All Blog
ธ.ก.ส.โอนเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2
ธ.ก.ส. พร้อมจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 แก่เจ้าของ สวนยางและคนกรีดยาง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้และบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ อันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยประกันราคายางพาราแผ่นดิบ 60 บาท/กก. น้ำยางสด 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก. เป้าหมายเกษตรกร 1.83 ล้านราย วงเงินกว่า 9,700 ล้านบาท ดีเดย์โอนเงินรอบแรก 10 ธันวาคมนี้ เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงกว่า 9 แสนราย เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท




 




 
นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการประกันรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ

อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสร้างความมั่นคงในอาชีพ เป้าหมายเกษตรกร 1.83 ล้านราย พื้นที่สวนยางกว่า 18.28 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณ 9,717 ล้านบาท โดยประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันราคา 60 บาท/กิโลกรัม

น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันราคา 23 บาท/กิโลกรัม กำหนดระยะเวลาประกันรายได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) โดยในวันนี้ (10 ธันวาคม 2563) ธ.ก.ส. ได้เริ่มโอนเงินประกันรายได้ดังกล่าวไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท แก่เกษตรกรจำนวนกว่า 9 แสนราย

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่การปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยเป็นสวนยางพาราอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน




 




 
การยางแห่งประเทศไทยจะทำการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ พร้อมทั้งประมวลผล ส่งมายัง ธ.ก.ส. เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน = (ราคายางที่ประกันรายได้-ราคาอ้างอิงการขาย) X ปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง  บ่งสัดส่วนรายได้ หากเจ้าของสวนกรีดเองจะได้รับส่วนต่างประกันรายได้ทั้งจำนวน กรณีจ้างกรีดยาง เจ้าของสวนยางจะได้ร้อยละ 60 และคนกรีดจะได้ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด

โดยมีการประกาศราคากลางอ้างอิงทุกเดือน และจะมีการจ่ายเงิน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – กันยายน 2564 ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบการโอนเงินได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และกรณีที่เกษตรกรลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect จะได้รับข้อความแจ้งเตือนผ่าน LINE Official BAAC Family เมื่อเงินเข้าบัญชีของท่านแล้ว

 



 



Create Date : 10 ธันวาคม 2563
Last Update : 10 ธันวาคม 2563 18:47:30 น.
Counter : 555 Pageviews.

0 comment
"ซีพีเอฟ"รับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสัตว์CMP+รายแรกของไทย
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รับมาตรฐานรับรองระบบความปลอดภัยอาหารสัตว์ในระดับสากล GMP+ B1 B2 และ B3 เป็นรายแรกและรายเดียวของไทยที่ได้รับการรับรองระบบ GMP+ ตลอดทั้ง Feed Value Chain สะท้อนภาพลักษณ์ผู้นำการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ปลอดภัย เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั่วโลก

นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ มีบทบาทสำคัญในการเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เพื่อการผลิตเนื้อสัตว์ นม ไข่ และอาหารอื่นๆ ที่มีคุณภาพ ซีพีเอฟจึงให้ความสำคัญสูงสุดกับการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่ปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สอดคล้องตามมาตรฐานและข้อกำหนดของภาครัฐและประเทศคู่ค้า




 




 
ซีพีเอฟเริ่มจัดทำระบบมาตรฐานคุณภาพ ISO9001 มาตั้งแต่ปี 2543 และยกระดับระบบมาตรฐานอาหารสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก ปักธงชัย ได้นำระบบมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารสำหรับสัตว์ GMP+ (GMP Plus) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมาใช้ จากความโดดเด่นของระบบที่คำนึงถึงปัญหาสุขภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ และคำนึงถึงข้อกำหนดระหว่างประเทศ

โดยซีพีเอฟได้รับความรู้จากโครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมอาหารสัตว์ไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากรของบริษัท จนสามารถพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ระบบ GMP+ และเป็นต้นแบบให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซีพีเอฟและบริษัทอื่นๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของประเทศไทยสู่สากล

“ความมุ่งมั่นในการนำระบบมาตรฐานนี้มาใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก ปักธงชัย ได้รับรองมาตรฐาน GMP+ B1 เป็นรายแรกของประเทศ ขณะที่โรงงานอาหารสัตว์ท่าเรือ ได้รับรองระบบ GMP+ B2 สำหรับการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ และ GMP+ B3 สำหรับขอบข่ายการขนถ่ายวัตถุดิบ ซีพีเอฟ จึงเป็นรายแรกและรายเดียวของไทย ที่ได้รับรองระบบ GMP+ ตลอดทั้ง Feed Value Chain และระบบนี้ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น” นายเรวัติ กล่าว




 




 
นายสตีฟ เฮนดริก ริทเซม่า (Mr.Steef Hendrik Ritzema) Managing Director บริษัท คอนโทรล ยูเนี่ยน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จของซีพีเอฟ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP+ B1 B2 และ B3 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของซีพีเอฟ สอดคล้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ GMP+ สำหรับการประกันความปลอดภัยของอาหารสัตว์อย่างสมบูรณ์ และชื่นชมความมุ่งมั่นของบริษัทในการผลักดันการรับรองของซัพพลายเออร์ เพื่อร่วมรักษามาตรฐานความปลอดภัยของอาหารสัตว์ในระดับสูง ด้วยการประกันคุณภาพอาหารสัตว์และบริการที่ถูกกำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอและโปร่งใส

“หลังจากการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาหารสัตว์ถือเป็นต้นน้ำที่มีบทบาทอย่างยิ่งในเรื่องนี้ ดังนั้น การรับรองระบบมาตรฐาน GMP+ ของซีพีเอฟในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการผลิตอาหารสัตว์คุณภาพปลอดภัยในระดับสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจตลอดห่วงโซ่อุปทาน แสดงถึงความรับผิดชอบและใส่ใจในสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก” มร.สตีฟ เฮนดริก ริทเซม่า กล่าว






 







 



Create Date : 10 ธันวาคม 2563
Last Update : 10 ธันวาคม 2563 17:03:44 น.
Counter : 681 Pageviews.

0 comment
"สันนิบาตสหกรณ์"ลั่นดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคลากรที่ทรงคุณค่าต่อกระบวนการสหกรณ์ โดยมีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการ สสท. และผู้แทนสหกรณ์สมาชิกเข้าร่วมประชุม 

นายปรเมศวร์  กล่าวว่า คณะกรรมการ สสท.  ชุดที่ 25 มุ่งมั่น พัฒนา สหกรณ์ทั่วประเทศ และช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องข้อกฎหมายกับสหกรณ์ที่มีปัญหา พร้อมผลักดัน แก้ไขกฎกระทรวงและเรื่องหนี้เผื่อสงสัยจะสูญให้สหกรณ์สามารถดำเนินงานต่อไปได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของสหกรณ์ทั่วประเทศ




 




 
โดยจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา เราได้กระจายอำนาจไปสู่สันนิบาตสหกรณ์จังหวัด จัดกิจกรรมพบปะสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดเพื่อรับทราบปัญหาและสำรวจความต้องการของสหกรณ์สมาชิก โดยมีคณะกรรมการ  ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ เดินทางไปประชุมหารือและออกตรวจเยี่ยมสหกรณ์สมาชิก พร้อมการจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดในรอบปีที่ผ่านมา

สสท.ได้ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้แก่บุคลากรของสหกรณ์ในแต่ละจังหวัด จัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ในหลักสูตรต่าง ๆ กว่า 22  จังหวัด มีผู้เข้าอบรม 2,463 คน อาทิ หลักสูตรรู้เท่าทันบัญชีสหกรณ์ในยุค 5 G  หลักสูตรผู้ตรวจสอบกิจการขั้นพื้นฐาน (หลักสูตร 1) หลักสูตรเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการ  หลักสูตรตลาดออนไลน์  หลักสูตรกฎหมายที่ผู้บริหารสหกรณ์ควรรู้ หลักสูตรกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่  หลักสูตรกฎหมายสินเชื่อและกฎหมายติดตามหนี้
 
รวมทั้งให้การต้อนรับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเนปาล เมียนมาร์ และประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาศึกษาดูงานในสันนิบาตสหกรณ์ฯ มีการประสานความร่วมมือจัดฝึกอบรมร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร “Fostering Leaders for Management” หลักสูตรการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตคนรุ่นใหม่ต่อไปที่ยั่งยืน




 




 
ที่จัดโดย องค์กร ICA AP  หลักสูตร  “Fostering Leaders for Management and Development of Agricultural Cooperatives in Asia” โดยมีผู้เข้าอบรม เป็นผู้แทนสหกรณ์องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ประเทศภูฎาน กัมพูชา คีร์กิชสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนปาล และศรีลังกา  

ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ เรายังได้เข้าร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์โดยรวม ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศและกรมส่งเสริมสหกรณ์ เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ 2542 มาตรา 89/2 

ทั้งนี้ได้แก่ การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะอนุกรรมการของ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน การดำรงเงินกองทุน การจัดทำบัญชีและการเปิดเผยงบการเงิน การรายงานผล และการกำหนดอัตราเงินปันผล  การรับฝากเงินและการลงทุน การก่อหนี้ การสร้างภาระหนี้ผูกผัน การกู้ยืมและการค้ำประกัน

การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง รวมทั้งให้การช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่สหกรณ์ ในด้านอรรถคดีต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหารงานสหกรณ์ กฎหมายแรงงานและอื่นๆ เป็นต้น โดยเราจะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งไว้ข้างหลัง




 
    



 
การประชุมใหญ่ฯ ครั้งนี้ สสท. ได้เชิดชูประกาศเกียรติคุณแก่บุคลากรที่ทรงคุณค่าต่อกระบวนการสหกรณ์ ซึ่งปีนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และคัดเลือกบุคลากรผู้ทรงคุณค่า เน้นมิติด้านคุณค่าว่าเป็นผู้นำที่มีคุณค่าต่อการสหกรณ์สะท้อนอยู่ในตัวบุคคลที่สมควรเป็นแบบอย่าง และมีกระบวนทัศน์ ที่แสดงคุณสมบัติว่าเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มองการณ์ไกล และมีหลักการดำเนินงานมีผลงานเชิงประจักษ์ในการผลักดันที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสหกรณ์

สามารถนำมาปฏิบัติ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีความมุ่งมั่นในการผลักดันให้มีแนวปฏิบัติตามหลักการสหกรณ์เป็นแบบอย่างที่ดี โดยปีนี้ สสท. ได้ทำการคัดเลือกผ่านขั้นตอนวิธีการดำเนินงานและคณะทำงานจนได้บุคลากรที่ทรงคุณค่าต่อกระบวนการสหกรณ์จำนวน 3 ท่าน เพื่อโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ 1.นายอลงกรณ์พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์

2.รองศาสตราจารย์จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้าน สหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ3.นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อดีตอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  ซึ่งทั้ง 3 ท่าน มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้ง 4 มิติ คือ มีความ เป็นผู้นำที่มีคุณค่า มีกระบวนทัศน์ มีหลักการดำเนินงานและมีแนวปฏิบัติที่ดี สันนิบาตสหกรณ์ จึงได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป



 

 



Create Date : 10 ธันวาคม 2563
Last Update : 10 ธันวาคม 2563 15:20:49 น.
Counter : 458 Pageviews.

0 comment
"ครม."อนุมัติจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะ 2
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (8 ธันวาคม 2563) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เป็นไปตามที่ กยท. เสนอ มีผลให้สามารถจ่ายเงินส่วนต่างแก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ทันที ซึ่ง กยท. ได้ประสานกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. ระบุจะสามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางงวดแรกภายในวันที่ 11 ธ.ค. 2563 นี้

โดยจ่ายตรงผ่านบัญชี ธ.ก.ส. เจ้าของสวนยางและคนกรีดยางที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 1 มีคุณสมบัติครบถ้วน คือขึ้นทะเบียนก่อน 12 สิงหาคม 2562 ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2562 แต่ไม่เกิน 15 พฤษภาคม 2563  กยท. ได้ตรวจสอบและส่งข้อมูลการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามโครงการฯ ให้กับ ธ.ก.ส. แล้ว เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในรอบถัดไป




 





 
 “สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,834,087 ราย โดยแบ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ กยท. จำนวน 1,142,294 ราย เกษตรกรชาวสวนยางที่แจ้งพื้นที่ปลูกกับ กยท. จำนวน 419,060 ราย และคนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวน 272,733 ราย” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

การจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 งวดแรกประจำเดือนตุลาคม 2563 จะใช้กำหนดราคายางพาราอ้างอิงย้อนหลัง 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 23 พฤศจิกายน 63 โดยราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 62.62 บาท/กก. ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 52.86 บาท/กก. ชดเชย 4.14 บาท/กก. และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 19.09 บาท/กก. ชดเชย 3.19 บาท/กก.




 




 
ตัวเลขการจ่ายเงินงวดที่ 1 ประจำเดือน ตุลาคม 2563 จ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยางงวดแรกจำนวน 968,468 ราย คิดเป็นพื้นที่ 10,154,813.613 ไร่ จำนวนเงิน 1,249.672 ล้านบาท และตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป จะใช้กำหนดราคายางพาราอ้างอิงย้อนหลัง 30 วัน และจ่ายเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเดือนละ 1 ครั้ง จนครบ 6 งวดตามโครงการ  




 



Create Date : 08 ธันวาคม 2563
Last Update : 8 ธันวาคม 2563 19:56:08 น.
Counter : 529 Pageviews.

0 comment
"บีโอไอ"เปิดระบบนัดหมายออนไลน์เพิ่มประสิทธิภาพให้คำปรึกษานักลงทุน
บีโอไอเปิดระบบนัดหมายออนไลน์เพื่อให้คำปรึกษาการลงทุน ระดมทีมร่วมให้ข้อมูลครบถ้วน ตั้งแต่เรื่องการยื่นขอรับการส่งเสริม ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากบีโอไอ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ พร้อมอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนตามแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า บีโอไอเปิดตัวหน่วยให้คำปรึกษานักลงทุน หรือ Customer Service Unit (CSU) เพื่อให้คำปรึกษาอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่เรื่องหลักเกณฑ์การขอรับการส่งเสริม นโยบาย ประเภทกิจการ และขั้นตอนการขอรับการส่งเสริม ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบีโอไอ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล เครื่องจักร วัตถุดิบ และที่ดิน โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ร่วมให้คำปรึกษาครอบคลุมกว่า 300 ประเภทกิจการที่บีโอไอเปิดให้การส่งเสริม




 




 
ทั้งนี้ หน่วย CSU เกิดขึ้นภายหลังจากที่บีโอไอได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายในการเร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนให้สอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยนักลงทุนสามารถเข้าระบบออนไลน์เพื่อนัดหมายขอรับคำปรึกษาได้ตลอดเวลาก่อนเดินทางเข้ารับคำปรึกษาที่สำนักงานบีโอไอ ถนนวิภาวิดีรังสิต หรือรับคำปรึกษาผ่านระบบการประชุมทางไกล

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การติดต่อประสานงานทางธุรกิจและการลงทุนต่างๆ บีโอไอจึงนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับนักลงทุนอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ครบถ้วนด้วยระบบการนัดหมายออนไลน์ล่วงหน้า ก่อนเข้ารับคำปรึกษาที่สำนักงานบีโอไอ ทำให้บริการได้อย่างทั่วถึง ลดความแออัด และเป็นการปฏิบัติตามแนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคม” นางสาวดวงใจกล่าว

หน่วย CSU จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาทุกวัน ในวันและเวลาราชการ นักลงทุนสามารถนัดหมาย   ผ่านระบบออนไลน์ทาง booking.boi.go.th หรือ นัดหมายผ่านโทรศัพท์ 0 2553 8300 นอกจากนี้ บีโอไอยังมีบริการสำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถเดินทางมาขอรับคำปรึกษาได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน





 

 



Create Date : 07 ธันวาคม 2563
Last Update : 7 ธันวาคม 2563 16:54:10 น.
Counter : 688 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments