Group Blog
 
All Blogs
 

ระงับอาฆาต

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
อาฆาตวินยสูตรที่ ๑

[๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุ
โดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้
๕ ประการเป็นไฉน คือ
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ
ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม
ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑
ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑

พระสูตรนี้ เนื้อความชัดเจนแล้ว จึงจะไม่อธิบายขยาย

ในพระสูตรว่า อาฆาตวินยสูตรที่ ๒
เป็นภาษิตของท่านพระสารีบุตรเถระ พระเถระได้แสดงธรรมอันเป็น
ที่ระงับความอาฆาต ไว้ 5 ประการ แยกตามความประพฤติของบุคคล ดังนี้

1. บุคคลที่มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่ทางวาจาบริสุทธิ์
พระสารีบุตรเถระอุปมาไว้ว่า
เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เห็นผ้าเก่าที่ถนน เหยียบ
ให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา
ส่วนใดเป็นสาระ ก็เลือกถือเอาส่วนนั้นแล้วหลีกไป
.....
บุคคลประเภทที่ 1 ก็เช่นกัน
เราไม่ต้องใส่ใจ ในความประพฤติทางกายที่ไม่บริสุทธิ์ ของเขา
ใส่ใจเฉพาะความประพฤติทางวาจาที่บริสุทธิ์ เท่านั้น

การใส่ใจเฉพาะสิ่งที่เป็นคุณ ไม่ใส่ใจในสิ่งที่เป็นโทษ ตามนัยนี้
สามารถระงับความอาฆาต

2. บุคคลที่มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ทางกายบริสุทธิ์
พระสารีบุตรเถระอุปมาไว้ว่า
สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าวเหนื่อย
อ่อน ระหายน้ำ เขาลงสู่สระน้ำนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้ว
กอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไป
.....
บุคคลประเภทที่ 2 ก็เช่นกัน
เราไม่ต้องใส่ใจ ในความประพฤติทางวาจาที่ไม่บริสุทธิ์ ของเขา
ใส่ใจเฉพาะความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ เท่านั้น

3. บุคคลที่มีความประพฤติไม่บริสุทธิ์ทั้งทางกายและวาจา
แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร
พระสารีบุตรเถระอุปมาไว้ว่า
เหมือนอย่างว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโค บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว
เหนื่อยอ่อน ระหายน้ำ เขาพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า
น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคนี้ ถ้าเราจักกอบขึ้นดื่มหรือใช้ภาชนะตัก
ขึ้นดื่มไซร้ เราก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง
ถ้ากระไรเราพึงคุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด เขาคุกเข่าก้ม
ลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วไป
.....
บุคคลประเภทที่ 3 ก็เช่นกัน
เราไม่ต้องใส่ใจ ในความประพฤติทางกายวาจาที่ไม่บริสุทธิ์ของเขา
ใส่ใจเฉพาะการได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร เท่านั้น

4. บุคคลที่มีความประพฤติไม่บริสุทธิ์ทั้งทางกายและวาจา
ทั้งไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร
พระสารีบุตรเถระอุปมาไว้ว่า
เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เดินทางไกล
แม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่พึง
ได้อาหารที่สบาย (ถูกโรค) เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำ
ทางไปสู่บ้าน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกลพึงเห็นเขา
บุรุษนั้นพึงเข้าไปตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์
ในเขาว่า โอ คนๆ นี้พึงได้อาหารที่สบาย เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร
และผู้นำทางไปสู่บ้าน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า คนๆ นี้อย่าถึงความพินาศ
ฉิบหาย ณ ที่นี้เลย
.....
บุคคลประเภทที่ 4
เราควรตั้งความกรุณา ในบุคคลประเภทที่4 ว่า
เขาควรละกายทุจริตแล้ว อบรมกายสุจริต
พึงละวจีทุจริตแล้ว อบรมวจีสุจริต
พึงละมโนทุจริตแล้ว อบรมมโนสุจริต
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเหตุว่า เมื่อตายไปแล้ว เขาอย่าเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรกเลย

5. บุคคลที่มีความประพฤติบริสุทธิ์ทั้งทางกายและวาจา ทั้งได้ทางสงบใจ
ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร
พระสารีบุตรเถระอุปมาไว้ว่า
เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่มีน้ำใส มีน้ำอร่อยดี มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำ
ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ดาระดาดไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ
บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อย อ่อน ระหายน้ำ เขาพึงลงสู่สระน้ำนั้น
อาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้าง ที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้น
.....
บุคคลประเภทที่ 5
เราควรใส่ใจทั้งกาย วาจาที่บริสุทธิ์ และใส่ใจในการทางสงบใจ ได้
ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ของเขาด้วย
บุคคลเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ระงับความอาฆาตเท่านั้น แต่ควรทำความ
เลื่อมใสในบุคคลนั้นด้วย เพราะเลื่อมใสในบุคคลที่ควรเลื่อมใส ความเจริญ
ในธรรมจะเกิดขึ้นได้

- - - - - -- - - -- - - -- - - -- - - -

ผู้ต้องการศึกษาเนื้อความทั้งหมด สามารถศึกษาได้ที่
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
อาฆาตวินยสูตรที่ ๑
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4329&Z=4341

อาฆาตวินยสูตรที่ ๒
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4342&Z=4422




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 14 กรกฎาคม 2548 9:30:54 น.
Counter : 380 Pageviews.  

กำลัง 8

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พลสูตรที่ ๑
[๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๘ ประการนี้
๘ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทารกทั้งหลายมีการร้องไห้เป็นกำลัง ๑
มาตุคามทั้งหลายมีความโกรธเป็นกำลัง ๑
โจรทั้งหลายมีอาวุธเป็นกำลัง ๑
พระราชาทั้งหลายมีอิสริยยศเป็นกำลัง ๑
คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ๑
บัณฑิตทั้งหลายมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ๑
พหุสุตบุคคลทั้งหลายมีการพิจารณาเป็นกำลัง ๑
สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีขันติเป็นกำลัง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๘ ประการนี้แล
จบสูตรที่ ๗

//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=4583&Z=4590




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 14 กรกฎาคม 2548 9:27:48 น.
Counter : 312 Pageviews.  

ดับร้อน

ดับร้อน

โดย อ. ประณีต ก้องสมุทร

ในท่ามกลางฤดูร้อน ท้องฟ้าโปร่งปราศจากเมฆหมอก แสงแดดแผดกล้า ความร้อนกระจายไปทั่ว ต้นไม้ใบหญ้าเหี่ยวเฉา ผู้คนพากันหลบร้อนอยู่ภายใต้ชายคาของอาคาร หรือร่มไม้ใบหนา แม้จะมีลมพัดมาเป็นครั้งคราว ลมนั้นก็พาเอาความร้อนมาด้วย ตามถนนหนทางหลายสาย และตามขุนเขาลำเนาไพร งดงามไปด้วยดอกไม้ป่าหลายสีต่างพรรณ ที่บานสะพรั่งเต็มไปทั้งต้น อาทิเช่น สีม่วงของอินทนิลและเสลา สีเหลืองของราชพฤกษ์และประดู่ สีชมพูอมขาวของชัยพฤกษ์สีแดงแสดของนกยูง แต่ความสวยสดใสของดอกไม้เหล่านั้น ก็หาช่วยให้ความร้อนคลายไปได้ไม่
นั่นเป็นเพียงความร้อนที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งไม่นานก็จะแปรเป็นความเย็นชุ่มฉ่ำ เมื่อฤดูฝนเยื้องกรายมาแทนที่ และพระพิรุณโปรยปรายลงมา ให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้และแผ่นดิน
ก็ความร้อนที่เกิดจากลมฟ้าอากาศนั้น อย่างมากก็เพียงทำให้ร้อนกาย ซึ่งยังจะมีทางบรรเทาได้ด้วยน้ำ หรือด้วยอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นหลายชนิด หรือแม้เพียงด้วยพัดใบลานเล่มเดียว
แต่ความร้อนใจเมื่อเกิดขึ้น เราไม่อาจดับได้ด้วยน้ำ หรือด้วยอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะความร้อนใจนั้น ถึงจะมีสาเหตุมาจากสิ่งอื่น บุคคลอื่นภายนอก หรือแม้จากภายในใจของเราเอง สาเหตุเหล่านั้นก็เป็นเพียงสาเหตุที่เรายกมาอ้างกันเท่านั้น มิใช่สาเหตุที่แท้จริง สาเหตุที่แท้จริงของความร้อนใจนั้นคือกิเลส ที่หมักดองสะสมอยู่ในใจของเรามาช้านานต่างหาก ก็เราไม่มีกิเลสแล้วความร้อนใจเพราะเหตุต่างๆ เหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ต้นเหตุของความร้อนใจจึงอยู่ที่กิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ

พระพุทธองค์ตรัสว่า 1 สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟคือราคะ ร้อนเพราะไฟคือโทสะ ร้อนเพราะไฟคือโมหะ

//84000.org/tipitaka/book/bookpn08.php




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 14 กรกฎาคม 2548 9:25:30 น.
Counter : 242 Pageviews.  

ธรรมเพื่อการดับความโกรธ 2

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
สรภังคชาดก
[บางส่วน]
บุคคลพึงอดทนถ้อยคำของคนผู้ประเสริฐกว่าได้ เพราะความกลัว
พึงอดทนถ้อยคำของคนที่เสมอกันได้ เพราะการแข่งขันเป็นเหตุ
ส่วนผู้ใดในโลกนี้ พึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าได้
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนของผู้นั้นว่าสูงสุด.

ไฉนจึงจะรู้จักคนประเสริฐกว่า คนที่เสมอกัน หรือคนที่เลวกว่า
ซึ่งมีสภาพอันอิริยาบถทั้ง ๔ ปกปิดไว้
เพราะว่า สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเที่ยวไปด้วยสภาพของคนชั่วได้
เพราะเหตุนั้นแล จึงควรอดทนถ้อยคำของคนทั้งปวง.

สัตบุรุษผู้มีความอดทน พึงได้ผลคือความไม่มีการกระทบกระทั่ง
เพราะการสงบระงับเวร เสนาแม้มากพร้อมด้วยพระราชาเมื่อรบอยู่
จะพึงได้ผลนั้นก็หามิได้ เวรทั้งหลายย่อมระงับด้วยกำลังแห่งขันติ.
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=10186&Z=10323




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2548 23:38:32 น.
Counter : 269 Pageviews.  

ธรรมเพื่อการดับความโกรธ

ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว
แต่ความอดกลั้นได้เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่

ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว
ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว
เพราะการโกรธตอบนั้น

บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว
ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก

ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบอยู่ได้
ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและแก่ผู้อื่น
เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตนและของผู้อื่น
ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้ ฯ




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2548 13:10:23 น.
Counter : 362 Pageviews.  


sutee
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add sutee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.