เหมือนจะมี Thème แต่จริง ๆ แล้วก็คือเขียนอะไรที่นึกอยากจะเขียนนั่นเอง
Group Blog
 
All Blogs
 

"ชำแหละ" โชว์วีคลูกทุ่ง โดย "ลูกทุ่งคนยาก"

คัดมาจากกระทู้ชื่อเดียวกันนี้ ในบอร์ดเดอะสตาร์ พันทิป

//www.pantip.com/cafe/chalermkrung/topic/C9046806/C9046806.html

ผมเป็นแฟนรายการเดอะสตาร์มาตั้งแต่รุ่นหนึ่งนะครับ ดูกันทั้งบ้าน

โดยส่วนตัวผมคุ้นเคยกับเพลงแนวลูกทุ่งและลูกกรุงมาก ที่สุด วีคนี้จึงขอใช้ความรู้ที่เคยร่ำเรียนร้องเพลงมาบ้าง กับประสบการณ์ในการดูโชว์การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง มาประกอบการวิเคราะห์ การโชว์ของน้อง ๆ ทั้ง 6 คนวันนี้ครับ

ก่อนอื่นต้องออกตัวอีกครั้ง นะครับว่า ผมวิจารณ์ในฐานะ "นักฟังเพลงลูกทุ่ง" ไม่ใช่ในฐานะ "แฟนคลับ" หรือ "แฟนขับ" ใคร
ผมเป็นสมาชิกในระบบมือถือจึงไม่สามารถโพสโดยใช้แอ คเคาน์ได้ หากมีข้อสงสัยคุยกับผมได้ที่ blog ครับ //tick-skywalker.bloggang.com/


เริ่มจาก "น้องกัน" ก่อนนะครับ

- ขึ้นต้นตอนโห่ มีหลุด ๆ นิด ๆ สองคำนะครับ ตรงคำว่า "โอ" ครั้งที่สอง และ คำว่า "เช้า" แต่ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

- ท่อนที่ขึ้นต้นด้วยโน้ตต่ำ "รุ่งอรุณ..." เพี้ยนนิดนึงครับ นิดนึงจริง ๆ

- สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือ "ลูกคอ" และ "ลูกเอื้อน" ที่สมบูรณ์แบบมาก มีความ "ละเอียด" และเป็น "ธรรมชาติ" ยิ่งกว่านักร้องลูกทุ่งอาชีพบางคนเสียอีก

- การสื่อสารอารมณ์เพลงทำได้ดีมากครับ

- คะแนน (ขอให้ในระบบฝรั่งเศสที่เต็ม 20 นะครับ) 18,5 ครับ (เครื่องหมาย , ของฝรั่งเศสคือ "จุด" ของบ้านเราครับ) = mention très bien ครับ


สำหรับ น้องเซนนะครับ

- ยังคงมีปัญหากับโน้ตต่ำอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในท่อนที่สาม “ถ้าหากคุณจอง...”

- แต่สิ่งที่ผมต้อง “ทึ่ง” คือ น้ำเสียงเปลี่ยนเป็นแนว “ใกล้เคียง” กับลูกทุ่งได้อย่างน่าชมเชย คือ การร้องด้วยสำเนียง “เหน่อ” ที่ผมเคยให้ความเห็นไว้ในกระทู้หนึ่งก่อนหน้านี้ว่า เสน่ห์ของเพลงครูสุรพลคือ การร้องด้วยสำเนียง “เหน่อ” ซึ่งเซนทำได้ดี ในคำว่า “ว่าง” “ได้” “ห้อง” “เสียดาย” “เป็นนายใจผม” “เป็นของคุณ”

- ส่วนเรื่องการร้องชัดถ้อยชัดคำ และการเปล่งเสียงที่พ่นทุกอย่างออก มาจาก “กระพุ้งแก้ม” นั้น กรรมการในห้องส่งได้พูดไปแล้วซึ่งผมเห็นด้วยทุกประการ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่าง หนึ่งของ “ลูกทุ่ง” ครับ

- การสื่อสารอารมณ์ของเพลงทำได้ดีครับ

- สำหรับคะแนน 12,5 = mention assez bien ครับ


สำหรับ “โตโน่” นะครับ

- ขึ้นมาก็ค่อนข้างเพี้ยนอยู่นะครับ และเพีัยนเป็นระยะ ๆ ยกเว้นท่อนภาษาอีสาน “เต้นหน้าฮ่าน...” ที่ทำได้ดีพอสมควรครับ

- แต่ชอบท่ารำและเซิ้ง ถือว่าเป็นการนำจุดเด่นออกมาใช้ได้ดีครับ

- การสื่อสารอารมณ์เพลงทำได้ดีครับ

- คะแนนขอให้ 11,5 = mention passable ครับ


สำหรับน้องเกรซนะครับ

- ขึ้นมาทำได้ค่อนข้างดี

- ช่วงกลาง ๆ เพลงเป็นต้นไป สังเกตเห็นความ “เหนื่อยและหอบ” อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคำสุดท้ายของเพลง

- มีปัญหากับคำสุดท้ายของแต่ละท่อนอย่างมาก

- โดยภาพรวมถือว่าทำได้ดีตามอัตตภาพของเกรซเอง แต่ทำได้ไม่ดีเท่าตอนซ้อมครับ (ซึ่งอันนี้เข้าใจครับ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะหากเราซ้อมได้สักเก้าสิบเวลาร้องจริงมักจะดรอปลงไปประมาณยี่สิบหรือสาม สิบ ด้วยความตื่นเต้นหรือกดดันอะไรก็แล้วแต่)

- กลายเป็นว่า เกรซร้องเพลงโดเรมีให้เพี้ยนได้ “ยิ่งกว่า” ที่ใคร ๆ เขาทำกันครับ

- คะแนนให้ 10 = mention passable


สำหรับ น้องริท นะครับ

- ขึ้นต้นมา คำว่า “รัก” กับคำว่า “มอบ” เพี้ยนต่ำครับ

- ท่อนต่อ ๆ มายังคงขยัน “เพี้ยน” ได้ทุกท่อนครับ

- อย่างหนึ่งที่ผมอยากบอกนะครับ เพลงในซีรียส์เพลงเร็วทั้งหมดของ “ก็อต” นั้น ราวกับว่าจะ “ออกแบบ” มาสำหรับ “ก็อต” คนเดียวครับ ผมยังไม่เห็นใครหยิบเพลงเร็ว ๆ ของก็อตมาร้องแล้วทำได้ดีเลยแม้แต่คนเดียว (รวมทั้งน้องสิงโตเมื่อปีที่แล้ว ที่ร้องเพลง “เอิ้งเอ่ย”)

- ไม่อยากให้คุณเห็น "ไข่" อันนี้เห็นด้วยกับคุณฮาย อาภาพร จริง ๆ ครับ

- ส่วนท่าทางที่แสดงบนเวทีนั้นถือ ว่าเป็นการนำจุดขายของตัวเองออก มาใช้ได้ดีครับ เรื่องว่า “หมดมุก” นั้นผมจึงยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับ พี่เพชรครับ

- ท่อนที่โห่นั้นยังทำได้ไม่ดีนักนะครับ

- แต่ก็คงได้คะแนนในส่วนของการเอ็นเตอร์เทนไปครับ

- คะแนนขอให้ 12 = mention assez bien ครับ


สำหรับ น้องเกต นะครับ

- ขึ้นต้นมารู้สึกว่า “ตั้งใจ” เล่นการเอื้อนและลูกคอ “เกินจำเป็น” จนทำให้บางคำที่เอื้อนนั้น “เพี้ยน” และ “แกว่ง” ครับ

- การเอื้อนมากเกินไปจนดึงจังหวะเพลงให้ช้าลงอย่างน่าเสียดายครับ

- แต่ “น้ำเสียง” และ “พลัง” ในการร้องถือว่าดีอยู่แล้ว

- การสื่อสารอารมณ์เพลงทำได้ดีครับ

- ท่อนจบทำได้ดีมาก

- คะแนนจึงได้ไป 15 = mention bien ครับ 








Free TextEditor




 

Create Date : 06 เมษายน 2553    
Last Update : 4 มีนาคม 2554 6:22:24 น.
Counter : 309 Pageviews.  

41 ปีที่ "ครู" จากไป

41 ปีที่ “ครู” จากไป



 


 16 สิงหาคม ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบที่ “ราชาเพลงลูกทุ่งไทย (คนเดียวและตลอดกาล) : ครูสุรพล สมบัติเจริญ” จากโลกนี้ไป หลังจากเลิกแสดงที่วิกแสงจันทร์ ตรงข้ามวัดหนองปลาไหล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ครูกำลังเดินกลับไปที่รถยนต์ส่วนตัวพร้อมกับทองใบ รุ่งเรืองลูกทีมคนสนิท  ขณะที่ครูกำลังไขกุญแจเปิดประตูรถด้านคนขับชายลึกลับคนหนึ่งเดินเข้ามาด้านหลังพลันเสียงปืนดังขึ้น 2 ปัง ครูร้องขึ้นว่า “ยิงผมทำไม” เสียงปืนนัดที่ 3 ดังขึ้น ร่างของราชาเพลงลูกทุ่งไทยร่วงลงกับพื้น และจากทุกคนไปด้วยอายุเพียง 37 ปี ทิ้งไว้เพียงผลงานอันอมตะและทรงคุณค่าให้พวกเราได้ศึกษาต่อไป



 ผมคงไม่ขอเล่าประวัติของครูให้ยืดยาวที่นี่นะครับ (ขออนุญาตเรียกท่านว่า “ครู” เพราะผมถือว่าท่านเป็น “ครูเพลง” เป็นยอดอัจฉริยะและเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกที่ผมรู้จัก) ถ้าท่านผู้อ่านที่ไม่เคยแม้แต่เงี่ยหูฟังเพลงลูกทุ่งอันเป็นรากเหง้าของเราชาวสยามแล้ว เกิดสำนึกเล็ก ๆ อยากจะเริ่มสนใจบ้างว่าเพลงลูกทุ่งเป็นยังไงก็หาอ่านรายละเอียดในวิกิพีเดียเอาแล้วกันนะครับ รวมทั้งประวัติของครูด้วย แต่ในที่นี้ผมจะขอพูดถึงความคิดความเห็นเกี่ยวกับครูและวงการเพลงลูกทุ่งไทยสักเล็กน้อยครับ


 1. ครูคือผู้ “คลี่คลาย” ยุคเพลงรำวง – รำโทน สู่ยุคลูกทุ่งเต็มตัว ในยุคก่อนหน้าที่ครูจะมีชื่อเสียงนั้น เพลงที่ชาวบ้านในชนบทนิยมร้องรำกันเกือบทั้งหมดเป็นเพลงที่เรียกว่า “จังหวะรำวง” ครับ ศิลปินที่โด่ดเด่นมากในยุคนั้น ได้แก่ ครูเบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) เจ้าของเพลง “รำเต้ย” : สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง แม้นมีทองจะให้เจ้าแต่ง ... และเฉลิมชัย ศรีฤๅชา เจ้าของเพลง “เบิ่งโขง” : เบิ่งน้ำโขง ไหลคดไหลโคง โขงเอ๋ยเอื่อยมา... ครูเองก็เริ่มโด่งดังด้วยการ “ปล่อย” ผลงานในลักษณะของเพลงรำวงเช่นกัน จนกระทั่งสามารถขึ้นมาทาบรัศมีกับราชาเพลงรำวงอย่างเบญจมมินทร์ได้ ครูทำให้เพลงรำวงมีเนื้อหาที่หลายหลายขึ้น จนคลี่คลายไปสู่การเป็นเพลงลูกทุ่งในที่สุด 



 2. ครูคือศิลปินยอดอัจฉริยะที่มีความสามารถรอบตัว ในวงการเพลงลูกทุ่ง ตั้งแต่ยุคก่อนหน้าครูและหลังจากที่ครูเสียไปแล้ว ไม่มีศิลปินคนไหนที่จะมีความสามารถที่หลากหลาย “ครบเครื่อง” ได้อย่างครู บางคนร้องเพลงได้จับใจผู้ฟังแต่กลับร้องได้แนวเดียว เช่น แนวหวาน แนวสนุกสนาน แนวเศร้า บางคนร้องเพลงได้หลากหลายแนวอยู่แต่ไม่มีความสามารถในทางการประพันธ์เพลง



 3. ครูอยู่ในวงการเพียง 10 กว่าปี แต่กลับครองใจแฟนเพลงได้อย่างเหนียวแน่น นั่นเป็นเพราะบุคลิกของครูที่มีสิ่งที่ในสมัยนี้เขาเรียกว่าเป็น “เอนเตอร์เทนเนอร์” โดยเฉพาะ “เสียงหัวเราะ” และการพูดในระหว่างท่อนโซโล่ของเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของครู



 4. ครูสร้างลูกศิษย์ลูกหาไว้ประดับวงการเพลงลูกทุ่งจำนวนมาก ทั้งก่อนและหลังจากที่ครูตั้งวงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ ไม่ว่าจะเป็นก้าน แก้วสุพรรณ ผ่องศรี วรนุช ละอองดาว สกาวเดือน ไพรวัลย์ ลูกเพชร ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย เมืองมนต์ สมบัติเจริญ กังวานไพร ลูกเพชร จิตรกร บัวเนียม เป็นต้น


 สิ่งที่ผมบอกเล่าไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของราชาเพลงลูกทุ่งไทยครับและเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศยกย่องครูเป็น “ปริยศิลปิน” คือ ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน เป็นการยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของ “ราชาเพลงลูกทุ่งไทย” เพียงคนเดียวที่แม้เวลาผ่านไป 41 ปีแล้วก็ยังไม่มีใครก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งนี้แทนครูได้ครับ






Free TextEditor


ครูสุรพล




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2552    
Last Update : 18 สิงหาคม 2552 8:25:17 น.
Counter : 372 Pageviews.  

เพลงแม่ (อย่าเปิดแค่เฉพาะวันแม่)

เพลงแม่


เนื่องในวันแม่แห่งชาติ  12 สิงหาคม ผมขอใช้โอกาสนี้พูดถึงเพลงที่เกี่ยวข้องกับ “แม่” สักเพลงหนึ่งนะครับ


เพลงนี้เรียกได้ว่าเป็นเพลงแรก ๆ ที่ผมถูกสอนให้ร้องเมื่อเข้าโรงเรียนอนุบาล (นอกเหนือจากเพลงชาติ) และเป็นเพลงแรกที่ผมไม่อายที่จะบอกว่าผมเคยเสียน้ำตาหลายเมื่อได้ยินเพลงนี้


เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ผมรู้จักของบรมครูเพลงที่ผมยกย่องมากที่สุด “ครูไพบูลย์ บุตรขัน”



เพลงนี้ครูไพบูลย์เขียนขึ้นจาก “ประสบการณ์จริงและประสบการณ์ตรง” ของตัวท่านเอง


สิ่งที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้อาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือขาดตกบกพร่องไปบ้างเพราะผมตั้งใจเล่าจากความทรงจำ โดยไม่เปิดดูหนังสือเล่มที่ผมได้อ่านข้อมูลที่ผมจะเล่าต่อไปนี้มา


เพลงค่าน้ำนม ขับร้องโดย “ชาญ เย็นแข” น้อยคนนักที่จะรู้ว่าศิลปินผู้เป็น “ต้นฉบับ” หรือขับร้องเพลงนี้เป็นคนแรกคือ “ชาญ เย็นแข” ก่อนหน้าที่จะบันทึกเสียงเพลงนี้ ชาญเป็นเพียงนักร้องปลายแถวคนหนึ่ง วันหนึ่งชาญติดตาม “ครูแจ๋ว” สง่า อารัมภีร์ ไปอัดเพลงค่าน้ำนมของครูไพบูลย์ บุตรขันซึ่งตั้งใจให้ “บุญช่วย หิรัญสุนทร” ศิลปินชื่อดังในยุคนั้นเป็นผู้ร้อง แต่วันที่นัดอัดเพลงค่าน้ำนมนั้นครูนั่งรอบุญช่วยอยู่นานก็ไม่มีวี่แววนักร้องใหญ่ท่านนั้น (สมัยนั้นยังไม่มีมือถือโทรตาม) ครูแจ๋วจึงตัดสินใจให้ “ชาญ เย็นแข” นักร้องโนเนมเข้าไปอัด เมื่อแผ่นเสียงออกวางขาย สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องเรียกว่า ชาญดังในชั่วข้ามคืนราวกับได้ตำแหน่ง The STAR คนใหม่ของเมืองไทยเลยทีเดียว แผ่นเพลงค่าน้ำนมขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นับแต่นั้นมาชาญก็ก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องระดับแนวหน้าและห้าดาวของวงการเพลงไทย



กลับมาที่ความเป็นมาของเพลงกันบ้างครับ เพลงนี้ที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้นว่าครูไพบูลย์ท่านเขียนมาจากประสบการณ์ตรงนั่นก็คือ ช่วงที่ครูไพบูลย์ท่านป่วยเป็นโรคเรื้อน (โรคนี้เป็นโรคที่คนสมัยนั้นเป็นกันมากนะครับ พูดกันตามตรงก็เป็นที่น่ารังเกียจของสังคมอยู่ แต่ในทางการแพทย์นั้นเขาว่ายากนักที่จะติดต่อกันได้) ครูก็เลยกลับไปอยู่บ้านแม่ที่ปทุมธานี ก็แม่ของท่านที่แหละครับที่คอยดูแล เช็ดเนื้อเช็ดตัว ทายา หาข้าวหาปลาให้กิน ในเวลาที่ครูต้องหนีหน้าบรรดาเพื่อนฝูง ลูกศิษย์ลูกหาด้วยรู้ว่าเขาพากันรังเกียจ เหตุการณ์ตรงนี้แหละครับที่ทำครูถ่ายทอดความรู้สึกที่ท่านมีต่อแม่ออกมาเป็นเพลงแม่ที่ยิ่งใหญ่และกินใจที่สุดตลอดกาล


สำหรับผมทุกท่อนล้วนมีความหมายลึกซึ้งแต่ที่เรียกน้ำตาผมได้ทุกครั้งคือ


“บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น
หยดหนึ่งน้ำนมกินทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย”


ครูต้องการจะบอกว่าแม้สิ่งที่คนไทยเห็นว่าเป็นบุญสูงสุดที่ลูกจะทำให้แม่ได้คือการบวชให้แม่ ให้แม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์ แต่นั่นทดแทนไม่ได้แม้แต่น้ำนมหยดเดียวที่แม่ให้เราครับ





Free TextEditor






ค่าน้ำนม.mp3 - ชาญ เย็นแข




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2552    
Last Update : 13 สิงหาคม 2552 22:24:02 น.
Counter : 223 Pageviews.  

สนธิ สมมาตร : ราชาเพลงหวานแห่งลุ่มน้ำมูล



"ผมจรรอนแรมจากลุ่มน้ำมูล ทิ้งถิ่นดอกคูนเพราะความรู้น้อยต่ำต้อยเพียงดิน เอาเสียงสวรรค์สร้างสรรค์ด้านศิลปิน เป็นนักร้องลูกทุ่งพลัดถิ่น หากินอยู่กับเสียงเพลง..."


ข้อความแนะนำตัวที่อยู่ด้านขวามือที่พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ เห็นอยู่นั้น เป็นท่อนแรกของเพลง "ลูกทุ่งคนยาก" ผลงานประพันธ์ของอัจฉริยะครูเพลงแห่งที่ราบสูง ครูสุรินทร์ ภาคศิริ บันทึกเสียงครั้งแรกโดยนักร้องชื่อ "สนธิ สมมาตร" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "มนต์รักแม่น้ำมูล" ซึ่งสร้างชื่อให้พระเอก "สุริยา ชินพันธ์" เป็นอย่างมาก


ชื่อ "สนธิ สมมาตร" เป็นชื่อที่ มหาปราชญ์แห่งท้องทุ่งอีสาน ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เป็นผู้ตั้งให้


ผมได้ยินชื่อและรู้จักเพลงของสนธิ สมมาตร ครั้งแรกเมื่อชมภาพยนตร์เรื่อง "มนต์รักแม่น้ำมูล" ซึ่งสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยนำมาฉายเมื่อหลายเดือนก่อน


เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อ "อีสานคดี ลูกทุ่งอีสาน" ของ แวง พลังวรรณ เป็นหนังสือที่วงการวิชาการลูกทุ่งไทยรอคอยมานาน ท่านที่สนใจเพลงลูกทุ่งควรมีไว้เป็นเจ้าของอย่างยิ่งครับ หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเพลงลูกทุ่งอีสานตั้งแต่ยุครำวง รำโทน มาจนถึงการประยุกต์มาเป็นเพลงลูกทุ่ง จนถึงยุคเฟื่องฟู ยิ่งทำให้ซาบซึ้งในความเป็น "ลูกทุ่งอีสาน" ของตัวเองมากยิ่งขึ้น และทำให้ผมรู้จักเพลงลูกทุ่งเพิ่มขึ้นอีกหลาย ๆ เพลงครับ

ไว้เดี๋ยว ผมจะพูดถึงหนังสือเล่มนี้โดยละเอียดอีกครั้งครับ




ลองฟังการโหนเสียงของสนธิ สมมาตรดูนะครับ


แล้วจะรู้ว่านี่แหละ "ราชาเพลงหวาน ผู้ทรนง" และผมขอยกให้เป็น "ศรคีรีแห่งแดนอีสาน" ครับ







Free TextEditor




สนธิ สมมาตร

ลูกทุ่งคนยาก

คำร้อง – ทำนอง ครูสุรินทร์ ภาคศิริ
ขับร้อง สนธิ สมมาตร

ผมจร รอนแรมจากลุ่มน้ำมูล
ทิ้งถิ่นดอกคูน เพราะความรู้น้อย ต่ำต้อยเพียงดิน
เอาเสียงสวรรค์ สร้างสรรค์ด้านศิลปิน
เป็นนักร้อง ลูกทุ่งพลัดถิ่น หากินอยู่กับเสียงเพลง

ขอแฟน เห็นใจผมด้วยสักคน ไอ้หนุ่มหน้ามน
นักร้องคนจน จะกล่อมบรรเลง
ยามไหนมีรัก สุขนักเมื่อรับฟังเพลง
จะกล่อมขวัญ แม่สาวแก้มเปล่ง ร้องเพลงเบาเบาข้างหู

เพลงนี้ผมร้อง จากใจฝากมา
จากหนุ่มลูกทุ่งท้องนา พี่ป้าน้าอา ช่วยโปรดเอ็นดู
ลูกทุ่งคนยาก ฝากให้อุ้มชู
หากคุณเปลี่ยวใจไร้คู่
เชิญยอดพธู ฟังเพลงหวานหวาน

* เสียงเพลง บรรเลงขับกล่อมยามเหงา
หวิวแว่วแผ่วเบา แม้ยามคุณเศร้า ก็จงชื่นบาน
ยามไหนหม่นหมอง จะร้องกล่อมขวัญดวงมาลย์
ฝากเพลงลอยตามลมถึงบ้าน หลับฝันถึงผมสักนิด

ซ้ำ *

ด่วน บขส.

คำร้อง – ทำนอง ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
ขับร้อง สนธิ สมมาตร

ด่วน บขส. ติดเครื่องชลอจะจากอุบล
เหลียวหลังยังเห็นหน้ามน คนสวยแฟนพี่โบกมือไหวๆ
พี่ลาก่อนเด้อ บ่นานคงเจอกันใหม่
ยังคึดถึงแกงหน่อไม้ ใส่จุ๊ดจี่น้อยฝีมือเนื้อทอง

ก่อนจะจากไกล ภาพน้องทรามวัยติดตาบ่ลืม
คำเว้าอันแสนดูดดื่ม บ่ให้พี่ลืมเปลี่ยนใจจากน้อง
สิลืมจั่งได๋ หัวใจพี่ทั้งสี่ห้อง
ยกให้นางเดียวครอบครอง น้องจงอย่าได้อาวรณ์

ดอกกากะเลา บานเช้าเมื่อกลางเดือนสี่
จำบ่ลืมเลยแม่คนดี ว่าน้องกับพี่สุขใจออนซอน
สัญญาฝั่งมูล ว่าเฮาฮักกันแน่นอน
วันนี้พี่ต้องจากจร หักใจอำลาไปหาเงินก่อน

* โบกมือหยอย ๆ ตาน้องสำออยฝากความอาลัย
ดังเหมือนมีดคว้านอกใจ สะท้อนทรวงในพี่ห่วงอาวรณ์
พี่ลาก่อนเด้อ ลาเด้อแม่ขนตางอน
ลับตาทรวงพี่สะท้อน ขอพรพระคุ้มแม่คุณ


ซ้ำ (*)

ออกพรรษาที่เชียงคาน

คำร้อง – ทำนอง ครูทอง ธนาทิพย์
ขับร้อง สนธิ สมมาตร

เสียงแคนไผเป่า แคนผู้บ่าว ผู้สาวเชียงคาน
หน้าออกพรรษา เฮาพร้อมหน้า สนุกสนาน
หมู่เจ้าแข่งเฮือกัน เสียงร้องลั่นก้องริมโขง

ข้อยคนพลัดถิ่น พบยุพิน นิ่มอนงค์
เรือลำน้อยน้อย เจ้ากับข้อยลอยอยู่ริมโขง
กลองค่ำย่ำแลงลง ฮักเชื่อมโยง ท่ามกลางเดือนหงาย

โอ โอ้ โอ๊ โอ๊ โอ โอ โอโอ้ยอดชู้
เจ้ากระซิบข้างหู ว่าอย่าหลอก ตุ๊ข้อยเด้ออ้าย
พร่ำพลอดอาลัย เจ้าร้องไห้หลั่งน้ำตา

* เสียงแคนไผแผ่ว ดังแจ้วแจ้ว เลื่อนลับลา
อ้ายจำจากน้อง เนื้อทองจงอย่าโศกา
ปีหน้าอ้ายสิมาหา ร่วมออกพรรษาที่เชียงคาน


ซ้ำ *




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 5 สิงหาคม 2552 12:17:41 น.
Counter : 1117 Pageviews.  

1  2  

ลูกทุ่งคนยาก
Location :
Aix-en-Provence France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นักกฎหมายมหาชน ผู้สนใจประวัติศาสตร์ วรรณคดีไทยและการเมือง
Friends' blogs
[Add ลูกทุ่งคนยาก's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.