ขออำนาจพุทธธรรมสงฆ์ โพธิสัตว์ จักรพรรดิ์ จงบันดาลบารมีท่าน บุญข้า ให้แก่ผู้ต้องการตลอดไป
 

อริยบุคคล4 หลังความตาย

พุทธดำรัสตอบ

“ ดูก่อนอานนท์ ภิกษุชื่อสาฬหะมรณภาพแล้ว บรรลุถึงเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติที่ไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย เพราะรู้ยิ่งเองในปัจจุบันเข้าไปสงบอยู่แล้ว (ในนิพพานธาตุ)

ภิกษุณีชื่อนันทามรณภาพแล้วเป็นโอปปาติกะ เนื่องจากสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป จักปรินิพพานใน (พรหมโลกชั้นสุทธาวาส) นั้น จักไม่กลับมาจากโลกนั้นอย่างแน่นอน...

อุบาสกชื่อสุทัตตะกระทำกาละแล้ว เป็นพระสกิทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และบรรเทา ราคะ โทสะ โมหะได้ มาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียวแล้วจักกระทำที่สุดทุกข์...

อุบาสิกาชื่อสุชาดา กระทำกาละแล้วเป็นพระโสดาบันพระสังโยชน์ ๓ สิ้นไป มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้จักตรัสรู้ในกาลข้างหน้า

“ดูก่อนอานนท์ การที่มนุษย์กระทำกาละนี้มิใช่ของแปลกเลย แต่เมื่อคนแต่ละคนทำกาละแล้ว เธอเข้ามาถามเรื่องนั้นกะเรา นี้เป็นความลำบากของตถาคต....”


คิญชกาวสถสูตรที่ ๑ มหา. สํ. (๑๔๗๐-๑๔๗๑ )
ตบ. ๑๙ : ๔๔๗ ตท. ๑๙ : ๔๐๗
ตอ. K.S. ๕ : ๓๑๒




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 16:44:37 น.
Counter : 505 Pageviews.  

ผู้อยู่ครองเรือน นอนแออัดด้วยบุตร ยังทัดทรงดอกไม้ของหอม ใช้เงินทอง ตายไป อยากเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์

พุทธดำรัสตอบ

“ ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เราอยากเป็นอยู่ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผู้ใดจะปลงเรา...เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงปลงคนอื่นที่อยากเป็นอยู่ไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น
อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ ตนเองย่อมงดเวนจากการฆ่าสัตว์ ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นย่อมสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้น ความประพฤติทางกายของเขา ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้

“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วยการขโมย ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...
อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากอทินนาทาน ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้น... ย่อมสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้น....

“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงประพฤติผิดในภรรยาของเรา ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...
อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร...

“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงทำลายประโยชน์ของคนอื่นด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...
อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากมุสาวาท...

“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงยุยงเราให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงยุยงเราให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...
อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากปิสุณาวาจา (คำส่อเสียด)...

“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงพูดกับเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงพูดกับเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...
อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากผรุสวาจา (คำหยาบ)....

“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงพูดกับเราด้วยคำเพ้อเจ้อเหลวไหล ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงพูดกับเราด้วยคำเพ้อเจ้อเหลวไหล ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...
อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากคำเพ้อเจ้อเหลวไหล....

“อริยสาวกนั้นประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า....ในพระธรรม....ในพระสงฆ์....ประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยเจ้า...

“ ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ เมื่อนั้นพึงพยากรณ์ด้วยตนเองได้ว่า เราตัดขาดแล้วจากนรก กำเนิดดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาติ....”

เวฬุทวารสูตร มหา. สํ. (๑๔๕๗-๑๔๖๗ )
ตบ. ๑๙ : ๔๔๒-๔๔๖ ตท. ๑๙ : ๔๐๒-๔๐๖
ตอ. K.S. ๕ : ๓๐๕-๓๑๑





 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 16:48:45 น.
Counter : 383 Pageviews.  

พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทแก่คนป่วยใกล้ต่อความตายไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ
“ดูก่อนทีฆาวุ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

เราจักมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธเจ้า....
ในพระธรรม...
ในพระสงฆ์....
จักประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยเจ้า...

ท่านตั้งอยู่ในธรรมอันเป็นองค์ประกอบแห่งพระโสดาบัน ๔ เหล่านี้แล้ว
พึงเจริญธรรมอันเป็นส่วนแห่งวิชชา ๖ ประการให้ยิ่งขึ้น... คือ

ท่านจงพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยง
มีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์
มีความหมายรู้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอนัตตา
มีความหมายรู้ในการละ...ในการคลายความกำหนัดยินดี...ในความดับทุกข์

ดูก่อนทีฆาวุ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แหละ....”


ทีฆาวุสูตร มหา. สํ. (๑๔๑๙-๑๔๒๑ )
ตบ. ๑๙ : ๔๓๑-๔๓๒ ตท. ๑๙ : ๓๙๓-๓๙๔
ตอ. K.S. ๕ : ๒๙๙-๓๐๐




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 16:51:58 น.
Counter : 417 Pageviews.  

ธรรมอะไรที่สามารถปิดประตูอบายได้อย่างเด็ดขาด ?

พุทธดำรัสตอบ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พระเจ้าจักพรรดิเสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดีในทวีปทั้ง ๔ สวรรคตแล้ว ย่อมเข้าพึงสุคติโลกสวรรค์..
ได้เป็นสหายของพวกเทพชั้นดาวดึงส์....
ท้าวเธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็จริง
ถึงกระนั้น ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย จากอบาย ทุคติ วินิบาต

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ส่วนอริยสาวก แม้จะเลี้ยงอัตตภาพด้วยคำข้าวที่หามาได้ด้วยลำแข้ง นุ่งห่มผ้าที่เศร้าหมอง
เธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
ถึงกระนั้นเธอก็พ้นจากนรก จากกำเนิดดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย จากอบายทุคติ วินิบาต
ธรรม ๔ ประการคืออะไร
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วย
ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า (๑)
ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม (๑)
ความเลื่อมใสอันไม่หวันไหวในพระสงฆ์ (๑)
ประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยเจ้าไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ ไม่มัวหมอง นำไปสู่สมาธิ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... การได้ทวีปทั้ง ๔ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของการได้ธรรม ๔ ประการ....”


ราชาสูตร มหา. สํ. (๑๔๑๑-๑๔๑๓ )
ตบ. ๑๙ : ๔๒๘-๔๒๙ ตท. ๑๙ : ๓๙๑-๓๙๒
ตอ. K.S. ๕ : ๒๙๖-๒๙๗




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 16:54:01 น.
Counter : 418 Pageviews.  

การเจริญอานาปานสติเกี่ยวข้องกับสติปัฏฐาน ๔ อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุหายใจออกยาว รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าเห็นภายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่าลมหายใจเข้าออกนี้เป็นกายประเภทหนึ่ง
“ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมตั้งใจสำเหนียกว่าเราจักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า-ออก เราจักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า-ออก สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวลาอยู่เพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่า การใส่ใจด้วยดีในลมหายใจเข้า-ออกเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง
“ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่าเราจักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า-ออก เราจักทำให้จิตบันเทิงหายใจเข้า-ออก เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า-ออก สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต...ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะเรากล่าวว่า การเจริญอานาปานสติสมาธิ จะมีได้แก่ผู้มีสติหลงลืมและขาดสติสัมปชัญญะ
“ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุตั้งใจศึกษาว่าเราจักพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงหายใจเข้า-ออก...เราจักพิจารณาเห็นวิราคธรรมหายใจเข้า-ออก...เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจเข้า-ออก...สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่....”


กิมิลสูตร มหา. สํ. (๑๓๕๘-๑๓๖๑ )
ตบ. ๑๙ : ๔๐๙-๔๑๑ ตท. ๑๙ : ๓๗๔-๓๗๖
ตอ. K.S. ๕ : ๒๘๗-๒๘๘




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 16:23:29 น.
Counter : 498 Pageviews.  

1  2  3  
 
 

Mr.เต้ย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




...ดอกไม้ก็สักแต่ว่าดอกไม้

จุดมุ่งหมายของBlogนี้ คือ

ความตั้งใจที่จะเก็บรวบรวม ปัญหาต่างๆ ที่เราได้เข้าไปตอบไว้ในห้องศาสนา

เพราะคิดว่าอาจมีประโยชน์แก่ผู้สนใจ ที่แวะเข้ามาเยี่ยมBlog ของเรา

เพราะแท้จริง อักษรเหล่านั้น ย่อมเลือนหายไปตามกาลเวลา หาได้คงอยู่ตลอดไปไม่

แต่ถ้าสามารถยังประโยชน์ ขณะที่อักษรนั้นยังดำรงอยู่
อย่างน้อย ก็มีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใด

ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เท่าที่จะสามารถทำได้ จริงๆ
[Add Mr.เต้ย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com