"ข้าพเจ้าไม่ขอพบเจอกับคนพาล เพราะคนพาลย่อมแนะนำในสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ ย่อมชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำคนพาลถึงจะแนะนำดีเขาก็โกรธ" (กฤษฏ์ ธรรมกฤตกรณ์)

รูปพรหม ๑๖

พรหมโลก



ผู้ที่จะมาเกิดในพรหมโลกนี้ จะต้องเป็นผู้เจริญสมถภาวนาจนได้ รูปฌาน เมื่อตายลงขณะฌานยังไม่เสื่อมจะบังเกิดในรูปพรหมภูมิ ส่วนจะอยู่ชั้นใดนั้นขึ้นอยู่กับระดับฌานที่ตนได้

พรหม มีอายุยืนนาน มีความสุขอันประณีต กำลังร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใส มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกายสว่างสวยงาม

พรหมมิได้มี ๔ มือ ๔ หน้า อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน รูปร่างของพรหมทุกชั้นจะไม่ปรากฏว่าเป็นหญิงหรือชาย เพราะพรหมไม่มีกามฉันทนิวรณ์อย่างหยาบ แม้ตั้งแต่ในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็ข่มได้อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดียังมีรูปร่างคล้ายชายมากกว่า

ความเป็นอยู่ของพรหมแต่ละองค์ อยู่ด้วยการเจริญพรหมวิหาร ๔ บางองค์เข้าฌานสมาบัติ สำหรับรูปพรหมที่เป็นอริยะนั้นเข้าผลสมาบัติ

พรหมไม่จำเป็นต้องเสวยอาหาร เพราะมีปีติเป็นอาหารแทนอยู่แล้ว มีพรหมสมบัติวิจิตร เช่น วิมาน รูปร่าง อุทยานสวนดอกไม้ สระโบกขรณี และเครื่องประดับ ของใช้ของรูปพรหมทั้งหลายนั้น มีความสวยงามประณีตกว่าในชั้นเทวโลก

รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น แบ่งย่อยออกเป็นภูมิชั้นต่าง ๆ ดังนี้

ปฐมฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย

๑. พรหมปาริสัชชาภูมิ
พรหมปาริสัชชา เป็นพรหมธรรมดาสามัญ ไม่มีอำนาจพิเศษอันใด เป็นบริวารของท้าวมหาพรหม

๒. พรหมปุโรหิตาภูมิ
พรหมปุโรหิตา เป็นพรหมปุโรหิตของมหาพรหม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา และอยู่ในตำแหน่งผู้นำในกิจการทั้งหลายของมหาพรหม

๓. มหาพรหมาภูมิ
มหาพรหม คือพรหมที่เป็นใหญ่ ยิ่งกว่าพรหมปาริสัชชาและพรหมปุโรหิตา

ปฐมฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่กลางอากาศในพื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของมหาพรหม ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของปุโรหิตะพรหม และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของปาริสัชชะพรหม

มหาพรหมที่เป็นใหญ่อยู่ในชั้นปฐมฌานภูมิ ๓ นั้น มีอยู่องค์เดียว เมื่อเวลาโลกถูกทำลายด้วย ไฟ น้ำ หรือลมก็ดี ปฐมฌานภูมินี้จะถูกทำลายลงด้วยทุกครั้ง เมื่อเวลาโลกเกิดขึ้นใหม่ ชั้นปฐมฌานภูมิก็มีมหาพรหมองค์เดียวเกิดขึ้นก่อน ส่วนพรหมปุโรหิตะ และปาริสัชชะ เกิดตามมาในภายหลัง

ทุติยฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย

๔. ปริตตาภาภูมิ
ปริตตาภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน (ปริตตะ แปลว่า น้อย อาภา แปลว่า รัศมี ความสว่าง)

๕. อัปปมาณาภาภูมิ
อัปปมาณาภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีหาประมาณมิได้ (อัปปมาณ แปลว่า หาประมาณมิได้)

๖. อาภัสสราภูมิ
อาภัสสราพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกาย พรหมจำพวกนี้มีความยินดีในฌานของตนอย่างเต็มที่ เป็นไปด้วยอำนาจของปีติอยู่เสมอ จิตใจจึงมีความผ่องใสมากอยู่เสมอ

ทุติยภูมิ ๓ ตั้งอยู่กลางอากาศในพื้นที่เดียวกัน แต่แบ่งออกเป็นเขต ทิพยสมบัติย่อมประณีตยิ่งขึ้นทุก ๆ ประการ

ปริตตาภะพรหม มีตำแหน่งเท่ากับ ปาริสัชชะพรหม
อัปปมาณาภะพรหม เท่ากับ ปุโรหิตะพรหม
อาภัสสระพรหม เท่ากับ มหาพรหม


ตติยฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย

๗. ปริตตสุภาภูมิ
ปริตตสุภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงาม แต่ยังน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน

๘. อัปปมาณสุภาภูมิ
อัปปมาณสุภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงามหาประมาณมิได้

๙. สุภกิณหาภูมิ
สุภกิณหาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงามตลอดทั่วร่างกาย

ตติยฌานภูมิ ตั้งอยู่กลางอากาศในพื้นที่เดียวกัน แบ่งเป็นเขตเหมือนทุติยฌานภูมิ

ปริตตสุภะพรหม มีตำแหน่งเท่ากับ ปาริสัชชะพรหม
อัปปมาณสุภะพรหม เท่ากับ ปุโรหิตะพรหม
สุภกิณหะพรหม เท่ากับ มหาพรหม


จตุตถฌานภูมิ ๗ ประกอบด้วย

๑๐. เวหัปผลาภูมิ
เวหัปผละพรหม เป็นพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไพบูลย์ ไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ ตามอำนาจฌาน

๑๑. อสัญญสัตตาภูมิ
อสัญญสัตตาพรหม คือพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์

พรหมในภูมนี้มีรูปร่างผิวพรรณงดงาม คล้ายพระพุทธรูปทองคำ มีอิริยาบถ ๓ อย่าง นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่ง ๆ อย่างนั้น จนครบอายุขัยคือ ๕๐๐ มหากัป คนโดยมากเรียกพรหมชนิดนี้ว่า “พรหมลูกฟัก”

จตุตถฌานภูมิทั้ง ๒ นี้ตั้งอยู่กลางอากาศในพื้นที่ระดับเดียวกัน สำเร็จไปด้วยทิพยสมบัติอันประณีตกว่าภูมิเบื้องต้น

พรหมในชั้นเวหัปผลาแบ่งออกเป็น ๓ จำพวกเช่นเดียวกัน

ปัญจมฌานกุศลอย่างต่ำ ก็บังเกิดเป็นพรหมในตำแหน่งเทียบเท่า ปาริสัชชะพรหม
ถ้ากุศลเป็นอย่างกลาง ก็บังเกิดในตำแหน่งเทียบเท่า ปุโรหิตะพรหม
ถ้าเป็นกุศลชั้นสูง ก็บังเกิดเทียบเท่า มหาพรหม


พรหมในชั้นเวหัปผลานี้สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน เห็นอสัญญสัตตาพรหม และพรหมชั้นที่อยู่ต่ำ ๆ กว่า ส่วนพรหมชั้นต่ำไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้

รูปพรหมที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๑๑ ชั้นเหล่านี้ แม้จะเสวยความสุขอันประณีตและมีอายุยืนยาวมากก็ตาม อย่างมากที่สุดไม่เกิน ๘๔,๐๐๐ มหากัป ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น

ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิทั้ง ๔ ก็เป็นได้ ทิพยสมบัติ อิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืน ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย


จตุตถฌานภูมิที่เหลืออีก ๕ ชั้น เรียกว่า สุทธาวาสภูมิ ๕

สุทธาวาสภูมิ ๕

บุคคลที่จะไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสภูมิได้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม อย่างใดก็ตามจะต้องเป็น พระอนาคามีปัญจมฌานลาภีบุคคล บุคคลอื่นนอกจากนี้แม้จะได้ปัญจมฌานก็ตามบังเกิดที่นี้ไม่ได้

สุทธาวาสภูมิ แบ่งออกเป็น ๕ ชั้น ตามอำนาจของอินทรีย์ ๕

๑๒. อวิหาภูมิ
อวิหาพรหม คือพรหมที่ สัทธินทรีย์ มีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น

อวิหาพรหม เป็นพรหมที่ไม่ละทิ้งสถานที่ของตน (คือต้องอยู่ในภูมินี้จนครบอายุขัยจึงจุติ) และไม่เสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใด

สำหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก ๔ ชั้น ไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน

๑๓. อตัปปาภูมิ
อตัปปะพรหม คือพรหมที่ วีริยินทรีย์ มีกำลังมาก

อตัปปะพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น จิตใจของพรหมชนิดนี้จึงมีแต่ความสงบเยือกเย็น

๑๔. สุทัสสาภูมิ
สุทัสสะพรหม คือพรหมที่ สตินทรีย์ มีกำลังมาก

สุทัสสะพรหม เป็นพรหมที่เห็นสิ่งต่าง ๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบูรณ์ด้วยปสาทจักขุ ทิพยจักขุ ธัมมจักขุ ปัญญาจักขุ ที่บริสุทธิ์

พรหมในชั้นนี้ร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็นด้วยความเป็นสุข

๑๕. สุทัสสีภูมิ
สุทัสสีพรหม คือพรหมที่ สมาธินทรีย์ มีกำลังมาก

สุทัสสีพรหม เป็นพรหมที่แลเห็นสิ่งต่าง ๆ โดยสะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยดียิ่งกว่าสุทัสสะพรหม

๑๖. อกนิฏฐาภูมิ
อกนิฏฐะพรหม คือพรหมที่ ปัญญินทรีย์ มีกำลังมาก

อกนิฏฐะพรหม เป็นพรหมที่มีทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่าพรหมที่มีรูปทุกชั้นทั้งหมด

พรหมชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๔ ในสุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตน ๆ จะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดซ้ำภูมิ หรือไม่เกิดในภูมิที่ต่ำกว่า

แต่สำหรับอกนิฏฐาพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้องปรินิพพานอยู่ในอกนิฏฐาภูมินี้นั้นเอง


ในอกนิฏฐาภูมิ มีปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง คือ ทุสสะเจดีย์ เป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังทรงเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารทรงสวมใส่ในขณะเสด็จออกจากพระนครเพื่อสู่มหาภิเนษกรมณ์

ขณะทรงเปลื้องฉลองพระองค์ออกท้าวฆฏิการะพรหมเสด็จลงมาจากชั้นอกนิฏฐาภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง ๘ ถวายแก่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ทั้งหมด ไปบรรจุไว้ในเจดีย์ชื่อทุสสะเจดีย์ มีความสูง ๑๒ โยชน์

อายุโดยประมาณของรูปพรหม ๑๖ ชั้น

๑. พรหมปาริสัชชา มีอายุประมาณ ๑ ใน ๓ ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป (คือนับแต่จักรวาลตั้งขึ้นจนเรียบร้อย)
๒. พรหมปุโรหิตา มีอายุประมาณ ๑ ใน ๒ ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
๓. มหาพรหมา มีอายุประมาณ ๑ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
๔. ปริตตาภะพรหม มีอายุประมาณ ๒ มหากัป
๕. อัปปมาณาภะพรหม มีอายุประมาณ ๔ มหากัป
๖. อาภัสสระพรหม มีอายุประมาณ ๘ มหากัป
๗. ปริตตสุภะพรหม มีอายุประมาณ ๑๖ มหากัป
๘. อัปปมาณสุภะพรหม มีอายุประมาณ ๓๒ มหากัป
๙. สุภกิณหะพรหม มีอายุประมาณ ๖๔ มหากัป
๑๐. เวหัปผละพรหม มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป
๑๑. อสัญญสัตตะพรหม มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป
๑๒. อวิหะพรหม มีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ มหากัป
๑๓. อตัปปะพรหม มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ มหากัป
๑๔. สุทัสสะพรหม มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ มหากัป
๑๕. สุทัสสีพรหม มีอายุประมาณ ๘,๐๐๐ มหากัป
๑๖. อกนิฏฐะพรหม มีอายุประมาณ ๑๖,๐๐๐ มหากัป


Create Date : 31 กรกฎาคม 2552
Last Update : 2 สิงหาคม 2552 8:00:47 น. 0 comments
Counter : 5378 Pageviews.  

thammakittakon
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




[Add thammakittakon's blog to your web]