไม่ทำให้บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่

เมื่อรู้แล้วว่าต้องเตรียมความพร้อมเรื่องอะไรให้กับลูกบ้าง เราก็มาทำเช็กลิสต์ (Checklist) กันดีไหมคะว่า ลูกเราพร้อมแล้วในเรื่องไหน และเรื่องไหนที่ยังต้องการการฝึกฝนต่อไป แต่ที่สำคัญก็คือถึงลูกจะทำได้หรือทำไม่ได้อย่างไร เราก็ไม่ควรจะไปเร่งรัดให้ลูกทำได้ในทันทีทันใด ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป จะดีกว่าค่ะ

ส่วน คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกยังไม่ถึงวัยเข้าโรงเรียน เราก็ค่อยๆ เตรียมพัฒนาการของลูกเรื่องต่าง ๆ ไปตามวัย เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่ต้องมาเร่งลูกหรือกังวลว่าลูกจะไม่พร้อมค่ะ




 

Create Date : 15 มกราคม 2554    
Last Update : 15 มกราคม 2554 21:31:08 น.
Counter : 384 Pageviews.  

เตรียมลูกให้พร้อมเข้าอนุบาล

ไป โรงเรียนอนุบาลวันแรก ตื่นเต้นกันทั้งคุณพ่อ คุณแม่ บางบ้านมี คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คอยร่วมลุ้นทำตาแดงๆ สงสารเจ้าตัวเล็ก แล้วลูกล่ะตื่นเต้นพร้อมจะไปโรงเรียนหรือยัง

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ตอบว่าพร้อม แสดงว่าได้เตรียมตัวลูกมาอย่างดี คุณแม่มือโปรเหล่านี้ใช้วิธีอะไรบ้าง มาดูกันดีกว่า

โฆษณาประชาสัมพันธ์ เด็กๆ ชอบเรื่องสนุก ถ้ากระตุ้นให้ลูกรู้สึกว่าการไปโรงเรียนนั้นน่าสนุกเช่นเดียวกับการไปเที่ยว สวนสัตว์ ร้านขายของเล่น หรือไปเที่ยวทะเล เขาก็จะซึมซับรับความรู้สึกนี้เอาไว้แล้วเกิดความอยากไปโรงเรียน เล่าให้เขาฟังว่ามีอะไรแปลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจบ้าง ชุดนักเรียน เครื่องเขียน คุณครูใจดี เพื่อนๆ มากมาย โรงเรียนน่ารัก ฯลฯ

พาทัวร์โรงเรียน หลังจากโฆษณาปูพื้นไว้พอสมควรแล้ว แผนการขั้นต่อไปคือให้ลูกได้พบเห็นของจริง อาจเริ่มจากขับรถผ่านหน้าโรงเรียนก่อนว่าเดี๋ยวต่อไปหนูต้องมาเรียนที่นี่ วันหลังค่อยพาลูกเข้าไปดูภายในโรงเรียนว่าบรรยากาศเป็นอย่างไรลูกอาจติดอก ติดใจในสนามเด็กเล่นหรือห้องเรียน แวะเวียนพาไปทำความรู้จักกับคุณครูบ้างจะได้คุ้นเคยกันไว้ก่อน

บอกลูกว่าต้องทำอะไรบ้าง เมื่อคุณแม่ได้ซักถามคุณครูแล้ว เล่าให้ลูกฟังด้วยว่าเมื่ออยู่ในโรงเรียนลูกต้องทำอะไรอย่างไร เช่น ไปถึงโรงเรียนแล้วเริ่มทำอะไร ทานข้าวกลางวันกันอย่างไร เข้าห้องน้ำที่ไหน ได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ฯลฯ เมื่อลูกรับรู้คร่าวๆ ว่าต้องพบเจอกับอะไรบ้าง จะช่วยลดความกลัวให้เขาได้

อย่ารีบทิ้งกันวันแรก ถึงลูกจะคุ้นเคยกับโรงเรียนอยู่บ้างแล้ว วันแรกที่พาไปก็อย่ารีบร้อนปล่อยลูกไว้กับคุณครู ในวันแรกบางโรงเรียนก็อาจให้อยู่เป็นเพื่อนลูกก่อน วันต่อๆ มาค่อยลดเวลาลง จนลูกอยู่โรงเรียนโดยคุณพ่อคุณแม่มาส่งเช้าแล้วตอนเย็นค่อยมารับกลับ และต้องมารับให้ตรงเวลาด้วย

ปลอบลูกอย่าร้องไห้ คุณแม่ต้องแสดงให้ลูกรู้ว่าเห็นอกเห็นใจและเข้าใจเขา ค่อยๆ พูดจาให้กำลังใจกัน อย่าแสดงท่าว่าจะร้องไห้เสียเองเวลาไปส่งลูก ที่ไม่ควรทำเลยก็คือไปนั่งเฝ้าลูกทุกวันหรือให้หยุดตามใจชอบ ยิ่งปกป้องหรือตามใจมากลูกจะยิ่งอ่อนแอ เด็กๆ ส่วนใหญ่พอผ่านไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก็จะหยุดร้องไปเอง แต่ถ้าลูกดูแปลกไป มีพฤติกรรมถดถอยเหมือนเป็นเด็กเล็ก ก้าวร้าว งอแงมาก หรือ ซึมเศร้า นานเป็นเดือนๆ อาจต้องขอคำปรึกษาจากคุณหมอ

วัน เปิดเทอมแรกของชีวิต คือวันแรกที่เด็กๆ ต้องจากอ้อมอกพ่อแม่ เพื่อก้าวสู่สังคมใหม่ ความกลัว ความกังวลใจ และความไม่ไว้วางใจในโลกใหม่ของเด็กๆ ย่อมเกิดขึ้น
เด็กหลายคนร้องไห้โยเย บางคนแม้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองจะเตรียมการมาอย่างดีแล้ว แต่เมื่อเห็นเด็กคนอื่นๆ ร้องไห้ อารมณ์หวาดกลัวจึงเกิดขึ้นและเริ่มร้องไห้ตาม วันเปิดเทอมในโรงเรียนอนุบาลคือวันที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูต้องรับศึกหนัก รวมถึงตัวเด็กๆ เอง อาจารย์พัฒนา ชัชพงศ์ อาจารย์สาขาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า เรา ต้องเห็นใจพ่อแม่ผู้ปกครองและตัวเด็ก เพราะพ่อแม่บางคนไม่เคยให้เด็กไปไหนนาน เด็กอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองมาตลอด เด็กเองก็ไม่เคยไปไหน การที่ต้องไปโรงเรียนวันแรก ซึ่งถือเป็นสถานที่แปลกใหม่ เจอคนใหม่ๆ เพื่อนใหม่ ของเล่นใหม่ๆ ทุกอย่างใหม่หมด เด็กจึงต้องการเวลาปรับตัว ดังนั้น ในวันแรกๆ เขาจะมีความกังวลใจ กลัวสารพัด กลัวพ่อแม่ทิ้ง และ ยิ่งพ่อแม่บางคนชอบขู่ว่าถ้าเด็กดื้อไม่เชื่อฟังจะเอาไปส่งโรงเรียน เมื่อคำพูดเหล่านั้นออกมาจากปากพ่อแม่ เด็กจะหวาดผวากลัวว่าพ่อแม่จะเอามาทิ้ง เนื่องจากถ้าเขาทำตัวไม่ดีเป็นเด็กดื้อเขาจะถูกส่งมาโรงเรียน เด็กรับรู้ว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เขาต้องโดนทำโทษ เขาจึงกลัวและไม่อยากไปโรงเรียน การที่พ่อแม่จะพูดถึงโรงเรียนควรใช้คำพูดในทางที่ดีๆ เช่น โรง เรียนมีแต่เรื่องสนุกสนาน มีครูเล่านิทานให้ฟัง มีเพื่อนใหม่ๆ มีของเล่นที่บ้านเราไม่มี พ่อกับแม่ยังอยากไปโรงเรียนเลย คำพูดลักษณะดีๆ เช่นนี้จะทำให้เด็กอยากไปโรงเรียนและเริ่มคล้อยตามคำของพ่อแม่ อาจารย์งามนิตย์ พงศ์กฤษณุรักษ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอนุบาลวัฒนาสาธิต กล่าวว่า "การที่เด็กร้องไห้เพราะการไปโรงเรียนวันแรกนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แสดงถึงการปรับตัวที่ดี" การร้องไห้ถือเป็นการระบายความรู้สึก ที่อัดอั้นออกมา เด็กจะร้องไห้ไม่เกิน 6 สัปดาห์ แต่ถ้าร้องไห้มากกว่า 6 สัปดาห์ คุณครูและผู้ปกครองต้องมาคุยกันว่าเป็นเพราะอะไร พ่อแม่ชอบขู่เรื่องโรงเรียนหรือไม่ หรือพ่อแม่เอาใจมากเกินไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ที่โรงเรียนจะมีวิธีการเพื่อรับมือกับเด็กๆ ที่ต้องมาโรงเรียนเป็นครั้งแรกอยู่แล้ว ทางโรงเรียนอนุญาตให้ผู้ปกครองทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในช่วงก่อนเข้าแถว จากนั้นให้มารับเด็กกลับบ้านไปได้เมื่อเด็ก ๆ เสร็จกิจกรรมครึ่งวันเช้า เป็นการค่อยๆ ให้เขาเริ่มปรับตัวกับสถานที่ใหม่ ให้เขารู้จักพื้นที่ใหม่ๆ ของโรงเรียน ส่วนครูเองก็ต้องตั้งรับให้ดี หากิจกรรมอย่างเช่นการเล่านิทานซึ่งถือ ว่าได้ผลอย่างดีเยี่ยม เด็กจะฟัง แต่อีกสักพักเด็กบางคนอาจจะร้องไห้อีก กิจกรรมก็อาจจะเปลี่ยนไป เช่น ครูอาจชวนไปเล่นของเล่น ไปเดินดูดอกไม้ เดินดูสถานที่รอบๆ โรงเรียน ดูรูปภาพ ดูห้องต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ คุ้นชินกับสถานที่ให้เร็วที่สุด สำหรับพี่ ๆ ที่ต้องเปลี่ยนชั้นเรียน หรือเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ก็ยังพบว่ามีการร้องไห้เหมือนกัน ปัญหา ที่พบบ่อยๆ นอกจากการร้องไห้ของเด็กๆ แล้วยังพบว่าเขาจะไม่ยอมกินข้าว แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล คุณครูจะหานมหรืออาหารที่กินง่ายๆ ให้เขาดื่มหรือรับประทานรองท้องก่อนกลับบ้าน


แม่บางคนกังวลใจอย่างหนักเมื่อเห็นลูกร้องไห้หรือแสดงอาการโยเย การที่แม่มีความใกล้ชิดกับลูกมาก ย่อมแสดงอาการกังวลมากเมื่อลูกต้องไปโรงเรียนวันแรก เปลี่ยนชั้นเรียนใหม่หรือเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ สิ่งที่แม่ห่วงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องลูกจะกินอาหารได้หรือไม่ ครูจะดูแลลูกได้ใกล้ชิดหรือไม่ เวลาเด็กปวดท้อง จะเข้าห้องน้ำใครจะช่วยเด็ก เพื่อนจะแกล้งหรือไม่ สารพัดที่แม่กังวลและเป็นห่วง ในเรื่องนี้ อยากบอกกับผู้เป็นแม่ทุกคนว่าในเมื่อเราเป็นคนตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้กับ ลูก ก็ต้องไว้วางใจโรงเรียน และต้องเชื่อมั่นในโรงเรียน สำหรับสัดส่วนจำนวนครูที่ต้องดูแลเด็ก สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ว่า เด็กอายุ 2 ขวบหรืออยู่ในระดับเนิร์สเซอรี่ ครู 1 คนต่อเด็ก 7 คน เด็กวัย 2-3 ขวบ ครู 1 คนต่อเด็ก 12 คน วัยอนุบาล 1-3 ครู 1 คนต่อเด็ก 15 คน โดยต้องมีนักการภารโรงและพี่เลี้ยงมาคอยช่วยครู ด้วย ซึ่งทาง วัฒนาสาธิตก็จัดสัดส่วนคุณครูตามอัตราส่วนตามกำหนด คือ ระดับเนิร์สเซอรี่ ครู 1 คนต่อเด็ก 5 คน และมีครูไทยประจำห้อง ช่วยเสริมกิจกรรมของครูต่างชาติ วัยอนุบาล 1-3 ครู 1 คนต่อเด็ก 15 คน ทั้ง นี้ไม่อยากให้แม่กังวลมากเกินไปเพราะ อาจเครียดได้ การที่เด็กต้องไปโรงเรียนเขาต้องเรียนรู้กฎระเบียบและวิธีการใช้ชีวิต การช่วยเหลือตนเอง อย่างเช่นการกินข้าว ต้องฝึกกินข้าวด้วยตัวเอง ที่โรงเรียนไม่มีใครป้อนอาหารให้เหมือนที่บ้าน เด็กๆ ทุกคนต้องกินข้าวเอง พ่อแม่ต้องเข้าใจและต้องช่วยสนับสนุนทางโรงเรียน ให้เด็กรู้จักช่วยตนเองให้มากที่สุด แม้ว่าเด็กจะอยู่ที่บ้านพ่อแม่ก็ไม่ควรตามใจหรือป้อนข้าวให้ แต่ควรฝึกและใช้คำชม พูดจากับเด็กด้วยคำพูดที่ดีๆ ชมเชย ให้กำลังใจ เมื่อลูกกินข้าวเองก็บอกว่าเก่งมากลูก เดี๋ยวแม่จะไปเล่าให้ครูฟังว่าหนูเก่งกินอยู่ที่บ้านก็กินข้าวเองได้ ไม่ต้องมีใครป้อนอีกแล้ว หรือการที่ให้ลูกแต่งตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด

นอก จากนี้ อยากฝากถึงพ่อแม่ทุกคนว่าในบริบทโรงเรียนและบริบทที่บ้านมีความแตกต่าง กัน พ่อแม่เองต้องเข้าใจ แม้ว่าโรงเรียนจะพยา ยามทำโรงเรียนให้คล้ายกับบ้านมากที่สุดแล้วก็ ตาม เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนมีความอบอุ่นใจที่ได้ก้าวเข้ามาสู่อ้อมอกของโรงเรียน เป็นธรรมดาที่ลูกไม่อยากแยกจากพ่อแม่ แต่นี่คือก้าวย่างสำคัญที่ลูกจะออกไปสู่สังคมภายนอกแห่งแรกเพื่อเรียนรู้และ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ในโลกกว้าง โดยมีคนที่รักเขาคอยประคับประคองให้ก้าวไปด้วยความมั่นใจ




 

Create Date : 15 มกราคม 2554    
Last Update : 15 มกราคม 2554 21:09:57 น.
Counter : 788 Pageviews.  

ส่งลูกเข้าเรียนอนุบาลแล้วลูกร้องให้จนน่าสงสาร

ยะฮู้ เราสองคนดีใจที่ซู้ดดด เลยค่ะ ที่คุณแม่น้องมินตา บอกว่าได้ลองใช้หลายอย่างแล้วได้ผล คงไม่มีอะไรที่เราสองคนจะหวังไว้มากไปกว่าการที่ได้รับรู้ว่า เมื่อผู้ปกครอง นำหลักการวิธีการสร้างวินัยเชิงบวกที่เราสองคนร่ำเรียนมาไปใช้แล้วได้ผล ที่เราสองคนดีใจมาก เพราะเราสองคนใช้กับลูกศิษย์และเด็กๆรอบตัวเรามาเป็นเวลาเกือบเก้าปีแล้ว เราสองคนรู้ดีว่า ที่ไหนก็ตามที่มีผู้ใหญ่ใช้หลักการเหล่านี้ ที่นั่นจะเป็นสถานที่ที่น่าอยู่มากขึ้นของเด็กๆค่ะ

เราสองคนขอชื่นชม คุณแม่มากๆๆๆๆเลยค่ะ ที่นำวิธีการให้น้องมินตาดูนาฬิกามาใช้ เก่งมากๆเลยค่ะ คุณแม่ พี่สาวเราสองคนเองก็คิดค้นวิธีการ ดูเข็มนาฬิกาขึ้นมาใช้กับลูกชายของเค้าเหมือนกันค่ะ แต่แตกต่างกันตรงที่ น้องคุนหมิง ชอบเล่นสวิตไฟ พี่สาวเราเลยมอบหมายหน้าที่ (Significant and belonging principle) ให้มีหน้าที่เปิดปิด สวิตน้ำพุเล็กๆ ตอนหกโมงเช้าและหกโมงเย็น ตั้งแต่นั้นมา น้องคุนหมิง เลิกเล่นสวิตไฟดวงอื่นๆ และดูนาฬิกาเป็น เพราะคอยจ้องแต่จะเป็นเจ้าหน้าที่น้ำพุประจำบ้านค่ะ เราสองคนมีความเชื่อเรื่อง พลังสมองใสของคุณแม่ทุกคนในโลกค่ะ เพราะแม่จะเป็นบุคคลที่รู้จักลูกตัวเองดีที่สุด หลังจากเราสองคน แนะนำหลักการไปบ้าง ไม่นาน คุณแม่ของทุกคนประยุกต์ หลักการของเราไปจนได้เหมาะสม กับลูกของตนเองเสมอ
ครูใหม่ ครูหม่อม ขออนุญาตเสริมช่วงระหว่างปิดสงกรานต์ให้คุณแม่นิดนึงนะคะ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการไปโรงเรียนของน้องมินตา คุณแม่สามารถทำโซ่กระดาษขึ้นมา คุณแม่นึกออกมั้ยคะ โซ่กระดาษที่เราทำจากเศษกระดาษสี หรือ กระดาษห่อของขวัญ เอามาตัดเป็นเส้นๆ แล้วทำเป็นวงกลม คล้องต่อกันเป็นโซ่ ติดประดับ ในช่วงงานปีใหม่น่ะค่ะ
ทำเท่ากับจำนวนวันที่น้องมินตาหยุดนะคะ เช่น ได้หยุด 10 วัน ก็คล้องกัน 10 อันค่ะ คุณแม่สามารถชวนน้องมินตา มาทำร่วมกับคุณแม่ได้นะคะ แล้วบอกน้องมินตาไปด้วยว่า “นี่คือจำนวนวันที่น้องมินตาจะได้หยุด ก่อนไปโรงเรียนนะคะลูก” พอผ่านไปหนึ่งวัน ก็ให้น้องมินตา เป็นคนดึงกระดาษออกหนึ่งอัน แล้วให้น้องมินตา คอยนับจำนวนโซ่ที่เหลือ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าโรงเรียนจะเปิด ทั้งนี้ นอกจากแค่การบอกเฉยๆแล้ว เรายังช่วยให้เด็กเล็กๆสามารถเห็น เวลาเป็นรูปธรรมมากขึ้นนะคะ เป็นเวลาที่เค้าสามารถสัมผัสได้ ทางจิตวิทยาแล้ว ก็เหมือนกับผู้ใหญ่ที่ได้ทำใจล่วงหน้าน่ะค่ะ จะช่วยเด็กๆมากในด้านความรู้สึกและการปรับตัวค่ะ ระหว่างนี้ คุณแม่สามารถ ลองพูดคุยเรื่องสนุกๆ และแผนการที่อยากจะทำกับน้อง มินตา ตอนโรงเรียนเปิด เช่น เดี๋ยวพอโรงเรียนเปิด แม่เตรียมดูงานศิลปะที่น้องมินตาทำ จะต้องสวยมากแน่ๆ หรือเล่าช่วงชีวิตที่สนุกๆตอนคุณแม่ยังไปโรงเรียน ให้น้องฟัง ฯลฯ
สิ่งที่ขาดไม่ได้คงเป็น กำลังใจที่คอยสนับสนุนคุณแม่ค่ะ ขอให้คุณแม่เชื่อมั่นไว้ว่าที่ทำอยู่นั้น เป็นสิ่งที่ดีต่อลูกในระยะยาว แข็งใจอีกนิดนะคะ ยึดหลัก “ใจดีแต่ไม่ใจอ่อนไว้” แล้วไม่นานจะมีแต่คนถามว่า “ทำยังไงลูกถึงได้น่ารักขนาดนี้คะ”




 

Create Date : 15 มกราคม 2554    
Last Update : 15 มกราคม 2554 21:00:10 น.
Counter : 320 Pageviews.  


zebome
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add zebome's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.