All Blog
สินค้าเกษตรยังขยายตัวแม้เผชิญโควิด
นายฉันทานนท์  วรรณเขจร  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค   ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในปี 2563 ที่ผ่านมาว่า วิกฤตการแพร่ระบาดดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก หากพิจารณาภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่า ลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปี 2562
 
หากพิจารณาเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ไม่รวมอาเซียน พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย กลับมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 คิดเป็นมูลค่า 490,726 ล้านบาท 
 
โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ตลาดส่งออกที่ขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ จีน ฮ่องกง เปรู ชิลี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ตามลำดับ สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ทั้งนี้เช่น ผลไม้สด มูลค่า 83,576 ล้านบาท เนื้อไก่สด/แช่เย็น/แช่แข็ง มูลค่า 27,789 ล้านบาท มันสำปะหลัง มูลค่า 21,626 ล้านบาท ผลไม้แช่แข็ง มูลค่า 6,993 ล้านบาท ปลาสด/แช่เย็น/แช่แข็ง มูลค่า 4,358 ล้านบาทและ สุกรสด/แช่เย็น/แช่แข็ง มูลค่า 3,273 ล้านบาท เป็นต้น

นางเบญจวรรณ ศิริโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการค้าสินค้าเกษตรกับอาเซียน 9 ประเทศ ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 พบว่า การค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.80 โดยมีมูลค่าการค้ารวม 421,977 ล้านบาท แต่การส่งออกลดลงร้อยละ 5.75 

ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 171,334 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปเวียดนามอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ มาเลเซีย และ กัมพูชา ตามลำดับ สินค้าเกษตรส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้า ที่กักเก็บได้และไม่เน่าเสียง่าย ได้แก่ น้ำตาล มูลค่า 47,493 ล้านบาท เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อาทิ นมยูเอชที นมถั่วเหลือง มูลค่า 47,103 ล้านบาท ของปรุงแต่ง อาทิ ครีมเทียม ซอสปรุงรส น้ำปลา น้ำมันหอย มูลค่า 25,214 ล้านบาท ยางพาราธรรมชาติ มูลค่า 23,271 ล้านบาท และ สัตว์มีชีวิต อาทิ สุกร มูลค่า 23,102 ล้านบาท

แม้ช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2563 ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด - 19  แต่จะเห็นได้ว่า การค้าสินค้าเกษตรไทยในปี 2563 ยังถือว่ามีทิศทางที่ดี และแม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้บริโภคเริ่มปรับตัว และหลายประเทศได้ผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ตลอดจนความพร้อมของไทยในการควบคุมการแพร่ระบาด 
 
ทำให้ไทยมีโอกาสและแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การค้าสินค้าเกษตรไทยเกิดความยืดหยุ่น อาจพิจารณาหาตลาดทดแทนและส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เก็บรักษาได้นาน และได้กำชับทุกหน่วยงาน หารือร่วมกับภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ในการควบคุมสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อโรค สอดรับแนวทางการปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของ FAO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าต่าง ๆ



 

 



Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2564
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2564 15:32:29 น.
Counter : 414 Pageviews.

0 comment
กยท.ทุ่มกว่า 700 ล้านส่งเสริมแปลงใหญ่-ดันน้ำยางออกจากระบบกว่า 200,000 ตัน
การยางฯ ทุ่มงบสนับสนุนเงินอุดหนุนจากมาตรา 49(3) กว่า 700 ล้านบาท/ปี หนุนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ ภายใต้โครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ พร้อมผลักดันมาตรการบริหารน้ำยาง ออกจากระบบกว่า 200,000 ตัน

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนเกษตรกรชาวสวนยางในโครงการ 18,095 ราย พื้นที่สวนยางจำนวนกว่า 270,000 ไร่ มุ่งพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางสู่การเป็น Smart Farmer 
 
ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต /การเพิ่มผลผลิต /การพัฒนาคุณภาพ /การตลาด /การบริหารจัดการ โดยการบูรณาการร่วมกันทั้งในส่วนของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง หน่วยราชการ และภาคเอกชน 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
มีการกำหนดเป้าหมายให้มีโรงงานแปรรูปยางพาราครอบคลุมพื้นที่ทุกเขตของ กยท.ทั้ง 7 เขต วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 700 ล้านบาทต่อปี ล่าสุด (4 ก.พ.64) คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย อนุมัติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำยางข้นในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ยางพาราให้กับสหกรณ์เครือข่ายยางพาราจังหวัดตราด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานน้ำยางข้นของสถาบันเกษตรกรโรงงานเดียวที่รับซื้อน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น 
 
โดยกยท. สนับสนุนเงินอุดหนุนจากมาตรา 49(3) วงเงินกว่า 31 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต โดยหลังจากปรับปรุงโรงงานจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้นจากเดิม 3 เท่าต่อวัน จึงสามารถรองรับน้ำยางสดจากเกษตรกรในภูมิภาคได้มากขึ้นด้วย ซึ่งจะรับซื้อน้ำยางสดในราคานำตลาด เพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเก็บไว้ชะลอขายได้ ถือเป็นอีกวิธีบริหารจัดการน้ำยางสดอีกวิธีหนึ่งในช่วงที่สถานการณ์ยางมีความผันผวน
 
 
 
 

 
 
 
 
 
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. พยายามกระตุ้นการดึงน้ำยางสดออกจากตลาด โดยการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำยางสด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรชะลอการขาย เก็บรวบรวมน้ำยางสดไว้ รอจังหวะที่ตลาดมีความต้องการ เช่น ในฤดูปิดกรีดที่ราคายางสูงขึ้น หรืออยู่ในระดับราคาที่สถาบันเกษตรกรเห็นว่าเหมาะสมแล้วนำออกมาขาย 
 
กยท. ได้จัดหาอุปกรณ์แทงค์เก็บน้ำยางสดพร้อมสารเคมี เพื่อยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำยางสดให้คงคุณภาพไว้ได้  2 เดือน และสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนซื้อน้ำยางสดมาจัดเก็บตามมาตรการดังกล่าว 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
โดยมีเป้าหมายสามารถดึงน้ำยางออกจากตลาดได้กว่า 200,000 ตัน เบื้องต้นดำเนินการแล้วในจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราช มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมและรับแทงค์รวบรวมน้ำยางสดแล้วกว่า 90 ถัง และในสัปดาห์นี้ได้เร่งดำเนินการเพิ่มเติมในจังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางว่า ราคายางในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดน้อยลง โดยปัจจัยหลักมาจากฤดูปิดกรีดยาง ตอนนี้พื้นที่สวนยางในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
รวมถึงภาคใต้ตอนบนเข้าสู่ช่วงผลัดใบและหยุดกรีดแล้ว ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจยาง ของ กยท. พบว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีปริมาณผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาด 519,614 ตัน 
 
คาดการณ์ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณน้ำยางจะเหลือ 353,224 ตัน ลดลงร้อยละ 32 และจะลดลงต่อเนื่อง ไปจนถึงเมษายน ซึ่งมีปริมาณน้ำยางลดลงจากเดือนมกราคม มากถึงร้อยละ 80 ตัวเลขนี้จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลผลิตน้ำยางในตลาดกำลังน้อยลง
 
ประกอบกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน จึงสอดคล้องกับแนวโน้มราคายางที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นในทิศทางบวก ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแน่นอน


 



Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2564
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2564 15:23:46 น.
Counter : 505 Pageviews.

0 comment
"เกษตรฯ"เตรียมพร้อมประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก 2021 (UNFSS)
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อรับทราบผลการประชุมที่เกี่ยวข้องในรอบปี 2563 ซึ่งถึงแม้ว่าจะประสบกับสถานการณ์ COVID-19 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) 
 
ที่ผ่านมามีการประชุมที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ผ่านระบบออนไลน์ อาทิ การประชุมสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (Global Soil Partnership Plenary Assembly: GSP PA) ครั้งที่ 8 การประชุมสภามนตรี FAO (FAO Council) ครั้งที่ 164 การประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO Conference for Asia and the Pacific: APRC) ครั้งที่ 35 การประชุมคณะกรรมการด้านเกษตร (Committee on Agriculture: COAG) ครั้งที่ 27 
 
การประชุมคณะกรรมการด้านป่าไม้ (Committee on Forestry: COFO) ครั้งที่ 25 การประชุม the 3rd Global Conference of the One Planet Sustainable Food Systems (SFS) Programme การประชุมสภามนตรี FAO (FAO Council) ครั้งที่ 165 ตลอดจนการจัดกิจกรรมวันดินโลกและการมอบรางวัลเหรียญภูมิพลวันดินโลก ประจำปี 2563 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อีกทั้งได้รับทราบกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ความเป็นมา FAO Hand in Hand Initiative โครงการการประเมินผลกระทบของมาตรการควบคุมโรค COVID-19 ต่อระบบอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร การบริโภคอาหาร และความเป็นอยู่ของคนไทย ความก้าวหน้าโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-FAO (Country Programming Framework ฉบับปี 2018-2021) 
 
ความคืบหน้าการดำเนินการตามตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ที่ 2 ยุติความหิวโหย (Zero Hunger) และความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็นระบบมรดกทางเกษตรโลก

ที่ประชุมยังได้พิจารณาแผนงานในปี พ.ศ. 2564 ที่สำคัญ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2564 ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เห็นความสำคัญของการประชุมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลกให้มีความยั่งยืน และเข้าร่วมกิจกรรมของการประชุมโดยการจัดทำ National Dialogues การระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนแผนงานของไทยให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ 
 
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการแต่งตั้งให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์) ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลักของประเทศไทย (National Dialogues Convenor) ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมของไทยอีกด้วย

“การประชุมครั้งนี้นับว่าเป็น National Dialogues ครั้งที่ 1 สำหรับการประชุม UNFSS ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานตามที่สำนักการเกษตรต่างประเทศ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ เสนอ และดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอทิศทางประเทศไทยโดยสอดคล้องกับทิศทางที่ UN กำหนด ต่อไป” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
 
 
 

 



Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2564
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2564 17:43:14 น.
Counter : 406 Pageviews.

0 comment
"แม็คโคร"หนุนบริโภคเนื้อสัตว์ปลอดภัยช่วงตรุษจีน ย้ำปศุสัตว์ OK
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกรมปศุสัตว์ เดินหน้ายกระดับความปลอดภัย  สร้างความมั่นใจสินค้าเนื้อสัตว์คุณภาพ ตรวจสอบแหล่งที่มาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ย้ำตรุษจีนปีนี้ สังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”  ที่แม็คโคร ได้รับรองแล้วทุกสาขา 

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลต่อความกังวลของผู้บริโภค ด้านความปลอดภัยของอาหาร  แม็คโครซึ่งเป็นศูนย์รวมอาหารสด ที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย ปศุสัตว์ OK  
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จึงได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ในการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ปลอดภัย ที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน  ซึ่งมีการใช้ เนื้อหมู และเป็ด ไก่ เพื่อไหว้ตามประเพณีตรุษจีน เป็นจำนวนมาก โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”  ที่แม็คโครทุกสาขา”
 
“แม็คโคร ได้ทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการยกระดับและพัฒนามาตรการคุมเข้มด้านอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยในการขอรับรองเครื่องหมายปศุสัตว์ OK สถานประกอบการต้องผ่านหลักเกณฑ์ 4 ข้อของกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่สินค้าที่นำมาขายต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน (GAP) เชือดจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต หรือผลิตจากสถานที่รวบรวมที่ได้รับการรับรอง และตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริม เพิ่มความปลอดภัยขั้นสูงสุดให้ผู้บริโภคมั่นใจด้วย”
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
สำหรับมาตรการตรวจสอบเนื้อสัตว์ปลอดภัยของแม็คโคร ประกอบด้วย 7 มาตรการสำคัญ คือ 

•    สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ต้องผ่านมาตรฐานการรับรองฟาร์มเพาะเลี้ยงจากกรมปศุสัตว์
•    สถานที่ผลิตต้องผ่านการประเมินด้านสุขลักษณะอาหารจากกระทรวงสาธารณสุข
•    สินค้าต้องผ่านการตรวจความปลอดภัยทางจุลินทรีย์และเคมี โดยห้องปฎิบัติการ ISO17025 ซึ่งมีการตรวจสอบลึกระดับ DNA เพื่อเฝ้าระวังสินค้าปลอมปน
•    มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา โดยใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ Makro i-Trace
 
 
 
 

 
 
 
 

 
•    กระบวนการจัดเก็บสินค้าและขนส่งสินค้าที่สะอาด ถูกสุขอนามัยเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล 
•    เข้าร่วมในระบบ e-Privilege Permit  ของกรมปศุสัตว์  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมกระบวนการเคลื่อนย้ายเนื้อสัตว์ ก่อนเข้าจำหน่ายในสาขาแม็คโคร
•    แม็คโครทุกสาขาได้เครื่องหมาย ปศุสัตว์ OK ซึ่งหมายถึงการเป็นสถานที่จัดจำหน่ายที่ผ่านมาตรฐานการควบคุมเรื่องสุขลักษณะที่ดี และความปลอดภัยสินค้าเนื้อสัตว์ อันเป็นไปตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์

“นอกจากความปลอดภัยในอาหารสด ผักผลไม้แล้ว แม็คโครได้นำสินค้าต่างๆ กว่า 3,000 รายการมาร่วม  จัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้  เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ด้วย” นางศิริพร กล่าว 
 
 
 
 
 



Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2564
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2564 16:43:55 น.
Counter : 527 Pageviews.

0 comment
ประกันรายได้ยาง ระยะ 2 จ่ายแล้ว 5,000 ล้าน
กยท.เผยโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 คืบหน้าจ่ายเงินแล้วร่วม 5,000 ล้านบาท ขอชาวสวนยางที่มีสิทธิ์ในโครงการแต่ยังไม่ได้รับเงินเร่งติดต่อ กยท. เพื่อปรับปรุงข้อมูลในระบบ

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 ของการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินส่วนต่างประกันรายได้ฯ งวดที่ 3 ประจำเดือน ธันวาคม 2563 เข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางไปแล้วจำนวนกว่า 1,600 ล้านบาท และจากข้อมูลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 
 
โอนให้เกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 4,940.56 ล้านบาท มีเกษตรกรชาวสวนยางได้รับเงินแล้วจำนวน 1,342,209 ราย ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563  และมีสิทธิ์ในโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งยังคงมีเกษตรกรชาวสวนยางบางส่วนที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการฯ 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
โดยข้อมูลพื้นที่ปลูกยางหรือข้อมูลส่วนตัวยังไม่เป็นปัจจุบัน หรือมีการแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารใดๆ สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของ กยท. ที่พื้นที่สวนยางท่านตั้งอยู่ หรือ กยท.จังหวัด/สาขา ที่ใกล้ท่านได้ทุกวันทำการ

กยท. ได้เร่งดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 เนื่องจากเป็นนโยบายที่สำคัญ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ราคายางจะขยับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ว่ายังคงมีส่วนต่างของราคาที่เกษตรกรได้รับจริงเวลาไปขายผลผลิต ซึ่ง กยท. มุ่งมั่นที่จะดำเนินการในโครงการนี้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเต็มที่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวสวนยางจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากภาครัฐ 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
กยท. เป็นหน่วยงานกลางที่จะดูแลทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง หากติดขัดปัญหา มีข้อสงสัยหรือยังไม่ได้รับเงินของโครงการฯ สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของ กยท. ในทุกพื้นที่ได้ เราพร้อมจะให้การบริการและคำแนะนำกับทุกท่านเสมอ
 
 
 
 

 



Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2564
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2564 19:57:56 น.
Counter : 489 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments