++ Positive Speaking ++
ความสุขวัดได้จริงหรือ ? (1) Happiness : Lessons From a New Science



เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า นิตยสารไทม์ ฉบับพิเศษประจำปี 2006 ได้ยกย่องให้กษัตริย์ภูฏานเป็นหนึ่งในร้อยของบุคคลที่ทรงอิทธิพลของโลก เนื่องจากพระองค์เป็นผู้บุกเบิกในการนำตัวชี้วัดที่เรียกว่า GNP มาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ GNP ย่อมาจาก gross national happiness ซึ่งคงแปลเป็นไทยว่า "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" คำนี้อาจไม่คุ้นหูคนไทยซึ่งรู้จักกันแต่ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

ทำไมพระองค์จึงคิดว่าความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ?
และความสุขวัดได้จริงหรือ พระองค์จึงสามารถนับความสุขมวลรวมประชาชาติได้ ?

คำถามในแนวนี้มีคำตอบอยู่ในหนังสือชื่อ Happiness : Lessons From a New Science ของ Richard Layard นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เสนอให้ประเทศต่างๆ พิจารณาใช้ดัชนีชี้วัดความสุขเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ หนังสือขนาด 300 หน้าเล่มนี้พิมพ์ออกมาเมื่อปี 2548 โดยแบ่งเนื้อหา 14 บท ออกเป็น 2 ภาค ภาคแรกตั้งประเด็นปัญหา แล้วภาคสองหาคำตอบมาให้

ความสุขหมายถึงความรู้สึกดีๆ สนุกสนานกับการมีชีวิต และอยากให้รู้สึกเช่นนั้นตลอดไป ปัจจุบันเราสามารถวัดระดับของความสุขได้จากการสอบถามและการตรวจคลื่นสมอง การศึกษาของ ดร.เดวิดสันแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินพบว่าเมื่อผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าเขามีความสุข คลื่นสมองทางด้านซ้ายส่วนหน้า (left-side forebrain) ของเขาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองมากกว่าบริเวณอื่นๆ และเมื่อใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองบริเวณดังกล่าว ผู้ถูกทดสอบจะมีอารมณ์ดีขึ้นเช่นกัน นั่นแสดงว่าสมองบริเวณนั้นเป็นจุดกำเนิดของความรู้สึกมีความสุข

การตอบแบบสอบถามของประชาชน 900 คนในมลรัฐเทกซัสยืนยันว่า ระดับของความสุขเปลี่ยนแปลงได้ตามกิจกรรมที่เราทำ กิจกรรมที่ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามมีความสุขมากที่สุดคือ การมีเพศสัมพันธ์ รองลงมาคือ การเข้าสังคม การพักผ่อน การสวดมนต์อธิษฐาน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกายและการดูโทรทัศน์ กิจกรรมทั้ง 6 อย่างนี้ทำให้พวกเขามีระดับความสุขพอๆ กัน ส่วนกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุขน้อยที่สุดคือ การทำงาน ทั้งงานภายในบ้านและงานนอกบ้าน

ความสุขมีความสำคัญเพราะเป็นปัจจัยและแรงดลใจที่สำคัญที่สุดในการมีชีวิตอยู่ พร้อมกับทำให้เรามีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาว สำหรับปัจจัยที่มีต่อความสุขนั้น ผู้เขียนแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกแยกออกเป็น 7 อย่างคือ ฐานะทางเศรษฐกิจ สุขภาพ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว งาน เพื่อนและสังคมรอบด้าน และอิสรภาพ

เกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการมีความสุข และยิ่งเรามีเงินมากเท่าใดเรายิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแย้งความเชื่อนั้น การสำรวจดังกล่าวให้ผู้ร่วมในการสำรวจตอบว่า พวกเขาจะเลือกทางเลือกไหนในระหว่าง 2 ทาง คือทางเลือกแรกสมมุติให้พวกเขามีรายได้ 50,000 เหรียญต่อปี ในขณะที่ผู้อื่นมีรายได้เฉลี่ย 25,000 เหรียญต่อปี และทางเลือกที่สองพวกเขามีรายได้ 100,000 เหรียญต่อปี

ในขณะที่ผู้อื่นมีรายได้เฉลี่ย 250,000 เหรียญต่อปี ผลปรากฏว่าผู้ร่วมในการสำรวจเลือกทางเลือกแรกมากกว่า นั่นหมายความว่า โดยทั่วไปเราให้ความสำคัญกับรายได้ในเชิงเปรียบเทียบมากกว่าตัวเงินจริงที่เราได้รับ และปกติเรามักเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในฐานะพอๆ กับเราหรือคนรอบข้าง หากเราเปรียบเทียบตัวเรากับคนที่มีฐานะสูงกว่าเราจะมีความสุข ลดลง

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าเงินไม่สำคัญ ตรงกันข้ามเงินมีความสำคัญต่อการมีความสุขอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับคนที่มีฐานะยากจน เพราะจำนวนเงินที่เท่ากันมีผลต่อคนรวยและคนจนไม่เท่ากัน เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์อธิบายโดยใช้หลักการลดลงของอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้าย (diminishing marginal utility) นั่นคือการบริโภคสิ่งเดียวกันเพิ่มขึ้นจะทำให้ความพึงพอใจต่อหน่วยท้ายๆ ของสิ่งนั้นลดลง ฉะนั้นการมีเงินเพิ่มมากขึ้นไปจะไม่ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นไปในอัตราเดียวกันด้วย

สุขภาพเป็นปัจจัยที่สองที่มีผลต่อความสุข เรื่องนี้คงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปแล้ว ข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ชี้บ่งว่า มนุษย์มีความอดทนต่อความเจ็บปวดและการป่วยทางจิตได้น้อยกว่าการมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย นั่นหมายความว่าปัญหาเรื่องความเจ็บปวดและปัญหาทางจิตมีผลกระทบต่อความสุขมากกว่าความจำกัดของสภาพร่างกาย

ในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษาในประเทศเยอรมนีซึ่งครอบคลุมเวลานานถึง 20 ปี พบว่าคนที่แต่งงานมีความสุขมากกว่าคนโสด โดยระดับความสุขของคู่แต่งงานจะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนการแต่งงาน และเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดภายในปีแรกของการแต่งงาน หลังจากนั้นระดับความสุขจะเริ่มลดลง อย่างไรก็ตามระดับความสุขนี้ก็ยังคงสูงกว่า 4 ปีก่อนการแต่งงาน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการแต่งงานให้ประโยชน์หลายอย่างต่อคู่สมรส เช่น (1) ความรู้สึกว่ามีคนรักทำให้ระดับฮอร์โมนมีความสมดุลเพิ่มขึ้น (2) ความสะดวกสบายต่างๆ เพิ่มขึ้น เพราะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (3) ฐานะทางเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นเพราะมีทรัพย์สินมากขึ้น และ (4) ความสามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์ที่ดีกว่าทั้งในด้านจำนวนครั้งที่มากกว่าและระดับความพึงพอใจของแต่ละครั้งที่สูงกว่า

ผลการศึกษาถึงระดับการลดลงของความสุขจากการหย่าร้าง พบว่าคู่สมรสจะมีความสุขลดลงโดยปีที่แย่ที่สุดคือปีที่หย่าร้าง แต่ผู้ชายจะกลับไปมีระดับความสุขเท่าเดิมหนึ่งปีหลังการหย่าร้าง ในขณะที่ผู้หญิงจะยังคงทรมานต่อไปอีกหลายปี นอกจากนั้นการหย่ายังส่งผลกระทบต่อเด็กอีกด้วย การศึกษาพบว่ากว่า 70% ของเด็กที่พ่อแม่หย่าร้างจะก่ออาชญากรรมเมื่ออายุเพียง 15 ปี อีกทั้งต้องออกจากโรงเรียนโดยไม่จบการศึกษามากกว่าเด็กทั่วไปถึงสองเท่า แม้ว่าคู่สมรสจะแต่งงานใหม่ก็ไม่ทำให้สถิติเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลต่างๆ ทำให้ผู้เขียนสรุปว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการมีความสุข

งานเป็นปัจจัยที่สี่ที่ส่งผลต่อการมีความสุข โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เราชอบทำงาน เพราะนอกจากงานจะนำมาซึ่งรายได้แล้ว ยังนำมาซึ่งมิตรภาพและความสำเร็จอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การมีงานทำยังเป็นสัญลักษณ์ของการมีส่วนช่วยเหลือสังคม ทำให้เราได้รับการยกย่องนับถือและมีสถานภาพทางสังคม
ฉะนั้นการตกงานจึงเป็นหายนะสำหรับชีวิต เพราะผู้ตกงานจะรู้สึกเสมือนถูกปฏิเสธจากสังคม ส่งผลให้เขาสูญเสียความนับถือตัวเองและมีความสุขลดลง

สังคมที่ดีทำให้คนเรามีความสุข ตัวชี้วัดคุณภาพของสังคมตัวหนึ่ง ได้แก่ ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคม การสำรวจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าประเทศที่คนในชุมชนรู้สึกไว้วางใจกันได้มากที่สุดคือ นอร์เวย์ ส่วนบราซิลเป็นประเทศที่คนในชุมชนเชื่อใจกันน้อยที่สุด

นอกจากนั้นการศึกษายังพบอีกว่าประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วย้ายถิ่นฐานบ่อยกว่าคนในประเทศกำลังพัฒนา การโยกย้ายบ่อยๆ ทำให้คนในชุมชนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันและก่อให้เกิดปัญหาทางจิตจนมีผลทำให้ความสุข ลดลง

อิสรภาพเป็นปัจจัยภายนอกอันดับสุดท้ายที่ส่งผลต่อความสุข อิสรภาพมี 3 มิติด้วยกัน คืออิสรภาพส่วนบุคคล อิสรภาพทางการเมืองและอิสรภาพทางการเงิน
การสำรวจพบว่าประชาชนในประเทศคอมมิวนิสต์มีความสุขน้อยกว่าประชาชนในประเทศประชาธิปไตย และในประเทศเดียวกันผู้ที่มีสิทธิมีเสียงในชุมชนน้อยจะมีความสุขน้อยกว่าคนอื่น


จากคอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์
โดย นภาพร ลิมป์ปิยากร
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2549
หน้า 45





Create Date : 09 สิงหาคม 2549
Last Update : 9 สิงหาคม 2549 15:49:18 น. 2 comments
Counter : 1092 Pageviews.

 
ผลของกระแสไฟฟ้าที่มีต่อร่างกายคืออะไร


โดย: ton IP: 61.7.167.31 วันที่: 16 มิถุนายน 2551 เวลา:9:58:14 น.  

 
อยากรู้จักค่ะ เพราะตอนนี้กำลังดูเรื่องความสุข จะทำวิทยานิพนธ์น่ะค่ะ


โดย: ??? IP: 202.28.180.202 วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:10:09:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมีเซอะ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เหมือนแมวอย่างกะแกะ..!!
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หมีเซอะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.