Group Blog
 
All Blogs
 
ประเทศญี่ปุ่นเจ้าแห่งการล่าปลาวาฬ

ปลาวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ตามปกติปลาวาฬจะตั้งครรภ์นานถึง 1 ปี ปลาวาฬเป็นสัตว์ที่มีจำนวนน้อยอาศัยอยู่ทั่วไปตามมหาสมุทร ปัจจุบันมีการสำราจปลาวาฬในทะเลแอนตาร์กติก (แถบขั้วโลกใต้) ซึ่งเป็นแหล่งปลาวาฬขนาดใหญ่ของโลกนั้น พบว่าเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และจำนวนปลาวาฬก็กำลังลดลงอย่างมากจนคาดการณ์ว่าจะสูญพันธุ์ไปในอีกไม่ถึง 200 ปีข้างหน้านี้ เพราะทุกวันนี้ปลาวาฬกำลังถูกไล่ล่าฆ่ามากมายปลาวาฬบางตัวได้รับเสียงรบกวนจากเรือ จากเครื่องยนต์ในทะเลหรือจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เมื่อมีการสำรวจพบในปี พ.ศ.2509 ว่าจำนวนประชากรปลาวาฬกำลังร่อยหรอเหลือเพียง 12,000 ตัว เท่านั้น ปลาวาฬจึงได้รับการประกาศว่าเป็นสัตว์ที่โลกควรอนุรักษ์ตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ยังมีการล่าปลาวาฬไปเพื่อบริโภคกันอย่างน้อยปีละเกือบ 2,000 ตัว แม้จะมีการจัดตั้งองกรค์อนุรักษ์ปลาวาฬและออกห้ามล่าแล้วก็ตามโดยเจ้าแห่งการล่าปลาวาฬนี้ก็หนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

การล่าปลาวาฬมีมาตั้งแต่อดีตเมื่อ 1,000 ปีก่อน โดยชนเผ่าในยุโรปเป็นชนเผ่าแรกที่ดำรงชีวิตโดยการจับปลาวาฬมาเป็นอาหาร ต่อมากิจกรรมล่าปลาวาฬจึงมีการดำเนินการกันอย่างกว้างขวางและจริงจังทั่วโลก มีการล่าปลาวาฬเพื่อการค้า เพราะมนุษย์พบว่าแทบทุกส่วนของปลาวาฬมีประโยชน์ เช่น ไขใช้ทำสบู่ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงจุดตะเกียง เนื้อใช้บริโภคและกระดูกปลาวาฬใช้ทำเป็นปุ๋ย

สำหรับประเทศญี่ปุ่นการล่าและกินเนื้อปลาวาฬมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 8 ซึ่งกล่าวถึงการเสวยเนื้อปลาวาฬของจักรพรรดิจิมมุ โดยทุกส่วนของปลาวาฬจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เกือบทั้งหมด ในญี่ปุ่นมีกระทั่งสำนวนที่ว่า “ไม่มีส่วนใดที่สูญเปล่า นอกจากเสียง” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงปลาวาฬที่สามารถนำทุกส่วนไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าต่อการล่า

การล่าปลาวาฬของญี่ปุ่นเริ่มจากการใช้กองเรือขนาดเล็กนับสิบลำและมีฉมวกมือเป็นอาวุธ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการใช้เรือกลไฟขนาดใหญ่และปืนยิงฉมวก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นขาดแคลนอาหารอย่างหนักแต่เด็กๆ ในประเทศรอดชีวิตมาได้ด้วยเนื้อของปลาวาฬ ดังนั้นการบริโภคปลาวาฬจึงได้กลายเป็นประเพณีไป โดยในยุคหนึ่งถึงกับกำหนดไว้ว่า ทุกวันที่ 9 ของเดือน ถือเป็น “วันกินเนื้อปลาวาฬ”

ในอดีตการล่าปลาวาฬเพื่อการค้า มีจุดประสงค์หลักเพื่อเอาน้ำมันจากปลาวาฬไปทำเทียนไข เครื่องสำอาง น้ำหอม รวมถึงนำเนื้อไปบริโภค แต่การล่าปลาวาฬเพื่อการค้าได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนเป็นสาเหตุให้จำนวนปลาวาฬทั่วโลก ลดลงอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดปลาวาฬบางชนิดอย่างเช่น ปลาวาฬฟิน และปลาวาฬฮัมแบ็ก และโดยเฉพาะปลาวาฬสีน้ำเงิน เหลือน้อยเต็มที จนกลายเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ดังเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้เกิดโครงการ "Save the Whales" ในระดับนานาชาติขึ้น โดยเริ่มขึ้นในช่วงปีพ.ศ 2518 และประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อองค์การสมาพันธ์ปลาวาฬสากล หรือ International Whaling Commission (IWC) ได้ลงมติเกิดเป็นสนธิสัญญาห้ามการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2529 แต่อนุญาตให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้แรงคนซัดฉมวกล่าปลาวาฬได้ รวมทั้งการล่าเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศตะวันตกโดยส่วนใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศ"ผู้ล่า"ก็กลับกลายมาเป็น"ผู้ให้ความคุ้มครอง"ปลาวาฬมาจนกระทั่งในปัจจุบัน

แม้จะมีการกำหนดกฎกติกาเพื่อป้องกันการล่าปลาวาฬ แต่ปลาวาฬยังคงถูกล่าเฉลี่ยปีละ 1,000 ตัว โดยประเทศที่เป็นนักล่าตัวฉกาจก็คือ ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งใช้ช่องว่างของสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้ล่าเพื่อวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ นำมาอ้างการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าเพื่อนำไปบริโภค โดยใช้ใบอนุญาตทางการวิจัยเป็นเครื่องมือบังหน้า

การล่าปลาวาฬ เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีที่ผ่านมา กรมประมงของญี่ปุ่นให้สัมปทานล่าปลาวาฬไปมากกว่า 1,000 ตัวและในปีข้างหน้าคาดว่าจำนวนปลาวาฬทั้งหมดที่จะถูกล่าโดยเรือของญี่ปุ่นจะมีมากถึง 1,300 ตัว

ประเทศสมาชิกสมาพันธ์ปลาวาฬสากลได้ลงมติร่วมกัน ให้เขตมหาสมุทรทางซีกโลกใต้ เป็นเขตปลอดการล่าปลาวาฬทุกชนิด แต่ญี่ปุ่นก็ปฏิเสธที่จะลงมติ เป็นผลให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศสมาชิกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในการประชุมประจำปีสมาพันธ์ปลาวาฬสากลในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา

หลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ยังเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มประเทศที่สนับสนุนการล่าปลาวาฬ ในการยกเลิกสนธิสัญญาการห้ามล่าปลาวาฬเพื่อการค้าโดยอ้างว่า ปลาวาฬบางชนิดมีจำนวนมากเกินพอที่จะเปิดการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าได้ เพียงแต่ต้องมีระบบการจัดการและควบคุมดูแลที่ดีเพียงพอ และความพยายามในเรื่องนี้ก็คล้ายจะประสบความสำเร็จเมื่อประเทศที่สนับสนุนการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าได้รับชัยชนะในการลงคะแนนเสียงต่อสมาชิกสมาพันธ์ปลาวาฬสากลไปหนึ่งเสียง แต่ก็ยังไม่สามารถจะยกเลิกสนธิสัญญานี้ได้เพราะต้องได้เสียงมากกว่า 3 ใน 4 เสียง ชัยชนะครั้งนี้ของญี่ปุ่น ถูกมองว่ามีการซื้อเสียงในรูปแบบของเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ ที่ให้กับประเทศขนาดเล็กใน ทะเลแคริบเบียน และประเทศในทะเลแปซิฟิก อื่นๆ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ในเอเชียและแอฟริกาด้วย ซึ่งเชื่อว่าหลายประเทศเหล่านี้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกสมาพันธ์ปลาวาฬสากล ด้วยการสนับสนุนของญี่ปุ่น โดยหลายประเทศในกลุ่มนี้ ไม่มีแม้กระทั่งความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์กับปลาวาฬแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งพรมแดนที่ติดทะเลด้วยซ้ำ (อย่างเช่น มองโกเลีย )

นอกจากนี้ปีนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกมาอนุญาตให้นำปลาวาฬที่ติดอวนมาโดยไม่ตั้งใจ สามารถนำออกขายในตลาดได้ ทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์ปลาวาฬออกมาวิจารณ์ว่า นี่เป็นช่องทาง ที่จะทำให้มีการล่าปลาวาฬมากขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการสุ่มตัวอย่างเนื้อปลาวาฬ ในตลาดของญี่ปุ่นมาตรวจดีเอ็นเอ พบว่าตัวอย่างเนื้อปลาวาฬที่ได้มาบางชิ้น เป็นเนื้อของปลาวาฬชนิดใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาวาฬสีน้ำเงิน ปลาวาฬฟิน และปลาวาฬฮัมแบ็กซึ่งแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นลักลอบล่าปลาวาฬหลายชนิดที่ห้ามล่าเด็ดขาด

แม้ญี่ปุ่นจะถูกรุมตำหนิจากผู้ต่อต้านการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าทั่วโลก แต่ดูเหมือนญี่ปุ่นไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไร ที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ทำผิดกฎ กติกา มารยาทของการล่าปลาวาฬมาโดยตลอด แต่ประเทศสมาชิกก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ ด้านผู้นำญี่ปุ่นก็ได้ออกมากล่าวโดยที่ไม่ได้รู้สึกผิดใดๆว่า ในมุมมองของคนญี่ปุ่นแล้ว ปลาวาฬเป็นสัตว์ทะเล ที่มนุษย์สามารถล่า เพื่อนำมาเป็นอาหารได้ คนญี่ปุ่นนั้น ไม่ค่อยบริโภคสัตว์บกขนาดใหญ่เป็นอาหาร ประกอบกับประเทศมีพื้นที่น้อย ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ทุกวันนี้เนื้อสัตว์ที่คนญี่ปุ่นบริโภค ร้อยละ 75 นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องออกเรือ ไปหาอาหารในทะเล " ไม่แปลกอะไรที่อาหารในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น เป็นอาหารทะเล ขณะที่อาหารในวัฒนธรรมของคนยุโรป และคนอเมริกัน คืออาหารจากปศุสัตว์ " นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมี องค์กรเกี่ยวกับปลาวาฬ (Japan Organizing Council of the International Whaling Commission) ซึ่งจัดงานสนับสนุนกิจการค้าปลาวาฬ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มาลองชิมเนื้อปลาวาฬทอดกันกันอย่างเต็มที่ ทางด้านประชาชนชาวญี่ปุ่นเองเกือบ 2 ใน 3 ก็ยังคงสนับสนุนให้มีการล่าปลาวาฬ ผลสำรวจความคิดเห็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำขึ้นโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชี้ว่า ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 65 สนับสนุนให้มีการล่าปลาวาฬต่อไป มีเพียงร้อยละ 21 ที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56 เห็นด้วยกับการนำเนื้อปลาวาฬมาประกอบอาหาร โดยผู้เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นชายอายุระหว่าง 40-70 ปี ซึ่งชื่นชอบการรับประทานเนื้อปลาวาฬ เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้จักและผูกพันกับการรับประทานเนื้อปลาวาฬมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่การล่าปลาวาฬเพื่อการค้ายังสามารถทำได้อยู่ จากผลสำรวจนี้ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนการล่าปลาวาฬส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นเก่า ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อไปส่วนหนึ่งก็มีความรู้สึกไม่เห็นด้วยต่อการล่าปลาวาฬ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดีว่าอาจเป็นไปได้ที่ในอนาคตญี่ปุ่นจะเลิกการล่าปลาวาฬมาเพื่อบริโภค หากแต่ก็ยังมีข่าวออกมาว่าโรงเรียนประถมกว่าร้อยละ 85 ของญี่ปุ่นได้นำอาหาร เช่น เบอร์เกอร์ และลูกชิ้น ซึ่งทำจากเนื้อปลาวาฬมาเสิร์ฟให้แก่เด็กนักเรียน เพื่อทำให้เด็กๆ รู้จักวัฒนธรรมการล่าปลาวาฬและวัฒนธรรมการกินเนื้อปลาวาฬของญี่ปุ่นและให้ประเพณีการกินเนื้อปลาวาฬยังคงอยู่ต่อไป

จากนี้ไปปลาวาฬที่ใกล้จะสูญพันธุ์ของเราจะมีอนาคตเป็นเช่นไรก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับการร่วมมือกันต่อต้านการล่าปลาวาฬอย่างจริงจัง รวมถึงการน้อมรับต่อมติต่างๆของประชาคมโลกของญี่ปุ่น ชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะเจริญแต่เพียงวัตถุจนกระทั่งละเลยที่จะยกระดับความเจริญทางจิตใจไปบ้างรึเปล่า


ที่มา : //www.sarakadee.com/feature/2001/07/editor.htm
//bbs.pramool.com/webboard/view.php3?katoo=C21476
//www.sakid.com/2006/07/27/2182/
//www.nicaonline.com/webboard/index.php?topic=2378.0
//blitblog.com/2008/02/24/whale/
//www.hokutoda.com/varietyboard/detail.php?WebID=3223
//www.businessthai.co.th/content.php?data=402440_LifeStyle
//www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=52459



Create Date : 03 มีนาคม 2552
Last Update : 16 กันยายน 2552 21:05:14 น. 0 comments
Counter : 3235 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผึ้งหวานโบว์
Location :
tokyo Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




2009 โอกาสหนึ่งปีเพื่อพัฒนาภาษาญี่ปุ่น ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน Chuo University

ผ่านไป 6 เดือนแล้ว ดูเหมือนจะไม่มีอะไรพัฒนา!!! ห้าๆๆๆๆๆๆๆๆ
Friends' blogs
[Add ผึ้งหวานโบว์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.