เหมือนจะมี Thème แต่จริง ๆ แล้วก็คือเขียนอะไรที่นึกอยากจะเขียนนั่นเอง
Group Blog
 
All Blogs
 

สารคดี "ตามรอยตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

เพื่อความเข้าใจในการชมภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทางผู้สร้างภาพยนตร์จึงได้จัดทำ "สารคดี" ตามรอยตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น จำนวน ๑๐ ตอน ได้แก่



๑. มหาราชแห่งอุษาคเนย์

๒. ประวัติศาสตร์ในตำนาน/ตำนานในประวัติศาสตร์

๓. พิษณุโลกแผ่นดินเกิดพระองค์ดำ

๔. หงสาวดีจากองค์ประกันสู่วันเฉลิมชัย

๕. ไก่เชลยตัวนี้เก่งนัก

๖. เมืองแครงเอกราชประกาศที่นี่

๗. พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง

๘. เส้นทางเดินทัพ

๙. ศึกนันทบุเรง

๑๐. ศึกยุทธหัตถี



สารคดีชุดนี้เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Modern 9 TV ในช่วงก่อนที่ภาพยนตร์ภาคแรกจะเข้าฉาย และเคยมีการผลิตออกจำหน่ายในรูปแบบ VCD  และ DVD แต่ปัจจุบันเห็นจะหายากเต็มทีแล้ว  



สารคดีชุดนี้ รวบรวมความเห็นทางประวัติศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาไม่เพียงเฉพาะนักประวัติศาสตร์ แต่ยังมีนักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักธรณีวิทยา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในภาพยนตร์ เช่น ผู้เลี้ยงไก่ชน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธปืนโบราณ 




มีผู้อัพโหลดไว้ครบทุกตอน ตามคลิปด้านล่างนี้ครับ 






มีคำพูดท้ายสารคดีที่ผมชอบ เป็นของ ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ท่านบอกไว้ว่า


"...ประวัติศาสตร์เนี่ยนะฮะ มันไม่จำเป็นต้องมีข้อยุติตายตัวทางใดทางหนึ่ง นักประวัติศาสตร์แต่ละคน นักวิชาการแต่ละแขนงก็สามารถที่จะมองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และตีความหรือให้ความหมายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แตกต่างกันไปได้นะฮะ เช่น นักโบราณคดีท่านก็มองทางด้านหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ท่านอาจจะมองอีกด้านหนึ่ง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลซึ่งนอกจากท่านเป็นนักสร้างภาพยนตร์แล้วท่านยังเป็นนักธรณีวิทยา ท่านก็มีสิทธิที่จะมองประวัติศาสตร์ในยุคนั้นไปอีกทางหนึ่งได้...ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใครผิดใครถูก ประเด็นอยู่ที่ว่าประวัติศาสตร์นั้นเนี่ยนะครับ มันไม่จำเป็นที่จะต้องถูกจำกัดว่ามันจะต้องมีคำตอบเพียงคำตอบเดียว ในเรื่องเรื่องเดียวนั้นอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันไปได้ เราก็รับฟังในหลาย ๆ มุมมอง เพื่อที่จะทำให้ปัญญาของเรานั้นเนี่ยมันแตกฉานมันงอกงามขึ้น..."


"...ถ้าเราจะบอกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ประวัติศาสตร์ที่เรามีอยู่เกี่ยวกับเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรก็ดี เรื่องของบุเรงนองก็ดีนั้นเนี่ยนะฮะ ล้วนขาดวิ่น ล้วนไม่สมบูรณ์นะฮะ เอ่อ เปรียบเสมือนกับว่าถ้าเรามีภาพต่อรูปหรือจิ๊กซอว์เนี่ยนะฮะ หลายตัวที่เป็นตัวต่อเพื่อจะให้ภาพสมบูรณ์นั้นเนี่ยมันได้ขาดหายไป..."" 










Free TextEditor




 

Create Date : 18 กันยายน 2554    
Last Update : 18 กันยายน 2554 23:40:12 น.
Counter : 1127 Pageviews.  

คำอธิบายพระยศเจ้านายไทย

คำอธิบายพระยศเจ้านายไทย


ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์



เจ้านาย หมายถึง พระบรมวงศานุวงศ์ หากพูดภาษาชาวบ้านก็คือ ญาติของพระมหากษัตริย์นั่นเอง
แท้จริงแล้วคำว่า “พระบรมวงศานุวงศ์” มีความหมายอันลึกซึ้งหมายถึง พระประยูรญาติใหญ่น้อยทั้งหมดทุกราชสกุลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประกอบด้วย 2 คำ คือ
พระบรมวงศ์ (บรมวงศ์ แปลว่า วงศ์ประเสริฐ หมายถึง วงศ์ใหญ่) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็น “พระญาติที่สนิทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อันได้แก่ เจ้านายที่มีพระยศเป็น เจ้าฟ้า และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
พระอนุวงศ์ (อนุวงศ์ แปลว่า วงศ์น้อย) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็น “พระญาติห่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” อันได้แก่ เจ้านายที่มีพระยศตั้งแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ลงมาถึง หม่อมเจ้า ซึ่งหม่อมเจ้าถือเป็นพระอิสริยยศชั้นสุดท้ายในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์

นอกจากนี้ ยังมีคำที่พึงทำความเข้าใจและใช้ให้ถูกต้องคือคำว่า “ราชตระกูล” “ราชสกุล” “ราชนิกุล” และ “ราชินิกุล”
ราชตระกูล หมายถึง สกุลที่มิได้สืบเชื้อสายโดยตรงจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่มีการสืบสายจากสมเด็จพระเชษฐภคินี พระอนุชา และพระขนิษฐา ผู้เป็นพระโอรสและพระธิดาในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สำหรับสายพระพี่พระน้องนี้ บางครั้งก็เรียกกันว่า ราชตระกูลสายพระปฐมวงศ์ หรือ พระปฐมบรมราชวงศ์ มี 6 สกุล ดังนี้ นรินทรางกูร เทพหัสดิน มนตรีกุล อิศรางกูร เจษฎางกูร นรินทรกุล

ราชสกุล สกุลของผู้ที่สืบเชื้อสายโดยตรงจากพระมหากษัตริย์แห่ง พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยซึ่ง ราชวงศ์จักรีนั้นราชสกุล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โดยมักจะเป็นพระนามของพระราชโอรส และยังมีราชสกุลในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีก 18 ราชสกุล นามสกุลสำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลวงศ์ในพระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2455 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น โดยบัญญัติไว้ว่าผู้ที่สืบเชื้อสายทางบิดามาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันให้ใช้ “นามสกุล” เดียวกัน ทำให้คนไทยทุกคนมีนามสกุลใช้และทำให้ทราบว่าใครเป็นพี่น้องหรือสืบเชื้อสายมาจากผู้ใด โดยผู้สืบเชื้อสายจากราชสกุล เรียกว่า “ราชนิกุล” กล่าวคือ เป็นบุคคลที่นับเนื่องราชราชสกุล ลำดับรองลงมาจากหม่อมเจ้า แม้มีคำนำหน้านามเป็นพิเศษอยู่ (คือหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง) แต่ก็ถือเป็นสามัญชน และบุคคลที่สืบเชื้อสายต่อจากหม่อมหลวง ซึ่งจะไม่มีคำนำหน้านามเป็นพิเศษ แต่จะมี “สร้อย” นามสกุลต่อท้ายว่า “ณ อยุธยา” และรวมตลอดถึงสกุลอันสืบเนื่องมาจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) นั้น เรียกว่า “บวรราชสกุล”

ส่วน ราชินิกุล หมายถึง สกุลที่เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (นับทางพระมารดา) เช่น สกุลบุนนาค แสง-ชูโต ณ บางช้าง เป็นต้น

อนึ่ง พระยศของเจ้านายนั้นมี 2 ส่วนคือ สกุลยศอย่างหนึ่ง กับอิสริยยศอีกอย่างหนึ่ง

1. สกุลยศ คือ พระยศที่ได้รับมาแต่ประสูติ หรือด้วยเหตุว่าสืบสายพระโลหิตมาแต่องค์พระมหากษัตริย์หรือเจ้านาย ในสมัยหลังนี้ปรากฏเป็น 3 ระดับใหญ่ ๆ คือ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า แลหม่อมเจ้า (ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ลงไปมิใช่เจ้า คงเป็นแต่เพียงผู้มีเชื้อสายสืบเนื่องในราชสกุลเท่านั้น)

1.1 ชั้นเจ้าฟ้า แบ่งเป็น 2 ชั้นย่อย
1.1.1 เจ้าฟ้าชั้นหนึ่ง หรือ เจ้าฟ้าชั้นเอก ได้แก่
(1) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ (พระราชโอรส) และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ (พระราชธิดา) อันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี โดยเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ด้วยกันและข้าราชบริพารมักเอ่ยว่า “ทูลกระหม่อม” นำหน้าพระนามอย่างลำลอง เช่น
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ออกพระนามอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อมโต”
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ออกพระนามอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” เป็นพระอนุชาร่วมพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ออกพระนามอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อมเล็ก” เป็นพระอนุชาร่วมพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเชษฐาธิราชร่วมพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนสุดา (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี) ออกพระนามอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อมหญิงน้อย”
(2) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธออันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี เป็นพระอัครมเหสีเช่นกัน แต่เป็นตำแหน่งรองจากสมเด็จพระราชินี (เช่น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี ผู้เป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ออกพระนามอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อม” เช่นกัน
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี ออกพระนามอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อมแดง” เป็นต้นราชสกุลมหิดล
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ออกพระนามอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อมชาย” เป็นต้นราชสกุลบริพัตร

1.1.2 เจ้าฟ้าชั้นสอง หรือเจ้าฟ้าชั้นโท ได้แก่
(1) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ อันประสูติแต่ พระนางเจ้า พระวรราชเทวี พระมเหสีอันดับรอง (เช่น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เจ้าฟ้าชั้นนี้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารมักเอ่ยเรียกว่า “สมเด็จ” เช่น
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเพ็ชรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ปัจจุบันสถาปนาที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
(2) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ อันประสูติแต่พระอัครชายา พระราชชายา หรือพระวรราชชายา ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์ (เช่น พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ)
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ออกพระนามอย่างลำลองว่า “สมเด็จชายยุคล” พระองค์มีศักดิ์เป็นสมเด็จปู่ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย
อนึ่ง โปรดสังเกตว่าเฉพาะเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าจะมีคำนำหน้าสกุลยศว่า “สมเด็จ” อยู่เสมอ แต่เจ้านายชั้นอื่นจะไม่มี และในรัชกาลปัจจุบันเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาล ก่อน ๆ เป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า”

1.2 ชั้นพระองค์เจ้า แบ่งเป็น 3 ชั้นย่อย
1.2.1 พระองค์เจ้าชั้นหนึ่ง คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ อันประสูติแต่พระสนม หรือเจ้าจอมมารดา กฎมณเฑียรบาล เรียกว่า “พระเยาวราช” เจ้านายชั้นนี้จะเอ่ยพระนามว่า “เสด็จ” เช่น
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมรดาอ่วม เอ่ยพระนามว่า “เสด็จชายกิติยากร” ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ ก็ออกพระนามอย่างลำลองเป็น “เสด็จในกรมพระจันทบุรี” พระองค์มีศักดิ์เป็นเสด็จปู่ของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมรดาตลับ ออกพระนามอย่างลำลองว่า “เสด็จชายรพี” ต่อมาได้รับสถาปนา เป็น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็ออกพระนามเป็น “เสด็จในกรมหลวงราชบุรี” พระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย
ในรัชกาลปัจจุบันเฉลิมพระนามพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลก่อน ๆ เป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” เว้นแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นได้รับสถาปนาพระอิสริยยศทรงกรมเป็นเจ้าต่างกรมชั้น “กรมพระยา” ก็จะมีคำนำหน้าพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เหมือนชั้นเจ้าฟ้า เช่น
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม เป็นต้นราชสกุลดิศกุล และพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

1.2.2 พระองค์เจ้าชั้นสอง คือ พระราชนัดดา (หลาน) ของพระมหากษัตริย์อันประสูติแต่พระบิดาที่เป็น “เจ้าฟ้า” และมีพระมารดาเป็น “เจ้า” (เจ้าฟ้า พระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้า) มีคำนำหน้าพระนามว่า “พระเจ้าวร วงศ์เธอ” และเอ่ยพระนามว่า “พระองค์” เช่น
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล) พระโอรสในสมเด็จ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล จึงมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกพระนามอย่างลำลองว่า “พระองค์ชายใหญ่” เป็นเสด็จพ่อในหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล หรือท่านกบ
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษบริพัตร พระโอรสในสมเด็จ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับ หม่อมเจ้าประสงค์สม มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกพระนามอย่างลำลองว่า “พระองค์ชายจุมภฏ” เป็นเจ้าของวังสวนผักกาด
อนึ่ง ในรัชกาลปัจจุบันโปรดพระทานสกุลยศแก่พระราชนัดดาเป็น “พระเจ้าหลานเธอ” เช่น
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา พระธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ออกพระนามอย่างลำลองว่า “พระองค์ภา”
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าฑีปังกรรัศมีโชติ พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศม์ พระวรชายา ออกพระนามอย่างลำลองว่า “พระองค์ฑี”
อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อยกเว้นได้หากพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการเป็นการเฉพาะ เช่น
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ พระโอรสในสมเด็จ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับหม่อมคัทริน เดสนิตสกี ชาวรัสเซีย มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แรกประสูติเป็นหม่อมเจ้า เพราะมารดาเป็นสามัญชน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวร วงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ พระองค์เป็นผู้ทรงพระนิพนธ์หนังสือ “เกิดวังปารุสก์” เป็นเสด็จตาของฮิวโก้ จุลจักร จักรพงศ์ คือเป็นพระบิดาของหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงศ์ คุณหญิงแม่ของฮิวโก้
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร กับหม่อมสุจาริณี มหิดล ณ อยุธยา เมื่อแรกประสูติเป็นหม่อมเจ้าหญิงดุจน้ำเพชร มหิดล ภายหลัง ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นที่ “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า”

1.2.3 พระองค์เจ้าชั้นสาม ได้แก่
(1) พระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์อันประสูติแต่พระบิดาและพระมารดาซึ่งเป็นพระองค์เจ้าทั้งคู่ เช่น
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับ พระเจ้าวร วงศ์เธอพระองค์เจ้าประภาวสิทธินฤมล จึงมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(2) พระราชนัดดาของพระมหาพระมหากษัตริย์อันประสูติแต่พระบิดาเป็นเจ้าฟ้า แต่มารดาเป็นสามัญชน หรือที่เรียกว่า “หม่อม” เมื่อแรกประสูติเป็นหม่อมเจ้าแต่พระเจ้าอยู่หัวสถาปนาขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จึงเรียกพระองค์เจ้าชั้นนี้ว่า “พระองค์เจ้าตั้ง” หรืออาจพระราชทานเป็นพระวรวงศ์เธอ แต่ประสูติเลยก็ได้ เช่น
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ) พระธิดาในสมเด็จ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา เมื่อแรกประสูติเป็นหม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา

1.3 ชั้นหม่อมเจ้า มักเอ่ยคำนำหน้าพระนามว่า “ท่าน” หรือ “ท่านชาย” “ท่านหญิง” ได้แก่
1.3.1 พระราชนัดดาของพระมหาพระมหากษัตริย์อันประสูติแต่พระบิดาเป็นเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้า แต่มารดาเป็นสามัญชน หรือที่เรียกว่า “หม่อม” และมิได้เป็นนางห้ามพระราชทาน เช่น
- หม่อมเจ้าศุภัทรดิศ ดิศกุล พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ท่านทรงเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เคยเป็นคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
- หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรไชย พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร) กับหม่อมเอื้อม ท่านเป็นนักแปล Subtitle ภาพยนตร์
- หม่อมเจ้าปิยะรังสิต พระโอรสในสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับหม่อมเอลิซาเบธ (Elisabeth Scharnberger)
- หม่อมเจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับหม่อมลออ ภายหลังสถาปนาขึ้นเป็น พระวร วงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา

1.3.2 พระโอรสหรือพระธิดาของพระองค์เจ้าชั้นสอง เช่น
- หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล (ท่านกบ) พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
- หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
- หม่อมเจ้าหญิงพันธุ์สวลี (พระมารดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ) พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

2. อิสริยยศ คือ พระยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่บำเพ็ญพระกรณียกิจแก่ชาติบ้านเมือง เรียกว่า “เจ้าทรงกรม” หรือ “เจ้าต่างกรม” มี 5 ชั้นดังนี้
2.1 กรมพระยา เช่น
- สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสถาปนิกใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงออกแบบอาคารกระทรวงต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงออกแบบพระเมรุมาศในพิธีถวายพระเพลิงหลายรัชกาล และผู้ทรงพระนิพนธ์เพลงสรรเสริญพระบารมี
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงเป็นต้นราชสกุลเทวกุล เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เป็นดั่งพระหัตถ์ขวาของรัชกาลที่ 5 ในการพาสยามให้รอดพ้นภัยจากการล่าอาณานิคม
โปรดสังเกตว่าหากพระองค์เจ้าได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าต่างกรมชั้นกรมพระยาจะมีคำนำหน้าว่า “สมเด็จ” ด้วยดังกล่าวแล้ว

2.2 กรมพระ เช่น
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒน์วิศิษฏ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นราชสกุลสวัสดิวัฒน์ พระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนรัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นราชสกุลจักรพันธ์ เป็นพระอนุชาร่วมพระชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงเป็นต้นราชสกุลบริพัตร
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาวาด เป็นพระบิดาแห่งการรถไฟไทย

2.3 กรมหลวง เช่น
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมรดาตลับ เป็นพระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมรดาโหมด เป็นพระบิดาแห่งการทหารเรือไทย
- สมเด็จ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า)

2.4 กรมขุน เช่น
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ และเป็นพระราชอนุชาร่วมพระชนนีกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ทรงก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่าง

2.5 กรมหมื่น เช่น
- กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าทับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาเรียม (สมเด็จพระศรีสุลาลัย)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดามรกฎ เป็นผู้ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

อนึ่ง การอธิบายของผู้เขียนเป็นการอธิบายภาพกว้าง ๆ เฉพาะพระยศที่มักได้ยินในปัจจุบัน และพบเห็นบ่อยในหนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้น หากต้องการศึกษากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในรายละเอียด ผู้เขียนขอแนะนำให้อ่าน “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดพิมพ์ และหนังสือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารและฐานันดรแห่งพระราชวงศ์ของไทย” ซึ่ง คณะอนุกรรมการแผยแพร่พระราชกรณียกิจ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจัดพิมพ์




 

Create Date : 04 มีนาคม 2554    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 7:00:51 น.
Counter : 696 Pageviews.  

งานแปล จดหมายเหตุ "ซานกั๋วจื้อ" อันทรงคุณค่า


ผมได้รู้จักน้องชายคนนึงเมื่อราว ๆ ครึ่งเดือนที่ผ่านมา เค้าชื่อ "บิ๊ก"




ผมรู้สึกชื่นชมในความรู้อันแม่นยำของเขาเกี่ยวกับเรื่องราวของ "สามก๊ก" ซึ่งผมมีความสนใจอยู่อย่างมากเช่นเดียวกัน 



ผมเพิ่งทราบว่าน้องบิ๊กมี Blog ที่เขียน "งานแปล" จดหมายเหตุ "ซานกั๋วจื้อ" ซึ่งเป็นประวัติของบุคคลสำคัญในยุคสามก๊ก และ "นิยาย" สามก๊กฉบับ ตำนานวีรบุรุษ ตอนตำนานวีรบุรุษแห่งเจียงตง



ผมอ่านดูแล้วต้องขอยกย่องชื่นชมในความสามารถในการแปลของน้องบิ๊กอย่างมาก ๆ
ครับ


เพราะการแปลนั้น ผมเองก็พอได้ยินได้ฟังได้อ่านมาบ้าง กอปรกับมาร่ำเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส ช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเรียนวิชาการแปลภาษาอังกฤษ (Traduction anglais) คือแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาฝรั่งเศส จึงพอจะทราบหลักการทั่ว ๆ ไปของการแปลว่า การแปลประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การอ่านทำความเข้าใจความหมายของเนื้อหาในภาษาต้นฉบับ ส่วนที่สองคือ การถอดความออกเป็นภาษา "ปลายทาง" ให้สอดคล้องกับ "ไวยกรณ์" และ "ความเข้าใจ" ของผู้ใช้ภาษาปลายทางนั้น



อุปสรรคประการสำคัญของการแปล "สามก๊ก" ในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายประการ ผมไม่อยากกล่าวถึงเรื่องนี้มากนัก เพราะทุกท่านทราบดีถึง "ข้อจำกัด" ในเวลาเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ซึ่งจะหาผู้รู้ภาษาจีนอย่างแตกฉานและสามารถถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างดีนั้นไม่มี


เราจึงจำเป็นต้องใช้การแปลแบบ "ล่าม" คือให้ชาวจีนอ่านสามก๊กแล้ว "เล่า" ให้ผู้เรียบเรียงซึ่งเป็นคนไทย "จด" จากนั้นหัวหน้ากองผู้แปลคือ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งท่านเป็นกวีเอกมาแต่ครั้งสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเพลานั้นรั้งยศกินตำแหน่งเป็น "หลวงสรวิชิต (หน)" มีผลงานในสมัยกรุงธนบุรีคือ ลิลิตเพชรมงกุฏ และอิเหนาคำฉันท์ เป็นผู้นำ "ความ" ที่จดมานั้น "เรียบเรียงใหม่" เป็นภาษาร้อยแก้วเป็นความเรียงนิทานของไทย


แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นี่ ปัญหาอยู่ที่ "ล่าม" ซึ่งเราได้มาทั้งหมดเป็น  "ชาวใต้" ซึ่งสำเนียงการออกเสียงภาษาจีนแตกต่างจากชาวเหนือซึ่งเป็น  "สำเนียงกลาง" อย่างมาก ชาวใต้เหล่านั้น เกือบทั้งหมดเป็นจีน "ฮกเกี้ยน" และแต้จิ๋ว กวางตุ้งบ้างเล็กน้อย ชื่อวิสามานยนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชื่อคน สถานที่ สิ่งของ อะไรต่อมิอะไร จึงกลายเป็น สำเนียงฮกเกี้ยนกว่าร้อยละ 98 เมื่อจะก้าวสู่ความเป็น "สากล" ซึ่งใช้สำเนียงจีนกลางหรือแมนดาริน จึงประสบปัญหาดังที่ปรากกฏอยู่



น้องบิ๊กแปลจากฉบับซึ่งถอดความเป็นภาษาอังกฤษแล้ว จึงเป็นการใช้สำเนียงจีนกลางแมนดาริน ซึ่งผมคิดว่า วันนี้เราควร "เริ่ม" ศึกษาสามก๊กโดยพยายามจดจำชื่อวิสามานยนามสำเนียงจีนกลาง "ควบคู่" ไปกับสำเนียงฮกเกี้ยนที่เราคุ้นเคยมาแต่เดิม เพื่อ "ยกระดับ" การศึกษาสามก๊กของพวกเราให้ "ไปสู่สากล" ครับ



ผมเองเมื่อวานก็ได้คุยเรื่องสามก๊กกับเพื่อนชาวจีนข้างห้อง ก็ต้องพยายามใช้ชื่อวิสามานยนามแบบจีนกลาง มิเช่นนั้นคงเกิดความสับสนงงงวยอย่างหนักเช่นกัน



อย่าลืมแวะไปเยี่ยมเยียนน้องชายของผมนะครับ



แล้วก็อย่าลืมเพจสามก๊กของผมด้วยนะครับ



ขอบคุณครับ 










Free TextEditor




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2553    
Last Update : 28 สิงหาคม 2553 4:19:19 น.
Counter : 396 Pageviews.  

แนะนำ facebook page เกี่ยวกับสามก๊ก






ผมเองได้ศึกษาเรื่องราวของ "สามก๊ก" มามากกว่า 10 ปีแล้ว ได้ชมละครโทรทัศน์ของจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต่ำกว่า 3 รอบ อ่านหนังสือเล่าเรื่องและวิเคราะห์สามก๊กมากกว่า 30 เล่ม ฟังสามก๊กฉบับคนขายชาติตั้งแต่ต้นจนจบ 655 ตอน



และผมก็ทราบดีว่า มีพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ให้ความสนใจศึกษา "สามก๊ก" กันไม่น้อย ในฐานะที่ Facebook กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผมไปแล้ว หลังจากได้เข้าร่วมกลุ่มและเพจเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบและสนใจใน Facebook ไปแล้วมากมาย จึงมานั่งคิดว่า น่าจะลองสร้าง "เพจ" เกี่ยวกับสามก๊กดูบ้าง เพื่อเป็นแหล่งพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความเห็นที่เกี่ยวกับสื่อต่าง ๆ ของสามก๊ก ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เพลง การ์ตูน หรือแม้กระทั่งเกม



เพจ "สามก๊ก" จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผมจึงอยากเรียนเชิญพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ทุกท่านที่ผ่านมาได้แวะเวียนไปเยี่ยมชมเพจสามก๊กที่นี่ครับ  //www.facebook.com/pages/sam-kk/137709502936154




ขอบพระคุณครับ 







Free TextEditor




 

Create Date : 12 สิงหาคม 2553    
Last Update : 4 มีนาคม 2554 6:31:36 น.
Counter : 318 Pageviews.  

แวมไพร์ Vs หมาป่า และหรือ ชนผิวขาว Vs อินเดียนแดง




เรื่องที่ผมกำลังเขียนต่อไปนี้
เป็นสิ่งที่ผม “คิด”
หลังจากได้ศึกษาประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในเรื่องการต่อสู่ระหว่างชนพื้นเมืองที่เราเรียกว่า
“อินเดียนแดง” กับชนผิวขาวผู้รุกราน
ซึ่งแน่นอนในที่สุดจบลงด้วยชัยชนะของชนผิวขาวผู้มีอาวุธและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้ากว่า



นวนิยายเรื่อง « Twilight » ของ Stephenie Meyer วางโครงเรื่อโดยมีกลุ่มที่ “ไม่ใช่” มนุษย์ 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแวมไพร์และกลุ่มหมาป่า ซึ่งทั้งสองกลุ่มเป็น “ศัตรูคู่อาฆาต” กันมาหลายร้อยปี
การกำหนดลักษณะของตัวละครโดย “จงใจ” ให้แวมไพร์เป็นตัวแทนของกลุ่ม “ชนผิวขาว” และ
หมาป่าเป็นตัวแทนของกลุ่ม “ชนพื้นเมือง” นั้น ผมมองว่า “มีประเด็น” เกี่ยวกับ
การต่อสู้ของชนสองกลุ่มนี้แฝงอยู่


แน่นอนว่าผู้เขียนให้แวมไพร์ชนะหมาป่าอยู่
“ครึ่งหรือหนึ่งช่วงตัว” นั่นคือการที่เบลล่าตัดสินใจเลือก “เอ็ดเวิร์ด”
เพราะรักเอ็ดเวิร์ด “มากกว่า” เจคอป



ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการ
“สื่อ” ผ่านภาพลักษณ์ของตัวละคร


ตระกูลคัลเลนเป็นตระกูลที่
“มีอันจะกิน” ตระกูลหนึ่ง
สังเกตได้จากรถราและบ้านช่องที่หรูหราและดูดีไปเสียทั้งหมด
ในขณะที่พวกหมาป่าซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าควิลิวซ์ไม่ได้มี “ทรัพยากร”
มากมายเหมือนพวกชนผิวขาว
ความจริงข้อนี้เกิดขึ้นกับชนพื้นเมืองอินเดียนแดงโดยทั่วไป
ไม่ใช่กับเฉพาะเผ่าควิลิวซ์



ความขัดแย้งในทางเผ่าพันธุ์แสดงให้เห็นผ่านตัวละครในหลาย
ๆ ฉาก แต่อย่างน้อยเผ่าควิลิวซ์กับตระกูลคัลเลนก็มี “สัญญาสงบศึก”
ต่อกันภายใต้เงื่อนไขของการไม่ “หากินข้ามเขต” ซึ่งกันและกัน และที่สุดใน
Eclipse ควิลิวซ์และคัลเลนก็บรรลุความร่วมมือต่อต้านกลุ่มแวมไพร์กำเนิดใหม่ภายใต้การบงการของ
“หัวแดง” วิคตอเรีย เป็นการสะท้อนภาพการ “อยู่ร่วมกัน” และ “มิตรภาพ”
ของชนเผ่าพื้นเมืองกับชนผิวขาว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ลืมที่จะสะท้อนภาพความขัดแย้งที่มีมาแต่อดีต
“ในระดับผู้ปกครอง”
นั่นคือในฉากที่หลังจากคัลเลนและหมาป่ารวมกันกำจัดกองทัพแวมไพร์กำเนิดใหม่ได้สำเร็จ
และพวก “โวตูลรี” ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่ง “ฝ่ายปกครอง”
ของพวกแวมไพร์เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ หมอคัลไลน์บอกว่า “ต้องให้หมาป่าหลบไปก่อน
พวกโวลตูรีไม่ยอมสงบศึกกับหมาป่าแน่
 !!!”



แต่ฉากที่ผมประทับใจที่สุดอีกฉากหนึ่ง
คือฉากที่หมอคัลไลน์ช่วยต่อกระดูกให้เจคอปที่บาดเจ็บ
และพ่อของเจคอปขอบคุณหมอคัลไลน์ ทั้งสองจับมือกัน
เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสัมพันธ์ที่น่าจะดีขึ้นระหว่างหมาป่าและแวมไพร์



ความเป็นจริงทุกวันนี้ชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเองก็แต่งงานกับชนผิวขาวไม่น้อย
ที่สำคัญ
« Taylor Lautner »
ผู้รับบท « Jacob » นั้น
ก็มีเชื้อสายอินเดียนแดงจากฝั่งทางแม่



อย่างไรก็ตาม
ชนพื้นเมืองอินเดียนแดงทุกวันนี้ก็ยังคงถูกจัดให้อยู่ใน “เขตสงวน” ซึ่งเป็น
“สัญลักษณ์” ของการ “กดขี่” ทางชนชาติที่กระทำโดยบรรพบุรุษของชนชาติที่หยิบยกเอาประเด็น
“สิทธิมนุษยชน” มา “อาละวาด” กับประเทศต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ
 !!!






Free TextEditor




 

Create Date : 02 สิงหาคม 2553    
Last Update : 2 สิงหาคม 2553 1:10:14 น.
Counter : 1796 Pageviews.  

1  2  

ลูกทุ่งคนยาก
Location :
Aix-en-Provence France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นักกฎหมายมหาชน ผู้สนใจประวัติศาสตร์ วรรณคดีไทยและการเมือง
Friends' blogs
[Add ลูกทุ่งคนยาก's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.