Group Blog
 
All Blogs
 

Farewell

จริงๆ blog นี้ก็ตายไปนานแล้ว
แต่เผื่อมีใครหลงเข้ามาดู ตอนนี้เจ้าของ blog พยายามชุบชีวิต blog ใหม่ แต่ย้ายที่ไปแล้วจ้ะ ขอปิด blog นี้อย่างเป็นทางการ

ที่อยู่บ้านใหม่

//varasorn.spaces.live.com/




 

Create Date : 02 มกราคม 2550    
Last Update : 2 มกราคม 2550 19:10:33 น.
Counter : 862 Pageviews.  

Hotel Rwanda

How come I don't know???




เคยไหมเวลาดูหนังสักเรื่องแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังดูอยู่มันเป็นเกินกว่าหนังไปแล้ว ผมเคยดูหนังบางเรื่องที่ดีๆจนตัวเองคิดไปอย่างนั้น หรือหนังอย่าง The Matrix ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเกินกว่าหนัง เมื่อมันกลายเป็นเหมือนลัทธิข้ามชาติลัทธิหนึ่ง บางคนบอกว่า The Thin Red Line หรือหนังอีกหลายๆเรื่อง เป็นเหมือนบทกวีที่สวยงาม กับเรื่องนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นมากกว่าหนังไปแล้ว...ในอีกแบบหนึ่งที่แตกต่าง เรื่องนี้ผมคงพูดเกี่ยวกับคุณภาพขององค์ประกอบต่างๆที่เป็นหนังไม่ได้มากนัก แต่คงเป็นเรื่องราวในหนัง และเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า อย่างไรก็ตาม จะพยายามไม่เปิดเผยเนื้อเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านดูสนุกน้อยลงอย่างดีที่สุด (ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียกว่าดู ‘สนุก’ ได้หรือเปล่า)

Hotel Rwanda บอกเล่าเรื่องราวโหดร้ายที่สร้างวีรบุรุษ ว่าด้วยการสังหารหมู่ในรวันดา ประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งชาวเผ่าฮูตูฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเผ่าทุตซี เมื่อ Paul Rusesabagina ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมในรวันดา ได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวทุตซีให้หลบซ่อนอยู่ในโรงแรมของเขานับพันคน หนังเรื่องนี้ชนะรางวัลขวัญใจมหาชนจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ซึ่งนับเป็นเทศกาลใหญ่ของโลกเทศกาลหนึ่ง

ที่น่าตกใจก็คือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนนี่เอง แต่ชาวโลกโดยทั่วไปกลับไม่ได้รับรู้ถึงความรุนแรงครั้งนี้กันเท่าไหร่นัก เท่าที่ทราบในตอนนี้ มันคงเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในโลก มีคนตายราวๆ 8 แสนคน มากกว่าที่นาซีฆ่าชาวยิวในสงครามโลกราว 3 เท่า และเหตุการณ์ที่กินเวลาประมาณ 3 เดือนก็ทำให้ถ้านับจำนวนคนที่ถูกฆ่าต่อวัน มากกว่าเหตุการณ์สงครามโลกครั้งนั้น 5 เท่า ผมเองในสมัยนั้นก็โตพอจะรู้เรื่องรู้ราวและติดตามข่าวสารรอบโลกทั่วไปบ้างแล้ว แต่กลับจำไม่ได้ว่าเคยได้ยินเรื่องอย่างนี้มาก่อนเลย และถ้าเคยก็คงเป็นการอ่านหัวข้อข่าวเล็กๆ หรือดูรายงานข่าวสั้นๆทั่วๆไป จนไม่ได้ใส่ใจจะจดจำเท่าไหร่นัก คงต้องยอมรับตรงนี้ก่อนว่าผมเป็นคนที่ติดตามข่าวค่อนข้างน้อย และปกติก็ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องทางการเมืองมากนัก แต่จากที่ได้คุยกับเพื่อนบางคนที่สนใจเรื่องพวกนี้ ก็ไม่มีใครรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง บางคนไม่เคยได้ยินเช่นกัน บางคนก็เคยได้ยินผ่านๆ แต่ไม่รู้ว่าเรื่องราวมันรุนแรงขนาดไหน

ขอแนะนำว่าใน Bioscope เล่มล่าสุด (หน้าปกแดงแจ๋รูปน้องพลอยในร่างของบุปผาชูสองนิ้ว) มี Footnote ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ค่อนข้างละเอียด เขียนโดยพี่เต้ ไกรวุฒิ หัวหน้ากองบรรณาธิการของหนังสือ และผมเชื่อว่าตอนนี้เมื่อหนังเรื่องนี้ออกฉายและได้รับคำชมมาจากทั่วโลกแล้ว เรื่องราวเหล่านี้คงมีให้อ่านมากขึ้นถ้าตั้งใจค้นหาในอินเตอร์เน็ต หรือลองไปตามเว็บไซต์ต่างประเทศเกี่ยวกับหนังใหญ่ๆที่มีที่ให้ผู้ใช้มาโต้เถียงพูดคุยกันอย่างเช่น //www.imdb.com เป็นต้น

ขอยกตัวอย่างบางส่วนของเหตุการณ์มาเล่า ขออนุญาตพี่เต้, นิตยสาร Bioscope และขอขอบคุณไว้ตรงนี้เลยนะครับ (นี่เป็นเพียงแค่ย่อๆ) ใครที่อยากดูหนังก่อนค่อยมาอ่าน ก็ข้ามส่วนต่อไปไปก่อนแล้วกันครับ (แต่คิดว่ามันไม่ได้ Spoil อะไรมากนักนะครับ ก็แล้วแต่)

สาเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้คร่าวๆ เมื่อหลังสงครามโลก ประเทศรวันดาซึ่งประกอบด้วยชนเผ่าฮูตูผู้เป็นเผ่าพื้นเมืองและมีจำนวนมากกว่า และชนเผ่าทุตซีซึ่งเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจากเอธิโอเปียได้ตกเป็นของอาณานิคมของเบลเยียม ในระหว่างการปกครอง เบลเยียมกลับไปผูกมิตรและให้อำนาจทางการเมืองและสังคมแก่ชาวเผ่าทุตซีมากกว่า โดยสองเผ่าจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน และทหารเบลเยียมได้แบ่งแยกชาวเผ่าทั้งสองเป็นลายลักษณ์อักษรในบัตรประชาชน รัฐบาลทุตซีสมัยนั้นก็กดขี่ข่มเหงชาวฮูตูอยู่ ทำให้ชาวฮูตูต้องทนลำบากยากแค้น จนในที่สุดได้ก่อการปฏิวัติขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของเบลเยียมและชนเผ่าทุตซี และจบลงด้วยชัยชนะของชนเผ่าฮูตู ส่วนชาวทุตซีจำนวนมากได้หนีไปประเทศอูกันดา และตั้งกลุ่มกองกำลังแนวหน้ารักชาติรวันดา (RPF) ขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจชาวเผ่าฮูตู

จากนั้นประธานาธิบดี จูเวนัล ฮับยาริมานาของรัฐบาลฮูตู ได้เลือกการเจรจาสันติภาพกับชาวเผ่ารวันดาเพื่อยุติความรุนแรงระหว่างเผ่า แต่ทางเลือกของประธานาธิบดีดูจะไม่เป็นที่พอใจของคนใหญ่คนโตในรัฐบาลหลายคน และหลังการเซ็นสัญญาสงบศึกนั่นเอง ก็มีจรวดมิซไซล์ลึกลับพุ่งตรงไปยังเครื่องบินที่กำลังจะลงจอดของท่าประธานาธิบดี ปลิดชีวิตของท่านผู้นำทันที ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากชาวฮูตูที่โกรธแค้น (แต่เชื่อกันว่าผู้สังหารท่านประธานาธิบดี น่าจะเป็นลูกน้องของท่านเอง ผู้ซึ่งไม่พอใจกับการเซ็นสัญญาสันติภาพ)

ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นเมื่อทหารฮูตูรวมถึงประชาชนบางส่วนออกมาไล่ฆ่าชาวเผ่าทุตซี ซึ่งส่วนนี้คือจุดที่หนังเริ่มนำเสนอ การฆ่ามีเป้าหมายไปที่ชายชาวทุตซีทุกคนตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆถึงชายชรา ด้วยเหตุผลว่าคนพวกนี้อาจกลายไปเป็นกลุ่มกบฏ RPF ได้ ส่วนผู้หญิงถูกนำมาข่มขืน และพวกที่รอดตายจำนวน 2 ใน 3 ก็ถูกทิ้งไว้กับโรคเอดส์ นอกจากนั้น ชาวฮูตูที่รักสันติก็ถูกฆ่าด้วยเช่นกัน โดยคาดว่ามีชาวทุตซีถูกฆ่าตายประมาณ 750,000 คน และชาวฮูตูผู้รักสันติถูกฆ่าตายประมาณ 50,000 คน

สิ่งที่น่าตกใจยิ่งคือในเวลานั้น องค์กรสันติภาพต่างๆได้รับการพัฒนาจนรุ่งเรืองแล้ว และน่าจะหยุดเหตุการณ์นี้ได้ แต่ความจริงและสิ่งที่จะได้เห็นในหนังก็คือ ไม่มีองค์กรใดๆ หรือประเทศอะไรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการยุติเหตุการณ์ครั้งนี้ ในช่วงแรกประเทศผู้นำคืออเมริกา, ฝรั่งเศส, เบลเยียม และทางสหประชาชาติต่างหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ในการบรรยายสถานการณ์ แต่สิ่งที่พวกเขาทำในขณะที่สามารถยับยั้งเหตุการณ์นี้ได้ กลับเป็นการอพยพเฉพาะคนของตัวเองออกจากประเทศ และปฏิเสธการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ทหารของสหประชาชาติไม่สามารถยิงใครได้เพราะไม่ได้รับคำสั่ง และทำหน้าที่ได้แค่เพียงยิงสุนัขที่จะมากัดกินศพของชาวรวันดาเท่านั้น!!! (มีหนังอีกเรื่องชื่อ Shooting Dogs เพิ่งออกฉายปีนี้ ไม่แน่ใจว่าบ้านเราจะได้ดูกันหรือไม่อย่างไร ที่เกี่ยวกับมุมมองของคนขาวในเหตุการณ์นี้ นอกจากนั้น ในช่วงปีที่แล้วถึงปีนี้ มีหนังและสารคดีมากมายที่ออกมาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และเพิ่งทำให้ชาวโลกรู้ซึ้งถึงความรุนแรงครั้งนี้กันมากขึ้น ทั้งๆที่ก่อนนั้นแทบจะไม่มีหนังเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย โดยอาจมีสารคดีเพียงเรื่องสองเรื่อง)

มีนักศึกษาชาวรวันดาสรุปเรื่องราวได้อย่างเห็นภาพรวมว่า “พวกอเมริกากลัวจะเปลืองเงิน พวกเบลเยียมกลัวจะเสียหน้า ส่วนฝรั่งเศสกลัวจะเสียเพื่อน” (ฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลฮูตูและถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งความช่วยเหลือด้านการทหารทั้งก่อนและระหว่างมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์)

เรื่องราวต่อจากที่มีในหนังก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซียุติลง 3 เดือนให้หลัง เมื่อกลุ่ม RPF เข้ายึดกรุงคิกาลีจนรัฐบาลฮูตูและชาวฮูตูราว 2 ล้านคนอพยพไปอยู่คองโกโดยที่ขณะนั้นชาวทุตซีที่มีชีวิตรอดมีอยู่ราว 130,000 คนเท่านั้น แต่นั่นไม่ได้ยุติความรุนแรง เมื่อทหาร RPF ก็ไล่สังหารชาวฮูตูเพื่อเป็นการแก้แค้น โดยใช้ให้เด็กชาวฮูตูไปตามหาพ่อแม่ที่หนีเข้าซ่อนตัวตามป่าเขา เพื่อนำตัวมาสังหาร นอกจากนั้นชาวทุตซีบางส่วนก็อพยพไปยังคองโกด้วย และผู้อพยพก็ยังถูกสังหารจากทหารคองโกอยู่แม้กระทั่งในปัจจุบัน

นอกจากนั้นหลังเกิดเหตุ รวันดาประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมจนถึงปัจจุบันซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ยากจนเป็นอันดับ 3 ของโลก และได้มีการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงครั้งนั้นติดต่อกันมายาวนาน ซึ่งที่น่าตกใจอีกอย่างก็คือในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การตัดสินผู้กระทำผิดยังไม่จบสิ้น โดยเพิ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าชาวรวันดา 1 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 8 ของประชากรทั้งประเทศ จะต้องขึ้นศาลทีละคนเนื่องจากมีส่วนพัวพันกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนั้น และมีคนประมาณ 8 แสนคนติดคุกอยู่ โดยเชื่อกันว่าคงจะมีหลายคนที่เสียชีวิตไปก่อนได้รับการตัดสิน

เหตุการณ์ปัจจุบันยังคงต้องเรียกว่าคุกรุ่น เพราะชาวทุตซีหลายคนยังมีความเชื่อว่าการจะอยู่รอดก็คือต้องปราบปรามชาวฮูตู ส่วนชาวฮูตูก็เชื่อว่าพวกเข้าคงโดนประทับตราบาปจากเหตุการณ์นั้นไปอีกนารน โดยไม่มีใครสนใจความยากแค้นของเขาในสมัยที่รัฐบาลทุตซีปกครองประเทศเลย จึงเป็นไปได้ว่าอาจยังมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นอีกในอนาคต


พูดถึงตัวหนัง สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างนอกจากเรื่องราวคงเป็นการแสดงที่ได้ชิงออสการ์ของ Don Cheadle ในบท Paul ผู้จัดการโรงแรมชาวฮูตู ผู้ที่เราผ่านตาในฐานะตัวประกอบเล็กๆมายาวนาน กับบทที่เด่นและได้แสดงฝีมือเต็มที่ครั้งแรก ซึ่งการแสดงของเขาก็นับว่าสมควรอย่างยิ่งที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ นอกจากนั้นบทภรรยาของ Paul ที่ชื่อ Tatiana ผู้ซึ่งเป็นชนเผ่าทุตซี ก็เล่นได้เด็ดขาดโดย Sophie Okonedo จนได้ชิงออสการ์สมทบหญิงเช่นกัน รวมถึงบทภาพยนตร์ที่ได้ชิงบทภาพยนตร์ดั้งเดิมด้วย นอกจากนั้นผมเชื่อว่าตัวภาพยนตร์เองก็คงพลาดการเข้าชิงไปแค่เพียงฉิวเฉียดเท่านั้นเอง

แต่อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงต้น นอกจากการแสดงที่โดดเด่น และเรื่องราวที่น่าตกใจ ผมคงไม่สามารถกล่าวถึงองค์ประกอบแต่ละส่วนของหนังได้ว่าแต่ละส่วนดีเพียงใด เพราะแค่นั้นก็ทำให้ผมไม่มีความสนใจจะสังเกตอย่างอื่นแล้ว และเป็นการดูหนังที่เหมือนตกเข้าไปอยู่ในเรื่องราวนั้นอย่างเต็มตัว ผมบอกได้แค่หนังเรื่องนี้เป็นหนังดีมากแน่ๆ และเป็นหนังที่ต้องดูเลยทีเดียว คงต้องยกความดีส่วนใหญ่ให้ผู้กำกับ Terry George ในการกำกับหนังใหญ่ครั้งแรก โดยมีเครดิตผลงานเด่นๆคือการเป็นผู้เขียนบทคู่บุญของ Jim Sheridan โดยเฉพาะเรื่อง In the Name of the Father

บทเด่นของหนังนอกจากที่ว่ามายังมีบทของนายพล Oliver (รับบทโดย Nick Nolte) นายพลของสหประชาชาติที่ประจำการในรวันดา โดยเขาได้พยายามช่วยเหลือชาวรวันดาอย่างมากที่สุดแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากเบื้องสูงแต่อย่างใด ว่ากันว่าบทนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆมาจากชีวิตจริงของนายพล Roméo Dallaire ผู้ซึ่งหลังจากได้พบเห็นความเลวร้ายเหล่านั้นมา ได้พยายามทำการฆ่าตัวตายมากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งในเทศกาลหนัง Sundance ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้ ซึ่งนับว่าเป็นอีกเทศกาลที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆของโลกภาพยนตร์ ได้มีสารคดีเรื่อง Shake Hands with the Devil: The Journey of Roméo Dallaire เข้าฉายและเข้าชิงในสายประกวด รวมถึงชนะรางวัลสารคดีขวัญใจมหาชนมาเช่นกัน ว่ากันว่าหลังจากหนังฉายจบ ผู้ชมได้แต่อึ้งตะลึง บางคนเอาแต่ร้องไห้ แล้วท้ายที่สุดก็ลุกขึ้นปรบมือกันยาวนาน

ในหนังมีฉากที่ผมชอบมากๆคือฉากการลี้ภัยของคนขาวจากโรงแรมที่เกิดเรื่อง คงต้องเรียกว่าเป็นฉากที่เจ็บปวดจริงๆ เพราะเราแทบจะว่าอะไรผู้คนเหล่านั้นไม่ได้เลย สิ่งที่เราเห็นก็คือเกือบทุกคนต่างอยากช่วยชาวรวันดาเหล่านั้น บางคนมีความผูกพันกันลึกซึ้ง แต่ก็ต้องแยกจากกันโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย นอกจากนั้นสิ่งที่นักข่าวอังกฤษคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ (รับบทโดย Joaquin Phoenix) พูดขึ้น ทำให้ผมแทบสะอึกเพราะรู้สึกว่าตัวเองก็โดนตำหนิ และมันก็เป็นเรื่องจริงแบบที่ปฏิเสธไม่ได้เลย

อีกหลายๆสิ่งที่ได้รับจากหนังก็คือ ผมรู้สึกเหมือนมนุษย์เกิดมากับความงี่เง่า ทั้งเรื่องที่จุดเริ่มต้นดูไร้เหตุผลกลับนำมาซึ่งความรุนแรงเลวร้ายเกินบรรยาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวิธีที่หนังบอกเล่าเหตุผลและวิธีของการแบ่งแยกชาวเผ่าทั้งสองออกจากกัน), ความงี่เง่าของประเทศและองค์กรผู้มีอำนาจที่ปล่อยให้เรื่องราวบานปลายขนาดนั้นโดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม (จากการคุยกับเพื่อนเรื่องนี้ เค้าได้ให้เหตุผลที่ง่ายๆแต่น่าจะจริงว่า รวันดามันเป็นประเทศห่างไกลในแอฟริกา ที่ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรจะทำเงินให้ประเทศมหาอำนาจพวกนั้นได้เท่าไหร่ เลยไม่มีใครสนใจ), ความงี่เง่าของการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ของชาวโลก คนขาวกับคนดำ, คนดำด้วยกันเองแต่ต่างเผ่า, คนดำเผ่าเดียวกันเองแต่ต่างทัศนคติ ในหนังเราจะได้ยินคำว่าแมลงสาบ ซี่งเป็นคำที่พวกฮูตูที่ใช้ความรุนแรงเรียกพวกทุตซีตลอดหลายสิบครั้ง

นอกจากนั้นผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของความอ่อนแอและความเข้มแข็งของมนุษย์ออกมาได้อย่างสุดโต่งในเวลาเดียวกัน ฉากบางฉากมีการเปลี่ยนอารมณ์ที่รวดเร็วแต่ก็ดูจริง และพาคนดูไปด้วยได้เป็นอย่างดี ทั้งการเปลี่ยนจากความอุ่นใจเป็นความเจ็บปวดโศกเศร้า หรือการที่บทมีคำพูดหรือการกระทำที่ออกติดตลกของตัวละครลงไปในช่วงเวลาที่ออกจะบีบคั้น หรือตึงเครียดอยู่ และบางครั้งในขณะที่คนดูยังหัวเราะตามในลำคอ ก็กลับมาสู่ความตึงงเครียดอีกครั้ง

อีกสิ่งที่ทำได้ดีก็คือการทำให้หนังที่เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยความรุนแรงเช่นนี้ได้รับแค่เรต PG-13 ในอเมริกา ซึ่งน่าจะเป็นจุดประสงค์ที่ทำให้หนังได้คนดูมากขึ้นจากกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งก็ดูเนื้อหาเป็นเรื่องเหมาะสมที่น่าจะต้องศึกษารับรู้กันอยู่ ภาพในหนังไม่ได้มีความรุนแรงถึงกับมากนักขนาดที่ทนดูไม่ได้ เพียงแต่มันสื่อได้ถึงความเลวร้ายของเรื่องราวจนคนดูรู้สึกไปกับเรื่องที่ดูอยู่ได้อย่างเต็มที่

หลายๆคนอาจเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับ The Killing Fields ซึ่งเป็นหนังว่าด้วยการฆ่าล้างในประเทศกัมพูชา แต่ผมยังไม่ได้ดูเรื่องนั้นครับ คงเปรียบเทียบได้กับ Schindler’s List ที่ว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีในค่ายกักกันสงครามโลก แต่สิ่งที่แตกต่างก็มีเห็นได้ชัดหลายอย่าง อย่างแรกคือในขณะที่เรื่องราวการฆ่าในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วโดยทั่วไป แต่เหตุการณ์ในรวันดากลับไม่ได้มีการรับรู้มากนัก หรืออาจจะรับรู้ในฐานะเป็นเรื่องห่างไกลที่ได้ยินผ่านๆ ทั้งๆที่ความรุนแรงนั้นไม่ได้น้อยกว่าเลย ซึ่งทำให้การนำเสนอใน Schindler’s List เหมือนจะเป็นการเล่าเรื่องให้คนดูฟังและแสดงภาพให้เห็นเฉยๆ ในขณะที่ Hotel Rwanda มีหลายๆครั้งที่คนดูก็รู้สึกเหมือนถูกวิพากษ์วิจารณ์พร้อมๆกันไปด้วย และน่าจะส่งผลให้คนที่ได้ดูกระตือรือร้นจะทำอะไรมากขึ้น

เรื่องที่สองคือในขณะที่ Oscar Schindler เป็นวีรบุรุษที่อยู่ในฐานะทางสังคมค่อนข้างสูง มีอำนาจในการช่วยเหลือโดยที่ตัวเองไม่ได้เสี่ยงต่ออันตรายจากเหตุการณ์นัก แต่ Paul Rusesabagina นับว่าเป็นผู้ที่ต้องตกอยู่ในอันตรายจากเหตุการณ์ด้วยโดยตรง และจากในหนังจะเห็นว่ามีหลายๆครั้งที่เขาก็เฉียดตายชนิดเส้นยาแดงผ่าแปดอยู่เหมือนกัน

นอกจากนั้นคงต้องบอกว่าเรื่องราวและภาพใน Hotel Rwanda ออกจะดูดิบกว่า เป็นจริงมากกว่า ให้ความรู้สึกว่าเป็นหนังน้อยกว่า โดยจุดเด่นอย่างหนึ่งของ Schindler’s List น่าจะเป็นการใช้เทคนิคของภาพได้อย่างโดดเด่น ในการเป็นหนังขาว-ดำ ที่มีฉากสำคัญของหนังที่เด็กผู้หญิงใส่เสื้อสีแดง และใช้การถ่ายภาพที่สวยงาม ขณะที่ Hotel Rwanda ใช้ภาพที่ค่อนข้างไร้การประดิดประดอยในแง่ของมุมกล้องที่จัดวางมากมายนัก และดำเนินเหตุการณ์โดยคนดูจะอยู่ในจุดเดียวกับพระเอกตลอดเวลา ซึ่งทำให้คนดูรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์มากกว่า

สิ่งที่หนังอาจจะขาดไปก็คือการให้รายละเอียดในส่วนของเหตุผลที่ทำให้ชาวฮูตูโกรธแค้นถึงขนาดทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีอย่างโหดเหี้ยมขนาดนั้น กล่าวคือหนังดูจะกำหนดให้ชาวฮูตูเหล่านั้นเป็นผู้ร้ายในแบบที่เลวร้ายเต็มร้อย ไม่มีอะไรที่คนดูจะเห็นใจอยู่เลย หลายๆครั้งดูเหมือนคนเหล่านั้นเป็นเครื่องจักรสังหารอะไรสักอย่างด้วยซ้ำ ซึ่งอย่างแรกอาจจะเป็นเพราะเวลามีไม่พอที่จะเล่าเรื่องทั้งหมดอย่างละเอียด จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ในหนังเป็นเพียงแค่ส่วนที่อาจจะเรียกได้ว่าคับขันรุนแรงที่สุด หรือเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องราวของรวันดาทั้งหมดนั่นเอง แต่ถ้าจะคิดอีกแง่หนึ่งซึ่งหนังทำสำเร็จสำหรับผม คือการกระตุ้นให้คนดูอยากรู้ว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงทำได้ขนาดนั้นราวกับอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์และตัวเองก็เหมือนไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ และกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติมเอาเอง

บทสรุปของหนังเรื่องนี้สำหรับผมคือมันอาจไม่ใช่หนังที่ดีที่สุด แต่เท่าที่ผมคิดทบทวนดูน่าจะเรียกได้ว่า Hotel Rwanda เป็นหนังในแบบที่ทุกคนควรจะดู หลายๆคนต้องดู และไม่น่าพลาดมากที่สุด และน่าจะยังทำสำเร็จในการทำให้คนดูไปหาข้อมูลต่อไปและอาจจะทำอะไรสักอย่างมากที่สุด เพราะมันช่างน่าตกใจยิ่งที่เหตุการณ์รุนแรงขนาดนี้เกิดในระยะเวลาที่ผมน่าจะรับรู้และติดตามข่าว แต่ผมกลับไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นเลย โดยถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะเคยอ่านพบว่าตัวละครเด่นๆทั้งหมดในหนัง นอกจากนายพล Oliver ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆแล้ว มีตัวตนอยู่จริง และแทบจะไม่ต้องดัดแปลงอะไรกันอีกเลยในการที่กลายมาเป็นบทหนัง

บัดนี้ 10 ปีผ่านไป เมื่อ Hotel Rwanda สร้างชื่อในเทศกาลหนังและประเทศต่างๆที่หนังเข้าฉาย รวมถึงมีหนังหลายๆเรื่องที่ออกมาเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้น Paul Rusesabagina ซึ่งปัจจุบันไปตั้งรกรากในประเทศเบลเยียมกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจนมีนักข่าวตามไปสัมภาษณ์มากมาย สิ่งที่ Paul บอกซ้ำๆก็คือเหตุการณ์แบบเดียวกับที่เกิดในรวันดา ทุกๆวันนี้ก็ยังคงเกิดอยู่ในคองโก และก็ยังไม่เห็นจะมีประเทศหรือองค์กรที่มีอำนาจพอจะช่วยเหลือได้ลงมือทำอะไรจริงๆจังๆตามที่ควรนักอยู่ดี และโลกควรจะรู้ได้แล้วว่าชีวิตคนแอฟริกันก็มีค่าไม่ได้น้อยไปกว่าชีวิตชาวตะวันตกผิวขาวหรือใครต่อใครในโลกเลย

คงต้องขอบคุณ พี่เต้ ไกรวุฒิ จุลพงศธร หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร Bioscope อีกครั้งจริงๆล่ะครับ เพราะเอาข้อมูลมาจากบทความที่พี่เค้าเขียนอยู่มากเลย หลังจากดูแล้วได้พูดคุยกับพี่เค้านิดหน่อย ผมก็บอกว่าหนังดีนะ พี่เค้าก็บอก นั่นสิ ถ้าใครบอกหนังเรื่องนี้ไม่ดีนี่ดูจะใจร้ายมาก ผมก็ว่าอย่างงั้น คิดว่าถ้าจะมีคนไม่ชอบคงเป็นเพราะไม่ชอบดูหนังแนวนี้เลยมากกว่า หรือไม่อยากได้รับความเครียดอะไรจากการดูหนังเลยมั้ง และคงต้องขอขอบคุณทีมงาน Bioscope ด้วยที่จัดรอบพิเศษให้ผมได้ชมหนังที่ไม่น่าพลาดอย่างยิ่งเรื่องนี้ ผมคงจะพาเพื่อนไปชมในโรงอีกอย่างน้อยรอบนึงล่ะครับ แล้วก็คงบอกต่อๆให้ใครหลายคนได้ไปชมหนังดีๆเรื่องนี้กันอีก

สำหรับใครที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ถ้ายังไม่ได้ไปชม ก็ไปเถอะครับ อยากให้ดูจริงๆเรื่องนี้




 

Create Date : 11 มีนาคม 2548    
Last Update : 11 มีนาคม 2548 14:29:31 น.
Counter : 5892 Pageviews.  

Ray

You've got to listen...




ผมไม่ได้รู้จักตัวตนของ Ray Charles จริงๆจังๆก่อนที่จะดูหนังเรื่องนี้ อาจจะเคยได้ยินชื่อมาบ้างผ่านๆ แต่ที่แน่ๆ ตลอดเวลาที่ดูหนังเรื่องนี้ มีบางเพลงในหนังที่ผมรู้จัก และต้องคิดในใจว่า “อ๋อ เพลงนี้นี่เอง” และอีกหลายๆเพลงที่คิดว่าคุ้นๆเหมือนต้องเคยฟังมาก่อนแน่ๆ และด้วยอะไรหลายๆอย่างที่ประจวบเหมาะ ทำให้หนังเรื่อง Ray ทำรายได้ไปในระดับที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในอเมริกา และกลายเป็นหนึ่งในห้าชื่อสุดท้ายที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ (ถึงที่สุดแล้วคงจะได้แค่เข้าชิง) และอีกหลายๆสาขา ส่วนหนึ่งก็คงเพราะคุณภาพของตัวหนังเอง, ความยิ่งใหญ่ของเรื่องราวของศิลปินตาบอดผู้เป็นอัจฉริยะระดับโลก, และการที่ตัว Ray Charles เอง เพิ่งจะเสียชีวิตไปก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ได้ฉายแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง และที่แยกออกจากหนังเรื่องนี้ไม่ได้เลยก็คือ การแสดงที่ต้องเรียกว่าอยู่ในระดับที่เกิดมาเพื่อรับบทนี้ของ Jamie Foxx นั่นเอง

ดูจบแล้ว ผมมั่นใจเหลือเกินว่าคงไม่มีใครแย่งออสการ์นำชายจาก Jamie Foxx ได้อีกแล้ว และต่อให้นำนักแสดงนำชายที่ชิงออสการ์ทั้งหมดใน 5 ปีให้หลังมาแข่งกันใหม่ จะเรียกว่าออสการ์นำชายในรอบ 5 ปี ผมก็คิดว่า Jamie Foxx จากเรื่องนี้จะชนะรางวัลไปไม่ยากเย็นนัก พูดจริงๆคือหลังจากดูหนังจบและกลับบ้าน ผมเข้า web เพื่อนั่งดูรายชื่อผู้เข้าชนะและผู้เข้าชิงนำชายของออสการ์ย้อนหลังไปเรื่อยๆเพื่อดูว่ามีใครที่เคยให้การแสดงระดับนี้บ้าง และผมพอจะยอมรับได้ว่าถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงก็ตอนผมเจอชื่อ Geoffrey Rush ที่เป็นผู้ชนะจากเรื่อง Shine ในออสการ์ปี 1997 (สำหรับหนังปี 1996) ซึ่งรับบทนักเปียโนที่มีความผิดปกติในหนังชีวประวัติเหมือนกันเสียด้วย

คงจะไม่ได้เป็นการกล่าวเกินเลยไปนัก ถ้าผมจะบอกว่า Foxx แสดงแบบแทบจะไม่เหมือนกำลังแสดงอยู่ แต่เหมือนเขา ‘กลายร่าง’ ไปเป็น Ray Charles เลย (จริงๆก็พูดไม่ได้เต็มปากล่ะครับ ก็อย่างที่บอกว่าไม่ได้รู้จัก Ray Charles มากนักก่อนที่ดู แต่อยากจะยืนยันเฉยๆว่า Foxx เล่นดีขนาดไหน และหลายๆคนที่รู้จัก Ray Charles มาก่อน ก็ยืนยันกับผมว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ) และเพียงแค่เพื่อจะได้ชมการแสดงของเขา ก็เกินกว่าคุ้มค่าแล้วที่ได้ตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องนี้

ถึงจะเห็นได้ชัดว่าถ้าปราศจาก Foxx ไป หนังเรื่องนี้คงไม่มีวันเป็นได้ในระดับเดียวกับที่มันเป็นอยู่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานด้านอื่นๆอีกมากที่มีผลต่อความสำเร็จของ Ray ในระดับที่ควรค่าแก่การยกย่อง ทั้งการกำกับและตัดต่อ ซึ่งทำให้ฉากแสดงและอัดเสียงดนตรีต่างๆ ซึ่งน่าจะกินเวลาเกินครึ่งของหนัง ออกมาเฉียบขาด, ชวนติดตาม, ได้อารมณ์เป็นอย่างดี (ทั้งการกำกับโดย Taylor Hackford และการตัดต่อล้วนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เช่นกัน) ที่น่าสังเกตก็คือในขณะที่ฉากแบบเดิมๆซ้ำๆ ปรากฏอยู่ตลอดเวลาที่หนังดำเนินเรื่อง ซึ่ง Ray มีความยาวถึง 152 นาที แต่ผมกลับรู้สึกไม่ซ้ำ และไม่น่าเบื่อเลยสักนิด บทพูดต่างๆในหนังก็เรียกว่าทำได้ดี และทำให้มีฉากหลายๆฉากที่น่าประทับใจเป็นพิเศษ รวมถึงประเด็นต่างๆทั้งเรื่อง ยาเสพย์ติด, ผู้คนที่เอารัดเอาเปรียบศิลปินตาบอดผู้นี้, ชีวิตโลดโผนในเรื่องผู้หญิงของ Ray Charles, และชีวิตครอบครัวที่เรียกไม่ได้ว่าราบรื่นของเขา ประเด็นทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาโดยหลีกเลี่ยงการตัดสินเด็ดขาดเกินไป แต่เหมือนเป็นการ’เล่าให้ฟัง’ มากกว่า รวมถึงเรื่องราวชีวิตผู้คนใกล้ชิดของ Ray ทั้งภรรยา, ผู้จัดการส่วนตัว และนักดนตรีในวงที่เป็นเพื่อนสนิท และผู้หญิงบางคนของ Ray ก็ทำได้มีมิติและน่าติดตามดีทีเดียว

ผู้กำกับเคยบอกไว้ว่าน่าเสียดายที่ Ray ไม่มีโอกาสอยู่เห็นผลลัพธ์สุดท้ายที่กลายเป็นหนังเรื่องนี้ แต่ตลอดเวลาที่สร้าง ก็ได้มีการปรึกษา, พูดคุยกับ Ray โดยตลอด และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วยก็คือคำพูดที่เขาบอกว่า ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้นำเสนอแต่เรื่องดีๆของ Ray แต่เชื่อว่าเขาคงจะไม่ผิดหวังและรู้สึกภูมิใจไปกับหนังเรื่องนี้แน่นอนครับ

ไม่รุ้ใครยังไม่ได้ดูจะไปดูทันรึเปล่านะ ปลายโปรแกรมซะแล้ว แต่สำหรับคนชอบเสียงดนตรี ไม่น่าพลาดนะครับ




 

Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 9 มีนาคม 2548 15:30:03 น.
Counter : 1202 Pageviews.  

Finding Neverland

The Man Who Was Peter Pan




ความรู้สึกที่ได้จาก Finding Neverland อยากลุกขึ้นยืนปรบมือดังๆให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดหนังเรื่องนี้...

น่าจะเรียกได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ผมรู้สึกว่านี่เพิ่งจะต้นปี แต่ผมมีหนังที่ดูแล้วชอบมากๆหลายเรื่องทีเดียวตั้งแต่เริ่มปี 2548 นี้มา และ Finding Neverland ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่ผมตกหลุมรักเอาจริงๆจังๆ

Finding Neverland เป็นชีวประวัติของ Sir J.M. Barrie (ซึ่งต่อจากนี้ผมจะขอเรียกเค้าว่า James เหมือนคนอื่นๆในหนัง) ชายผู้ให้กำเนิดบทละครอมตะเรื่อง Peter Pan และความสัมพันธ์ของเขากับครอบครัว Llewelyn Davies ทั้งหม้ายสาวและลูกชายทั้ง 4 คนของเธอ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดบทประพันธ์เรื่องนี้ขึ้น

เรื่องเริ่มขึ้นที่บทละครที่ล้มเหลวของ James และการได้พบกับครอบครัว Llewelyn Davies เป็นครั้งแรก ในขณะที่ชีวิตครอบครัวของ James ก็ดูท่าว่าจะไม่ดีนัก โดยเราจะได้เห็นว่าเขาและภรรยานอนคนละห้องกัน

เรื่องราวของ Finding Neverland โดยรวม เกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งที่เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดในชีวิตของ James ที่เราได้เห็น นั่นคือจินตนาการ และจุดเด่นของเรื่องก็คือการนำจินตนาการมาใช้เป็นตัวดำเนินเรื่อง ทั้งในบทพูด, การดำเนินเรื่อง และภาพที่ปรากฏบนจอ ฉากที่ผมชอบมากฉากหนึ่งคือฉากที่บอกคนดูให้รู้กันตรงๆว่า James นอนคนละห้องกับภรรยาล่ะครับ (ก่อนนั้นก็บอก แต่ไม่ชัดเจนเท่า) ถ้าจำไม่ผิดจากที่ผมได้เคยอ่านมา ชีวิตของ James และครอบครัว Llewelyn Davies หลังจากในหนัง ก็ยังเต็มไปด้วยเรื่องเศร้า และยังมีประเด็นด้านลบอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่นำมาสร้างเป็นหนัง แต่ผู้สร้างฉลาดที่จะตัดส่วนเหล่านั้นทิ้ง และเล่าเฉพาะเรื่องราวที่ต้องการจะเล่า โดยที่ตัวผู้กำกับก็เคยให้สัมภาษณ์ชัดเจนเลยว่าเค้าตัดสินใจตัดส่วนเหล่านั้นทิ้งเอง เพราะเค้าไม่ได้ต้องการจะเล่าความจริงทุกแง่มุมของ J.M. Barrie นอกเหนือไปจากที่ได้เล่าไปในหนัง ซึ่งพอดูจบแล้วผมคงต้องบอกว่าเห็นด้วยอย่าง เพราะเรื่องราวเท่าที่เป็นนี้ ทำให้อารมณ์ของหนังลงตัวและซาบซึ้งตื้นตันใจมากๆเลยทีเดียว

ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้อีกสองส่วนที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการคัดเลือกตัวละคร และบทภาพยนตร์ครับ ต้องบอกว่าหนัง Casting ทุกบทมาได้เด็ดขาดจริงๆ โดยเฉพาะในบทนำทั้ง Johnny Depp ซึ่งแสดงฝีมือแบบหายห่วงให้เห็นอีกครั้ง, Kate Winslet และ Freddie Highmore ในบทแม่ผู้เป็นผู้หญิงคนสำคัญในชีวิตของ James และเด็กชายผู้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด Peter Pan ขึ้นมา ซึ่งผมเชื่อว่าทั้งสองบทพลาดการเข้าชิงออสการ์ไปเพียงฉิวเฉียดเท่านั้น

สำหรับ Johnny Depp ผมว่าตอนนี้เค้ากลายเป็นนักแสดงอันดับหนึ่งของรุ่นเดียวกันแล้วครับ สาเหตุที่ทำให้ Depp เหนือกว่าคนอื่นก็คือ

1. เค้าเป็นนักแสดงฝีมือดีที่น่าจะเรียกได้ว่า ไม่เคยฝีมือตกเลยก็ว่าได้ ต่างกับนักแสดงอันดับต้นๆหลายๆคนที่มีทั้งช่วงรุ่งช่วงดับ สำหรับช่วงที่เงียบๆของ Depp เกิดจากที่เค้าเลือกเล่นหนังเล็กๆ และต้องเรียกว่าแทบจะไม่เล่นหนังที่กะเอาใจตลาดก่อนเลยครับ

2. เค้ารับบทเป็นใครก็ได้ บทหลายๆบทที่ Depp เล่น เราคงนึกไม่ออกว่าจะมีใครคนอื่นมารับหน้าที่ได้ดีเท่า และลองเทียบ Pirates of the Caribbeans และเรื่องนี้ดู เราจะเห็นว่าเป็นบทที่แตกต่างกันสุดขีด แต่ Depp ทำได้แบบที่ต้องเรียกว่าไร้ที่ติทั้งคู่ กับบท James ใน Finding Neverland นี้ ก่อนได้ดู ผมคิดว่ามันคงเป็นบทที่ค่อนข้างธรรมดา (หมายถึงไม่พิสดาร) ถ้าเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของ Depp และคนอื่นๆก็คงมาเล่นบทนี้ได้ แต่หลังจากดูแล้ว ถึงบทจะออกธรรมดาจริง แต่ผมนึกให้คนอื่นมาเล่นบทนี้ให้ดีกว่านี้ได้ไม่ออกเลยครับ

นอกจากสองข้อนี้แล้ว เค้ายังเป็นไอดอลของหนุ่มเซอร์ที่สาวกรี๊ดและมีแม่ยกจำนวนมากอีกด้วย เชื่อว่าต่อจากนี้ไป เราจะได้เห็น Depp ในหนังใหญ่ๆมากขึ้น และจะได้เห็นเค้าชิงออสการ์อยู่เรื่อยๆเป็นประจำล่ะครับ โดยใน Finding Neverland เค้าก็เข้าชิงออสการ์ได้แบบใสๆ (ถึงแม้ว่าสุดท้ายคงไม่ใช่ผู้ชนะก็เถอะ) และผมประทับใจเค้ามากกว่า Leonardo DiCaprio ใน The Aviator ซะอีก แถมบทอบอุ่นๆอย่างนี้ คงได้แฟนมากขึ้นกว่าเดิมอีกเยอะล่ะครับ

Winslet รับบท Sylvia ได้สมบทบาทและลงตัว ผมว่าสาเหตุที่เธอไม่ได้ชิงออสการ์สมทบหญิงจากเรื่องนี้ น่าจะเป็นเพราะ ถึงเธอจะแสดงได้เนียน, ไร้ที่ติอย่างนี้ แต่บทนี้คงดู’ง่าย’ไปสำหรับเธอมั้งครับ ส่วน Freddie Highmore นี่ต้องบอกว่าเป็นหน้าใหม่ที่น่าจับตามองมากๆ จากทั้งหน้าตาและการแสดงของเค้าในเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงนักแสดงชายที่ผมชอบอีกคนคือ Ethan Hawke ตลอดเลย จริงๆบทเด็กๆในเรื่องนี่ต้องบอกว่าเล่นได้เยี่ยมกันทุกคนล่ะครับ แต่ส่วนที่ทำให้ Freddie เด่นขึ้นมา คงเพราะบท Peter เป็นบทเด่น และมีบุคลิกแปลกแยกออกจากคนอื่น รวมถึงมีฉากที่เปิดโอกาสให้แสดงอารมณ์ได้ ซึ่ง Freddie ก็แสดงได้ไม่แพ้นักแสดงผู้ใหญ่เลยทีเดียว

อีกส่วนหนึ่งที่ทำได้ยอดเยี่ยมได้แก่ความคมของบทภาพยนตร์ ที่ไม่ได้เน้นจะเร้าอารมณ์คนดูมากเกินไป แต่ก่อให้เกิดความรู้สึกตื้นตันใจมากๆในหลายๆฉาก รวมถึงบทหรือสองบทที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบทร้ายของหนัง ก็ไม่ใช่บทแบบด้านเดียว แต่สุดท้ายเราจะเข้าใจตัวละครนั้นๆ และคงจะเกลียดไม่ลง นอกจากนั้นบทพูดทั้งเรื่องก็ทำได้เหมาะสม, คมคาย และน่าติดตามตลอดเวลา

นอกจากนั้นงานด้านภาพและดนตรีประกอบคงต้องบอกว่าเรียบง่ายแต่ยอดเยี่ยมครับ นับว่าเป็นหนังอีกเรื่องที่ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ทำได้สำเร็จในการทำให้ผมรู้สึกราวกับว่ามีเวทมนตร์หรือสิ่งมหัศจรรย์ล่องลอยอบอวลอยู่ในบรรยากาศตลอดเวลา และทำให้ผมรู้สึกว่า 106 นาทีของหนังนี่สั้นเหลือเกิน ยังอยากดูต่ออีกนานๆ

กล่าวโดยสรุปคือ 10 เต็ม 10 สำหรับ Finding Neverland ซึ่งจะเป็นหนังที่ผมประทับใจที่สุดของปีนี้อีกเรื่องหนึ่งอย่างแน่นอนครับ

ดูแล้วชอบก็มาคุยกันนะครับ :)




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2548 11:45:49 น.
Counter : 972 Pageviews.  

ตะลุยเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ 2548 (ตอนที่ 1)

Bad Education / Hari Om




24-25 ม.ค. 2548
รวบยอด 2 วันสุดท้ายนะครับ กับเรื่องแรก Bad Education คงต้องบอกว่า อัลโมโดวาร์ รักษามาตรฐานอันสูงส่งของตัวเองไว้ได้อีกครั้งครับ
ว่ากันว่า Bad Education ถือเป็นหนังที่เหมือนบันทึกส่วนตัวบทหนึ่งของอัลโมโดวาร์ หนังเกี่ยวกับเด็กนักเรียนชายในโบสถ์ที่ถูกบาทหลวงล่วงเกินทางเพศ และพบรักกับนักเรียนชายอีกคน จนกระทั่งบาทหลวงจับได้เลยไล่นักเรียนคนหลังออกไป กาลต่อมา คนแรกเติบโตขึ้นเป็นกระเทยแปลงเพศ ส่วนคนหลังเป็นผู้กำกับหนัง และอัลโมโดวาร์ตัวจริง ก็เคยเป็นเด็กนักเรียนในโบสถ์ โดยที่เค้าบอกว่าไม่ชอบระบบการศึกษาแบบนั้นที่บาทหลวงเป็นใหญ่ และเมื่อดูจนจบแล้ว ผมยิ่งเชื่อเข้าไปใหญ่ว่าเค้าคงใช้ชีวิตจริงมาเป็นแรงบันดาลใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว
เรื่องนี้มีสิ่งที่ผมสังเกตเห็นหลังหนังจบไปแล้วว่า ตัวละครในเรื่อง แทบจะเป็นเกย์ล้วนๆ!!! และมีฉากที่ล่อแหลมมากๆหลายฉาก แม้จะไม่มีการเปิดเผยให้เห็นอวัยวะส่วนตัวจะๆเลยก็ตาม ในอเมริกาหนังจึงได้รับเรต NC-17 ซึ่งเป็นเรตหนังแรงที่สุด กล่าวคือห้ามเด็กต่ำกว่า 17 ปีเข้าชม
เอกลักษณ์สำคัญของอัลโมโดวาร์ยังคงอยู่ในหนังเรื่องนี้ครับ นั่นคือการเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ และการทำหนังที่ต้องเรียกว่านุ่มนวลมากๆ ทั้งๆที่เนื้อหารุนแรงขนาดนั้น แถมตัวหนังเรียกว่าเป็นฟิล์มนัวร์ตั้งแต่ฉากเปิดเลย ซึ่งฉากเปิดนี่แหละที่ทำออกมาได้เยี่ยม และเรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี
พูดๆไปแล้ว นอกจากเนื้อหาที่รุนแรง ซึ่งไม่เหมาะกับหลายๆคน และอีกหลายๆคนอาจจะรับเรื่องอย่างนี้หรือฉากหลายๆฉากในเรื่องไม่ได้ ผมหาที่ติหนังเรื่องนี้ไม่เจอจริงๆครับ การแสดงจัดว่ายอดเยี่ยมทุกคน โดยเฉพาะ เกล กาเซียร์ เบอร์นัล ที่ผมเพิ่งผ่านตามาจาก The Motorcycle Diaries เรื่องนี้นี่ กลายมาเป็นกระเทยแปลงเพศได้อย่างเนียนมาก แถมยังมีฉากที่ได้โชว์การร้องเพลง Quizas, Quizas, Quizas ซึ่งทำให้ต่อไปนี้ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ ผมคงไม่ได้นึกถึงภาพสโลว์โมชันการเดินเยื้องย่างผ่านกันของพระเอกนางเอกใน In the Mood for Love แต่เพียงอย่างเดียวอีกแล้ว และนอกจากนั้น Bad Education ยังสมควรได้รับคำชมอย่างมากในเรื่องบท และดนตรีประกอบ ที่ลงตัวกันกับแต่ละฉาก ซึ่งบทสรุปหลังจากที่ได้ดูเรื่องนี้ก็คือ ผมแทบจะรอดูหนังเรื่องต่อไปของอัลโมโดวาร์ไม่ไหวแล้วล่ะครับ

สุดท้ายเป็นการตามเก็บหนังรางวัลที่ยังไม่ได้ดู ซึ่งเรื่องที่ประจวบเหมาะก็คือ Hari Om หนังอินเดียที่ได้รับรางวัลหนังของผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม หรือรางวัลชนะเลิศในสาย New Voice นั่นเอง
ขึ้นชื่อว่าหนังอินเดีย สิ่งแรกที่ผมคิดถึงก็คือพระเอกนางเอกเต้นระบำประกอบเพลงเกี้ยวพาราสีกันไป แล้วจะเพราะว่าผมไม่ค่อยชอบหนังลักษณะอย่างนั้นหรืออย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผมจึงแทบไม่ได้ดูหนังอินเดียเลย น้อยขนาดว่านับเรื่องด้วยนิ้วมือข้างเดียวได้และการได้ดู Hari Om ก็นับว่าทำให้ความคิดของผมที่มีต่อหนังอินเดียเปลี่ยนไปมากทีเดียว
Hari Om เป็น Road Movie ที่เน้นแก่นทางจิตวิญญาณของประเทศอินเดียและความหอมหวานและทุกข์ระทมของความรัก เมื่อคู่รักนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสมาที่อินเดีย และด้วยความผิดพลาดบางประการทำให้ฝ่ายชายเดินทางไปสู่อีกเมืองแต่เพียงผู้เดียวโดยทิ้งฝ่ายหญิงไว้เพียงลำพัง เธอจึงเปลี่ยนใจจากการรีบเดินทางตามฝ่ายชายไปเป็นการถือโอกาสท่องเที่ยวอินเดียไปกับรถสี่ล้อของอินเดียซึ่งขับโดย Hari Om ชายหนุ่มผู้หนีหนี้พนันจากแก๊งค์อิทธิพลของอินเดีย
ผู้กำกับ-เขียนบท Ganapathy Bharat ถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่นและเรื่องราวเกี่ยวกับความรักออกมาได้เป็นอย่างดี โดยสิ่งที่เราได้เห็นตลอดการเดินทาง และได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนางเอกก็คือปรัชญาชีวิตรวมทั้งแนวคิดต่างๆของคนอินเดีย ซึ่งหลายๆเรื่องราวอาจจะทำให้คนดูถึงกับอึ้ง หรือน้ำตาไหล โดยเฉพาะฉากอันทรงพลังช่วงกลางเรื่องที่นางเอกได้ไปเยี่ยมชมวิหารหลังหนึ่งที่มีชายชราอาศัยอยู่เรื่องเล่าของชายชราที่เนื้อหาเหมือนจะเป็นเรื่องเล่าที่เราธรรมดาๆที่เราเคยได้ยินกันบ่อยแล้ว เมื่อสอดแทรกอยู่กับเนื้อเรื่องที่กลมกลืนด้วยจังหวะที่ลงตัว กลับก่อให้เกิดความรู้สึกรุนแรงยิ่ง ความพิเศษของหนังเรื่องนี้นอกเหนือจากนั้นก็คือ เราจะมีความรู้สึกอยู่เกือบตลอดเวลาว่ามีความรักและความสวยงามที่ไม่สามารถจะอธิบายด้วยคำพูดได้คล้ายเวทมนตร์บางอย่างล่องลอยอยู่ในอากาศ แม้จะมีบางช่วงที่หนังอาจจะให้ความรู้สึกเขินๆแปลกๆบ้าง แต่ด้วยบทโดยรวมที่เป็นธรรมชาติและลงตัว พร้อมกับการแสดงที่น่าชื่นชมโดยเฉพาะพระเอกเจ้าของชื่อเรื่อง Hari Om ที่รับบทได้เหมาะสมโดย Vijay Raaz ทำให้ Hari Om ซึ่งในครั้งแรกที่เห็นไม่ได้เป็นพระเอกหล่อเหลาหรือน่ารักเหมือนพระเอกทั่วๆไป แต่มีหน้าตาแบบแขกชาวบ้านๆดีๆนี่เอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนดูกลับตกหลุมรักตัวละครตัวนี้ได้ไม่ยาก รวมถึงบท Isa ที่แสดงโดย Camille Natta ซึ่งสวยหวานและได้โชว์หุ่นให้คนดูแอบเอาไปฝันกันอย่างพอเหมาะ แถมเราจะได้เห็นเธอทำท่าเป็นทั้งลิงและไก่อีกด้วย (จังหวะที่ทำท่าลิงตอนแรกผมอึ้งไปเลย ไม่คิดว่าเค้าจะกล้า) องค์ประกอบทั้งหมดนี้ได้พาคนดูไปสัมผัสกับทั้งกลิ่นหอมหวานของความรักและประเทศอินเดียที่สวยงามตรึงใจ จนกลายเป็นความประทับใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการดูหนังเทศกาลครั้งนี้ครับ (ขอแซวหน่อย ล่าสุด official site ของหนังเรื่องนี้รวดเร็วมากครับ เอาขึ้นหน้าแรกเรียบร้อยแล้วว่าได้รางวัลจากเทศกาลเรา แถมข้างในยังมีรูปตอนรับรางวัลอีก)


Don't Move / Being Julia / Bonjour Monsieur Shlomi / The Sea Inside





22 ม.ค. 2548 กับการดูหนังแบบเต็มโปรแกรม 4 เรื่องอีกครั้ง (เหนื่อยเหมือนกันนะเนี่ย)
เรื่องแรก Don't Move คงต้องบอกว่าถ้าผมได้ดูเรื่องนี้ในช่วงแรกๆของเทศกาล อาจจะรู้สึกดีกับมันมากขึ้น แต่กับการดูในขั้นปลายๆโปรแกรม ซึ่งทำให้ผ่านตาหนังมากมายติดๆกัน ทำให้ผมรู้สึกไม่ดีกับเมโลดรามาเรื่องนี้เท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะผมไม่เห็นว่ามีสิ่งใดโดดเด่นถึงขั้นยอดเยี่ยมในหนังเรื่องนี้เลยก็ได้
Don't Move เกี่ยวกับเรื่องของศัลยแพทย์ที่เปิดเรื่องมาก็พบว่าลูกสาวตัวเองประสบอุบัติเหตุทางรถจนถึงขั้นต้องผ่าตัด และความเป็นความตายนั้นก้ำกึ่งกันนิดเดียว เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระเอกย้อนคิดไปถึงอดีตหลายปีก่อน กับความลับของตัวเองต่อหญิงสาวบ้านนอกคนหนึ่ง
สิ่งที่ดีที่สุดของ Don't Move น่าจะเป็นการแสดงของพระเอก เซอร์จิโอ คาสเตลลิโต ซึ่งควบตำแหน่งกำกับและเขียนบทด้วย และนางเอก เพเนโลปี ครูซ แต่สำหรับผมแล้ว การระเบิดการแสดงที่เกรี้ยวกราดหรือฟูมฟายในบางฉาก แม้จะทำได้ดีมากแต่มันก็ไม่เท่าการสวมวิญญาณเป็นตัวละครและแสดงทุกๆรายละเอียดเล็กๆแบบที่ผมเพิ่งผ่านตามาจาก Vera Drake หรือแม้แต่ Clean ได้
บทภาพยนตร์น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ค่อยจะประทับใจหนังเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เพราะมันเป็นหนังประเภทที่เหมือนผมจะเคยดูมาแล้วเป็นสิบเรื่อง และข้อเสียเปรียบก็คือ มันเป็นหนังที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกดี หรือมีความรู้สึกอะไรโดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ (จะเห็นว่าผมยังชอบหนังที่แม้จะมีบทเดิมๆ แต่ทำให้รู้สึกดีหรือสนุกสนานไปด้วยอย่าง Les Choristes ได้)
ส่วนอื่นๆของหนัง รวมทั้งโปรดักชัน การถ่ายภาพ และการแสดงของนักแสดงสมทบอื่นๆ นับว่าทำได้ดีในแบบที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่ก็ไม่ได้มีอะไรที่ต้องติกัน น่าเสียดายที่ความดีในระดับธรรมดาของทุกส่วนดังที่กล่าวมานั้นทำให้ผมรู้สึกว่า 124 นาทีในหนังอิตาเลียนที่ทำเงินสูงสุดแห่งปีในบ้านเกิดเรื่องนี้ มันยาวเกินไปมาก ถือเป็นความผิดหวังในสายประกวดของผมครับ

Being Julia นับเป็นเซอร์ไพรส์ในแง่ที่ว่า ผมคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังดรามาเครียดๆ แทรกมุกตลกเล็กน้อย โดยโฟกัสทุกอย่างที่นางเอก แอนเน็ต เบนนิ่ง ผู้กวาดรางวัลมาจากหลายสถาบัน และเป็นชื่อที่จะต้องห้ำหั่นกับ อีเมลดา สตอนตัน จาก Vera Drake และ ฮิลารี สแวงค์ จาก Million Dollar Baby ในสาขานำหญิงบนเวทีออสการ์... สิ่งที่เป็นไปตามคาดคือการโฟกัสทุกอย่างที่นางเอก ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่ามีเธอในเกือบทุกฉากมากกว่า 80 % ของหนัง แต่สิ่งที่แปลกใจคือ ถึงมันจะเป็นดรามา แต่มันไม่ได้เครียด แต่กลายเป็นหนังที่ตลกที่สุด และได้ยินเสียงหัวเราะดังๆหลายรอบที่สุดของเทศกาลภาพยนตร์ที่ผมดูมา เรียกว่าถ้าใครจะบอกว่ามันเป็นหนังตลก ผมก็ไม่เถียง
ถึงแม้ภาษาอังกฤษแบบไร้ subtitle จะเป็นอุปสรรคเล็กน้อยอีกครั้งในการชมเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผมสนุกกับมันได้น้อยลง คงเพราะมันไม่ได้ฟังยากเท่าไหร่ด้วย ก่อนอื่นต้องขอชมบทภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบทพูดที่คมคาย และสนุกสนานเหลือเกิน
ไม่น่าแปลกใจเลยที่แอนเน็ต เบนนิ่งจะเป็นหนึ่งในตัวเต็งออสการ์นำหญิงครั้งนี้จากหนังเรื่องนี้ เพราะเธอให้การแสดงที่ยอดเยี่ยม และอยู่กับแทบจะทุกส่วนของเรื่องราวในหนังจนยากที่จะแยกการแสดงของเธอออกจากองค์ประกอบอื่นๆในหนังได้ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าแอนเน็ต เบนนิ่ง จะให้การแสดงที่ดีเยี่ยมออกมาก็ต่อเมื่อรับบทที่มีความ'ชั่วร้าย'ในระดับหนึ่ง บทก่อนหน้านี้ที่ทำให้เธอได้รับคำชมและรางวัลมากมายก็คือบทหญิงวัยกลางคนจอมปลอมในครอบครัวแตกสลายของ American Beauty ซึ่งนับเป็นบทที่มีด้านมืดมากๆในตัว แต่กับ Being Julia แอนเน็ต เบนนิ่งทำได้เยี่ยมกว่าเดิมซะอีก กับการรับบทนางเอกละครเวทีที่อยู่บนจุดสูงสุดของชีวิตในด้านชื่อเสียงที่ได้รับ แต่กลับมีชีวิตรักที่จืดชืดจนได้พบกับเด็กหนุ่มอายุรุ่นลูกที่เข้ามาจุดประกายความรักของเธออีกครั้ง แต่ภายหลังกลับออกลายกับเธอ จนนำมาซึ่งเรื่องราวในฉากไคลแมกซ์ คือการแก้แค้นของเธอกลางเวทีละครที่มีคนดูมากมาย เบนนิงให้การแสดงที่เหมือนกับว่าเธอเกิดมาเพื่อรับบทเรื่องนี้ และบทก็หนุนเธอเป็นอย่างยิ่งด้วยการเปิดทางให้เธอมีทั้งฉากที่แสดงอารมณ์ทุกข์เศร้า แสดงอารมณ์สุขสม และที่สำคัญที่สุดแสดงความ...เอ่อ...ตอแหลชั่วร้ายที่คนดูเกลียดไม่ลง โดยเฉพาะในฉากไคลแมกซ์ ที่หลังจากนั้นคำพูดที่สามีของเธอ ผู้เป็นผู้อำนวยการการแสดงละครเวที รับบทโดย เจเรมี ไอออนส์ เข้าไปบอกกับเธอหลังการแสดง เป็นบทสรุปของผู้หญิงคนนี้ที่ดีที่สุด
เอาเป็นว่ากับเรื่องนี้ คงมีโอกาสได้ชมกันในโรงภาพยนตร์เมืองไทย ก็อยากจะชวนให้ทุกคนไปดูกันล่ะครับ เพราะนอกจากการแสดงฟ้าประทานของแอนเน็ต เบนนิ่งแล้ว หนังเรื่องนี้มันสนุกสนานครื้นเครงเสียจริงๆ ตัวผมเองคงไปดูแบบมี subtitle พร้อมอีกรอบเหมือนกัน

เซอร์ไพรส์ต่อมากับ Bonjour Monsieur Shlomi หนังที่ว่ากันว่าเป็นขวัญใจผู้ชมในเทศกาลต่างๆทั่วโลก และอาจจะเป็นเพราะเสียงแนะนำปากต่อปากหรืออย่างไรไม่ทราบจากรอบแรก ทำให้รอบที่ผมดู บัตรขายหมดไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว ถึงจะฉายในโรงเล็กก็เถอะ (ฉากที่ลิโด) ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะมีแค่เรื่องนี้กับ Bad Education ที่ไม่ได้อยู่ในสายประกวดใดๆ และไม่ได้เป็นโปรแกรมพิเศษ (เช่นพวก Ray, Phantom of the Opera, Elektra, 2046) ที่บัตรขายหมด
แล้วหนังก็เฉลยตลอดความยาว 94 นาทีว่าทำไมมันถึงเป็นขวัญใจของผู้ชม Bonjour Monsieur Shlomi เป็นหนัง feel-good ที่ feel-very-very-good จริงๆ ผมรู้สึกมีความสุขอิ่มเอมกับหนังเรื่องนี้มากๆ ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามความตั้งใจที่ชัดเจนของผู้สร้างนั่นเอง
หนังเป็นเหมือน Good Will Hunting ของอิสราเอล ที่ตัดอารมณ์ดรามาออกไปนิดหน่อย แล้วเพิ่มความวุ่นวาย ความตลก และความใกล้ชิดต่อตัวละครของผู้ชมให้มากขึ้น เรื่องราวว่าด้วย Shlomi เด็กหนุ่มที่ไม่ได้เฉลียวฉลาดโดดเด่นอะไรในโรงเรียน คะแนนสอบเค้าไม่ดีในขนาดที่เกือบโดนไล่ออกอยู่หลายๆครั้ง แต่เค้ามีจิตใจที่ดีงาม เห็นได้จากการที่ Shlomi ทำทุกอย่างเพื่อคนอื่นตลอดเวลา เค้าสนิทใกล้ชิดกับปู่ ที่ชอบพูดภาษาฝรั่งเศสกับเค้า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง และเป็นคนเดียวที่ใส่ใจพูดคุยกับปู่ผู้ชอบเล่าเรื่องสงครามในความฝันของตัวเองให้เค้าฟังโดยที่คนอื่นไม่สนใจ Shlomi เป็นตัวกลางที่ประสานความสัมพันธ์ทุกอย่างในครอบครัว ทั้งระหว่างแม่ผู้จู้จี้จุกจิกขี้บ่นเป็นที่สุด กับพี่ชายที่ฝันเฟื่องเรื่องเพศ เพื่อนสาวสวยข้างบ้านที่เพิ่งย้ายเข้ามา พี่สาวที่วิตกจริตเรื่องทารกแฝดของตัวเองและความประพฤติของพี่เขยเป็นบางคร้ง และพ่อที่ถูกแม่ไล่ออกจากบ้านเพราะเผลอไปมีอะไรกับเพื่อนสนิทเชื้อสายโมรอคโกของเธอเอง ตลอดเรื่องเราจะได้เห็นทุกตัวละครเรียกใช้ Shlomi ให้ทำยังงั้นยังงี้ตลอดเวลา และนอกจากนั้น เค้าชอบทำอาหารโดยเฉพาะสูตรเด็ดขนมหวานและเค้กรูปดาว และเค้าก็ทำอาหารเก่งมากๆอีกด้วย จนกระทั่งวันหนึ่งที่มีคนค้นพบความไม่ธรรมดาในตัวของ Shlomi และเค้าจะต้องตัดสินใจว่าชีวิตของตัวเองจะไปในทางไหนต่อไป
เห็นได้ชัดว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้รู้ดีว่าตัวเองจะเล่าเรื่องอะไร เค้าน่าจะมีไอเดียเริ่มต้นง่ายๆในแบบที่เหมือนว่า...เรามาทำหนัง feel-good กันเถอะ แล้วเค้าก็ทำมันไปในแบบที่ตัวเองถนัด ไม่พยายามทำอะไรที่ยากหรือซับซ้อนเกินตัว ผมเชื่อว่าผู้กำกับน่าจะมีความสนใจเรื่องปรัชญาพอสมควรเลยทีเดียว เห็นจากฉากเล็กๆที่สอดแทรกในหนัง แต่เราจะเห็นว่าเค้าไม่ได้ตีความ ขยายความหลักปรัชญาพวกนั้นให้เราฟัง แต่ไปเน้นที่เรื่องราวของตัวเอกกับ theme ว่าด้วยการทำอะไรเพื่อคนรอบข้าง และการทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง อย่างเหนียวแน่น นี่เป็นหนังแบบที่ผมหวังจริงๆจังๆว่า ประเทศไทยเราจะมีคนทำออกมาได้ในระดับเดียวกันภายใน 3-4 ปีนี้เป็นอย่างช้า (ผมดีใจที่แอบเห็นผู้กำกับหนังไทยบางคนไปดูกันแล้วแนะนำให้เพื่อนผู้กำกับเหมือนกันไปดู)
การถ่ายภาพ และเทคนิคต่างๆของหนัง เรียกได้ว่าไม่ได้ดีมากนัก แต่คุณจะลืมจุดบกพร่องเล็กๆน้อยๆเหล่านั้นไปหมดสิ้นเลยเมื่อติดตามหนังเรื่องนี้ไปได้ซักพัก เพราะเรื่องราวและเสน่ห์เล็กๆน้อยๆที่เติมเต็มหนังเรื่องนี้ คือจุดสำคัญที่ได้หัวใจจากคนดู การแสดงของตัวละครทุกคนก็นับว่าไม่มีใครที่ต้องติกัน เราอาจจะรู้สึกได้เลยว่าตัวละครพวกนี้ช่างเหมือนกับคนรอบๆตัวของเราจัง
หลังหนังจบพร้อมกับเสียงปรบมือดังสนั่นของคนดู เราพบว่าพระเอกของหนังเรื่องนี้มาเข้าร่วม Q&A ด้วย ซึ่งก็เรียกทั้งเสียงปรบมือที่ดังยาวนานกว่าเดิมและเสียงโห่ร้องชื่นชมจากคนดูได้ แถมนอกจากจะเป็นตัวละคนที่ได้ใจคนดูในหนังแล้ว พระเอกตัวจริงยังมีเสน่ห์ กะตือรือร้น และเป็นมิตรมากๆ ทำให้เป็นการ Q&A ที่คนดูสนุกสนานที่สุดถึงกับว่ามีเสียงปรบมือให้ได้ยินกันอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเค้ากล่าวว่าเค้าภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในหนังเพื่อความรักเรื่องนี้ และมันก็มากเกินพอแล้วกับการสู้รบบนโลกนี้ (อย่าลืมว่าหนังเรื่องนี้มาจากอิสราเอล) มีประโยคหนึ่งเกี่ยวกับเหตุผลของการทำอาหารของพระเอกที่ผมโดนใจมากๆตั้งแต่ตอนดู และก็ดีใจที่เค้านำมากล่าวถึงอีกครั้งในช่วงนี้ แต่ผมอยากให้ไปหาดูกันเอาเองมากกว่า ไม่เขียนแล้วกัน หลังจากนั้นมีคนยกมือเพื่อที่จะชื่นชมยกย่องหนังเรื่องนี้แล้วร้องเพลงสั้นๆมอบให้พระเอกในฐานะตัวแทนของผู้สร้างทุกคน และมีคนถามคำถามง่ายๆว่าทำอาหารเก่งจริงๆรึเปล่า แล้วหยอดต่อว่า มีแฟนรึยัง (ซึ่งพระเอกบอกว่าไม่มี เรียกเสียงฮือฮาในหมู่คนดูสาวๆได้อีกระลอกหนึ่ง) หลัง Q&A พระเอกไปยืนหลังโรงหนัง แล้วก็ถูกรุมขอลายเซ็นและถ่ายรูปจากคนดูกลุ่มเบ้อเริ่ม ผมก็เลยผสมโรงไปขอลายเซ็นด้วย แล้วก็ได้พบอีกครั้งว่าเค้าช่างเป็นมิตรจริงๆ หลังจากเซ็นให้ผมแล้ว ผมกล่าวแสดงความยินดี แล้วเค้าก็ยื่นมือมาให้จับพร้อมมองหน้าผมและยิ้มดีใจในขณะที่กล่าวขอบคุณไปด้วย ก่อนจะต้องไปให้สาวๆรุมถ่ายรูปขอลายเซ็นต่อ :)

คงมีหลายๆสาเหตุที่ต้องบอกก่อนว่าน่าจะทำให้ The Sea Inside เป็นหนังที่ผมไม่ถึงกับชอบมากแต่อย่างใด อย่างแรกคือปัญหาในการปรับอารมณ์จาก Bonjour Monsieur Shlomi อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อมีเวลาแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และหนังสองเรื่องนี้เรียกว่าเนื้อหาอยู่คนละขั้วกันโดยสิ้นเชิง อย่างที่สองคือความคาดหวังที่ผมดันมีต่อ The Sea Inside ในระดับสูงมาก และก็คาดหวังว่ามันจะเป็นยังนั้นยังนี้ตามใจตัวเองไปหน่อย และอีกส่วนเล็กๆอาจเป็นเพราะเรื่องนี้ใช้ภาษาที่ค่อนข้างยากและพูดกันเร็วจนบางครั้งตาม subtitle ภาษาอังกฤษไม่ทัน
The Sea Inside เป็นหนังว่าด้วยประเด็นการุณยฆาต (Mercy Killing) ทั้งเรื่องจะเหมือนการวิเคราะห์ประเด็นนี้โดยเน้นที่มุมมองของ รามอน ซัมเปรโด ผู้ประสบอุบัติเหตุจากการกระโดดน้ำในทะเลจนหัวกระแทกพื้นทะเล ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไป โดยมีความรู้สึกและขยับได้เฉพาะส่วนหัว ทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวถึงเกือบ 30 ปี ตลอดเวลาเราจะเห็นว่ารามอนเรียกร้องที่จะปลิดชีวิตตัวเองโดยพยายามโน้มน้าวให้ทั้งคนรอบข้างและผู้มีอำนาจในการออกกฏหมายเห็นด้วย โดยความเชื่อเหนียวแน่นว่า การตายอย่างมีเกียรติคือทางเลือกที่เหมาะสมยิ่งกว่าการอยู่อย่างไร้เกียรติเช่นนี้
หนังฉลาดในการให้รายละเอียด, ความเห็น, ปฏิกิริยา ต่อประเด็นนี้ในทุกรูปแบบ เราจะได้เห็นตัวละครที่มีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งพี่สะใภ้ที่คอยดูแลรามอนและรักรามอนเหมือนลูกตลอดเวลา ซึ่งเคารพในความเห็นของรามอน โดยที่ไม่แสดงออกชัดเจนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พี่ชายที่คัดค้านรุนแรงถึงกับห้ามใครช่วยรามอนในบ้านของเค้าเด็ดขาด และมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับรามอนบ่อยๆ หลานชายที่คอยช่วยเหลือรามอนเหมือนกับว่านั่นเป็นหน้าที่ และพร้อมจะช่วยในสิ่งที่รามอนปรารถนา โดยที่ไม่ทราบความรู้สึกตัวเองจนถึงฉากหลังๆของเรื่อง พ่อที่ต้องเศร้ากับทั้งอาการและเจตจำนงของลูกชาย เพื่อนสาวของรามอนที่ให้ความช่วยเหลือมานานในทุกๆอย่างที่รามอนต้องการ และผู้หญิงสองคนที่เรียกได้ว่าพบรักกับรามอน คนหนึ่งคือทนายที่มีโรคประจำตัวที่น่าจะไปสิ้นสุดที่จุดคล้ายๆกับรามอน ซึ่งตั้งใจมาช่วยรามอนในทางกฏหมาย และในระหว่างนั้นเกิดความเข้าอกเข้าใจลึกซึ้งและความรู้สึกดีๆต่อกัน ส่วนอีกคนหนึ่งคือหญิงม่ายทำงานโรงงานและจัดรายการวิทยุที่ผิดหวังกับความรักมาหลายครั้ง กลายเป็นผู้หญิงที่สับสนว่าจะเอายังไงกับชีวิต จนกระทั่งได้เจอรามอนซึ่งเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้ชีวิตของเธอ ซึ่งเธอเข้ามาเพื่อพยายามเปลี่ยนใจให้รามอนอยากมีชีวิตอยู่ ตัวละครแต่ตัวมีอย่างน้อยก็หนึงฉากที่เปิดให้แสดงความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองที่มีอยู่เต็มที่ และเป็นไปในแบบที่คนดูคงเข้าใจเหตุผลและความรุ้สึกของทุกคนได้ นอกจากนั้นยังมีปฏิกิริยาเล็กๆจากผู้คนภายนอก และบาทหลวงที่เป็นโรคลักษณะเดียวกับรามอนแต่ต่อต้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเจ้าของฉากโต้เถียงกับรามอน ที่น่าจะเปิดให้เราได้เข้าใจและเข้าถึงการตัดสินใจของรามอน และยังเข้าใจตัวพี่สะใภ้ได้มากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่หนังทำได้ดีมากๆก็คือการเลือกที่จะให้ความสำคัญแก่ชีวิตก่อนอุบัติเหตุของรามอนแค่เล็กน้อย โดยเหมือนจะแค่เกริ่นเท่านั้นว่าก่อนนั้นรามอนเป็นอย่างไร ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นๆ เหตุการณ์ก่อนหน้าอุบัติเหตุครั้งนั้นอาจจะกินเวลาเกือบครึ่งนึงของเรื่องราว หรืออาจจะมากกว่า แต่ผู้สร้างหนังเรื่องนี้คงพิจารณาแล้วว่านั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และกลับมายึดประเด็นเรื่องการุณยฆาตอีกครั้ง
สิ่งที่ฉลาดอีกอย่างคือการทำฉากในจินตนาการหรือความฝันของรามอนออกมาได้อย่างชาญฉลาด เราน่าจะเข้าใจรามอนมากขึ้นว่าถึงเขาอยากจะตาย แต่จริงๆแล้วเขาโหยหาชีวิตคนปกติที่ตนเองไม่สามารถมีได้ขนาดไหน
ดนตรีประกอบ และการถ่ายภาพทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ อยู่ในระดับยอดเยี่ยม และหัวใจของหนังเรื่องนี้คือ ฮาเวียร์ บาร์เด็ม ผู้รับบทรามอน ที่แทบจะทั้งเรื่องสามารถแสดงได้โดยใช้แค่สีหน้า แต่บาร์เด็มให้การแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆในแบบที่นักแสดงชายในหนังเรื่องอื่นๆที่ผมได้ดูในเทศกาลไม่มีใครเลยอยู่ในระดับใกล้เคียง บาร์เด็มถ่ายทอดทุกอารมณ์ความรู้สึกของรามอนออกมาทางสีหน้าและแววตาได้อย่างไร้ที่ติจริงๆ
ส่วนที่กันไม่ให้ผมชอบหนังเรื่องนี้มากอย่างที่คาดหวังไว้ ก็คงจะเป็นเพราะประเด็นซึ่งเหมือนจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของหนังนั่นเอง แน่นอนว่าผมเห็นว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และการวิเคราะห์ประเด็นนั้นของหนังก็ทำได้อย่างโดดเด่น แต่ผมยังรู้สึกค่อนข้างห่างไกลกับประเด็นนี้มากไปหน่อย ยิ่งเมื่อเทียบกับเรื่อง ความรักและชีวิตของ Bonjour Monsieur Shlomi ที่เพิ่งผ่านตามา มันยิ่งเป็นประเด็นที่ห่างไกลกันมากเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม ผมไม่ปฏิเสธว่าหนังเรื่องนี้มีคุณภาพดีเยี่ยม และยังคงแน่ใจว่ามันเป็นเต็งหนึ่งในโอกาสที่จะได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนี้ในฐานะตัวแทนของสเปน และถึงแม้จะเป็นในปีที่มีแต่คู่แข่งหินๆนี้ ฮาเวียร์ บาร์เด็ม ยังมีสิทธิ์เข้าชิงในสาขานำชายจากหนังเรื่องนี้อยู่พอสมควรทีเดียว


Reconstruction / Les Choristes / Vera Drake





21 ม.ค. 2548 ได้ดูถึง 3 เรื่อง
คงต้องบอกว่า น่าจะเป็นหนังที่เล่าเรื่องได้'เก๋'ที่สุดในเทศกาลที่ผมได้ดูแล้วล่ะครับ กับเรื่อง Reconstruction หนังที่มีรางวัลจาก Cannes การันตี และยังสร้างชื่อในเทศกาลอื่นๆอีกมาก นี่เป็นหนังที่ผมไม่กล้าจะตีความจริงๆ และก็ไม่คิดว่าควรจะมีใครกล้าฟันธงด้วยว่าเนื้อเรื่องเป็นอะไรยังไง เพราะมันเป็นหนังในแบบที่ถ้าให้คนนึงอธิบายให้ฟังว่าไอ้ที่เห็นบนจอทั้งหมดนั่นแปลว่าอะไร คุณคงจะได้รับคำอธิบายที่แตกต่างกันไปกับของอีกคนหนึ่ง...และอีกคนหนึ่ง....
Reconstruction เป็นหนังว่าด้วยความสัมพันธ์และความรักระหว่างชายหญิง 2 คู่ เมื่อตัวพระเอกที่มีแฟนอยู่แล้ว กลับไปพบรักกับภรรยาของนักเขียน เรื่องราวหลังจากนั้นเกิดขึ้นในโคเปนเฮเกน ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนเขาวงกต...และไม่สามารถสรุปได้ว่าจริงๆเป็นยังไง และถ้าสรุปได้ ผมก็ไม่อยากสรุปด้วย มันคงทำให้คุณดูหนังเรื่องนี้สนุกน้อยลงเยอะ นี่เป็นหนังในแบบที่แต่ละคนควรจะไปดูแล้วสรุปเอาเองในใจ และหลายๆคนรวมทั้งผม คงอยากที่จะดูซ้ำอีกรอบหนึ่งแล้วล่ะ
ในเมื่อผมจะไม่เล่าเรื่องอะไรมากไปกว่านั้น ก็มาพูดกันเรื่องอื่นๆที๋โดดเด่น คงต้องเรียกว่านี่เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ใจผมไปตั้งแต่ฉากเปิด เมื่อเสียงเพลง Night and Day ดังขึ้นมา แล้วตั้งแต่เริ่มเรื่อง เราก็ได้รับทราบกันไปเดี๋ยวนั้นเลย ว่าหนังเรื่องนี้จะต้องมีสไตล์โก้เก๋ และมีเรื่องให้สมองคิดตามตามมาอีกมากมาย
ก่อนจะเข้าใจผิด ผมขอบอกก่อนว่า Reconstruction อาจจะเรียกว่าเป็นหนังที่มีบทซับซ้อน และอาศัยการตีความจากคนดูแต่ละคน แต่มันเป็นหนังที่เรียกได้ว่าดูสนุกมากเรื่องนึงทีเดียว อีกทั้งนักแสดงนำทั้งชายหญิงก็เป็นหนุ่มหล่อสาวสวย งานด้านภาพสวยงามโดดเด่นด้วยสไตล์ที่ทำให้ภาพเมืองโคเปนเฮเกนทั้งมีเสน่ห์และลุ่มลึก และมีการใช้เทคนิคที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกไปด้วยหลายอย่าง แถมบทหนังที่ซับซ้อน และผมก็ไม่ได้เข้าใจดีนัก แต่บอกได้เลยว่าบทไม่ได้มั่วแน่ๆ...แล้วก็อยากจะตะโกนออกมาว่า 'มันคิดได้ยังไงเนี่ย' กับหลายๆฉากทั้งเรื่อง
ขอสรุปไปเลยแล้วกันว่า ผู้กำกับ-นักเขียนบท คริสตอฟเฟอร์ โบ ซึ่งยังไม่ได้มีผลงานออกมามากนัก เป็นบุคคลที่น่าสนใจจะต้องติดตามงานต่อๆไปอย่างยิ่ง จากหนังเรื่องนี้แสดงถึงความทะเยอทะยานในระดับสูงกว่าปกติของเขาเป็นอย่างดี และน่าสนใจมากๆที่ความทะเยอทะยานนั้นให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าแก่การดู และดูซ้ำเหลือเกิน

เวลาบ่ายกับ Les Choristes หนังฝรั่งเศสทำเงินสูงสุดในรอบปี ซึ่งเหมือนการผ่อนคลายที่เต็มอิ่มของเทศกาลหนังครับ หนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกสดชื่นขึ้นเยอะ เพราะว่าพูดไปแล้ว Les Choristes นับเป็นงานที่'ตลาด'ที่สุดเรื่องนึงแล้วในเทศกาลครับ
เรื่องของครูกับนักเรียนในแบบที่เคยถูกนำมาเล่าผ่านจอภาพยนตร์หลายๆครั้งแล้ว และครั้งนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ Les Choristes พูดถึงคุณครูใหม่ที่เข้ามาสอนดนตรีในแก๊งค์เด็กแสบที่แต่ละคนเหมือนเด็กเหลือขอ มีตัวละครเด็กตัวหลักๆที่มีปมต่างๆกันแต่ละตัว แล้วคุณครูก็ใช้เวลาและความพยายามรูปแบบใหม่ๆในโรงเรียนที่ผู้มีอำนาจแสนเผด็จการและเต็มไปด้วยกฎคร่ำครึ โดยใช้ดนตรีกล่อมเกลาจิตใจจนแก๊งค์เด็กแสบที่ว่ากลายเป็นวงขับร้องประสานเสียงที่ในที่สุดได้แสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์ และหนังก็ไม่ลืมที่จะใส่พล็อตรองเพิ่มเติมลงไป ซึ่งก็เป็นเรื่องเดิมๆอีกนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นความรักเล็กๆที่คุณครูมีต่อแม่ของเด็กคนหนึ่ง หรือเรื่องราวอื่นๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียนก็ตาม
ในความจำเจของเรื่องนั้น สิ่งที่นับว่า Les Choristes ทำได้ดีก็คือการคุมความรู้สึกของคนดูให้ไปตามที่หนังต้องการเหมือนหนังฮอลลีวู้ดดีๆเรื่องนึง แต่หนังก็ฉลาดในการสงบเสงี่ยมเจียมตัว เพราะแต่ละฉาก ไม่ได้มาด้วยอารมณ์ที่มากรุนแรง หนังเหมือนจะย่อสเกลการบีบคั้นอารมณ์จากหนังน้ำเน่าหลายๆเรื่อง ลงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เห็นได้จากฉากสำคัญๆแทบทุกฉากของหนัง ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระชากอารมณ์จนดูเหมือนจงใจ แต่กลับเกิดขึ้นง่ายๆ สบายๆ แต่คนดูยิ้มตาม หัวเราะตาม หรือแม้แต่เศร้าตามไปด้วย แถมนักแสดงที่เล่นแต่ละคนก็ดูเหมาะสมกับบทดี ผมชอบเด็กที่เป็นตัวเอกของหนัง และเป็นคนร้องโซโล่ของวงเป็นพิเศษ
คงต้องบอกว่าผมดีใจมากครับที่ในเทศกาลยังมีหนังย่อยง่ายๆอย่างนี้ให้ดู และน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของคนที่ปกติดูแต่หนังฮอลลีวู้ดตามตลาดทั่วไป จะสามารถดูเรื่องนี้ และอยากจะหาเรื่องอื่นๆที่อาจจะย่อยยากขึ้นมาดูต่อๆไป แถมเหมาะกับการไปดูกันเป็นครอบครัวด้วยนะครับเนี่ย

ปิดท้ายวันนี้ด้วยหนังรางวัลสิงโตทองคำจากเวนิซเรื่อง Vera Drake ของไมค์ ลีห์ ซึ่งกวาดรางวัลและการเข้าชิงทั้งตัวผู้กำกับ และนักแสดงนำหญิงมาจากเทศกาลมากมายทั่วโลก
ผมเคยดูหนังไมค์ ลีห์ เรื่องเดียวครับ คือ Secrets & Lies ที่ได้ชิงออสการ์ ซึ่งผมจำไม่ค่อยได้แล้ว สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีหนังนอกกระแสให้ดูเท่าไหร่เลย แถมได้ดูในโรงหนังด้วย แต่ที่รู้ก็คือผมชอบ Vera Drake มากกว่าเรื่องนั้นแน่ๆ อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างที่หนังไม่มีซับเนื่องจากพูดภาษาอังกฤษ แถมยังเป็นสำเนียงอังกฤษ แต่เรื่องราวโดยเฉพาะตอนหลังๆต้องบอกว่าง่ายแก่การเข้าถึงครับ ก่อนอื่นผมขอบอกว่าที่จะเขียนนี่มีการเปิดเผยเรื่องเกือบทั้งเรื่อง แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าจะทำให้เสียอรรถรสในการชมเท่าไหร่ เพราะหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เน้นเนื้อเรื่อง แต่เน้นความรู้สึกที่เรามีไปพร้อมๆกับการดำเนินเรื่องมากกว่า เชื่อว่าถ้าได้อ่านเรื่องย่อ ก็น่าจะรู้หรือคาดเดาเรื่องราวได้ทั้งเรื่องอยู่แล้ว
Vera Drake เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอังกฤษราวๆ 50 ปีก่อน ในยุคที่การทำแท้งผิดกฏหมาย หนังว่าด้วยเรื่องของหญิงชราคนหนึ่งตามชื่อเรื่อง ซึ่งมีครอบครัวชั้นแรงงาน ซึ่งฐานะไม่ค่อยดี แต่มีความสุขและเรียกได้เลยว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่น คนดูจะได้เห็นทั้งเรื่องว่าเวร่าเป็นผู้หญิงที่ใจดีขนาดไหน เธอช่วยเหลือทุกคนที่ช่วยได้ เธอรักครอบครัวและคนรอบข้าง และปฏิบัตืหน้าที่ต่างๆอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
หลังจากเรื่องดำเนินไปได้ไม่นาน เราจะได้เห็นชีวิตอีกด้านหนึ่งที่ไม่มีใครอื่นในครอบครัวรู้ เธอตระเวณไปตามบ้านเพื่อทำแท้งให้ผู้หญิงที่ท้องแต่ไม่อยากจะมีลูก เธอทำเพราะเธอเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านั้น และเธอก็ไม่ได้เรียกร้องเงินทองแต่อย่างใด แต่ในเมื่อมันผิดกฏหมาย และในเมื่อมีผู้เดือดร้อน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกืดเหตุการณ์อย่างตอนท้ายเรื่อง
ไมค์ ลีห์ เหมือนจะสร้างหนังทั้งเรื่อง โดยมีประเด็นที่เด่นชัดขึ้นมาได้แก่การทำแท้งเถื่อน และวิเคราะห์ประเด็นนั้นโดยละเอียด โดยไม่ได้สรุปอะไรเด็ดขาดทั้งสิ้น หนังบอกเราถึงเหตุผลที่ทำให้เกิดการทำแท้ง หนังบอกผลที่ตามมา มีทั้งตัวละครที่เกี่ยวข้อง เข้าใจ ไม่เข้าใจ ต่อต้าน ประเด็นนี้ รวมถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ แต่ก็มีหัวใจ ในช่วงหลังของเรื่อง ตำรวจที่จับเวร่า ไม่ได้ถูกเสนอภาพด้านเดียวที่จะทำให้เป็นผู้ร้ายในใจผู้ชม แต่เราจะได้เห็นกันชัดๆว่าคนเหล่านั้นไม่ได้มีความสุขกับอำนาจหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำเลย
อีเมลดา สตอนตัน สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะกวาดรางวัลนักแสดงมาจากเทศกาลต่างๆมาขนาดนั้น เพราะเธอเหมือนจะไม่ได้เล่นเป็นเวร่า แต่สวมวิญญาณเป็นเวร่าไปเลยด้วยซ้ำ ฉากที่ผมว่าน่าตื่นตะลึงที่สุดคือการโคลสอัพใบหน้าของเธอเมื่อตำรวจบุกเข้ามาในงานปาร์ตี้ที่บ้าน แล้วเธอรู้ทันทีว่าพวกเขามาที่นั่นเพราะอะไร ฉากแบบนี้ถ้านักแสดงไม่เก่งพอจะดูไม่มีความสำคัญเลย อีเมลดาทำให้ฉากนี้ติดตาอย่างยิ่งด้วยการแสดงของเธอ และการเปรียบเทียบเวร่าก่อนหน้าและหลังจากเหตุการณ์นั้น ยิ่งตอกย้ำความเก่งกาจของอีเมลดาเป็นอย่างดีว่าเธอตีบทบาทของเวร่าได้แตกกระจายขนาดไหน มันดูเหมือนไม่ใช่การแสดงเลยด้วยซ้ำ และแค่เธอก็ทำให้การดูหนังเรื่องนี้คุ้มค่าเวลาและเงินที่จ่ายไปโดยไม่ต้องพูดถึงความ'เชี่ยว'และการเอาอยู่ของผู้กำกับเลยก็ยังได้

ต่อตอนที่สองด้วยนะครับ :)




 

Create Date : 26 มกราคม 2548    
Last Update : 26 มกราคม 2548 1:26:14 น.
Counter : 1155 Pageviews.  

1  2  

Dr Syntax
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Dr Syntax's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.