Group Blog
 
All Blogs
 
ความชนะและความแพ้ (ตอนที่ ๑) พระมงคลเทพมุนี

ธชัคคสูตร
วันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๗

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ


ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว เทวาสุรสงฺคาโม สมุปพฺยุฬฺโห อโหสิ ฯ อถโข ภิกฺขเว สกฺโก เทวานมินฺโท เทเว ตาวตึเส อามนฺเตสิ สเจ มาริสา เทวานํ สงฺคามคตานํ อุปฺปชฺเชยฺย ภยํ วา ฉมฺภิตตฺตํ วา โลมหํโส วา มเมว ตสฺมึ สมเย ธชคฺคํ อุลฺโลเกยฺยาถ มมํ หิ โว ธชคฺคํ อุลฺโลกยตํ ยมฺภวิสฺสติ ภยํ วา ฉมฺภิตตฺตํ วา โลมหํโส วา โส ปหิยฺยิสฺสตีติ ฯ

ณ บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยความชนะและความแพ้ สองกระแส โลกปรารถนาความชนะทุกถ้วนหน้า ไม่มีใครปรารถนาความแพ้เลย ความแพ้หรือความชนะนี้เป็นของคู่กัน ในศึกสงครามใดๆ ในมนุษย์โลก ต่างฝ่ายก็ชอบชนะด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยากจะแพ้ หรือมุ่งมาดปรารถนาความแพ้ ถ้าว่าคิดว่าแพ้แน่แล้ว ก็ไม่สู้ ถ้าว่าคิดว่าสู้ก็ไม่แพ้ ตั้งใจอย่างนี้

บัดนี้สงครามโลกกำลังปรากฏอยู่ในเกาหลียังปรากฏอยู่ ในอินโดจีนนั้นก็ยังปรากฏอยู่ ต่างฝ่ายก็มุ่งเอาชัยชนะด้วยกัน สู้กันจริงๆ จังๆ อย่างนี้

ทางพุทธศาสนาเล่า มุ่งความชนะยิ่งกว่านั้น แต่ว่าความแพ้มันล่อแหลม มันก็ปรากฏอยู่เหมือนกัน เหมือนภิกษุที่สวมฟอร์มเป็นภิกษุอยู่เช่นนี้ ถ้ามุ่งความชนะจึงได้สวมฟอร์มเช่นนี้ เข้าสู้รบทีเดียว ฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาแสดงอากัปกิริยามุ่งความชนะอีกเหมือนกัน แต่ความชนะน่ะ ชนะอะไร ชนะที่สุดต้องชนะความชั่วทั้งหมด ความชั่วทั้งหมดมีมากน้อยเท่าใด มุ่งชนะทั้งหมด จนกระทั่งดีที่สุด ถึงพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานมุ่งหลักฐานเช่นนั้น

โลกดุจเดียวกัน มุ่งความชนะเป็นเบื้องหน้า เพื่อจะหลีกเลี่ยงเสียจากความแพ้ เมื่อได้ชัยชนะแล้ว ก็ได้ความเป็นใหญ่ในประเทศนั้นๆ ชนะทุกประเทศเป็นเอกในชมพูทวีป เรียกว่า ชนะเลิศ การชนะนี้แหละเขาต้องการกันนัก มีแพ้ชนะ ๒ อย่างเท่านั้น

ไม่ว่าแต่ความแพ้ชนะในมนุษย์นี่ ในดาวดึงส์เทวโลกนั่นเทวดายังรบกันเลย เรื่องนี้ปรากฏตามกำหนดวาระพระบาลีที่ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว เทวาสุรสงฺคาโม สมุปพฺยุฬฺโห อโหสิ ว่า..

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องดึกดำบรรพ์เคยมีมาแล้วในกาลปางก่อน เทวาสุรสงฺคาโม สงครามเทวดาและอสูร สมุปพฺยุฬฺโห อโหสิ ได้ประชิดกันเข้าแล้ว เทวดาและอสูรในดาวดึงส์ทำสงครามกันขึ้นแล้ว เมื่อสงครามเกิดขึ้นเช่นนั้น ในคราวใดสมัยใดพวกอสูรแพ้ท้าวสักกรินทรเทวราช ก็ลงไปตั้งพิภพอยู่ภายใต้เขาพระสุเมรุ บนยอดเขาพระสุเมรุนั้นพระอินทร์ตั้งพิภพอยู่ในที่นั้นเรียกว่าดาวดึงส์ หนทางไกลตั้ง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ จากยอดไปถึงตีนเขาโน่น จากยอดเขาไปถึงตีนเขา ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หนทางไกลขนาดนี้ แต่ว่าเขาพระสุเมรุอยู่ในน้ำมีน้ำล้อมรอบ

เมื่อถึงเทศกาลฤดูดอกแคฝอยในพิภพของอสูรบานขึ้นเวลาใด ชาวอสูรตกใจก็ที่พิภพของเราที่เราเคยอยู่มันมีดอกปาริฉัตตชาติ นี่ดอกแคฝอยเกิดขึ้นในพิภพของเราเช่นนี้ ไม่ใช่พิภพของเราเสียแล้ว คิดรู้ว่าอ้อ เมื่อครั้งเราเมาสุรา ท้าวสักกรินทรเทวราชจับเราโยนลงมา พวกเราจึงมาอยู่ในเขาพระสุเมรุนี้ ที่เกิดพิภพอสูรขึ้นเช่นนี้ ก็เพราะบุญของเรา แต่ว่าหักห้ามความแค้นใจนั้นไม่ได้ ต้องผุดขึ้นมาจากน้ำ ออกมาจากเชิงเขาพระสุเมรุจากในน้ำนั้นแหละ เหาะขึ้นไปในอากาศ ไปรบกับท้าวสักกรินทรเทวราช

ถึงคราวสมัยทำสงครามกับอสูรเวลาใด ท้าวสักกรินทรเทวราช ก็เรียกเทวดาในชั้นดาวดึงส์ หมู่เหล่าเทวดาในชั้นดาวดึงส์มีมากน้อยเท่าใด เรียกมาสั่งว่า สเจ มาริสา เทวานํ สงฺคามคตานํ อุปฺปชฺเชยฺย ภยํ วา ฉมฺภิตตฺตํ วา โลมหํโส วา ตสฺมึ สมเย ธชคฺคํ อุลฺโลเกยฺยาถ มมํ หิ โว ธชคฺคํ อุลฺโลกยตํ ยมฺภวิสฺสติ ภยํ วา ฉมฺภิตตฺตํ วา โลมหํโส วา โส ปหิยฺยิสฺสติ ว่า

ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถ้าความกลัวหรือความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าเกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลายที่ไปอยู่ในสงครามแล้ว ท่านทั้งหลาย เมื่อความกลัวเกิดขึ้นเช่นนั้นให้แลดูชายธงของเรา เมื่อท่านแลดูชายธงของเรากาลใด กาลนั้นความกลัวความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้าอันใดที่มีอยู่ อันนั้นย่อมหายไป เมื่อท่านแลดูชายธงของเราแล้วความกลัวความหวาดสะดุ้งไม่หายไป ขอท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเทวราชปชาบดีเถิด เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราชปชาบดี ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่มีอยู่ ย่อมหายไป เมื่อท่านแลดูชายธงของเทวราชปชาบดีแล้ว ความกลัวความหวาดสะดุ้งไม่หายไป ท่านพึงแลดูชายธงของวรุณเทวราชเถิด ความกลัวความหวาดสะดุ้งความขนพองสยองเกล้าของท่านก็จะหายไป ถ้าว่าเมื่อท่านแลดูชายธงของเทวราชวรุณแล้ว ความกลัวความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้านั้นยังไม่หายไป ทีนั้นท่านพึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อว่าอีสานเถิด เมื่อท่านแลดูชายธงของเทวราชชื่ออีสานแล้ว ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าของท่านจะหายไป

เมื่อท่านแลดูชายธงของท่านทั้ง ๔ เหล่านี้ ความกลัว ความหวาด ความสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า บางทีก็หายไปบ้าง บางทีก็ไม่หายบ้าง

ตํ กิสฺส เหตุ นั่นเหตุอะไรเล่า สกฺโก หิ ภิกฺขเว เทวานมินฺโท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกรินทรเทวราชผู้เป็นจอมของเทวดา อวีตราโค มีราคะยังไม่ไปปราศแล้ว อวีตโทโส มีโทสะยังไม่ไปปราศแล้ว อวีตโมโห มีโมหะยังไม่ไปปราศแล้ว ภิรุ ฉมฺภี อุตฺตรสี ปลายีติ เป็นผู้ยังกลัว ยังหวาด ยังสะดุ้ง ยังหนีไปอยู่ ท่านทั้ง ๔ นั้น ยังกลัว ยังหวาดสะดุ้ง ยังหนีไปอยู่ อหญฺจ โข ภิกฺขเว เอวํ วทามิ สเจ ตุมฺหากํ ภิกฺขเว อรญฺคตานํ วา รุกฺขมูลคตานํ วา สุญฺา คารคตานํ วา สุญฺาคารคตานํ วา อุปฺปชฺเชยฺย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวอย่างนี้แล เมื่อท่านทั้งหลายไปอยู่ป่าแล้ว ไปอยู่ที่โคนต้นไม้แล้ว ไปอยู่เรือนว่างเปล่าแล้ว

ถ้าแม้ว่าความกลัว ความหวาด ความสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าเกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงเราผู้ตถาคตเข้าเถิด เมื่อท่านระลึกถึงเราผู้ตถาคตแล้วกาลใด กาลนั้นความกลัวความหวาดสะดุ้งความขนพองสยองเกล้าของท่านทั้งหลายจะหายไป

เมื่อท่านระลึกถึงเราแล้ว ความกลัวความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้าไม่หายไป ทีนั้นท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมเข้าเถิด เมื่อท่านทั้งหลายระลึกถึงพระธรรมเข้าแล้ว ความกลัว ความหวาด ความสะดุ้งความ ขนพองสยองเกล้าจะหายไป

เมื่อท่านระลึกถึงพระธรรมแล้ว ความกลัว ความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้าของท่านไม่หายไป ทีนั้นท่านพึงระลึกถึงพระสงฆ์เข้าเถิด เมื่อท่านระลึกถึงพระสงฆ์เข้าแล้ว ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าของท่านก็จะหายไป



ขอขอบพระคุณภาพวัดสระเกศจาก @ Single Mind for Peace


Create Date : 12 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:00:15 น. 1 comments
Counter : 757 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้มีงานนมัสการภูเขาทองระหว่าง 15- 21 พ.ย 53 ทางวัดเปิดให้เข้าสักการะได้จนกระทั่งตอนค่ำเลยค่ะ มีของขายมากมายได้บบรรยากาศเหมือน งานวัด สมัยก่อน

เรียนเชิญท่านที่ในใจนะคะ


โดย: น้อมเศียรเกล้า วันที่: 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา:23:27:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.