...แต่ละคืนวันที่ผันผ่าน มีเรื่องราวหลากหลายให้ค้นหา ...วานนี้ พรุ่งนี้ มินำพา ...เพียงรู้ว่า ทำวันนี้ให้ดีก็เพียงพอ ...มีความสุขกับทุกจังหวะของชีวิต
Group Blog
 
All blogs
 

ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น ....เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่



ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น
เด็กๆ เปรียบเหมือนผ้าขาว เราเติมสีอะไรลงไปผ้าก็จะเป็นสีนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการแต่งแต้มให้ผ้าขาวของเรามีสีสวยสดใสอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่บรรจงวาดสีสันลงไปบนผืนผ้าของเรา

ลูกของเราก็เช่นกันพ่อแม่เปรียบเสมือนครูคนแรกและเป็นผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดที่ลูกพร้อมจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด เพราะฉะนั้นหากเขาได้รับการฝึกฝนไปในทางที่ดี เขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น เป็นคนดีของสังคม ฟังดูเหมือนยาก จะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่าย คงขึ้นอยู่กับการแบ่งเวลาของพ่อแม่ และการใช้ช่วงเวลาที่อยู่กับลูกให้เป็นประโยชน์ในการให้ความรัก ความเข้าใจและการอบรมสั่งสอนในสิ่งที่ดีงาม ตลอดจนเป็นแม่แบบที่ดีของลูก

เรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน นับเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของสังคมในยุคปัจจุบันและต้องยอมรับว่าการใช้จ่ายเกินตัวและการไม่รู้จักเก็บออมของหลายคน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก บางครอบครัวเลี้ยงลูกแบบตามใจอยากได้อะไรซื้อให้ทุกอย่าง มีสาเหตุหลักๆ ไม่กี่สาเหตุ คือ มีลูกยากหรือลูกคนเดียว กว่าจะมีได้สักคนต้องหาหมอแล้วหาหมออีก ทำทุกวิถีทาง พอได้ลูกมาสักคนเลยกลายเป็น "เทวดาน้อย หรือฮ่องเต้น้อย" ของครอบครัวไปตามระเบียบ สารพัดจะตามใจ อยากได้อะไรต้องได้ดังใจจนติดเป็นนิสัยถึงตอนโต เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ฟังใคร

บางคนทำงานแล้วยังแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่เลย เพราะไม่ได้ฝึกให้รู้จักการใช้สอยอย่างประหยัดตั้งแต่เด็ก เรื่องการเก็บออมยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นลูกคนเดียวจะเป็นแบบนี้ทุกคน พ่อแม่หลายคนก็เข้าใจและสอนลูกในเรื่องการใช้จ่ายและเก็บออมได้เป็นอย่างดี อีกประเภทหนึ่งคือ ไม่มีเวลาให้ลูก ใช้เงินเลี้ยงลูกแทน ลูกอยากได้อะไรซื้อให้ทุกอย่างโดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่

เพราะฉะนั้นตั้งแต่เขาเกิดมาจนโตเข้าเรียนและเริ่มทำงาน เขาทราบอย่างเดียวว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างและเงินหาได้ไม่ยาก ต้องการเมื่อไรแบมือขอพ่อแม่ ทุกอย่างสำเร็จได้ดั่งใจหมาย จะไม่กระตือรือร้นเพราะรู้ว่ามีที่พึ่ง แต่พ่อหรือแม่ก็ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดไป เขาต้องมีครอบครัว ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่น

อีกแบบคือ พ่อแม่ที่มีชีวิตลำบากมาก่อน เมื่อมีลูกก็ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตัวเอง ลูกอยากได้อะไรก็พยายามหาให้ทุกอย่าง แต่หากการให้นั้นไปพร้อมกับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักคุณค่าของเงินและการใช้จ่ายอย่างประหยัด เด็กก็น่าจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปได้ ทำให้รู้จักคุณค่าของเงิน พร้อมกับสร้างนิสัยการออมตั้งแต่เด็ก

พ่อแม่หลายคนชอบคิดว่าเขายังเด็กอยู่ไม่รู้เรื่องหรอกโตขึ้นค่อยสอน แต่ที่จริงสิ่งที่เขาได้รับมาตั้งแต่เด็กจะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึก เข้าไปเรื่อยๆ จนเมื่อโตขึ้นทำให้แก้ไขได้ยากมาก และเราอาจจะถูกข้อหา "พ่อแม่รังแกฉัน" ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ในเรื่องของการปลูกฝังนิสัยการใช้จ่ายและการเก็บออมนี้ นอกจากครอบครัวแล้ว โรงเรียน หรือที่ทำงานยังมีส่วนช่วยในการสร้างนิสัยการออมได้ เช่น โรงเรียนอนุบาลหรือชั้นประถมอาจจัดโปรแกรมรณรงค์ให้เด็กรู้จักการออมโดยการแจกกระปุกออมสินคนละใบ ใครเก็บได้เต็มก่อนมีรางวัลแต่มีข้อแม้ว่าเก็บวันละไม่เกินเท่าไร? เพื่อให้เด็กมีเงินเหลือสำหรับรับประทานอาหารด้วย

ข้อสำคัญ พ่อแม่ต้องให้ความร่วมมือในการกระตุ้นให้เด็กพยายามในการหยอดกระปุก แต่ห้ามหยอดให้อย่างเด็ดขาด ในที่ทำงานก็อาจตั้งเป็นชมรมคนออมเงิน หรือคลินิกวางแผนการเงิน เพื่อพนักงานจะได้เห็นความสำคัญของการออมตั้งแต่อายุยังน้อย และการสร้างวินัยในการออมซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน

ครอบครัวเป็นสถานที่แรกที่สำคัญในการสร้างนิสัยการใช้สอยอย่างประหยัดและฝึกนิสัยการออมให้กับเด็ก ต่อมาคือโรงเรียนและสถานที่ทำงาน ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ รับประกันได้ว่าคนไทยเราจะมีสุขภาพการเงินที่แข็งแรงและจะมีชีวิตบั้นปลายที่สุขสมบูรณ์ ไม่เป็นภาระของสังคมและลูกหลาน




 

Create Date : 10 เมษายน 2550    
Last Update : 11 เมษายน 2550 23:40:39 น.
Counter : 567 Pageviews.  

6 ขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงิน





The 6 Steps to Financial Freedom

1) จัดทำบัญชี และงบการเงิน

การเดินทางสู่อิสรภาพทางการเงินก็เหมือนกันกับการเดินทางทั่วไปที่ต้องมีแผนที่นำทาง ดังนั้นก่อนจะเริ่มเดินทาง คุณเองควรจะรู้ก่อนว่า ปัจจุบันคุณอยู่ ณ จุดไหนของคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน”

ลองจัดทำงบการเงิน

2) ตั้งเป้าหมาย และวางแผน

เริ่มต้นจากอิสรภาพทางการเงินขั้นพื้นฐาน 6 ประการ คือ
• เศรษฐกิจพอเพียง
• เก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ (ของรายรับทั้งหมด)
• สำรองเงินไว้ใช้จ่าย (อย่างน้อย 6 เดือน)
• ประกันชีวิต สุขภาพ และอุบัติเหตุ
• เรียนรู้ตลอดชีวิต
• บริจาคตามกำลัง

ลองพิจารณาดูว่าชีวิตของท่านบรรลุเป้าหมายพื้นฐานในแต่ละข้อข้างต้นหรือยัง ถ้ายังให้กำหนดหัวข้อเหล่านี้เป็นเป้าหมาย ที่สำคัญต้องกำหนดวิธีการ กรอบเวลา รวมถึงประเมินภาพในอนาคตไว้ด้วย

ส่วนใครที่มีอิสรภาพการเงินขั้นพื้นฐานแล้ว ก็อาจตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นไปได้ ไม่ว่ากัน

3) ลงทุนในการเรียนรู้

“High Understanding, High Returns” ยิ่งคุณเข้าใจธุรกิจที่คุณลงทุนมากเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถสร้างกำไรจากมันได้มากเท่านั้น จงเรียนรู้ให้หนักขึ้น เพื่อจำกัดความเสี่ยงทั้งมวลที่อาจจะเกิดขึ้น โลกไม่ได้ยากเย็นอย่างที่เราคิด แต่ที่ใครหลายคนคิดว่ามันยาก เพราะเขาเหล่านั้นไม่เคยแบ่งเวลามาสนใจใยดีกับมันต่างหาก

จงแบ่งเวลาให้กับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ อย่าจำกัดเฉพาะแต่ในห้องเรียน จงมองโลกให้กว้างเพื่อที่ท่านจะได้เห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่อีกมากมายบนโลกใบนี้

เราลงทุนในการเรียนรู้ด้วยอะไรบ้าง ?

• เวลา
นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องพิจารณา ปัจจุบันคุณให้เวลากับการเรียนรู้สักแค่ไหน ถ้าคิดว่ายังน้อยไป จัดแบ่งเวลาในการเรียนรู้ให้มากขึ้น แล้วคุณจะได้รับมากขึ้น

• ความคิด
คนสองคนนั่งเรียนคอร์สเดียวกัน คนหนึ่งเอากลับมาคิดต่อยอดไปสู่การกระทำ อีกคนได้แค่นั่งดีใจว่ารู้แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสองคนนี้ต่างกันมหาศาล

• สายสัมพันธ์
การลงทุนในสายสัมพันธ์ ก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย คนหลายคนมักคบหา หรือคิดถึงคนอื่นยามที่ตัวเองเดือดร้อนเท่านั้น เรียนรู้ที่จะใช้เวลากับผู้อื่น แบ่งปันความรู้ ความคิด ความช่วยเหลือให้กับคนรอบข้างโดยเฉพาะคนที่แตกต่างจากคุณ เพราะมันจะช่วยให้โลกของคุณกว้างขึ้น ไม่เพียงแค่ความรู้ แต่มันคือโลกแห่งความรัก และความเอื้ออาทรกัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เงินก็ซื้อหาไม่ได้

• ความรู้
เข้าร่วมทำงานกับองค์กร หรือชมรมที่ท่านสนใจ เพื่อสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดบูรณาการทางความรู้และความคิดได้เป็นอย่างดี

• การตั้งคำถาม
คำถามที่ดีเป็นการสร้างโจทย์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ชีวิต ในทางตรงกันข้าม คำถามแย่ ๆ ก็ทำให้คุณเป็นคนในด้านตรงกันข้ามได้เช่นกัน

ลองพิจารณาคำถามต่อไปนี้
“ทำไม เราไม่เกิดมารวยเหมือนคนอื่นบ้าง”
“ทำไม เราไม่โชคดีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง”

เริ่มต้นใหม่ ตั้งคำถามที่ดีให้กับตัวเอง แล้วคุณจะได้คำตอบที่ดีกลับคืนมา

“ฉันจะประสบความสำเร็จในชีวิตก่อนอายุ 35 ปี ได้อย่างไร”

คำถามใหม่ ๆ จะนำคุณไปสู่การลงทุนครั้งใหม่ในชีวิต จงใช้ชีวิตกับคำถามใหม่ ๆ เลิกถามคำถามเก่า ๆ

“หุ้นตัวไหนน่าซื้อ”
“กู้เงินแบงค์ไหน ดอกเบี้ยต่ำสุด”
“มีเงินเก็บ 50,000 ทำธุรกิจอะไรดี”

“สิ่งที่คุณถาม คือ สิ่งที่คุณจะได้รับ”

• อื่น ๆ อีกมากมาย (ลองคิดต่อเองนะครับ)

4) แวดล้อมตัวคุณ ด้วยคนที่คิดแบบเดียวกัน

คนเราเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมเสมอ อิสรภาพทางการเงิน เกิดได้ทันทีที่คุณเป็นผู้เลือกกระทำ ดังนั้น จงเลือกสภาวะแวดล้อมที่จะพาชีวิตคุณไปในทางที่ดี

5. ลงมือปฏิบัติ บันทึกผล

“บิดาของความสำเร็จ คือ การกระทำ” คำพูดนี้ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นจริงเสมอ

ลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ จดรายละเอียดของทุกการกระทำสำคัญ ๆ ไว้ เพื่อเปรียบเทียบ และปรับแก้แผนงานสู่อิสรภาพทางการเงิน

6. ทบทวน

ตรวจสอบผลการปฏิบัติ กับแผนที่วางไว้ ว่าเป็นไปตามแผนแค่ไหน ต้องปรับแก้อะไร ในขั้นตอนนี้อาจปรึกษาผู้ประสบความสำเร็จเพื่อช่วยทบทวน และให้คำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป

หัวข้ออะไรบ้างที่ต้องทบทวน

• ความคิด
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบตลอดเวลา หมั่นคอยเช็คและตรวจสอบความคิดของเราถูกต้อง หรือสอดคล้องกับแนวทางสู่อิสรภาพทางการเงิน หรือไม่

• จิตใจ
ตรวจสอบจิตใจทั้งก่อนและหลังตัดสินใจใช้จ่าย หรือลงทุน จำเอาไว้ว่า การลงทุนที่ทำให้คุณรู้สึกไม่มีความสุขตั้งแต่ใส่เงินลงไป นั่นก็ถือว่า ขาดทุน เรียบร้อยแล้ว

• งบการเงิน
ตรวจสอบแผนที่ทุกครั้ง โดยอาจทำเป็นประจำทุกเดือน เพื่อคอยตรวจสอบว่า เราเดินออกนอกลู่นอกทางหรือเปล่า หรือเราเข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินเพียงใด

เริ่มต้นตรวจสอบตัวเอง จัดทำบัญชี และวางแผนสู่อิสรภาพทางการเงินตั้งแต่วันนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง จงจำเอาไว้ว่า “อิสรภาพทางการเงิน เริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ ของทุก ๆ คน”






 

Create Date : 31 มีนาคม 2550    
Last Update : 31 มีนาคม 2550 0:10:39 น.
Counter : 2568 Pageviews.  

อิสรภาพทางการเงินขั้นพื้นฐาน


ไปอ่านตามLinkที่เห็นจากเวปบอร์ดที่เข้าไปอ่านประจำ

อิสรภาพทางการเงินขั้นพื้นฐาน
อาทิตย์, 04 มีนาคม 2007
อิสรภาพทางการเงินไม่ใช่เรื่องยาก คุณเองก็สามารถเริ่มต้นได้ ด้วยแนวทางง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

1) เก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ (ของรายรับทุกประเภท)

การออมเป็นจุดเริ่มต้นสู่อิสรภาพทางการเงิน เริ่มต้นออมง่าย ๆ โดยการหักเก็บ 10 เปอร์เซ็นต์จากรายรับทุกประเภทของคุณ ทันทีที่ได้รับเงินมา อย่าเพิ่งใช้จ่าย หักเก็บฝากธนาคารให้เป็นนิสัย

เริ่มทำวันนี้ แม้จะเป็นหนี้อยู่ก็ตาม คนมั่งมีหลายคน ก็เริ่มต้นจากวินัยทางการเงินง่าย ๆ เหล่านี้ทั้งสิ้น

ทำทันที ตอนนี้มีเงินอยู่ในมือ หรือ ATM เท่าไหร่ หัก 10 เปอร์เซ็นต์ เปิดบัญชีใหม่ บัญชีที่คุณจะไม่ถอนออกมาใช้จ่ายเด็ดขาด จำไว้ว่า ไม่ต้องรอให้เยอะ การตัดสินใจทำทันทีเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

2) เศรษฐกิจพอเพียง

คนเราในทุกวันนี้มีทุกข์เพราะไม่รู้จักพอ เราใช้ชีวิตกันเกินพอดี เกินความจำเป็น และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราอยู่ห่างจากอิสรภาพทางการเงินไปไกลทุกที

นิตยสาร Financial Freedom ขอเชิญคนไทยทุกคน ร่วมเดินทางตามรอยเท้าพ่อของคนไทยทั้งแผ่นดิน ด้วยการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ลด ละ หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้ยั้งคิดก่อนใช้จ่าย เพื่อความสุขในวันนี้ และวันข้างหน้าของพวกเราทุกคน

ทำทันที ลองจดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคุณ ทุกวันจนครบ 1 เดือน แยกค่าใช้จ่ายออกเป็นกลุ่ม เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเสื้อผ้า เป็นต้น แล้วคุณจะพบว่า คุณสามารถประหยัดเงินในค่าใช้จ่ายบางรายการได้ทันที

3) สำรองใช้จ่าย หกเดือน

คนหลายคนที่มีหน้าที่การงานที่ดี ก็มักจะประมาทกับชีวิต ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน คนทำงานอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ทุกคนล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น สำรองเงินไว้ล่วงหน้า อย่าประมาท

เพราะเมื่อวันนั้นมาถึง ผู้ที่เตรียมตัวพร้อมเท่านั้น ที่จะรักษาสถานภาพของตนอยู่ได้

ทำทันที เริ่มต้นวางแผนเก็บเงินสำรอง 6 เดือน (ประมาณการจากรายจ่ายต่อเดือน) เก็บเดือนละเท่าไหร่ อีกกี่เดือนจึงจะเงินสำรองครบ 6 เดือน

4) ประกันชีวิต และสุขภาพ

กฎทองของการประกัน ก็คือ “คุณไม่สามารถซื้อประกันได้ในเวลาที่คุณต้องการ” ใครเล่าจะล่วงรู้วันข้างหน้า จงไม่ประมาทและเตรียมการพร้อมไว้ดีกว่า เพื่อวันที่เกิดสิ่งไม่คาดฝัน ปัญหาเหล่านั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับครอบครัวของคุณ

ทำทันที เริ่มมองหาประกันชีวิต และสุขภาพที่คุ้มครองรายจ่ายของคุณ วางแผนเก็บเงิน เพื่อวันข้างหน้า

5) เรียนรู้ตลอดชีวิต

เพราะ ความรู้ คือ เครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะพาคุณไปสู่อิสรภาพทางการเงิน คนที่หยุดเรียน หยุดรู้ ไม่มีทางก้าวหน้าได้ ดังนั้น จงเริ่มต้นลงทุนเวลาให้กับการเรียนรู้ของคุณ

ลองพิจารณาเวลาที่คุณใช้ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ว่าเราใช้ไปกับเรื่องใดบ้าง และแบ่งเวลาให้กับการเรียนรู้สักแค่ไหน มีสุภาษิตอังกฤษกล่าวไว้ว่า “You’re what you study”

รูปแบบการเรียนรู้มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรียนรู้ในชั้นเรียน เรียนรู้จากการเข้าร่วมสัมมนาที่เป็นประโยชน์ อ่านหนังสือเพิ่มพูนทักษะ ใช้เวลากับชมรม หรือสมาคมที่สนใจในเรื่องเดียวกับคุณ พูดคุยกับผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ จงอย่าปิดกั้นตัวเองด้วยวิธีการเรียนรู้แบบเดิม ๆ แล้วคุณจะค้นพบว่า “โลกใบนี้ ไม่ยากเกินไปที่จะใช้ชีวิตอยู่”

ทำทันที พิจารณาจากสิ่งที่คุณสนใจ เริ่มมองหาคอร์สอบรมสัมมนาที่เพิ่มพูนความรู้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมที่คุณสนใจ

6. บริจาคตามกำลัง

สังคมจะมีความสุขได้ ถ้าผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ร่วมส่งเสริมแนวคิดบริจาคตามกำลัง แบ่งปันสู่ผู้ที่ด้อยกว่า เพื่อสังคมที่มีความสุข

“อย่ารอให้พร้อม ถึงคิดบริจาค เพราะเท่าที่ท่านมีอยู่ ก็อาจจะมากเพียงพอสำหรับใครบางคนแล้ว”

ทำทันที หยิบเงิน 1 บาท เตรียมไว้เพื่อหย่อนลงในกล่องบริจาคกล่องแรกที่คุณเจอในวันนี้

นำบทความมาจาก //www.ff-mag.com/content/blogcategory/14/56/lang,utf-8/




 

Create Date : 24 มีนาคม 2550    
Last Update : 24 มีนาคม 2550 12:24:27 น.
Counter : 690 Pageviews.  

10 กฎฉลาดจ่าย


ดัลรีมเพิล คอลัมนิสต์เวบไซต์ fool.com ได้แนะนำเทคนิคการเพิ่มทักษะการใช้จ่ายไม่ให้เงินทองรั่วไหล.ดัลรีมเพิล แนะนำให้จ่ายได้ด้วยสมอง เป็นการคิดรอบคอบก่อนจ่าย ไม่ให้เงินทองรั่วไหลหรือสูญเปล่าไว้อยู่เสมอ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะช่วยสั่งสมมรดกกับสินทรัพย์ ให้มีแต่จะงอกเงยได้ทางอ้อม
1."จ่ายให้น้อยกว่าเงินที่หามาได้" คือกฎข้อแรกที่ดัลรีมเพิลแนะว่า เป็นด่านแรกที่เจ้าของกระเป๋าเงินต้องคิดต้องทำก่อนปล่อยให้เม็ดเงินไหลออกไป และคำแนะนำนี้ชัดเจนถือเป็นกฎจำเป็นต้องทำ หรือท่องจำไว้ในใจเสมอว่า ไม่มีใครเคยใช้จ่ายเกินรายได้แล้ว จะสามารถไปถึงเป้าหมายความมั่นคงทางการเงินได้

2. "ซื้อแต่สิ่งสำคัญจำเป็น" อีกกฎหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งดัลรีมเพิลเพิ่มเติมว่า นอกจากให้ซื้อแต่สิ่งสำคัญ และจำเป็นแล้ว ขอให้ลืมสิ่งของนอกรายการที่อยากได้ไปเลย หากเจ้าของเงินซื้อหาของใช้ที่จำเป็น รองรับความต้องการในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานได้ครอบคลุมแล้ว เงินที่เหลือสามารถนำไปใช้อย่างรอบคอบในกิจกรรมอื่น

การใช้เงินที่เหลืออย่างรอบคอบ ไม่ได้หมายถึงความรอบคอบในการคลั่งไคล้อยากได้ด้วยอารมณ์ชั่ววูบตามแฟชั่น การไล่ตามให้ทันสินค้าหรือของออกใหม่ล่าสุด ไม่ทำให้เจ้าของเงินมีความสุขเท่ากับจ่ายเงินซื้อของที่มีคุณค่าสำหรับตัวเอง อย่าเกิดความไม่มั่นใจในจุดยืนของตัวเอง แม้เพื่อนบ้านคิดว่าคุณกำลังตระหนี่ถี่เหนียว ด้วยการซื้อของตกรุ่นไม่ทันสมัย

3."ไม่ซื้อสิ่งเกินจำเป็นหรือไม่อยู่ในปัจจัย4" ดัลรีมเพิลย้ำว่าสิ่งของจำเป็นขั้นพื้นฐานในมุมมองของเขา หมายถึงอาหารต้องกินเป็นประจำ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งของอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งตามปกติของใช้ชีวิตประจำวัน ต้องมีการลำดับการซื้อโดยการตัดสินใจด้วยตัวเอง และทำเหมือนเป็นหน้าที่

ในกรณีของดัลรีมเพิล ช็อกโกแลตแท่งกับชีสเป็นของโปรด สำหรับคนอื่นอาจเป็นดีวีดีหรือวิดีโอเกมใหม่ แต่เมื่อจดรายการของไม่จำเป็นต้องซื้อไว้ด้านหลัง กำหนดให้สิ่งของจำเป็น เป็นรายการที่ต้องตัดสินใจซื้ออันดับแรก อาจทำให้เจ้าของเงินอยากซื้อหรืออยากกินของที่ไม่จำเป็นน้อยลง

4 "ซื้อหาให้คำนึงถึงมูลค่ากับคุณค่า" กฎข้อนี้หมายความว่า การซื้อต้องได้สินค้าดีที่สุด มีอายุการใช้งานนานที่สุด ให้คุ้มค่ากับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไป แต่ดัลรีมเพิลเตือนว่า อย่าคว้าเอาสิ่งของราคาถูกสุดในทันที เว้นเสียแต่ว่าเจ้าของเงินไม่สนใจหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพ

โดยดัลรีมเพิลอธิบายว่าเจ้าของเงินจะต้องทำการสำรวจหาข้อมูลบ้าง และต้องมีเหตุผลกับไอเดียที่ดี ยิ่งการซื้อเพื่อจะได้ของชิ้นใหญ่ขึ้น ต้องวางแผนกันนานหน่อย หลังประเมินว่าอยากได้หรืออยากซื้อ แต่ของที่จะซื้อจึงต้องเน้นที่คุณภาพและอายุการใช้งาน

5"ลงทุนเพื่อคุณภาพ" สำหรับกฎข้อนี้ ดัลรีมเพิลแนะว่าเจ้าของเงินต้องนึกอยู่เสมอว่า การซื้อของแต่ละครั้งต้องได้มูลค่ากับอายุของสินค้ายาวนาน หรือมีความคงทนมากที่สุด

ตามแหล่งต่างๆ มีสินค้าหรือสิ่งของรายการ ที่มีคุณสมบัติการใช้สอยมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งของใช้สอยที่สามารถกลายเป็นของอีกชิ้นหนึ่งที่มีความคงทนถาวรในบ้าน

พยายามซื้อสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้าน ที่คงทน และอยู่ได้นานที่สุด หากเป็นไปได้ให้ใช้ได้นานจนตลอดชีวิตผู้ใช้ อย่างเช่น การหาซื้อจานชามอุปกรณ์ทานอาหารค่ำ ที่เจ้าของเงินสามารถเป็นเจ้าของ และใช้ประโยชน์ไปได้อีกนาน หรือหาซื้อไขควงสักตัวหนึ่งที่สามารถใช้ และเก็บรักษาไว้ได้คงทน จนสามารถนำไปใช้อย่างคุ้มค่าชั่วลูกชั่วหลาน

กฎข้อนี้เจ้าของเงินจำเป็นต้องใช้ความคิดมากขึ้น เกี่ยวกับรสนิยมและความต้องการตามความจำเป็นของตัวเอง ซึ่งความรอบคอบจะช่วยประหยัดเงินได้ ก่อนตัดสินใจควักกระเป๋าซื้อ

ขอให้คิดอยู่เสมอว่า หากใช้จ่ายได้สินค้าตรงใจแถมประหยัดตั้งแต่ต้น จะช่วยขจัดปัญหาต้นทุนที่อาจบานปลายเพราะต้องคอยซื้อของใหม่มาทดแทนของเก่าที่ขาดคุณภาพไม่คงทน

6 "ให้คำนึงถึงความจำเป็นของตัวเอง" เพื่อไม่ให้ในบ้านรกไปด้วยของใช้ไม่ได้ใช้งาน โดยการซื้อของต่างๆ ไว้ล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ต้องการนำมาใช้จริง

กฎข้อนี้ของดัลรีมเพิล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติตัดสินใจกับการซื้อของใช้งาน ที่ต้องเลือกรุ่น และยี่ห้อซึ่งมีหลากหลาย อย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ

ขอให้จำไว้ว่า หากเจ้าของเงินยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ของฟุ่มเฟือยหรูหรา ให้หักห้ามใจ และอย่าได้ควักเงินซื้อของเกินความจำเป็นเหล่านี้

7 "ลองเลิกยึดติดกับยี่ห้อสินค้า" อาจเป็นเรื่องยากกับการปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้ของ เพราะจากที่เคยเดินเข้าไปหยิบน้ำยาซักผ้าหรือน้ำยาซักแห้งยี่ห้อเดิมทุกๆ ครั้ง บนชั้นวางจำหน่ายของตามห้าง

ดัลรีมเพิลขอให้ผู้บริโภคคนไทย ลองเลือกใช้สินค้าอีกยี่ห้อหนึ่งที่มีราคาถูกกว่า หรือสินค้าทางเลือกอื่นๆ ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน แม้อาจไม่มียี่ห้อดังการันตีบ้างบางโอกาส ถือเป็นการลองใช้สินค้าที่มีคุณภาพเหมือนๆ กัน เพื่อจะได้จ่ายน้อยลง

8 "ซื้อด้วยความใจเย็น" การซื้อสิ่งของเครื่องใช้ใดๆ ก็ตามแบบรีบร้อนฉุกละหุก โดยเฉพาะสิ่งของที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ อาจทำให้ผู้ซื้อรู้สึกผิดหวังได้ และในกรณีที่รู้ว่าเครื่องซักผ้าที่มีอยู่ใช้งานได้อีกไม่นาน ขอให้เริ่มต้นหาเครื่องซักผ้าใหม่ได้เลย

แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ขอคิดให้นานทบทวนให้ดี ใจเย็นอีกสักหน่อย จะช่วยเจ้าของเงินประหยัดจ่ายไปได้อีกมาก หรืออย่างน้อยเจ้าของเงินยังมีเวลา สามารถประเมินบริหารงบประมาณได้ว่า จะซื้อเครื่องซักผ้าใหม่อย่างไร ในราคาไม่เกินงบประมาณ

9 "ตรวจสอบใจว่าอยากซื้อหรือไม่" เป็นกฎที่ดัลรีมเพิลแนะนำไว้เป็นข้อสุดท้ายว่า หากผู้บริโภครู้สึกตัวเองว่ากำลังดึงบัตรเครดิตออกมา เพื่อซื้อของบางอย่างที่ขาดไม่ได้ในชีวิตนี้ ขอให้หยุดความคิดที่จะซื้อไว้สักพักหนึ่ง

โดยดัลรีมเพิลขอให้ผู้บริโภควัดใจตัวเองอีกสักรอบ รอคอยสัก 2-3 วัน หรือ สักสัปดาห์หนึ่งค่อยกลับมาดูสิ่งของที่จะซื้อใหม่อีกครั้ง

หากผู้บริโภคคิดว่ามีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าขาดสิ่งของที่หมายตาอยากได้ แสดงว่าสิ่งของชิ้นนั้นสำคัญควรค่าแก่การซื้อ แต่ในทางกลับกัน หากผู้บริโภคลืมทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งของชิ้นนี้ หมายความว่าสิ่งของกลับไม่มีค่าหรือจูงใจให้ซื้ออีก

ดัลรีมเพิลฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ด้วยกฎเตือนใจที่เขานำเสนอมา น่าจะช่วยผู้บริโภคคนไทย ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก เมื่อคิดจะเดินทางจับจ่ายซื้อของ จากนี้ไปจะสามารถบริหารเงินกับค่าใช้จ่ายได้ดี ด้วยการคิดถึงประโยชน์กับการประหยัดเป็นที่ตั้ง เพื่อการเงินแข็งแกร่ง และมั่นคงของตัวเองในอนาคต

จากบทความในเวปไซด์กรุงเทพธุรกิจหายไปหนึ่งข้อคือ
"Scrimp on low priorities"ซึ่งคือ การตัดรายการของที่มีความสำคัญในอันดับท้ายๆ คุณควรใช้จ่ายให้น้อยที่สุดในสิ่งของที่คุณไม่ต้องใส่ใจอะไรมากหรือเป็นสิ่งที่คุณคิดว่าจะใช้ของที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง...คือจงจ่ายให้น้อยในสิ่งที่คิดว่าจะใช้เพียงครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรตัดรายการที่สำคัญน้อยๆทิ้งไปเลย




 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2550 11:51:10 น.
Counter : 536 Pageviews.  

5 นิสัยทางการเงินที่ควรแก้ไข

๑.ผลีผลามลงทุน
กระโจนเข้าซื้อหุ้นร้อนทันทีที่เพื่อนหรือโบรกเกอร์เชียร์ เพราะหวังว่าจะทำกำไรระยะสั้น!!!
ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เพราะฟังผู้รู้บอกว่าเป็นช่องทางที่หยิบยื่นกำไรอันงดงามให้!!!!
ไม่พูดพร่ำทำเพลง เห็นราคาทองวิ่งฉิว เลยขอร่วมแจม เพราะอยากได้กำไรจากการขยับตัวขึ้นของราคาทองคำ!!!
เหล่านี้รึเปล่า ที่เป็นพฤติกรรมการลงทุนของคุณ แล้วท้ายสุด ต้องมานั่งเก๊กซิมกับผลที่ออกมา เพราะฤทธิ์แต่ผลีผลามเข้าไปลงทุนโดยไม่ศึกษาให้รู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้
นิสัยการลงทุนแย่ๆ แบบนี้ ใครๆ ก็เป็นได้ โดยมากเมื่อปล่อยให้ความโลภเข้ามาครอบงำเมื่อไหร่ รับรองได้เลยว่าคุณจะผลีผลามเข้าลงทุนอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง
ถ้าปีจอทั้งปี คุณยังลงทุนด้วยพฤติกรรมแบบนี้ อย่าปล่อยให้ปีหมูซ้ำรอยปีจอ เริ่มต้นปีใหม่ด้วยการวางแผนลงทุนอย่างมีสติมากขึ้น เช่น ปีนี้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าก่อนลงทุนคุณจะไตร่ตรองอย่างละเอียด ศึกษาทุกรายละเอียดอย่างถ่องแท้ ให้รู้ลึกรู้จริง ก่อนจะตัดสินใจควักเงินลงทุน
หรือปีนี้ตั้งใจจะรื้อปรับขยับพอร์ตใหม่ วางมือจากพวกปั่นหุ้นเก็งกำไร หวือหวาผาดโผน ก็ลองศึกษาหาความรู้เจาะลึกหุ้นพื้นฐานให้เยอะเข้าไว้ เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ด้วยพอร์ตที่สดใสกว่าเดิม
ไม่เพียงเลิกนิสัยผลีผลามเข้าลงทุนเท่านั้น แต่ควรจะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการศึกษาหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นตราสารอนุพันธ์ หรือพวกกองทุนคอมมูนิตี้ ไปจนถึงศึกษาการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การลงทุนทางออนไลน์

๒.ไม่เคยคิดออมเงินตอนนี้ภาระล้นมือ ไหนจะต้องส่งเงินให้พ่อแม่ ไหนจะต้องส่งหลานเรียน เอาไว้ให้อยู่ตัวก่อนแล้วค่อยลงมือออม!!!
โอ้โห..ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนมือถือ ผ่อนแอร์ เดือนๆ หนึ่งจะให้เหลือเงินที่ไหนไปออม!!!
เงินเดือนน้อยจะแย่ ค่าน้ำมันก็แพง ดอกเบี้ยก็แพง เงินเฟ้อก็พุ่ง ถ้ามีเงินเหลือไว้ออมก็เกินไปล่ะ!!!!
เอาไว้ ปีหน้าออมแน่ๆ ปีนี้ไม่ไหว ขอสะสางพวกหนี้บัตรเครดิต หนี้เงินด่วนก่อน!!!
ปีที่ผ่านๆ มา คุณอาจจะเคยผลัดวันประกันพรุ่งกับการออม ซึ่งเป็นนิสัยทางการเงินที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไหนๆ ปีใหม่นี้เป็นปีหมู แค่สัญลักษณ์ก็ถือว่าเชิญชวนให้ออมเงินแล้ว ฉะนั้น สลัดทิ้งซะ ไอ้นิสัยผลัดวันประกันพรุ่งกับการออม
ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นตรงจุดไหนอย่างไร พอเริ่มต้นปีหมู ก็ให้เดินไปที่แบงก์แล้วเปิดบัญชีเงินฝากประจำ แล้วฝากเข้าทุกเดือนๆ หรือสำหรับคนที่มีเค้าว่าเป็นคนที่มีวินัยหย่อนยาน ลองทำโปรแกรมหักบัญชีอัตโนมัติเข้าบัญชีเงินฝากประจำไปเลย รับรองว่าพอสิ้นปีหมูก้าวเข้าสู่ปีชวด คุณจะกลายเป็นคนใหม่ที่มีเงินออม

๓.ฟุ่มเฟือยเป็นนิสัย
เพิ่งซื้อกระเป๋าใบใหม่ราคาเรือนพันเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เอง วันนี้ซื้ออีกใบเพราะเห็นว่าสวยดีและอยากได้!!!
ใครๆ ก็รู้ว่าชอบชอปปิงมาแต่ไหนแต่ไร ไม่เห็นจะแปลกถ้าช้อปวันละหมื่น เงินเดือนไม่พอเดี๋ยวค่อยไปขอพ่อแม่!!
เป็นคนสะสมรองเท้า เห็นทีไรเป็นต้องซื้อ ถึงจะคู่ละพันหรือคู่ละหมื่นก็ต้องซื้อ ถ้าใจชอบซะอย่าง!!!
เหล่านี้รึเปล่าที่เป็นนิสัยการใช้เงินของคุณ โละทิ้งไปเลยถ้าปีใหม่นี้คุณอยากเป็นคนที่มีเงินออมเก็บเป็นกอบเป็นกำเหมือนอย่างคนอื่นเขา
เพราะการฟุ่มเฟือยจนเป็นนิสัยนี่แหละ ที่หากปล่อยทิ้งไว้ ก็มีแต่จะทำให้คุณตั้งหลักการออมไม่ได้ซะที สลัดทิ้งนิสัยฟุ่มเฟือยให้อยู่กับปีจอนี่แหละ ปีหมูที่กำลังจะคืบคลานมาถึงนี้ ขอให้คุณคิดหน้าคิดหลังก่อนทุกครั้งที่จะจับจ่าย ใช้สอยอย่างมีเหตุมีผล และให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์

๔.สร้างหนี้ซ้ำเติมตัวเอง
หมุนเงินไม่ทัน โชคดีที่กู้หนี้นอกระบบมาแก้สถานการณ์ไว้ได้ทัน!!!
ก็เห็นเจ้าหน้าที่แบงก์ที่โทรมา เขาบอกว่าให้ดอกเบี้ยถูกเป็นพิเศษก็เลยกู้ไว้ พอดีกำลังอยากซื้อทีวีเครื่องใหม่!!!
เพิ่งตกลงทำบัตรเครดิตใบใหม่ไป ตอนนี้มี 5 ใบแล้ว เผื่อไว้ก่อน จะได้กดเงินจากบัตรใหม่มาโปะหนี้บัตรเก่า!!!
พอทีเถอะ สำหรับการสร้างหนี้ขึ้นมาซ้ำเติมตัวเอง จำไว้ให้ขึ้นใจ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สายพันธ์ไหนก็ช่าง ก็คอยแต่จะบั่นทอนสุขภาพทางการเงินของคุณทั้งสิ้น
จะบอกให้สลัดหนี้ทิ้งรับปีหมู คงไม่หมูอย่างที่คิด เพราะฉะนั้น ก็ให้โละทิ้งนิสัยชอบสร้างหนี้ ใจแข็งเข้าไว้อย่าเผลอไปใช้บัตรเครดิตกดเงินสด อย่าหลงคารมแบงก์ที่มักจะสร้างโปรโมชั่นกู้เงินด้วยดอกเบี้ยถูกๆ ในช่วงแรก อย่าคิดสั้นด้วยการหันไปกู้หนี้นอกระบบ
ให้ปีหมูที่กำลังเดินทางมาถึง เป็นปีที่คุณค่อยๆ ปลดเปลื้องหนี้อย่างมุ่งมั่นและตั้งอกตั้งใจ อย่าริไปกู้อะไรสร้างหนี้เพิ่มให้ชีวิตอีก อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการสางหนี้ให้หมดอย่างรวดเร็ว แต่ขอให้อดทนแล้ววันหนึ่งอิสรภาพทางการเงินก็จะอยู่เคียงข้างคุณ

๕.มองข้ามเรื่องที่ควรใส่ใจเปิดดูสเตทเมนท์บัตรเครดิตเสร็จ ก็ขยำทิ้งลงถังขยะ ขี้เกียจเก็บไว้ รกเปล่าๆ !!!!
อ๋อ ใบเสร็จค่าประกัน ค่างวดผ่อนบ้านเหรอ จ่ายแล้วก็แล้วกัน เก็บไว้ทำไม!!!
ไม่ค่อยได้สนใจหรอกเรื่องลงทุนน่ะ ซื้อกองทุนไว้แล้วก็ปล่อยให้มืออาชีพเขาบริหารไป!!!

ถ้าเหล่านี้คือ พฤติกรรมปกติของคุณ น่าจะปรับเปลี่ยนซะ เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ที่ใส่ใจเรื่องที่ดีมีประโยชน์
เช่นเรื่องบัตรเครดิต ไม่ใช่สักแต่ว่าเปิดมาดูแล้วขยำทิ้ง แต่ตรวจตราซะหน่อยว่ามีอะไรโผล่มาอย่างผิดปกติหรือเปล่า หรือแม้แต่ค่างวดผ่อนบ้านผ่อนรถหรือผ่อนอะไรก็ตาม ทางที่ดีควรเก็บไว้ก่อน เผื่อว่ามีปัญหาขึ้นมาจะได้งัดใบเสร็จมายืนยันการชำระของคุณได้

ส่วนเรื่องลงทุนหรือออมก็เช่นกัน เมื่อทำธุรกรรมการเงินอะไรก็แล้วแต่ อย่าได้เพิกเฉยหรือละเลย แต่ต้องติดตามผลการลงทุน เก็บหลักฐานการลงทุนหรือออมเอาไว้ หากปีก่อนๆ คุณยังมองข้ามหรือละเลยเรื่องที่ควรใส่ใจล่ะก็ ยังไม่สายเกินไป เริ่มซะตั้งแต่ปีหมูนี่แหละ




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2550 22:57:54 น.
Counter : 527 Pageviews.  

1  2  3  4  

JazzLover
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




หนุ่มราศีมังกร เลือดกรุ๊ปโอ ตัวโต ขี้ใจน้อย เหงาบ้างเป็นบางอารมณ์ และชอบหาเพลงมาฟังแก้เหงาประจำ...ฟังเพลงทุกประเภท
New Comments
Friends' blogs
[Add JazzLover's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.