นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
โทษของการดื่มสุรา

การดื่มสุราเมรัย
อนุโลมเข้าในกาเมสุมิจฉาจารและอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้


การเสพสุราที่เรียกว่าสุราปานะนั้น ได้แก่ เจตนาที่เป็นเหตุแห่งการดื่มสุรานั้น สุราปานะนี้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้เป็นศีลข้อหนึ่งในจำนวนศีล ๕ และได้ทรงแสดงโทษอย่างหนักของการดื่มสุราไว้ในพระบาลีอังคุตตรนิกายว่า

“สุราเมรยปานํ ภิกฺขเว อเสวิตํ ภาวิตํ พหุลีกตํ
นิรยสํวตฺตนิกํ ติรจุฉานโยนิสํวตฺตนิกํ เปตฺติวิสํวตฺตนิกํ,
โย จ สพฺพลหุโก สุราเมรยปานสฺส วิปาโก โส มนุสฺสภูตสฺส
อุมฺมตฺตกสํวตฺตนิโก โหติ”


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การดื่มสุราและน้ำเมาต่างนี้ เมื่อ
ดื่มเสมอๆ ดื่มมากๆเข้า ดื่มหลายๆครั้งเข้า ย่อมสามารถนำไป
สู่นิรยภูมิ ดิรัจฉาน เปตติภูมิ โทษของการดื่มสุราเมรัยอย่างเบา
ที่สุดนั้น เมื่อมีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์ด้วยกุศลกรรมอื่นๆผู้นั้น
ก็ย่อมเป็นคนบ้า”

แต่ทำไมการดื่มสุราเมรัยนี้จึงไม่จัดเข้าอยู่ในอกุศลกรรมบถ ๑๐

อธิบายว่า การดื่มสุราเมรัยนี้ถ้าผู้ดื่มไม่ได้กระทำทุจริตทางกาย วาจา ใจ แต่ประการใด เป็นแต่ดื่มเพื่อความพอใจและสนุกสนานเท่านั้น ก็เท่ากับมีความพอใจในกามคุณ คือรสารมณ์ เช่นเดียวกับผู้ประพฤติผิดกาเม เพราะผู้ประพฤติผิดกาเมนั้นย่อมมีควาวมยินดีในกามคุณ คือโผฏฐัพพารมณ์ที่เกี่ยวกับการเสพสุรา และการประพฤติผิดกาเมนี้ ก็เป็นตัวกามคุณอารมณ์อยู่แล้ว ฉะนั้น ผู้ดื่มสุราที่ยังไม่ได้ กระทำทุจริตก็สงเคราะห์เข้าในข้อกาเมสุมิจฉาจารได้ ซึ่งมีความหมายว่า ประพฤติผิดในกามคุณอารมณ์ (กาเมสุ + มิจฺฉาจาโร) และการดื่มสุรานี้เป็นเหตุก่อให้กระทำทุจริตทุกๆอย่างได้ แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นคนที่รู้จักและอาย รู้จักกลัวต่อการกระทำไม่ดีต่างๆก็ตาม แต่ถ้าได้ดื่มสุราเข้าไปจนเกิดความมึนเมาแล้ว ที่เคยละอายก็ไม่ละอายที่เคยกลัวก็ไม่กลัว ที่เคยเกราก็ไม่เกรง ย่อมสามารถกระทำทุจริตต่างๆ นานาได้ด้วยอำนาจของสุรานั้น ฉะนั้นผู้ดื่มสุราเมื่อกระทำทุจริตในข้อใดก็ย่อมสงเคราะห์เข้าในอกุศลกรรมบถข้อนั้น สำเร็จในตัวอยู่แล้ว เช่น ดื่มสุราแล้วฆ่าสัตว์ก็สงเคราะห์เข้าในปาณาติบาต ถ้าพูดปกติก็สงเคราะห์เข้าในมุสาวาท ถ้าคิดจะเอาของผู้อื่นเข้ามาเป็นของตัวโดยไม่ชอบธรรมก็สงเคราะห์เข้าในอภิชฌา ดังนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้พุทธองค์จึงไม่ได้ทรงแสดงโดยเฉพาะ ในอกุศลกรรมบถ ดังนั้นท่านพระอนันทเถระจึงแสดงไว้ในมูลฏีกาว่า

“ตสฺส สภาคตฺเตน มิจฺฉาจาเร, อุปการกตฺเตน ทสสุปิ
กมฺมปเถสุ อนุปฺปเวโส โหติ”


“การดื่มสุรานี้อนุโลมเข้าในกาเมสุมิจฉาจาร เพราะมีสภาพ
เหมือนกับกาเมสุมิจฉาจาร และอนุโลมเข้าในอกุศลกรรมบถ ๑๐
ด้วย เพราะเป็นการช่วยอุปการะให้กุศลกรรมบถ ๑๐ สำเร็จลง”

ในวิภาวนีฏีกา และปฏิสัมภิทามรรคฏีกา ก็ได้กล่าวไว้ว่า

“สุราปานํปิ เอตฺเถว สงฺคยฺหตีติ วทนฺติ รสสงฺขาเตสุ
กาเมสุมิจฺฉาจารภาวโต”


“อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า การดื่มสุราก็สงเคราะห์เข้า
ในกาเมสุมิจฉาจาร เพราะมีการประพฤติผิดในกามคุณ คือ
รสารมณ์”

“สุราปานํ หิ มทสฺส ปจฺจโย, มโท อปฺญฺญปถสฺส โหติ”

“การดื่มสุราเป็นเหตุแห่งความเมา ความเมานี้เป็นเหตุแห่งการ
กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐”



อนึ่งการดื่มสุรานี้กระทำให้สำเร็จกิจได้ ๒ อย่าง

๑. ปฏิสนธิชนนกิจ กิจที่ทำให้เกิดในนิรยภูมิ
๒. กัมมชนกิจ กิจที่ทำให้หารกระทำทุจริตสำเร็จลง

ในกิจทั้ง ๒ อย่างนี้ กัมมชนนกิจมีกำลังแรงกว่าปฏิสนธิชนนกิจ และมีการกระตุ้นชักชวนให้กระทำในทุจริตทุราชีพต่างๆ ดังนั้น ในพระบาลีที่แสดงในกุมภชาดกได้กล่าวถึงเหตุให้ไปสู่นิรยภูมิโดยการกระทำทุจริตอันเป็นกัมมชนนกิจว่า

ยํ เว ปิวิตฺวา ทุจฺจริตํ จรนฺติ
กาเยน วาจาย จ เจตสา จ
นิรยํ วชนฺติ ทุจฺจริตํ จริตฺวา
ตสฺสา ปุณฺณํ กุมฺภมิมํ กิณาถ ฯ


“ท่านทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่ได้ดื่มสุราแล้ว ย่อมกระทำ
ทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ อย่างแน่นอน เมื่อได้กระทำทุจริตแล้ว
ชนเหล่านี้ย่อมไปเกิดในนิรยภูมิอย่างไม่ต้องสงสัย ขอท่าน
ทั้งหลายจงซื้อหม้อที่บริบูรณ์ด้วยน้ำสุราอันมีโทษต่างๆดังกล่าวแล้ว”

(คาถานี้เป็นคำกล่าวของพระอินทร์ที่แปลงตัวเป็นพ่อค้าขายสุราลงมามนุษย์โลก แล้วกล่าวพรรณนาสรรพคุณของสุรา)

สำหรับปฏิสนธิชนนกิจของการดื่มสุรานั้น มุ่งหมายเอาปุพพเจตนา คือเจตนาที่เกิดก่อนการกระทำทุจริตทุราชีพ ได้แก่ การกระตุ้นชักชวนให้กระทำทุจริตอันเนื่องมาจากการดื่มสุรานั้นเอง แต่ก็เป็นข้อที่ไม่แน่นอน คือถ้าผู้ที่มีการกระตุ้นชักชวนให้กระทำทุจริตเกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้นั้นมิได้กระทำทุจริตลงไป ก็เป็นอันว่าปุพพเจตนานั้นไม่สามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ ถ้าผู้ดื่มสุราแล้วกระทำทุจริตไปตามอำนาจของการกระตุ้นชักชวนที่เป็นปุพพเจตนาแล้ว ปุพพเจตนานั้นก็สามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ตั้งแต่ภพที่ ๓ เป็นต้นไป หมายความว่าการดื่มสุรานี้ ถ้าปฏิสนธิชนนกิจสำเร็จลงก็จัดว่าล่วงอกุศลกรรมบถ ถ้าปฏิสนธิชนนกิจไม่สำเร็จก็ไม่จัดว่าล่วงอกุศลกรรมบถเป็นการไม่แน่นอน ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงไม่ทรงจัดเอาการดื่มสุราเข้าอยู่ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ดังที่ในปฏิสัมภิทามรรคอรรถกถาและฏีกาแสดงไว้ว่า

“กุสลากุสลาปิ จ ปฏิสนฺธิชนกาเยว กมฺมปถาติ วุตฺตา,
วุตฺตาวเสสา ปฏิสนฺธิชนเน อเนกนฺติกตฺตา กมฺมปถาติ น
วุตฺตา”
(อรรถกถา)

“วุตฺตาวเสสาติ สุราปานาทโย ตพฺพิรมฺมณาทโย จ”
(ฏีกา)

“กุศล คือกายสุจริตเป็นต้น และอกุศล มีกายทุจริตเป็น
ต้น ที่ให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นเท่านั้น พึงกล่าวได้ว่าเป็นกุศลและ
อกุศลกรรมบถ กุศล คือการเว้นจากการดื่มสุราเป็นต้น และ
อกุศลคือการดื่มสุราเป็นต้น ที่เหลือเหล่านั้นไม่ได้กล่าวว่าเป็นกุศล
และอกุศลกรรมบถ เพราะกรรมเหล่านี้เป็นกรรมที่ไม่แน่นอนใน
การส่งผลปฏิสนธิ”

คำว่า วุตฺตาวเสสา นั้น ได้แก่ การดื่มสุรา สูบฝิ่น เล่น
การพนัน ดูมหรสพ เล่นมหรสพ เป็นต้น และการเว้นจากการ
ดื่มสุรา เว้นสูบฝิ่น เว้นจากการเล่นการพนัน เว้นจากการดูการ
เล่นมหรสพต่างๆ เป็นต้น”

อนึ่ง ในพระบาลีปาจิตติย์ และอรรถกถาแสดงว่า

“สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ”

การดื่มสุราและเมรัยเป็นอาบัติปาจิตตีย์


“อจิตฺตกํ โลกวชฺชํ อกุสลจิตฺตํ, มชฺชปานํ สามเณรานํ
ปาราชิกวตฺถุ”


การดื่มสุราของภิกษุนั้น จะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตามย่อมเป็น
อาบัติปาจิตตีย์ และมีโทษในทางโลกเกี่ยวด้วยอกุศลจิต การดื่ม
สุราของสามเณร ถ้ารู้ว่าเป็นสุราก็มีโทษถึงปาราชิก คือขาดจาก
ความเป็นสามเณร”


การดื่มสุราของบุคคลทั้งหลายนั้น มี ๔ ประเภท คือ

๑. ดื่มสุรา ที่ผสมอยู่ในยาหรือในอาหาร
๒. ดื่มสุรา ล้วนๆนึกว่าเป็นยา
๓. ดื่มสุรา เพราะชอบ
๔. ดื่มสุรา เพื่อให้ใจกล้าในการกระทำทุจริต

การดื่มสุราประเภท ๑ และ ๒ นั้น มีโทษเบา เพราะมีเจตนาจะรักษาโรคแต่ ประเภทที่ ๒ นั้น ถ้าเป็นพระภิกษุก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเป็นฆราวาสก็ศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลประจำตัวของฆราวาสขาด ถ้าถือศีล ๘ ก็ศีล ๘ ขาด ถ้าเป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ ขาด ดังนั้นผู้ที่ตั้งใจจะประพฤติตนอยู่ในศีลแล้วจึงไม่ควรดื่มสุรา การดื่มสุราประเภทที่ ๓นั้น มีโทษหนัก เพราะเป็นผู้ประพฤติผิด (มิจฉาจาร) ในรสารมณ์ที่เป็นกามคุณโทษหนักแค่ไหนนั้น ผู้อื่นย่อมรู้ไม่ได้นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว และผู้ที่ชอบดื่มสุรานี้เมื่อดื่ม ๑ ครั้งหรือ ๒ ครั้งแล้ว จะหยุดไม่ดื่มอีกเป็นไปไม่ได้ ต้องอยากดื่มเรื่อยๆไปไม่มีที่สิ้นสุด สมดังพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระบาลีอังคุตตรนิกายว่า

“ติณฺณํ ภิกขฺเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ กตเมสํ ติณฺณํ?
โสปฺปสฺส ภิกฺขเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, สุราเมรยปานสฺส
ภิกฺขเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, เมถุนธมฺมสมาปตฺติยา ภิกฺขเว
ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, อิเมสํ ภิกฺขเว ติณฺณํ ปฏิเสวนาย
นตฺถิ ติตฺตีติ”


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเสพที่ไม่มีการอิ่มนั้น ๓ อย่าง
๓ อย่างนั้นคืออะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่อิ่มในการนอน
อย่างหนึ่ง ความไม่อิ่มในการดื่มสุราเมรัยอย่างหนึ่ง ความไม่อิ่ม
ในการเสพเมถุนธรรมอย่างหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่อิ่ม
ในการเสพ ๓ อย่างนั้นมีดังกล่าวนี้”

การดื่มสุราย่อมทำให้เกิดความเสื่อมเสียมาก อย่าว่าแต่คนสามัญเลย แม้แต่ผู้ที่มีคุณธรรมพิเศษ เมื่อได้ดื่มสุราเข้าไปแล้วก็ทำให้เกิดความเสื่อมเสียมรรยาทเป็นที่น่าละอายพร้อมทั้งคุณธรรมที่มีอยู่ก็เสื่อมสิ้นไปด้วย ดังเช่นในสมัยพุทธกาลพระสาคตเถระเป็นปุถุชน ที่ได้อภิญญาเก่งกล้ามาก วันหนึ่งชนชาวโกสัมพีได้ข่าวว่า พระสาคตเถระได้ชัยชนะต่อพญานาคในการประลองฤทธิ์แก่กัน ดังนั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงเกิดความเลื่อมใสยินดีกันเป็นอันมาก เมื่อพระสาคตเถระมาบิณฑบาตจึงพากันนำเอาอาหารมาถวาย และบางคนได้นำเอาสุรามาถวายด้วย พระสาคตเถระก็ดื่มสุรานั้นแล้วเกิดความมึนเมา เมื่อกลับจากบิณฑบาตเดินมาถึงปรูเมืองก็เดินต่อไปไม่ได้ ล้มฟุบอยู่ตรงหน้าประตูเมืองนั่นเอง ฌานอภิญญาที่ได้ไว้ก็เสื่อมหมด ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับจากบิณฑบาต พร้อมด้วยพระภิกษุที่ตามเสด็จ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระสาคตเถระนอนอยู่ก็ได้รับสั่งให้พระภิกษุเหล่านั้นช่วยกันพยุงพระสาคตเถระไปจนถึงวัด แล้วให้นำตัวมาที่เบื้องหน้าชองพระองค์ พระภิกษุเหล่านั้นก็ช่วยกันจับตัวพระสาคตเถระให้นอนหันศีรษะไปทางที่พระพุทธองค์ประทับ แต่พระสาคตเถระกำลังมึนเมาไม่มีสติก็กลับหมุนตัวหันเท้าไปทางพระองค์ซึ่งเป็นการแสดงอคารวะต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นอีกข้อหนึ่ง ห้ามมิให้พระภิกษุดื่มสุราเมรัย ถ้าดื่มต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์

การดื่มสุราประเภทที่ ๔ จัดเป็นปุพเจตนา ที่มีสภาพกระตุ้นชักชวนให้การกระทำทุจริตที่เป็นมุญจเจตนาให้เกิดขึ้น ฉะนั้นการดื่มสุราประเภทที่ ๔ นี้จึงสามารถนำให้ผู้นั้นไปสู่อบายภูมิได้

ความหมายและประเภทของสุราเมรัย

สุรํ ชเนตีติ สุรา
สิ่งใดย่อมทำให้ผู้นั้นกล้า ฉะนั้น สิ่งนั้น ชื่อว่าสุรา


สุรา ๕ ประเภท
๑. ปิฏฐสุรา สุราที่ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า
๒. ปูปสุรา สุราที่ทำด้วยขนม เช่น ข้าวหมาก
๓. โอทนสุรา สุราที่ทำด้วยข้าวสุก
๔. กิณฺณปกฺขิตฺตสุรา สุราที่ทำด้วยแป้งเชื้อรา
๕. สมฺภารสํยุตฺตสุรา สุราที่ทำด้วยผลไม้ เช่น องุ่น



เมทํ ชเนตีติ เมรยํ
“สิ่งใดย่อมทำให้มึนเมา ฉะนั้น สิ่งนั้น ชื่อว่า เมรัย”

เมรัย ๕ ประเภท

๑. ปุปฺผาสว เมรัยที่เอาดอกไม้ต่างๆมาหมักไว้
๒. ผลาสว เมรัยที่เอาผลไม้ต่างๆมาหมักไว้
๓. มธวาสว เมรัยที่เอาผลองุ่นมาหมักไว้
๔. คุฬาสว เมรัยที่เอาน้ำอ้อย น้ำตาลมาหมักไว้
๕. สมฺภารสํยุตฺตาสว เมรัยที่เอามะขามป้อม สมอมาหมักไว้

สุราเมรัยทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ามัชชะก็ได้ เพราะเป็นเหตุทำให้ผู้ดื่มมึนเมา หรืออีกนัยหนึ่ง ฝิ่น กัญชา เป็นต้น ที่นอกจากสุราและเมรัย ได้ชื่อว่ามัชชะ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เสพมึนซึม ดังที่แสดงไว้ในขุททกปาฐอรรถกถาและมหาวรรคสังยุตตอรรถกถา

“มชฺชนฺติ ตเทว อุภยํ, ยํ วาปนญฺญมฺปิ สุราสววินิมุตฺตํ มทฺทนิยํ”

ชื่อว่ามัชชะ ก็ได้แก่สุรา และเมรัยนั้นเอง หรืออีกนัยหนึ่งว่า
สิ่งใดที่นอกจากสุราและเมรัย ซึ่งสามารถทำให้ผู้เสพมึนซึมได้ สิ่งนั้นชื่อว่า มัชชะ”


องค์แห่งการดื่มสุราเมรัย ๔ อย่าง

๑. สุราเมรยภาโว สิ่งที่เป็นสุราและเมรัย
๒. ปิวิตุกามตา มีความประสงค์จะดื่ม
๓. ปิวนํ ทำการดื่ม
๔. มชฺชนํ มีอาการมึนเมา



อนึ่ง ในสุตตนิบาตอรรถกถา แสดงถึงโทษแห่งการดื่มสุราว่า

“ยสฺมา ปน มชฺชปายี อตฺถํ น ชานาติ, ธมฺมํ น ชานาติ,
มาตุปิ อนฺตรายํ กโรติ, ปิตุปิ พุ?ธปจฺเจกพุทฺตถาคต-
สาวกานมฺปิ อนฺตรายํ กโรติ, ทิฏฐธมฺเม จ ครหํ สมฺปราเย จ
ทุคคตึ อปราปปริยาเย อุมฺมาทํ ปาปุณาติ”


“ผู้ที่ดื่มสุราอยู่เป็นนิจ ย่อมไม่รู้จักผล ไม่รู้จักเหตุ ย่อมทำ
อันตรายแก่ทรัพย์หรือชีวิตร่างกายของมารดา บิดา พระสัมมา
สัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ใน
ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ย่อมได้รับคำครหาจากบัณฑิตและ
สัปบุรุษทั้งหลาย เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่ทุคติภูมิ
สำหรับในภพที่ ๓ เป็นต้นไปนั้นย่อมเป็นผู้ที่มีสติฟั่นเฟือน
วิกลจริต”


ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พระมหาพุทธโฆษาจารย์จึงได้วินิจฉัยโทษของการดื่มสุราไว้ว่า

“อปิเจตฺถ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานเมว มหาสาวชฺชํ
น ตถา ปาณาติปาตาทโย กสุมา มนุสฺสภูตสฺสปิ อุมฺมตฺตก-
ภาวสํวตฺตเนน อริยธมฺมนฺตราย กรณโต”


“เมื่อกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ในศีลทั้ง ๕ นั้น การดื่ม
สุราเมรัยที่เป็นเหตุแห่งความประมาท ย่อมมีโทษมาก ส่วนศีล
๔ ข้อมีปาณาติบาตเป็นต้นเหล่านี้ไม่มีโทษมากเหมือนการดื่มสุรา
เมรัย เพราะการดื่มสุราเมรัยนี้ย่อมกระทำให้ผู้นั้นเป็นบ้าอันเป็น
อันตรายต่อมรรค ผล”

การดื่มสุรานี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะบุคคลที่กระทำทุจริตต่างๆที่ผิดกฎหมายก็ตาม ที่ปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็เนื่องมาจากสุราเป็นเหตุเป็นส่วนมาก แต่บุคคลโดยมากนิยมการดื่มสุรา ฉะนั้น จึงมองไม่เห็นโทษ หรือแม้ว่าจะเห็นโทษ แต่ก็ไม่อาจกล่าวแสดงโทษของการดื่มสุราให้ปรากฏได้ เพราะตนเองก็ชอบดื่มอยู่แล้ว หรือถ้าตนเองไม่ดื่ม ญาติพี่น้องของตนชอบดื่มจึงทำให้เกิดความเกรงใจไม่อาจว่ากล่าวได้ ด้วยเหตุนี้สัปบุรุษทั้งหลายจึงเปรียบเทียบสุรานี้เหมือนกับหัวหน้าโจร ที่ใช้ลูกน้องให้ไปทำการทุจริตต่างๆ ตนเองเป็นผู้บงการและถ้าลูกน้องถูกจับได้ ผลจะปรากฏว่าลูกน้องผู้กระทำนั้นตกเป็นจำเลยที่ ๑ หัวหน้าโจรตกเป็นจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฉันใดผู้ดื่มสุราแล้วกระทำทุจริตผลที่ได้รับก็คือผู้นั้นย่อมไปเกิดในอบายภูมิในการที่ได้ไปเกิดในอบายภูมินี้ เจตนาที่เกี่ยวกับการกระทำทุจริตของผู้นั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นจำเลยที่ ๑ เจตนาที่เกี่ยวกับการดื่มสุราย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นจำเลยที่ ๒ ฉันนั้น

การอธิบายการเมสุมิจฉาจาร จบ

(ที่มา ปรมัตถโชติก มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหะ เล่ม ๒)




Create Date : 18 กันยายน 2555
Last Update : 10 กันยายน 2556 5:27:34 น. 0 comments
Counter : 2768 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.