เช้าวันใหม่ออกไปเดินเที่ยวรอบๆเมือง ที่นี่ทันทีที่ขาเราก้าวลงถนน เราจะถูกเรียกจากบรรดารถรับจ้างที่มีอยู่ทั่วไปในเขตเมือง ในย่านนักท่องเที่ยว รถรับจ้างจะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าเป็นรอบนอก เราอาจต้องใช้ความสามารถพิเศษในการสื่อสารมากหน่อย โดยมาก..รถโดยสารในพนมเปญจะมี 3 อย่าง คือ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง มอเตอร์ไซด์ที่มีการติดตั้งที่นั่งเพิ่มข้างหลังสำหรับนั่งได้หลายๆคน และอีกแบบจะหน้าตาเหมือนซิโคล่ในเวียดนาม ถ้าจะไปเที่ยว Killing Fields หรือในชื่อที่เราคนไทยเรียกกันว่า ทุ่งสังหาร ขอแนะนำให้ใช้รถรับจ้างแบบที่เป็นมอเตอร์ไซด์ที่ต่อที่นั่งให้คนนั่งกันได้เยอะๆจะดีกว่า เพราะค่อนข้างปลอดภัยและหลบแดดได้ดีที่สุด พนมเปญแดดแรงมากๆ เราอยู่แค่ 4 วัน คนเขมรยังแซวเลยว่าเริ่มเหมือนคนที่นั่นแล้ว


ตื่นมาก็สายมากๆแล้ว ที่นี่คนท้องถิ่นจะพักเที่ยงตั้งแต่ 11.00 น. - 13.00 น. แต่ตามพิพิธภัณฑ์จะพักเที่ยง 11.00 น.-14.00 น. ดังนั้นวันนี้เราจึงวางแผนการเดินทางไว้ที่ ไปเที่ยวทุ่งสังหาร แล้วกลับมาพิพิธภัณฑ์ Tuol Sleng หรือ พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แล้วก็กลับมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์สถาณแห่งชาติ และไปต่อที่วัดพระแก้วของพนมเปญ  เพราะความงกที่ไม่อยากใช้รถรับจ้างแถวๆที่พัก กลัวหัวแบะเลยทำให้เดินออกมาจากเขตนักท่องเที่ยวมาไกลพอสมควรและต่อรองราคากับมอเตอร์ไซด์รับจ้างคันหนึ่ง พยายามเลือกคนที่ดูแล้วซื่อๆที่สุดไว้ก่อน เค้าพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้แต่ก็แวะหยุดไปถามกับกลุ่มรถรับจ้างอีกครั้งให้มั่นใจว่าเรากับคนขับเข้าใจตรงกันว่าจะไปไหน ต่อรองกันจาก 10 ดอลล่าร์เหลือ 7 ดอลล่าร์ ไปทุ่งสังหาร พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และมาจบที่พิพิธภัณฑ์สถาณแห่งชาติ จากนั้นเราจะเดินเที่ยวต่อเอง


ปรากฏว่าน้องคนขับพาหลงมาเข้าที่วัดแห่งหนึ่งก่อนทุ่งสังหาร เนื่องจากเค้าไม่ใช่มอเตอร์ไซด์ที่หากินกับนักท่องเที่ยว เราก็เลยพอเข้าใจ แต่ระยะทางประมาณ 2 กิโลจากจุดที่หลงไปจนถึงทุ่งสังหาร จะเป็นท้องนาและเป็นทางลัดไม่ใช่ถนนใหญ่ ทำให้เกิดอาการเสียววูบอยู่เหมือนกันว่าอิชั้นจะถึงที่หมายหรือจะโดนพาไปชิงทรัพย์หว่า ไม่น่างกเลยชั้น Smiley แต่ก็ใจชื้นขึ้นทันทีเมื่อเห็นยอดสูงของอนุสรณ์สถานอยู่ข้างหน้าอีกไม่ไกล



อนุสรณ์สถาน "ทุ่งสังหาร" ที่เจืองแอ็ก Choueng Ek ใน จ.กันดาล Kandal นอกกรุงพนมเปญ หลุมศพหมู่ยังปรากฏเรียงรายให้เห็นอยู่ นักโทษจำนวนมากถูกส่งไปจากตวลสะเลงและถูกสังหารที่นี่ด้วยวิธีการต่างๆ นานา ทุ่งสังหารเป็นตำนานแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์มนุษย์ บ้างก็ถูกกลบฝังทั้งเป็น ณ ทุ่งแห่งนี้นับจำนวนมหาศาล บทบันทึกความเลวร้ายที่ปรากฎในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างป่าเถื่อนทารุณ




โศกนาฏกรรม "กัมพูชา" ช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจหลังจากยึดกรุงพนมเปญได้ในปี 2518 ทั่วทั้งแผ่นดินแดงฉานด้วยเลือดประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อความโหดเหี้ยม


ย้อนอดีตหลายศตวรรษให้หลังมหาอาณาจักรอันเกรียงไกร ประวัติศาสตร์กัมพูชายุคใหม่เริ่มต้นเมื่อได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ตามข้อตกลงเจนีวาระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศสเมื่อพ.ศ.2497 สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุปกครองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งผลกระทบของสงครามเย็นทำให้กัมพูชาในช่วงปี 2508 สภาพเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำเสื่อมโทรมถึงขีดสุด เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและการเดินขบวนประท้วงรัฐของนักศึกษาประชาชน


เดือนเมษายน 2510 ชาวบ้านและชาวนาในอำเภอซัมโลต์ จังหวัดพระตะบองก่อการจลาจล รัฐบาลส่งทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนซึ่งถูกรวมเรียกเป็นฝ่ายซ้ายหลบหนีเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่ตั้งฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่ป่าเขา


ต่อมาเดือนมีนาคม 2513 นายพลลอน นอล ทำการรัฐประหารก่อนกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือเขมรแดง Khmer Rouge มีเวียดกงเป็นพันธมิตรเข้ายึดอำนาจปกครองกัมพูชาได้เบ็ดเสร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 นักประวัติศาสตร์หลายคนกล่าวว่า สงครามในกัมพูชาเป็นผลพวงจากสงครามที่คอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือต่อสู่กับกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนาม แต่สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาหรือเขมรแดงในอดีต มันเป็นสงครามปลดปล่อยประเทศชาติเพื่อก่อตั้งระบอบใหม่ สถาปนาสังคมใหม่ที่ปราศจากการกดขี่ขูดรีด


เมื่อ "ทหารชุดดำ" จากเขตชนบทยาตราเข้าสู่พนมเปญในวันที่ 17 เม.ย.2518 ชาวเมืองหลวงได้ให้การต้อนรับ "ทหารป่า" พวกนั้นด้วยการสวมกอด หวังว่านั่นจะเป็นการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนามาข้ามทศวรรษ โดยไม่ทราบว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของฝันร้ายที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า



แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากยึดครองกรุงพนมเปญได้เบ็ดเสร็จ สหายโปลโป้ท Pol Pot หรือ "พล พต" ซึ่งมีชื่อจริงว่า "สโลตสาร" Slot Sar ก็ได้เริ่มนำประเทศเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "ปีแห่งความมืดมิด" Year of Zero ที่ภายนอกรับรู้ความเป็นไปในประเทศนี้น้อยมาก กัมพูชาระหว่างปี 2518-2522 อยู่ภายใต้อำนาจของนายพล พต ผู้นำกลุ่มเขมรแดง ผู้โค่นล้มรัฐบาลลอน นอล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ประเทศตกอยู่ในความรุนแรงสุดขั้ว 


พล พต คลั่งลัทธิซ้ายสุดๆ เค้าเชื่อว่าระบบสังคมนิยมจะนำกัมพูชาสู่ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนในอดีตได้ เพื่อปรับปรุงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งตนเอง ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอกประเทศ และไม่ยอมเป็นพันธมิตรกับชาติใดๆ โดดเดี่ยวประเทศออกจากอิทธิพลของต่างชาติ ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ยกเลิกระบบธนาคาร ระบบเงินตรา ยึดทรัพย์สินจากเอกชนทั้งหมด รัฐบาลใหม่ได้ประกาศห้ามใช้เงินอันเป็นสัญลักษณ์ระบอบทุนนิยม พลพรรคเขมรแดงระเบิดที่ทำการธนาคารแห่งชาติทิ้ง มีการนำรถยนต์ไปกองพะเนินไว้ที่ท่าอากาศยานเนื่องจากนั่นเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้า โดยประเทศควรจะอยู่อย่างสันโดษ ไม่ต้องเพิ่งวิทยาการเทคโนโลยีใดๆ ขอให้มีข้าวกินก็อยู่ได้ เขาจึงกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิด นักศึกษาปัญญาชน แพทย์ วิศวกร นักปราชญ์ ศิลปิน 


เล่ากันว่าคนใส่แว่นสายตาที่ดูเหมือนมีความรู้ เป็นภัยต่อความมั่นคง ปกครองยาก จะถูกฆ่าอย่างไร้เหตุผล เค้าต้องการให้กัมพูชามีแต่ชนชั้นกรรมาชีพ จากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิต เขมรแดงจะสังหารทุกคนที่สวมแว่นสายตาหรือพูดภาษาต่างประเทศได้ รวมทั้งพวกที่มืออันนิ่มบางก็ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก "ปัญญาชน" และ "พวกชนชั้นกลาง" ซึ่งเป็นศัตรูกับการปฏิวัติของชาวนา Peasant Revolution ของพล พต




อีกคำอธิบายหนึ่ง ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่นำโดยพลพต หวาดระแวงต่างชาติ ทั้งเกรงการหวนกลับของฝ่ายที่มีตะวันตกสนับสนุน ทั้งหวาดเกรงเวียดนามที่มีท่าทีต้องการครอบงำกัมพูชามาตลอด กลายเป็นความพยายามพึ่งตนเองอย่างสุดขั้ว เมื่อเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ ประชาชนพลเมืองถูกหลอกออกจากเมืองไปยังชนบทกันดาร พล พตต้องการเปลี่ยนให้ชาวกัมพูชากลับไปเป็นชนดั้งเดิม ใช้แรงงานเพื่อการเกษตร เมื่อเกิดสภาพขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะข้าว ทำให้เกิดการกะเกณฑ์ประชาชนลงใช้แรงงานทำนาข้าว

เขมรแดงได้เริ่มขับไล่ผู้คนออกจากพนมเปญและเมืองใหญ่ทั่วไปลงสู่การผลิต โดยไม่ใช้เทคโนโลยี ซึ่งอาจนำไปสู่การพึ่งพาต่างชาติ ทุกคนต้องเป็นชาวนาชาวไร่ทุกคนจะต้องออกไปผลิตอาหาร อาศัยอยู่ในค่ายแรงงาน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก และไม่มีอาหารเพียงพอ 




4 ปี ผู้คนล้มตายนับล้าน ทั้งอดอยาก ทั้งถูกทารุณกรรม ถูกฆ่ายิ่งมหาศาล "ทุ่งสังหาร" อุบัติขึ้นเวลานั้น นโยบายหนึ่งที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าป็นผักปลาคือเขมรแดงต้องการให้กัมพูชาเป็นประเทศที่มีคนแค่เชื้อสายเดียวคือเชื้อสายกัมพูชา ชนกลุ่มน้อยอย่างชาวเวียดนาม และชาวจีนจึงถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงคนเขมรด้วยกันเอง 



ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.5-2 ล้านคน เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดของศตวรรษที่ 20 ตัวเลขบางสำนักกล่าวว่าประชากรในเมืองหลวงที่มีอยู่ราว 2 ล้านคนในปีนั้นในเวลาเพียง 3 วันเหลืออยู่เพียงประมาณ 25,000 คน



ทุ่งสังหาร The killing fields ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ 
ประชาชนกว่าหนึ่งล้านเจ็ดแสนคนต้องสังเวยชีวิต ณ.ที่แห่งนี้ 
พร้อมๆกับบันทึกชื่อของ พล พต ฮิตเลอร์แห่งกัมพูชา



ภาพของทุ่งสังหารในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตพอสมควร แต่ก็ยังมีร่องรอยของพื้นดินที่เคยถูกขุดเป็นหลุมไว้มากมาย ผู้เข้ามาเยี่ยมชมควรมีความสำรวมและเคารพสถานที่ ตามบริเวณต่างๆจะมีป้ายขอให้ผู้มาเยือนอยู่ในความสงบไม่สงเสียงดังเพื่อเป็นการให้ความเคารพกับผู้เสียชีวิต


หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องให้รายละเอียดกับสถานที่เหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะก่อนการเดินทางมาพนมเปญ เราได้หาข้อมูลและศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศเค้ามาพอสมควร จึงได้เข้าใจความเป็นไปของประเทศนี้และเข้าใจผู้คนมากขึ้น ในบางครั้งการเดินทางไปสถานที่ที่มีประวัติและความเป็นมาที่ยาวนาน หากได้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ก็ย่อมจะบรรลุถึงคำว่าการท่องเที่ยวที่แท้จริง



ค่าเข้าชมสถานที่ 3 ดอลล่าร์ต่อคน ไม่มีเวลาพักกลางวัน ที่จุดชำระค่าเข้าชมมีบริการไกด์บรรยายสถานที่ด้วย แต่เรื่องค่าบริการอาจต้องสอบถามว่าอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ คุ้นๆว่าแล้วแต่น้ำใจของผู้ไปเยือน ยังไงก็สอบถามกันก่อนดีกว่าค่ะ