เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
องค์ความรู้กษัตริย์และราชวงศ์

องค์ความรู้กษัตริย์และราชวงศ์

ที่เรียกว่า...ถวายพระราชอำนาจคืน


โดย เกษียร เตชะพีระ



"เมื่อเดินทางถึงหน้าทำเนียบ ขบวนของนายสนธิได้อาศัยเครื่องกระจายเสียงของกลุ่มนายสมาน (ศรีงาม) ปราศรัยโจมตีนายกรัฐมนตรี โดยยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง และข้อที่ 2 เรียกร้องให้ปลดล็อคเงื่อนไข ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน และข้อสุดท้ายเรียกร้องให้ประชาชนขับไล่นายกฯทักษิณออกไป

"ม็อบสนธิสลายแล้ว", เว็บข่าวประชาไท, 14 ม.ค.2549

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเรียกร้องให้ "ถวายพระราชอำนาจคืน" ในประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ หลังจากสถาบันกษัตริย์ยอมสละอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปอยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา

"ถวายพระราชอำนาจคืน" ได้กลายเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำอนุรักษนิยมกับพันธมิตรเฉพาะกาล อันจะถูกอัญเชิญขึ้นท่องบ่นทุกครั้งที่เผชิญโจทย์ใหญ่ ซึ่งต้องหาทางขจัดปัดเป่าให้พ้นไปจากสังคมการเมืองไทย โดยในกระบวนการนั้นจำต้องรื้อปรับจัดระเบียบการเมืองใหม่ ด้วยไม่มากก็น้อย

เท่าที่ผ่านมา มีวาระโอกาส "ถวายพระราชอำนาจคืน" เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่

ปีพุทธศักราช โจทย์ใหญ่
พ.ศ.2490-92 คณะราษฎร+กลุ่มปรีดี+เสรีไทย
พ.ศ.2516 และ 2535 คณะปฏิวัติ และ คณะ รสช.ของทหารการเมือง
พ.ศ.2519 ขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้าย+คอมมิวนิสต์ในเมือง
พ.ศ.2540 นักเลือกตั้ง

ที่ตื่นเต้นน่าจับตายิ่งในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อปัจจุบัน คือความพยายาม "ถวายพระราชอำนาจคืน" ครั้งใหม่เพื่อแก้โจทย์ใหญ่แห่ง พ.ศ.2549 นั่นคือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ากุมอำนาจการเมือง+ทุนโลกาภิวัตน์

ฐานคติที่ทำให้การ "ถวายพระราชอำนาจคืน" เป็นไปได้ทางแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวพันแนบแน่นกับการตีความว่า ระบอบรัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คืออะไร? ได้มาอย่างไร?

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ค้นคว้าศึกษาการปฏิวัติ 2475 จนช่ำชองได้สรุปทฤษฎีกำเนิดรัฐธรรมนูญของตำรากฎหมายสมัยนั้นไว้ว่ามี 3 แบบ กล่าวคือ

ลักษณะของรัฐธรรมนูญ กำเนิด
(1) CHARTER หรือพระบรมราชานุญาต เกิดจากเจตนาของผู้ปกครองฝ่ายเดียว ดังนั้น การกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจจะให้พระราชอำนาจของผู้ปกครองอยู่สูงสุดเหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับเมจิ ค.ศ.1889
2) CONVENTION หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ราษฎรร่างเองทั้งหมด หรือตั้งสภาราษฎรขึ้นมาร่าง เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1787
3) PACT หรือข้อตกลง, สัญญา ผู้ปกครองกับราษฎรแสดงเจตนาร่วมกันหลังการปฏิวัติ เมื่อตกลงกันได้จึงจัดให้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เช่น รัฐธรรมนูญของอังกฤษ ค.ศ.1688, รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ.1830
(เรียบเรียงปรับปรุงจากข้อประมวลสรุปของ ณัฐพล ใจจริง ใน "การรื้อสร้าง 2475" : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้", ศิลปวัฒนธรรม, 27:2 (ธันวาคม 2548), เชิงอรรถ 7 หน้า 107-08)

เมื่อมาประยุกต์เข้ากับกรณีรัฐธรรมนูญสยาม มีความเห็นแตกต่างขัดแย้งเป็น 2 ฝ่าย ตามการสังเคราะห์สรุปของ ณัฐพล ใจจริง ในบทความข้างต้น (หน้า 83) ได้แก่

1) ฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 เห็นว่ารัฐธรรมนูญสยาม (ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และ 10 ธันวาคม 2475) เป็น PACT ที่เกิดจากการตกลงกันระหว่าง 2 ฝ่าย กล่าวคือ

(พระมหากษัตริย์+คณะราษฎร-รัฐธรรมนูญ)

2) ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ 2475 หรือที่เรียกกันตอนนั้นว่า "รอยัลลิสต์" กลับเห็นว่ารัฐธรรมนูญสยามเป็น CHARTER ที่เกิดจากพระมหากษัตริย์พระราชทานแต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น

(พระมหากษัตริย์ - รัฐธรรมนูญ)

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงหากถือตามฝ่ายแรกว่ากำเนิดแห่งระบอบรัฐธรรมนูญไทยเป็น PACT การ "ถวายพระราชอำนาจคืน" ก็มิอาจเป็นไปได้ ดังที่ ปรีดี พนมยงค์ ลำดับเหตุผลข้อถกเถียงไวhอย่างพิสดารในบทความ "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม" (พิมพ์ครั้งแรก 10 ธันวาคม พ.ศ.2516) ดังมีข้อความสำคัญบางตอนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ว่า

"เจตนารมณ์ดังกล่าวแล้ว (หมายถึงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม-ผู้เขียน) ก็ตรงกับพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ ที่เป็นแม่บทสำคัญแห่งการเปลี่ยนรากฐาน ได้โอนพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย บุคคลใดไม่อาจละเมิดแม่บทสำคัญอันเป็นการเปลี่ยนระบอบรากฐานของระบอบดังกล่าวนั้นได้..."

พระราชประสงค์ให้ปวงชนชาวไทยมีอิสระประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นปรากฏความในพระราชปรารภ (หมายถึงพระราชปรารภแห่งธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงร่างขึ้นโดยพระองค์เองและไม่มีการแก้ไข-ผู้เขียน) ดังต่อไปนี้

"จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศราชทานแก่ประชากรของพระองค์ให้ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"

"ส่วนการที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีบทเฉพาะกาลโดยมีสมาชิกประเภทที่ 2 จำนวนกึ่งหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นนั้นก็โดยความจำเป็นในระหว่างหัวต่อหัวเลี้ยวจากระบอบสมบูรณาฯ มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย... แต่เมื่อกำหนดเวลาตามบทเฉพาะกาลได้เสร็จสิ้นไปแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คงเหลือประเภทเดียว คือประเภทที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นมา ซึ่งสมกับพระราชประสงค์ให้ประชากรของพระองค์ดำรงอิสราธิปไตยโดยสมบูรณ์ โดยพระองค์ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะได้คืนพระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาส่วนใดส่วนหนึ่ง..."

"ในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. มีปัญหาว่าจะควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพหลฯและข้าพเจ้าเข้าเฝ้าที่พระตำหนักจิตรลดา มีพระราชกระแสรับสั่งว่า รัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่ประมุขรัฐเป็นประธานาธิบดีนั้นได้เขียนไว้ว่า ประมุขแห่งรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้ ส่วนสยามนั้นรับสั่งว่าไม่จำเป็นต้องเขียน เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานแล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน และยิ่งกว่านั้นตามพระราชประเพณีได้ทรงสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษก ข้าพเจ้ากราบทูลว่าเมื่อได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะโปรดเกล้าฯสำหรับพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปให้มีความใดเติมไว้ในพระราชสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกบ้าง รับสั่งว่า มีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ ไปก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ..."

"พระยาพหลฯกราบบังคมทูลว่าการทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นจะทรงทำอย่างไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ พระองค์จะส่งกลับคืนไปโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ พระยาพหลฯกราบทูลต่อไปว่า คณะราษฎรเป็นห่วงว่านายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไปจะคิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมาแล้วจะทูลเกล้าฯถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงพระปรมาภิไธย จะโปรดเกล้าฯอย่างไร รับสั่งว่าพระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นกบฏและในฐานะจอมทัพพระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ ถ้าพวกนั้นจะบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้..."

ส่วนตัวแทนปัจจุบันของทรรศนะตรงข้าม ผู้เขียนเห็นว่า:-

- ระบอบรัฐธรรมนูญสยามเกิดจากพระบรมราชานุญาตพระราชทานให้แก่ประชาชน (CHARTER) ต่างหาก

- ฉะนั้น พระราชอำนาจจึงมิเพียงสามารถยักย้ายถ่ายโอนคืนไปยังพระมหากษัตริย์ได้เท่านั้น

- หากได้เกิดการถ่ายโอนคืนไปยังพระมหากษัตริย์เช่นนั้นจริงๆ หลายรอบหลายครั้งแล้วด้วย

- กระทั่งกล่าวได้ว่าในทางหลักการแล้วพระราชอำนาจมิเคยหลุดพ้นจากพระองค์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา...

กลับได้แก่อดีตอาจารย์ใหญ่นิติศาสตร์ผู้กำลังบริการทางกฎหมายแก่รัฐบาลชุดปัจจุบัน!?!


องคมนตรี กับเหตุการณ์ปัจจุบัน

คณะองคมนตรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติไว้ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 12,13,14,15 และ 16 สรุปได้ดังนี้

- พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี

- คณะองคมนตรี มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

- การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี หรือการให้องคมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

- ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งองคมนตรีอื่น หรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง

- องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ

- ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อ พระมหากษัตริย์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง

- นอกจากนั้นคณะองคมนตรีจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่สมควร ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้ง หรือในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และในกรณี ที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนด้วย


ความเป็นมา

องคมนตรีเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองแล้ว ได้ทรงแต่งตั้งข้าราชการระดับกลาง จำนวน 12 คน เป็นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่หนักไปในทางนิติบัญญัติ ต่อมาในปีเดียวกันทรงแต่งตั้งที่ปรึกษาในพระองค์ จำนวน 49 คน ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ เพื่อสอดส่องเหตุการณ์บ้านเมือง ทุกข์สุขของราษฎร และกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ รวมทั้งสืบสวน ข้อเท็จจริงในราชการต่าง ๆ และทรงมอบให้ดำเนินราชการแทนพระองค์ เช่น ชำระความที่มีผู้ถวายฎีกา เป็นต้น

ต่อมาในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติคำว่า "องคมนตรี"ขึ้นใช้แทนที่ปรึกษาในพระองค์ และได้พระราชทานตำแหน่งองคมนตรีแก่ข้าราชการระดับพระยาพานทอง หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควร มีจำนวน 227 คน แต่มิได้ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดินแต่ประการใด จึงกลายเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไปโดยปริยาย ต่อมาทรงมีพระราชดำริที่จะให้ข้าราชการได้ทดลองและปลูกฝังการศึกษา วิธีดำเนินงานแบบรัฐสภาให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมือง ในขณะนั้น จึงได้ทรงเลือกจากองคมนตรี 40 คน ตั้งเป็นสภากรรมการองคมนตรี แต่ส่วนใหญ่เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะออกบังคับใช้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ.2470 และให้เพิกถอนตำแหน่งองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นต้นไป

หลังจากมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2490 ฉบับชั่วคราว และเกิดความจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิในราชการและเป็นกลางในทางการเมือง ได้มีบทบัญญัติแต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรีขึ้น 5 คน เป็นผู้บริหารราชการในพระองค์ และถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่เสมือน คณะผู้สำเร็จราชการในพระองค์ และเป็นคณะองคมนตรีที่ปรึกษาไปด้วยในขณะเดียวกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการมีตำแหน่งที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ ในรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ได้เปลี่ยนชื่อ คณะอภิรัฐมนตรี เป็นคณะองคมนตรี มีจำนวน 9 คน โดยแยกตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ออกต่างหาก คณะองคมนตรีจึงปฏิบัติหน้าที่ เพียงถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์เพียงหน้าที่เดียวนับแต่นั้นจนปัจจุบัน

รายนามองคมนตรี (16 มีนาคม 2548)

1.พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

2.นายเชาว์ ณ ศีลวันต์

3.นายธานินท์ กรัยวิเชียร

4.พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช

5.พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์

6.พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา

7.นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

8.พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์

9.นายอำพล เสนาณรงค์

10.นายจำรัส เขมะจารุ

11.หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์

12.หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล

13.นายศักดา โมกขมรรคกุล

14.นายเกษม วัฒนชัย

15.นายพลากร สุวรรณรัฐ

16.นายสวัสดิ์ วัฒนายากร

17.พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

18.นายสันติ ทักราล

19.พลเรือเอกชุมพล ปัจจุสานนท์




ราชธรรมของพระมหากษัตริย์



พระมหากษัตริย์มีราชธรรมที่สำคัญ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม ราชจักรวรรดิวรรดิ และสังคหวัตถุ

ทศพิธราชธรรม 10 คือหลักธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ ซึ่งมี 10 ประการ คือ

ทาน คือ การให้
ศีล ได้แก่ การรักษามารยาท การสำรวมกาย วาจา ใจ ทรงปฏิบัติพระองค์ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาเป็นแบบอย่างที่ดี แก่ประชาชน
บริจาค ได้แก่ การให้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป้นการสละสิ่งที่หวงแหนออกเพื่อข่มโลภ ตระหนี่แห่งตน
อาชวะ คือความมีอัธยาศัยซื่อตรงตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ครามตรงต่อหน้าที่ การงาน ต่อเวลา ต่อบุคคล ต่อคุณงามความดี
มัทวะ ได้แก่ความมีอัธยาศัย ละมุนละไม อ่อนโยน ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงาม
ตบะ ได้แก่การบำเพ็ญเพียรเอาชนะบาปธรรม ทำลายขจัดความชั่วร้าย
อโกธะ คือความไม่โกรธ ไม่จองเวร ความโกรธย่อมจะเป็นสิ่งที่เผาผลาญทั้งตัวผู้มีอารมณ์โกรธ และผู้ถูกคนอื่นโกรธ
อวิหิงสา ได้แก่ความไม่เบียดเบียนตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนชีวิตร่างกาย ไม่เบียดเบียนทรัพย์ ไม่เบียดเบียนครอบครัว ไม่เบียดเบียนผลประโยชน์
ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น
อวิโรธนะ ถือ ความไม่ผิดจากความเที่ยงตรง คือความดำรงอยู่ในความยุติธรรม เที่ยงธรรม ความถูกต้อง ไม่ผิดมารยาม ไม่ผิดกติกา
จักรวรรดิวัตร 12

สั่งสอนบุตรธิดา และผู้ไกล้ชิดให้อยู่ในกุศลสมาทาน พระราชทานเงินทองสิ่งของรวมทั้งการอนุเคราะห์ด้วย
การผูกสัมพันธ์และแสดงไมตรีกับประเทศน้อยใหญ่ด้วยการสงเคราะห์แบ่งปันสิ่งของ
การพระราชทานพาหนะอันควรแก่อิสริยยศแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ
การเกื้อกูลแก่คฤหัสถ์และสมณชีพราหมณ์ด้วยเครื่องพรตและไทยธรรม พันธ์พืช โค กระบือ แก่ชาวนา
การอนุเคราะห์แก่ประชาชนชาวชนบท ให้สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นสุข
การทรงสักการะสมณพราหมณาจารย์ ขจัดบาปให้ระงับ และลอยเสียจากสันดารด้วยพระราชทานสมณบริขาร พราหมณบริขาร เกื้อกูลแก่ธรรมปฏิบัติ
การจัดให้สัตว์เนื้อและนกได้เที่ยวไปมาด้วยความสุขสำราญด้วยการห้ามมิให้ใครเบียดเบียนทำอันตรายต่อสัตว์
ห้ามมิให้บาปกรรมและชักนำให้ตั้งอยู่ในทางธรรม
พระราชทานทรัพย์แก่ผู้ยากจน ซึ่งไม่อาจเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีพได้
การเสด็จเยี่ยมเยียนสมณพราหมณคุณ ตรัสถามถึงบาปบุญคุณโทษให้ทราบประจักษ์ชัด
การทรงวิรัติน้อมจิตไม่ให้เกิดอธรรม
การประหารวิสมะโลภเจนนา ห้ามมิให้ปราถนาลาภที่ไม่ควรได้
ราชสังคหวัตถุ4

สสเมธ ความเป็นผู้ฉลาดปรีชาในการพิจารณาถึงโภคผลผลิตในแผ่นดินโดยเก็บเอาเพียงบางส่วน ไม่รับเอาจนหมด อันเป็นการช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
ปรีสเมธ ความเป็นผู้ฉลาดในคน รู้จักพิจารณาอุปนิสัยใจคอ และความสามารถของบุคคล รู้จักใช้คน บรรจุคนให้เหมาะสมกับงาน
สัมมาปาสํ ดำเนินการบริหารให้เป็นที่ต้องความประสงค์ของประชาชนราษฎร โดยการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ในการประกอบอาชีพ มีความฉลาดปรีชาในการแก้ปัญหาสังคม
วาจารปยํ ความเป็นบุคคลมีวาจาไพเราะ เจรจาผ่อนผันตามวัย ตามฐานะ ตามเหตุการณ์และตามความเป็นธรรม
กฏมนเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงค์ พ.ศ.2467

การสืบสันตติวงศ์


เนื่องจากการปกครองของไทยกำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นเมื่อราชบัลลังก์ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จำเป็นต้องสถาปนากษัตริย์องค์ใหม่ขึ้น สำหรับในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์การกำหนดพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ครองราชบัลลังก์อยู่ หากมิได้ทรงกำหนดไว้ก็จะเป็นหน้าที่ของบรรดาพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เสนาบดี และพระเถระชั้นราชาคณะ ร่วมประชุมกันในลักษณะ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ” พิจารณาว่าพระราชวงศ์พระองค์ใดสมควรที่จะได้รับการอัเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะอันเชิญพระองค์นั้นขึ้นเป็นขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ซึ่งหลักการพิจารณาจะยึดถือพระราชวงศ์ที่มีเชื้อสายไกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์องค์เก่ามากที่สุด ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ.2475 แล้วการสืบสันตติวงศ์จะเป็นไปตาม กฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467

สำหรับในปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 บัญญัติว่า

“ในกรณีที่ราชบัญลังก์ว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงค์ พระพุทธศักราช 2476 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบและให้ปรัธานรัฐสภาเรียกประชุมเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอันเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่งให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 22 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในกรณีนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วให้ประทานรัฐสภาอันเชิญผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชเป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ (มาตรา 23)"



Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มกราคม 2551 13:45:59 น. 0 comments
Counter : 510 Pageviews.

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.