...แต่ละคืนวันที่ผันผ่าน มีเรื่องราวหลากหลายให้ค้นหา ...วานนี้ พรุ่งนี้ มินำพา ...เพียงรู้ว่า ทำวันนี้ให้ดีก็เพียงพอ ...มีความสุขกับทุกจังหวะของชีวิต
Group Blog
 
All blogs
 
ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น ....เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่



ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น
เด็กๆ เปรียบเหมือนผ้าขาว เราเติมสีอะไรลงไปผ้าก็จะเป็นสีนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการแต่งแต้มให้ผ้าขาวของเรามีสีสวยสดใสอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่บรรจงวาดสีสันลงไปบนผืนผ้าของเรา

ลูกของเราก็เช่นกันพ่อแม่เปรียบเสมือนครูคนแรกและเป็นผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดที่ลูกพร้อมจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด เพราะฉะนั้นหากเขาได้รับการฝึกฝนไปในทางที่ดี เขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น เป็นคนดีของสังคม ฟังดูเหมือนยาก จะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่าย คงขึ้นอยู่กับการแบ่งเวลาของพ่อแม่ และการใช้ช่วงเวลาที่อยู่กับลูกให้เป็นประโยชน์ในการให้ความรัก ความเข้าใจและการอบรมสั่งสอนในสิ่งที่ดีงาม ตลอดจนเป็นแม่แบบที่ดีของลูก

เรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน นับเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของสังคมในยุคปัจจุบันและต้องยอมรับว่าการใช้จ่ายเกินตัวและการไม่รู้จักเก็บออมของหลายคน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก บางครอบครัวเลี้ยงลูกแบบตามใจอยากได้อะไรซื้อให้ทุกอย่าง มีสาเหตุหลักๆ ไม่กี่สาเหตุ คือ มีลูกยากหรือลูกคนเดียว กว่าจะมีได้สักคนต้องหาหมอแล้วหาหมออีก ทำทุกวิถีทาง พอได้ลูกมาสักคนเลยกลายเป็น "เทวดาน้อย หรือฮ่องเต้น้อย" ของครอบครัวไปตามระเบียบ สารพัดจะตามใจ อยากได้อะไรต้องได้ดังใจจนติดเป็นนิสัยถึงตอนโต เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ฟังใคร

บางคนทำงานแล้วยังแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่เลย เพราะไม่ได้ฝึกให้รู้จักการใช้สอยอย่างประหยัดตั้งแต่เด็ก เรื่องการเก็บออมยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นลูกคนเดียวจะเป็นแบบนี้ทุกคน พ่อแม่หลายคนก็เข้าใจและสอนลูกในเรื่องการใช้จ่ายและเก็บออมได้เป็นอย่างดี อีกประเภทหนึ่งคือ ไม่มีเวลาให้ลูก ใช้เงินเลี้ยงลูกแทน ลูกอยากได้อะไรซื้อให้ทุกอย่างโดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่

เพราะฉะนั้นตั้งแต่เขาเกิดมาจนโตเข้าเรียนและเริ่มทำงาน เขาทราบอย่างเดียวว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างและเงินหาได้ไม่ยาก ต้องการเมื่อไรแบมือขอพ่อแม่ ทุกอย่างสำเร็จได้ดั่งใจหมาย จะไม่กระตือรือร้นเพราะรู้ว่ามีที่พึ่ง แต่พ่อหรือแม่ก็ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดไป เขาต้องมีครอบครัว ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่น

อีกแบบคือ พ่อแม่ที่มีชีวิตลำบากมาก่อน เมื่อมีลูกก็ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตัวเอง ลูกอยากได้อะไรก็พยายามหาให้ทุกอย่าง แต่หากการให้นั้นไปพร้อมกับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักคุณค่าของเงินและการใช้จ่ายอย่างประหยัด เด็กก็น่าจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปได้ ทำให้รู้จักคุณค่าของเงิน พร้อมกับสร้างนิสัยการออมตั้งแต่เด็ก

พ่อแม่หลายคนชอบคิดว่าเขายังเด็กอยู่ไม่รู้เรื่องหรอกโตขึ้นค่อยสอน แต่ที่จริงสิ่งที่เขาได้รับมาตั้งแต่เด็กจะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึก เข้าไปเรื่อยๆ จนเมื่อโตขึ้นทำให้แก้ไขได้ยากมาก และเราอาจจะถูกข้อหา "พ่อแม่รังแกฉัน" ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ในเรื่องของการปลูกฝังนิสัยการใช้จ่ายและการเก็บออมนี้ นอกจากครอบครัวแล้ว โรงเรียน หรือที่ทำงานยังมีส่วนช่วยในการสร้างนิสัยการออมได้ เช่น โรงเรียนอนุบาลหรือชั้นประถมอาจจัดโปรแกรมรณรงค์ให้เด็กรู้จักการออมโดยการแจกกระปุกออมสินคนละใบ ใครเก็บได้เต็มก่อนมีรางวัลแต่มีข้อแม้ว่าเก็บวันละไม่เกินเท่าไร? เพื่อให้เด็กมีเงินเหลือสำหรับรับประทานอาหารด้วย

ข้อสำคัญ พ่อแม่ต้องให้ความร่วมมือในการกระตุ้นให้เด็กพยายามในการหยอดกระปุก แต่ห้ามหยอดให้อย่างเด็ดขาด ในที่ทำงานก็อาจตั้งเป็นชมรมคนออมเงิน หรือคลินิกวางแผนการเงิน เพื่อพนักงานจะได้เห็นความสำคัญของการออมตั้งแต่อายุยังน้อย และการสร้างวินัยในการออมซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน

ครอบครัวเป็นสถานที่แรกที่สำคัญในการสร้างนิสัยการใช้สอยอย่างประหยัดและฝึกนิสัยการออมให้กับเด็ก ต่อมาคือโรงเรียนและสถานที่ทำงาน ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ รับประกันได้ว่าคนไทยเราจะมีสุขภาพการเงินที่แข็งแรงและจะมีชีวิตบั้นปลายที่สุขสมบูรณ์ ไม่เป็นภาระของสังคมและลูกหลาน



Create Date : 10 เมษายน 2550
Last Update : 11 เมษายน 2550 23:40:39 น. 0 comments
Counter : 568 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

JazzLover
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




หนุ่มราศีมังกร เลือดกรุ๊ปโอ ตัวโต ขี้ใจน้อย เหงาบ้างเป็นบางอารมณ์ และชอบหาเพลงมาฟังแก้เหงาประจำ...ฟังเพลงทุกประเภท
New Comments
Friends' blogs
[Add JazzLover's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.