Carpe diem

MonkeyFellow
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add MonkeyFellow's blog to your web]
Links
 

 
ถามว่าวันมีกี่วัน

จากหนังสือ แสดงกิจจานุกิตย์
๏ ถ้าเขาถามว่าวันมีกี่วัน แก้ว่ามีเจ๊ดวัน วันหนึ่งกี่โมง แก้ว่ากลางวัน ๑๒ โมง กลางคืนนับ ๑๒ ทุ่ม โมงหนึ่ง ๑๐ บาท ว่าอีกอย่างอนึ่ง วันกับคืนหนึ่งเปน ๖๐ นาที นาทีหนึ่งเปน ๔ บาท บาทหนึ่ง ๑๕ เพ็ชนาที เพ็ชนาทีหนึ่ง ๖ ปราณ ปราณหนึ่ง ๑๐ อักษร อย่างนี้มาตราไท ถ้าจะว่าตามพวกที่เขาใช้นาฬิกาพก เขาคิดเอาเทพจรผู้ชาย ที่อายุตั้งอยู่ในมัชฌิมไวย เทพจรนั้นเดินเสมอทีหนึ่ง หนึ่งเขาเอามาตั้งเรียกว่าสกัน ๖๐ สกันเปนมินิตย ๖๐ มินิตยเปนโมงหนึ่ง เขาคิดตั้งแต่ล่วงเที่ยงคืนไปจนเปนวันน่าจนถึงเที่ยงวัน เรียกว่าเวลาเช้า บ่ายโมงหนึ่งไปจนสองยามเรียกว่าเวลาค่ำ ก็เปน ๒๔ โมงเหมือนกัน ถ้าจะเรียกตามไท สกันหนึ่งก็เรียกว่าวินาที ๖๐ วินาทีเปนมหานาที ๖๐ มหานาทีเปนโมงหนึ่ง ๚ะ

ถ้าจาก มูลบทบรรพกิจ 

วันมีชื่อเจ็ดวันหนา วันอาทิตย์มา วันจันทร์ วันอังคารนี้ ๚ะ

๏ วันพุฒวันพฤหัศบดี วันศุกรศักดิ์ศรี วันเสาร์ครบเสร็จเจ็ดวัน ๚ะ

๏ กลางวันกลางคืนควบกัน ท่านนับเปนวัน หนึ่งควรจะใส่ใจจำ ๚ะ

๏ วันหนึ่งนั้นแปดยามย่ำ กลางวันท่านกำ หนดไว้ว่าสี่ยามมี ๚ะ

​๏ กลางคืนก็นับยามสี่ วันกับราตรี จึงเปนแปดยามตามใช้ ๚ะ

๏ ยามหนึ่งสามนาลิกาไซร้ นาลิกาท่านใช้ กลางวันท่านเรียกว่าโมงนา ๚ะ

๏ กลางคืนเรียกว่าทุ่มหนา นาลิกาหนึ่งรา ได้สิบบาดท่านบอกไว้ ๚ะ

๏ บาดหนึ่งสี่นาทีไทย นาทีหนึ่งได้ สิบห้าเพชะนาที ๚ะ

๏ เพชะนาทีหนึ่งนี้ หกปราณด้วยดี ปราณหนึ่งสิบอักษรไซ้ ๚ะ

จะเห็นว่า โมงหนึ่ง สิบบาท ตรงกัน แต่ นาทีหนึ่งเปน ๔ บาท บาทหนึ่ง ๑๕ เพ็ชนาที ไม่ตรงคาดว่าน่าจะมีการผิดพลาด

๖๐ สกัน  second เปนมินิตย  minute  
ตำราเทพจร หรือเทพจรประจำกาย เป็นตำราดูฤกษ์ยามสำหรับการเดินทาง สมัยโบราณมีความเชื่อว่าคนเราทุกคนเกิดมา
จะมีเทวดารักษากันทุกคน เพื่อร่วมสร้างบารมีกัน เพราะเทวดานั้นต้องอาศัยมนุษย์ในการสร้างบารมี ทุกคนจึงมีเทวดารักษา และคุ้มครอง
เทพจรจึงหมายถึง เทวดาที่ดูแลรักษาในการเดินทางไกล ไปต่างถิ่น ย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย
มัชฉิมไวย ปานกลาง ๑๖ ถึง ๓๐ ปี

จากบันทึกความรู้ต่างๆ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ  
ปราณ เข้าใจว่าหมายถึงหายใจ แต่เปนสกันเดียวแห่งมาตรานาฬิกากล ต้องเข้าใจว่าเปนหายใจออกหรือเข้าครั้งหนึ่ง อักษร เข้าใจว่าหมายถึงเขียนหนังสือ แต่สกันละ ๑๐ คำนั้นเปนไปไม่ได้ เรวกว่าเขียนชวเลขไปเสียอีก คำว่าทุ่มโมงนั้น สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ทรงสันนิษฐานว่า ทีกลางวันเขาจะตีด้วยฆ้อง กลางคืนตีด้วยกลอง เหนชอบด้วยตามที่ทรงสันนิษฐานยิ่งนัก

เวลาเที่ยงคืนซึ่งเรียก สองยาม นั้น เป็นเวลาที่มีการย่ำกลอง ๒ ลา คือ ๒ ชุด และเป็นเวลาที่มีการเปลี่ยนยามเป็นครั้งที่สอง

จากสานส์สมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๓
คำว่า “นาฬิกา” ที่ดอกเตอรแลงกาต์พบใช้ในกฎหมายเก่าว่า “กะลาลอย” นั้นดีหนักหนา ด้วยได้ความชัดว่าเครื่องกำหนดเวลาของไทยเดิมเรียกเป็นภาษาไทยตามวัตถุที่ใช้ว่า “กะลาลอย” มาเปลี่ยนใช้เป็นคำภาษาสังสกฤตว่า “นาฬิกา” ต่อมาภายหลัง แต่ก็หมายความว่ากะลาเหมือนกัน ครั้นว่าได้เครื่องกลอย่างฝรั่งสำหรับกำหนดเวลาเข้ามา ก็เอาชื่อเครื่องใช้ที่อยู่ก่อนมาเรียก “นาฬิกา” ยังคิดเห็นต่อไปว่าคำชั่วโมงเดิมเห็นจะเรียกว่า “ล่ม” หรือ“กะลาล่ม” แล้วจึงเปลี่ยนไปเรียกว่า นาฬิกา แต่คำ “นาฬิกา” ใช้แต่บุคคลชั้นสูง คนสามัญจึงเรียกกำหนดเวลาตามเสียงฆ้องที่ตีกลางวันว่า “โมง” และเรียกตามเสียงกลองที่ตีกลางคืนว่า “ทุ่ม” เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กเคยเข้าไปดูในโรงนาฬิกา ยังจำได้เป็นเค้าว่าอ่างน้ำสำหรับลอยกะลายังอยู่ แต่ใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งดูเวลา ถึงกระนั้นยังมีไม้คะแนนทำด้วยไม้ไผ่เหลาขนาด ไม้ตีกลองของเจ๊กผูกเชือกล่ามติดกันดูเหมือน ๑๒ อัน ถึงเวลาชั่วโมง ๑ ก็เอาไม้คะแนนขึ้น​ปักราวไว้เป็นสำคัญอัน ๑ เรียงกันไป คงถอนออกเมื่อย่ำรุ่งครั้ง ๑ ย่ำค่ำครั้ง ๑ หม่อมฉันนึกว่าที่โรงนาฬิกาหลวงเห็นจะใช้กะลาลอยมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ เพิ่งเอานาฬิกาฝรั่งไปตั้งต่อเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมได้ทรงประดิษฐ์เครื่องหมายเวลาขึ้นอย่าง ๑ เป็นแผ่นกระดานขนาดสักเท่ากระดานเครื่องเล่นน้ำเต้ากุ้งปูปลา เขียนหน้านาฬิกาติดทั้งเข็มยาวและเข็มสั้นเรียงไว้เป็น ๒ แถว หลายๆ วันเห็นเอาไปถวายทรงตั้งเข็มหน้านาฬิกาในแผ่นกระดานนั้นครั้ง ๑ ดูเหมือนมีพระราชประสงค์จะให้ตีระฆังตรงกับเวลาโคจรพระอาทิตย์ แต่ยังเด็กนักไม่เข้าใจได้แน่

วิธีการนับเวลาจากกะลา ในขั้นแรกต้องเริ่มจากการแบ่งกะลาออกเป็นซีกหนึ่งก่อน โดยกะลาซีกหนึ่งจะแบ่งเป็น ๑๐ ส่วน จากนั้นจึงบากรอยลงไปในกะลา ๙ เส้น เรียกว่า บาด ( ๑ เส้น มีค่าเท่ากับ ๑ บาด) และเจาะรูที่ก้นกะลาเพื่อให้น้ำไหลเข้า เมื่อวางกะลาลงในน้ำน้ำไหลเข้าถึงเส้นไหน นับเป็นเศษของนาฬิกาเท่านั้น จนกระทั่งน้ำไหลเข้าเต็มกะลาและกะลาจมลงจึงนับเป็น ๑ ชั่วโมง

ยังพบการนำกะลาไปใช้จับเวลาเมื่อเล่นพนันสัตว์ต่างๆ อีกด้วย เช่น ที่โรงนาฬิกาหลวงเก่า ใช้กะลาจับเวลาสำหรับชนไก่ ชนนกและชนปลา หรือการตีไก่ที่ใช้จอกเจาะก้นลอยในขันเมื่อจอกจมลง จะเรียกว่า “อันจม” ก็จับไก่แยกออก และนำไปให้น้ำ

กะลาจมน้ำหมดก็เรียก"หนึ่งอัน"แล้วหยุดพักและยกกะลาขึ้น
จากการยกขึ้นครั้งหนึ่งระหว่างที่พักก็เรียกเป็น"พักยก" และพอนับกันว่า"ยกครั้งที่ 1" "ยกครั้งที่ 2" นับกันไปเรื่อยๆภายหลังก็เลยเรียกช่วงเวลาแข่งขันทั้งชนไก่และชกมวยเป็น"ยก"มาจนทุกวันนี้(ทั้งๆที่ไม่ได้ยกอะไรแล้ว) โดยชนไก่มักกำหนดไว้ไม่เกิน 12 อัน(ยก) ส่วนมวยไทยโบราณไม่จำกัด คือสู้จนแพ้ชนะกันไปข้างถึงจะเลิก

เรื่องดูเวลาจากแดดใช้ตามชนบท หรืองานบวช
ในเมื่อเสร็จกิจอุปสัมปทานี้ ต้องดูเงาเหยียบชั้นฉายว่ากี่ชั้น เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติให้กำหนดวันเวลาที่บวชไว้สำหรับเมื่อเวลาพบเพื่อนพรหมจรรย์ จะได้รู้พรรษาอายุแก่อ่อน 
๕) ตรัสถึงประดิทินอย่างหยาบ มีอย่าง ๑ ที่เรียกว่า “ชั้นฉาย” อันเป็นต้นศัพท์ของ “นามฉายา” พระภิกษุ เดิมหม่อมฉันก็ไม่รู้ว่ากำหนดอย่างไร มาจนสมัยเมื่อออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้วชอบไปอยู่ที่บ้านแป้ง อำเภอบางประอินเนืองๆ หม่อมฉันไปช่วยเขาบวชนาคที่วัดบ้านแป้ง พระครูธรรมทิวากร (เปรม) วัดชุมพลนิกายาราม เป็นอุปัชฌาย์พอเวลาสวดญัติแล้ว แกร้องถามว่า “ดูชั้นฉาย อยู่หรือ” มีเสียงคนอยู่ข้างโบสถ์ร้องรับว่า “ดูอยู่แล้ว” หม่อมฉันหูผึ่งลุกออกไปดู เห็นคนนั้นยืนหันหลังไปทางดวงพระอาทิตย์ให้มีเงาของตัวไปข้างหน้า ปักไม้หมายที่ปลายเงา แล้วเดินเอาเท้าวัดแต่ตรงที่ยืนอยู่ไปจนถึงหลักหมายปลายเงากี่ชั่วเท้าก็นับว่าเท่านั้นชั้น ได้เคยเห็นแต่หนเดียวเท่านั้น


ชั้นฉาย   หมายถึง น. การสังเกตเวลาด้วยมาตราวัดอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่าเหยียบชั้น คือ เอาเท้าวัดเงาของตัวคนที่ยืนกลางแดด ครั้งโบราณกําหนดเวลาโดยการวัดเงานั้นเป็นช่วงเท้า คือ ๑ ชั้นฉาย เท่ากับเงายาว ๑ ช่วงเท้า, มีพิกัดอัตราดังนี้ ๑๐ อักษร เป็น ๑ เมล็ดงา, ๔ เมล็ดงาเป็น ๑ เมล็ดข้าวเปลือก, ๔ เมล็ดข้าวเปลือก เป็น ๑ องคุลี, ๑๕ องคุลี เป็น ๑ ชั้นฉาย.

ชั้นฉายก็ได้แก่นาฬิกาแดดนั้นเอง แต่ที่วัดด้วยย่างเท้านั้นทำไปด้วยเข้าใจผิด ควรจะมีหลักปักไว้แล้วแบ่งเงาเป็นชั่วโมง

 ฉาย  แปลว่า ร่ม หรือ เงา  เช่น  รุกขฉายา  แปลว่า ร่มไม้  หรือเงาไม้    พระฉายาลักษณ์  รูป  หรือลักษณะที่เป็นเงา  “พระฉาย”   เงา  หรือ รูป  พระพุทธเจ้า แต่ในที่นี้หมายเพียงถึงเงา เงาของอะไรเงาของไม้ที่เกิดแต่การส่องแสงของดวงอาทิตย์  คือการเอาไม้มาปักไว้เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาขอบฟ้าก็สาดแสงส่องกระทบไม้เป็นเงา (อย่างที่เขาเรียกว่า “นาฬิกาแดด”)  แล้วก็ขีดดินแบ่งไว้เป็นชั้น ๆ ชั้นละ ๑ ชั่วโมง    
เข้าไปหาศูนย์กลาง คือ ไม้

๖        โมงเช้า  ตะวันเพิ่งขั้นเงาไม้ก็ทอดยาวหน่อย ก็เป็น ๗ ชั้น

๗       โมงเช้า ตะวันขึ้นสูงเงาไม้ก็หดสั้นเข้ามาเหลือเพียง ๖ ชั้น

ตะวันยิ่งสูงขึ้นเงาก็ยิ่งสั้น ชั้นก็หดเข้ามาเรื่อย ๆ เป็น ๕ ชั้น  ๔  ชั้น  ๓  ชั้น และ  ๒  ชั้น

ในจารึกวัดศรีชุม (หลักที่สอง)  มีว่า “ปาฏิหาริย์แต่อุ่นเถิงสองชั้นฉายจักใกล้เที่ยง” 

สองชั้นฉายก็คือ ๑๑ นาฬิกานั่นเอง ชั้นเดียวก็คือเที่ยง  พอเลยเที่ยงไปตะวันก็“บ่าย”
(แปลว่า ลง)  หรือ ชาย  บ่ายโมงก็ สองชั้นบ่าย  หรือบ่ายสองชั้นก็แล้วแต่  บ่ายสองโมงก็สามชั้น  เรื่อยไปจนถึง  ๖ โมง ก็ ๗ ชั้น เท่ากันกับ     ตอนเช้า

การนับเวลาของชาวป่าแถบเมืองเหนือ “จะยกมือเหยียดแขนตรงออกไปด้านหน้าตามทิศเวลาเช้าและบ่าย แล้วกางนิ้วมือเป็นคืบ จากนั้นจึงไล่ดูตั้งแต่หัวแม่มือของตนเองไปจับขอบฟ้าแล้ววัดคะเนคืบขึ้นไปจนถึงดวงอาทิตย์ ถ้าดวงอาทิตย์สูงคืบหนึ่ง ก็กำหนดว่าโมงหนึ่ง และนับไปจนถึง ๖ คืบ เท่ากับเวลาเที่ยง” 

เวลา 1 วัน เทียบกับ ดวงอาทิตย์(Solar day) หรือวัน สุริยคติคือการวัดช่วงเวลาที่โลก หมุนรอบตัวเอง 1 รอบโดยสังเกตดวงอาทิตย์กล่าวคือถ้าเริ่มวัดเวลาตั้งแต่เห็น ดวงอาทิตย์อยู่สูงสุดวัน แรกจนถึงเวลาเห็นดวงอาทิตย์อยู่สูงสุดในวันถัดไป จะได้ช่วงเวลา1 วัน เทียบกับดวงอาทิตย์ซึ่ง นำ มาใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เรียกสั้น ๆ ว่า 1 วันหรือ 24 ชั่วโมง ส่วนเวลา1 วัน เทียบกับดาวฤกษ์หรือดาราคติ(Sidereal day) คือการวัดช่วงเวลาที่โลก หมุนรอบตัวเอง 1 รอบโดยเปรียบเทียบกับ ดาวฤกษ์เช่น ช่วงเวลาระหว่างการเห็นดาวซีรีอัสผ่านเมริเดียน (จุดที่ดาวขึ้นไปสูงสุดบนท้องฟ้า) คร้ังแรกถึงคร้ังถัดไป แสดงว่า1 วัน ดาราคติเป็นช่วงเวลาที่ โลกหมุนรอบแกนสมมติไปได้ 360 องศา พอดี แต่1 วันสุริยคติเป็นช่วงเวลาที่โลกต้องหมุนไปประมาณ361องศา เพราะโลกไม่ได้อยู่กับ ที่ขณะ หมุนรอบตัวเองแต่เคลื่อนโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ตลอดเวลาการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลกไป ทางทิศตะวันออก ทำ ให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นว่าดวงอาทิตย์ย้ายตำแหน่งไปทางทิศตะวันออกของจุดเดิมประมาณ 1 องศาต่อวัน (โลกเคลื่อนไปได้ 360องศา ในเวลา 365.25 วัน ทำให้ใน 1 วัน โลกเคลื่อนไป ประมาณ 1องศา) ดังน้้นโลกจึงต้องหมุนรอบตัวเองต่อไปอีก1องศาหรือ 4 นาที จึงจะเป็นเวลา 1 วันสุริยคติ
 ถ้า 1 วันสุริยคติ = 24 ชั่วโมง 1 วันดาราคติจะประมาณ 23 ชั่วโมง 56 นาที หรือเวลาเทียบกับดาวเร็วกว่าเวลาเทียบกับดวงอาทิตย์วันละ4 นาที
sidereal day is approximately 23 hours, 56 minutes, 4.0905 seconds (24 hours − 4 minutes + 4.0905 seconds = 86164.0905 s = 23.9344696 h).




Create Date : 26 สิงหาคม 2563
Last Update : 3 กันยายน 2563 13:16:36 น. 0 comments
Counter : 692 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.